Humour in Literature
จาก วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 มกราคม 2531

ศรีธนญชัยเยอรมัน

อำภา โอตระกูล *

ในวรรณคดีมุขปาฐะของเยอรมัน นิทานพื้นบ้านประเภท Schwank หรือนิทานมุขตลกนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชุด แต่ชุดที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนไทยที่จะขอนำมาเล่าในที่นี้คือชุดที่เกี่ยวกับตัวเอกที่ชื่อ ทิล ออยเลนชะปีเกล (Till Eulenspigel) ความน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของ ทิล ออยเลนชะปีเกล อยู่ที่ความคล้ายคลึงกันของตัวทิลกับศรีธนญชัยของไทย จากเรื่องราวที่เล่ากันมาแต่สมัยโบราณ แสดงให้เห็นว่าทิลมีบุคลิกและพฤติกรรมที่เหมือนศรีธนญชัยมากจนเรียกได้ว่า ทิล ออยเลนชะปีเกลคือ ศรีธนญชัยของเยอรมัน

ทิลเป็นคนเจ้าปัญญา มีไหวพริบฉลาดเฉียบแหลม มีนิสัยชอบล้อเลียน หลอกหรือแกล้งผู้อื่นเช่นศรีธนญชัย เรื่องราวของทิลเป็นที่รู้จักอยู่ในประเทศเยอรมันมานานกว่า 500 ปี แล้ว เล่ากันว่า ทิลเป็นลูกชาวนา มีชีวิตอยู่ในต้นศตวรรษที่ 14 เกิดที่เมืองคไนยลิงเง็น (Kneitlingen) ทางเหนือของประเทศเยอรมันใกล้ๆกับเมืองบราวนชะไวค (Braunschweig) ที่ทราบแน่คือทิลตายเมื่อปี ค.ศ. 1350 ที่เมืองเมิลน์ (M๖lln) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ห่างจากเมืองฮัมบวร์กไปทางตะวันออกประมาณ 50 กิโลเมตร

เรื่องราวความตลกคะนองและความเจ้าปัญญาของทิลเป็นที่รู้จักเลื่องลือไปไกลในสมัยนั้นทั้งประเทศเยอรมันและประเทศใกล้เคียง เพราะทิลเดินทางท่องเที่ยวหางานทำไปเรื่อยๆ จึงปรากฏว่าๆไปมีเรื่องไว้กับผู้คนในเมืองต่างๆ หลายแห่งหลายเมือง เรื่องมุขตลกต่างๆของทิลได้มีการเล่าต่อๆ รับสืบทอดกันมาอยู่นานกว่า 150 ปี จึงได้มีการรวบรวมเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร หนังสือรวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเจ้าปัญญาของทิลเล่มแรกพิมพ์ที่เมือง Strassburg เมื่อปี ค.ศ. 1510 ได้รวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเจ้าปัญญาของทิลไว้ทั้งหมดกว่า 90 เรื่อง มีภาพประกอบด้วยเกือบทุกเรื่อง ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่แพร่หลาย มีคนนิยมอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาจนถึงปัจจุบันนี้ ในหนังสืออ่านสำหรับเด็กนักเรียนอายุระหว่าง 11-13 ปี ก็จะมีเรื่องมุขตลกของทิล ออยเลนชะปีเกล รวมให้อ่านเช่นกัน หนังสือเรื่องราวของทิล ออยเลนชะปีเกลมีแปลออกเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา และมีเล่ากันอยู่หลายสำนวน
ในที่นี้จะขอยกเรื่องมุขตลกของทิลมาเล่าไว้เป็นตัวอย่าง 4 เรื่องดังนี้

เรื่องที่ 1

มีเรื่องเล่าว่า ทิล ออยเลนชะปีเกล เป็นคนมีชื่อเสียงมาก ไปที่ไหนก็มีคนรู้จัก ครั้งหนึ่งที่เมืองมักเดอบูร์ก (Magdeburg) ชาวเมืองได้ขอร้องให้ทิลเล่นตลกให้ดู ทิลรู้สึกโกรธมากที่คนมักจะมองเขาเป็นตัวตลก เพราะที่จริงเขาไม่ใช่ตัวตลก ทิลจึงคิดที่จะแก้เผ็ดชาวเมือง เขาจึงพูดว่า "จะให้แสดงหรือ เอาซี เราจะบินให้ดู จะบินจากหลังคาศาลาเทศบาลเมืองลงมาข้างล่างไปคอยดูกันซิ"

