เรื่องสั้น..วิธีการออกแบบ…ทีทำท่าจะไม่สั้น..ไม่จบ

สองสามวันก่อน ผมถามปัญหาในความอยากรู้ว่า.. คนรุ่นใหม่นั้น มีโลกทัศน์หรือความคิดและจินตนาการกับโลกและสังคมกันอย่างไรบ้าง? ก็เพื่อจะตรวจสอบว่า ผม..คนต่างวัยจะคุยกับพวกเขาให้รู้เรื่องกันได้อย่างไรบ้าง? เพื่อหวังว่าเราจักเล่นเกมการแสวงหาความรู้ของกันและกันได้อย่างมีรสมีชาดมากขึ้น ..ผมไม่ได้รับคำตอบอะไรในชั้นเรียนวันนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าใครๆเจอคำถามนี้ก็ต้องมึนกันแทบทุกคน เพราะเรามักชินมองคิดอะไรในสิ่งที่เราสัมผัสได้จากภายนอก พอมาเจอเรื่องตนเองและคิดมองกลับกันภายในตัวเองแล้ว ก็ต้องมึนงงกันบ้างเป็นธรรมดา

อีกสองสามอาทิตย์ต่อมา ผมได้อ่านบทความในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันสองสามเรื่อง เป็นเรื่องวิวาทะในความต่างคิดต่างจินตนาการที่มีต่อ “นักศึกษาโพสต์มอร์เดิร์น” ซึ่งผู้เขียนเหล่านั้นแทบเป็นคนวัยเดียวกัน (ซึ่งค่อนไปทางอดีตนักศึกษามอร์เดิร์น) เนื้อหาก็เป็นการมองพวกเขา ในทำนองบทสรุปที่คล้ายคลึงกัน คือ “ไม่มี” หรือ “มี” โลกทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน (กับพวกเขา) ..ซึ่งผมยังลังเลในข้อสรุปนั้น และค่อนไปในทางที่ไม่สู้ยอมรับในขณะนั้นและเดี๋ยวนี้ เพราะคนในยุคเวลาที่ต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมที่หุ้มล้อมรอบตัวเรานั้น มีความแตกต่างกันอยู่ ก็ย่อมมีความต่างกันในโลกทัศน์เป็นธรรมดา

อีกสองสามนาทีต่อมา ผมเอาข้อเขียนเหล่านั้นบางส่วนไปโพสต์ถาม “นักศึกษาโพสต์มอร์เดิร์น” กลุ่มหนึ่งในเว็บบอร์ดของพวกเขา ก็ได้รับคำตอบเชิงอุปมาอุปโหลกบ้าง เสียดแทงเสียดสีบ้าง ถากถางบ้าง สงสัยและเคลือบแคลงในคำถามบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง นานาสาระพัด อันเป็นธรรมดาของคนต่างวัยต่างสมัยคุยกัน …นี่ยังดีนะที่ทนคุยกันได้ ทั้งๆที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องและมีสัมพันธ์ตรงกันเท่าไรนัก

ที่เกริ่นเรื่องนี้ ..จะดูเหมือนไม่เกี่ยวอะไรเลยในตอนหลังที่จะเป็นความคิดและวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรม ..แต่ขอเถียงแบบขอไปทีว่า..จะเกี่ยวกันถ้าคิดเป็นองค์รวม ..ทำนองจะบอกให้รู้ว่า ถ้าอาจารย์กับศิษย์นั้นมีโลกทัศน์ไม่ตรงกัน และไม่รู้อะไรของกันและกัน เนื่องจากเกิดกันคนละยุคเวลา หากจูนสิ่งนี้ให้เข้ากันไม่ได้ ก็ต้องซอรี่ที่ต้องกล่าวว่า..พูดหรือคิดเป็นมโนทัศน์หรือจินตภาพย่อมไม่ตรงกัน ไม่รู้เรื่องกัน และก็โปรดอย่าเสแสร้ง เพราะไม่งั้นจะเกิดการเรียนรู้การออกแบบที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกันเลย ซึ่งก็เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ แต่ถ้าอยากเป็นชนิด..ไม่ธรรมดา ก็ต้องมุ่งกลับไปค้นหาจิตเดิมแท้(archetype)ของกันและกัน ยิ่งสืบกลับไปได้มากก็จะยิ่งตรงกันมากขึ้น เพราะเป็นจิตเดิมที่เริ่มกันมาแบบเดียวกันเหมือนการเริ่มอายุของจักรวาลอันเดียวกัน หรือจิตแห่งจักรวาลนั่นเอง…ตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์จิตวิญญาณใหม่ของยุคนี้ (จิต คือ ธรรมชาติรู้ ตัวรู้ อุปมาเป็นคนงานผลิตสิ่งรู้ เป็นอารมณ์รู้ เป็นความรู้หรืออุปทานขันธ์ คือ วิญญาณ หรือ ใจ ในโรงงานที่เรียกกันว่าสมอง ซึ่งจะรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ(อุปมาของหยินหยาง) ทั้งคู่ไม่หลับนอนในโรงงานหรือในสมอง แต่จะนอนที่ไหน? วิทยาศาสตร์กำลังตามสืบอยู่แต่ยังหาไม่เจอขณะนี้) อ่านได้ในหนังสือ “โลกหลัง ๒๐๑๒ สู่มิติที่ห้า” และ “วิทยาศาสตร์จิตวิญญาณ” ทั้งสองเล่มเขียนโดย คุณหมอประสาน ต่างใจ …ผมไม่ได้โม้เอง แต่โม้ตามท่านผู้เขียนหนังสือนั้นครับ และที่จะโม้เองต่อไปนี้คือ วิธีการออกแบบที่เน้นจิตวิญญาณ ซึ่งจะถือเป็นการเขย่าจิตเพื่อสร้างมโนทัศน์และจินตภาพในการออกแบบตามโลกทัศน์ใหม่ ไม่ใช่เป็นการพัฒนาจิตเพราะจิตพัฒนาไม่ได้ แต่เพื่อเปลี่ยนวิธีทำงานของจิตใหม่ให้ผลิตสิ่งรู้ใหม่ๆ นี่คือสาระของบทความนี้ที่ทั้งลอกทั้งเขียนมาให้พิจารณาร่วมกัน

จะขอเข้าเรื่อง…หลังการเรียนรู้การออกแบบอาคารสถานฑูตฯ กันในห้องเรียนในวันหนึ่ง ซึ่งวันนั้น ..ผมอดภาคภูมิใจไม่ได้ที่นำเสนอ “วิธีการออกแบบ” ใหม่? (สอนตัวเอง) ที่ผมเพียรลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน และก็ทำมาตลอดในสายงานอาชีพนี้ เพราะตะกละที่จะรู้เรื่องการออกแบบในหลายวิธีการ ผมได้รับการตอบสนองจาก “นักศึกษาโพสต์มอร์เดิร์น” หญิงสองคน ถึงการออกแบบ ที่เริ่มโดยการเดาสุ่มกันก่อน แล้วจึงแสวงหาเหตุผลด้วยข้อมูล เพื่อยืนยันคำตอบของความคิดนั้น ด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่เขาเองสรรหามาสนับสนุน เพื่อใช้เป็นบรรณสานสอดคล้องกันกับคำตอบแรก แล้วก็พัฒนาการความคิด แก้ไข เพิ่มเติม หรือเปลี่ยนสลับคำตอบบวกกับเหตุผลหรือข้อมูล เรื่อยๆต่อๆไปจนพอใจหรือหมดเวลาที่กำหนดไว้ ก็ถือว่าภาระการเรียนรู้ในการออกแบบโครงการนี้เสร็จสิ้นลง ..ผม…คาดหวังว่าเขาแต่ละคนน่าจะออกแบบกันสนุก และมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น ในความสามารถของตนเองล้วนๆกว่าที่เคยทำแบบเดิม

ด้วยวิธีการนี้ น่าจะตอบข้อกังขาหนึ่งที่ว่า อะไรควรเกิดก่อนกัน ระหว่างการแสวงหาหรือรวบรวมข้อมูล กับจินตนาการหรือการเสนอความคิดของคำตอบในการออกแบบก่อน บ่อยครั้งที่วิธีเดิมมักเริ่มแบบการคิดเชิงเส้นตรง คิดกันแบบแยกแยะ ไม่ใช้จินตนาการ โดยมักเริ่มที่หาข้อมูลพื้นฐานแบบชิ้นส่วนลักษณะแบบเศษเล็กเศษน้อยทั่วไปเป็นธรรมเนียมก่อน โดยนิสิตทั้งหมดในแต่ละกลุ่ม ทำงานบนกรอบความคิดของชนิดข้อมูลที่กำหนดโดยอาจารย์ประจำแต่ละกลุ่ม (ซึ่งส่วนมากเป็นทำนองเดียวกัน) เช่น ข้อมูลการวิเคราะห์ (แยกส่วน) ของสถานที่ตั้ง โปรแกรมความต้องการ งานวิศวกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง กฎระเบียบและข้อกำหนดเทศบัญญัติอาคาร ลักษณะเฉพาะของอาคารเชิงสัญลักษณ์ ฯลฯ แล้วจึงมาสรุปผล รวบรวมให้ปะติดปะต่อกันเข้า เพื่อใช้กำหนดการริเริ่มเป็นแนวคิดสำหรับการตั้งคำถามหรือปัญหาแล้วเสนอแบบร่าง (จินตภาพ) เป็นคำตอบการออกแบบ แล้วนำไปเสนอเพื่อรับการวิจารณ์และคำแนะนำจากอาจารย์ แล้วกลับไปปรับปรุงแต่งคำตอบต่อๆไป ปัญหาที่พบอย่างเป็นนัยสำคัญคือ แทบไม่เห็นความสอดคล้องระหว่างข้อมูลนั้นกับคำตอบในการออกแบบของแต่ละคนเลย หรืออาจกล่าวได้ว่า คำตอบในการออกแบบก็สามารถเกิดมีเองก็ได้ โดยไม่ต้องอาศัย(หรืออาศัยข้อมูลเพียงเล็กน้อย) เหล่านั้นซึ่งรวบรวมไว้ก่อนเลย บางทีสาเหตุอาจเป็นเพราะข้อมูลที่หามานั้น ปะติดปะต่อเป็นรูปรวมให้เห็นกันชัดเจนไม่ได้ หรือไม่รู้จะสังเคราะห์ (เอามารวมกัน) กันให้เห็นรูปแบบกันได้เลย หรือกำหนดปัญหาที่จะออกแบบได้ก็ไม่ชัด..ละมัง?

