Architecture Design Methodology

กระบวนการและวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรม

ปัญหาของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม

ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้มีความตระหนักในปัญหาทางสภาพแวดล้อมมากขึ้นโดยลำดับ เช่น ปัญหาการจราจร เสียง สิ่งปฏิกูล ความขาดแคลนที่ว่างสาธารณะ ความแออัด ความเสื่อมโทรม และความน่าเกลียด ของอาคารหรือสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะเกิดการเติบโตของเมือง หรือ ชุมชนอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความสับสนและไม่มั่นคงทางจิตใจ ของผู้อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมเหล่านั้นมากมาย

ปัญหาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยตรงของสถาปนิก จึงทำให้ความเชื่อมั่นในความสามารถของการออกแบบ เริ่มถดถอยและไม่แน่ใจ ต่อการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ซึ่งมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ตามความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่รวดเร็ว มีการเรียกร้องของผู้ใช้อาคารที่ต้องการคุณภาพมากยิ่งขึ้น จากความสลับซับซ้อนและยุ่งยากของปัญหาการออกแบบสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ทำให้สถาปนิกจำเป็นต้องปรับปรุง ทบทวน ความรู้ความสามารถ และบทบาท เพื่อรักษาคุณภาพของการปฏิบัติวิชาชีพให้คงเป็นที่ยอมรับในสังคมต่อไป

ในกระบวนการทางความคิดในการออกแบบของสถาปนิกในปัจจุบัน ส่วนมากเป็นการดัดแปลงและลอกเลียนแบบอย่างอาคารเดิม ตามสมัยนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งอาคารในประเทศและต่างประเทศ โดยละเลยถึงความเข้าใจต่อปัญหาที่เปลี่ยนแปลง ที่มีความถูกต้องอย่างชัดเจน และเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน การสอนวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม ยังคงเน้นถึงผลของการออกแบบ มากกว่ากระบวนการทางความคิดในการออกแบบ ที่มีการวิเคราะห์ปัญหา และการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมอย่างมีระเบียบเป็นระบบและมีแบบแผน

นักวิจารณ์การศึกษาส่วนหนึ่ง มีความเห็นว่า การสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ยังคงยึดถือแนวทางการศึกษาของยุคสมัยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ คือ การเน้นการบันทึกลำดับความต่อเนื่องของผลงานในรูปผลผลิตทางศิลปะ รูปทรงตามสมัยนิยม มากกว่าการบันทึกและทบทวนความเข้าใจในแง่การแก้ปัญหาเฉพาะตามยุคสมัยที่แตกต่างกัน และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการเน้น ความเข้าใจของทฤษฎีสถาปัตยกรรมที่ไม่กระจ่างชัด หรือกำหนดเป็นพื้นฐานที่แน่นอนใน เนื้อหาทางวิชาการไม่ได้ มีการบันทึกเนื้อหาทางวิชาการที่ใช้เป็นเอกสารประกอบการศึกษา ไม่ได้เกิดจากผลการค้นคว้าที่มีวิธีการที่น่าเชื่อถือมากนัก ขาดการศึกษาเข้าใจในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง อันมีผลกระทบต่อกระบวนการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เช่น วิชาการตามทฤษฎีทางสาขาวิชาสังคมศาสตร์ หรือจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมศาสตร์ของมนุษย์ เป็นต้น

ปัจจุบันในวงวิชาการและวิชาชีพทางสถาปัตยกรรม เริ่มมีความตระหนักและความเข้าใจ ในความจำเป็น ที่ต้องศึกษาค้นคว้าทางสถาปัตยกรรมในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อม เพื่อกำหนดเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีที่แน่นอน และพอเพียงเพื่อเป็นบรรทัดฐานและแนวทางในกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม การศึกษาเพื่อกำหนดทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมในแง่ผลงาน และกระบวนการทางความคิดของการออกแบบมีความจำเป็น ควบคู่กันไปในวงการศึกษาสถาปัตยกรรมปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บทความนี้ เน้นการศึกษาเฉพาะกระบวนการและวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมเท่านั้น

แนวคิดของกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม

การออกแบบ เป็นการกระทำเพื่อสรุปความคิด ข้อแนะนำ และข้อเสนอแนะ ในรูปแบบแปลนและรายละเอียด หรือแบบจำลองเป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไปให้ปรากฏเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ คือ อาคารทางสถาปัตยกรรมหรืองานศิลปะอื่นๆ กระบวนการออกแบบเริ่มต้นโดยการเสนอข้อกำหนด ที่แสดงความต้องการต่างๆ และผลที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นในรูปผลิตผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน ในอดีตความต้องการ หรือปัญหาการออกแบบ ง่ายไม่ยุ่งยากและซับซ้อนมากนัก การนำรูปแบบเดิมที่เคยแก้ปัญหา หรือตอบสนองความต้องการที่คล้ายคลึงกัน ก็สามารถกระทำโดยการลอกเลียน หรือดัดแปลงเล็กน้อยได้ กระบวนการออกแบบนี้เรียกว่า “unself-conscious” หรือ การออกแบบไร้สำนึก แต่สถานการณ์ในปัจจุบันเปลี่ยนไป ปัญหามีความยุ่งยากมากขึ้น และมีระยะเวลาของการแก้ปัญหาจำกัดมากกว่าเดิม การออกแบบปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “self-conscious” หรือการออกแบบมีสำนึก ซึ่งสถาปนิกมีบทบาทสำคัญในกระบวนการออกแบบลักษณะนี้

ปัจจุบัน การออกแบบมีสำนึก แยกออกเป็นสองลักษณะ คือ “solution oriented” กระบวนการที่มุ่งถึงผลงาน หรือค้นหาคำตอบเป็นสำคัญ โดยไม่สนใจที่มาของคำตอบเหล่านั้น อีกลักษณะหนึ่งคือ “problem oriented or system oriented” กระบวนการที่ดำเนินการค้นหาผลงานหรือคำตอบ ที่สามารถตรวจสอบขั้นตอนหรือที่มาของคำตอบต่างๆได้ อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงกระบวนการแก้ปัญหาและคำตอบที่ได้มาในโอกาสต่อไปได้ การออกแบบมีสำนึกทั้งสองลักษณะนี้ อาจเน้นความแตกต่างในลักษณะของความคิดสองลักษณะคือ “analysis” การคิดแบบวิเคราะห์ และ “synthesis” การคิดแบบสังเคราะห์ ซึ่งความคิดทั้งสองลักษณะรวมอยู่ในกระบวนการออกแบบของสถาปนิก

การออกแบบมีสำนึก ลักษณะแรก (solution oriented) คือ เน้นขั้นตอนการสังเคราะห์ในการออกแบบเป็นสำคัญ วิธีการออกแบบนี้บ้างครั้งผิดพลาดในการแก้ปัญหา คือในกรณีที่คำตอบได้มาจากปัญหาหรือคำถามที่ผิด การพัฒนาความคิดในการออกแบบจึงเริ่มให้ความสำคัญกับ การออกแบบมีสำนึกอีกลักษณะ (problem oriented) คือ เน้นขั้นตอนการวิเคราะห์มากขึ้น หรือแยกแยะออกจากกระบวนการสังเคราะห์อย่างชัดเจน โดยอ้างว่าหากมีการวิเคราะห์ปัญหาได้ถี่ถ้วน หรือชัดแจ้งมากขึ้นเท่าไร ก็สามารถค้นหาคำตอบได้ง่ายขึ้นเท่านั้น และป้องกันการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องได้ อีกทั้งกระบวนการออกแบบยังให้ความสำคัญของ “system” ระบบ ที่แสดงขั้นตอนของความคิดให้เป็นระเบียบง่ายต่อการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ ของความคิดในการแก้ปัญหาที่หลากหลายทางสถาปัตยกรรม และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาต่างๆได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

สถาปนิกมีการจัดระบบและระเบียบของความคิดแตกต่างกันไป หรือมีวิธีการคิดและการแก้ปัญหาหลากหลายวิธี ตามความแตกต่างของความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล แต่จากการศึกษาในกระบวนการทางความคิดของมนุษย์ พอสรุปเป็นผลทางทฤษฎีได้ว่า “model” หรือรูปแบบจำลองความคิดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรม เป็นลักษณะของกระบวนการ (process) ประกอบด้วยการวิเคราะห์ (analysis) การสังเคราะห์ (synthesis) การประเมินผล หรือเปรียบเทียบ (evaluation) การเลือก หรือตัดสินใจ (choice) การประมวลผลในทางปฏิบัติ (implementation) ส่วนลำดับของขั้นตอน ยังไม่สามารถกำหนดเป็นระเบียบชัดเจนได้ว่า เป็นการต่อเนื่องทุกขั้นตอนแบบวงจร หรือเป็นความสัมพันธ์เชิงปฏิภาค ระหว่างสองขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งโดยเฉพาะ หรือมีการสลับขั้นตอนต่างๆโดยอิสระ ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับประเภท ชนิดของปัญหาความแตกต่างส่วนบุคคลของสถาปนิก และประสบการณ์ ทางการศึกษาที่แตกต่างกัน เช่น ตัวอย่างข้อโต้แย้งที่ว่า การวิเคราะห์ควรเกิดขึ้นก่อน จึงทำให้การสังเคราะห์เป็นไปได้ง่าย ซึ่งมักเป็นที่ยอมรับในทางสาขาวิชา วิทยาศาสตร์โดยทั่วไป แต่ทางสาขาวิชาทางศิลปะอาจแย้งว่า การวิเคราะห์ จะเป็นการเสียเวลาและไม่ก่อให้เกิดผลทางความคิดสร้างสรรค์ หากไม่กำหนด หรือ ทายเดาคำตอบเป็นการล่วงหน้าก่อน ส่วนสำคัญของความคิดน่าจะขึ้นอยู่กับกระบวนการดำเนินการวิเคราะห์ ตรวจสอบผลการสังเคราะห์ที่กระทำล่วงหน้านั้น จนกระทั่งครบถ้วนและสามารถปรับปรุงคำตอบจนเป็นที่พอใจ

กระบวนการความคิดที่สำคัญลักษณะนี้ คือ เน้นความสัมพันธ์เชิงปฏิภาคระหว่างขั้นตอน การสังเคราะห์-การวิเคราะห์ เป็นสำคัญ กระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม “the architectural designing process” มีการศึกษาเปรียบเทียบในลักษณะ ที่ให้สอดคล้องกับกระบวนการแก้ปัญหา “the problem-solving process” ที่ศึกษากันในสาขาวิชาพฤติกรรมมนุษย์ศาสตร์ และกับกระบวนการตัดสินใจ “the decision-making process” ที่ศึกษากันในสาขาวิชาธุระกิจและการจัดการ จากการพิจารณายอมรับว่า กระบวนการออกแบบมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับกระบวนการคิดในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวทางของการศึกษาค้นคว้า และการพัฒนากระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

