คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรแกรมงานออกแบบร่าง SK.D 4 A ชั้นปีที่
4 ชิ้นที่ ..
ให้วันจันทร์ที่
.. เวลา 9.00 น.
ส่งวันจันทร์ที่
.
..เวลา 16.30 น.
ชื่อโปรแกรม
ธรรมศาลาของเทวดา..
The House of God
(หรือธรรมศาลาแห่งคุณงามความดี)
ธรรม อันทำบุคคลให้เป็นเทวดา(ท้าวสักกะ)
วัตตบท ๗ ประการ
๑. เลี้ยงมารดาบิดา
๒. อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๓. พูดจาไพเราะอ่อนหวาน
๔. ไม่ส่อเสียด
๕. กำจัดความตระหนี่ได้
๖. มีวาจาสัตย์
๗. ข่มความโกรธได้
ตำนานเรื่องท้าวสักกะ(มฆวะ)
มฆะมานพ...สถาปนิกเทวดา
เขาเป็นผู้มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
ยอมสละทุกอย่างเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เมื่อใดก็ตามที่เขาทำสถานที่ให้น่ารื่นรมย์
จะมีคนอื่นเห็นชอบแล้วก็จะแย่งดึงเขาออกมาแล้วเข้าไปอยู่แทน เขาก็ยอมให้แต่โดยดี
ยอมยกให้ทุกคนที่ต้องการเข้าพักอาศัยเพราะเขาเห็นบุญกุศลที่ได้ทำเช่นนี้
ถึงฤดูหนาวยังได้ก่อไฟให้คนเหล่านั้น ถึงฤดูร้อนก็ยังนำน้ำมาให้อาบอย่างสำราญใจด้วย
มฆะมานพ คิดว่า รมณียสถานและความสุขเป็นที่รักและพอใจของคนทั้งปวง
จึงตกลงใจเที่ยวทำสถานที่ดังกล่าวให้เป็นสาธารณสถานของคนทั้งปวง ต่อมามีคนชอบใจในปฏิปทา
มาร่วมทำด้วยเขาจึงได้เพื่อนร่วมงานทำทางและสถานที่รื่นรมย์ได้มาก ผู้ใหญ่บ้านมีจิตริษยากล่าวหาว่าเขากระทำสิ่งนี้ไม่ควร
ควรไปทำอย่างอื่นที่ตนอาจพลอยได้ประโยชน์ด้วย แต่คณะของมฆะมานพไม่ฟังไม่สน
คงทำไปเรื่อยๆ จึงไปฟ้องเจ้านายหูเบาว่าคนพวกนี้(สถาปนิกและคณะ)กระทำและรวมตัวกันเป็นเยี่ยงซ่องโจร
จึงถูกโดนจับมาจะให้ช้างกระทืบให้ตาย
ก่อนจะโดนช้างเดินมาเหยียบ ได้ให้โอวาทเพื่อนร่วมงานว่า"นอกจากเมตตาแล้ว
ไม่มีที่พึ่งอย่างอื่นเลย ขอให้แผ่เมตตาไปยังเจ้านาย ผู้ใหญ่บ้านและช้างและตนโดยเสมอกัน
อย่าโกรธใครๆ"
ด้วยอานุภาพแห่งเมตตา ช้างไม่อาจเข้าใกล้พวกเขาได้
กลับเดินถอยหลังไป เจ้านายคิดว่าช้างคงกลัวคน เลยเอาเสื่อลำแพนมาคลุมไว้
ควาญจะไสช้างเท่าไรก็ยังไม่เป็นผล จนเมื่อได้สอบถามแล้วจึงรู้ว่าพวกเขาโดนใส่ไคร้ว่าเป็นโจร
แทนที่จะยกย่องให้เป็นสถาปนิกและนักพัฒนา เจ้านายฟังแล้วเกิดหูเบา(ในทางที่ดี)เลยถึงกลับอุทานขึ้นว่า
"แม้แต่สัตว์เดรฉานยังรู้คุณพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์เสียอีกที่ไม่รู้คุณพวกท่าน
..จงยกโทษแก่เราเถิด" แล้วจึงราชทานรางวัลตอบแทน(ได้ค่าแบบครบถ้วน)
พร้อมส่งพวกเขากลับบ้านไป
วัตถุประสงค์
มฆะมานพและพวกปราโมชที่ได้พบบุญทันตาเห็น
เลยยิ่งพัฒนามากยิ่งขึ้น สร้างศาลา เป็นที่พักมหาชนทั่วจตุรทิศ แต่ละศาลาแบ่งออกเป็นสามส่วน
ส่วนหนึ่งสำหรับอิสรชนคนหนุ่มสาว ส่วนสองสำหรับคนชราเข็ญใจ ส่วนสามสำหรับคนป่วยหรือพิการ
