อุบัติเหตุโรงไฟฟ้า : บทเรียนจากญี่ปุ่น

โนบุทากะ คูเซ
ทัศนะวิจารณ์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 17 พฤศจิกายน 2544

ชาวบ้านกรูด และชาวบ่อนอก ตลอดจนชาวไทยทุกคน ยอมให้บริษัทแบบนี้เข้ามาเดินโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ประเทศไทยหรือ

เมื่อเวลา 17 : 00น. วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ได้เกิดอุบัติเหตุเกิดระเบิดอย่างรุนแรงขึ้นที่โรงไฟฟ้าฮามาโอกะ (540 MW ซึ่งใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าแบบ BWR อายุ 25 ปี อยู่ที่เทศบาลเมืองฮามาโอกะ จังหวัดชิสุโอกะ ห่างจากเมืองโตเกียวประมาณ 200 กม.) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณูของบริษัทพลังงานไฟฟ้าชูบุ (Chubu Electric Power Company : CEPC) ที่เป็นบริษัทที่ถือหุ้น 15% ของบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ฯ เจ้าของโรงงานไฟฟ้าถ่านหินหินกรูด ต. ธงชัย อ. บางสะพาน จ. ประจวบคีรีขันธ์

CEPC ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 ว่า มีการระเบิดท่อน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ECCS (Emergency Core Cooling System) ท่อน้ำนั้นเชื่อมต่อกับตัวเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อส่งน้ำเย็นหล่อเลี้ยงตัวเครื่องเพิ่มมิให้ตัวเครื่องมีความร้อนมากเกิน จนจะเกิดการระเบิดหรือการละลาย (melt down burst) ของตัวเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้มิได้ถือว่า เป็นอุบัติเหตุรุนแรงถึงขนาดที่กัมมันตภาพรังสีออกไปสู่ภายนอกโรงไฟฟ้า ฯ

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 44 ปรากฏว่า ได้มีน้ำสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาเรื่อยๆ จากตัวเครื่องผลิตไฟฟ้าฯ ไม่ได้สังเกตเห็นตั้งแต่แรก (เมื่อวันที่ 7พ.ย.)

เนื่องจาก CEPC ไม่ได้แจ้งความเรื่องการรั่วไหลของน้ำที่ปนกัมมันตภาพรังสี ต่อหน่วยงานของจังหวัดชิสุโอกะทันที หลังจากเจ้าหน้าที่ CEPC ค้นพบน้ำที่รั่วไหลจากตัวเครื่อง จึงทำให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้าฮามาโอกะ มีความกังวลต่อความรุนแรงของอุบัติเหตุครั้งนี้ว่า จะไม่มีความเสี่ยงต่อชีวิตของชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า ดังที่ CEPC ได้แถลงข่าวจริงหรือไม่

CEPC ค้นพบการรั่วไหลของน้ำ ซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีปนออกมาจากตัวเครื่องผลิตไฟฟ้า (Unit 1Reactor) เมื่อเวลา 15:30 วันที่ 9 พฤศจิกายน 44 อย่างไรก็ตาม ก็ได้ส่งรายงานอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำต่อกรมความปลอดภัยโรงไฟฟ้าพลังงานปรมาณ ูของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และจังหวัดชิสุโอกะ เมื่อเวลา 23:30 ในวันเดียวกัน ซึ่ง CEPC ใช้เวลาทั้งหมด 8 ชั่วโมง หลังจากที่ได้ค้นพบการรั่วไหลของน้ำ

นายซากาโนะ รองนายกเทศบาลเมืองฮามาโอกะ ได้กล่าวว่า ได้รับรายงานอุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำเมื่อเวลา 23:45 วันที่ 9 ขณะที่ชาวฮามาโอกะไม่สามารถยอมรับความล่าช้า ในการรายงานอุบัติเหตุน้ำรั่วไหลครั้งนี้ได้ เนื่องจากอุบัติเหตุครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุเล็กน้อย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การระเบิด และการละลายของตัวเครื่องทั้งหมดก็ได้

