จดหมายอิเล็คโทรนิคส์

จดหมายอิเล็คโทรนิคส์คืออะไร

ในโลก Cyberspace ของอินเทอร์เน็ต เราสามารถทำอะไรได้เหมือนกับที่เราทำอยู่
ในโลกธรรมดา เพียงแต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นบนเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น การ
รับส่งจดหมายก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือเราสามารถรับส่งจดหมายบนอินเทอร์เน็ตได้
ระบบดังกล่าวนี้จึงเรียกว่า "จดหมายอิเล็คโทรนิคส์" หรือ Electronic mail ในภาษา
อังกฤษ การรับส่งนี้รวดเร็วกว่าแบบธรรมดามาก และนอกจากนี้เรายังสามารุถรับส่ง
ได้มากกว่าข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือได้บนอินเทอร์เน็ต ที่การส่งข้อมูลบนแผ่นกระดาษ
ไม่สามารถทำได้ เช่นการส่งรูปภาพหรือเสียงเพลงเป็นต้น

จดหมายอิเล็คโทรนิคส์ทำงานได้อย่างไร

การรับส่งจดหมายอิเล็คโทรนิคส์ทำงานได้ด้วย ระบบเก็บและส่งต่อ หรือในภาษาอังกฤษ
ว่า Store and forward technology ลักษณะหลักของเทคโนโลยีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยากเลย
กล่าวคือเมื่อคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้เพื่อส่งจดหมายได้รับไฟล์ที่เป็นจดหมายของคุณ เครื่อง
ก็จะตรวจสอบชื่อที่อยู่ของผู้รับ และส่งจดหมายฉบับนั้นไปยังเครื่องของผู้รับ
ทีนี้เส้นทางระหว่างเครื่องผู้ส่งกับผู้รับอาจซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากอยู่ห่างไกลกัน
หรือมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกันหลายชั้นกว่าจะติดต่อกันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การเก็บและส่งผ่าน
ก็ต้องอาศัยการร่วมมือกันของคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเครือข่าย ตัวอย่างเช่นถ้าคุณ
อยากจะส่งจดหมายจากบ้านของคุณ ไปหาเพื่อนที่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ ขั้นแรกหลังจาก
ที่คุณเขียนจดหมายเสร็จแล้วก็สั่งให้โปรแกรมที่คุณใช้ถ่ายโอนจดหมายฉบับนี้ไปยัง
เครื่องแม่ข่ายของจุฬาฯ ซึ่งจะมีเครื่องที่ทำหน้าที่ส่งจดหมายออกโดยเฉพาะ (หน้าที่นี้เป็น
เรื่องของ protocol ที่เรียกว่า SMTP ) และเมื่อเครื่องแม่ข่ายได้จดหมายของคุณก็จะ
ตรวจดูว่าจดหมายฉบับนี้ไปที่ไหน ถ้าเป็นที่อังกฤษก็จะส่งออกไปยังต่างประเทศผ่านทาง
เครือข่ายต่างประเทศที่จุฬาฯเชื่อมต่ออยู่ เมื่อจดหมายถึงเครือข่ายนี้ ก็จะมีกระบวนการ
เช่นเดียวกัน จนใมขั้นสุดท้ายจดหมายก็จะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เครื่องแม่ข่ายของผู้รับ ต่อไป
นี้เมื่อใดที่ผู้รับเปิดดูว่ามีจดหมายใหม่ๆอะไรมาถึงเขาบ้าง เขาก็จะเห็นของคุณนอนรออยู่
สำหรับขั้นตอนการรับจดหมายก็เป็นไปแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าเครื่องแม่ข่ายของจุฬาฯใช้
protocol อีกชุดหนึ่งสำหรับจัดการการรับจดหมาย ได้แก่ POP

การรับการส่งจดหมายอิเล็คโทรนิคส์นี้แสดงได้โดยแผนผังต่อไปนี้

[Diagram showing how e-mails are stored and forwarded]

ข้อดีบางประการของการใช้จดหมายอิเล็คโทรนิคส์

  1. ผู้รับไม่จำเป็นต้องอยู่ที่หน้าจอเมื่อมีจดหมายเข้ามา
  2. ข้อดีอีกข้อหนึ่งคือ เราสามารถส่งข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวอักษรได้ และเป็นข้อมูลที่บันทึกลงกระดาษไม่ได้ เช่น
    เสียงเพลง หรือภาพยนตร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ พูดง่ายๆก็คือว่า ไฟล์คอมพิวเตอร์ใดๆ
    สามารถส่งไปกับจดหมายอิเล็คโทรนิคส์ได้ทั้งสิ้น

โครงสร้างของชื่อที่อยู่ในระบบจดหมายอิเล็คโทรนิคส์ (E-mail address)

ชื่อที่อยู่ในระบบจดหมายอิเล็คโทรนิคส์ก็ทำงานคล้ายๆกับชื่อที่อยู่ในระบบจดหมายธรรมดา กล่าวคือ
ทำหน้าที่ให้ระบบที่ทำการส่งรู้ว่าจะส่งจดหมายฉบับนี้ไปให้ใครที่ไหน ชื่อที่อยู่ของเราในระบบอิเล็คโทรนิคส์
นี้ก็เท่ากับเป็นการประกาศว่าเราอยู่ ณ ที่ใดในอินเทอร์เน็ตนั่นเอง ขอให้นิสิตดูชื่อที่อยู่นี้เป็นตัวอย่าง
ซึ่งเป็นของผมเอง

hsoraj@chula.ac.th

โครงสร้างของชื่อที่อยู่นี้เป็นดังนี้

hsoraj
ชื่อตัวของผม ซึ่งก็ได้แก่ชื่อที่ผมพิมพ์เข้าไปเวลาติดต่อกับเครื่องแม่ข่าย ในระบบของ ChulaNet ชื่อตัว
ของอาจารย์หรือข้าราชการจะอยู่ในรูปนี้ กล่าวคือขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวแรกของนามสกุล และตามด้วย
ชื่อตัว ในกรณีของนิสิตจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร 'u' หรือ 'g' ขึ้นอยู่กับว่าเป็นนิสิตปริญญาตรี หรือบัณฑิตศึกษา
และตามด้วยเลขประจำตัว
@
อ่านว่า 'ที่' อ่านเป็นภาษาอังกฤษว่า 'at'
chula
ชื่อ subdomain หมายถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ac
ชื่อ subdomain ที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสมาชิก ได้แก่สถาบันการศึกษา
th
ชื่อ domain หมายถึงประเทศไทย

[กลับไปหน้าก่อนนี้] [ไปยังหน้าเริ่มต้น] [ไปหน้าต่อไป]