บทสรุป..เรื่อง ปัญญา

(อภิปรัชญาเกี่ยวกับความรู้ของมนุษย์)

 

จาก “ปัญญา” ..จุดกำเนิดและกระบวนการพัฒนาทางปัญญาของมนุษย์ชาติ โดย สมัคร บุราวาศ, ๒๕๒๐

ปัญญา ..เป็นการสร้าง (ทางทฤษฎีของท่าน) จากสัจจธรรม ที่ได้จากปรัชญาต่างๆ เช่น..

-ปรัชญาเถรวาทของพระพุทธเจ้า

-สสารนิยมแบบกลไกของฮ๊อบส์

-Empiricism ของ Locke

-จิตนิยมของ Schelling และ Hegel

-ปรัชญาความเปลี่ยนแปลงของ Bergson, Engels และ Darwin

-ประวัติสากลโลกของ Spencer และ H.G. Wells กับ J. Nehru

-หลักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เช่น เมคานิคส์, ฟิสิกส์, เคมี, ดาราศาสตร์, ชีววิทยา, ธรณีวิทยา, และฟิสิกส์ปรมาณูแห่งสมัยปัจจุบัน

ปัญญา ครอบคลุมวิทยาการทั้งหลายที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น

-หลักที่ว่า “สิ่งที่มี” อันเป็นรากฐานของสสาร ..สสารนิยมแบบกลไกของฮ๊อบส์ ที่ว่า …สสารเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง …

-จากเมคานิคส์และทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ว่า ..ด้วยหลักของการเปลี่ยนแปลงของสสาร

-จากพุทธศาสนา และ Bergson, Schelling และ Hegel ..ว่าด้วย สรรพสิ่งเกี่ยวข้องกันหมด มันมีการเปลี่ยนแปลงในทำนองปริมาณให้กำเนิดคุณภาพ และพัฒนาการของสสาร เกิดจากการประนอมเนื้อของความขัดแย้งและภายในเนื้อของมัน

-ดาร์วินให้หลักวิวัฒนาการที่ว่า ..สรรพสิ่งจะวิวัฒน์จากสิ่งต่ำไปหาสิ่งที่สูงกว่า

-พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักอนัตตาที่ว่า.. ไม่มีตัวตนใดเป็นเอก-โดดเดี่ยวโดยตัวเอง และจะเปลี่ยนแปลงโดยผ่านการเกิด-เจริญ-เสื่อม และดับสูญเป็นวงเวียนสังสารวัฏ

-Locke สอนหลักภววิทยา(Ontology)เรื่อง …ความรู้ได้มาทางผัสสะ

-หลักเบญจขันธ์ของพุทธศาสนาได้ให้ความสว่างในเรื่องความคิดมนุษย์

-Diderot ให้หลักการเปลี่ยนแปลงของความนึกคิดมนุษย์ และคำสอนเรื่องกำเนิดของจิตจากสสาร

-Spencer ให้หลักการวิวัฒน์จากสิ่งง่ายและดั้งเดิมไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

-H.G. Wells เขียนเรื่อง Out-line of History ได้ให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์โบราณ สำหรับการเขียนวิวัฒนาการของจิตและภววิสัยส่วนประวัติศาสตร์

วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Science) ศึกษาสรรพสิ่ง มีฐานเป็นสสาร และศึกษาวิวัฒนาการของสสาร แต่วิทยาศาสตร์สังคม (Human Science) ศึกษาความสัมพันธ์และพัฒนาการกับวิวัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โดยเฉพาะ วิทยาศาสตร์ใหญ่สองสาขานี้ รวมเป็นปัญญาแห่งมนุษย์ชาติ (The Human Intellect)

วิทยาศาสตร์สังคม ไม่ได้หมายเพียงสังคมวิทยา (Sociology) เท่านั้น หากหมายรวมถึง มนุษย์วิทยา (Anthropology) ชาติวงศ์วิทยา (Ethnology) ภูมิศาสตร์ (Geolography) ประวัติศาสตร์ (History) ศาสนวิทยา ) (Theology) ปรัชญา (Philosophy) การเมือง เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ วรรณคดีและศิลปะ …ไอน์สไตน์กล่าวว่า วิธีแก้โลกให้ได้ดี มีสันติสุข อย่างที่ทุกคนปรารถนาพึงมีได้จากวิทยาศาสตร์สังคม

ปัญญา.. คือ หลักวิทยาศาสตร์ที่กว้างขวางที่สุด หมายรวมความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์สังคม ..คือ ความรอบรู้ในสรรพสิ่งทั้งหลายและปรากฏการณ์ของมัน