ด้วย “วิธีการออกแบบใหม่?” นี้ ..ผมทึกทักเอาเองว่า น่าจัดไว้เป็นสานุศิษย์ของ นายปีเตอร์ ไอเซนแมน อีกคน ที่จะสร้างการเรียนรู้การออกแบบสถาปัตยกรรม ในลักษณะของวิธีการจิตวิทยาแบบ “บำบัดโดยกลุ่ม” คือมุ่งหวังให้นิสิตแต่ละคนออกแบบอาคารสำหรับตนเองและโดยตนเอง โดยมีครูเป็นนักสังเกตการณ์หรือผู้ช่วยเหลืออยู่ห่างๆ หรือคอยส่งเสริมให้เขาแต่ละคนนั้นได้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนและเพื่อตนเองเท่านั้นเอง ลักษณะการดำเนินการนี้ อาจเรียกย่อยลงว่า เป็นเทคนิค หรือกลยุทธ์ น่าจะพอได้ หลักของจิตวิทยาบำบัดที่สำคัญ คือการพยายามขุดคุ้ยจิตเดิมแท้ของแต่ละคนออกมาให้รับรู้ร่วมกัน (ซึ่งวิทยาศาสตร์จิตวิญญาณกำลังเป็นที่สนใจและศึกษากันโดยมีวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์สมัยใหม่สนับสนุน และเพิ่มความเชื่อกันที่ว่า การศึกษาเรื่องนี้จะแก้ไขโลกกายภาพที่กำลังวิกฤตในปัจจุบันได้)

และด้วย “วิธีการออกแบบใหม่?” (เมื่อหมายโดยรวม) นี้ ผลงานสุดท้ายของนิสิตแต่ละคน เมื่อถูกนำเสนอเพื่อการ “ตัดสิน” โดย “ลูกขุน” หรืออาจารย์ที่จะประกาศิตคะแนนให้ปรากฏในประวัติการเรียนของแต่ละคน สำหรับเขาแต่ละคนนั้น น่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นใหม่ได้ คือเป็นดังเช่นทนายความของตัวเองด้วย แก้ต่างความคิดและข้อสงสัยของลูกขุนได้อย่างมีความเชื่อมั่นขึ้น โดยใช้หลักฐานจากข้อมูลและการสร้างบรรณสานสอดคล้องกับผลงานของเขาได้อย่างดี และควรภาคภูมิใจในความสามารถของตนเองในการตอบข้อซักถามได้เต็มที่ ..ผมคาดหวังเอาอย่างนี้ ..แต่ก็คงต้องคอยดูกัน ..เพราะสมมติฐานนี้ ต้องรอตรวจสอบกันในทางปฏิบัติหลังเสร็จสิ้นกระบวนการออกแบบที่เกิดขึ้น

ระหว่างที่รอผล ..หลังวันที่ผมเสนอสมมติฐานเรื่องวิธีการออกแบบนี้แล้ว ผมก็ยังคงแสวงหาในความอยากรู้ที่ผมเริ่มต้นไว้ข้างต้น ด้วยความตั้งใจ ผมแวะร้านหนังสือเพื่อซื้ออ่านรวมเรื่องสั้น “แม่มดบนตึก” โดย ปริทรรศ หุตางกูร ..นักเขียนหนึ่งในเจ็ดที่ถูกคัดเลือกสำหรับรางวัลสร้างสรรค์วรรณกรรมซีไรท์ ขณะนี้ (ปี ๒๕๔๕) หลายคนกำลังลุ้นว่าผู้เขียนคนนี้ จะผ่านด่านอรหันต์ ไปเป็นหนึ่งในหล้าเบียดแซง คุณปราบดา หยุ่น เจ้าของเรื่อง “ความน่าจะเป็น” เต็งหนึ่งในรายการนี้ได้หรือไม่?

ผมอ่านหนังสือนี้ ชนิดวางไม่ลง หรือไม่ยอมถอยเพื่อเข้าห้องน้ำกลางคันไปได้ ผิดกับตอนอ่านเรื่องสั้นของ คุณปราบดา หยุ่น ซึ่งจะหยุดอ่านชั่วคราวเพื่อเข้าห้องน้ำทุกครั้ง (นี่เป็นเหตุปัจจัยทางสุขภาพการขับถ่ายที่ไม่เหมือนกันขณะนั้นก็ได้) สำนวนผู้เขียนเรื่องแรก ดุดัน เข้มข้น และค่อนไปทางแนวพิศวาสเรทอาร์บ้าง ต่างจากเล่มหลังที่ค่อนข้างนุ่มนวล ทั้งสองนักเขียนนี้แสดงความแตกต่างทางชนชั้นได้ค่อนข้างชัดเจน เนื้อหาของการสร้างสรรค์นั้นพอๆกัน หลายเรื่องในสองเล่มนี้ได้อรรถรสหลากหลายอารมณ์ต่างกัน ..ผมมีอคติอยู่บ้าง..คงเป็นเพราะว่าผู้เขียนทั้งสองเล่มอยู่ในสายอาชีพและประสบการณ์ทางการศึกษาทางศิลปะพอคล้ายๆกันละมัง? แม้เรื่องส่วนมากหรืออาจทั้งหมดในเล่มแรก ค่อนไปทางสะท้อนเรื่องชีวิตและสังคมของคนทุกวันนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคน “ชั้นล่าง” ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย การใช้ภาษาเขียนทั้งสองเล่มนั้นก็เข้าใจง่าย ไม่ตรงเป็นไม้บรรทัดของภาษาไทยแท้นัก แต่เรียงคำต่อเนื่องชัดเจน ทำให้เข้าใจในความคิดที่จะสะท้อนออกมาของผู้เขียนได้ดี ได้หลากหลายอารมณ์ และกระตุกความรู้สึกได้เป็นครั้งคราว การหักมุมของเรื่องมีให้เห็นบ่อยๆ ยิ่งตอนจบของแต่ละเรื่อง ให้ความบันเทิงที่แปลกกว่าพวกละคอนน้ำเน่าทางทีวีกว่ากันเยอะเลย

สำหรับผู้เขียนทั้งสองเล่ม ก็ต้องจัดว่าเป็นกลุ่ม “นักศึกษาโพสต์มอร์เดิร์น” ได้เหมือนกัน อาจถือได้ว่าเป็นนักคิดที่ไม่ใช่แบบมอร์เดิร์น ก็น่าจะได้ ซึ่งจะกล่าวหาว่าไม่มีโลกทัศน์ทางสังคมนั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นการกล่าวผิดแน่นอน เพราะวรรณกรรมของเขานั้น คนในยุคมอร์เดิร์นเช่นผม ไม่เคยหาอ่านเจอในอดีต แม้เรื่อง “จันดารา” จะผาดโผนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ไกลล้นมากกว่านวนิยายในสกุลไทยทั้งสมัยอดีตและปัจจุบันเลย ทั้งสองเล่มดังกล่าว ถ้าจะนับว่าเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งยุคโพสต์มอร์เดิร์น ก็น่าพูดได้โดยไม่ละอายปากสำหรับคนยุคมอร์เดิร์นนัก ..ผมว่าเอาเอง

ทั้งเมื่อต้องย้อนกลับไปอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มที่สอง “ความน่าจะเป็น” อีกครั้งนั้น ก็ยังคงซึมซับอารมณ์เดิมๆ ให้ย้อนกลับคืนมาง่ายๆ คือสาระเรื่องที่อ่านก็ธรรมดาๆ ไม่ซับซ้อน แต่เนื้อหาบ่งบอกถึงความฉงนในหลายสิ่งที่เราเคยคิดชินกัน ในมุมมองที่ต่างกัน พลิกอารมณ์สมกับชื่อเรื่อง จะว่าไปแล้วเป็นการคิดเชิงสวนกลับหรือสร้างสรรค์ก็ว่าได้ ผมว่าถ้าลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรม สามารถบรรยายออกมาเป็นเช่นความคิดที่ได้จากงานเขียนนี้ สะท้อนความเป็นตนเอง ก็น่านับว่าเป็นสถาปัตยกรรมโพสต์มอร์เดิร์น แบบไทยๆแท้ของคนยุคนี้ทีเดียว

จากงานเขียนสรรค์สร้างความคิดจาก “ภายใน” ของตนเองเช่นนี้ ได้สร้างแรงบันดาลให้สำหรับคนอื่นอยู่บ้าง เช่นว่า ทำให้แต่ละคนซึ่งสามารถเขียนอะไรออกมาได้สดสวยกันทุกคน ถ้าตั้งใจเขียนกันจริงๆ ..ผมยอมรับว่านี่นับเป็นแรงบันดาลใจทำให้ทุกคนอยากเขียนระบายความรู้สึก “ภายใน” ของแต่ละคนเองได้เอง ไม่จำเป็นต้องเสแสร้งสร้างเรื่องราวให้ใหญ่โต มากเรื่อง มากความ ทำตนเป็นเช่นนักเขียนดังๆที่สังคมอุปโหลกตามกัน ด้วยขั้นตอนของวิธีการเขียน สร้างโครงเรื่อง หรือสำนวนแบบมีกฎมีเกณฑ์ และยึดถือกันว่าดี ..โดยสรุปคือว่า อยากเขียนอะไร ก็เขียน เขียนเพื่อตัวเองอ่านเอง นั่นแหละดีนักแล

ตัดฉาก ..กลับมาที่การออกแบบสถาปัตยกรรม ..นายปีเตอร์ ไอเซนแมน ก็คงคาดหวังเช่นนั้น ..ว่า ครูน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ศิษย์ทั้งหลายได้ออกแบบเพื่อตอบสนองความคิดของแต่ละคนเอง คงไม่ใช่เพื่อตอบสนองความคิดของครูที่ให้เกรด หรือคนอื่นที่ครูคิดเอาเองว่าน่าจะตอบสนองเขาเหล่านั้น ..ว่าแต่ว่า เราจะออกแบบอาคารของแต่ละคน ให้สะท้อน “รูป” ..“ที่ว่าง” และ “เวลา” และบวกรวมเอา “จิตวิญญาณ” ของตัวเองไว้ด้วย..เป็นแบบห้ามิติ..กันอย่างไร? เพื่อให้มีบรรณสานสอดคล้องกันเช่นการร้อยเรียงภาษาแห่งความเข้าใจได้ง่าย เช่นภาษาเขียนของวรรณกรรมเรื่องสั้นดังกล่าวได้หรือไม่? คำตอบน่าจะเป็นเรื่อง..ยากครับ อาจเป็นเพราะเราไม่กล้าหรือเคยคิดกันทำนองนี้ ..แต่ผมชวนเชื่อว่าน่าลองดู เหมือนกับลองเริ่มเขียนเรื่องสั้นในความคิดของตนเองและด้วยตนเอง ..ถ้ายังนับถือวิธีการออกแบบในความแตกต่างแปลกแยกวิธีนั้นๆ ..เป็นสุนทรียศาสตร์ทางความคิดของการแสวงหาที่อยากลิ้มลองรสเหมือนกัน

นาย Bryan Lawson (How Designers Think, 1980..มีในห้องสมุดฯ) สถาปนิกและนักการศึกษาวิธีการคนหนึ่ง ทำการศึกษาตรวจสอบวิธีการ หรือวิธีคิดในการออกแบบของสถาปนิกนั้นเป็นอย่างไร? อ้างถึงการทดลองความแตกต่างในการแก้ปัญหาของนักเรียนสถาปัตย์กับนักเรียนวิทยาศาสตร์ ผลสรุปแบบรวบรัดอ้างว่า.. นักเรียนสถาปัตย์คิดแก้ปัญหาแบบสังเคราะห์มากกว่าพวกนักเรียนวิทยาศาตร์ที่คิดแบบวิเคราะห์มากกว่าการคิดสังเคราะห์ ซึ่ง ..ผมก็เห็นด้วยที่ว่า นั่นเป็นเพราะเขาเหล่านั้นโดนฝึกฝนเสี้ยมสอนกันมาก่อน และก็ลักษณะของปัญหาของสถาปัตยกรรมและวิทยาศาสตร์ก็อาจไม่เหมือนกันด้วย