ปรากฏว่าชาวเมืองต่างพากันไปชุมนุมที่ลานกลางเมืองหน้าเทศบาลกันเต็มแน่น ทุกคนต่างแหงนหน้าจับจ้องไปที่บนหลังคาอย่างตื่นเต้น ทิลซึ่งยืนอยู่บนหลังคาจัดแจงกางแขนทั้งสองข้าง ออกขยับขึ้นขยับลงเหมือนนกกระพือปีกอยู่สักครู่ แล้วก็หยุดนิ่งคนดูข้างล่างต่างกลั้นหายใจอย่างตื่นเต้น ทั่วทั้งบริเวณเงียบกริบ ทันใด ทิล ออยเลนชะปีเกลก็ระเบิดเสียงหัวเราะดังลั่น พลางตะโกนลงมาว่า "เราคิดว่าเราจะสติไม่ดีคนเดียวเสียอีก แต่ดูสิเมืองทั้งเมืองมีแต่คนสติไม่ดีเต็มไปหมด ถ้าพวกท่านจะบอกว่าเราบินได้ เราก็คงไม่เชื่อ แต่ท่านทั้งหมดกลับมาเชื่อคำพูดของคนสติไม่ดีคนเดียวที่ว่า "เราบินได้" พุทโธ่ เรามีปีกเสียเมื่อไหร่ล่ะ เมื่อไม่มีปีกก็บินไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กๆ ก็รู้"
ชาวเมืองเมื่อได้ยินเช่นนั้นก็ทำหน้าเบ้ หลายคนโกรธ ร้องด่าทิล แต่อีกหลายคนก็หัวเราะพูดว่า "ถูกของเขา ทิลมันพูดความจริง"