ใกล้ๆศาลามีต้นทองหลางปลูกไว้พร้อมมีเก้าอี้นั่งเล่นใต้โคนไม้ "ปูกระดานทางเข้าศาลาไว้สามแผ่น"
แยกประเภทคนใช้งาน ใครนั่งกระดานแผ่นไหนก็จะมีช้างยกเข้าไปเสวยสุขสำราญในศาลาส่วนนั้น
เพราะมฆะมานพมีภรรยาถึงสี่คน คือ นางสุนันทา
นางสุจิตรา นางสุธรรมา และนางสุชาดา
(..๕๕๕)
นางสุธรรมา มีส่วนร่วมทำป้ายชื่อศาลา
ศาลาจึงได้คำจารึกว่า "ศาลานี้ชื่อสุธรรมา" (นับว่าฉลาดมากในการทำบุญหาชื่อเสียง)
ฝ่ายนางสุนันทามีส่วนร่วมในการขุดสระโบกขรณี ชื่อ สระสุนันทา ใช้ประโยชน์เยี่ยง
Lavatory rooms นางสุจริตรา มีส่วนในงานภูมิสถาปัตยกรรม คือ สร้างสวนดอกไม้อันงดงาม
คนทั้งหลายเรียกกันว่า สวนสุจิตรา ส่วนนางสุชาดา ถืออภิสิทธิ์ เพราะเป็นทั้งหลานและภรรยา
จึงไม่ขอทำอะไรวันๆ นอกจากแต่งตัวสวยอย่างเดียว(หรืออาจทำงานตกแต่งทั่วไปกระมัง)
มฆะมานพบำเพ็ญคุณงามความดีอื่นไปด้วยพร้อมวัตตบท
๗ ประการ(ข้างต้น)จนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีพมนุษย์จึงไปเกิดเป็นเป็นท้าวสักกะเทวราชในภพดาวดึงส์
พร้อมพรรคพวก ๓๒ คน อยู่ณที่นั้นเหมือนกัน พวกฝ่ายช่างเกิดเป็นวิศวกรรมเทพบุตร
นางสุจิตรา นางสุธรรมา นางสุนันทา ต่างเกิดเป็นนางอัปสร ช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อเอราวัณ
เว้นเพียงแต่นางสุชาดาเกิดเป็นนางนกยาง(เพราะไม่ช่วยงานศาลา...ornament is
a crime..ซวยจริง) แต่ภายหลังท้าวสักกะช่วยให้นางไปเกิดเป็นนางอัปสร(รุ่นสอง)หลังสอนวิธีรักษาศีลให้นางนกยางทำให้จิตใจเกิดเมตตากรุณาเป็นกุศลธรรม
สรุปทั้งหมดได้เสวยทิพยามบัติ มีความสุขในโลกทิพย์
เพราะหมั่นสั่งสมบุญกุศลด้วยความไม่ประมาท ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า....
"อปฺมาเทน มฆวา
เทวานํ เสฎฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนุติ
ปมาโท ครหิโต สทา"
อจ.วศิน อินทสระ (ผู้แปลตำนานท้าวสักกะเทวราชนี้มาจากพระไตรปิฎก)
แปลพุทธพจน์นี้ว่า ท้าวมฆะวะเป็นพระนามหนึ่งของท้าวสักกะจอมสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
เมื่อเป็นมนุษย์(สถาปนิก)ท่านไม่ประมาท ชักชวนพรรคพวกทำบุญสั่งสมกุศลกรรม(สร้างศาลาและพัฒนาสภาพแวดล้อม)อยู่เสมอ
ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเทวดา ดีกว่าเทวดาทั้งหลายเพราะความไม่ประมาท
บัณฑิต(ผู้รู้ผู้มีปัญญา)สรรเสริญความไม่ประมาท
ตรงข้ามจะติเตียนความประมาท เพราะเป็นต้นเค้าความวิบัติทุกอย่าง หรือความโชคร้ายในมนุษย์ก็ตาม
หรือการต้องไปอบายภูมิก็ตาม ล้วนมีความประมาทเป็นมูลทั้งสิ้น
เนื้อหาโปรแกรม
เมื่อนิสิตทั้งหลายอ่านมาถึงตรงนี้ จงละไว้ก่อน
แล้วลองจินตนาการตัวเองเป็นสถาปนิกเยี่ยงมฆะมานพ นำความคิดทั้งหมดออกมาให้ปรากฏเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรม
"ธรรมศาลาแห่งคุณงามความดี" ให้เป็นเยี่ยงรมณียสถานอันรื่นรมย์แก่คนทั้งปวง