ผลของปัญญา …คือ ปรีชาญาณ (Wisdom) ..ความรอบรู้.. แต่ในการประกอบการงานนั้น เป็นปัญญาแคบๆ ไม่อาจทำให้เข้าใจโลกได้ดี ไม่ช่วยอบรมจิตใจให้เข้าใจโลกอย่างถี่ถ้วน ส่วนให้เรารู้เพียงสิ่งแคบๆจำนวนมากเท่านั้น

ปัญญา ….ชักนำให้เราศึกษาหาความจริงเป็นประการแรกว่า ความรู้คืออะไร ความรู้เกิดขึ้นอย่างไร ความรู้ผิดถูกอย่างไร นี้เราเรียกว่าปัญญาส่วนญาณวิทยา (Epistemology)

ปัญญา หรือความรอบรู้ชักนำให้เราตอบปัญหาปรัชญาที่สำคัญๆ ว่าด้วยความมีอยู่ของสรรพสิ่ง (Ontology) ..เรียกว่าเป็นภววิทยาก็ได้ ปัญหาเช่นความมีอยู่เป็นอย่างไร สรรพสิ่งและปรากฏการณ์มีอยู่อย่างไร-เพียงไร? สิ่งที่ไม่มีเป็นอย่างไร? ความเท็จเป็นอย่างไร? สิ่งใดมีอยู่-สิ่งใดไม่มีอยู่-รู้ได้อย่างไร? มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าหรือไม่?

ถัดจากภววิทยาก็คือ.. คุณวิทยา (Axiology) หรือวิทยาอักซิโอ ว่าด้วยคุณค่าของสรรพสิ่ง แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ความงาม (Beauty) กับศีลธรรม (Morality) ปรัชญาโบราณเกี่ยวกับความงามเรียกว่า สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics) และว่าด้วยศีลธรรมเรียกว่า จริยศาสตร์ (Ethics) …เพราะความงามและศีลธรรม เป็นมติมนุษย์ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย ไม่ใช่สิ่งคงที่หรือมีมาแล้วแต่เดิม จึงไม่เรียกว่า ความจริงสมบูรณ์

ปัญญา เป็นภววิทยาใหม่ ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง กล่าวถึงได้เพียงส่วนประวัติศาสตร์ ..วิวัฒนาการของการรับรู้และความรู้-วิวัฒนาการของปัญญาแทน เมื่อทราบแนวโน้มของความนึกคิดในขณะนั้นแล้ว ..ก็จะให้ทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของความนึกคิดในอนาคตด้วย เท่ากับให้ทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์และจริยศาสตร์อันถูกต้องที่มนุษย์จะยอมรับในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไรนั่นเอง

ปัญญา ..คือ ปรัชญาวิทยาศาสตร์

ปรัชญาแตกต่างจากวิทยาศาสตร์ คือ..

วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องหาข้อเท็จจริง ปรัชญาไม่จำเป็นต้องค้นหาข้อเท็จจริง หากแต่ยอมรับข้อเท็จจริงที่วิทยาศาสตร์หาไว้แล้ว เพื่อไปก่อรูปความคิด …วิทยาศาสตร์มุ่งหาความรู้ที่แคบๆ แต่ปรัชญามุ่งหาหลักที่กว้างที่ครอบงำความรู้แคบๆทั้งปวง …วิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีแล้วพยายามทดสอบว่าเป็นจริง แต่ปรัชญาตั้งทฤษฎีแล้วไม่สนใจอะไรกับการทดสอบ หากแต่ระวังทางเหตุผลให้ปรัชญาทั้งระบบมีคำสอนเข้ากันได้ดีทางตรรกวิทยาเท่านั้น

วิทยาศาสตร์เข้าถึงสัจจธรรมได้ใกล้กว่าปรัชญา เพราะทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการตรวจสอบความเป็นจริงจากการทดลอง ..ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้แต่เพิ่มพูนหาได้มีการเปลี่ยนแปลงเช่นปรัชญาไม่ ยกเว้นในกรณีฉกรรจ์การเปลี่ยนแปลงทางทฤษฎีเท่านั้น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นปรัชญาวิทยาศาสตร์นั่นเอง เปลี่ยนไปตามกาลสมัย

ปัญญา เป็นทฤษฎีอย่างกว้างที่สุด เชื่อมโยงข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคมเข้าด้วยกันทั้งหมด

ญาณ ..แปลว่า ความรู้ ปัญหาของญาณวิทยา (Epistemology) คือศึกษาว่า ความรู้มนุษย์มาจากไหน ธรรมชาติเป็นอย่างไร ผิดถูกอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร

ความรู้ได้จากจากการสัมผัส (เฉยๆ) +ความนึกคิด+สังเกตพิจารณา ความคิดเป็นเครื่องมือสร้างปัญญาทางผัสสะ ไม่ใช่ต้นกำเนิด เราไม่ได้รู้ด้วยการคิด ……..