หากเป็นเช่นนี้ จะทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้า ได้รับความเสียหายอย่างมาก

จึงขอให้ทาง CEPC ยึดหลักการในการรักษาความปลอดภัย และการเปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่ อย่าบิดเบือนข้อมูลที่สำคัญต่อความปลอดภัยของชีวิตชาวบ้าน และขอให้ CEPC ติดต่อกับเทศบาลอย่างใกล้ชิดขึ้นกว่านี้

กลุ่มชาวบ้านเทศบาลเมืองฮามาโอกะที่คัดค้านโรงไฟฟ้าฮามาโอกะ และจับตามองปัญหาโรงไฟฟ้าปรมาณูให้ความคิดเห็นว่าอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 7 และอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 9 นั้น เกิดขึ้นเชื่อมต่อกันซึ่งถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงมากพอสมควร ที่จำเป็นต้องแจ้งชาวบ้านให้ทราบถึงสถานการณ์จริงอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ CEPC ไม่ได้ทำอย่างนั้น

ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า CEPC เป็นบริษัทที่ปิดบังความเป็นจริงและเป็นบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า อย่างที่ CEPC ได้โฆษณาไว้โดยตลอด

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้าปรมาณู ไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่ง CEPCกำลังมุ่งจะสร้างในประเทศไทย โดยร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นอีก 2 แห่ง คือ บริษัทโตเมน (Tomen) และบริษัทโตโยต้า (Toyota Tsusyou)

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกรูดที่อาจจะต้องอยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ควรจะคำนึงถึงไว้ด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้าปรมาณูหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ตาม เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นจริง จะทำให้ชาวบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและทางด้านสุขภาพ ซึ่งคงจะมีความรุนแรงมากกว่าหลายเท่าของผลกระทบด้านต่างๆ ที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ระบุไว้ว่ามีน้อยมาก

จากบทเรียนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นชัดเจนว่า เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้เกิดความเสียหายมากมายแก่ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง

ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2516 ฟ้าผ่าที่โรงไฟฟ้าถ่านหินทาเคฮาระ (2000 MW อยู่เทศบาลเมืองทาคาเฮระ จังหวัดฮิโรชิมะ) ทำให้ระบบ FGD และระบบดูดฝุ่นของโรงไฟฟ้าฯเสียไป จึงทำให้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ไนโตรเจนไดออกไซด์, และฝุ่นถ่านหินปลิวเข้าสู่อากาศจำนวนมหาศาล

หลังจากมีอุบัติเหตุนี้ ฝุ่นที่เข้าสู่อากาศได้ลงมาเกาะติดกับใบไม้ของต้นส้ม ซึ่งชาวบ้านปลุกหลายๆต้น เป็นสวนส้ม สีใบไม้กลายเป็นสีดำทั้งหมด ทำให้ต้นส้มตายไปจำนวนมาก ชาวสวนส้มได้รับความเสียหาย และสวนส้มที่ถูกทำลาย ก็ไม่สามารถทำให้กลับไปสู่สภาพเดิมได้

กลายเป็นบริษัทที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ไม่สามารถเดินการผลิตไฟฟ้าอย่างปลอดภัยได้ ไม่รับผิดชอบในการแจ้งให้ชาวบ้านทราบถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและกลับปกปิดข้อมูล

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่วงมีความสำคัญต่อการรักษาความปลอดภัยของชีวิตของชาวบ้านที่อดทนอยู่ด้วยความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าปรมาณูมานาน

ชาวบ้านกรูด และชาวบ่อนอก ตลอดจนชาวไทยทุกคนยอมให้บริษัทแบบนี้ เข้ามาเดินโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ประเทศไทยหรือ ???

โบนุทากะ คูเซ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หน้าหลัก