"นิเวศน์สำนึก" หรือจริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม

ท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนอันเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิบัติของมนุษย์ต่อโลกธรรมชาติเป็นผลของโลกทัศน์ที่มีโครงสร้างสำคัญต่อไปนี้

1. การมองโลกธรรมชาตเป็นองค์รวม : มิได้มองโลกธรรมชาติแยกย่อย แต่เป็นการเน้นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย เป็นเอกภาพของความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยของทุกกลุ่มในโลกชีวะ การเปลี่ยนแปลงในระบบของโลกชีวะมิใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงปัจเจกแต่ละหน่วยเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายของความสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งหมดในระบบของโลกชีวะ การมองโลกธรรมชาตเป็นองค์รวมเช่นนี้เป็นรากฐานสำคัญในการขยายมโนทัศน์ของสังคมศีลธรรมในครอบคลุมโลกชีวะทั้งหมด

2.จุดศูนย์กลางของคุณค่าอยู่ที่โลกชีวะ : เพราะมองว่าส่วนรวมหรือโลกชีวะมีความสำคัญกว่าส่วนย่อย จุดศูนย์กลางของคุณค่าต่างๆอยู่ที่ความสมดุลของโลกชีวะ จุดศูนย์กลางของคุณค่ามิได้อยู่ที่มนุษย์

3. คุณค่าของส่วนประกอบย่อยในโลกชีวะเป็นคุณค่าตามบทบาทและมีค่าเบื้องต้นเท่าเทียมกัน : เพราะส่วนประกอบย่อยทุกกลุ่มจำเป็นต่อความสมดุลของโลกชีวะ จึงมิได้มีการจัดระดับของคุณค่าตามลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละกลุ่มหรือปัจเจกแต่ละหน่วย

4. ความเป็น"ตัวตน" ของปัจเจกที่แยกออกจากสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิงเริ่มเลือนลาง : เพราะในมุมมองแบบองค์รวมของนิเวศวิทยา ปัจเจกมีอยู่ในความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น เช่น เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อาหาร นอกจากนี้ความมีอยู่ของ "ตัวตน" ของหน่วยปัจเจกในฐานะเป็นสิ่งที่คงที่เริ่มน่าสงสัยหากมองว่าปัจเจกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

5. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ : มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความสัมพันธ์ในระบบชีวะ มนุษย์มิได้ถูกแยกออกจากโลกธรรมชาติด้วยลักษณะพิเศษที่มนุษย์มี แม้จะยอมรับลักษณะพิเศษดังกล่าว แต่ลักษณะเหล่านี้ก็เป็นเพียงความแตกต่างในบรรดาความหลากหลายในโลกชีวะ ความแตกต่างนี้มิได้ทำให้มนุษย์มีค่าเบื้องต้นเหนือสิ่งอื่นในโลกชีวะ

6. มิติใหม่ของความสัมพันธ์ทางศีลธรรม : จากมุมมองของโลกชีวะที่เป็นจุดศูนกลางของคุณค่าทั้งหลาย ความสัมพันธ์ทางศีลธรรมมิได้ถูกจำกัดอยู่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติด้วย

7. วัตถุประสงค์ในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกธรรมชาตคือเพื่อนำความรู้ความเข้าใจไปสู่การปฏิบัติตนให้เป็นเอกภาพกับโลกธรรมชาติ : ความรู้มิใช่อำนาจในการดูดซับถือเอาประโยชน์จากโลกธรรมชาติ การมองโลกธรรมชาติแบบองค์รวมในรูปลักษณ์ของอินทรีย์ ( organism ) รวมที่ประกอบด้วยส่วนย่อยกลุ่มต่างๆ ทำงานประสานสอดคล้องกัน ทำให้มองว่ามนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมที่ยิ่งใหญ่ สำนึกทางสังคมถูกขยายให้ครอบคลุมถึงโลกชีวะมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งในสังคมจึงมีพันธะให้ความร่วมมือกับสังคมโลกชีวะดังนั้นอัตนิยม ( egoism ) จึงมิใช่ทัศนคติทางศีลธรรมที่ถูกต้อง


หน้าหลัก