บทบาทสถาปนิกและกระบวนการตัดสินใจ ในการออกแบบสถาปัตยกรรม

เป็นที่ยอมรับกันว่า สถาปนิกเป็นผู้มี่บทบาทสำคัญผู้หนึ่ง ในการออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆในปัจจุบัน และดูเหมือนว่าบทบาทนี้ เป็นเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังไว้ให้เป็นบรรทัดฐานของการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมในระหว่างตอนปลายศตวรรตที่ 19 และตอนต้นศตวรรษที่ 20 กล่าวโดยรวม สถาปนิกเป็นผู้มีความรู้และความสามารถทั่วๆไป ในกระบวนการต่างๆของการออกแบบและก่อสร้างอาคาร เป็นผู้นำและประสานการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ในแต่ละสาขาของงานที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้เกิดผลสรุปทางความคิด ในการออกแบบและก่อสร้างจนสถาปัตยกรรมแล้วเสร็จเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ในที่สุด แต่อาคารต่างๆในอดีตส่วนมาก เกิดขึ้นจากการออกแบบและการตัดสินใจที่ไม่เป็นระบบที่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินการร่วมกัน ระหว่างสถาปนิกกับเจ้าของอาคารที่เป็นคนรวยหรือผู้ปกครองที่มีอำนาจ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินการตามลำพัง ของคนธรรมดาสามัญเองกับช่างก่อสร้าง หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือโดยพ่อค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในเชิงธุระกิจ

ในปัจจุบันการออกแบบ และการก่อสร้างอาคารต่างๆ มีความต้องการ และจำเป็นที่ต้องอาศัยกระบวนการออกแบบ และการตัดสินใจ ที่เป็นระบบและระเบียบแบบแผนมากขึ้น เพราะมีผู้ร่วมทำงานกับสถาปนิก ที่มีความหลากหลายอาชีพและมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมมากขึ้น อีกทั้งปัญหาในการออกแบบและก่อสร้างอาคารมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วย ความจำเป็นของกระบวนการออกแบบ และตัดสินใจของสถาปนิก ที่ต้องมีระบบและวิธีการที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับ เพราะสถาปนิกมีความรู้เข้าใจต่อปัญหาต่างๆจำกัดลง เนื่องจาก ปริมาณความยุ่งยากและสลับซับซ้อน ของปัญหาการออกแบบสถาปัตยกรรมปัจจุบันมีมากขึ้น มากกว่าในอดีต เกินความรอบรู้โดยลำพังของสถาปนิกคนเดียว ที่จะหาแนวทางแก้ไขอย่างถูกต้อง และมีผลดีอย่างสมบูรณ์ต่อสาธารณะชนผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ใช้อาคารที่ออกแบบให้โดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพได้ ในการดำเนินการออกแบบอาคารแต่ละประเภท จำเป็นที่สถาปนิกต้องเกี่ยวข้องกับผู้ตัดสินใจหลายคน ทำงานร่วมกับผู้ชำนาญการหลายประเภท และต้องเกี่ยวข้องกับรูปแบบการจัดการ การทำงานที่มีระบบ และระเบียบแบบแผนมากขึ้น

การออกแบบมีการทำงานในแต่ละขั้นตอน เกี่ยวข้องกับผู้ร่วมงานต่างๆกันในแต่ละขั้นตอน เช่นในระดับการออกแบบขั้นต้น มีการทำงานร่วมกับผู้ตัดสินใจในระดับหนึ่ง การดำเนินงานของสถาปนิกอาจอยู่ในรูปของทีมงานออกแบบ ที่ขึ้นอยู่กับสถาปนิกหัวหน้าโครงการ ผู้จัดการการก่อสร้าง หัวหน้าสถาปนิกออกแบบ ที่ปรึกษางานระบบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตัวแทนเจ้าของงาน นักเศรษฐศาสตร์การเงิน และประมาณการค่าก่อสร้างเป็นต้น ถ้าสถาปนิกยังต้องมีบทบาทเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการตัดสินใจ ต่อการออกแบบ และก่อสร้างอาคารตามหลักของวิชาชีพ และมีความรับผิดชอบทางกฎหมาย เมื่อเกิดความผิดพลาดต่อการออกแบบและตัดสินใจแล้วนั้น ก็ต้องมีความจำเป็น มีความเข้าใจ และมีความชำนาญในการจัดสร้างระบบ และระเบียบการทำงานออกแบบ และตัดสินใจในขั้นตอนต่างๆให้ได้อย่างเหมาะสม จึงจะทำให้การดำเนินการออกแบบและการก่อสร้างอาคารมีผลสัมฤทธิ์โดยสมบูรณ์ในที่สุด

ในยุคของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ “the modern movement” บทบาทที่เด่นชัดของสถาปนิก คือ นักคิดสร้างสรรค์ “creator” เป็นผู้มีความรอบรู้ทั่วไป ในทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบสถาปัตยกรรม มากกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะอย่าง ต้นฉบับของการศึกษาสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลส่วนมาก จากกลุ่มสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เช่น Walter Gropius, Frank Lloyd Wright, Alva Aalto, Mies Van de Rhoe และ Louis I Kahn เป็นต้น สถาปนิกเหล่านี้เป็นทั้งครูสอน และประกอบอาชีพทางสถาปัตยกรรม พร้อมกันทั้งสองบทบาท กระบวนการออกแบบ เน้นความคิดการสังเคราะห์ ค้นหาคุณภาพที่เป็นเลิศทางรูปทรงและที่ว่างของสถาปัตยกรรม วิธีการแก้ปัญหาเป็นลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกอาคารที่ออกแบบ แม้ว่าบางคนมีการร่วมทำงานเป็นกลุ่ม แต่ผู้ร่วมงานทุกคนนั้น มีประสบการณ์และพื้นฐานการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาการ และประสบการณ์จากสถาปนิกเจ้าของสำนักงาน ปัญหาที่เน้นในการออกแบบแต่ละสำนักมีความแตกต่างชัดเจน แต่ละสำนักยึดถือปัญหาเฉพาะเป็นแบบเดียวกันในการออกแบบอาคารทุกหลัง เช่น Walter Gropius เน้นปัญหาการออกแบบที่เกี่ยวข้องทางเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจ ใช้รูปทรงเรขาคณิต ที่ตอบสนองในด้านงบประมาณที่ประหยัด และสะดวกกับกรรมวิธีการก่อสร้าง Frank Lloyd Wright เน้นการออกแบบที่รูปทรงและที่ว่างทางสถาปัตยกรรม กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในแง่เศรษฐกิจ และ ความเหมาะสมในกระบวนการก่อสร้างน้อยมาก Mies Van de Rhoe เน้นการแก้ปัญหาในด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับรูปทรงทางสถาปัตยกรรม ให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางความงามของวัสดุ และการก่อสร้างที่เป็นผลิตผลทางการอุตสาหกรรม Louis I kahn และ Alva Aalto เพิ่มการเน้นปัญหาทางด้านสังคมชุมชนคล้ายกัน ทั้งสองเริ่มให้ความสำคัญ กับผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา ให้มีส่วนร่วมในการออกแบบและตัดสินใจ เช่น วิศวกรที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางโครงสร้าง การก่อสร้าง หรือแพทย์และช่างเทคนิคในสาขาที่เกี่ยวกับการออกแบบ สถานพักฟื้นผู้ป่วยและโรงพยาบาล เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป สำหรับยุคนี้ คือ กระบวนการออกแบบ ไม่มีการกำหนดชัดเจนในขั้นตอนของการออกแบบ การตัดสินใจขึ้นอยู่กับสถาปนิกเป็นสำคัญ และโดยลำพัง ลักษณะความคิดเป็นกระบวนการทางสังเคราะห์ “creativity in design” เน้นความคิดในแง่การสร้างสรรค์ มากกว่าการวิเคราะห์ปัญหาเฉพาะของอาคารที่มีความแตกต่างกัน มีการเสนอผลของการออกแบบ หลายรูปแบบ ก่อนมีการตัดสินใจสุดท้าย โดยลำพังของสถาปนิก มีการนำปัญหาทางกระบวนการอุตสาหกรรม เช่นระบบการก่อสร้างสำเร็จรูปมาใช้ในการตัดสินใจ คำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของสัดส่วนมนุษย์ กับการกำหนดพื้นที่ใช้สอยของอาคาร เริ่มมีการศึกษาและให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมของผู้ใช้อาคาร อย่างไรก็ตาม สถาปนิกยังเป็นนักพยากรณ์ ที่มีวิธีการยากต่อการตรวจสอบข้อผิดพลาด และปรับปรุงการออกแบบในโอกาสต่อไปได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับอาคารที่เป็นผลงานต่อมา คือ ปัญหาที่ไม่สอดคล้องตรงกัน เกิดช่องว่างระหว่างประโยชน์ใช้สอยในการออกแบบ กับประโยชน์ใช้สอยจริงของผู้ใช้อาคาร การคาดการณ์ที่ผิดพลาดในแง่จิตวิทยาและสังคม สำหรับอาคารประเภทที่อยู่อาศัย และสำนักงานขนาดใหญ่

ในยุคหลังของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ “the post-modern movement” มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมจากยุคก่อน สืบเนื่องมาจากผลงานที่ ประสบความล้มเหลว ในการใช้สอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ มีการทบทวนคุณค่าทางรูปทรงสถาปัตยกรรม ที่ตอบสนองผลทางด้านจิตวิทยามากขึ้น กระบวนการตัดสินใจไม่ขึ้นอยู่กับสถาปนิกโดยลำพัง มีกลุ่มเจ้าของงาน และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการตัดสินใจ บทบาทของสถาปนิกยังเป็นนักสังเคราะห์ แต่ทำงานในลักษณะกลุ่มมากขึ้น เพราะเจ้าของงานต้องการสถาปนิกที่มีความสามารถเด่นชัด ในแง่ของการนำเสนอความคิดที่ยอดเยี่ยม แปลกใหม่ และมุ่งเน้นงานทางสร้างสรรค์ ที่มีผลโดยตรง ต่อการแข่งขันทางธุระกิจเป็นสำคัญลำดับแรก ส่วนในแง่การปฏิบัติอื่น ได้รับการร่วมงานจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