ในบทสรุปของการอธิบายขบวนการออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้เขียนก็เลยเอียงกระเท่เร่ไปทางแบบจำลอง (model) ทางความคิดในการออกแบบของ Darke (1978), Hillier et al (1972) ดังภาพแผนภูมิ (วิชาการ) ดังนี้

การเริ่มต้นด้วย briefing เกิดขึ้นโดยการสร้างความสัมพันธ์ของคำตอบที่เป็นไปได้ทางสถาปัตยกรรม ที่ผู้ออกแบบต้องการ จากการปรับแต่งความคิดใดๆของตนที่คิดว่าเป็นไปได้ เลือกปัญหาที่กำหนดพร้อม “ออกแบบ” คำตอบที่สนองปัญหานั้น ปรับแต่งแล้วออกแบบต่อๆไป การปรับแต่งอาจเกี่ยวเนื่องการนำข้อมูลที่เลือกสรรแล้ววิเคราะห์-สังเคราะห์ให้เกิดความสอดคล้องในคำตอบที่เสนอเพิ่มแต่งเติมของเดิมขยายออกไปเรื่อยๆ การนำเสนอและออกแบบที่สัมพันธ์กันและกัน ใช้วิธีการคิดแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผล (ด้วยการวิจารณ์ของตนเองและผู้อื่น) เพื่อการปรับปรุงเป็นขั้นต่อๆไป

การสรรหาข้อมูลเพื่อยืนยันคำตอบหรือปรับแต่งคำตอบใดนั้น จำเป็นต้องแยกแยะหรือวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาชิ้นส่วนให้เกิดความสัมพันธ์กับข้อมูลเชิงประสบการณ์ที่ตนเองสะสมไว้ในอดีต อาจเหมือนกันหรือเข้ากันบางส่วนได้ จึงนับว่าเป็นข้อมูลที่ผู้สรรหา มักยอมรับกัน มิฉะนั้นข้อมูลนั้นก็ไร้ความหมายไม่พึงประสงค์ที่จะนำไปใช้ได้เลย (Y. na Nagara, The Correlation between Preconceptions and Design Outcomes, 1983..unpresented dissert.) …ซึ่งผมเคยทำการทดลองศึกษาในงานวิทยานิพนธ์ (ที่ไม่ยอมส่งและจ่ายเงินที่ค้างเขาอยู่ จึงไม่ได้ปริญญาดอกเตอร์) มาแล้ว ยิ่งไปกว่านี้ ...นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการตะวันตกยุคใหม่ เชื่อว่าจิตใจมนุษย์ทำหน้าที่เหมือนสวิตช์อัตโนมัติรับข้อมูลที่จำกัด เมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลมากเกินไปหรือไม่พึงประสงค์ สวิตช์อัตโนมัตินี้ก็จะปิดลง สำหรับประเด็นนี้ จะมีเรื่องความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น ถ้าเราสามารถลบทิ้งข้อมูลที่เป็นความเคยชินลงไปบ้าง ข้อมูลที่ถูกกลบไว้ด้วยข้อมูลของความเคยชินก็จะปรากฏออกมา แล้วข้อมูลเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดความคิดใหม่ ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง .....อ่าน ปริศนาจักรวาล ที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เขียนไว้นะครับ..

ผมยังหาเอกสารไม่เจอ ..เกี่ยวกับความคิดในการออกแบบระหว่างจินตภาพและข้อมูลที่ใช้ขัดเกลาจินตภาพให้พัฒนาจนเกิดความสอดคล้องกับปัญหาในการออกแบบที่สุดเท่าที่ความพอใจและเวลากำหนดไว้ เลยขออนุญาตเขียนจากที่จำได้ว่า…จินตภาพในที่นี้ ..ผมหมายถึง image ขบวนการสร้างจินตภาพจะสัมพันธ์กับข้อมูลที่ได้รับในขณะนั้น อาจเรียกเป็นศัพท์วิธีการออกแบบเชิงวิชาการตะวันตกว่า.. imaging + information processing method หรือ วิธีการสหสัมพันธ์กันระหว่างจินตภาพ หรือในรูปของนิมิตที่เกิดขึ้นในกลีบสมองตรงขมับทั้งสองข้างของผู้ออกแบบกับข้อมูลที่ยอมรับในขณะนั้น เป็นการเพิ่มขอบข่ายของข้อมูลที่ยอมรับได้ใหม่ๆ ก็จะขัดเกลาหรือเปลี่ยนจินตภาพของคำตอบการออกแบบนั้นต่อๆไป ยิ่งยอมรับข้อมูลที่แปลกแยกกับข้อมูลเดิมๆในความคิดของผู้ออกแบบมาก การพัฒนาจินตภาพก็จะเกิดขึ้นหลากหลายและแปลกแยกขึ้นจากจินตภาพที่เกิดขึ้นเดิมๆในสมองด้านหน่วยความจำ การแยกแยะข้อมูลเพื่อการเชื่อมต่อกับประสบการณ์เดิมๆ ที่ซึ่งผู้ออกแบบนั้นพร้อมพัฒนาในขณะเดียวกัน ก็จะเกิดขบวนการสร้างจินตภาพขึ้นมาใหม่ๆ จนบางสถานะกลายเป็นจินตภาพของความคิดสร้างสรรค์ ที่แปลกแยกโดยสิ้นเชิงจากประสบการณ์เดิมๆของผู้ออกแบบนั้น กระบวนการสหสัมพันธ์ระหว่างจินตภาพที่ผู้ออกแบบต้องการสร้างกับข้อมูลที่ขัดเกลา (ไม่อยากเรียกว่าตรวจสอบ) จะได้จินตภาพแบบเลือนลางก่อนแล้วจึงพัฒนาการไปสู่ความชัดเจนภายหลังมากขึ้น

ต้องไม่ลืมนะครับว่า ..ขบวนการสหสัมพันธ์ระหว่างจินตภาพและข้อมูลนั้น ต้องอาศัยลักษณะการคิด (mode of thinking) แบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินผลหรือการคิดย้อนกลับ ตรวจสอบ ตามกรอบที่ตั้งเป็นเกณฑ์ไว้ เช่นในแง่ของ ที่ตั้ง รูปทรง-โครงสร้าง ประโยชน์ใช้สอย เศรษฐกิจ และ การก่อสร้าง/เทคโนโลยี หรือเจาะจงลงเฉพาะไปที่จินตภาพของ พื้นที่ บริเวณที่ตั้ง ลักษณะอาคาร จำนวนหน่วย และจำนวนห้อง เป็นต้น เพื่อพัฒนาจินตภาพของแต่ละประเด็นนั้น แล้วนำมาสังเคราะห็เป็นองค์รวมต่อๆไป ..อ้อ..เจอแล้วครับ เป็นเอกสารค้นคว้าชื่อ Images for Design by Barry J. Korobin ในปี 1976 ..แสดงแผนภูมิวิชาการจำลองความคิดเป็นดังนี้

แบบจำลอง-๑

แบบจำลอง-๒

แบบจำลอง-๓

อะไรที่เกิดในสมองซึ่งเป็นเสมือนโรงงานของจิต..ตัวรู้ ผลิตอาการเช่น เรื่องความคิดและผลความคิดในการผสมผสานระหว่างข้อมูลและมโนทัศน์ที่เกิดขึ้นเป็นจินตภาพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นส่วนมากมักจะเกิดขึ้นด้วยญาณทรรศนะ..Intuitive Thinking ไม่ใช่ด้วยพุทธิปัญญา …Rational Thinking เพียงอย่างเดียว เช่นวิทยาศาสตร์วิธีการที่อิงวิทยาศาสตร์แบบเก่า ดังที่เริ่มประกาศกันมาและเป็นอยู่ขณะนี้ แต่ด้วยวิทยาศาสตร์ใหม่โดยเฉพาะอิงวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ใหม่ เช่น ทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ ซึ่งทำให้เกิดแนวทางวิทยาศาสตร์จิตวิญญาณ ที่เป็นความจริงดังประกาศของศาสนาต่างๆโดยเฉพาะพุทธศาสนา และถือเป็นแนวคิดของยุคนิวเอจ …ที่เชื่อกันว่าจะแก้ไขวิกฤตของโลกที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ได้ ยังผลให้เกิดการดำรงชีวิตยั่งยืนและชุมชนยั่งยืน เป็นไปได้แน่นอน ก็ด้วยจินตนาการใหญ่ ความคิดใหม่ คิดเป็นองค์รวมทั้งจักรวาล และพร้อมการเน้นด้วยวิทยาศาสตร์จิตวิญญาณเท่านั้น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ใหม่รวมสามเรื่องสามบริเวณ เช่น บริเวณหรือด้านการศึกษาที่อาจถือเป็นแกนกลางของวิสัยทัศน์ “นิเวศน์สิกขา” สองด้านของระบบธุระกิจ ที่สนองตอบกับเรื่องแรก และสาม เป็นบริเวณทางด้านการเมือง ที่จะสนับสนุนในสองเรื่องดังกล่าวอีกด้วย (รายละเอียดศึกษาได้ในชุดภูมิปัญญา ของคุณหมอ ประสาน ต่างใจ เช่น เรื่อง “โลกหลัง ๒๐๑๒ สู่มิติที่ห้า” .. “วิทยาศาสตร์จิตวิญญาณ”… “ปริศนาจักรวาล”..และ “ศตวรรษใหม่” ก็จะเข้าใจทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นี้ได้มากยิ่งขึ้น..นะครับ)

หลักการและวิธีการออกแบบอิง…นิกายเซน..

คึกฤทธิ์ ปราโมช ..เขียน

(…ให้ลองเปรียบเทียบการออกแบบในแนวเซน เพื่อสร้างซาโตริ เช่น การสร้างจินตภาพ หรือมโนทัศน์.. images or ideas ในทางสถาปัตยกรรม โดยจะเน้นที่ ญาณทรรศนะ.หรือฌาน... intuitive methods ที่น่าทำให้มีความโปร่งแสงแจ้งชัดขึ้นบ้าง..ต้องร่วมคิดนะครับ)

ก่อนอื่น..ต้องเริ่มต้นที่…ลักษณะซาโตริ หรืออนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของเซน (เรื่องการออกแบบเอาแค่เกิดมโนทัศน์ก็พอ) อันพอสรุปได้ดังนี้

ไม่มีเหตุผล--ญาณทรรศนะ--เป็นธรรมอันสิ้นสุด--เป็นขันติธรรม--เป็นธรรมที่รู้แจ้งแทงทะลุ--เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา-- เป็นธรรมที่เกิดปิติ--และ เป็นธรรมอันถึงได้ทันที ..ทั้งหมดรวม ๘ ข้อ

ท่านคึกฤทธิ์ อธิบายขยายความหมายและยกตัวอย่างไว้ดังนี้

๑. ไม่มีเหตุผล ...หมายความว่า ซาโตริไม่อาจบรรลุได้ด้วยการใช้เหตุผลหรือตรรกะ คือการลำดับเหตุผลและอนุมาน ผู้ที่บรรลุถึงซาโตริแล้วไม่สามารถจะอธิบายธรรม (แง่วิธีการ) นั้นด้วยเหตุผลได้ (ตรงนี้จะงงเรื่องบัญญัติ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมที่มีเหตุผล คือการรู้เหตุแห่งทุกข์ แล้วจึงระงับเหตุแห่งทุกข์นั้นได้ ผลคือวิมุตติ (ซาโตริ) จึงเกิดขึ้น ซึ่งอ้างมรรค ๘ เป็นดังแนวทาง หรือเรียกเหมาเป็นวิธีก็ได้ละมัง?)

