TEACHER’S CORNER

READING AND CLOZE TEST

 

ทักษะการอ่านและวิธีการทดสอบแบบโคลซ

ตามทัศนะของภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา

 

              การอ่านมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากการอ่านเป็นเครื่องมือในการศึกษาหาความรู้และเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ การคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นการให้
ประสบการณ์แก่ผู้อ่าน และนับได้ว่าการอ่านเป็นการติดต่อสื่อสารแบบหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านจำเป็นต้องเข้าใจความมุ่งหมายและความนึกคิดของผู้เขียนและสามารถจับใจความสำคัญจากเนื้อหาที่อ่าน สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านได้ ตลอดจนสามารถนำความรู้และความคิดที่ได้รับจากการอ่านไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ วันนี้จึงขอเสนอบทความเรื่องการอ่านและวิธีการทำ
ข้อสอบแบบ Cloze ค่ะ

 

1.    ความสามารถในการอ่าน

               ความสามารถในการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญในการศึกษาทุกระดับ เนื่องจากในการเรียนวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน ล้วนแต่ต้องใช้การอ่านเป็นสื่อในการเรียนรู้ทั้งสิ้น ความสามารถในการอ่านหมายถึงความเข้าใจในเนื้อเรื่องที่อ่าน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ ผู้ที่สามารถอ่านได้เร็วและจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านได้ ย่อมจะเรียนรู้เนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ได้ดีกว่าผู้ที่อ่านช้าและจับใจความได้ไม่ครบถ้วนหรืออ่านผิด ผู้ที่ประสบปัญหาในการอ่าน มักจะเกิดความเบื่อหน่ายต่อการอ่าน เป็นเหตุในการเรียนประสบความล้มเหลวไปด้วย

 

2.    ลักษณะของผู้มีความสามารถในการอ่าน

               ผู้มีความสามารถในการอ่านนั้น จะต้องสามารถพิจารณาถึงความถูกต้องของข้อความและสามารถใช้ความคิดติดตามเรื่องด้วยความสนใจ โดยมีความเข้าใจในความหมายของเรื่อง
ทั้งนี้ต้องรวมถึงเทคนิคที่จะแสวงหาสาระประโยชน์ในสาขาวิชาการต่าง ๆ โดยอาศัยความสามารถในการอ่านอย่างมีประสิทธิผล เพื่อค้นหาจุดเด่นของความสนใจและเชื่อมโยงไปถึงปัญหาต่าง ๆ ได้ Raygor (1970) ได้ระบุลักษณะของผู้ที่มีความสามารถในการอ่านไว้ว่า ต้องมีความสามารถในการจดจำ มีความเข้าใจ และสามารถเก็บรายละเอียดที่สำคัญได้ นอกจากนี้ผู้อ่านที่ดีจะต้องมีความสามารถในเรื่องต่อไปนี้

               1.          เข้าใจในสาระของเรื่อง

               2.          เข้าใจเนื้อเรื่องตามลำดับการเรียบเรียงเรื่อง

               3.          อ่านเพื่อความรู้ และรู้จักใช้หลักเกณฑ์แบบวิทยาศาสตร์

               4.    รู้จักเลือกหนังสืออ่าน

               5.          อ่านอย่างเร็วเพื่อจับใจความคร่าว ๆ ก่อนที่จะอ่านอย่างละเอียด

               6.          อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์และรวดเร็วในการหาข้อเท็จจริง

               7.          อ่านอย่างใช้ความคิด เพื่อประเมินการเขียนอย่างมีความเชื่อมั่น

         

               Tay (1979) ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมไว้ว่าผู้อ่านที่ดีต้องมีความสามารถในการจับ
ใจความจากข้อความที่อ่านได้ และสามารถสรุปได้ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือหนังสือทางวิชาการต่าง ๆ ผู้อ่านจะต้องพยายามค้นหาใจความสำคัญก่อนที่จะเข้าใจใน
รายละเอียดของเรื่องต่อไป ซึ่งผู้เขียนอาจจะอธิบายหรือแสดงด้วยรูปภาพ ผู้อ่านจะต้องมีความสามารถในการแยกแยะส่วนที่สำคัญในเรื่องได้ เนื่องจากรายละเอียดอาจจะมีทั้งรายละเอียดที่สำคัญและรายละเอียดที่ไม่สำคัญ หลังจากนั้นผู้อ่านจะต้องรู้จักสรุปเรื่องราวและเรียบเรียง
ความคิดจากเรื่องที่อ่านได้ ดังนั้นทักษะในการอ่านจะทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของความคิดที่มีอยู่ในเรื่องที่อ่าน สามารถแยกแยะตามเกณฑ์ เช่น เรื่องที่คล้ายคลึงกัน เรื่องที่
แตกต่างกันหรือความคิดที่ขัดแย้งกันในบทอ่าน เป็นต้น นอกจากนั้นความสามารถในการติดตามลำดับความคิดต่าง ๆ ก็เป็นทักษะที่สำคัญของการอ่าน เนื่องจากจะทำให้มีความสามารถที่จะ
เชื่อมโยงและลำดับความคิดตามเหตุการณ์ในข้อความที่อ่านได้ถูกต้องตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้มีความสามารถที่จะติดตามโครงร่างของเรื่องได้ตลอด ประการสุดท้ายคือ ความสามารถที่จะทำนายและคาดผลที่จะได้รับ ซึ่งทักษะนี้แสดงให้เห็นถึงความคิดร่วมระหว่างผู้อ่านกับผู้เขียน

