คอมพิวเตอร์ในอนาคต



คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทำงานแทนมนุษย์ เมื่อก่อนเราเรียกคอมพิวเตอร์ว่าสมองกลก็เพราะคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องจักรที่สร้างขึ้นมาให้คิดแทนมนุษย์ แต่เดิมเราเจาะจงให้คำนวณแทนมนุษย์ ต่อมาเรากำหนดให้เครื่องจักรนี้สามารถทำงานอย่างอื่นที่ต้องใช้ความคิด เช่น โยงข้อมูลเข้าด้วยกัน หาข้อมูลในเวป ตรวจตัวสะกดและไวยากรณ์ วินิจฉัยโรค เป็นต้น คอมพิวเตอร์ปัจจุบันทำงานเหล่านี้ได้ดีมาก ในบางกรณีรวดเร็วและถูกต้องกว่ามนุษย์ แล้วคอมพิวเตอร์ในอนาคตเล่าจะเป็นอย่างไร

คำตอบขึ้นอยู่กับมนุษย์ แน่นอนเราก็คงพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้ทำงานที่ทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก แต่ที่น่าสนใจก็คือ นักวิทยาศาสตร์ตั้งความหวังไว้ว่าจะสร้างคอมพิวเตอร์ในอนาคตให้คิดได้เยี่ยงมนุษย์ เราอาจจะงงว่าหมายความว่าอย่างไร ก็คอมพิวเตอร์ปัจจุบันคำนวณได้เร็วและแม่นยำกว่ามนุษย์ สามารถเล่นหมากรุกชนะแชมเปี้ยนโลกได้ ถ้าทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้เยี่ยงมนุษย์ มิเป็นการลดความสามารถของมันลงหรือ เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ที่คอมพิวเตอร์ปัจจุบันทำงานหลายอย่างได้ดีหรือเท่าเทียมกับมนุษย์นั้น เรายังถือว่ามันยังไม่อาจคิดได้อย่างมนุษย์ คอมพิวเตอร์ที่เล่นหมากรุกเก่งอาจจะอ่านหนังสือไม่เข้าใจ คิดเรื่องตลกไม่ได้ สร้างทฤษฏีวิทยาศาสตร์ไม่ได้ คอมพิวเตอร์ที่วินิจฉัยโรคอาจไม่เข้าใจที่คนไข้พูด หรือเมื่อคนไข้อธิบายอาการไม่ฃัดเจนก็ไม่อาจเดาหรือคาดคะเนว่าคนไข้หมายความว่าอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่ง เราสร้างคอมพิวเตอร์ให้ทำงานเฉพาะอย่าง แต่สติปัญญาของมนุษย์นั้นมีหลายมิติ เราสามารถคำนวณ เข้าใจภาษา แต่งเรื่องเหลือเชื่อ สร้างศิลปวิทยาการ ฯลฯ แน่นอนเราอาจจะสร้างคอมพิวเตอร์ที่รวมเอาความสามารถต่างๆ เหล่านี้ไว้ในเครื่องเดียว กลายเป็นสมองกลที่ทำงานได้ไม่ต่างจากสมองมนุษย์ เมื่อถึงจุดนี้ก็กล่าวได้ว่าคอมพิวเตอร์มีปัญญา เป็นปัญญาที่มนุษย์สร้างขึ้น มิได้เกิดตามธรรมชาติเหมือนปัญญามนุษย์ เรียกได้ว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์หรือปัญญาเทียม นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเรียกสิ่งนี้ว่า artificial intelligence ต่อไปนี้เพื่อความสะดวก เราจะเรียกปัญญาเทียมอย่างย่อว่า AI