เรื่องที่ 2

ครั้งหนึ่งที่เมืองฮัมบวร์ก ทิลได้ไปเดินเที่ยวเล่นอยู่ที่ตลาดนัดขายม้า เที่ยวเดินดูอะไรต่ออะไรอยู่ท่ามกลางชาวไร่ชาวนาที่มาชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ขณะนั้นมีช่างตัดผมคนหนึ่งสังเกตเห็นทิลจึงเดินตรงมาถามว่า เขาเป็นลูกมือช่างใช่ไหม เป็นลูกมือช่างอะไร ทิลตอบว่า "พูดตรงๆ เป็นลูกมือช่างตัดผม" ช่างตัดผมได้ยินเช่นนั้นก็ดีใจ เพราะกำลังขาดคนช่วย จึงบอกรับทิลเป็นลูกจ้าง พร้อมกับพูดว่า "ฉันอยู่ที่ตรงตลาดนี้เอง โน่นไง บ้านที่มีหน้าต่างใหญ่ๆ นั่นแหละ เข้าไปเถิด ประเดี๋ยวฉันจะตามไป" ทิล ออยเลนชะปีเกล รับคำแล้วเดินตรงไปยังบ้านหลังนั้น จัดแจงกระโดดข้ามหน้าต่างใหญ่ด้านหน้าที่ติดถนนนั้นเข้าไปในบ้าน เข้าไปโผล่ในห้องส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ภรรยาช่างตัดผมกำลังนั่งปั่นด้ายอยู่ในห้องผวาตกใจเมื่อเห็นคนกระโดดเข้ามาทางหน้าต่าง นางร้องถามว่า "ผีซาตานตนใดพาให้เจ้าเข้ามาทางนี้ จะเดินเข้ามาทางประตูให้ถูกต้องหน่อยมิได้หรือ" ทิลตอบว่า "คุณนายครับกรุณาอย่าโกรธผมเลย สามีของคุณนายผู้ซึ่งได้รับผมไว้เป็นลูกจ้างเป็นคนสั่งให้ผมเข้ามาทางนี้เองครับ" ภรรยาช่างตัดผมจึงพูดต่อว่า "คนใช้อะไรกันยังไม่ทันไรเลยเริ่มปัดความผิดให้เจ้านายแล้ว"
ทิลตอบว่า "คนใช้ที่ดีก็ต้องทำตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัดไม่ใช่หรือครับ" ขณะนั้นช่างตัดผมเดินกลับมาถึงบ้านพอดี ช่างตัดผมก็พูดว่า "เจ้าหนุ่ม ประตูมีทำไมไม่เข้า ทำไมจึงบุกเข้ามาทางหน้าต่างอย่างนี้?" ทิลตอบว่า "อ้าว ก็นายบอกว่าเข้าไปซิหน้าต่างที่เห็นโน่น ผมก็ทำตามนะสิครับ"
ช่างตัดผมได้ยินดังนั้นก็พูดไม่ออก เนื่องจากกำลังต้องการผู้ช่วย จึงนิ่งเสีย นึกในใจว่า เมื่อมีคนช่วย งานก็คงเดินดีขึ้น คงสามารถเอาเงินมาชดใช้ค่าเสียหายได้ ดังนั้นช่างตัดผมจึงสั่งให้ทิลเอาตะไกรไปลับ ช่างตัดผมสั่งว่า "เอ้า เอาตะไกรไปลับให้คม ระวังนะทางด้านสันด้านตัดอะไรก็ดูให้มันดีๆหน่อย" ทิลรับคำแล้วก็เอาตะไกรไปลับ ปรากฏว่าทิลนั่งลับตะไกรทั้งทางด้านตัดและด้านสันเสียจนคมกริบทั้งสองหน้าแล้วก็เอาไปให้ช่างตัดผมผู้เป็นนาย พอช่างตัดผมเห็นตะไกรก็โกรธหน้าแดง พูดว่า "แบบนี้จะใช้ได้อย่างไรกัน ของเสียหมดเลย" ทิลตอบว่า "ก็นายสั่งผมก็ทำตามสั่ง จะเอาอย่างไรอีก " ช่างตัดผมโกรธจนตัวสั่น ลุกขึ้นไล่ทิล "ไป ไป ไปให้พ้นจากบ้านฉันไปตามทางของแก มาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ไปให้พ้น" ทิลก็ตอบว่า "ไปก็ได้ ไม่เห็นอยากจะอยู่" พูดแล้วก็กระแกทบานหน้าต่างกระจกแตกกระจายกระโดดออกไปทางหน้าต่างอย่างว่องไว ช่างตัดผมวิ่งตามออกไปจะเอาเรื่อง แต่ทิลวิ่งเร็วกว่า ทิลวิ่งไปทางเรือที่กำลังจะแล่นออกจากท่า ออกจากเมืองฮัมบวร์กไป