 

3.    การวัดความสามารถในการอ่าน

              ในปัจจุบันครูที่สอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีเขียนและเตรียมแบบทดสอบเพื่อวัดสัมฤทธิผลทางภาษาอังกฤษของนักเรียนด้วยตัวเอง และ
แบบทดสอบที่ครูสร้างขึ้นเอง ควรจะมีบทบาทในชั้นเรียนมากกว่า แบบทดสอบที่สร้างโดย
สำนักพิมพ์ต่าง ๆ หรือหน่วยบริการด้านการทดสอบ เพราะครูเป็นผู้รู้ว่ามีการเรียนการสอนอะไรบ้างในชั้นเรียน ในการวัดความสามารถในการอ่านนั้นมีวิธีการทดสอบความเข้าใจของนักศึกษาอยู่หลายวิธี เช่นให้นักศึกษาอ่านข้อความแล้วตอบคำถามเกี่ยวกับข้อความที่อ่าน คำถามอาจเป็นแบบถูก-ผิด แบบเลือกตอบ หรือแบบตอบเป็นข้อความ มาระยะหลัง ๆ นี้ได้มีการใช้เทคนิคการสร้างแบบทดสอบการอ่านแบบใหม่มาผสมผสานด้วย เช่น เมื่ออ่านบททดสอบจบแล้วมีการ
ส่งถ่ายข้อมูลออกมาในรูปไดอะแกรม ตารางหรือแผนภูมิ การจับคู่คำบรรยายภาพกับภาพ การเรียงลำดับข้อมูลอย่างถูกต้องตามที่เสนอในบทอ่าน และกิจกรรมการแก้ปัญหา

              อย่างไรก็ดี ครูผู้สอนจำนวนหนึ่งยังคงพอใจวิธีการทดสอบการอ่านที่ใช้หลักทาง
จิตวิทยา ซึ่งเป็นวิธีที่ Taylor เป็นผู้คิดขึ้นในปี ค.. 1953 โดย Taylor เรียกว่าวิธีทดสอบแบบ
โคลซ  Taylor ดัดแปลงคำว่า Cloze มาจากคำว่า Closure ตามหลักทฤษฎีจิตวิทยาของ Gestalt ที่ว่าคนมีแนวโน้มที่จะทำความไม่สมบูรณ์ของภาพที่เราคุ้นเคยให้สมบูรณ์ขึ้น โดยจะช่วยต่อเติมส่วนที่หายไปขึ้นมาในมโนภาพ เช่น มองเห็นวงกลมที่ขาดตอนเป็นวงกลมที่สมบูรณ์ เพราะเราคุ้นเคยกับรูปร่างของวงกลม เป็นต้น ในทำนองเดียวกันเมื่อเราเห็นข้อความที่ไม่สมบูรณ์ เช่น
Dr Stevenson
’s life is dedicated ______ the progress of medical science.  ก็สามารถเติมคำลงในข้อความนี้ให้สมบูรณ์ได้ทันทีว่า

              Dr Stevenson’s life is dedicated     to     the progress of medical science.

              การที่เราสามารถเติมคำได้ถูกต้องโดยอัตโนมัติเป็นเพราะเราได้เห็น หรือได้ฟังข้อความนี้เป็นประจำจนเกิดความคุ้นเคย  Taylor ได้นำหลักอันนี้มาประยุกต์กับการใช้ภาษา ใช้วัดความสามารถในการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับแบบทดสอบการอ่านมาตรฐาน

              วิธีการของโคลซที่นำไปใช้วัดความสามารถในการอ่านนั้น  Taylor (1957: 19-26) ให้ความเห็นว่า เป็นเครื่องมือที่แม่นตรงในการวัดความสามารถในการเข้าใจข้อความที่อ่าน
นอกจากนี้ยังใช้วัดความสามารถในการเข้าใจการฟัง และการเขียนตามคำบอกด้วย วิธีการของโคลซจึงใช้เป็นข้อทดสอบในการสอนทักษะทางภาษา และใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยระดับความสามารถของผู้เรียน

              เทคนิคของโคลซได้นำมาใช้วัดความเข้าใจในการอ่านกันอย่างแพร่หลาย โดยตัดคำประเภทต่าง ๆ ในข้อความภาษาอังกฤษ ได้แก่ คำกริยา คำนาม คำกริยาวิเศษณ์ ซึ่งจัดว่าเป็น
คำยาก และคำกริยานุเคราะห์ คำสันธาน คำสรรพนาม และ article ซึ่งจัดว่าเป็นคำง่าย กลุ่มคำยากง่ายปานกลางได้แก่ คำบุพบท และคำคุณศัพท์ วิธีการสร้างข้อสอบโคลซ ทำได้โดยสุ่มตัดคำในตอนต่าง ๆ ของข้อความออก ซึ่งจะเป็นคำในลักษณะใดก็มีโอกาสถูกตัดออกเท่ากัน

 

4.    การอ่านและวิธีการของโคลซตามทัศนะของภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา

              ภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา (Psycholinguistics) คืออะไร

              ภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาจากศาสตร์สองสาขาคือ จิตวิทยาการรับรู้ (cognitive psychology) และภาษาศาสตร์ (linguistics) คุณค่าที่สำคัญอย่างหนึ่งของวิชานี้คือช่วยให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการของการอ่าน

              นักจิตวิทยาสนใจพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์เพราะสิ่งนี้เป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การศึกษาเรื่องกระบวนการแห่งความคิด จิตวิทยาแห่งการรับรู้จะสำรวจถึงการทำงานของ
จิตมนุษย์ ซึ่งได้อธิบายไว้ว่าการเรียนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความสามารถของการเป็นผู้กระทำ (active learner) และรู้จักมีความคิดเลือกสรร (Goodman, 1976 : 127)

              ส่วนนักภาษาศาสตร์จะศึกษาเรื่องภาษาอย่างมีระบบระเบียบ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และอย่างเป็นปรนัย (objective) เพื่อให้รู้ถึงคุณสมบัติและหน้าที่ของภาษามนุษย์

              ดังนั้น ภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์รวมที่นักจิตวิทยาและนักภาษาศาสตร์สร้างขึ้น จึงหมายถึงศาสตร์ซึ่งศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของความคิดกับภาษา นั่นก็คือศึกษาว่าคนเราใช้ภาษากันอย่างไร ภาษามีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์อย่างไร และเราเรียนรู้ภาษากันได้อย่างไร

 

ลักษณะของกระบวนการของการอ่าน

              ตามทัศนะของภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา การอ่านเป็นกระบวนการที่ผู้อ่านต้องเป็น
ผู้กระทำและรู้จักเลือกสรรอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ผู้อ่านจะต้องใช้ประสบการณ์ดั้งเดิมความรู้ทางโลก และความรู้ทางภาษามาช่วย เช่นเรื่องโครงสร้างของประโยค ความหมายของคำและของประโยค แม้จะมีคำแนะน้อยที่สุดก็ตามเพื่อให้เข้าใจตัวเขียนที่ปรากฏอยู่ รวมทั้งกระบวนการของการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับภาษา และระหว่างผู้อ่านกับตัวอักษรบนหน้ากระดาษ Goodman (1976 : 127) จึงสรุปว่าการอ่านก็เป็นเกมการเดาทางภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา ซึ่งภาษาและความคิดของมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน

              Tomas (1977) ได้สนับสนุนว่าการเปรียบการอ่านกับเกมการเดานี้เป็นการเปรียบเทียบ
ที่ดี เพราะการอ่านไม่ได้หมายความถึงแต่เพียงการรู้จักตัวอักษรหรือคำเท่านั้น แต่เป็น
กระบวนการที่ซับซ้อนกว่านั้นคือมีทั้งการค้นหาตัวอย่าง การคาดหมายคำไว้ล่วงหน้า การทำสิ่งที่คาดหมายนั้นให้มีน้ำหนักความเชื่อถือ รวมทั้งการคัดเลือกคำแนะ ซึ่งอาจแฝงอยู่ทั้งในระดับประโยคและระดับคำ ผู้อ่านในฐานะของผู้ใช้ภาษาซึ่งรับบทของผู้กระทำจะต้องรู้จักใช้ความ
ซ้ำซ้อนของภาษามาผสมผสานกับประสบการณ์ดั้งเดิมทั้งที่เกี่ยวกับภาษาโดยตรง รวมทั้งสิ่งที่
ไม่ใช่ตัวภาษาโดยตรง เพื่อจะเลือกคำแนะแม้จะมีน้อยที่สุดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเดาให้ใกล้เคียงที่สุดว่าจะอ่านพบอะไรต่อไป และสิ่งเหล่านั้นเหมาะสมกับบริบทที่ให้มาเพียงใด

 

ระบบการใช้คำแนะ (clues) ในการอ่าน

              ในการสื่อสาร ผู้พูด ผู้ฟัง ผู้เขียน และผู้อ่านจะต้องอยู่ภายใต้กฎอย่างเดียวกัน แต่ผู้ใช้ภาษาส่วนมากไม่ค่อยรู้ตัวว่ามีกฎเหล่านี้อยู่ ส่วนใหญ่แล้วคนเราจะไม่สามารถอธิบายกฎเหล่านี้ได้

              เมื่อมีการสื่อสารเกิดขึ้นจะต้องมีระบบของภาษาสามอย่างที่เกี่ยวพันกัน นั่นก็คือระบบการออกเสียงกับตัวอักษร (graphophonic system) ระบบอรรถศาสตร์ (semantic system) และระบบวากยสัมพันธ์ (syntactic system) ความหมายหรือระบบอรรถศาสตร์จะใช้สื่อสารได้โดยการผ่านระบบการออกเสียงกับตัวอักษร โดยการใช้กฎของวากยสัมพันธ์ (syntax) เข้ามาช่วย

              Smith, Goodman และ Meredith (1970 : 32) ได้กล่าวว่ามีองค์ประกอบหลายอย่าง
ด้วยกัน ทั้งที่เป็นองค์ประกอบภายนอกและภายในของผู้อ่านซึ่งทำให้สามารถดึงคำแนะ
ความหมายออกมาได้ คำแนะภายในตัวผู้อ่านขั้นพื้นฐานได้แก่ ประสบการณ์และกฎของภาษาที่
ผู้ใช้ซึมทราบไว้ภายใน ส่วนคำแนะภายนอกตัวผู้อ่านได้แก่ระบบคำแนะภายในต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ ระบบความต่อเนื่องของภาษา รวมทั้งระบบคำแนะที่อยู่นอกเหนือตัวภาษาเอง

 

