|
||
นิเวศน์สำนึก จาก จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม
: โลกทัศน์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาตะวันตก ประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของโลกตะวันตกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เป็นประวัติศาสตร์ของความพยายามของมนุษย์ในการเป็น "เจ้า" เหนือโลกธรรมชาติ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้แนวความคิดลัทธิทุนนิยมนำทางการพัฒนาในสมัยต่อมา ล้วนช่วยส่งเสริมการมองโลกธรรมชาติว่าเป็นเพียง "วัตถุ" ที่มนุษย์จะต้องจับจอง จัดการ และใช้เพื่อจุดหมายของมนุษย์ ในปัจจุบัน คนในโลกตะวันตกเริ่มหยุดคิดถึงความเลือนลางของเส้นแบ่งระหว่างความสำเร็จในการใช้โลกธรรมชาติเป็นเครื่องมือของมนุษย์ กับความหายนะทางสภาวะแวดล้อมอันเป็นผลของ "ความสำเร็จ" นี้ คำถามที่ว่าดลกตะวันตกประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวกันแน่ เป็นคำถามที่นักวิชาการเริ่มหันมาพิจารณา เนื่องด้วยผลของการพัฒนาเริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตา ไม่ว่าจะเป็นผลทางความเสื่อมสภาพของดิน น้ำ อากาศ หรือโลกชีวภาพดดยรวม หรือการลดน้อยถอยลงของปริมาณของ "ที่มาแห่งทรัพย์" หรือทรัพยากร ในปัจจุบัน โลกตะวันออกเองก็กำลังประสบกับปัญหาของผลของการ "พัฒนา" ที่ตกอยู่กับโลกธรรมชาติ ความพยายามที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับการเสริมส่งด้วยโลกทัศน์ทุนนิยมวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่มองโลกธรรมชาติเป็นเพียง "วัตถุ" และ "ที่มาแห่งทรัพย์" มีอิทธิพลสำคัญทำให้โลกตะวันออกต้องประสบกับปัญหาสภาวะแวดล้อมจนถึงขั้นวิกฤตเช่นกัน คำถามที่นักวิชาการในโลกตะวันออกและตะวันตกกำลังถามก็คือ ทำอย่างไรจึงจะคลี่คลายปัญหาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติที่เข้าขั้นวิกฤตนี้ได้ ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้โลกธรรมชาติกลับฟื้นคืนสภาพที่จะเอื้อต่อการมีชีวิตที่มีคุณภาพของมนุษย์ได้ต่อไป คำตอบหนึ่งที่ดูจะชัดแจ้งสำหรับคนในสมัยที่เทคโนโลยีกำลังเจริญก้าวหน้าก็คือ ต้องแก้โดยอาศัยเทคโนโลยี แต่กระนั้นนักวิชาการส่วนหนึ่งก็เห็นตระหนักว่าการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางสภาวะแวดล้อมโดยอาศัยความรู้ทางเทคโนโลยีเท่านั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุที่แท้จริงของวิกฤตการณืนี้อยู่ที่ทัศนคติของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบข้างอันได้แก่ ทัศนคติต่อโลกและจักรวาล ต่อกำเนิดของโลกและจักรวาล ต่อการเกิด ชีวิตและความตาย ต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่น และที่สำคัญคือ ทัศนคติเกี่ยวกับความสัมพันธืของตัวเองกับส่วนที่เหลือในโลกธรรมชาติทั้งส่วนที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งหมดนี้อาจเรียกได้ว่า "โลกทัศน์" นักวิชาการส่วนนี้เชื่อว่า ต้นเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติคือ ทัศนคติหรือโลกทัศน์ของมนุษย์ที่มองความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกธรรมชาติในรูปลักษณ์ของสิ่งที่มีค่าในตัวเอง (มนุษย์) กับ "วัตถุ" (โลกภายนอก) ที่มีอยู่เพื่อให้มนุษย์นำมาใช้ตามอำเภอใจ และเมื่อโลกทัศน์เป็นเช่นนี้ ความรู้ทางเทคโนโลยีก็ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการกับโลกตามทัศนคติหรือโลกทัศน์ดังกล่าว เมื่อมองว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะต้องแก้ไขที่โลกทัศน์ของมนุษย์ ความรับผิดชอบในภาระดังกล่าวจึงอยู่ที่นักปรัชญาทั้งหลายที่จะวิเคราะห์และแก้ไขวิธีการหรือกรอบการมองโลกของมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการปฏิบัติของมนุษย์ต่อโลกธรรมชาติที่จะเอื้อต่อความอยู่รอดของทั้งมนุษย์และโลกธรรมชาติ จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม (Environmental Ethics) นักคิดนักปรัชญากลุ่มที่เชื่อว่าการมองปัญหาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติว่าเป็นสาขาหนึ่งของจริยศาสตร์ประยุกต์นั้น อยู่ตรงที่จริยศาสตร์ปทัศถานที่นำมาประยุกต์เหล่านี้มีสมมติฐานที่เชื่อว่า มนุษย์เป็นจุดศูนย์กลางของคุรค่าดังที่ได้กล่าวข้างต้น และสมมติฐานดังกล่าวให้ความชอบธรรมแก่มนุษย์ในอันที่จะดูดซับถือเอาประโยชน์จากโลกธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่า ความชอบธรรมดังกล่าวถือกำเนิดมาจากโลทัศน์หรือกรอบความเข้าใจตัวเอง โลก ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับโลกธรรมชาติ ที่ตั้งอยู่บนฐานทางอภิปรัชญาและจริยศาสตร์บางลักษณะ ซึ่งทำให้เรามองตัวเองว่าเป็นสิ่งเดียวที่มีค่าและมีจุดหมายในตัวเอง โลกทัศน์ดังกล่าวย่อมมีผลและอิทธิพลต่อการปฏิบัติของเราต่อโลกธรรมชาติ ดังคำกล่าวของเกรกอรี เบทสัน (Gregory Bateson) ที่ว่า "โลกส่วนหนึ่งแปรเปลี่ยนและกลายเป็นสิ่งซึ่งเราจินตนาการให้มันเป็น" กล่าวคือ หากเราเห็นโลกเป็นเพียง "โกดังเก็บของ" หรือเป็นเพียง "ที่มาของทรัพย์" เราก็จะปฏิบัติต่อโลกตามแนวทางที่เรารับรู้หรือเข้าใจโลกแนวนั้นๆ ดังนั้นปัญหาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติก็คือผลโดยตรงของโลกทัศน์ที่มองมนุษย์เป็น "เจ้า" เหนือทุกสิ่ง หรือเป็น "เจ้าของ" "โกดังเก็บของ" ดังกล่าว เหตุนี้ "จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม" จึงถือกำเนิดขึ้นจากความคิดที่ว่า "อภิปรัชญาและทฤษฎีศีลธรรมตามที่เป็นมา เป็นรากเง่าของปัญหาสภาวะแวดล้อมมากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา" "จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม" จึงมุ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์และชี้ให้เห็นถึงสมมติฐานทางอภิปรัชญาและสมมติฐานทางจริยศาสตร์ที่มีบทบาทในการนำมาซึ่งปัญหาและวิกฤตการณ์ทางสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็เสนอสมมติฐานทางอภิปรัชญาและจริยศาสตร์อื่นที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจโลกหรือโลกทัศน์ในแนวทางที่เอื้อต่อความอยู่รอดและความสมดุลของสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ ในแง่นี้ ผู้ที่เป็นนักคิดทางจริยศาสตร์สภาวะแวดล้อมนั้น จะต้องทำงาน 2 ประเภทด้วยกัน กล่าวสคือ ประเภทแรก เป็นงานวิพากษ์วิจารณ์โลกทัศน์ที่มีพื้นฐานทางอภิปรัชญาและจริยศาสตร์ที่น่าสงสัย ที่จะก่อให้เกิดความชอบธรรมในการดูดซับคือประโยชน์จากโลกธรรมชาติอย่างไม่มีขอบเขต งานประเภทที่ 2 เป็นงานสร้าง กล่าวคือ เสนอฐานทางอภิปรัชญาและจริยศาสตร์ที่จะก่อให้เกิดโลกทัศน์ที่มีท่าที "เป็นมิตร" ต่อโลกธรรมชาติมากขึ้น นักคิดบางคนเริ่มวิจารณ์โลกทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิปัญญากระแสหลักที่เป็นมาของนกเทววิทยาในศาสนายิวและศาสนาคริสต์ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มนุษย์ "เอาเปรียบ" หรือ "ข่มขืน" หรือดูดซับเอาประโยชน์จากโลกธรรมชาติจนถึงขั้นวิกฤต นักคิดเหล่านี้เชื่อว่า จักรวาลวิทยาของศาสนายิวและคริสต์สาสนาที่จัดลำดับความสำคัญสูงต่ำ (hierachy) ของพระเจ้า - มนุษย์ - โลกธรรมชาติ กอปรกับอิทธิพลของภูมิปัญญากรีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาของโสเครตีส (Socrates) เปลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) และพวกสโตอิค (Stoicism) ที่ยืนยันความเหนือชั้นทางคุณค่าของมนุษย์ผู้มี "จิต" ที่มีเหตุผล และโลกทัศน์ของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากเบคอน (Francis Bacon) และเดส์คาร์ตส์ (Rebe Descartes) ที่มองโลกธรรมชาติเป็นเพียง "วัตถุ" ภายใต้กฎจักรวาล ล้วนมีส่วนสำคัญในการสร้างกรอบความเข้าใจโลกที่ทำให้เกิดท่าที "ทรราช" ต่อโลกธรรมชาติ ดังนั้นทางออกของปัญหาสภาวะแวดล้อมอยู่ที่การเรียนรู้จากวัฒนธรรมตะวันออกซึ่งมีศาสนา และลัทธิที่ให้โลกทัศน์ที่แสดงท่าที "เป็นมิตร" ต่อโลกธรรมชาติมากกว่าตะวันตก เช่น ศาสนาพุทธ เซน หรือเต๋า เป็นต้น ในขณะเดียวกันนักปรัชญาตะวันตกอีกกลุ่มมีความเชื่อว่า โลกทัศน์ของคนตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนายิวและคริสต์ศาสนานั้น เอื้อต่อการอุ้มชูโลกธรรมชาติอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นที่จะต้องหันไปหาโลกทัศน์ของตะวันออก ในโลกทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนายิวและคริสต์ศาสนานั้น โลกธรรมชาตือสิ่งสร้างของพระเจ้าเหมือนกับที่มนุษย์เป็นสิ่งสร้างจากพระเจ้า ถึงแม้ในคัมภีร์ของทั้ง 2 ศาสนาจะมีข้อความที่อาจตีความได้ว่ามนุษย์มีค่าเหนือสิ่งอื่นในโลกธรรมชาติ แต่กระนั้นมนุษย์ก็มิได้มีอำนาจในการจัดการกับโลกธรรมชาติในลักษณะของผู้ปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช หรือ "ทรราช" ที่จะทำอะไรก็ได้กับโลกธรรมชาติตามที่ตนต้องการ แต่อำนาจของมนุษย์ในความสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติเป็นอำนาจของ "ผู้ทำหน้าที่ดูแลแทนพระผู้เป็นเจ้า" (stewardship) ซึ่งจะต้องดูแลรักษาโลกธรรมชาติแทนเจ้าของจริงหรือพระเจ้านั่นเอง โลกทัศน์ดังกล่าวสามารถจะทำให้เราเข้าใจถึงความรับผิดชอยที่เรามีต่อโลกธรรมชาติได้อย่างชัดเจน ในขณะที่นักคิดกลุ่มที่ 2 สร้างจริยศาสตร์สภาวะแวดล้อมจากสมมติฐานทางจักรวาลวิทยา อภิปรัชญา และจริยศาสตร์ของศาสนายิวและคริสต์ศาสนา นักคิดกลุ่มที่ 3 สร้างจริยศาสตร์สภาวะแวดล้อมของตนโดยอิงอาศัยโลกทัศน์ที่ได้จากความรู้ทางนิเวศวิทยา ซึ่งมองทุกสิ่งในโลกธรรมชาติรวมทั้งมนุษย์เป็นองค์รวม (holism) ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ต้องอิงอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน คนกลุ่มนี้เชื่อว่าโลกทัศน์ดังกล่าวนี้เองจะป็นฐานให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "นิเวศน์สำนึก" อันเป็นท่าทีที่เป็นมิตรต่อโลกธรรมชาติมากขึ้น |