๒. ญาณทรรศนะ ...หมายถึงผู้ที่บรรลุซาโตรินั้นสามารถหยั่งรู้สรรพสิ่งทั้งปวงได้ในขั้นปรมัตถ์ รู้อย่างไรก็อธิบาย (แม้กระบวนการ) ไม่ได้อีก เพราะต้นตำรับคือท่านโพธิธรรม ท่านกล่าวไว้กับศิษย์ว่า.. "ญาณ(ปัญญา)ของเรานั้นมิใช่เห็นแต่ความดับสูญโดยสิ้นเชิง แต่เป็นความรู้ที่เพียงพอแก่อัตภาพ แต่เราจะอธิบายความรู้นั้นด้วยถ้อยคำมิได้" (สำหรับสถาปนิกได้แค่บรรลุ ความคิดเริด..ก็พอแล้ว)

๓. เป็นธรรมอันสิ้นสุด ..หมายความว่า ซาโตรินั้น เมื่อผู้ใดบรรลุแล้วก็ถึงซึ่งวิชาอันจบสิ้น ไม่ต้องรู้อะไรต่อไปอีก และไม่มีเหตุผลมาหักล้างธรรมนั้นได้ เมื่อซาโตริ เป็นธรรมที่รู้แจ้งเฉพาะตัว ธรรมนั้นก็สิ้นสุดที่ผู้นั้น ใครที่ไม่เห็นด้วยหรือยังมีอะไรเป็นปัญหาก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วไม่เกี่ยว.. ท่านคึกฤทธิ์อ้างตัวอย่างของท่านดังนี้ "หากผมเห็นว่าครกตำข้าวคือพุทธธรรม นั่นก็เป็นเรื่องที่ผมรู้เฉพาะตัว ใครไม่เห็นด้วยก็เป็นกรรมของคนนั้นเอง หรือใครที่เห็นว่าเป็นสากตำข้าวต่างหากเป็นพุทธธรรมก็เป็นเรื่องของคนนั้น ผมไม่เกี่ยว"

๔. เป็นขันติธรรม ..หมายความว่า ธรรมที่ยอมรับเป็นโลกและสภาพต่างๆในโลก ไม่ว่าจะดีหรือชั่วได้ด้วยขันติ เห็นอะไรดีก็ไม่ลุ่มหลงหรือเข้ายึด เห็นอะไรไม่ดีก็ไม่เดือดร้อนวุ่นวายเพื่อหลีกหนี สภาพทุกอย่างในโลกคือธรรม หรือเป็นธรรมดา และธรรมดานั้นหากใครไปฝืนเข้าก็เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง ..ท่านยกตัวอย่างว่า "คนที่พยายามแก้ของแพง (สภาพของรัฐบาลในขณะนั้น) นั้นเดือดร้อนยิ่งกว่าคนที่ซื้อของแพง ยอมรับว่าแพงเสียดีกว่า ยอมรับแล้วก็ทนไปด้วยขันติ นึกเสียว่าแพงหรือถูกเป็นเรื่องสมมติ เป็นเรื่องเปรียบเทียบ ไม่แพงก็ถูก ไม่ถูกก็แพง ไม่ว่าถูกหรือแพง ไปคิดแก้ไขเข้าก็เดือดร้อนทั้งนั้น ซึ่งก็เหมือนกับอาจารย์สถาปัตย์แบบเซนจะไม่คอยตอแยความคิดศิษย์จนทำให้จิตศิษย์วุ่นวาย จนเลิกเรียนไปเลย ..อันหลังผมว่าเองไม่ใช่ท่านคึกฤทธิ์

๕. เป็นธรรมที่รู้แจ้งแทงทะลุ ..หมายความว่า รู้แจ้งแทงทะลุออกจากเปลือกแห่งอวิชชา(ความไม่รู้)ที่หุ้มห่อตนเองไว้ ผู้ที่บรรลุธรรมซาโตรินั้น หลุดออกจากเปลือกออกไปสู่ธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าตน และเป็นธรรม(รู้)ที่เป็นอนันต์ ไม่มีขอบเขต ธรรมอะไรก็อธิบายไม่ได้อีก เพราะเซนไม่มีภาษาและไม่มีเหตุผล รู้เอาเองก็แล้วกัน ..ดังเช่นอาจารย์เห็นแบบสถาปัตยกรรมของลูกศิษย์ก็รู้จิตซาโตริของศิษย์ ถ้าอาจารย์มีจิตรอผลอยู่บ้าง ก็เลยพลอยซาโตริไปพร้อมกับศิษย์ด้วยกันนั่นเอง ..คือพ้นทุกข์ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องโต้แย้งหรือพูดกันมากด้วยเหตุผลและโวหาร เพราะต่างคนรู้กันเองด้วยตัวเองเท่านั้น

๖. เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ..หมายความว่า ผู้ที่บรรลุซาโตริแล้วนั้นไม่มีตัวตนเหลืออีกต่อไป ไม่มีเรื่องส่วนตัว ไม่รักใคร ไม่เกลียดใคร และไม่มีข้อผูกพันกับใครในทางส่วนตัวทั้งสิ้น (ลอก)ที่ท่านเขียนมาตรงนี้ เกิดบรรลุซาโตริปึงปังขึ้นมาแล้วซิ ตัวผมขณะนี้ไม่มีหรอก ท่านอุปมาเพียงว่า "มีตาแก่คนหนึ่งนั่งเขียนหนังสืออยู่เท่านั้น อีกหน่อยแกก็คงตาย ช่างแก" หรืออุปมาอาจารย์และศิษย์เห็นตรงกันที่ว่า สถาปัตยกรรมเป็นเช่นสากกระเบืออันหนึ่ง ไม่มีรักมีชอบ ไม่เป็นของสถาปนิกลำพัง แต่เป็นของใครก็ได้ ไม่มีลักษณะที่แสดงความโลภ ความโกรธ และความหลงแต่ประการใด ออกแบบโปรเจคนี้เสร็จ เดี๋ยวก็ออกแบบโปรเจคอื่นต่อไป จนจบได้ปริญญา แล้วอาจารย์กับศิษย์ก็ไม่ต้องมาตอแยกันอีก แบบตัวใครตัวมัน..ทำนองนี้

๗. เป็นธรรมที่เกิดปิติ ..หมายความว่า เมื่อซาโตริเป็นธรรมที่หลุดพ้น เกิดความรู้สึกเป็นเสรี ปิติก็ย่อมเกิดขึ้น เหมือนคนที่หลุดพ้นจากที่คุมขัง จะปิติอย่างไรก็บอกไม่ได้เหมือนกัน เพราะ (ท่านผู้เขียน) ไม่เคยหลุดพ้น หรือเมื่อทำแบบเสร็จแล้วได้เกรดดีหรือเกรดห่วย ได้เงินค่าแบบหรือไม่ได้ก็ตาม ก็ยังปิติในผลงาน เพราะซาโตริแล้ว ..ว่างั้นนะ

๘. เป็นธรรมอันถึงได้ทันที ..หมายความว่า ผู้สำเร็จซาโตริตามลักษณะดังกล่าวนั้น สำเร็จได้โดยกระทันหัน เสียงกรวดกระทบไม้ไผ่ แกรกเดียวก็สำเร็จได้ (หรือเมื่อปากกาจรดกระดาษ เม้าส์ปะทะนิ้ว ก็สำเร็จได้เหมือนกันนะ) ความสำเร็จแบบนี้ภาษาสันสกฤต (ซึ่งเป็นภาษาใช้ในคัมภีย์มหายาน) เรียกว่า "เอกมุหุรเตนะ" (แปลว่า) จะสำเร็จเมื่อไรก็สุดแล้วแต่บารมีดังที่กล่าวมาแล้ว ความพากเพียรพยายามไม่ทำให้สำเร็จได้ พูดง่ายๆว่าอย่าตื้อทำเพราะยังยึดเสียงอาจารย์บ่นกรอกหูมาก่อนหน้านั้น เดี๋ยวเลยทำแบบไม่เสร็จส่งแบบไม่ทัน จะเกิดปัญหาอื่นๆตามมา

จบ..การออกแบบในทรรศนะเซนตอนแรก ในความรู้ของท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช ...ครับ..ตอนต่อไปเริ่มกันดังนี้…

วิธีการของเซน

(…ให้ลองแปลง"ของเซน" เป็น ออกแบบ หรือสอนสถาปัตยกรรม แปลงการพูดเป็นการคิด แปลงการทำเป็นการเขียน แปลงโจทย์ของกระทู้เป็นปัญหาที่ต้องแก้...ก็อาจจะพบวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมในแนวเซนด้วยญาณทรรศนะได้ …ต้องร่วมด้วยช่วยกันเช่นเคยครับ)

อาจเรียกว่าเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ต้องเกิดขึ้นบนฐานทรรศนะคติต่อไปนี้ก่อน คือ..

๑. ตรรกธรรมดาที่เคยติดอยู่และใช้กันมา เป็นทรรศนะคติที่ผิด เพราะมองเห็นสรรพสิ่งต่างๆแง่เดียว หรือคิดแบบแยกส่วน เช่นเรื่องปรมัตถ์และสมมติ เซนจึงไม่แบ่งอะไรออกเป็นปรมัตถ์หรือสมมติ ถ้าเป็นปรมัตถ์ก็เป็นปรมัตถ์ทั้งหมด หรือถ้าเป็นสมมติก็เป็นสมมติทั้งหมด หรือกล่าวได้เลยว่า ปรมัตถ์ก็คือสมมติ หรือสมมตินั่นแหละคือปรมัตถ์ ..เปรียบเอาเป็นว่า มโนทัศน์และจินตภาพทางสถาปัตยกรรมที่กำลังฝึกเรียนออกแบบนั้น ผลจะไม่มีวันได้ก่อสร้างให้คนอื่นรำคาญแน่นอน เอาเพียงแค่ตัวเองและอาจารย์อย่ารำคาญใจก็พอแล้ว …ส่วนจบไปทำงานแล้วก็เป็นอีกเรื่องครับ

๒. เว้นถือเอาว่านิพพานอยู่ในตัวเราเอง ไม่ต้องไปหาที่ไหน มองตัวให้ดีๆก็แลเห็นและถึงนิพพาน ..ฉันนี่แหละออกแบบเก่งที่สุด เดี๋ยวก็ได้เห็นแบบสถาปัตยกรรมอย่างซาโตริแบบฉับพลันได้

ต่อไปนี้เป็นวิธีต่างๆที่ทำให้คนแลเห็นธรรมของเซน มีสองแขนง คือการพูดจาโต้ตอบหรือสั่งสอน กับการตั้งโจทย์กระทู้ธรรมแล้วให้ศิษย์เอาไปแก้หรือให้อาจารย์ถามแบบไม่ยอมบอกว่าอะไรดี (เพราะอาจารย์ก็ไม่รู้แต่ทำเป็นรู้ นอกจากอาจารย์ที่พบซาโตริแล้ว ซึ่งศิษย์ต้องค้นหากันเอาเอง) …..แขนงแรกแบ่งฝอยออกได้เป็นดังนี้

๑. พูดในสิ่งที่ขัดกัน ..