วิธีการทดสอบแบบโคลซ (Cloze Procedure)

              จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า Goodman เห็นว่าการอ่านเป็นเกมการเดาทางภาษาศาสตร์เชิง
จิตวิทยา ซึ่งภาษาและความคิดมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้น วิธีการของโคลซซึ่งคล้ายกับการอ่านโดยทั่ว ๆ ไปก็เปรียบเสมือนเกมการเดาทางภาษาศาสตร์อีกชนิดหนึ่งด้วย ซึ่งผู้เติมคำจะต้องใช้วิธีการเดาอย่างมีเหตุผลและมีความรู้ ทั้งนี้ผู้อ่านจะต้องใช้วิธีการสร้างสมมุติฐานและทดสอบ
สมมุติฐานนั้นซึ่งผู้อ่านจะหาข้อมูลได้จากบริบทหรือคำแวดล้อมคำที่ขาดหายไปในแต่ละประโยค รวมทั้งความทั้งหมดด้วย ผู้อ่านจะต้องเดาอย่างมีเหตุผลว่าจะเติมคำที่ถูกลบไปด้วยคำใด ผู้อ่านจะต้องมีความตื่นตัวและพยายามสนองตอบคำท้าทายของวิธีการโคลซ โดยใช้ประสบการณ์ดั้งเดิม ความรู้ทางโลก ความรู้เกี่ยวกับประโยคและความหมายของคำรวมทั้งคำแนะที่ให้ในเรื่องที่
ตัดตอนมานั้น ด้วยเหตุนี้วิธีการโคลซจึงครอบคลุมลักษณะที่สำคัญ ๆ ของการอ่านเมื่อมองจากทัศนะของวิชาภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา และยังจัดได้ว่าการใช้โคลซเป็นการทดสอบที่ใช้หลักการแบบประมวลทักษะ (Oller 1973) ในการทดสอบแบบนี้จะคำนึงถึงทักษะทางภาษาในฐานะที่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน และเน้นถึงลักษณะการใช้ภาษาเป็นสื่อในการสื่อสารเป็นสำคัญ วิธีการนี้จะตั้งสมมุติฐานว่าความสามารถในการใช้ภาษาอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการสื่อสารนั้นมีความสำคัญมากกว่าความรู้เกี่ยวกับหน่วยย่อยของภาษา ในแบบทดสอบแบบนี้นักเรียนจำเป็นต้อง
เข้าใจบริบทนอกเหนือไปจากการเข้าใจความหมายของแต่ละประโยคให้ดีเพราะสิ่งนี้มีความสำคัญมาก นอกจากนี้นักเรียนยังต้องรู้จักใช้คำแนะนำจากบริบทให้เป็นประโยชน์อีกด้วย วิธีการโคลซถือเป็นการทดสอบที่ใช้วัดประสิทธิภาพในการใช้ภาษาได้เป็นอย่างดีเหมือนอย่างการใช้ภาษาในสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันเพราะเมื่อเราอ่านข้อความที่ตัดตอนมา เราจะต้องพยายามหาคำแนะจากบริบทเพื่อใช้ในการเติมข้อความที่ว่างอยู่ จะต้องมีการคาดหมายคำล่วงหน้าเหมือนกับขณะที่เราฟังผู้ที่กำลังพูดในบทสนทนา กล่าวคือ เราจะต้องประมวลทักษะทางภาษาหลายอย่างเหมือนกับที่ใช้สื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตจริง ดังที่ Lapkin และ Swain (1977) ได้กล่าวไว้ว่า

              “ในการเติมบทอ่านของโคลซนั้น เราจะต้องคำนึงถึงสิ่งที่ Oller เรียกว่า ไวยากรณ์แห่งความคาดหมาย ซึ่งช่วยให้เรารู้จักใช้คำแนะในบทอ่านเพื่อสร้างสมมุติฐานเกี่ยวกับคำที่ขาด
หายไป คำแนะเหล่านี้จะครอบคลุมไปถึงความซ้ำซ้อนทางไวยากรณ์และความหมายของคำทั้งที่เป็นความหมายโดยตรงและความหมายตามบริบท ซึ่งจะช่วยให้แน่ใจว่าคำใดบ้างเป็นคำที่ควรจะใช้เติมในช่องว่างได้ เจ้าของภาษาที่เป็นผู้ใหญ่แล้วสามารถใช้เดาอย่างฉลาดได้ โดยการใช้ความรู้เพื่อการวิเคราะห์และสังเคราะห์รายละเอียดที่ให้มาในบทอ่านที่ตัดตอนมานั้น
” (หน้า 180)

 

องค์ประกอบทางภาษาศาสตร์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการคาดหมายล่วงหน้าในการอ่านและในการทำแบบฝึกหัดโคลซ

              องค์ประกอบทางภาษาศาสตร์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการคาดหมายล่วงหน้า ได้แก่ความ
ซ้ำซ้อนทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ ข้อบังคับเรื่องลำดับการเกิดและชนิดของคำ และ
คำแนะจากบริบท ซึ่งจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดดังต่อไปนี้

 