เมื่อเราสามารถสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถหลายมิติได้แล้ว ก็ต้องทำให้มีความสามารถในระดับที่อย่างน้อยเท่ากับความสามารถที่มนุษย์สามัญมี เพราะปัญญาเทียมที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการสร้างคือปัญญาของมนุษย์ ไม่ใช่ปัญญาลิง เหตุที่เราต้องการสร้างให้คอมพิวเตอร์ฉลาดเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ทำงานแทนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด ผ่อนแรงกายและสมองของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ในขณะนี้คอมพิวเตอร์สร้างความทุกข์ให้กับมนุษย์ คนจำนวนมากได้รับทุกข์จากการต้องเรียนรู้วิธีใช้โปรแกรม เพราะมิฉะนั้นจะสั่งให้โปรแกรมทำงานไม่ได้ และเมื่อโปรแกรมไม่ได้ทำอย่างที่เราต้องการ งานก็เสียหรือล่าช้า เราต้องไปค้นคว้าหรือสอบถามจากคนอื่นว่าจะสั่งโปรแกรมอย่างไร เราสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเพื่อทำงาน ไม่ใช่เพื่อมาเสียเวลากับการเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์ อุดมคติก็คือ เมื่อเราต้องการใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน เช่นพิมพ์เอกสารฉบับหนึ่ง เราเพียงแต่เดินเข้าไปในห้อง เปิดคอมพิวเตอร์ แล้วพูดว่าจะพิมพ์เอกสาร คอมพิวเตอร์ก็จะเรียกโปรแกรมที่ใช้พิมพ์เอกสารขึ้นมา จากนั้นเราก็พูดสิ่งที่ต้องการให้พิมพ์ คอมพิวเตอร์ก็จะพิมพ์เองโดยเราไม่ต้องกดแป้นพิมพ์ ต้องการจัดรูปแบบเอกสารอย่างไร ก็สั่งด้วยวาจา จะทำอะไรก็ตาม สั่งด้วยวาจาทั้งหมด กล่าวคือเมื่อเราซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ เราไม่ต้องเรียนรู้อะไรเลย แค่รู้ว่าปิดเปิดเครื่องอย่างไรก็พอแล้ว หากเป็นได้เช่นนี้มนุษย์ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างคอมพิวเตอร์ และการจะบรรลุวัตถุประสงค์นี้ได้ คอมพิวเตอร์จะต้องเข้าใจความหมายของสิ่งที่เราพูด นั่นคือต้องมีปัญญาอย่างที่มนุษย์มี

เมื่อนักวิทยาศาสตร์สร้างคอมพิวเตอร์เช่นนี้ได้แล้ว อ้างได้หรือไม่ว่าคอมพิวเตอร์มีปัญญาอย่างเดียวกับที่มนุษย์มี ปัญหาก็คือเราจะใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน นักคิดชาวอังกฤษชื่อ Alan Turing (1912 - 1954) (ทำไมจึงอายุสั้น อ่านได้ที่นี่) ได้เสนอไว้ว่า การจะตัดสินว่าเครื่องจักรสามารถคิดได้หรือไม่ ควรใช้วิธีการต่อไปนี้

ให้บุคคลผู้หนึ่งนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งมีสายโยงไปยังคอมพิวเตอร์สองเครื่อง เครื่องหนึ่งคือเครื่องที่ผู้สร้างอ้างว่ามี AI อีกเครื่องเป็นเครื่องธรรมดาที่มีมนุษย์ควบคุม ทั้งสองเครื่องอยู่คนละห้องกับบุคคลผู้นั้น ให้คนผู้นี้สนทนากับคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่องโดยผ่านแป้นพิมพ์และจอภาพโดยที่ไม่รู้ว่าเครื่องใดมีมนุษย์ควบคุม การสนทนาจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ไม่จำกัด จะถามคำถามอะไรก็ได้ หลังจากนั้นให้ถามคนผู้นี้ว่า คอมพิวเตอร์สองเครื่องนั้นเครื่องใดมีมนุษย์ควบคุม ถ้าตอบว่าเครื่องที่ผู้สร้างอ้างว่ามี AI เป็นเครื่องที่มีมนุษย์ควบคุม หรือตอบว่าไม่รู้ ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นสามารถคิดได้