ตัวอย่าง..

"เราเดินไปด้วยมือเปล่าแต่เราถือพลั่วอยู่ในมือ

เราเดินด้วยเท้า แต่เรานั่งอยู่บนหลังวัว

เมื่อเราข้ามสะพาน

น้ำใต้สะพานนั้นไม่ไหล แต่สะพานไหล"

หรือคำพูดแบบไม่มีเหตุผลแบบธรรมดาที่ว่า..

"ดอกไม้นั้นไม่แดง หรือใบไม้ไม่เขียว"

เป็นการพูดแบบให้เลิกคิดในสิ่งที่เคยคิด คือไม่อยู่ในกรอบเหตุผลหรือประเพณี จนกลายเป็นอุปทานได้แก่ยึดในเหตุผลแบบเดิมๆ แล้วหันมายึดอุปทานอีกแบบหนึ่งคือความยึดในการไร้เหตุผลแบบเซน (ที่ทางจิตวิทยาตะวันตกเรียกว่า fuzzy logic ..คือการใช้เหตุผลแบบไม่มีเหตุผลเอาเลย) เซนยึดวิธีการพูดที่ขัดกันและความไร้เหตุผลเอามาก และใช้พูดกันในเรื่องชีวิตประจำวัน โดยไม่รับรู้ความจริงอย่างธรรมดาเสียหมด เช่น..

"ผมกำลังเขียนเรื่องนี้ แต่ไม่ได้เขียนเลยแม้แต่อักษรเดียว

ท่านกำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่มีใครอ่านเรื่องนี้แม้แต่คนเดียว"

ถ้าจะพูดอย่างธรรมดาก็ลองตัดประโยคที่มาข้างหลังคำว่า..แต่ ออกให้หมด

หลังจากฝึกคิดแบบขัดกันเองแล้ว…ที่นี้ลองคิดออกแบบตามอย่างการเขียนภาพแบบเซนในนิทานเรื่องนี้..(ยังมีรายละเอียดเช่นการเขียนภาพสุมิเย การจัดดอกไม้ การชงชา และต่อสู้แบบซามูไร ของเซนญี่ปุ่น แล้วจะได้พล่ามอิงกับการออกแบบสถาปัตยกรรมเชิงรูปธรรมในโอกาสต่อไป ..ถ้าผมยังไม่ตายเสียก่อน)

ช่างเขียนญี่ปุ่นคนหนึ่งชือ โอโกบุ ชิบุน ตกลงรับเขียนให้ผู้ว่าจ้างคนหนึ่ง เขาเขียนภาพป่าไผ่ด้วยหมึกแดง เสร็จแล้วมอบให้ผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างเห็นแล้วถามว่า….

"ข้าพเจ้าขอบคุณท่านที่เขียนภาพป่าไผ่ที่สวยงามมาก แต่ขอโทษ ท่านเขียนภาพด้วยหมึกแดง"

โอโกบุ ชิบุน ก็ถามกลับไปว่า.."ท่านต้องการให้ข้าพเจ้าเขียนภาพด้วยหมึกอะไร"

"สีดำอย่างที่เขาเคยเขียนกันมา" ลูกค้าตอบกลับเช่นนั้นเพราะญี่ปุ่นเขียนภาพด้วยหมึกจีนดำเป็นธรรมเนียม โอโกบุ ชิบุน ก็ถามว่า.. "ท่านคงเคยเห็นใบไผ่สีดำเหมือนหมึกดำหรือ"

ความคิดคนเราก็แบบนั้น ติดอยู่ในกรอบแห่งเหตุผลและธรรมเนียมการใช้ความคิดที่เคยใช้กันมาก่อน แต่ความจริงแล้ว ใบไผ่ก็ไม่ใช่ทั้งสีแดงและสีดำ และอาจไม่ใช่สีเขียวก็ได้ ใครจะไปรู้ เซนว่าไว้อย่างนี้ …นี่เป็นความคิดของท่านคึกฤทธิ์ทั้งหมดผมลอกมาทั้งดุ้น แต่พอจะแปลงก็เพลินเลยลืม …ผู้อ่านข้อนี้ต้องลองคิดแปลงเอาเองแล้วกัน..

เผอิญ..นึกถึงศิษย์คนหนึ่งที่จบไปแล้ว ไปทำงานแล้วบ่นถามผมในอินเทอร์เนทว่า เขาเคยเจอลูกค้าติเรื่องการวางทิศทางอาคาร ที่เขาออกแบบให้ เขาอายมากรู้สึกตนไร้ศักดิ์ศรีความเป็นสถาปนิกทันที เพราะเห็นด้วยกับคำติ เพราะไปเข้าใจจำเพียงที่เรียนมาว่า การวางอาคารควรมีทิศทางรับลมหนีแดด นับเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเมตตาและประณามตัวผมด้วยว่า สอนกันยังไง? ทำไมไม่สอนแบบเซนบ้าง? ให้พอมีฌาน(หรือนิมิตก่อนได้ญาณ)ในขณะที่ออกแบบบ้าง จะได้ไม่เกิดเรื่องแบบนี้ นี่ก็ตั้งใจตอบเขากลับไปว่า ก็ต้องทบทวนคำติให้ดี ต้องแน่ใจว่าเป็นไปเพื่อบุญกุศล ไม่ใช่เป็นบาปอกุศล ก่อนรับมาเป็นฌานรู้ของตนต่อไป อนึ่ง..เรื่องการวางอาคารจริงๆแล้ว ก็คือการวางตัวตนของเรา(หรือเจ้าของ) เพื่อให้พบรับกับสิ่งที่ดี เช่นพบภาพภายนอกเป็นปรโตโฆสะ เป็นกัลยาณมิตรกับใจเรา เช่น ความสงบเป็นต้น แต่ถ้าตรงทิศนั้นเราได้ลมธรรมชาติ แต่ก็แลเห็นส้วมเพื่อนบ้านด้วย แล้วจะตั้งอาคารรับลมมีกลิ่นขี้ด้วยไหม? เห็นแล้วเกิดวิเวกธรรมหรือเปล่า? ทั้งกับไประวังเรื่องแสงแดด กลัวแดดกันทำไม? ทั้งที่น่าควบคุมได้ เพราะในเมื่อสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย ก็ต้องการแสงแดดทั้งนั้น ฉะนั้นการเลือกปัญหาหรือทุกข์เพื่อแก้ ต้องเลือกอันที่หนักๆจริงก่อนแล้วมองลึกลงไปที่เล็กๆอย่างละเอียด ซึ่งต้องการปริมาณฌานรู้ทั้งนั้น สำหรับเรื่องที่ตั้งกับการออกแบบอาคาร ถ้าคิดแบบเซนไม่เน้นที่โวหารแปลกๆดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ต้องคิดเป็นองค์รวมของนิเวศน์สิกขา อย่าคิดแบบแยกส่วนแบบเดิมๆ ที่สถาปนิกมักไม่เอาใจใส่สภาพแวดล้อมที่ตั้งอาคาร ไม่ใช้เป็นบริบทของอาคารที่ออกแบบอย่างจริงจัง และไม่ยอมคิดเป็นหนึ่งเดียว เพราะไม่เคยไปสำรวจที่ตั้งอย่างจริงใจ และไม่ยอมให้จินตภาพ(ฌาน)เกิดมาจากสถานที่ตรงนั้น เวลานั้น ไม่มองเห็นสรรพสิ่งเป็นความเชื่อมโยงกันหมด ดังเช่นเดียวกับเซน ที่เน้นสอนให้พบซาโตริด้วยโวหารแบบเชื่อมโยงกัน แต่ดูเหมือนขัดกัน คิดเหตุผลแบบไร้เหตุผลต่างจากความคิดที่เป็นปกติธรรมดาของปุถุชน เมื่อการเรียนรู้แบบฝึกจิตวิญญาณ กลายเป็นจิตแบบขนาดเล็กเช่นนี้ การแก้ปัญหาหรือทุกข์นั้นจึงสับสนกัน คืออาจไปเพิ่มทุกข์ให้มากขึ้น ลองนึกภาพการใช้มีดเล็ก(ไม่คม)หั่นเนื้อชิ้นใหญ่ๆ ..เกิดผลก็ทำนองเดียวกันที่เป็นปัญหาที่เกิดกับศิษย์ในคณะฯนี้ดังกล่าว…ก็เลยเป็นเซนเช่นนั้นเอง ..เลยยังไม่รู้ว่าบอกอะไรคือวิธีเซนอยู่ดี

๒. การพูดโดยไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ

(ลองคิดพูดแบบทางสายกลาง หรือแบบอิทัปปจจยตา(คำท่านพุทธทาส) และท่านอาจารย์กรรมฐานท่านหนึ่งเคยบอกผมเรื่องการเรียนรู้วิธีนี้ด้วย)

ในการพูดจาแบบธรรมดานั้น ถ้าเราไม่ยอมรับเราก็ต้องปฏิเสธ ถ้ายอมรับว่าสิ่งหนึ่งดี ก็ต้องปฏิเสธว่าสิ่งอื่นที่ไม่ดี แต่ในทางพุทธที่พระสวดมาติกา (จะเอาคำแปลต้องไปถามเด็กวัด) จะแบ่งของทุกอย่างในแวดล้อมตัวเราออกเป็นอย่างนี้คือ..ดี..ชั่ว..และอพยากฤต คือไม่ดีไม่ชั่ว การยอมรับและการปฏิเสธ ไม่เป็นเสรี …เสรี (ทางความคิด) คือการไม่ยอมรับและไม่ยอมปฏิเสธ ถามว่าถ้าเกิดมีปัญหาที่ต้องยอมรับหรือปฏิเสธขึ้นมาจะทำอย่างไร

เซนตอบว่า..

ไม่พูดไม่ตอบปัญหานั้นเพื่อเอาตัวรอดไว้ก่อน

เปรียบเหมือนคนตกหน้าผาแล้วบังเอิญเอาปากคาบกิ่งไม้ไว้ได้ แล้วห้อยอยู่อย่างนั้น …มีคนเดินผ่านมาแลเห็นเขาก็ร้องถามว่า..