บทบาทของสถาปนิก เริ่มจะเปลี่ยนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมมากขึ้น โดยมีนักวิเคราะห์โปรแกรมศึกษาเฉพาะล่วงหน้า สร้างข้อจำกัดของการออกแบบที่ค่อนข้างชัดเจน จึงทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการออกแบบ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ มีกระบวนการตัดสินใจที่มีระบบและเป็นระเบียบมากขึ้น พัฒนาความคิดทางการสังเคราะห์ควบคู่กับการวิเคราะห์ เพื่อการตรวจสอบโปรแกรมการออกแบบ ให้มีความถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น การอธิบายผลงานการออกแบบในแง่เชิงเหตุผล และสนับสนุนโดยหลักฐานด้านข้อมูล มีความต้องการจากเจ้าของงานมากขึ้น รูปแบบของสำนักงานเป็นลักษณะการจัดการ และทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น เป็นลักษณะของนักออกแบบหลายชนิดและหลายประเภทรวมกัน มีการกำหนด และแยกบทบาทของสถาปนิกนักการศึกษา และสถาปนิกนักปฏิบัติออกอย่างเด็ดขาด และชัดเจนยิ่งขึ้น รูปแบบการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน ทำให้ปัญหาการออกแบบสถาปัตยกรรม มีความยุ่งยาก และสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นเดียวกัน

ความหมายของ “สถาปัตยกรรม”

การศึกษาสถาปัตยกรรม สามารถกระทำได้ในสองนัย คือ การศึกษาชนิดของอาคารโดยตรง และการศึกษากระบวนการออกแบบอาคารของสถาปนิก การศึกษาอาคารโดยตรง หรือผลิตผลของการออกแบบ มักกระทำในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในอดีต ศึกษารูปแบบของอาคารและการพัฒนาในแต่ละยุคสมัย ส่วนการเน้นถึงกระบวนการของการออกแบบของแต่ละอาคารมีไม่เด่นชัดนัก ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม เน้นรูปลักษณะของอาคาร การวิวัฒนาการและวัสดุการก่อสร้างแต่ละยุคสมัยของอาคาร การประเมินคุณภาพงานสถาปัตยกรรม เป็นการคาดการณ์โดยนักประวัติศาสตร์ และสรุปผลทางทฤษฎี โดยหลักฐานที่วิเคราะห์จากชนิดของอาคารและวัสดุ หรือการก่อสร้างที่เป็นผลผลิต ของการออกแบบอาคารนั้นๆทั้งสิ้น การศึกษาแนวความคิดในการออกแบบ ของผู้ออกแบบโดยตรงมีน้อย อาจเป็นเพราะอาคารที่มีคุณภาพบางชนิดไม่สามารถทราบ หรือระบุสถาปนิก ผู้ออกแบบได้อย่างชัดเจน เป็นผลิตผลของกระบวนการออกแบบที่ Alexander (1964) เรียกว่า การออกแบบไร้สำนึก (unself-conscious design)

การศึกษาสถาปัตยกรรมในระยะหลัง หรือที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมยุคทันสมัย ถึงยุคหลังทันสมัย เริ่มสนใจวิเคราะห์แนวความคิดของสถาปนิกที่ออกแบบอาคารนั้นๆ และการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม นักประวัติศาสตร์จะมีการวิเคราะห์อาคารในอดีต พร้อมศึกษาผนวกความคิดของสถาปนิกที่เกี่ยวข้อง มาสรุปเป็นทฤษฎีสถาปัตยกรรมร่วมกัน คุณภาพของอาคารที่ประเมินมาสรุปเป็นเนื้อหาของวิชาสถาปัตยกรรม จึงเป็นลักษณะของอาคารที่เป็นผลของการออกแบบที่ Alexander (1964) เรียกว่าการออกแบบมีสำนึก (self-conscious design) หรืออาคารที่มีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบเป็นสำคัญ คุณภาพของอาคาร หรือสถาปัตยกรรมที่ดี จึงต้องตอบสนองกิจกรรมผู้ใช้อาคาร และแนวความคิดของผู้ออกแบบที่สอดคล้องกันด้วย กับความงามของรูปทรงอาคาร จึงเป็นเรื่องความเหมาะสม กับประโยชน์ของการใช้สอยของผู้ใช้ สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัสดุและการก่อสร้างหรืออื่นๆ ที่สถาปนิกเป็นผู้กำหนดแนวคิด ของการออกแบบอาคารไว้ล่วงหน้าของอาคารนั้นๆ

การศึกษาสถาปัตยกรรม โดยนัยของกระบวนการออกแบบ หรือกิจกรรม ของสถาปนิกผู้ออกแบบจึงมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับในปัจจุบัน การศึกษาสถาปนิก หรือกิจกรรมของผู้ออกแบบอาคารโดยอาชีพ มีการพัฒนาการ ศึกษากระบวนการออกแบบ ตั้งแต่การออกแบบไร้สำนึกในอดีต คือการดัดแปลงเล็กๆน้อยๆ เป็นวิวัฒนาการโดยมีระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานจากรูปแบบอาคาร ที่เป็นที่นิยมกันในแต่ละยุคสมัย จนถึงการออกแบบมีสำนึก ที่มุ่งการแก้ปัญหาของอาคารแต่ละชนิด เป็นลักษณะเฉพาะกรณี โดยตรงตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน

หากความต้องการของสถาปนิกโดยอาชีพ ในการออกแบบอาคารในปัจจุบัน มีความจำเป็นเพียงใด การศึกษากระบวนการออกแบบอย่างมีสำนึกของสถาปนิก ก็จะมีความจำเป็นเพียงนั้น เพราะวัฒนธรรมการออกแบบอย่างมีสำนึก เป็นผลิตผลของการศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นการสอนที่กำหนด กระบวนการชัดแจ้ง มีข้อกำหนดแน่นอน มีการแข่งขันในด้านสังคมและธุระกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอาคาร และขนาดของโครงการออกแบบ ทำให้ต้องมีกำหนดการเลือกการบริการของสถาปนิก เหมือนเช่นการเลือกช่างก่อสร้างที่มีฝีมือดี

ในการก่อสร้างอาคารที่มีชื่อเสียงในอดีต เนื้อหาของการศึกษาสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรม และกระบวนการคิด การตัดสินใจของสถาปนิกเป็นสำคัญด้วย ผู้ให้ความสำคัญกับวิธีการออกแบบ ในระยะเริ่มแรกของการศึกษาสถาปัตยกรรมตาม นัยนี้ คือ Viollet-le-Duc สถาปนิกและวิศวกรชาวฝรั่งเศษ นักคิดเชิงเหตุผลของยุค Neo-Gothic ของศตวรรษที่ 19 ในข้อเขียน “On method” (Violett-le-Duc, 1872) เขากล่าวว่า สถาปนิกในยุคนั้น เผชิญปัญหา ความอคติ ความเป็นประเพณีนิยมทาง ความคิด และความขายหน้าในการยอมรับ ความยุ่งเหยิงและสับสนของนักประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับศิลปะ ที่ชี้นำความคิดค่อนข้างเคร่งครัด และเป็นหลักการที่เด่นชัดเกินไป ละเลยความซับซ้อนของปัญหาการออกแบบที่เป็นจริง เช่น ความก้าวหน้าของความรู้ความเข้าใจ ที่เพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับวัสดุและเทคนิคการก่อสร้าง การแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้นได้มากเพียงไร ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบและการตัดสินใจได้ถูกต้องเพียงนั้น การได้รับความรู้ที่มีประโยชน์ทางการปฏิบัติ มีประโยชน์และจำเป็นในการแยกแยะ และจำแนกเป็นหลักการ หรือวิธีการในการออกแบบได้อย่างมากมาย วิธีการที่เขาหมายถึง คือ “programme of requirements” หรือความจำเป็นที่ต้องเอาใจใส่ต่อการคำนวณ ในการเลือกกรรมวิธีของการก่อสร้าง ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของวัสดุต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ในแง่การปฏิบัติเท่านั้น แต่ต้องสอดคล้องกับรูปลักษณ์ที่ปรากฏด้วยในแง่ของ ความเป็นเอกภาพ ความสัมพันธ์แก่กันและกัน ในแง่ของสัดส่วนและขนาด กรรมวิธีการตกแต่ง อันเป็นส่วนหนึ่งของหลักของการออกแบบ เป็นต้น

นี่คือการเริ่มต้นของการศึกษาสถาปัตยกรรม โดยนัยของสถาปนิก หรือกระบวนการออกแบบ ที่แยกจากการศึกษาตัวอาคารที่ เป็นผลของการออกแบบเพียงอย่างเดียว การโต้แย้งกันถึงวิกฤติของสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน ส่วนมากจะเป็นวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับวิธีการการออกแบบ การเรียกร้องความเป็นสถาปัตยกรรมของมนุษย์ (humane architecture) ที่ต้องการการตกแต่งประดับประดาเพื่อผลทางจิตใจ นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยทางร่างกายอย่างเดียว เรียกร้องการออกแบบที่ถูกต้องในแง่การปฏิบัติ ความสะดวกสบายทางกายภาพ ปลอดจากความเสียหาย ในแง่เทคนิคประกอบอาคาร และการปรับตัวทางร่างกายและจิตใจของผู้ใช้อย่างเหมาะสม เนื้อหาการศึกษาเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องการปรับปรุง กระบวนการ หรือวิธีการออกแบบเป็นสำคัญ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความหมายของสถาปัตยกรรม กับวิธีการออกแบบ เป็นสิ่งเดียวกัน

 

การแก้ปัญหา คือ แบบจำลองของการออกแบบสถาปัตยกรรม (Problem solving as a model for architecture)

มีการอ้างแบบจำลอง ของการออกแบบในลักษณะต่างๆกัน เช่น การออกแบบ คือ กระบวนการตัดสินใจ หรือการออกแบบ คือ กระบวนการจัดการของระบบข้อมูล หรือการออกแบบ คือ กระบวนการพยากรณ์ เป็นต้น การพิจารณาแบบจำลองการออกแบบ จากวงกว้างไปสู่วงแคบ ที่เกี่ยวกับกระบวนการของกิจกรรมในการออกแบบสถาปัตยกรรม คือ การอ้างแบบจำลองการออกแบบ คือ กระบวนการแก้ปัญหา หรือกิจกรรมของการแก้ปัญหา (problem solving activity) และ วิธีการ (method) คือ แบบจำลองของกิจกรรม Newell and Simon (1972) ได้ให้คำจำกัดความของ ปัญหา มีความหมายเป็นดังนี้ คือ บุคคลใด บุคคลหนึ่ง เมื่อเผชิญกับปัญหา เขามีความต้องการบางสิ่งบางอย่าง แต่ยังไม่ทราบขั้นตอนของกิจกรรม ที่จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บรรลุความต้องการนั้น กิจกรรมหรือขั้นตอนต่างๆของกิจกรรม เพื่อดำเนินการจากจุดเริ่มของปัญหา ไปสู่จุดสุดท้ายของการได้ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหา คือ การออกแบบ (design) ซึ่งมีความต้องการอาคารที่มีผลดีสูงสุด ขั้นตอนของกิจกรรมการออกแบบ คือกระบวนการแก้ปัญหา (problem-solving process) หรือ กระบวนการออกแบบ (design process)