เรื่องที่ 3

ครั้งหนึ่งที่เมืองโคโลญ ทิลเข้าไปพักในที่พักคนเดินทางเล็กๆแห่งหนึ่ง พอใกล้จะถึงเวลาอาหารกลางวันตอนเที่ยง ทิลก็มารอนั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะอาหาร ทิลนั่งรออยู่นานแต่อาหารก็ยังไม่เสร็จ รู้สึกหิวมากนั่งกระสับกระส่ายหน้าตาบอกว่าอารมณ์เสีย เจ้าของร้านสังเกตเห็นจึงพูดว่า
"ท่านผู้ใดไม่ต้องการจะคอยจนกว่าอาหารจริงๆจะสุก ก็เชิญรับประทานอะไรอย่างอื่นไปก่อนได้"
ทิลจึงลุกไปในครัว ไปหยิบขนมปังกิน แล้วก็นั่งอยู่ข้างเตาไฟในครัวนั้น พอถึงเวลาเที่ยงตรง อาหารก็ถูกยกออกมาตั้งที่โต๊ะ บรรดาแขกที่มาพักต่างก็เข้ามานั่งโต๊ะเพื่อรับประทานอาหารพร้อมกัน ยกเว้นทิลคนเดียวที่ยังนั่งอยู่ในครัว เจ้าของร้านจึงร้องถามว่า
" ท่านจะไม่ไปนั่งที่โต๊ะรับประทานอาหารหรือ"
ทิลตอบว่า "ไม่ล่ะ ไม่กินไม่แก็นแล้ว ได้กลิ่นเนื้อทอดเสียจนอิ่มแล้ว" เจ้าของร้านจึงนิ่งไป เมื่อแขกที่มาพักรับประทานอาหารพร้อมกันเสร็จแล้วก็จ่ายเงิน แล้วทยอยกันออกไปเหลือแต่ทิลยังคงนั่งอยู่ข้างเตาไฟ เจ้าของร้านจึงถือจานเก็บเงินมาที่เขา เพื่อขอเก็บเงินค่าอาหาร 2 เหรียญตามระเบียบ แต่ทิลพูดว่า "อะไรกัน เจ้ามีแก่ใจจะมาเก็บเงินคนที่ไม่ได้กินอาหารของเจ้าด้วยหรือ"
เจ้าของร้านไม่พอใจ จึงตอบประชดว่า ถึงทิลจะไม่ได้กินอาหารที่ทำให้ แต่ทิลก็มานั่งดมอาหารจนอิ่ม ทิลนั่งอยู่ในครัวกับอาหารก็มีค่าเหมือนกับนั่งที่โต๊ะอาหาร เพราะฉะนั้นเขาต้องขอคิดเงินเหมือนคนอื่นๆ ทิลได้ยินเช่นนั้นก็ควักเหรียญเงินออกมาจากกระเป๋าสองเหรียญโยนไปบนโต๊ะ แล้วถามว่า "ได้ยินเสียงเหรียญเงินนี้ไหม?" เจ้าของร้านก็ตอบว่า "ได้ยิน" ทิลก็เอาเหรียญเก็บใส่กระเป๋าอย่างเดิม แล้วพูดว่า "เอาละ เมื่อได้ยินเสียงเหรียญก็ดีแล้ว เป็นอันหมดกัน เราขอจ่ายค่ากลิ่นอาหารด้วยเสียงเงินของเรา" พูดแล้วทิลก็ออกจากร้านไป ปล่อยให้เจ้าของร้านนั่งโมโหอยู่คนเดียว

เรื่องที่ 4

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ทิล ออยเลนชะปีเกล ชอบหัดเดินไต่เชือก ครั้งหนึ่งขณะที่ทิลกำลังเดินไต่เชือกที่ผูกขึงข้ามคลองอยู่นั้น ได้มีหญิงคนหนึ่งแกล้งเอามีดตัดเชือกที่ขึงอยู่ขาดจากกันทำให้ทิลตกลงไปในน้ำ คนแถวนั้นเห็นก็หัวเราะเยาะเป็นที่สนุกขบขัน ทิลโกรธมาก วันรุ่งขึ้นทิลเอาเชือกมาขึงข้ามคลองอีก แล้วร้องประกาศว่า " ท่านทั้งหลาย เราจะแสดงอะไรให้ดู แต่สำหรับการแสดงนี้ เราจำเป็นต้องใช้รองเท้าข้างหนึ่งของพวกท่าน ขอยืมรองเท้าข้างซ้ายของทุกคนหน่อยเถอะ"
ชาวบ้านที่มามุงดูต่างก็ถอดรองเท้าให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อได้รองเท้าแล้ว ทิลก็จัดแจงเอาเชือกมาผูกรองเท้าทั้งหมดเข้าด้วยกัน เสร็จแล้วก็ถือพวงรองเท้าไต่ไปบนเชือก ทุกคนต่างมองดูอย่างตื่นเต้น ต่างหวังว่าทิลจะแสดงอะไรที่สนุกๆให้ดู แต่ทิลกลับชูพวงรองเท้าขึ้นแล้วพูดว่า "ระวัง ทุกคนจงหารองเท้าของตัว" ว่าแล้วก็ตัดเชือกที่ผูกร้อยรองเท้าให้ขาดจากกัน ปล่อยให้รองเท้าทั้งหมดตกลงมากระจายอยู่ที่พื้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างกระโจนเข้าหารองเท้าของตัว เกิดการชุลมุนวุ่นวาย บางคนหยิบผิด บางคนหาไม่เจอ บางคนไปเหยียบมือ เหยียบเท้าคนอื่นเกิดการโต้เถียงทะเลาะกัน ตีกันยุ่งไปหมด ฝ่ายทิล ออยเลนชะปีเกลก็เดินหัวเราะกลับบ้านไปอย่างพออกพอใจ
ทิล ออยเลยชะปีเกล จัดเป็นตัวละครอมตะในวรรณคดีพื้นบ้านของเยอรมัน มีอิทธิพลให้ความคิดแก่นักประพันธ์หลายคนนำไปสร้างตัวละครในนวนิยายของตน ในภาษาเยอรมันคำ "ทิล ออยเลนชะปีเกล" กลายเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้กันอยู่ในภาษา มีความหมายถึงคนเจ้าปัญญาที่ชอบแกล้งผู้อื่นด้วยวิธีการที่ตลกคะนอง เช่นเดียวกับในภาษาไทยที่ว่า "เหมือนศรีธนญชัย" หรือ "แบบศรีธนญชัย"