 

ประเภทการรับรู้ ..คือ (ตามแผนผัง ..ที่ ๑)

การคืบไปของความรู้ ….คือ (ตามแผนผัง ..ที่๒)

การนึกคิดประเภทเพทนาการ (เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นตามอารมณ์) ..คือ (ตามแผนผัง ..ที่ ๓)

ความรู้ได้จากการคิดและจินตนาการ ….คือ (ตามแผนผัง ..ที่ ๔)

(จินตนาการ เป็นการรวมมโนภาพเอามาประติดประต่อให้เป็นเรื่องราว)

การสังเกตพิจารณา (Observation with Discrimination) …คือ (ตามแผนผัง ..ที่ ๕)

ทฤษฎี “ปัญญา” ..มีเรื่องเกี่ยวข้องกันดังนี้

-ยอมรับสามัญสำนึกคือปรัชญาของของสามัญชน (Popular Philosophy) ในหลักญาณวิทยาที่ว่า.. สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และ สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ

-สิ่งที่มี คือสิ่งซึ่งเมื่อกระทบกับร่างกายเราแล้ว จะก่อให้เกิดกายสัมผัสขึ้น มันคือสิ่งที่มีเนื้อที่มีมวลมีน้ำหนักเป็นสสารนั่นเอง

-มนุษย์สร้างคำๆหนึ่งขึ้นแทนสิ่งมี หรือปรากฏการณ์ที่มี.. คำนามแทนสิ่งที่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง.. คำกริยาแทนการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงของมัน.. คำคุณศัพท์และคำวิเศษณ์แทนอาการอยู่นิ่งและถาวรไม่เปลี่ยนแปลง เห็นคุณภาพและปริมาณ.. คำสันธานแทนความเกี่ยวข้องระหว่างสรรพสิ่งหรือปรากฏการณ์.. การมีคำพูดเป็นประโยคสามส่วน คือมีประธาน, กริยา, กรรม แสดงเห็นการกระทำของเหตุต่อผล

-สรุปปรัชญาสามัญชน (Popular Philosophy) ที่เกี่ยวกับภาษาหรือไวยากรณ์.. มีดังนี้

  1. สิ่ง.. ซึ่งเป็นรากฐานของการมีอยู่คือ สสารอันรู้ด้วยกายสัมผัสและสัมผัสอื่นๆ
  2. สสารแสดงการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง และอยู่นิ่งถาวรตามหลักเม็คคานิคส์ของนิวตัน
  3. สสารแสดงคุณภาพและปริมาณ และการเคลื่อนไหวก็แสดงปริมาณและคุณภาพให้เราเห็น ส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่คุณภาพและปริมาณการเคลื่อนไหวของมัน บางครั้งเราพบการเปลี่ยนแปลงปริมาณของสสารแลัคุณภาพของการเคลื่อนไหวด้วย
  4. มีความเกี่ยวพันระหว่างสสารด้วยกันเอง ระหว่างสสารและปรากฏการณ์ และระหว่างปรากฏการณ์ด้วยกันเอง และมีการเกี่ยวข้องระหว่างเหตุกับผล
  5. นอกจากสสาร ยังมีสิ่งมีอีกอย่างหนึ่งคือ จิต วิทยาศาสตร์ถือว่าจิตเป็นสิ่งมีเมื่อมีร่างกาย จิตคนตายวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มี จิตวิทยาจึงเป็นวิชาว่าด้วยคนเป็นไม่กล่าวถึงคนตายเลย

ปัญญา… ก้าวหน้าจากปรัชญาสามัญชนเพราะทฤษฎีสัมพัทธ์ของไอน์สไตน์ ..สร้างขึ้นจากหลักวิทยาศาสตร์หลังทฤษฎีสัมพัทธ์ของไอน์สไตน์ ..มีความก้าวหน้าดังนี้

-สสารและปรากฏการณ์ (การเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงของมัน) เป็นเรื่องเดียวกัน ..สสารซึ่งเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงเป็นรากฐานแห่งความมีอยู่ทั้งปวง