การจะอธิบายการออกแบบสถาปัตยกรรม ในแง่ของการแก้ปัญหา ค่อนข้างจะเป็นนามธรรม ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนนัก หากทำการสังเกตการปฏิบัติงานของสถาปนิกในสำนักงาน จะพบว่าการกระทำ ไม่อยู่ในลักษณะของการแก้ปัญหาเลย หากบางครั้งเป็นการดำเนินงานที่อาจทราบการกระทำเพื่อความต้องการก่อนล่วงหน้า เช่น การปฏิบัติงานตามลักษณะที่เคยกระทำมาแล้ว ตามกฎเกณฑ์ที่มีหลักการแน่นอน จนเป็นลักษณะเหมือนเป็นเช่นการกระทำตามนิสัยที่ปกติ ลักษณะการกระทำซ้ำๆ การดัดปลงเล็กๆน้อยๆ หรือการเลียนแบบ ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการกระทำที่เรียกว่า เป็นกระบวนการแก้ปัญหาได้ตามที่นิยามไว้

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการแก้ปัญหา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมเท่านั้น สิ่งที่ระบุว่าเป็นปัญหานั้นมีหลายชนิด บางชนิดอาจถือเป็นส่วนปลีกย่อยของปัญหา เช่น การเล่นต่อเติมคำ (crosswords) การเล่นหมากรุก (chess) การเลือกเส้นทาง ขับรถไปทำงาน หรือจะทำอาหารกินในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้น่าจะเรียกว่า ปริศนา …puzzles เพราะเราสามารถรู้การกระทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ได้ก่อนล่วงหน้า ทราบการกระทำเพราะอาศัยข้อมูลที่มีอยู่เดิมแล้ว กระบวนการออกแบบที่เรียกว่า puzzle solving หรือการแก้ปริศนานี้ อาจเทียบเคียงการออกแบบที่ Alexander (1964) เรียกว่า การออกแบบไร้สำนึก ปัญหาการออกแบบโดยทั่วไป อาจแตกต่างจากปัญหาอื่น ตรงที่ว่า สถาปนิกไม่ทราบแน่นอนว่าเขาต้องการกระทำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อะไรชัดเจนนัก เช่นเพียงต้องการออกแบบบ้านสำหรับครอบครัว จำนวน 6 คน สร้างบนเนินเขาที่มีพื้นดินลาดชัน เขาต้องดำเนินการความต้องการ หรือความปรารถนาต่อไป เพื่อให้ได้ข้อกำหนดที่แน่นอนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อการกระทำนี้เสร็จสิ้นแล้ว การบรรลุผลในขั้นสุดท้ายก็ไม่เป็นสิ่งยุ่งยากอีกต่อไป เหมือนดังที่ Rener Banham (1965) เคยอ้างว่า ปัญหาการออกแบบ ที่กำหนดได้อย่างเด่นชัด คือ ปัญหาที่ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยสรุป ส่วนหนึ่งของปัญหาการออกแบบคือการค้นหาอะไรที่เป็น ปัญหา หรือที่ Pena (1977) นิยามการออกแบบส่วนหนึ่ง คือขั้นตอนการค้นหาปัญหา (problem seeking) หรือ ขั้นตอนการทำโปรแกรมออกแบบ (programming phase) ก่อนที่จะดำเนินขั้นต่อไป ที่เขาเรียกว่า ขั้นตอนการออกแบบ (design phase) หรือขั้นตอนการแก้ปัญหา (problem solving) จากการที่พิจารณาถึงกิจกรรมต่างๆในสำนักงานสถาปนิกแล้ว กิจกรรมบางส่วนที่เกี่ยวกับการออกแบบ เป็นลักษณะของ puzzle solving

หากยอมรับความแตกต่าง ระหว่างผลของการแก้ปัญหา กับ ผลของการแก้ puzzles แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องในสำนักงานสถาปนิก ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด และการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรม ก็ไม่ใช่กิจกรรมการออกแบบทั้งหมด ประเด็นนี้ คือ การกำหนดความแตกต่าง ของผลการออกแบบอย่างไร้สำนึก ออกจากผลการออกแบบอย่างมีสำนึกออกอย่างเด่นชัด ข้อสังเกตประการหนึ่ง คือว่ากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนงานสถาปัตยกรรม หรืออาจรวมถึงขั้นตอนการออกแบบ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการออกแบบอย่างไร้สำนึก หรือกิจกรรมของ puzzles solving ในทางปฏิบัติจริงได้ เพราะเป็นเหตุผลที่เกี่ยวกับเวลาและงบประมาณ แผนภูมิสรุปความเข้าใจตามที่กล่าวข้างต้น สามารถแจกแจงได้ดังนี้ คือ

 

 

 

ศาสตร์ของวิธีการออกแบบ

(Design Methodology)

การศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีของวิธีการ “procedural theory” จะเกี่ยวข้องกับการอธิบาย และการแจกแจงอย่างชัดแจ้งของกระบวนการ หรือ ขั้นตอน ที่เกี่ยวกับการอกแบบสถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อมและอื่นๆ ศาสตร์ของวิธีการออกแบบ คือ การศึกษากระบวนการและวิธีการต่างๆ ของการออกแบบ รวมทั้งการศึกษาวิธีการคิด และวิธีปฏิบัติของสถาปนิกหรือนักออกแบบนั่นเอง วัตถุประสงค์ของการศึกษา ก็เพื่อการค้นหาและสร้างพื้นฐานของความรู้ทางทฤษฎี สนับสนุนการศึกษาและการปฏิบัติ ของการออกแบบสถาปัตยกรรม ความรู้นี้จะสามารถช่วยให้สถาปนิก หรือนักออกแบบกำหนดกระบวนการออกแบบของตัวเองอย่างเหมาะสม กับปัญหาสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน แทนที่จะใช้กระบวนการออกแบบที่จำเจ และซ้ำซากจนเกิดเป็นความเคยชิน ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ปัจจุบัน การศึกษาในแนวทางนี้ยังมีความสนใจน้อย ข้อเสนอทางวิชาการที่ปรากฏเป็นหลักฐานการอ้างอิง ยังอยู่ในขั้นการเริ่มต้น และมีการโต้แย้ง ที่ยังสรุปเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีไม่ชัดเจนนัก แต่อย่างไรก็ตาม นับเวลาการศึกษาเป็นระยะเวลาประมาณเกือบสี่สิบปี ตั้งแต่มีการประชุมทางวิชาการเป็นครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้น ที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1962 และครั้งสุดท้าย ณ สถานที่เดียวกัน ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งการประชุมทางวิชาการทั้งสองนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของยุคการศึกษา และเป็นยุคการสืบต่อการศึกษา ของกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม ผลการประชุมทางวิชาการแขนงนี้ ที่ได้จัดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 จนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นการบันทึกการวิวัฒนาการ ของศาสตร์ทางวิธีการออกแบบที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยการประชุมที่สำคัญๆ พอแยกออกเป็นสองฝ่าย คือการ ประชุมของฝ่าย ที่จัดให้มีขึ้น ณ ประเทศอังกฤษ ดังมีผลการบันทึกเป็นเอกสารทางวิชาการดังนี้ คือ ในปี 1962 -Jones and Thornley (1963) ในปี 1965 -Gregory (1966) ในปี 1971 -Cross (1972) ในปี 1973 ไม่มีการบันทึก ในปี 1967 ทั้งสามครั้ง -Broadbent and Ward (1969) ในปี 1976 -Evans, et al. (1982) ในปี 1980 -Jacques and Powell (1981) และ ในปี 1982 -Langdon et al. (1984) และอีกฝ่าย มีการประชุมหลายครั้งที่จัดในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญควรแก่การกล่าวอ้างถึง คือในปี 1968 ที่เมืองบอสตัน -Moore (1970) และในปี 1974 ที่เมืองนิวยอร์ค -Spillers (1974)

เนื้อหาวิชาการ ความแตกต่างในการศึกษา และค้นคว้า ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรม พอจะสรุปได้จากเอกสาร ที่เป็นบันทึกผลการประชุมทางวิชาการดังกล่าว คือ การจัดการของกระบวนการออกแบบ “ the managment of design process” การศึกษาอยู่ในระหว่าง ปี ค.ศ.1962-67 เกี่ยวข้องกับการเสนอขั้นตอนการออกแบบอย่างเป็นระบบชัดเจน เสนอวิธีการตรวจสอบเชิงปริมาณด้วย โดยเนื้อหาและวิธีการพัฒนาการมาจากสาขาวิชาอื่น เช่น วิธีการต่างๆของ การแก้ปัญหา การจัดการ และการค้นคว้าเชิงปฏิบัติการ ที่ได้มีการพัฒนาในระหว่างสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และปี ค.ศ. 1950s

โครงสร้างของปัญหาการออกแบบ “ the structure of design problems” เป็นการศึกษาต่อเนื่องจากกระบวนการออกแบบที่เน้นระบบของขั้นตอน และวิธีการตัดสินใจ ในช่วงระยะเวลา ปี ค.ศ. 1966-73 โดยเน้นถึงความสำคัญของปัญหาที่สลับซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม และโต้แย้งว่า เป็นลักษณะของปัญหาที่ยากต่อการที่จะกำหนด หรือแยกแยะออกได้ชัดเจนในเชิงปริมาณ ใช้เป็นแนวทางการศึกษาเสนอกระบวนการ หรือกรรมวิธีการออกแบบ

ธรรมชาติของกิจกรรมการออกแบบ “ the nature of design activity “ เน้นปัญหาที่ยุ่งยากในการออกแบบ และยุทธวิธีต่างๆในการแก้ปัญหาเหล่านั้น การศึกษาครอบคลุมถึงวิธีการสอบสวน และตรวจสอบ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของสถาปนิก หรือนักออกแบบโดยเฉพาะ การศึกษาในช่วงเวลา ปี ค.ศ. 1970s-79 ของแนวทางนี้ให้น้ำหนักความสนใจ ต่อการศึกษาพฤติกรรมของสถาปนิก หรือนักออกแบบโดยตรง โดยอาศัยการศึกษาเปรียบเทียบ ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์ จากสาขาวิชาแขนงอื่น