ความซ้ำซ้อนทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์

              คุณสมบัติของภาษาซึ่งช่วยให้เราคาดหมายสิ่งที่หายไปจากบริบทได้คือ ความซ้ำซ้อนซึ่งเกิดจากการซ้ำกันของกฎทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์  Palmer (1976) ได้ให้คำจำกัดความว่า ความซ้ำซ้อนคือ ข้อความบางส่วนซึ่งสามารถเอาออกไปได้โดยไม่กระทบกระเทือน
รายละเอียดที่เหลืออยู่ ความซ้ำซ้อนเป็นลักษณะของภาษาซึ่งช่วยให้การอ่านเป็นไปได้สะดวกขึ้นเพราะในการอ่านผู้อ่านต้องรู้จักคาดหมายคำล่วงหน้าและความซ้ำซ้อนของภาษาจะช่วยให้การคาดหมายนั้นถูกต้อง

              นักภาษาศาสตร์แบ่งความซ้ำซ้อนออกเป็นสองลักษณะคือความซ้ำซ้อนทางความหมาย ซึ่งได้แก่ความซ้ำซ้อนหรือความเกี่ยวพันของความหมายของคำและความซ้ำซ้อนทาง
วากยสัมพันธ์ ซึ่งได้แก่กฎที่มีมากเกินจำเป็นในการสื่อความหมายเดียวกัน ดังเห็นได้ว่า ภาษาอังกฤษใช้ทั้งการเรียงลำดับคำและการเปลี่ยนแปลงท้ายคำตามโครงสร้างทางไวยากรณ์ เช่น two boys ทั้งคำว่า two และส่วนท้าย s ต่างก็แสดงให้เห็นความเป็นพหูพจน์

              ตัวอย่างต่อไปนี้จะชี้ให้เห็นถึงผลของความซ้ำซ้อนในวิธีการโคลซ:

              “Car coming” มีความหมายเหมือนกับ “A car is coming this way now.” ประโยคหลังซึ่งใช้ในภาษาอังกฤษถือว่าเป็นประโยคที่มีความซ้ำซ้อนเพราะความเป็นเอกพจน์มีแสดงอยู่ถึงสามตอนด้วยกันคือ a, car และ is ความเป็น Present progressive ปรากฏสองครั้งคือ is coming กับ now และการบอกทิศทางซ้ำกันสองครั้งคือ coming กับ this way ความซ้ำซ้อนทางภาษาเช่นนี้เองช่วยให้เราเติมคำว่า is, way และ now ได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าคำเหล่านี้จะถูกลบออกไป

 

ข้อบังคับเรื่องลำดับการเกิดและชนิดของคำ

              ข้อบังคับเรื่องลำดับการเกิดของคำและชนิดของคำนี้ช่วยให้ผู้อ่านสามารถคาดคำที่จะเกิดตามมาได้ล่วงหน้า  Taylor ได้ใช้ศัพท์ว่า ความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน (Trasitional probabilities) เช่น คำ ๆ หนึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดกับคำ ๆ หนึ่งมากกว่าคำอื่น ๆ ดังที่ Taylor ได้ยกตัวอย่างประโยคว่า Merry Christmas เป็นคำที่เกิดร่วมกันมากกว่า Merry Birthday หรือ Please pass the _______. คำที่จะเติมในช่องว่างควรเป็น salt มากกว่า sodium chloride หรือ blowtorch เป็นต้น

              เนื่องจากผู้ใช้ภาษารู้จักโครงสร้างของภาษา จึงย่อมคาดได้ถูกต้องว่าคำใดบ้างที่มักเกิดร่วมกับคำอื่น ๆ ตัวอย่างเช่นในภาษาอังกฤษ ประธานจะต้องนำหน้าคำกริยา กรรมตรงจะตั้งอยู่ติดกับคำกริยา article ใช้นำหน้าคำนาม แต่จะไม่ใช้นำหน้าคำสรรพนาม และคำคุณศัพท์จะอยู่
นำหน้าคำนาม แต่จะไม่สามารถใช้นำหน้าคำสรรพนามได้เหล่านี้เป็นต้น ผู้ใช้ภาษาจะต้องรู้จักการวางลำดับของคำให้ถูกต้อง เช่น สามารถแยกได้ว่าประโยค The girl kicked a dog. นั้นมี
ความหมายตรงกันข้ามกับประโยค The dog kicked the girl. ในการอ่านและทำแบบฝึกหัดทดสอบโคลซก็เช่นกัน ผู้อ่านจะต้องใช้ความสามารถในการคาดหมายคำที่จะเกิดตามมา Smith (1971) เชื่อว่าความเข้าใจเรื่องที่อ่านเกิดขึ้นได้โดยการลบคำเลือกที่ไม่น่าเป็นไปได้ออก เขาได้ให้ตัวอย่างคำที่เกิดร่วมกันตามกฎโครงสร้างของประโยคและความหมายไว้ดังนี้

              “คำในช่องว่างที่จะเติมในประโยค ‘The young ______ wrote the prize-winning song’ จะต้องเป็นคำนามเท่านั้น เพราะคำกริยา บุพบท และตัวเลือกอื่น ๆ ต้องถูกตัดออกไป เพราะความสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ของประโยคนี้กำหนดไว้ ทั้งนี้ลำดับของคำเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ
ความหมายด้วยเพราะถ้าจะเลือกคำ เช่น rock, octogenarian, heifer หรือ table-cloth ย่อมมี
ความหมายไม่เข้ากัน
” (หน้า 193-4)