เราอาจจะคิดว่าวิธีการทดสอบเช่นนี้ผิวเผิน หรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่สมมติว่าเราต้องการรู้ว่าคนผู้หนึ่งปัญญาอ่อนหรือไม่ เราสามารถทำได้โดยการสนทนากับคนผู้นั้น หรือทดลองให้เขาทำอะไรบางอย่าง (ในกรณีคอมพิวเตอร์ นอกจากจะใช้วิธีสนทนาโต้ตอบแล้ว เราสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำอะไรบางอย่างเป็นการทดสอบเพิ่มเติม) นักจิตวิทยาอาจจะมีวิธีการที่ซับซ้อนกว่านี้เพื่อวัดไอคิวของคนผู้หนึ่ง แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของวิธีทางจิตวิทยาอยู่ที่การดูระดับไอคิวของคนผู้นั้น ว่าถ้าปัญญาอ่อนจริง อยู่ในระดับใด ถ้าต้องการพิสูจน์แค่ว่าคนผู้นั้นปัญญาอ่อนหรือไม่ การสนทนาเป็นวิธีการที่เพียงพอแล้ว ในทำนองเดียวกัน การสนทนาก็น่าจะเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าคอมพิวเตอร์มีปัญญาหรือไม่ กระนั้นก็ดี อาจมีข้อค้านว่าวิธีการเช่นนี้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะได้อ่านในลำดับต่อไป

วิธีทดสอบของ Turing ถือกันในวงการว่าเป็นเกณฑ์วัดว่าคอมพิวเตอร์มี AI หรือไม่ ข้อถกเถียงในปัจจุบันก็คือ เราสามารถสร้างปัญญาเทียมได้หรือไม่ มีทั้งฝ่ายที่คิดว่าสร้างได้และที่คิดว่าสร้างไม่ได้ แน่นอนถ้ามีผู้สร้างคอมพิวเตอร์ที่ผ่านวิธีทดสอบข้างต้น นั่นก็เป็นข้อพิสูจน์ว่าปัญญาเทียมเป็นสิ่งที่สร้างได้ แต่ข้อสังเกตก็คือ ถ้ายังสร้างไม่ได้ นั่นไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่า AI มีไม่ได้ วิศวกรหรือนักวิทยาศาสตร์อาจจะบอกว่าต้องให้วิทยาการก้าวหน้ากว่านี้จึงจะสร้างได้   อีกพันปีข้างหน้า ถึงยังสร้างไม่สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงอ้างเช่นนี้ได้ การพิสูจน์ว่ามนุษย์ไม่สามารถสร้างปัญญาเทียมได้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

เหตุใดการถกเถียงกันว่าเราสามารถสร้างปัญญาเทียมได้หรือไม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคำตอบของปัญหานี้อาจเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ที่คนทั่วไปมี ปัญญาเทียมหมายถึงปัญญาอย่างที่มนุษย์มี ต่างจากของมนุษย์ตรงที่เป็นของที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ แต่หากเราสามารถสร้างปัญญาขึ้นมาได้โดยใช้สสารและโปรแกรม นั่นก็หมายความว่าที่มนุษย์คิดได้นั้น ไม่ได้เกิดจากกลไกของจิตวิญญาณที่ไม่ใช่สสารและคงอยู่ถึงแม้ร่างกายของเราซึ่งเป็นสสารสูญสลายไปแล้ว แต่เกิดจากสสาร กล่าวคือการคิดเป็นผลมาจากสมองและโปรแกรมที่อยู่ในสมอง การเข้าใจเช่นนี้ทำลายความเชื่อที่ศาสนาปลูกฝังให้กับเรา เป็นการเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์โดยสิ้นเชิง หากจะเถียงว่าปัญญาเทียมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร ประเด็นอยู่ที่เราได้สร้างสิ่งที่เป็นอย่างเดียวกับสิ่งที่เรามี แสดงว่าสิ่งที่เรามีคือความสามารถที่จะคิดมิได้พิเศษหรือสูงส่งอย่างที่เราคิด เรามิได้เป็นประเภทที่แตกต่างจากสิ่งอื่นอย่างที่ศาสนาสอน เป็นประเภทเดียวกันแต่มีความซับซ้อนกว่า

กระนั้นก็ดี มีผู้เสนอวิธีพิสูจน์โดยไม่ต้องรออนาคต   John Searle นักปรัชญาชาวอังกฤษเสนอว่า เรามาสมมติกันว่าบัดนี้มีคอมพิวเตอร์ที่ผ่าน Turing test แล้ว สิ่งที่ Searle ต้องการพิสูจน์ก็คือคอมพิวเตอร์เช่นนี้ยังไร้ปัญญาอยู่ การอ้างเหตุผลของเขามีดังนี้

สมมติว่าคนผู้หนึ่งรู้แต่ภาษาอังกฤษแต่ไม่รู้ภาษาจีนและถูกกักไว้ในห้องหนึ่ง คนที่อยู่นอกห้องส่งเอกสารที่เป็นรายการของอักษรจีนทั้งหมดมาให้ คนผู้นี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นอักษรจีน อาจจะคิดว่าเป็นรูปภาพหรือลวดลายต่างๆ ต่อมาคนที่อยู่นอกห้องส่งเอกสารมาอีกประกอบด้วยอักษรจีนจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยคู่มือภาษาอังกฤษอธิบายวิธีเชื่อมโยงอักษรจีนชุดนี้กับชุดแรก หลังจากนั้นก็ส่งเอกสารภาษาจีนชุดที่สามมาให้ พร้อมทั้งคู่มือภาษาอังกฤษ บอกวิธีเชื่อมโยงเอกสารชุดนี้กับสองชุดแรก และบอกวิธีที่จะส่งอักษรจีนชุดหนึ่งกลับไป (กล่าวคือบอกว่าถ้าได้ชุดที่สามที่มีลวดลายอย่างหนี่ง ควรจะส่งอักษรจีนตัวใดกลับไปบ้าง) สมมติคนที่อยู่นอกห้องเรียกเอกสารชุดที่สองว่า "บทอ่าน" เรียกชุดที่สามว่า "คำถาม" เรียกชุดอักษรจีนที่คนในห้องส่งกลับมาว่า "คำตอบของคำถาม" และเรียกกฎที่เป็นภาษาอังกฤษว่า "โปรแกรม"

สมมติว่าคนในห้องทำจนชำนาญ สามารถ "ตอบคำถาม" ได้รวดเร็ว เมื่อเทียบกับคนที่รู้ภาษาจีนที่ให้ทำอย่างเดียวกัน ก็นับว่าเร็วเท่ากัน สมมติเราให้คนที่รู้ภาษาจีนคนหนึ่งมาสังเกตพฤติกรรมของคนในห้องจากข้างนอกห้อง ก็จะตัดสินว่าคนที่อยู่ในห้องรู้ภาษาจีน ทั้งๆที่คนในห้องอาจจะไม่รู้เสียอีกว่าลวดลายที่ตนเห็นนั้นคือตัวอักษรจีน สิ่งที่คนในห้องทำก็คือ "ตอบคำถาม" ด้วยวิธีจัดการกับลวดลายที่มีแต่รูปแบบ ปราศจากความหมาย คอมพิวเตอร์ที่ผ่าน Turing test ก็ทำแบบเดียวกัน ถ้าเราถือว่าคนในห้องไม่เข้าใจความหมายของอักขระที่เห็น คอมพิวเตอร์ก็ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกป้อนเข้าไปเช่นกัน แต่สามารถจัดการกับสัญลักษณ์ต่างๆ โดยทำตามโปรแกรม