ปรัชญาของวิธีการออกแบบ “ the philosophy of design method “ ในช่วงเวลา ปี ค.ศ. 1972-82 มีเอกสารสำคัญหลายชิ้น เสนอการศึกษาทบทวนแนวทาง ที่ใช้ในการศึกษากระบวนการออกแบบที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเริ่มสนใจศึกษากระบวนการออกแบบโดยตรง เพื่อนำข้อดีข้อเสียที่ได้รับจากการศึกษาโต้แย้ง มาใช้ในการปรับปรุงแนวทางของการศึกษาต่อไป เนื้อหาของเอกสารทางวิชาการ ที่ได้มาจากการประชุมทางวิชาการที่แล้วมาในอดีตนี้ ถือว่าเป็นการพัฒนาทางวิชาการออกแบบที่สำคัญ เป็นพื้นฐานทางวิชาการที่จะสามารถทำการกำหนดแนวทางของการศึกษาค้นคว้าต่อไปได้ เพราะได้ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ การแจกแจงความคิดในการออกแบบ การอธิบายถึงธรรมชาติของปัญหาการออกแบบที่ยุ่งยาก การสังเกตพฤติกรรมการออกแบบที่เกิดขึ้นจริง และมีการสะท้อนถึงรากฐานแนวคิด ของกระบวนการออกแบบที่ชัดเจนมากขึ้น อันทำให้การศึกษาวิธีการและกระบวนการออกแบบ มีแนวโน้มพอที่จะกำหนดเป็นทฤษฎีทางกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาสถาปัตยกรรมต่อไปได้ในอนาคต

คำว่า วิธีการออกแบบ “ design methods “ เป็นการใช้อ้างถึงขั้นตอนต่างๆ “ procedures “ โดยเฉพาะที่เป็นลักษณะของการกระทำในการออกแบบของสถาปนิก แยกการกระทำเป็นขั้นตอนต่างๆเป็นลำดับ ชัดเจน สามารถสอน เรียนรู้ และอธิบายได้ กล่าวโดยสรุป ศาสตร์ของวิธีการออกแบบ อ้างถึง การศึกษาวิธีการออกแบบต่างๆ เหล่านี้

แบบจำลองของกระบวนการออกแบบทางสถาปัตยกรรม

(Models of The Architectural Design Process)

แบบจำลองทางความคิด “model” ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกแบบ กำหนดขึ้นจากประสบการณ์ของสถาปนิกแต่ละคน ที่ทบทวนมาจากผลของการปฏิบัติ ในวิชาชีพสถาปัตยกรรม จากผลการศึกษา สามารถจำแนกลักษณะของแบบจำลอง ออกเป็นสองลักษณะ คือ ลักษณะแบบจำลอง ที่ยึดถือกระบวนการออกแบบ เป็นเช่นเดียวกันกับ กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ “the creative problem-solving process” ที่มีการพัฒนาส่วนใหญ่ จากวิชาในสาขาจิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ และอีกลักษณะที่ยึดถือกระบวนการออกแบบ เป็นเช่นเดียวกันกับกระบวนการตัดสินใจเชิงสร้างสรรค์ “the creative decision-making process” ที่มีการพัฒนาส่วนใหญ่ มาจากวิชาในสาขาการบริหาร และการจัดการศาสตร์ กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ กระบวนการออกแบบที่อุปมาเป็นเช่นเดียวกันกับกระบวนการแก้ปัญหานั้น พอสรุปเป็นขั้น ตอนที่สำคัญ 3 ขั้นตอน คือ

  1. การกำหนดปัญหา “problem definition, problem formulation, or transformation”
  2. การเสนอความคิดแก้ปัญหาในแนวทางต่างๆ “variety generation, divergence, or idea production”
  3. การตัดทอนและสรุปแนวทางแก้ปัญหาสุดท้าย “variety reduction, convergence, or selection”

ขั้นตอนของการแก้ปัญหาในการออกแบบสถาปัตยกรรมนี้ได้มาจากการศึกษาทางทฤษฎีเชิงเปรียบเทียบ กับกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ในวิชาจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของความคิดสร้างสรรค์ และพฤติกรรมมนุษย์ศาสตร์ ที่มีการพัฒนาการศึกษาเป็นเวลายาวนาน ความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นได้ทั้งกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และกระบวนการคิดแบบศิลปะ ทั้งการประพฤติปฏิบัติในแง่นามธรรม และในแง่รูปธรรม เป็นการรวมความรู้สึก และความฉลาดรู้เข้าด้วยกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ระหว่าง การหยั่งรู้ด้วยความรู้สึก และหยั่งรู้ด้วยประสบการณ์ที่เคยรู้มาก่อน การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ขึ้นอยู่กับความตระหนัก ในความสามารถทั้งสองนี้ ผลของการกระทำไม่เหมือนสิ่งที่เคยกระทำ หรือปรากฏในสังคมขณะนั้น นักคิดเชิงรูปธรรมได้ความรู้จากข้อมูล หลักฐาน แต่อาจรวม กำหนดการคิดเริ่มต้น ด้วยความรู้สึกที่ได้รับจากสิ่งรอบตัว แล้วพัฒนากระบวนการคิดต่อเนื่องด้วยเหตุผล ไปพร้อมความรู้สึกของความสุนทรีย์ ที่ได้รับจากประสบการณ์ นักคิดเชิงนามธรรม ได้รับความรู้ ความเข้าใจ จากการตอบสนองโดยทันที ของกลไกความรู้สึกนึกคิดในสมองดำเนินการโดยตลอดและต่อเนื่อง เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน และประสบการณ์ของความรู้สึกนึกคิดที่สะสมมาในอดีต การศึกษากระบวนการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เป็นการรวมคุณค่าของความคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน

การแก้ปัญหาการออกแบบที่ใช้ได้ มิใช่เป็นคำตอบเชิงสร้างสรรค์เสมอไป แนวทางการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมเชิงสร้างสรรค์ จะต้องผนวกความคิด การจินตนาการ และแรงบันดาลใจ เข้ากับการแก้ปัญหาความคิดด้วยเหตุผลเสมอ กระบวนการออกแบบในแนวทางนี้ จะต้องไม่ทำให้ความคิด เป็นลักษณะที่เคร่งครัดเกินไป กระบวนการออกแบบต้องสอดคล้องกับวิธีการที่ยืดหยุ่น “soft” ทั้งด้านเหตุผลและความรู้สึก Don Koberg และ Jim Bagnall (1972, 1980) ได้เสนอแบบจำลองของกระบวนการแก้ปัญหาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เป็นสามขั้นตอนที่สำคัญ คือ

การเชื่อมต่อที่สำคัญของการคิดเชิงนามธรรมและเชิงรูปธรรม คือ ขั้นตอนการกำหนดรู้ เป็นลักษณะของขั้นตอนที่จะสร้างแนวคิดการแก้ปัญหาอย่างเคร่าๆ “conceptual stage” ก่อนที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมทางสถาปัตยกรรม อาจเป็นขั้นตอนการค้นหาคุณค่า เช่น อาคารที่มีคุณค่าสถาปัตยกรรม “the essence of building” หรือเนื้อหาของงานศิลป์ “the art-content” เป็นขั้นตอนที่เปิดโอกาสให้สถาปนิก ขยายความคิดที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบในรูปของ โปรแกรม สู่การออกแบบที่เป็นรูปธรรมของ อาคาร และมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในที่สุด ขั้นตอนการวิเคราะห์ เป็นขั้นตอนของความคิดที่เป็นอิสระของส่วนบุคคล และค่อนข้างเคร่งครัดกว่า ขั้นตอนการสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการครอบคลุม การค้นหาทางเลือกต่างๆ ให้ชัดแจ้งต่อการเลือกและตัดสินใจ รวมทั้งการประมวลผลไปใช้ในทางปฏิบัติ ขั้นตอนทั้งหมดของกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ควรเป็นดังนี้

  1. analysis- การวิเคราะห์
  2. definition- การกำหนดรู้
  3. synthesis- การสังเคราะห์

3.1 options- การเสนอทางเลือก

3.2 decision-making- การตัดสินใจ

3.3 implementation- การประมวลผล

กระบวนการนี้ Koberg และ Bagnall ได้สรุปผลมาจากการศึกษาเปรียบเทียบ กับ กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ที่ได้ศึกษาค้นคว้าและเสนอเป็นแบบจำลองทางความคิด โดยผู้รู้ในสาขาอื่นต่างๆมากมาย เช่น Graham Wallas (1926) John Dewey (1933) Alex Osborn (1953) Osborn-Parnes (1956) William Gordon (1961) M. Asimov (1962) และ J. Rossman (1964) เป็นต้น แต่เมื่อนำมาพิจารณา เพื่อให้เกิดความเหมาะสม กับการออกแบบโดยตรงทางสถาปัตยกรรม และประกอบกับการศึกษาเปรียบเทียบ ถึงผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่ได้ให้ข้อสังเกตถึง กระบวนความคิดสร้างสรรค์นั้น เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นย้อนกลับไปกลับมา ระหว่างความคิดที่กำหนดให้เกิดขึ้น “making things happen” และ ความคิดที่ยินยอมให้เกิดขึ้น “allowing things to happen” ดังนั้น Koberg และ Bagnall ได้สรุปผลการศึกษา เป็นแบบจำลองของกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม ที่อุปมาเป็นกระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ประกอบกันกับคุณลักษณะด้านพฤติกรรมเฉพาะของสถาปนิกด้วย โดยแบ่งเป็น 8 ขั้นตอน ดังนี้คือ

แบบจำลอง ของกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม เสนอโดย Don Koberg and Jim Bagnall (1972,1980)

  1. acceptance-การยอมรับปัญหา
  2. analysis-การวิเคราะห์
  3. definition-การกำหนดรู้
  4. ideation-การเสนอแนวคิดต่าง
  5. synthesis-การสังเคราะห์
  6. selection-การเลือก/ตัดสินใจ
  7. implementation-การประมวลผลทางปฏิบัติ
  8. evaluation-การประเมินผล

 

 

 

การยอมรับปัญหา

เกิดขึ้นโดยอาศัยองค์ประกอบร่วมทางพฤติกรรม เช่น การสร้างวัตถุประสงค์ ความตั้งใจ ความกระตือรือร้น แรงกระตุ้นโดยเฉพาะส่วนตัว แรงปรารถนา และความกล้าหาญ เป็นต้น