โดยมีจุดมุ่งหมายตามตำนานในพระพุทธศาสนา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นให้สมบูรณ์แบบและมีเนื้อหาสาระตามที่บันทึกไว้ให้ครบถ้วนทุกประการ
ขอให้ท่านพึงเป็นบัณฑิตที่ไม่ประมาท รวมปัญญาทั้งหลายที่พึงมี
ฝึกฝนวิชาออกแบบร่างสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ ให้บรรลุผลแห่งเมตตากรุณาแก่บุคคลทั้งมวลรวมทั้งแก่ตนเองด้วย
เพราะ"ความประมาท"จะยังผลให้ตัวท่านแหละ มีทุกข์โชคร้าย..จะเสวย
คะแนน F อย่างแน่นอน จึงไม่ควรประมาท
นะครับ
ความต้องการนำเสนอ
- แบบทัศนียภาพที่ปรากฏเหมือนจริง ประกอบด้วย
รายละเอียดของสถาปัตยกรรม (อาคาร และ ลักษณะภูมิทัศน์ที่เป็นองค์ประกอบแวดล้อมโดยรอบ)
มองเห็น ในรูปสื่อของความคิด เช่น ทัศนีภาพภายนอก และทัศนียภาพภายใน จำนวน
๒ ภาพเป็นอย่างน้อย มีความชัดเจน ลงสีสรรสวยงาม ให้ความประทับใจ และสามารถเข้าใจเนื้อหา
ของความคิดได้ง่าย
- และรายละเอียดต่างที่จำเป็น เช่น แบบแปลนพร้อมบริเวณแวดล้อมโดยรอบ
รูปตัด รูปด้านและแบบขยายอื่นๆ มีมาตราส่วนตามความเหมาะสม เพื่อขยายความคิด
ความรู้และความเข้าใจของผู้ออกแบบมากขึ้น ในเรื่องของการเลือกใช้วัสดุ
กรรมวิธีการก่อสร้าง จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทางวิชาสถาปัตยกรรม และวิชาสาขาวิศวกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง
เป็นต้น
- หากจำเป็น เขียนอธิบายแนวความคิดด้วยภาษาเขียน
แสดงเหตุผลประกอบจินตนาการ (ที่น่าจะเป็นไปได้) ในการออกแบบ หากเห็นว่าจำเป็น
และเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในความคิดของการออกแบบได้ดีขึ้น
การประเมินผล
ความตรงต่อเวลา ความตั้งใจทำงาน และการทุ่มเทความคิดและจินตนาการ
เพื่อผลิตงานออกแบบร่างของโปรแกรมนี้ ด้วยทักษะทางความคิดและฝีมือ ที่แสดงถึงความรู้
ความสามารถสูงของนิสิต คือ การออกแบบที่สนองเจตนารมณ์ และความประสงค์ดังกล่าว
ได้อย่างน่าประทับใจและพึงพอใจ ไม่เป็นผลงานที่มาจากการลอกเลียนแบบผู้อื่น
ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเด็ดขาด
การดำเนินการ
- ต้องแสดงผลงานออกแบบ ในกระดาษสีขาวขนาด
1 อิมฯ เพียง 1 แผ่นเท่านั้น เสนอความคิดให้ครบถ้วน เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน
เป็นผลผลิตความคิด และทักษะฝีมือของนิสิตผู้ออกแบบผู้เดียว จัดแบบต่างๆที่แสดงให้ได้สัดส่วนของหน้ากระดาษที่เหมาะสม
เป็นที่น่าประทับใจ เชิงกร๊าพฟิคด้วย
- เขียนชื่อของนิสิต และหมายเลขส่งงาน
(ไม่ใช่เลขหมายประจำตัว) ให้ชัดเจน เพื่อสะดวกในการประเมินผลงานออกแบบ
- นำผลงานออกแบบร่างนี้ ส่งตรงที่ห้องส่งงานของภาควิชา
ตึกใหม่ชั้น ๓ ก่อนเวลา ๑๖.๓๐ น. (ก่อนเจ้าหน้าที่ปิดห้อง) ในวันจันทร์เดียวกันนี้
ผ.ศ. ยงยุทธ ณ นคร ผู้ออกโปรแกรม
|