-คุณภาพและปริมาณเป็นการแสดงตัวอย่างหนึ่งของสสาร กล่าวคือ สสารที่ไร้คุณภาพและปริมาณไม่มี หรือการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากคุณภาพและปริมาณก็ย่อมไม่มีด้วย กล่าวโดยรวมคือ ..สสารซึ่งแสดงคุณภาพและปริมาณ และซึ่งมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง เป็นรากฐานของความมีอยู่ทั้งปวง

-สสารและปรากฏการณ์นอกจากเกี่ยวข้องกันแล้ว ยังยึดโยงเข้าเป็นหนึ่ง คือเอกภพหรือสากลโลก ฉะนั้น สากลโลกจึงเป็นหนึ่งเดียวและเปลี่ยนแปลงไปตามสสารอันเป็นเนื้อในของมัน

-นอกจากสสารหนึ่งเป็นเหตุของอีกสสารแล้ว ..การเปลี่ยนแปลงปริมาณเรื่อยๆของสสารหนึ่ง จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพแบบก้าวกระโดดขึ้นในสสารนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นในสสารก้อนที่สองบางฐานเป็นผล ..ปริมาณจะค่อยๆเพิ่มขึ้นหรือลดลงที่ละน้อยๆ แต่คุณภาพจะคงเดิมอยู่ จนปริมาณขึ้นถึงจุดเปลี่ยนฉับพลันหรือจุดก้าวกระโดด คุณภาพใหม่จึงเกิดขึ้นจากคุณภาพเก่าโดยทันที คุณภาพจะไม่เปลี่ยนแปลงที่ละน้อยอย่างปริมาณเลย และคุณภาพใหม่นี้ก็จะมีอัตราการการเพิ่มลดปริมาณเสียใหม่ด้วย

-สรรพสิ่งพัฒนาไปเพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างมันกับสิ่งภายนอก

-จิต เป็นปรากฏการณ์ในสมอง อันเป็นที่สุดของวิวัฒนาการของโปรตีนซึ่งเป็นสสาร ถ้าไม่มีสสารในแบบรูปมันสมองก็จะไม่เกิดปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่าจิต ..ไม่ตั้งเจตจำนงได้อย่างอิสระ ..การรับรู้เกิดจากการกระทบของสิ่งนอกกายกับอวัยวะผัสสะ แล้วจึงเกิดมโนภาพสะท้อนขึ้นในสมอง มโนภาพไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่า ความคิด..คือ การนึกถึงมโนภาพเก่าๆแต่เดิม แล้วเอามารวมปรุงแต่งจนเกิดมโนภาพรวมอย่างใหม่ ..มีโลกภายนอกเป็นต้นเหตุและกำหนดเจตจำนงอยู่ เจตจำนง (Will) เป็นเหตุให้เกิดการกระทำกรรม ..สั่งการให้ร่างกายเคลื่อนไหวเพื่อกระทำสิ่งที่ปรารถนา ไม่ใช่ต้นเหตุใหญ่ของการกระทำ โลกภายนอกคือต้นเหตุใหญ่ที่ก่อเจตจำนงขึ้นนั้นเอง

-จิต มีอำนาจในการสร้างสรรค์มโนภาพรวมอย่างใหม่ขึ้นมาจากมโนภาพเดิมได้ แต่ไม่ได้สร้างมโนภาพขึ้นมาจากความว่างเปล่าของจิต

-สสารเป็นเหตุการบังเกิดของจิตและเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมทางจิต ไม่มีร่างกาย ไม่มีสมอง ก็จะไม่มีจิต ไม่มีโลกภายนอกสำหรับก่อให้เกิดมโนภาพ ก็จะไม่มีพฤติกรรมของจิต

-ปัญญาเป็นสสารนิยมและเอกนิยม (Monism) โดยสิ้นเชิง ไม่ใช่ปรัชญาสามัญชนซึ่งเป็นสสารนิยมและจิตนิยม อันมีแนวไปในทางทวินิยม (Dualism) คงความขัดแย้งขึ้นเองเป็นการภายใน

ความรู้ที่ได้จากการคิด

-เราได้ความรู้จากการรับรู้ทางผัสสะก่อน สะสมเป็นมโนภาพเก็บไว้ในความทรงจำ แล้วจึงได้ความรู้จากการคิด นึกจากมโนภาพ(ที่มีสิ่งภายนอกเป็นต้นเหตุ)นั้นต่อไป

-ระหว่างที่นึกถึงมโนภาพนั้น จิตจะทำหน้าที่พิจารณาราวกับว่ามันสัมผัสมโนภาพนี้โดยตรง ..ทางพุทธศาสนาถือเป็นสัมผัสที่หกคือสัมผัสโดยใจ ความรู้ที่เกิดเรียกว่ามโนวิญญาณ ..ทางจิตวิทยาถือเป็นจินตนาการธรรมดา