              Brown (1974) ได้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าของภาษาจะสามารถแยกออกได้ว่าคำใดจะเกิดร่วมกับคำใดได้บ้าง (Collocation) เช่นคำว่า wrinkle มักใช้ร่วมกับคำว่า face, skin, leather, cloth คำว่า intense ควรเกิดร่วมกับคำที่เกี่ยวข้องกับ pressure, heat, energy หรือ feeling    Brown ได้เสนอความคิดว่าวิธีช่วยให้นักเรียนรู้จักคาดหมายคำที่จะเกิดต่อไปก็คือให้ทำแบบฝึกหัดเกี่ยวกับกลุ่มคำที่เกิดร่วมกัน เช่น To shine brightly,  a member of a club, to draw a distinction between เป็นต้น

 

คำแนะจากบริบท

              ในประโยคที่สมบูรณ์ประโยคหนึ่ง หากมีคำคำหนึ่งหรือคำที่ไม่รู้จักหายไป คำที่แวดล้อมอยู่นั้นจะเป็นสิ่งกำหนดว่าจะเลือกหาคำใดมาเติมได้บ้าง ผู้อ่านจะต้องเดาหาคำ ๆ นั้น และตรวจสอบดูว่าความหมายสอดคล้องกับประโยคที่ให้มาหรือไม่

              มีงานวิจัยหลายเรื่องศึกษาถึงการใช้บริบทในการสอนให้ผู้อ่านได้ข้อมูลมากที่สุดในการอ่าน

              Tomas (1977) ได้แบ่งคำแนะจากบริบทที่ใช้กันอยู่ในบทร้อยแก้ว และกวีนิพนธ์ ซึ่งจัดเป็นภาษาที่มีวรรณศิลป์ เขาได้ทำการวิจัยโดยใช้แบบทดสอบโคลซ 217 แบบฝึกหัดเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ กัน และใช้วิธีสอบถามความรู้สึกกับนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้ว และมีความสามารถในการอ่านสูงจำนวน 10 คน ดังจะแสดงให้เห็นถึงการแบ่งประเภทคำแนะจากบริบทและแสดงตัวอย่างคำแนะจากบริบท ดังต่อไปนี้

 

การแบ่งประเภทคำแนะจากบริบทที่ใช้ในภาษาร้อยแก้วและร้องกรอง

              1.       คำแนะซึ่งได้มาจากประสบการณ์ทางภาษาและสำนวนที่คุ้นเคย

              2.       คำแนะซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์ประโยค

              3.       คำแนะซึ่งได้มาจากน้ำเสียงของการบรรยายของบทคัดเลือก

              4.       คำแนะซึ่งได้มาจากความรู้เกี่ยวกับลีลาการเขียนของผู้ประพันธ์

              5.       คำแนะซึ่งได้มาจากสัมผัสและจังหวะ

              6.       คำแนะซึ่งได้มาจากการใช้คำซ้ำ ๆ กัน หรือการใช้คำที่มีความหมายเหมือนกัน

              7.       คำแนะซึ่งได้มาจากคำแนะจากบริบทที่กล่าวถึงก่อน

              8.       คำแนะซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน

              9.       คำแนะที่เป็นบุพบท

              10.       คำแนะในการเปรียบเทียบและเปรียบต่าง

              11.       คำแนะที่ใช้เป็นคำขยาย วลี ประโยค

              12.       คำแนะซึ่งได้จากคำในลำดับต่าง ๆ

              13.       คำแนะซึ่งได้จากกระสวนคำถามและคำตอบ

              14.       คำแนะซึ่งได้จากประโยคที่เป็นเหตุและผลต่อกัน หรือโครงสร้างของบทคัดเลือก

 

ตัวอย่างการใช้คำแนะนำจากบริบทประเภทที่ 1:

คำแนะซึ่งได้จากประสบการณ์ทางภาษาและสำนวนที่คุ้นเคย

 

สถานการณ์ของบริบท

              No one would think he’d ______ such a beautiful corpse.

              “The Lord have ______ on his soul!” said my aunt.

              “So, all we do is wander when we young an’ when we get old we ain’t no good to nobody.  We alone, Know what I _______?

              “I’m sorry,” she said.

              “If it was a man…”

              “Don’t _____ that.  I wouldn’t be a man.”

              “Really?  She could not believe him, but her _____ was happy.”

 

การสนองตอบของผู้อ่าน

              make :        เติมคำนี้เพราะข้าพเจ้าเคยได้ยินประโยค “you’d make a something” มาก่อน

              mercy :       เป็นวลีที่รู้จักกันดีว่า “Lord have mercy.”

              mean :       เป็นการพูดเป็นห้วง ๆ และใช้สำนวนที่คุ้นเคยว่า “Know what I mean”

              say :       เห็นได้ชัดว่าเขาผู้ชายกำลังจะพูดคำว่า “to say” แต่เขาผู้หญิงได้ขัดจังหวะก่อน เมื่อท่านขัดจังหวะคนที่กำลังพูดอยู่ จะต้องพูดว่า “don’t say that”

              voice :       คำแนะคือเครื่องหมายคำถามหลัง คำว่า “really” เธอไม่ได้คาดคิดว่าเขาจะพูดอย่างนั้น และเธอมีความประหลาดใจ

 

6.    จะใช้แบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบโคลซมาช่วยในการเรียนการสอนได้อย่างไร