การวิเคราะห์

เป็นการแยกแยะ หรือแปลเปลี่ยนปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับ การรับรู้เข้าใจโดยประสบการณ์ เกิดโดย ความสงสัย ความอยากรู้อยากเห็น การตั้งคำถาม ความเอาใจใส่ ความรู้สึกที่อ่อนไหวง่ายต่อสิ่งเร้า และความมีสติ เป็นต้น

การกำหนดรู้

เกิดขึ้นโดยคุณลักษณะเฉพาะตัว ของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เช่น การรู้แจ้งโดยทันทีทันใด การมีจุดประสงค์ที่แรงกล้า ความสามารถ คิดเชิงอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบ ความสามารถในการกำหนดแนวทาง การคิดโดยเน้นพื้นฐานสำคัญๆ ความเป็นผู้มีความอิสระ และนักประสานความคิดที่หลากหลาย เป็นต้น การเสนอแนวคิดต่างๆ เกิดโดยคุณลักษณะที่เป็นผู้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และมีความช่างคิดในหลายแง่มุม จึงทำให้มีความสามารถกำหนดแนวทาง หรือผลความคิดหลายด้าน เป็นผู้มีลักษณะ เปิดเผย จริงใจ กล้าเสี่ยง ผจญภัย และช่างประดิษฐ์ คิดค้นคว้าสิ่งใหม่ๆเสมอ

การสังเคราะห์

เป็นการรวมสิ่งแยกแยะต่างเข้าด้วยกัน เป็นคำตอบอย่างสังเขป หรือการนำ เสนอข้อคิดเห็นอย่างเคร่าๆ (conjectures) เป็น สมมติฐาน ของผลการออกแบบล่วงหน้า

การเลือก/ตัดสินใจ

เกิดโดยประสบการณ์เฉพาะตัว ความมีเหตุผล การ เปรียบเทียบ ความกล้าไม่ลังเล เอาใจใส่ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความยุติธรรม เป็นต้น

การประมวลผลทางปฏิบัติ

เกิดโดยคุณสมบัติ ของการเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่นักเพ้อฝัน เป็นนักชำนาญการ เป็นผู้มีความมัธยัสถ์ ชอบปรับปรุง ซ่อมแซม แก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์ กล้าแสดงออก เป็นต้น

การประเมินผล

เกิดโดยคุณลักษณะของ การเป็นนักวิจารณ์ ชอบการโต้แย้ง นักประเมินคุณค่า ชอบสะท้อนความคิดเห็น ย้อนรอย คาดการณ์ และแสวงหา ความรู้อยู่เสมอ เป็นนักสร้างสรรค์ ชอบการก่อมากกว่าการทำลายล้าง เป็นผู้มีการปรับปรุงตัวเองเสมอ เป็นต้น

แบบจำลองกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม

(A Model of Environmental Design Process)

 

ที่มาของการสร้างแบบจำลอง

ปัญหาการออกแบบสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน นักวิชาการได้ขยายความรวมไปถึง การออกแบบสภาพแวดล้อม เพราะกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม คือ ส่วนหนึ่ง ของกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม “the environmental design process” สถาปนิก คือ นักแก้ปัญหาและจำลองสภาพแวดล้อม ให้เกิดความเหมาะสม และสอดคล้องกับพฤติกรรมมนุษย์ ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรม จึงต้องเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมศาสตร์ และทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ สภาพแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบบจำลองของความสัมพันธ์ระหว่าง พฤติกรรมศาสตร์ และทฤษฎีการออกแบบสภาพแวดล้อม … The Behavioral Sciences and Environmental Design Theory ..ที่มา -Jon T. Lang, Creating Architectural Theory พอจะกำหนดได้ดังนี้

พิจารณาในแง่วิชาการทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ การออกแบบอีกนัยหนึ่ง หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ “a learning process” ซึ่งสถาปนิก พยายามที่จะกำหนดสมมติฐานของปัญหาต่างๆ ก่อนแล้วจึงค้นหาแนวทางในการเสนอคำตอบ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบสภาพแวดล้อม กล่าวคือ สถาปนิก พยายามเปลี่ยนแปลง ขยายความ หรือกำหนดปัญหาใหม่ๆ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ การเรียนรู้ถึงปัญหา และแนวทางแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา กระบวนการ เป็นลักษณะการกระทำซ้ำๆ โดยการกำหนดและบันทึก ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ จนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ คือ การได้รับความรู้ และความเข้าใจต่อปัญหาและการแก้ปัญหา มากขึ้นจนเป็นที่พอใจ เหมาะสมกับเวลาและสถานะภาพ ที่เอื้ออำนวยในขณะนั้น ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการออกแบบสภาพแวดล้อม คือ ปัญหาไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนโดยปราศจากอคติ กระบวนการออกแบบจึงต้องใช้ การผสมผสานของการคิด เชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสังเคราะห์ เข้าด้วยกันและย้อนกลับไปกลับมาตลอดเวลา เมื่อไรก็ตาม ที่ระยะเวลากำหนดสิ้นสุดลง หมดสิ้นความกระตือรือร้น หรือมีความพอใจในระดับหนึ่งเกิดขึ้น กระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อมก็สิ้นสุด ผลของการออกแบบ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่ กับความสมบูรณ์ของผลการแก้ปัญหา หากแต่ขึ้นอยู่กับความพอใจ ในระดับหนึ่งของผู้ออกแบบ เท่านั้น

การออกแบบ คือ กระบวนการสร้างสมมติฐาน และการทดสอบสมมติฐาน (Design as Hypothesis Formation and Testing)

หากจะพิจารณา กระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม เป็นเช่น กระบวนการเรียนรู้ และรับรู้ “perception” ด้วยกันแล้ว การออกแบบ คือ กระบวนการกำหนด หรือ สร้างสมมติฐาน เป็นข้อคิดเห็นเบื้องต้น “conjectures” ต่อการปรับปรุง หรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน แล้วจึงทำการทดสอบสมมติฐานนั้นๆ จนเป็นที่พอใจก่อนการยอมรับเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม สมมติฐานของการออกแบบ อาจหมายถึงแบบร่างของความคิดในแง่ของกายภาพ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองโปรแกรมการออกแบบ ในลักษณะความต้องการทางพฤติกรรมของผู้ใช้อาคาร หรือ แบบจำลองของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม กระบวนการแก้ปัญหาที่ถือว่า พอจะกระทำเป็น ระบบ หรือ เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ คือ กระบวนการทดสอบสมมติฐาน ส่วนกระบวนการกำหนดสมมติฐานเบื้องต้น เป็นความสามารถของการคิดสร้างสรรค์เฉพาะบุคคล อาจไม่เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยตรงก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ขั้นตอนการทำโปรแกรมการออกแบบ น่าจะอ้างถึงกระบวนการความคิด เพื่อการแสวงหาสมมติฐานเบื้องต้น เป็นแนวทางการค้นหาคำตอบอย่างเคร่าๆก่อน ซึ่งต่อไปจะทำให้เกิดกระบวนการทดสอบ และ ปรับปรุง แก้ไข อันนำไปสู่การกำหนดสมมติฐานใหม่ แล้วทดสอบต่อๆไปอีก กระทำซ้ำๆเช่นนี้จนบรรลุถึง สมมติฐานสุดท้ายที่เกิดขึ้นจนเป็นที่พอใจ และยอมรับเป็นคำตอบของกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมในที่สุด

คุณภาพของสมมติฐานที่ได้มา ขึ้นอยู่กับการสร้างสมความรู้ที่มีมาอย่างพอเพียง และความสามารถในการแสวงหาข้อมูลใหม่ๆ ในการนำมาใช้ประเมินผลต่อสมมติฐานนั้นๆ จนเป็นที่พอใจ กระบวนการออกแบบในลักษณะนี้ให้ข้อสังเกต คือ ความแตกต่างของบุคคล ทำให้เกิดความแตกต่างทางคุณค่านิยม อันทำให้มีภาพลักษณ์ของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ก็มีกระบวนการทางความคิด ความเข้าใจ และความชำนาญในการแก้ปัญหา ที่แตกต่างกันด้วย กล่าวโดยรวม คือ แต่ละบุคคลมีความรอบรู้ต่อคุณค่าของสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์เท่าเทียมกัน “symmetry of ignorance” จึงจำเป็น ต้องมีการกระทำร่วมกันระหว่างบุคคล ในกระบวนการแก้ปัญหา ปรับปรุง หรือ การออกแบบ สภาพแวดล้อมใดๆที่มีขึ้น กระบวนการออกแบบจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อที่จะได้ให้โอกาสของแต่ละบุคคล มีส่วนร่วมตามบทบาทที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา หรือ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมร่วมกันได้ด้วย

ลักษณะของกระบวนการออกแบบ

(The Characteristics of Design Process)

กระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม สามารถบรรยายได้ในหลายแนวทาง ตามระดับของการเสนอแนะโดยทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยการกระทำเชิงฉลาดต่างๆ “intellectual activities” ประกอบเป็นขั้นตอน ตามความแตกต่างของผลที่มุ่งหวังในแต่ละขั้นตอน ความคิดเชิงฉลาดขั้นพื้นฐานเหล่านี้ คือ

  1. การคิดเชิงวิเคราะห์
  2. การคิดเชิงสังเคราะห์
  3. การพยากรณ์
  4. การประเมินผล และ
  5. การตัดสินใจ

ในชีวิตประจำวัน กระบวนการคิดเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยสำนึกบ้าง ไร้สำนึกบ้าง และบางทีก็เกิดขึ้นอย่างผิดๆถูกๆ หาความแน่นอนไม่ได้ ขั้นตอนสำคัญๆ ของกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม อาจพิจารณาเป็นแบจำลองของ การตัดสินใจโดยทั่วๆไป เพราะกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม จัดเป็นหนึ่ง ของกระบวน การตัดสินใจทั้งหลาย คือ

  1. ความฉลาด -Intellegence,
  2. การออกแบบ -Design,
  3. การเลือก -Choice,
  4. การประมวลผลก่อน -Implementation,
  5. การประมวลผลหลัง -Postimplementation และ
  6. การประเมินผลสุดท้าย -Evaluation

สิ่งเหล่านี้ เป็นขั้นตอนพื้นฐาน ของกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม แม้ว่า ในแง่การปฏิบัติทางวิชาชีพ เช่น ทางสถาปัตยกรรม จะนิยมอ้างถึงขั้นตอนต่อไปนี้ คือ

  1. การเสนอโปรแกรม -Programming,
  2. การออกแบบ -Design,
  3. การประเมินผล และตัดสินใจ -Evaluation and Decision,
  4. การก่อสร้าง -Construction, และ
  5. การประเมินผลหลังการครอบครอง –Post-Occupancy evaluation

