นิเวศรัฐ : นวนิยายที่เสนอสังคมใหม่เป็นไปได้ในปี 1999.

สัญญา เจริญวีระกุล แปลจาก Ecotopia ของ Ernest Callenbach. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมล คีมทอง , 2530.

นิเวศรัฐหรือ อีโคโทเปียนั้น เมื่อแรกตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2518 ปรากฏว่าได้รับความสนใจและเป็นที่กล่าวขวัญอย่างยิ่งในหมู่นักคิดและนักปฎิบัติการรุ่นใหม่ฝ่ายตะวันตกที่ตระหนักถึงพิษภัยของสังคมอุตสาหกรรมไม่ว่าในค่ายทุนนิยมหรือสังคมนิยม กล่าวในแง่อิทธิพลทางความคิดที่มีต่อขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่ที่ไปพ้นระบบอุตสาหกรรมแล้ว ไม่มีนวนิยายร่วมสมัยเล่มใดที่จะมีความสำคัญเท่ากับนิเวฐรัฐอันเปรียบได้กับแนวหน้าทางวัฒนธรรมของขบวนการ "ทวนกระแสสังคมอุตสาหกรรม" กลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจาก นิเวศรัฐ ก็มีไม่ใช่น้อย ทำให้ขบวนการดังกล่าวขยายตัวทั้งในทางปริมาณและแหลมคมหนักแน่นในทางความคิดยิ่งขึ้น โดยที่กำเนิดของพรรคกรีนส์ในเยอรมันตะวันตกก็เป็นผลพวงจากหนังสือเล่มนี้ด้วย จึงมีผู้กล่าวกันว่า นิเวศรัฐ เป็นยิ่งกว่าปรากฏการณ์ทางวรรณกรรม หากถึงกับเป็นขบวนการทางสังคมเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่จะวิพากษ์วิจารณ์สังคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสังคมอเมริกันอย่างถึงแก่นและรอบด้านเท่านั้น หากที่สำคัญกว่านั้น และเป็นสิ่งที่คนร่วมสมัยต้องการอย่างยิ่งก็คือ การเสนอทางเลือกใหม่ที่พึงประสงค์ อย่างเป็นรูปธรรมและละเอียดลออ ทัศนียภาพของสังคมใหม่ใน นิเวศรัฐ นั้น แม้ผู้แต่งจะเสนอในเชิงอุดมคติตามวรรณกรรม "ยูโทเปีย" ซึ่งมีทอมัส มอร์ เป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญ กระนั้นอุดมคติดังกล่าวก็อิงอยู่กับสภาพความเป็นจริง ตลอดจนคำนึงถึงแนวโน้มและข้อเท็จจริงในปัจจุบันอยู่มิใช่น้อย ดังนั้นมองในแง่หนึ่งแล้ว นิเวศรัฐ จึงไม่ใช่การใฝ่ฝันพรรณนาถึงสังคมที่ ควร จะเป็นหรือ น่า จะเกิดขึ้นเท่านั้น หากยังเป็นการคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย โดยที่หลายแง่หลายมุมที่ผู้แต่งได้กล่าวถึงนั้น ก็สามารถ ที่จะเกิดขึ้นได้ในของข่ายศักยภาพที่มนุษย์มีอยู่ในปัจจุบัน ดังที่ราลฟ์ เนเดอร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ของประชาชนและของผู้บริโภคคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า "เงื่อนไขทั้งหลายซึ่งยังความสุขแก่มนุษย์ดังที่ปรากฏใน นิเวศรัฐ นั้น ไม่มีเงื่อนไขอันใดเลยที่เทคโนโลยีและทรัพยากรในสังคมของเราไม่สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นได้

ผู้แต่งได้เสนอภาพของนิเวศรัฐอย่างมีความหวังและศรัทธาในมนุษย์ แต่พร้อมกันนั้นก็ยอมรับความเป็นจริงและข้อจำกัดของมนุษย์ สังคมใหม่ที่มีนิเวศรัฐเป็นตัวแทนนั้น จึงหาได้มีแต่ภาพที่สวยสดไม่ หากยังมีด้านมืด มีความทุกข์และความยุ่งเหยิงไม่ราบรื่น ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม ภาพลบเหล่านี้บางส่วนก็เป็นธรรมชาติที่ติดตัวมากับมนุษย์ แต่ในหลายกรณี ผู้แต่งเสนอภาพเหล่านี้เพื่อเป็นการเตือนให้ผู้อ่านตระหนักถึงสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยเฉพาะในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมเก่าสู่สังคมใหม่เต็มรูป ภาพดังกล่าวเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ที่ทุกผู้เกี่ยวข้องจักต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญอย่างรู้เท่าทันแต่ไม่ยอมจำนน