-การนึกมโนภาพขึ้นมาใคร่ครวญ คือปรากฏการของจิต (พฤติกรรมของจิต ..เจตสิก ..Soul) หมายถึง การคิด (จินต์ มีความหมายว่า คิด ) เช่นเดียวกับจินตนาการ แปลว่าอาการที่คิด

-จิต แปลว่า คิดอย่างง่ายๆ วิญญาณ แปลว่าการรับรู้หรือการรู้ผัสสะ มโนภาพ ในทางพุทธศาสนาหมายถึงธรรมชาติอย่างหนึ่งที่รู้สึกและรู้คิด

-ขณะที่ใคร่ครวญมโนภาพ ถ้าชัง ก็จะทิ้งไปแล้วเปลี่ยนหรือเลือกมโนภาพใหม่ แต่..ถ้าชอบ ก็จะยืดเยื้อช้านาน เกิดอารมณ์ชวนปรารถนาหรือตัณหาขึ้น ชวนให้นึกถึงมโนภาพซ้ำๆซากๆ

-การเสวยอารมณ์สุข, ทุกข์ วนเวียนอยู่นี้ ได้แก่อาการคิดฝัน (ฝันในเวลานอน) หรือจินตนาการ เป็นต้นเหตุของตัณหาอย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดการกระทำกรรม ผลักดันให้ไปสัมผัสโลกจริงๆอีก แล้วรับความประทับใจ(ตรึงตรา)ทั้งชอบและชังซ้ำของเดิมคืนมาอีกครั้ง

-การนึกมโนภาพมักเกิดหลายมโนภาพรวมกัน เกิดเป็นมโนภาพใหม่เคียงคู่เป็นเหตุเป็นผลกันก็ได้ ..นี่เป็นจินตนาการเฉพาะเรื่องที่ต้องการใคร่ครวญหรือคิด …ทำให้ได้สมมติฐาน เมื่อได้รับการทดสอบตามข้อเท็จจริงซ้ำๆก็กลายเป็นกฏหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ได้

-จินตนาการ จึงไม่ได้หมายรวมการนึกมโนภาพขึ้นในสมองเฉยๆ หากรวมถึงเอามโนภาพไปเกี่ยวข้องกันและกันด้วย ในสองลักษณะคือ เกี่ยวข้องฐานเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน และเกี่ยวข้องทางเนื้อหา

-ในแง่พุทธศาสนา โลกประกอบด้วยความมีอยู่ (Existance) ๕ ประการคือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, และวิญญาณ

รูป คือ …ดิน น้ำ ลม และอากาศ (ไฟ)

วิญญาณ คือ …การรับรู้ทางผัสสะ

สัญญา คือ …ความทรงจำที่รวมการนึกมโนภาพไว้ด้วย

เวทนา คือ …อารมณ์สุขทุกข์จากการพิจารณามโนภาพ

สังขาร คือ …อำนาจการรังสรรค์ (ปรุงแต่ง) ของจิต …หรือจินตนาการ

-ความรู้ที่เป็นเท็จ คือสิ่งที่ได้จากความคิด หรือการนึกถึงมโนภาพที่เคยรับรู้จากการสัมผัสมาก่อนแล้วเอาไปรวมกับมโนภาพที่ไม่เคยทราบความเกี่ยวข้องกันมาก่อน มาทึกทักเอาว่าเป็นเหตุเป็นผลแก่กัน

-ในขณะเดียวกัน จินตนาการ ที่เอามโนภาพมาเกี่ยวข้องกันทางเนื้อหา คือการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ส่วนการคิดวิเคราะห์เป็นการฉีกแยกมโนภาพออกเป็นเสี่ยงๆ การคิดสังเคราะห์ได้แก่การเอามโนภาพทั้งหมด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดมาประกอบกันเข้าในมโนภาพใหม่ (เป็นสังขาร) เป็นผลการรังสรรค์ที่ได้รับจากทางผัสสะมาก่อน เป็นทั้งความรู้จริงและความรู้เท็จ

-จินตนาการที่จิตรังสรรค์ขึ้นจากมโนภาพปลีกย่อยที่มีจริง แต่เมื่อนำมาประกอบกันอาจเป็นมโนภาพใหม่ที่ไม่จริงได้ เช่นรูปปั้นสฟิงซ์ พระคเณศวร์หัวช้าง และนางเงือก เป็นต้น จินตนาการสังเคราะห์ขั้นผสมผสานขั้นสูง (ไม่ใช่การประติดประต่อมโนภาพธรรมดา) เช่นในวิชาเคมี บางทีก็สร้างสารสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ และเมื่อผ่านการดำเนินทางกฏเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ ก็สามารถรังสรรค์มโนภาพที่เป็นไปได้ขึ้น

-จินตนาการแบบเรียงมโนภาพตามกาล (เช่นงานวรรณคดี นวนิยายหรือประวัติศาสตร์) และจินตนาการแบบสังเคราะห์ บางทีเรียกว่า จินตภาพ (Image.. Idea or Conception) มีทั้งมโนภาพเดี่ยวๆ หรือมโนภาพหลายมโนภาพที่เกี่ยวข้องกัน หรือเกิดเรียงกันตามกาลเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ (Event)

เกี่ยวกับความคิด

-นักคิดผู้เขวออกจากสัจจธรรม มักเชี่ยวชาญในการใช้ความคิดแต่ขาดการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือสาระวนกับปัญหาที่เปล่าประโยชน์ เปรียบเหมือนคนตาบอดซึ่งคิดว่ามีแมวดำในห้องมืด แล้วไปเที่ยวคลำหาโดยเปล่าประโยชน์นั้นเอง

-ตรงกันข้าม ผู้ที่ยังไม่รู้อะไร เต็มไปด้วยอวิชชา สามารถรับสัจจธรรมได้ง่ายกว่าปราชญ์ ซึ่งมักหลงทางและหลอกลวงตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็ได้

-สัจจธรรมเผยออกมาเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดอาจแย้งให้เป็นอื่นไปได้ ..ซอเครตีสและพระพุทธเจ้าก็ชอบสอนสานุศิษย์ด้วยวิธีอภิปรายโต้แย้ง (Dialectics) การอภิปรายโต้แย้งระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้นดีอยู่ แต่ระหว่างคนมีทิฐิ มีปัญญาเสมอกันแล้ว จะไม่มีการลงเอยกันได้เลย

การคิดหรือวิธีคิด

  1. การคิดโดยจินตนาการ การวิเคราะห์และสังเคราะห์มโนภาพ
  2. การคิดแบบอภิปรายโต้แย้ง (Dialectics) ..thesis-anti thesis-synthesis
  3. การคิดด้วยสัญลักษณ์หรือเครื่องหมาย (Symbol & Sign) …เช่นการคิดทางคณิตศาสตร์
  4. การคิดให้เข้าหลัก (Induction ..Inductive Reasoning) ..คือถอดหลักออกจากข้อเท็จจริง ..เป็นวิธีคิดสร้างหลักหรือทฤษฎีขึ้นมาจากข้อเท็จจริงที่รับรู้มาทางผัสสะ
  5. และการคิดออกจากหลัก (Deduction ..Deductive Reasoning) …คือการคิดข้อเท็จจริงขึ้นจากหลัก หรือเก็งข้อเท็จจริง (Speculation) โดยคิดอนุมาน (Infer) ไปจากหลักที่ได้มา
  6. การคิดคืบไปจากทฤษฎี, การอนุมาน (Inference) ..การเอาผลทางทฤษฎีที่ทดสอบแล้วไปประยุกต์ใช้กับสิ่งอื่นๆที่มีคุณสมบัติเดียวกัน
  7. การคิดด้วยการสังเกตพิจารณา(Observation with Discrimination)
  8. การอุปมา (Analogy) …คนจีนนิยมใช้คำพังเพย คนอินเดียตอบปัญหาด้วยการอุปมา เช่น ในมลินท์ปัญหา ..ผัสสะเปรียบเหมือนแพะสองตัวเอาหัวชนกัน การอุปมา อาจนำไปสู่การเดาทฤษฎีหรือกฎของปรากฏการณ์ อาจมีทั้งเดาถูกและผิดก็ได้ ควรนับว่าเป็นการช่วยความคิดหรือสร้างมโนภาพใหม่วิธีหนึ่งก็ได้ เช่นการอุปมาของเหลาจื้อที่ว่า ..หนึ่งให้กำเนิดสอง สองให้กำเนิดสาม สามให้กำเนิดสรรพสิ่งทั้งปวง ..ตรงกันกับการค้นพบปฏิกริยาของนิวเคลียร์ฟิสิกส์ในปัจจุบัน ..คำพังเพยนั้นเป็นการนำสัญลักษณ์มากล่าวแทนของจริงที่มันแทนอยู่ เป็นเรื่องของศิลปะและวรรณคดีโดยเฉพาะ