ลักษณะแบบจำลองนี้ โดยทั่วไปเป็นขั้นตอนแบบต่อเนื่อง แต่บางโอกาสอนุโลมให้ขั้นตอนต่อไปเกิดขึ้น โดยที่ขั้นตอนแรกก่อนไม่ทันบรรลุผล แล้วย้อนกับมาพิจารณาทบทวนใหม่ เพื่อให้เกิดผลบรรลุของขั้นตอนนั้น และแต่ละขั้นตอนไม่จำเป็นต้อง กำหนดวิธีการที่เคร่งครัด และชัดแจ้งเสมอไป การทบทวนของแต่ละขั้นตอน อาจย้อนกลับมากระทำได้เสมอ เมื่อได้รับรู้ หรือ เรียนรู้ข้อมูลใหม่เพิ่มเติม หรือเมื่อผู้ออกแบบเกิดความขัดแย้งต่อคำตอบ ที่สนองต่อชนิดของความต้องการที่ไม่เหมือนกัน อาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า กระบวนการออกแบบ คือ กระบวนการโต้เถียงอย่างหนึ่ง “an argumentative process” ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอความเห็น หรือสมมติฐานเบื้องต้นต่างๆ และการประเมินผล ต่อสมมติฐานเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ กระบวนการออกแบบเป็นการเสนอความเห็น ที่ว่าความต้องการต่างๆอันเป็นปัญหาของการออกแบบ ควรแปลสภาพเป็นความสัมพันธ์ในแง่ทางกายภาพที่เป็นระบบอย่างไร จึงจะบรรลุความประสงค์ของผู้ใช้อาคาร หรือ ผู้ที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ การเสนอความเห็น หรือ กำหนดสมมติฐานต่างๆ เป็น การพยากรณ์ล่วงหน้า ความสามารถในการพยากรณ์ ขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ ต่อปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ต่อปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องของผู้ออกแบบแต่ละบุคคล ที่มีประสบการณ์ สะสมมาต่างกัน ปรากฏการณ์ที่เป็นจริง คือ ทฤษฎีความเข้าใจ เรื่อง ความสัมพันธ์ ของบุคคลที่มีต่อสภาพแวดล้อม และวิทยาการที่กำหนดความสัมพันธ์ อันประมวลจากผลการเรียนรู้ของผู้ออกแบบแต่ละบุคคล การตัดสินใจที่ดี เกิดมาจากการอ้างทฤษฎีที่ถูกต้องเหมาะสม กับขั้นตอนที่ต้องมีการตัดสินใจนั้นๆ

 

แบบจำลองของกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ที่เสนอโดย Dr. Jon T. Lang: A General Model of Design Praxis เป็นดังนี้ ….Positive Substantive and Procedural Theory

แบบจำลองของกระบวนการตัดสินใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม

(A Model of Decision-Making in Design)

กระบวนการออกแบบ (The Design Process)

เป็นที่ยอมรับกันว่า หน้าที่ของสถาปนิกและวิศวกรในกระบวนการออกแบบ คือ การแปลเปลี่ยนความต้องการ และความปรารถนาของลูกค้า ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เป็นคำตอบของการออกแบบ ซึ่งสามารถทำความเข้าใจได้ กับ ผู้รับเหมาการก่อสร้าง ผ่านแบบก่อสร้างและรายการประกอบแบบก่อสร้างต่างๆ แต่เมื่อพิจารณา กระบวนการที่สนับสนุนและเกี่ยวข้องให้ครบวงจรแล้ว ขั้นตอนของการออกแบบ จนการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ สามารถกำหนดเป็นวงจรต่อเนื่อง ของโครงการออกแบบ “the facility cycle” ได้ดังนี้ คือ

ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ “feasibility phase” เป็นขั้นตอนเริ่มแรกของวงจร คือ การตรวจสอบ และกำหนดความต้องการ ความประสงค์ของเจ้าของอาคารและผู้อยู่อาศัย ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และความสัมฤทธิ์ผลของประโยชน์ใช้สอยอาคาร เป็นการเสนอการวางแผนโครงการ ที่จะทำให้มีการดำเนินการ ให้บรรลุผลสูงสุด ทั้งกระบวนการออกแบบ กระบวนการก่อสร้าง และกระบวนการเข้าอยู่ อาศัย หรือครอบครองและดูแลรักษา รวมถึงกระบวนการลงทุนเพื่อผลทางธุระกิจของโครงการการวางแผนงานล่วงหน้าต่างเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่า อะไรที่ต้องทำ? จะทำอย่างไร? เสร็จสิ้นเมื่อไร? และใคร? เป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำ ลักษณะงาน เช่น การกำหนดข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนโครงการของอาคารและสถานที่ก่อสร้างที่เหมาะสม การกำหนดขอบเขต ของการทำโครงการ การวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพ และข้อจำกัดของสถานที่ก่อสร้าง การประเมินผล คุณภาพการอยู่อาศัย การบริการทีผู้อยู่อาศัยพึงประสงค์ ผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากโครงการ วางแผนเกี่ยวกับข้อกำหนด และข้อจำกัดในการ ออกแบบ และการจัดทำโปรแกรมการออกแบบ เป็นต้น

ขั้นตอนการออกแบบ “design phase” การออกแบบโครงการสืบเนื่องมาจากผลสรุปของการกำหนด ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนแรก ของการศึกษาโครงการ ผลที่มุ่งหวังในขั้นตอนการออกแบบนี้ คือ แบบ และรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ วัสดุ และการก่อสร้างอาคาร และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมโดยรอบ แบบแสดงการจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยต่างๆ รูปร่างลักษณะอาคาร โครงสร้าง และงานระบบที่ประกอบอาคารต่างๆ การออกแบบเป็นการแปลเปลี่ยน เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้ในขั้นตอนแรก ให้เป็นแนวทาง หรือ แบบจำลองที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ต่อไป และทราบงบประมาณค่าใช้จ่ายของโครงการได้ล่วงหน้าโดยประมาณ ขั้นตอนนี้ให้ข้อกำหนด และมาตราฐานของคุณภาพอาคารได้ในระดับหนึ่ง

ขั้นตอนการก่อสร้าง “construction phase” เป็นขั้นตอนการแปลเปลี่ยนความคิด และแบบจำลองต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมที่สมบูรณ์ เพื่อสามารถ ประเมินคุณภาพของโครงการได้ อย่างครบถ้วนต่อไป ในขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง แม้มีการวางแผนไว้แล้วล่วงหน้า แต่การเปลี่ยนแปลงปรับปรุง ทางเทคนิควิทยาการของการก่อสร้าง สามารถกระทำได้ เมื่อประสบกับอุปสรรคในขณะทำการก่อสร้าง หรือปรับเปลี่ยนกรรมวิธีให้เกิดความเหมาะสมกับขีดความสามารถ ในการก่อสร้าง ของผู้รับเหมาการก่อสร้าง ที่อาจแตกต่างกัน หรือเพื่อให้เกิดความเหมาะสม กับสถานะการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ในเวลาระหว่าง การก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็นขั้นตอนที่ผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง สามารถประเมินผลงาน สำหรับการก่อสร้างในอนาคตได้

ขั้นตอนการเข้าครอบครอง “occupancy phase” เป็นขั้นตอนที่จะใช้ในการประเมินผล เป็นลักษณะของงานค้นคว้า เพื่อปรับปรุงความรู้ ทางวิชาการ ที่เกี่ยว ข้องระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมในการออกแบบได้ต่อไป อีกทั้งเป็น การตรวจสอบผลดีผลเสียในแง่การดำเนินการ และจัดการ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สอยอาคาร ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาอาคาร การใช้หรือประหยัดพลังงานที่เกี่ยวข้องกับอาคาร ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมข้างเคียง รวมถึงการ ประเมินผลกำไร และขาดทุนในด้านธุระกิจของโครงการทั้งหมดด้วย

สามารถเขียนเป็นแบบจำลองของวงจรโครงการออกแบบ ..ได้ดังนี้

กระบวนการและวิธีการตัดสินใจ (Decision-making Methodology)

การตัดสินใจ มีลักษณะของกระบวนการ และวิธีการรวมกัน ในที่นี้หมายถึงขั้นตอน ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นระเบียบวิธี มีความก้าวหน้าตามลำดับขั้นตอน คือ ขั้นตอนการกำหนดปัญหาที่ชัดเจน “problem definition” ขั้นตอนเสนอทางเลือกของคำตอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น “generation of alternatives that address the problem” ขั้นตอนการทดสอบทางเลือกของคำตอบเหล่านั้น โดยเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจน “testing of alternatives against a set of well-defined criteria” และ ขั้นตอนสุดท้าย คือ การเลือกคำตอบที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด “selecting the alternative that best solves the problem”

วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในที่นี้ หมายถึงการยอมรับในเบื้องต้นว่า ปัญหาต่างๆในการออกแบบ สามารถวิเคราะห์ได้โดยเริ่มการสังเกต เป็นลักษณะ ของปรากฏการณ์ และต่อมาก็กำหนดเป็นสมมติฐาน เพื่อแสดงถึงปรากฏการณ์นั้นมีผลกระทบกับกฎและข้อบังคับภายนอก ที่เฉพาะเจาะจงเป็นอย่างไร กระบวนการนี้ถือได้ว่า เป็นกระบวนการแก้ปัญหา ที่เริ่มจากการเสนอ เพื่อการยอมรับโดยทั่วไป ในพื้นฐานของการกำหนดปัญหาก่อน แล้วจึงดำเนินการต่อไป ผ่านกระบวน การประเมิน วิเคราะห์ และทดสอบสุดท้ายด้วยวิธีการที่แน่ชัดในการ แก้ปัญหานั้นๆ โดยสรุป การตัดสินใจ ต้องเป็นลักษณะของกระบวนการ และวิธีการ รวมกัน

กระบวนการตัดสินใจ (A Decision-Making Process)

ขั้นตอนของการตัดสินใจ แยกออกเป็น 3 สถานะภาพ คือ

context หรือสถานะการณ์ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาในขณะนั้น process หรือกระบวนการ เมื่อ ต้องการเปลี่ยนแปลงปัญหา เป็นคำตอบใดคำตอบหนึ่ง และ product หรือผลผลิต ที่ต้องนำเสนอให้เกิดการยอมรับในคุณค่า