ถ้าพิจารณาพฤติกรรมของทิล ออยเลยชะปีเกล ตามเรื่องที่เล่ากัน จะเห็นว่าพฤติกรรมของทิลบ่อยครั้งมีลักษณะค่อนข้างหยาบ โหดร้ายและไม่ใคร่ซื่อนัก แต่ผู้ฟังหรือผู้อ่านส่วนใหญ่ก็ชอบ ไม่ถือสา ให้อภัย ที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ว่า เพราะทิลเป็นลูกชาวนาซึ่งเป็นชนชั้นต่ำที่สุดในสังคมสมัยนั้น การที่ทิลเป็นคนฉลาด คล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉียบแหลมสามารถแกล้งคนที่มีอำนาจเหนือตนได้ เช่นนายจ้างของตน หรือแกล้งสั่งสอนคนมีความรู้อย่างหมอ หรือพระสงฆ์ หรือแม้แต่เจ้าผู้ครองนครให้ได้รับบทเรียนเจ็บๆ จึงเท่ากับเป็นการแก้เผ็ดคนชั้นสูงที่มีความรู้มากกว่า ร่ำรวยเงินทองมากกว่าแทนชาวบ้านตัวเล็กๆทั้งหลาย ชาวบ้านผู้ที่ได้อ่านได้ฟังเรื่องของทิลจึงชอบใจ เพราะบทบาทของทิลแสดงให้เห็นว่าผู้น้อยก็อาจต่อสู้ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าได้เหมือนกัน ชาวบ้านผู้ไม่มีความสามารถจะทำเช่นเดียวกันได้จึงรู้สึกพอใจ สะใจ ทั้งนี้เพราะบุคคลที่ถูกกลั่นแกล้ง เสียดสี ล้อเลียนล้วนเป็นผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าในสังคมดังที่กล่าวมาแล้ว
กลวิธีการหลอก แกล้งผู้อื่นของทิลมีลักษณะยึดความจริง ไม่หลีกเลี่ยงความจริง ใช้ปฏิภาณทางภาษา เล่นลิ้น เล่นคำ ตีความคำพูดไปตามคำโดยตรงทุกคำอย่างที่เรียกว่าเถรตรง
เนื่องจากทิล ออยเลนชะปีเกล เป็นตัวสำคัญในวรรณกรรมพื้นบ้านดังกล่าวแล้ว เมืองหลายเมืองในประเทศเยอรมันที่มีความสัมพันธ์อยู่กับประวัติของทิล เช่นเมืองที่ทิลเกิด หรือเมืองที่ทิลตายจึงต่างมีอนุเสวรีย์ของทิลเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองดังเช่นที่เมืองเมิล์น ก็มีรูปปั้นของทิลอยู่แห่งหนึ่งแสดงทิลอยู่ในท่านั่งยกขาขวาพาดขาซ้ายมือทั้งสองจับอยู่เหนือหัวเข่า ชูนิ้วหัวแม่มือขวาขึ้น บรรดานักทัศนาจร ที่มาเที่ยวชมรูปปั้นนี้ จะต้องจับนิ้วหัวแม่มือนี้ทุกคน เพราะเชื่อว่าจะโชคดีได้กลับมาเที่ยวอีก เช่นเดียวกับความเชื่อของคนไทยที่ว่า ถ้าได้จับหินลูกกลมๆหรือลูกโลกในปากสิงโตหินตัวผู้ที่ตั้งประดับอยู่ตามเชิงบันไดหน้าประตูในวัดวาอารามต่างๆแล้วจะโชคดีได้กลับมาเที่ยว ณ สถานที่นั้นๆอีก นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นแสดงตัวทิลอีกแห่งหนึ่ง