              จากการที่ผู้สอนให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบโคลซสั้น ๆ ใช้เวลา 10-15 นาที แล้วนำมาตรวจคำตอบ ผู้สอนจะได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับผู้เรียนว่ารู้ และไม่รู้อะไรบ้างในภาษาอังกฤษ จากนั้นผู้สอนควรรวบรวมปัญหาที่นักเรียนมีแล้วอธิบาย หรือให้ทำแบบฝึกหัดเสริมในจุดนั้น ๆ จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยทดสอบนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 โดยใช้แบบทดสอบโคลซพอจะสรุปได้ว่า นักศึกษาไทยไม่ได้มีปัญหาเฉพาะเรื่องคำศัพท์เท่านั้น ปัญหาด้านไวยากรณ์ก็เป็นสิ่งที่พบอยู่เสมอ เช่น การเปลี่ยนแปลงส่วนท้ายของคำตามพจน์และกาล การเรียงลำดับของคำ การใช้คำบอกหน้าที่ (function words) บางครั้งนักศึกษาอาจเข้าใจความหมายของคำทุกคำในประโยคในสภาพที่ปรากฏอยู่เดี่ยว ๆ แต่เมื่อคำเหล่านั้นถูกนำมาเรียบเรียงต่อกันในเรื่องที่อ่าน นักศึกษาไม่สามารถเข้าใจเรื่องได้โดยตลอด บางครั้งนักศึกษาไม่สามารถใช้ความรู้เกี่ยวกับคำแนะในบริบทไปใช้คาดหมายคำที่จะเติมได้ถูกต้อง ความผิดที่นักศึกษาทำจะสะท้อนให้เห็นว่ายังขาดความเข้าใจเรื่องโครงสร้างของภาษา ไม่คุ้นเคยกับการสื่อความหมายในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความแตกต่างจากภาษาไทยในหลายรูปลักษณะ และบางครั้งก็ขาดความรู้ทางโลกหรือประสบการณ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความเข้าใจภาษา เช่นเรื่องของขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม สำนวนพูด เป็นต้น

              อย่างไรก็ดี เราไม่ควรถือว่าความผิดของนักศึกษาเป็นเรื่องเสียหาย แต่ควรถือว่าเป็นความผิดเพื่อการพัฒนา เมื่อผู้สอนทราบถึงปัญหาก็ควรจะวิเคราะห์หาสาเหตุและวิธีการที่จะช่วยให้นักศึกษาทำข้อผิดให้น้อยที่สุด โดยพยายามให้นักศึกษาได้เคยชินกับการใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์ที่เป็นจริงหรือคล้ายของจริงมากที่สุด ความเคยชินจะทำให้นักศึกษาทำข้อผิดน้อยลงเป็นลำดับ

              ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ยกตัวอย่างแบบทดสอบโคลซจากงานวิจัยที่ผู้เขียนทำเพื่อทดสอบความสามารถในการอ่านของนักศึกษาไทย ระดับปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัย (.. 2525) เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่ามีคำผิดประเภทใดบ้าง และอะไรอาจเป็นสาเหตุของคำผิดเหล่านั้น (ในที่นี้จะยกมาเฉพาะบางตัวอย่างเท่านั้น) และโปรดสังเกตว่าแบบทดสอบเป็นแบบข้อทดสอบโคลซชนิดเว้นช่องว่างทุก ๆ คำที่ 7

 

Time : 15 minutes

Complete the story by filling in each blank with a suitable word.

Example :   His wife was sitting      on      a chair.

 

A Day to Remember

 

       We have all experienced days when       (1)       goes wrong.  A day may begin      (2)      enough, but suddenly everything seems to      (3)     out of control.  What really happens      (4)       that a great number of things      (5)     to go wrong at precisely the      (6)      moment.  It is as if a      (7)     unimportant event set up a chain       (8)     reactions.  Let us suppose that you      (9)      preparing a meal and keeping an      (10)      on the baby at the same      (11)     .  The telephone rings and this marks      (12)      beginning of an unforeseen series of       (13)     .  While you are on the phone,      (14)      baby pulls the table-cloth off the       (15)     , smashing half your best glassware and       (16)       himself in the process.  You hang     (17)       hurriedly and attend to baby, glassware, etc.       (18)     , the meal gets burnt.  As if      (19)       were not enough to bring you      (20)      tears, your husband arrives, unexpectedly bringing three guests to dinner.

              การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลักการวิเคราะห์เปรียบเทียบและภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา (Contrastive Analysis and Psycholinguistics)

 

ชนิดของคำผิด

หมายเลขข้อ

คำเฉลย

เหตุผล

adverb

2

well

m :  slowly, early (อาจเป็นเพราะเคยชินกับสำนวน early morning) ขาดการพิจารณาใจความของทั้งสองประโยค

m :  good (ไม่รู้ว่า adv. ของ good คือ well หรืออาจเป็นเพราะคุ้นกับสำนวน “good enough”

verb

3

get

(be)

(go)

m :  lack คงใช้แปลจากภาษาไทยว่า ขาดการบังคับ แต่ใช้ V lack ผิด (lack + direct object)

m :  point – ชี้เหนือการบังคับ

adjective

7

single

m :  only, alone นักศึกษาไม่สังเกต article a ว่านำหน้าคำเหล่านี้ไม่ได้เพราะขึ้นต้นด้วยเสียงสระและเนื่องจากยังไม่รู้จักการใช้คำเหล่านี้อย่าง
ถูกต้องด้วย

noun

10

eye

m :  ear คิดว่าแปลคล้ายกับภาษาไทยว่า เงี่ยหูฟัง

m :  oil อาจนึกถึงคำว่า baby oil ที่พบบ่อยในโฆษณาโดยไม่ดูความหมายของประโยคที่มาก่อนมาหลัง

m :  arm คงจะคิดว่าแปลว่าอุ้ม

article

14

the

m :  a, small, young ลืมกฎการใช้ definite article กลับเลือก adjective แทนโดยคิดว่า baby ควรจะ small, young

non-finite

verb

16

cutting

(hurting)