"ไปทำอะไรอยู่ที่นั่น" หรือ

"สบายดีอยู่หรือคุณ? หรือ

"โอ้ย ห้อยอยู่นานเท่าไรแล้ว?"

ฯลฯ

ถ้าคนที่เอาปากคาบกิ่งไม้ไว้นั้น อ้าปากตอบเข้าก็ตกเขาตายเปล่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรสักนิด เซนถือว่าปัญหาที่ต้องตอบไปในทางรับหรือปฏิเสธก็เป็นปัญหาแบบนั้น ไม่ตอบเสียเลยดีกว่า …ส่วนอาจารย์และศิษย์ทางสถาปัตยกรรมจะเอาอย่างนี้บ้างก็ดีนะ คือถ้าต่างยังไม่แม่นยำข้อมูลสนับสนุนกัน อย่าดันทุรังตอบแบบข้างๆคูๆ แล้วก็ไม่รู้เรื่องอะไรกันเลยทั้งคู่ ควรเอาแบบท่าน มีส วานเดอโร นั่งดูแบบของศิษย์หรือลูกน้องในสำนักงาน มักนั่งสูบซิการ์ปุ๋ยๆมองเฉย สักพักก็ลุกเดินไปที่อื่น แพล็บเดียวในบัดดล ทั้งศิษย์และลูกน้องแก้แบบที่ตัวเองเสนอให้ท่านดูกันจ้าละหวั่น ทั้งๆทีไม่ได้ยินคำพูดแกสักแอะ …ท่านมีสฯนี่รู้วิธีเซนข้อนี้ได้ก่อนพวกเรา…แฮะ

๓. การพูดขัดกันที่ตนเองได้พูดไว้แล้ว

เมื่อเซนไม่ยอมรับการพูดอย่างธรรมดาสามัญ การพูดแบบเซนจึงเป็นการพูดอีกแบบหนึ่ง จะฟังแบบเหตุผลธรรมดาสามัญไม่ได้ เช่นอาจารย์เซนอาจพูดอะไรไว้อย่างหนึ่งแล้วพูดขัดกับที่ได้พูดไว้แล้ว ดังประโยคต่อไปนี้..

"จิตหรือวิญญาณนั้นมีแน่ เพราะมันไม่มี"

หรืออะไรที่ออกจะยั่วโมโหคนทำนองนั้น แต่เซนก็ยืนยันว่าการพูดแบบนี้เป็นการพูดที่มีแต่ความจริง การไม่ยอมรับรู้ในตรรกะโดยสิ้นเชิงนี้แสดงให้เห็นว่า เซนไม่พึงใจเป็นเครื่องใช้ความคิดเพื่อเข้าถึงสัจจธรรม แต่มุ่งหมายจะใช้ฌาน ซึ่งเซนถือว่าไม่เกี่ยวข้องกับใจหรือการใช้ความคิดแต่อย่างไรทั้งสิ้น เพราะฌานเป็นทางรู้อีกทางหนึ่งนอกเหนือไปจากใจ และฌานนั้นไม่ต้องอาศัยตรรกะหรือเหตุผลอย่างธรรมดาสามัญ …วิธีนี้ผมเองขอสารภาพว่าใช้บ่อย ยิ่งตอนจิตว่าง(แบบงงงัก) ส่วนศิษย์ที่ฟังแล้วได้ซาโตริหรือไม่ ..ไม่ทราบ แต่ผมเองเคยฟังอาจารย์ที่พูดขัดกันมามาก หรือฟังแกพูดเหมือนคนพูดลิ้นไก่สั้นก็เคย ก็ยังได้ความรู้ ยังรัก และยังเคารพอะไรที่แกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ทำให้ผมเป็นเช่นขณะนี้ ศิษย์มีจิตใจเป็นอย่างนี้แล้วไม่ได้ซาโตริสักวันละก้อ ก็ไม่รู้จะโม้อะไรอีกได้แล้วครับ และขณะนี้ก็ใช้วิธีเซนข้อนี้กับการเขียนลอกบทความนี้ ไม่ทราบใครอ่านแล้วด่าหรือฉีกทิ้งหรือไม่? ก็ไม่ทราบ และก็ไม่อยากจะทราบด้วย ..เพราะมันเรื่องของคนอื่น ตัวผมไม่ควรเอาจิตไปคาบไว้..ครับ ..เรื่องของใครก็รู้กันเอาเอง ดังวิธีก่อนของเซนที่ลอกไว้ในข้อต้นๆแล้ว ..ข้อต่อไปคือ..

๔. การยอมรับ

เมื่อเซนไม่ยอมรับและไม่ยอมปฏิเสธในสภาพอย่างใดทั้งสิ้น การยอมรับอะไรโดยตรงก็ไม่มีในลัทธิเซน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอาจถือว่าเซนยอมรับในความจริงบางอย่าง การยอมรับของเซนนั้นคือการไม่ปฏิเสธ แต่การไม่ปฏิเสธนั้นเองก็ได้แก่การพูดอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับปัญหาที่ถามเลยแม้แต่น้อย ลองฟังผู้ถามหลวงจีนเฮซานผู้เป็นอาจารย์เซนว่า..

"พระพุทธเจ้าคืออะไร (มีจริงหรือไม่?)"

ท่านตอบว่า "เราก็ตีกลองเป็น ตุมมะตุม ตุมตุม"

โปรดสังเกตุว่าท่านไม่ปฏิเสธว่า พระพุทธเจ้าไม่มี การที่ท่านทำเสียงกลองนั้นเป็นการยอมรับพอเพียงแล้ว อีกคำถามที่ถามหลวงจีนนานยวนฮุยยุงว่า..

"อะไรที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า?"

ท่านตอบว่า.."ฉันไม่เคยรู้จักพระพุทธเจ้า"

เท่านี้ก็ยอมรับอย่างชัดเจนอย่างเหลือหลายว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจริง เพราะถ้าไม่มีแล้วปัญหาเรื่องเคยรู้จักพระพุทธเจ้าหรือไม่เคยก็ไม่เกิดขึ้นได้ ..ที่นี้มาลองสร้างบทสนทนาแบบนี้กันบ้าง ผมขอเริ่มก่อน..เกิดขึ้นเมื่อศิษย์ส่งแบบร่างให้อาจารย์ตรวจแบบกันในห้องเรียน แล้วก็สอพลอพูดขึ้นก่อนดังนี้..

“เป็นอย่างไรบ้างครับ อาจารย์ชอบไหม?”

“ขี่ช้างจับตั๊กแตน” อาจารย์(แบบเซน) ตอบ

โปรดสังเกตุ อาจารย์ไม่ได้บอกว่าชอบหรือไม่ชอบ อาจชอบเพราะทั้งช้างและตั๊กแตนเป็นสัตว์ที่มีรูปสวยงามทั้งคู่ เพราะพระเจ้าสร้างพวกมันมากับมือ ไม่สวยได้อย่างไรว่ะ! การขี่ช้างก็เพลินดี จับตั๊กแตนไปก็เพลินด้วยเพราะมันดันมาอยู่บนหัวช้างพอดี หรืออาจไม่ชอบเพราะสงสารช้างจะเหนื่อยและกลัวตั๊กแตนเจ็บ ส่วนศิษย์นั้นควรเลือกความหมายที่ทำให้ตัวเองปิติ แต่ไม่ต้องถึงสำเร็จซาโตริวันนั้น ควรรอไปวันที่จะส่งแบบต่อไปก่อน ซึ่งอาจมีคำพูดแปลกอย่างเซนนี้อีก แต่ในเหตุการณ์จริงที่ปรากฏในคณะฯนี้ คือ ศิษย์นั้นเมื่อฟังแล้วจะเกิดจิตวุ่นวายทันที เพราะอาจารย์ (ซึ่งไม่น่ารู้เซน) แสดงสีหน้าให้ศิษย์เข้าใจเอาเองว่า อาจารย์ก็ไม่เคยรู้เลยว่า ไอ้สัตว์สองตัวในคำพูดนั้น เป็นสัตว์ที่พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่กว่าอาจารย์เป็นไหนๆสร้างมันมาให้เป็นส่วนของธรรมชาติและเป็นเพื่อนมนุษย์ เแล้วยังมาหาว่าชอบทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งในทางกลับกันนั้น น่าจะถือเป็นความคิดที่ดี คือศิษย์สามารถทำน้อยแต่สวยงาม..small is beautiful….ทีนี้…ตัวอย่างของท่านละ! ลองเผยฌานเพื่อซาโตริออกมาซิครับ?

๕. การพูดซ้ำ

พระอาจารย์เซนอีกองค์หนึ่งในสมัยแผ่นดินถัง ชื่อหลวงจีนตู้จูไต้ถุง ท่านตอบแบบนี้..

เมื่อมีคนถามว่า.."อะไรคือพระพุทธ"

ท่านตอบว่า.. "พระพุทธ"

ถามว่า..อะไรคือพระธรรม"

ท่านตอบว่า..."พระธรรม"

ถามว่า..."อะไรคือต๋าว"

ท่านตอบว่า..."ต๋าว"

เขาตอบกันแบบนี้ทำให้คนสำเร็จซาโตริได้ ..ขอนี้ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเล่นสอนวิธีนี้ ศิษย์ไทยจะได้ซาโตริ หรือด่าแม่อาจารย์ในใจอยู่ ไม่ทราบได้ น่าจะลองแปลงเป็นตอบซ้ำแบบ..ฮือ…ฮือ…ฮือ..ตามจำนวนเท่าคำถามที่ศิษย์ถามปัญหาชนิดโลกแตกก็ตอบไม่ได้ หรือตอบไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย เช่น .. “ทำไมอาจารย์เก่งแฮะ?” ก็ต้องตอบว่า “ฮือ” ..ส่วนที่คิดอยู่ในใจว่า กูเก่งซิวะ! …ก็ไม่ควรตอบไปแบบธรรมดา ..นะครับ วิธีนี้จะผสมตอบซ้ำกับอุทานตามวิธีเซนข้อต่อไปดังนี้