ว่าด้วยความมีอยู่ (Existence)

-ความรู้ใดๆก็ตามย่อมเป็นความรู้ในสิ่งที่มีอยู่ สิ่งไม่มีย่อมไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจะรู้ ..ความรู้ว่าสิ่งที่มีนั้นเป็นอย่างไร วิทยาการนี้เรียกว่า ภววิทยา (Ontology) คือ ปรัชญาที่สอนสิ่งที่มีนั้นเอง ภวะ หรือภพ แปลว่าความมีอยู่

-สิ่งที่มี ได้แก่ สสาร สิ่งนอกกาย เป็นต้นเหตุของสัมผัส และเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง มันคือ สิ่งที่มี

-ธรรมชาติของสสาร มีมวล, ต้องการเนื้อที่, มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ, มีความเกี่ยวข้องและพึ่งพากันทั้งมวล, เป็นเอกภพหรือจักรวาล ทั้งหมดนี้เป็นความมีจริง

-เพราะสสารมีการเคลื่อนไหว หรือปรากฏการณ์ที่มี, ประวัติศาสตร์จึงมี การเคลื่อนไหวย่อมมีแต่สสารเท่านั้น โดยตัวเองไม่มี การเคลื่อนไหวมีสาเหตุจากภายนอก (Mechanics)

-สสาร มีการกินที่ในทุกทิศทาง การกินที่ปรากฏด้วยโครงครอบที่มีสสารบรรจุอยู่ เรียก อวกาศ (Space) หรือที่ว่างเปล่า (ในพระสูตรทางพุทธศาสนา) ซึ่งเคลื่อนไหวไปตามการเคลื่อนไหวของสสาร อวกาศจึงไม่ได้มีอยู่อย่างโดดเดี่ยว เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกาล หรือเวลา อวกาศและกาลเป็นนามธรรมถอดออกจากสสารที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่สิ่งมี คงมีแต่สสารที่เคลื่อนไหวเท่านั้น

-ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ทำให้ทราบว่าสสารมีการเคลื่อนตัวของมันเอง ไม่เพียงแต่มีการกระทำจากภายนอกเท่านั้น ตรงตามหลักภววิทยาที่ถือว่าสสารวัตถุมีการเคลื่อนไหวตัวเองเป็นธรรมชาติ ดังนั้นอวกาศถูกเปลี่ยนความคิดที่ประกอบด้วยเส้นตรง เป็นเส้นโค้ง เป็นอวกาศที่โค้ง (Curve Space)

-ด้วยสสารมีการเคลื่อนไหวภายในด้วย จึงมีความเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง การเคลื่อนไหวภายในของสสารคือการเปลี่ยนแปลง (Change) ในขณะที่เปลี่ยนจึงเป็นทั้งของตัวเองและไม่ใช่ของตัวเอง จึงมีการพัฒนา มีการขัดแย้งภายในเกิดขึ้น คือมีการเป็นอย่างเดียวกับตัวเองและแย้งกับการไม่เป็นอย่างเดียวกับตัวเอง ซึ่งจากเหตุนี้ทำให้เกิดผลเป็นอย่างอื่น …การคิดไปเป็นการอย่างเดียว (Self Identity) จึงเป็นตรรกวิทยาที่ผิด

-เมื่อการเปลี่ยนแปลง ..จะว่าสิ่งนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งอื่นก็ไม่เชิง เป็นการพัฒนาเชื่อมต่อกันระหว่างความมีอยู่เป็นระยะต่างของการเปลี่ยนแปลง …การเชื่อมต่อนี้คือประวัติศาสตร์ (History)

-ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงตามพุทธ สำหรับศาสนิกชนบางคนคือ สิ่งหนึ่งเกิดขึ้น, สิ่งนั้นดับไป, สิ่งอื่นเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสิ่งนั้น, สิ่งดังกล่าวดับไป, ฯลฯ, ฯลฯ ตามหลักปรัชญาวิทยาศาสตร์ สิ่งนั้น แย้งกับ ไม่ใช่สิ่งนั้น, คือสิ่งแวดล้อม, (ทำให้เกิด) สิ่งอื่น, ซึ่งเนื่องมาจากสิ่งนั้น เช่น เนื้อเหล็กเกิดขึ้น, เนื้อเหล็กดับไป, สนิมเหล็กเกิดขึ้น, สนิมเหล็กดับไป, ในทำนองคือ เนื้อเหล็กแย้งกับ, ไม่ใช่เนื้อเหล็ก, คืออ๊อกซิเจน (ทำให้เกิด) สนิมเหล็ก หรือเหล็กอ๊อกไซด์