ในยุคสมัยที่สังคมอุตสาหกรรมได้แสดงความล้มเหลวให้เห็นอย่างชัดเจนแทบทุกด้าน ไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การแพทย์ การสื่อสารมวลชน การคมนาคม อันล้วนปรากฏออกมาเป็นความไร้อำนาจของปัจเจกบุคคล ความทุกข์ของผู้คน การทำลายล้างในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ความโกลาหลยุ่งเหยิงของสังคมเมือง ความวิบัติของชนบทและความหายนะของระบบนิเวศวิทยาทั้งระบบนั้น การแสวงหาทิศทางของสังคมใหม่ได้กลายมามีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งขึ้นทุกที ความคิดหนึ่งซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในประเทศนี้และที่อื่นๆ ก็คือ แนวความคิดเรื่องการพึ่งตนเอง โดยมีการกระจายอำนาจอย่างเป็นประชาธิปไตยในขนาดที่เหมาะสมตามคติ "เล็กนั้นงาม" และประสานสอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยา สังคมใหม่ในนิเวศรัฐได้ช่วยให้หลักการนามธรรมดังกล่าวปรากฏชัดอย่างเป็นรูปธรรม และมีเลือดเนื้อวิญญาณ (โดยที่คุณค่าอื่นๆก็ได้รับความสำคัญไม่แพ้กัน อาทิ การยกย่องสตรีเพศ) แม้หลักการดังกล่าวจะถูกถ่ายทอดออกมาในกรอบของวัฒนธรรมและสภาพการณ์แบบตะวันตก แต่ในสาระสำคัญแล้วนิเวศรัฐย่อมจะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถุกต้องในหลักการอันเป็นสากลดังกล่าวไม่มากก็น้อย (แม้เราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม) อย่างน้อยที่สุดความเข้าใจอย่างผิดๆที่ว่าการปฏิเสธสังคมอุตสาหกรรมและการเสนอสังคมใหม่ที่เน้นหลักการพึ่งตนเอง คือการถอยหลังเข้าคลองกลับไปหาอดีต โดยปฏิเสธเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาการนั้นควรที่จะได้รับการทบทวนอย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นก็น่าจะใคร่ครวญต่อไปอีกด้วยว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แบบ ใดที่จะมีคุณค่าต่อมนุษย์และธรรมชาติมากที่สุด กล่าวสำหรับผู้ที่เชื่อในหลักการดังกล่าว นิเวศรัฐ นอกจากจะช่วยให้มีความแจ่มชัดในหลักการดังกล่าวโดยควรที่จะประยุกต์ให้เข้ากับสังคมของเราในทุกกรณีแล้ว ยังช่วยให้ได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของหลักการนั้นๆในกรอบคิดปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาหลักการดังกล่าวให้ก้าวหน้างอกเงยขึ้นไป ทั้งในแง่แนวคิดและการแปรให้เป็นผลในทางปฏิบัติ ไม่ว่าในระดับย่อยหรือระดับใหญ่

กล่าวในด้านวิธีการนำเสนอ นิเวศรัฐ อาจถือได้ว่าเป็นหนังสือแนวใหม่ของสำนักพิมพ์มูลนิธิโกมล คีมทอง ซึ่งแม้จะเคยตีพิมพ์วรรณกรรมประเภทบทละครและกลอนเปล่ามาแล้ว แต่ก็หาเคยจัดพิมพ์นวนิยายไม่ แต่เมื่อมองในด้านเนื้อหาแล้ว สาระของนิเวศรัฐ ก็มิใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับผู้อ่านที่ติดตามผลงานของสำนักพิมพ์มาอย่างสม่ำเสมอ คุณค่าของนิเวศรัฐนั้น อยู่ที่การเสนอทิศทางใหม่ของชีวิต ของสังคม และของโลก ซึ่งกำลังจะเผชิญกับวิกฤติการณ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ทางนิเวศวิทยา และวิกฤติการณ์จากการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ เพียง 2 ประการนี้ก็สามารถทำลายล้างเผ่าพันธุ์และสรรพชีวิตได้ไม่ยากนัก ที่แล้วมา ทิศทางใหม่ดังกล่าวมักนำเสนอในรูปความเรียงทางวิชาการ บัดนี้หนังสือเล่มนี้จะนำเสนอด้วยภาพจากจินตนาการอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งนอกจากจะชวนอ่านชวนติดตาม ยังสามารถเสนอเนื้อหาได้อย่างรอบด้านและลึกซึ้งกว่า ไม่เพียงแต่จะครอบคลุมโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่พึงประสงค์เท่านั้น หากยังลงลึกไปถึงความรู้สึกนึกคิด ภาวะจิตใจ และอารมณ์ของปัจเจกบุคคลในชีวิตประจำวันในการทำงาน ในความสัมพันธ์กับรัฐ กับบุคคลแวดล้อม ตลอดจนความสัมพันธ์ทางเพศ ประการหลังนี้ผู้แต่งได้เขียนอย่างตรงไปตรงมา ชนิดที่ไม่สู้จะได้ยินได้ฟังกันบ่อยนัก แต่ทั้งนี้ก็มิใช่อะไรอื่น หากเพื่อสะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต ทัศนคติและความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ซึ่งผู้แต่งประสงค์จะเสนอเป็นทางเลือกใหม่สำหรับชีวิต แม้เรื่องเช่นนี้จะอยู่ในเงามืดของสังคมเรา แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องใคร่ครวญหาข้อสรุปด้วยตัวเอง เพราะแม้เราจะปฏิเสธไม่รับรู้ไม่พูดถึง มันก็ยังเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอยู่นั่นเอง และอันที่จริงแล้ว ไม่ใช่เฉพาะประเด็นนี้เท่านั้น แม้ประเด็นอื่นๆที่ผู้แต่งเสนอผ่านนิเวศรัฐก็ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์สำหรับชีวิตและสังคมของเราเองเป็นเรื่องสำคัญ


หน้าหลัก