๖. คำอุทาน

อาจารย์หลายคนแนะนำให้ลูกศิษย์แลเห็นธรรมด้วยคำอุทานเพียงคำเดียว เช่น "กวาน" (ผู้เขียนไม่บอกคำแปลไว้…น่าจะเป็นคำติดอ่าง) หรือ อีกองค์ตวาดว่า "กวาด" ร้องซ้ำๆไม่ว่าศิษย์จะถามอะไร จนศิษย์แลเห็นธรรม สำเร็จซาโตริไปเอง บางทีไม่ตวาดเปล่า เอาไม้ตีเอาด้วย เช่น ผม (คือผมเองนะครับ) เคยฟังอาจารย์แสงอรุณฯ อาจารย์คณะฯเราที่ผมรักเคารพและท่านก็ตายไปแล้ว (เผอิญนึกถึงท่านพอดี) เมื่อศิษย์เซนคนหนึ่งถามอาจารย์ว่า “เวทนาคืออะไร?” ถามจบ…ปั๊บ อาจารย์เอาไม้ที่กำลังถือตีไปที่กระบาล(ด้านบนทั้งหมดของศีรษะ)ของศิษย์ ..เสียงดัง..ผั๊วะ!(เสียงสมมติครับ) แล้วถามกลับว่า “เข้าจ๋..าาย..ใจ..ไหม?” .. “เข้าใจแล้วเจ้าข้า” ศิษย์ตอบขณะยังคลำหัวที่โนอยู่ ..ผมเข้าใจว่าเกิดซาโตริทันทีทันใด ..ศิษย์คนนี้โปรดสังเกตสำเนียงเสียงตอบน่าจะเป็นผู้หญิง ซึ่งก็ควรเหมาะสมในตัวอย่างข้อนี้ เพราะเป็นการเคารพสิทธิสตรีอย่างออกหน้าออกตาทางหนึ่ง อีกทั้งอันสตรีนั้นจะมีผมมากและหนากว่าผมผู้ชาย ดังนั้นจะลดบาปการทำร้ายผู้เยาว์ของอาจารย์เซนผู้ไร้ชื่อนี้ไปได้บ้างนะ …ต้องขอโทษท่านอาจารย์แสงอรุณไว้ในที่นี้ด้วยครับ ที่ผมแปลงสิ่งที่เคยได้ยินมาจนแทบไม่เหลือสำนวนพูดเดิมของอาจารย์เลย….“แล้วค่อยเจอกันนะครับ” ....อาจารย์ครับ

วิธีทั้งหกที่กล่าวมานี้ ลัทธิเซนเรียกเป็นภาษาสันสกฤษว่า อุปายเกาศลฺย นอกจากนั้นก็ยังมี อุปายเกาศลฺย อีกอย่างคือ นิ่งเหงียบ ไม่พูดเลย การใช้วาจาแนะนำธรรมนั้น เซนถือว่าไม่สำคัญ เพราะลัทธิเซนถือว่ากรรมอันได้แก่ การใช้ชีวิตตามปกติของคนเรานั้น สำคัญกว่าคำพูดหรือการสั่งสอนใดๆทั้งสิ้น ใครไม่ใช้ชีวิตปกติก็แลไม่เห็นอริยสัจ เซนจึงถือว่ากายกรรมเป็นวิธีตรงที่จะทำให้แลเห็นธรรม (as Design by Doing) ส่วนวจีกรรมนั้นจำเป็นในบางกรณี แต่ไม่ทำให้แลเห็นธรรมได้ บางกรณียังทำให้เป็นอุปสรรคต่อเซนหรือฌานทีเดียว เช่นเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น เมื่อศิษย์คนหนึ่งกำลังนั่งสมาธิเอาเป็นเอาตาย อาจารย์จึงถามว่า “นั่นเธอกำลังทำอะไร?” .. “กำลังประสงค์เป็นพระพุทธเจ้าครับ” ศิษย์ตอบ ทันใดนั้น อาจารย์ก็นั่งลงจับเอาอิฐถูขัดไปที่หินตรงบริเวณนั้น ศิษย์งงแล้วถามอาจารย์ว่า.. “ท่านกำลังทำอะไร?ครับ” …“ฉันกำลังขัดแผ่นอิฐนี้ให้เป็นกระจกเงาอยู่นะซิ” ดังนี้เป็นต้น (แล้วผมจะฉายซ้ำทั้งเรื่องอีกที…โปรดอดใจรอ)

 

วิธีการสอน(เพื่อสอนตัวเองก็คือวิธีการออกแบบ)อีกลักษณะหนึ่ง คือการสอนที่ต่างจากการใช้เหตุผลที่เป็นหลักสำคัญในการศึกษาลัทธิอื่นหรือวิชาอื่น ในการสั่งสอนของเซนนั้น ผู้เป็นอาจารย์จะตั้งโจทย์หรือกระทู้ธรรมให้ศิษย์เอาไปแก้ได้ หรือศิษย์ตั้งคำถามให้อาจารย์ตอบข้อสงสัย ด้วยวิธีนี้อาจารย์ต้องสำเร็จซาโตริแล้ว หรือไม่ก็ต้องมีเชื้อบ้าง เพราะจะทำให้ทราบว่าศิษย์คนใดเข้าใจเซนหรือบรรลุธรรมขั้นใด ก็ด้วยการแก้กระทู้นั้นคือทั้งที่ศิษย์ตอบและถาม กระทู้นั้น ญี่ปุ่นเรียกว่า โกอัง ดังเช่นกระทู้ยอดนิยมของเซนที่เกิดจากการประกาศให้ศิษย์แต่งคาถาแสดงภูมิปัญญากัน (วิธีนี้น่าใช้ได้กับวิชา SK.D.) เพื่อแต่งตั้งสมภารใหม่แทนตน มีภิกษุผู้หนึ่งแตกฉานมากในธรรมะได้เขียนไว้หน้าอุโบสถว่า….(ดังศิษย์ทำวิชานี้ได้เอเสมอ)

"กายนั้นเหมือนต้นโพธิ์

วิญญาณธาตุเหมือนกระจกเงา

จะคอยระวังรักษากระจกให้สะอาด

อย่าให้ฝุ่นละอองจับได้"

แล้วก็มีคนๆหนึ่งทำงานอยู่ในโรงครัวของวัด มาเขียนคาถาตอบโต้กลับไปว่า...(ดังภารโรงเห็นเข้าเลยทำที่หน้าหลังกระดาษมั่ง)

"โพธิ์นั้นไม่เหมือนต้นไม้

กระจกเงานั้นไม่ฉายแสงอยู่ที่ไหน

เมื่อไม่มีอะไรเสียแต่แรกแล้ว

ฝุ่นละอองจะมาจับได้อย่างไรเล่า"

ผู้เขียนคาถานี้คือท่านฮุยเน้ง คนงานตำข้าวเลี้ยงพระ ต่อมาก็ได้เป็นสมภาร เพราะสำเร็จซาโตริฉับพลัน แต่ต้องหลบออกไปจากวัดเพราะยังไม่บวชเป็นพระ (ดังที่ภารโรงไม่ได้คะแนนSK.D.ชิ้นนี้แต่กลายเป็นสถาปนิกต่อมา) ถือกันว่าเป็นสังฆปรินายกนิกายเซนองค์สุดท้ายที่รับถอดบาตรจีวรต่อมาตั้งแต่พระมหากัสสปสังฆปรินายกนิกายเซนองค์แรก ต่อมาแสดงคาถาแตกแขนงออกไปอีกมากมาย …ที่ผมเขียนเสือกท่านคึกฤทธิ์ไว้ในวงเล็บนั้นเพื่อไม่ให้ผู้อ่านเบื่อ เพราะต่อไปจะมีตัวอย่างที่ท่านยกมาอ้างอีกมากครับ

หรือเช่นโจทย์ที่พระอาจารย์อีกองค์ถามศิษย์ว่า...

"เธอกินข้าวเช้าหรือยัง?"

ศิษย์ตอบว่ากินแล้ว พระอาจารย์ก็บอกว่า

"ถ้าอย่างนั้นก็ล้างถ้วยชามเสียด้วย"

เซนบอกว่าพูดอย่างนี้เป็นสัมมาวาจา เพราะศิษย์ได้ฟังแล้ว ก็ต้องนึกไปถึงการล้างอวิชชาทันที แล้วเลยสิ้นอวิชชาสำเร็จซาโตริไปในบัดนั้น อีกตัวอย่างพระภิกษุริวตันถามพระภิกษุโตกุซานที่มาขอศึกษาและนั่งรออยู่ที่หน้ากุฏิท่านว่า..

"ทำไมเธอไม่เข้ามาเสียข้างใน?"

ภิกษุโตกุซานตอบว่า.."มองไม่เห็นทาง เพราะมืดนัก"

พระภิกษุริวตันก็จุดเทียนแล้วยื่นออกไปให้ พอภิกษุโตกุซานจะรับเทียน พระภิกษุริวตันก็ดับเทียนเสีย ภิกษุโตกุซานก็สำเร็จซาโตริในบัดนั้น ..ง่ายดี (ท่านผู้เขียนเดิมรำพึง) …อีกเรื่องระหว่างการเดินทางของพระภิกษุสองรูป หลวงจีนต๋าวเจียงขอร้องให้หลวงจีนซุงยวนช่วยชี้ทางให้ท่านแลเห็นธรรม หลวงจีนซุงยวนก็กล่าวว่า….

"ข้าพเจ้ายินดีจะช่วยท่านทุกอย่าง แต่มีเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่สามารถช่วยท่านได้อยู่ ๕ ประการคือ

๑. เมื่อท่านหิว ทันต้องระงับเวทนาด้วยการฉันอาหารเอาเอง ข้าพเจ้าฉันแทนท่านไม่ได้

๒. เมื่อท่านกระหาย ท่านต้องระงับเวทนาของท่านด้วยการดื่มน้ำเอาเอง ข้าพเจ้าดื่มแทนท่านไม่ได้

๓. เมื่อท่านปวดอุจจาระ ท่านต้องระงับเวทนาของท่านด้วยการถ่ายอุจจาระเอาเอง ข้าพเจ้าถ่ายแทนท่านไม่ได้

๔. เมื่อท่านปวดปัสสาวะ ท่านต้องระงับเวทนาของท่านด้วยการถ่ายปัสสาวะเอาเอง ข้าพเจ้าถ่ายแทนท่านไม่ได้

๕. ในการไปถึงที่หมายบนหนทางอันไกลนี้ ท่านต้องแบกอสุภะคือร่างกายของท่านไปเอง ข้าพเจ้าจะไปถึงแทนท่านก็ไม่ได้

หลังหลวงจีนต๋าวเจียงได้ยินดังนั้นก็สำเร็จซาโตริ และหลวงจีนซุงยวนก็เลยลาแยกทางกลับวัดไป มิได้ร่วมเดินทางเป็นเพื่อนต่อไป

สรุปกันชัดเจนว่า วิธีการเซน..เป็นการสะกิดให้รู้เท่านั้น (ผมเคยบอกว่าเป็นการเขย่าจิต..ทั้งที่รู้ว่ามีแต่จับยังไม่ได้) ส่วนสะกิดแล้วคนๆนั้นจะเกิดมโนทัศน์หรือซาโตรินั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัญญาของคนนั้น …คนสะกิดไม่เกี่ยว

การสำเร็จซาโตรินั้น เมื่อเป็นการแลเห็นอริยสัจ ก็ย่อมจะต้องเป็นการสำเร็จด้วยตนแต่ผู้เดียว ไม่มีใครช่วยได้ อาจารย์เซนเป็นผู้แนะเป็นผู้สะกิดให้แลเห็นธรรม แต่ผู้ที่เห็นธรรมนั้นต้องเห็นต้องรู้ด้วยตนเองเท่านั้น

ส่วนการนั่งสมาธิให้จิตสงบนั้น เซนถือว่าไร้ประโยชน์เลยทีเดียว พระอาจารย์ฮุยเน้งได้แต่งคาถาไว้ว่า..