(frightening)

m :  crying นักศึกษาไม่สนใจ clues “smashing, glasswares” และการใช้ reflexive pronoun คิดว่าเมื่อทำเครื่องแก้วแตกเด็กก็ควรจะร้องไห้ โดยไม่สังเกตว่าคำว่า crying ไม่ต้องใช้ himself มารับ

marker

18

Meanwhile

m :  Although, Inspite, However นักศึกษาไม่
เข้าใจว่าประโยคนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับประโยคที่มาข้างหน้า นักศึกษาไม่เข้าใจการใช้ discourse marker ที่เหมาะสม

* คำที่อยู่ในวงเล็บคือ acceptable words ซึ่งหมายถึงคำที่มีความหมายเหมือน exact words และถือว่าเป็นคำที่นับได้ว่าถูกต้องเช่นเดียวกับคำเดิม

* m หมายถึง mistakes ของนักศึกษา

บทสรุป

 

              เราอาจสรุปจากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้นได้ว่า การอ่านมีบทบาทสำคัญในการ
เรียนรู้ตลอดชีวิต ความสามารถในการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญต่อการศึกษาทุกระดับ ผู้ที่มีความสามารถในการอ่านจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถสรุปได้ สำหรับการอ่าน และวิธีการโคลซในทัศนะของภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยานั้น การอ่านเป็นเกมการเดาโดยอาศัยความรู้ทางโลก และความรู้ทางภาษามาประกอบกันอย่างมีระบบ วิธีการของโคลซก็เป็นการเดาอย่างมีเหตุผลและมีความรู้องค์ประกอบทางภาษาศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการเดาหรือการคาดหมายล่วงหน้า ได้แก่ ความซ้ำซ้อนทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ ข้อบังคับเรื่องการเกิดและชนิดของคำ รวมทั้ง
คำแนะนำจากบริบทด้วย และผู้เขียนยังคงมีความเชื่อว่าในปัจจุบันนี้แม้จะมีรูปแบบของการสร้างแบบทดสอบการอ่านใหม่ ๆ หลายวิธีมาใช้ วิธีการทดสอบแบบโคลซยังคงนำมาใช้ได้ มีประโยชน์และสร้างได้ไม่ยากนักเพื่อทดสอบนักเรียนในชั้นเรียนของเรา โดยอาจดัดแปลงเว้นคำที่เราต้องการจะทดสอบความสามารถของนักเรียนในลักษณะใดก็ตามที่เห็นสมควรไม่จำเป็นว่าต้องเป็นทุก ๆ 5 คำ, 7 คำ หรือ 9 คำ และนอกจากนี้ผู้สอนยังสามารถปรับเป็นชนิดมีตัวเลือกให้ด้วยก็ได้เพื่อให้ข้อทดสอบง่ายขึ้น

 

หนังสืออ้างอิง

Brown, Dorothy. 1974.  “Advanced Vocabulary Teaching : The Problem of Collocation,” RELC Journal.  Vol. 5, No. 2, 1-11.

Goodman, Kenneth S. 1976.  “Reading : A Psycholinguistic Guessing Game,” Current Topics in Language. ed. Nancy Ainsworth Johnson, Cambridge : Wintrop Publishers.

Lapkin, Sharon and Merril Swain. 1977.  “The Use of English and French Cloze Tests in a Bilingual Education Program : Validity and Error Analysis,” Language Learning.  Vol. 27, No. 2.

Oller, John W. 1973.  “Discrete-Point Tests Versus Tests of Integrative Skill.” Focus on the Learner : Pragmatic Perspectives for the Language Teacher. eds. John W. Oller, Jr and Jack C. Richards, Rowley, Mass : Newbury House.

Palmer, F.R. 1976.  Semantics : A New Outline.  Cambridge : Cambridge University Press.

Raygor, Acton L. 1970.  Reading for Significant.  New York : McGraw-Hill Book Company.

Smith, Brooks, Kenneth Goodman and Robert Meredith. 1970.  Language and Thinking in the Elementary School.  New York : Holt, Rinehart and Winston.

Smith, Frank. 1971.  Understanding Reading.  New York : Holt Rinehart and Winston.

Tay, Mary W.J. 1979.  “Teaching Reading Comprehension : A ‘Skills’ Approach,” Guidelines for Teaching Reading Skills, 2 : 7 December.

Taylor Wilson. 1957.  “Cloze Readability Scores as Indices of Individual Differences in Comprehension and Aptitude,” Journal of Applied Psychology.  41, pp. 19-26.

Tomas, Douglas Alan. 1977.  “A Comparative Study of the Contextual Clues Found in Prose and Poetry Forms of Literary Discourse.”, Unpublished Ph.D. Dissertation.  The University of Texas at Austin.

พัชนีย์  สรรคบุรานุรักษ์ และอัญฑิการ์  โรงสะอาด.  2525. การศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษทั่วไประหว่างนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.  มหาวิทยาลัยศิลปากร, นครปฐม : คณะ
อักษรศาสตร์.