-การเปลี่ยนแปลงภายในจากการขัดแย้งอันได้แก่ ..การเป็น-ไม่เป็น ทำให้สรรพสิ่งพัฒนาไป (สิ่งหนึ่ง)เปลี่ยนแปลงไปเป็นประวัติศาสตร์ เกิด, เสื่อม, และสูญ(กลายเป็นสิ่งอื่น) เกิดขึ้นเป็นวัฏฏจักร (วงสว่าน ..เวียนคืบก้าวไปข้างหน้า) ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง-อนัตตา (ควบคุมไม่ได้)

-เพราะการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่เป็นอิสระ หรือโดดเดี่ยวจากสิ่งแวดล้อม หากมีความเกี่ยวข้องพึ่งพากัน เป็นข้อเท็จจริงที่ถือเป็นรากฐานของปรัชญา เพื่อนำความคิดของเราไปสู่สัจจธรรมปลายมือ ความเกี่ยวข้องของสสารเป็นความเกี่ยวข้องที่มีจริง

-ฉะนั้นในการศึกษาสิ่งใดเพื่อความมีจริง ต้องศึกษามันเป็นฐานที่เกี่ยวพันกับสิ่งอื่นหรือสิ่งแวดล้อม เราไม่อาจศึกษาตัวตนแท้ของมันได้เลย เพราะมันไม่มี จะมีตัวตนก็ในความเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นเท่านั้น

-การมองสรรพสิ่งที่มีฐานเกี่ยวพันและพึ่งพากันทั้งหมดนี้ นำเราไปสู่การพิจารณาเรื่องเหตุผลทันที …เป็นลักษณะของเหตุผลที่โยงกันเป็นลูกโซ่ (Chain of Causation) ไม่มีการควบคุมเหตุหรือปัจจัย(เงื่อนไข)เหมือนในห้องทดลองวิทยาศาสตร์

-เหตุและปัจจัยหลายอย่างหลายประการจะกระทำต่อผลอย่างเดียว มีลักษณะการกระทำต่อผลสองประการ คือ แบบขนาน ..หลายเหตุหลายปัจจัยกระทำต่อผลเดียวพร้อมกันในเวลาเดียวกัน และกระทำแบบอันดับ ..เหมือนปฏิกริยาลูกโซ่ในระเบิดปรมาณู หรือในหลักปฏิจจสมุปบาท ของพุทธศาสนา ที่ว่า เหตุ เป็นปัจจัยให้กำเนิดผลแล้วเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผล เรื่อยไปเป็นวงจร

-ความผิดพลาดของนักคิดส่วนมาก ไม่ทราบถึงความมีอยู่ของเหตุผลที่สืบต่อกันแบบลูกโซ่ มักคิดกันง่ายของผลอย่างหนึ่งเกิดจากเหตุที่อยู่ถัดไป

-สรรพสิ่งและสรรพปรากฏการณ์เกี่ยวข้องและพึ่งพากันหมด ..หากเกี่ยวข้องกันในทำนองเหตุก่อให้เกิดผลแล้ว จากการสังเกต (เท่านั้น) เป็นเหตุของ .. ก็จะกลับเป็นเหตุของ ได้ เช่น ตะเกียงเป็นเหตุให้เกิดแสงสว่างที่กำแพง ในขณะเดียวกันแสงที่กำแพงส่องกลับมาทำให้ตะเกียงสว่างขึ้นได้ ..ดังนั้น สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติกำหนดความเป็นไปของเรา ขณะเดียวกัน คนซึ่งเรียนรู้แล้วก็สามารถกำหนดความเป็นไปบางส่วนของธรรมชาติได้ …นี่คือหลักความจริงแห่งการเป็นเหตุและผลกลับกัน ทำให้เราสามารถแปลงโฉมธรรมชาติเพื่อให้ผลดีกับมนุษย์ด้วยกันได้

นี่.. เป็นประเด็นที่ผมเก็บมารวมกันไว้ จากงานเขียนเชิงวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ปัญญา” โดยสมัคร บุราวาศ ในทรรศนะที่สร้างแรงบัลดาลใจสำหรับผม ..ยงยุทธ ณ นคร นะครับ

(คัดย่อจาก…สมัคร บุราวาศ, ปัญญา..จุดกำเนิดและกระบวนพัฒนาทางปัญญาของมนุษย์ชาติ, สำนักพิมพ์ศยาม, พฤษภาคม ๒๕๒๐)