เมื่อคำนึงถึงคำตอบที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาสุดท้าย ปัญหา จะเกิดขึ้น ในสภาวะการณ์เฉพาะ “context” ของความคิดนามธรรม ที่เกี่ยว ข้องกับรสนิยม ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สภาพสังคม ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและการยอมรับทางสังคม กระบวนการของการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล “process” ที่ถูกกำหนดในสภาวะการณ์นี้ เกิดจากการทำความเข้าใจกับธรรมชาติของปัญหาที่เกิดขึ้น ผลผลิต “product” คือ ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาในรูปธรรมของกระบวนการ เช่น ยุทธวิธี แบบแปลน รายการประกอบ หรือ อาคารที่เกิดขึ้น เป็นต้น

แบบจำลองของกระบวนการตัดสินใจ

(A Model of Decision-Making Process)

Decision-Making Process = context--- process---product

info.& analysis—speculation—evaluation—synthesis—recommendation

ในสภาวะการณ์เมื่อปัญหาเกิดขึ้น การกระทำเป็นหลักเบื้องต้นของสถาปนิก คือ การกำหนดข้อจำกัดต่างๆ “constraints” ในด้านประโยชน์ใช้สอย เศรษฐกิจและสังคม ที่มีต่อปัญหานั้นๆ จะประมวลเป็นลักษณะของข้อมูล “information” ในการพิจารณาไปพร้อมๆกับการกำหนดคำตอบที่เหมาะสม และเป็นไปได้ เช่น ในขั้นตอนของโปรแกรมการออกแบบ “architectural programming” ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ตัดสินใจ อยู่ที่การค้นหาคำตอบ ทางความคิดแง่นามธรรม และแผนการทางยุทธวิธีของการแก้ปัญหาอย่างกว้างๆ ในขั้นตอน การปรับปรุงการออกแบบต่อมา “design development” ข้อมูลจะเจาะจง กระชับเข้า กับ คำถามที่เกี่ยวกับ เศรษฐกิจ หรือ ราคา ขนาด ของการจัดแจงที่ว่างต่างๆ เป็นต้น เมื่อข้อมูลดังกล่าว มีการกำหนดเด่นชัด และมีการวิเคราะห์แล้ว “information analysis” ความคิด จะดำเนินการ กลั่นกรองและการจัดแจงปรับปรุงข้อมูลเกิดขึ้น
“information speculations” เพื่อการแก้ปัญหา และโดยการประเมินผล “ evaluation” ช่วยการ ตัดสินใจ ในการกำหนดคำตอบต่างๆทีมีความเหมาะสมกับข้อกำหนด และข้อจำกัดต่างของปัญหา การสังเคราะห์ของการออกแบบ “synthesis” คือ การรวมความคิดในการแก้ปัญหาต่างๆ กับการสังเกตที่ปรากฏระหว่างการประเมินผล แล้วสรุป เป็นแนวทางเดียวของการแก้ปัญหาในที่สุด คำตอบเดียวก็ถูกเลือกและกำหนดโดยผู้ตัดสินใจ ในแต่ละขั้นตอนของการออกแบบ ขั้นตอนสุดท้าย ของกระบวนการตัดสินใจ คือ การชี้แจงคำตอบที่ได้รับ เพื่อเป็นแนวทาง และข้อเสนอแนะ “recommendation” ให้กับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการประมวลข้อมูลที่เกิดขึ้น จากกระบวนการตัดสินใจ ในทำนองเดียวกัน เป็นการต่อเนื่อง สำหรับขั้นตอนการออกแบบขั้นอื่นๆอีกต่อไปจนครบวงจรทั้งหมด กล่าวคือ ผลผลิตของแต่ละขั้นตอนการออกแบบ จะเป็นการสะสมข้อมูล เพื่อใช้เป็นฐานความคิด หรือข้อเสนอแนะในการตัดสินใจของลำดับการดำเนินการขั้นตอนต่อๆไป การตัดสินใจที่กระทำในแต่ละขั้นตอน จะเป็นส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนา การของขั้นตอนการออกแบบทั้งสิ้น เช่น การตัดสินใจที่ได้แนวทางความคิดของโปรแกรมการออกแบบ และแนวทางของยุทธวิธีการแก้ปัญหา จะเป็นฐานข้อมูลที่ใช้ในการกำหนด แบบร่าง หรือแบบแปลน ต่างๆของการตัดสินใจ และกำหนดเลือกรูปแบบของอาคารในขั้นสุด ท้าย ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง และขั้นตอนการประเมินผล การ ครอบครอง จนครบวงจรของการออกแบบและก่อสร้างโครงการต่างๆ

 

วิธีการตัดสินใจ (Decision-Making Techniques)

ในการศึกษากระบวนการออกแบบที่สมบูรณ์ “design methodology” จำเป็นต้องรวม กระบวนการ “process” และ วิธีการ “method or technique” เข้าด้วยกัน วิธีการตัดสินใจมีการศึกษากันมากในวิชาธุระกิจ และการจัดการ “management science” มีการนำมาประยุกต์ใช้ เป็นวิธีการตัดสินใจ ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการออกแบบ “the facility cycle” วิธีการต่างๆ “techniques” ขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายที่ต้องการ “purposes” ในแต่ละขั้นตอนของวงจรการออกแบบ และมีแบบจำลองกฎเกณฑ์ของความคิด ที่ใช้เป็นเครื่องมือ “tools” ในการตัดสินใจ ดังต่อไปนี้

  1. Function analysis ใช้เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ต้องการในการออกแบบ เครื่องมือในการตัดสินใจ เพื่อกำหนดว่า ทำไม อาคาร ระบบ หรือ องค์ประกอบต่าง จึงถูกออกแบบ และการออกแบบกระทำเป็นอย่างไร เช่น วิธีการของ Graphical function analysis หรือ Function analysis system technique (FAST) วิธีการนี้ พัฒนาขึ้นในระยะเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยบริษัท General Electric เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัสดุ และแรงงานในขณะนั้น
  2. Group creativity มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาและกำหนดแนวความคิดต่างๆ เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหา เป็นวิธีการที่เกี่ยวข้อง กับกระบวนการคิดสร้างสรรค์โดยตรง ของกลุ่มผู้ออกแบบและตัดสินใจ ที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน เครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้เกิด ความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น วิธีการของ Brainstorming, Synectics, Delphi, Manipulation และ Pattern analysis เป็นต้น
  3. Life-cycle costing เพื่อใช้ในการวัดผลที่แน่นอน ของแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เสนอเป็นทางเลือก แต่ละคำตอบมีผลดีทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการผลิต หรือการเงินเพียงไร ซึ่งจะทำให้การออกแบบ และดูแลรักษาอาคาร มีผลต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการที่ใช้ในการตัดสินใจ เช่น Present worth method, Annualized method, Return-on-investment, Saving-to-investment ratio, และ Payback period เป็นต้น
  4. Decision analysis มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้ในการวัดผลทางเลือกต่าง โดยทั้งที่ เกี่ยวข้องกับการเงิน “monetary benefit” และที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน “non-monetary benefit” เป็นการใช้ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ มากำหนดการตัดสินใจ การเลือกที่ใช้ประเมินคุณค่าที่ชัดเจน และกำหนดบนพื้นฐานของความพอใจ เท่าเทียมกันหมด เช่น วิธีการที่ใช้ในการ Defining design objectives, Objectives scaling, Weighting of objectives และวิธีการที่ใช้ในการ Alternative evaluation เป็นต้น
  5. Post-occupancy evaluation เพื่อใช้ในการประเมินผลของการครอบ ครองของผู้ใช้อาคาร ผู้ดำเนินการควบคุมและดูแลอาคาร และผู้อื่นที่มีผลกระทบกับอาคาร หรือโครงการที่สร้างขึ้น วัตถุประสงค์ของการประเมินผล เพื่อใช้สภาพแวดล้อมที่ปรากฏปัจจุบัน เป็นแบบจำลองของโปรแกรมความต้องการของสภาพแวดล้อม ที่จะทำให้เกิดขึ้นในอนาคต ตรวจสอบการดำเนินการเรื่องโปรแกรมที่ใช้กำหนด และเป้าหมายของการออกแบบตั้งแต่เริ่มของโครงการเดิมนั้น ข้อมูลที่ได้รับ นอกจากจะมีผลของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ข้อกำหนดในการทำโปรแกรมการออกแบบ การดำเนินการออกแบบ และก่อสร้างอาคารหรือโครงการในอนาคต แล้วยังเป็นข้อมูลในการกำหนดทฤษฎีทางการศึกษาสถาปัตยกรรมด้วย วิธีการที่ใช้ค้นหาข้อมูลต่างๆ คือ วิธีการที่ใช้ในการค้นคว้าวิจัย เชิงวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น Observation, Interviewing, Questionaires, Objective environmental data collection และ Data analysis เป็นต้น
  6. Communication เพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้ และการเข้าเข้าใจ ในผลของความคิดต่างๆที่นำเสนอ อย่างชัดเจนก่อนสรุปการตัดสินใจ ในทุกขั้นตอนการออกแบและการก่อสร้าง วิธีการที่ใช้ เช่น Group dynamics, Modeling, Computer-aided design และ Mathematical analysis เป็นต้น

โดยสรุปแบบจำลองของกระบวนการและวิธีการตัดสินใจ “a model of decisiom-making methodology” ที่ใช้ในการออกแบบและการก่อสร้างสถาปัตยกรรม คือความสัมพันธ์ในทั้งสามกระบวนการดังกล่าว คือ กระบวนการออกแบบ “the facility cycle” กระบวนการตัดสินใจ “decision-making process” และ วิธีการตัดสินใจ “ decision-making techniques” ดังแสดงเป็นแบบจำลองได้ดังนี้

แบบจำลองของกระบวนการตัดสินใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม

(A Model of Decision-Making in Architectural Design)

The Facility Cycle = feasibility—design—occupancy—construction

Decision-Making Process = Information—Speculation—Evaluation—Synthesis-Recommendation Decision-Making

Techniques = ข้อมูลการตัดสินใจของแต่ละขั้นตอนในวงจรการออกแบบและการก่อสร้าง Function Analysis, Group Creativity, Life-Cycle Costing, Decision Analysis, Post-Occupancy Evaluation, Communication

หนังสืออ้างอิง

  1. ปัญหาการออกแบบทางสถาปัตยกรรม
  1. แนวคิดของกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม
  1. บทบาทสถาปนิกและกระบวนการตัดสินใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม
  1. การแก้ปัญหา คือ แบบจำลองของการออกแบบสถาปัตยกรรม
  1. ศาสตร์ของวิธีการออกแบบ
  1. รูปแบบจำลองของกระบวนการออกแบบ
  1. แบบจำลองกระบวนการออกแบบสภาพแวดล้อม
  1. แบบจำลองของกระบวนการตัดสินใจในการออกแบบสถาปัตยกรรม