"เมื่อยังเป็นอยู่ก็นั่งและไม่นอน

เมื่อตายแล้วก็นอน นั่งไม่ได้

เป็นซากศพที่เหม็นเน่า

แล้วจะไปทรมานมันทำไม"

ครั้งหนึ่งมีศิษย์เซนคนหนึ่งนั่งสมาธิ (หรือไม่ยอมทำแบบส่งแบบ)อาจารย์เห็นเข้าก็ถามว่า…(เป็นบทสนทนาเต็มๆของท่านคึกฤทธิ์ )

"ที่เธอนั่งอย่างนี้เธอประสงค์อะไร?"

"ประสงค์จะเป็นพระพุทธเจ้า" ศิษย์ตอบ

อาจารย์ได้ยินดังนั้นก็ฉวยเอาอิฐก้อนหนึ่งมาขัดกับหินอยู่ใกล้ๆ

ศิษย์อดรนทนไม่ไหวก็ถามว่า..

"ท่านอาจารย์ทำอะไร"

อาจารย์ตอบว่า.."เรากำลังพยายามจะทำให้อิฐแผ่นนี้เป็นกระจกเงา"

"อิฐนั้นขัดเท่าไรก็ไม่กลายเป็นกระจกไปได้" ..ศิษย์โต้

"ถ้าอย่างงั้น เธอนั่งขัดสมาธิเท่าไรก็ไม่กลายเป็นพระพุทธเจ้าไปได้" ..อาจารย์ย้อน

"แล้วจะให้ข้าพเจ้าทำอย่าไรเล่า" ..ศิษย์ถาม

"มันก็เหมือนกับขับเกวียน ถ้าเกวียนไม่แล่นไป เธอจะตีเกวียนหรือตีวัว"

เมื่อเห็นศิษย์นั่งนิ่งอยู่อาจารย์ก็กล่าวต่อไปว่า..

"ที่เธอนั่งขัดสมาธิอย่างนี้ เธอประสงค์จะเข้าฌานหรือประสงค์ปัญญาตรัสรู้ ถ้าประสงค์ฌานแล้ว ฌานก็มิได้อยู่ที่การนั่งหรือนอน ถ้าประสงค์ปัญญา ปัญญานั้นก็ไม่มีแบบอย่างอันจำกัด พระพุทธเจ้านั้นหาที่ประทับมิได้ ใครจะกุมพระพุทธเจ้าไว้ก็ไม่ได้ หรือจะปล่อยพระองค์ไปก็ไม่ได้ ถ้าเธอหาพระพุทธเจ้าด้วยการนั่งขัดสมาธิ เธอก็ฆ่าพระพุทธเจ้า ถ้าเธอไม่ปล่อยตัวให้เป็นเสรีจาการนั่งแบบนั้น เธอจะไม่มีวันแลเห็นสัจจธรรมได้" …ผมจึงมักให้เวลาคุยนานสำหรับศิษย์ที่ไม่ทำแบบส่งแต่นั่งฟังเฉยๆ

กล่าวโดยสรุป ตามข้อเขียนของท่านคึกฤทธิ์นั้น เซนสอนให้คนใช้ชีวิตตามปกติ แต่ขณะเดียวกันการใช้ชีวิตทุกทางหรือการกระทำใดต้องเป็นไปเพื่ออริยสัจจ หรือในแง่พุทธเถรวาท ต้องใช้ชีวิตอยู่ในอริยมรรค …อริยมรรค (มรรควิธีแปดประการ) คือทางที่จะนำบุคคลไปถึงปัญญาตรัสรู้ (ญาณ ไม่ใช่ ฌาน) ..ประเด็นนี้คือต้องเป็นคนดีก่อน การออกแบบที่เกิดผลจึงจะดีและก็จะเป็นสถาปนิกต่อไปแบบดีจริงเลย..ผมเอาหัวเป็นประกันครับ

นอกจากการตั้งโจทย์กระทู้แล้วบางครั้งศิษย์อ่านคาถาอาจารย์แล้วก็ถามข้อสงสัยตอบโต้กับอาจารย์ อนึ่งตามลัทธิเซนบอกว่าก่อนที่จะตั้งปัญหาธรรมถามอาจารย์ได้นั้น ผู้ถามจะต้องมีธาตุรู้แบบเซน หรือมีเชื้อของฌานอยู่ในตัวบ้างแล้ว มิฉะนั้นจะตั้งปัญหาถามไม่ได้ หรือไม่ก็จะไม่เข้าใจคำตอบนั้นเลย เพราะเมื่อได้รับคำตอบแบบเซนไปแล้ว ความไม่เข้าใจความสงสัยที่เกิดขึ้นนั้นเองจะเป็นเครื่องเขย่าให้ฌานหลุดออกมาจากที่ซ่อน ทำให้ผู้ถามสำเร็จซาโตริได้ ดังตัวอย่างเช่น ศิษย์ถามอาจารย์ดังนี้...

  1. ถาม.."ใครคือพระพุทธเจ้า"...
  2. ตอบ.."ป่านสามตำลึง"
  3. ถาม.."ขณะที่จิตว่างไม่มีความคิดสิ่งใดเลยนั้น มีอกุศลมูลเกิดขึ้นได้หรือไม่"
  4. ตอบ.."มีมากเท่าเขาพระสุเมรุ"
  5. ถาม.."มีพุทธธรรมอยู่ในสุนัขหรือไม่"
  6. ตอบด้วยอุทานว่า... "วู"
  7. ถาม.."การที่พระอาจารย์เซนองค์แรกมายังประเทศจีนนั้น ท่านมีความหมายอย่างไร"
  8. ตอบ.."ต้นสนที่อยู่บนลานวัด"
  9. ถาม.."ใครคือผู้หาอะไรเปรียบมิได้ ในบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้"

ตอบ.. "เมื่อท่านดื่มน้ำหมดแม่น้ำสีเจียงแล้ว เราจะตอบให้"

ที่อาจารย์เซนตอบกระทู้แบบนี้ให้ศิษย์ไปคิดนั้น มีวัตถุประสงค์จะเปิดแนวคิดแบบเซนขึ้นในตัวศิษย์ ทำให้เกิดธาตุรู้แบบเซนซึ่งคนธรรมดาไม่เคยมีมาก่อน (หรือเคยมีแต่ชาติปางก่อนแล้วชาตินี้ลืมไปแล้วครับ..ผมว่าเอง) กระทู้ธรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นการแสดงออกซึ่งธาตุรู้แบบเซน เพราะเป็นถ้อยคำที่ผู้ตรัสรู้แบบเซนกล่าวไว้ หากผู้ใดได้เห็นธรรมในกระทู้เหล่านั้น ก็ถือว่าตรัสรู้เช่นเดียวกับผู้ตั้งหรือตอบกระทู้นั้น

โกอังจึงเป็นอาวุธที่ใช้พิฆาตและกวาดล้างจิตและอาการต่างๆของจิตให้หมดสิ้นไป เพื่อถอนรากแก้วแห่งจิต..เพื่อฆ่าจิตที่ได้แต่คิดหาประโยชน์ตนนั้นให้ตาย ...เพื่อกวาดล้างจิตซึ่งทำงานไม่หยุดมาแต่แรกเริ่มให้หมดไป ....ตราบใดที่ประตูแห่งฌานยังปิดอยู่ ก้อนอิฐหรือโกอังก็ยังมีประโยชน์ แต่เมื่อประตูเปิดแล้วก็ลืมเสียได้ ...พอสำเร็จซาโตริแล้วพระพุทธเจ้าก็คือป่านสามตำลึงจริงๆ..น่ะแหละ.

ที่ผมพล่ามมาข้างต้นนี้..เพื่อเสนอความคิดเรื่องวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยนัยหนึ่งที่เน้นการศึกษาจิตวิญญาณที่มีประกาศในนิกายหนึ่งของพุทธศาสนา และว่าด้วยการกลับไปตรวจสอบญาณทรรศนะ ลงลึกไปที่จิตใต้สำนึก..subconsciousness ที่เราห่างเหินมานานหลังจากเพลิดเพลินกับความรู้โลกที่ได้มาจากจิตสำนึก..consciousness ล้วนๆ แต่มาเดี๋ยวนี้ก็ประจักษ์กันแล้วว่าไม่พอเพียงที่จะแก้ไขปัญหาโลกวิกฤติในปัจจุบันได้

ฉะนั้น..ผนวกกับวิธีเซน ท่านก็ต้องกลับไปทบทวนแนวคิด วิธีคิดตามหลักศาสนา เช่นพุทธศาสนาเถรวาท หรือศาสนาอื่นๆของท่านด้วย ดังตัวอย่าง “วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม” โดย ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกฯ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ซึ่งตั้งอยู่บนมูลฐานที่ว่า..

การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง = การคิด+การปฏิบัติที่ถูกต้องที่เป็นธรรม

การรู้จักคิด = คิดเป็น มีวิธีคิดหลายอย่าง ฝึกฝนและพัฒนาเสมอ

หรือในภาษาธรรมคือ โยนิโสมนสิการ ซึ่งต้องอาศัย แหล่งที่มาของการศึกษา และ กระบวนการของการศึกษา ดังแผนภูมิ (เพื่อให้ดูเป็นวิชาการ) ต่อไปนี้…แล้วจะจบกันเลยครับ

*ยันต์เพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม…ไม่ใช่เพื่อกันผีหรือปีศาจ*

ดู..รายละเอียด “วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม” และ “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม” โดย พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ….นะครับ ..สาธุทุกท่านที่ทนอ่านกันจนจบ.

หนังสืออ้างอิง..

Lawson, Bryan How Designers Think, The Architectural Press Ltd., London, 1980

Korobkin, Barry J. Images for Design: Communucating Social Research to Architects, Cambridge, Mass., Architecture Research Office, Harvard Graduate School of Design, 1976

Hawking, Stephen W. A Brief History of Time, New York: Bantam Books, 1988 ...ฉบับแปล, ความลับของเอกภพและเวลา โดย วรพจน์ อารมย์ดี, บ. ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด, ๒๕๓๕

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นิกายเซน, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๐๐๐, กรกฎาคม ๒๕๔๔

น.พ. ประสาน ต่างใจ โลกหลัง ๒๐๑๒: สู่มิติที่ห้า, สำนักงานมูลนิธิวิถีทรรศน์, มกราคม ๒๕๔๕

น.พ. ประสาน ต่างใจ วิทยาศาสตร์จิตวิญญาณ, สำนักงานมูลนิธิวิถีทรรศน์, มกราคม ๒๕๔๒

น.พ. ประสาน ต่างใจ ปริศนาจักรวาล, สำนักงานมูลนิธิวิถีทรรศน์, กรกฎาคม ๒๕๔๑

พระเทพเวที (พระธรรมปิฎก-ประยุทธ์ ปยุตโต) วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม, สำนักพิมพ์ปัญญา, ตุลาคม ๒๕๓๓

พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, คณะศิษย์พิมพ์ถวายเนื่องในมงคลวารครบ ๖๐ ปี, ๑๒ มกราคม ๒๕๔๒

Web site: http//pioneer.chula.ac.th/~yongyudh/