ประเด็นของ Searle ก็คือ เราสามารถสร้างโปรแกรมเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนมนุษย์ จนมีพฤติกรรมไม่ต่างจากมนุษย์ กระนั้นก็ดี ตราบใดที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าใจสัญลักษณ์ ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีปัญญาอย่างที่มนุษย์มี และเราไม่อาจกล่าวได้ว่า สักวันหนึ่งจะทำให้คอมพิวเตอร์เกิดความเข้าใจได้ ทั้งนี้เพราะคอมพิวเตอร์ถูกออกแบบมาให้จัดการกับสัญลักษณ์โดยทำตามกฎที่กำหนดให้ แต่เมื่อมนุษย์เข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ ความเข้าใจนี้มีมากกว่าการนำสัญลักษณ์มาเชื่อมโยงกันตามกฎ

อีกประการหนึ่ง ประเด็นของ Searle ไม่ได้อยู่ที่ว่า เหตุที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถคิดได้เป็นเพราะต้องอาศัยการป้อนโปรแกรมโดยมนุษย์ ความจริงแล้วไม่สำคัญว่าความสามารถของคอมพิวเตอร์เกิดจากอะไร ประเด็นอยู่ที่ว่าสิ่งที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้นั้น เรียกได้หรือไม่ว่าเป็นการใช้ปัญญา กล่าวคือสมมติว่าวันหนึ่งเราค้นพบว่า สติปัญญาของเราเป็นผลมาจากการป้อนโปรแกรมของเทพเจ้าหรือมนุษย์ต่างดาว เราก็ยังคงเชื่อต่อไปว่ามนุษย์มีปัญญา เราจะแค่เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับว่าปัญญาของเราเกิดจากอะไร ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ว่ามนุษย์สามารถโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์เข้าใจความหมายได้ Searle ก็จะยอมรับว่าคอมพิวเตอร์สามารถมีปัญญาได้ แต่ Searle เชื่อว่า ลักษณะของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์กำหนดให้คอมพิวเตอร์ทำได้แค่นำสัญลักษณ์มาประมวลผลเท่านั้น

การโต้เถียงในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ จุดประสงค์ของบทเรียนนี้จำกัดอยู่แค่ให้เข้าใจว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องการให้คอมพิวเตอร์ในอนาคตเป็นอย่างไร และมีเหตุผลที่จะเชื่อหรือไม่ว่าจุดประสงค์นี้สามารถบรรลุได้ ข้อคิดที่จะทิ้งไว้ให้ไปคิดกันเองก็คือ การเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์คืออะไร แน่นอนที่มนุษย์เราเข้าใจความหมายของภาษาก็เพราะเรารู้ว่าสัญลักษณ์นั้นแทนอะไร ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เชื่อ AI ก็จะบอกว่า เราสามารถติดตั้งกล้องวีดีโอให้คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์รับเสียง กลิ่น รส และสัมผัส จากนั้นก็เขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์เชื่อมโยงสัญลักษณ์ต่างๆ กับภาพ เสียง กลิ่น ฯลฯ   กระนั้นก็ดี ตามทรรศนะของ Searle การทำเช่นนี้มิได้เปลี่ยนวิธีการทำงานพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ ตราบใดที่สิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำคือการจัดการกับสัญลักษณ์ตามกฎ เราก็ยังพูดไม่ได้ว่ามันเข้าใจความหมาย ในที่สุดแล้วประเด็นอยู่ที่ว่า การเข้าใจความหมายคืออะไร ถ้าเป็นกระบวนการในสมองที่ต่างจากการจัดการกับสัญลักษณ์ คอมพิวเตอร์ก็ไม่อาจเข้าใจความหมายของสัญลักษณ์ได้ แต่ถ้าการเข้าใจความหมายของภาษาไม่มีอะไรมากไปกว่าความสามารถในการใช้สัญลักษณ์ คอมพิวเตอร์ที่ผ่าน Turing test ก็มีปัญญาเทียม

กลับไปสารบัญบทเรียน