เป็นรูปผู้ชายยืนยิ้มอย่างผู้รู้ มือข้างหนึ่งถือกระจก อีกข้างมีนกฮูกเกาะอยู่ เพราะทั้งนี้ชื่อของทิลเป็นคำผสมของคำว่า Eule ซึ่งแปลว่านกฮูก กับคำ Spiegel ซึ่งแปลว่ากระจก ด้วยเหตุนี้ นกฮูกและกระจกจึงเป็นสัญลักษณ์ของทิล ออยเลนชะปีเกล สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือเมืองเกิดและเมืองตายของทิลนอกจะมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับทิลแล้ว ยังมีการแสดงละครกลางแจ้งเรื่องทิล ออยเลนชะปีเกลทุกปีที่ลานใจกลางเมือง ถือเป็นการทำนุบำรุงงานวรรณกรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ผู้แสดงล้วนเป็นชาวบ้านสมัครเล่น มีการแต่งตัวให้ดูสมจริงแบบโบราณ ผู้แสดงตัวทิลจะแต่งตัวแบบตัวตลกของฝรั่ง ใส่หมวกมีหงอนสองสี ใส่รองเท้าหนังปลายแหลมงอนขึ้น ขี่ลา เป็นที่ชอบใจของเด็กๆ การเล่นละครเรื่องทิล ออยเลนชะปีเกลนี้ถือเป็นงานประเพณีประจำเมือง ทำให้เมืองเล็กๆทั้งสองแห่งน่าสนใจขึ้น สามารถดึงดูดผู้คนจากเมืองใกล้และไกลให้มาเที่ยวชมได้ปีละมากๆ
ดังที่กล่าวมาแล้ว ทิล ออยเลนชะปีเกล มีบทบาทอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านของเยอรมันเช่นเดียวกับศรีธนญชัยของไทย เรื่องเล่าต่างๆเกี่ยวกับทิลก็คล้ายคลึงกับเรื่องศรีธนญชัยของทั้งทางด้านโครงสร้างของเรื่อง พฤติกรรมของตัวเอก และมุขตลกนับเป็นจุดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง หากจะมีการศึกษาเปรียบเทียบบุคคลทั้งสองและเรื่องเล่าที่มีรวบรวมอยู่ให้ลึกซึ้งต่อไปก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านและวรรณคดีเปรียบเทียบได้อีกไม่น้อย

บรรณานุกรม

Jahn, B. : Till Eulenspiegel. Der gr๖฿te Schalk aller zeiten, Eine lustige Versfolge. A.
Hahn's Verlag, Hamburg, 1955.
Richter, H. : Eulenspiegel in Schilda. Gauverlag, Bayruth, 1943.
Sichtermann, S. : Die Wanlungen des Till Eulenspiegel B๖hlan verlag, K๖ln, 1982.
Wilpert, G. Von. : Lexikon der Weltliteratur, Bd. I, Stuttgart : Kr๖ner, 2 Aufl, 1975.


อำภา โอตระกูล อ.บ. (เกียรตินิยม) จุฬาฯ
Dr. Phil. Marburg an der Lahn (Phillips)
รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย