วัชพืช

พจนานุกรมระบุความหมายของ "วัชพืช" ไว้ว่า "พืชที่ไม่ต้องการ" รากของคำว่า "วัช" หรือ วัชชะ" ก็มีความหมายว่า "สิ่งที่ควรละทิ้ง"

แต่ในยุคที่ทรัพยากรบนผืนโลกกำลังร่อยหรอลงไปทุกที "สิ่งที่ควรจะทิ้ง" อย่างขยะก็ยังต้องผ่านกระบวนการ "นำกลับมาใช้ใหม่" หรือ Recycle ถึงขั้นมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะกันแล้ว

วัชพืชที่ไม่ต้องการและควรจะทิ้งอย่างผักตบชวา ถูกนำมาผลิตปุ๋ยชั้นดี นำมาผลิตกรงแมวส่งไปขายถึงญี่ปุ่น วัชพืชที่มีดอกสวยอย่าง "ดอกบัวตอง" หรือทานตะวันป่า ซึ่งเบ่งบานอวดสีเหลืองอร่ามไปทั้งหุบเขาแม่ฮ่องสองปีละครั้ง ช่วงต้นฤดูหนาว ก็เป็นจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยวที่ทำรายได้ให้ท้องถิ่น ดีกว่าการฟันทิ้งไปอย่างไร้ค่า

เย็นวันหนึ่ง บนเส้นทางจากอำเภอศรีสัชนาลัย มุ่งขึ้นเหนือสู่จังหวัดแพร่

ทุ่งดอกหญ้าริมทางธรรมดาๆ ซึ่งนอกจากจะเอาไปทำไม้กวาดบ้านได้แล้ว ในจังหวะเวลาที่มีดวงตะวันหย่อนตัวลงต่ำ ใกล้จะแตะปลายดอกหญ้าที่พลิ้วไหวอยู่รำไร ก่อนจะลับขอบฟ้าไปในไม่ช้า ก็ทำให้เกิดองค์ประกอบที่แลดูเงียบเหงาแต่อบอุ่นราวภาพวาด

บรรจงซูมกล้อง ปรับโฟกัส แล้วแตะนิ้วกดชัตเตอร์อย่างอ่อนโยน ราวกับกำลังค่อยๆลากเส้นสาย วาดภาพบนผืนผ้าใบแผ่วเบาในสตูดิโอที่บ้าน

ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ภาพที่งดงามนั้นก็ถูกห่อคลุมด้วยความมืดของอัสดง ทิ้งอะไรบางอย่างซึ่งไม่ได้ลุ่มลึกหรือซับซ้อนมากมายไว้ในใจเรา ว่าที่แท้จริงแล้ว การถ่ายภาพเป็นเรื่องของจังหวะเวลา สถานที่หนึ่ง ต้นไม้หนึ่ง ดอกหญ้าดอกหนึ่ง จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่งดงามดูดีที่สุด อยู่ที่เราจะค้นพบจุดนั้นหรือไม่

จังหวะเวลาในชีวิตคนเราก็แทบไม่ต่างกันเลย มีรุ่งเรือง ร่วงโรย รีบเร่ง อ่อนล้า อยู่ที่แต่ละคนรู้จักใช้ชีวิตแต่ละช่วงให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร กระทั่งในยามที่ร่วงโรงตกต่ำที่สุด ถ้ารู้จักเอาภาวะนั้นมา "Recycle" บางทีจะพบว่ามันคือยาชูกำลังใจให้เราเข้มแข็งอดทน

มีบางคนเปรียบเปรยว่า ตาสีตาสาตาดำๆในบ้านเมืองเรา บางทีมีค่าแทบไม่ต่างอะไรกับ "วัชพืช" ในสายตาผู้ปกครอง คือจะทิ้งเสียเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องใส่ใจ

คิดอยากจะสร้างเขื่อนก็สร้าง อย่างมากก็น้ำท่วมวัชพืชตายไปเอง อยากจะทิ้งขยะหรือกากสารเคมีก็ทิ้ง อย่างมากก็เปรอะวัชพืชตายไปเท่านั้น มิไยต้องใส่ใจฟังเสียงเดือดร้อนหรือความคิดเห็นใดๆจากวัชพืช สร้างแล้ว ทำแล้ว ขอให้เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่เป็นใช้ได้ คนส่วนน้อยก็พึงยอมเสียสละ

แต่ไม่รู้เป็นไง เกิดเหตุอะไรขึ้นมาคราใด คนส่วนน้อยที่เป็น "วัชพืช" อยู่ตามท้องไร่ปลายนาต้องเป็นฝ่ายเสียสละทุกทีไป ?

" วัชพืช" ในใจผู้มีอำนาจ ช่างไร้ค่าเสียจริงๆ


จาก แรงดลใจ ของ ธีรภาพ โลหิตกุล. กรุงเทพฯ: กองทุนห้องสมุดศาลาจำปีรัตน์ วัดชลประทานรังสฤษฏ์,2540.


หน้าหลัก