Humour in Literature

 

บทที่ 4

กลวิธีการพลิกความคาดหมายในทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย

ตัดตอนมาจาก
ศิริพร ศรีวรกานต์, ศรีธนญชัย ไทย-เยอรมัน ศรีธนญชัย-ทิลล์ ออยเลนชะปีเกล การศึกษาเปรียบเทียบนิทานมุขตลก


ในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยมีกลวิธีนำเสนอมุขตลกที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ กลวิธีการเล่นคำและการใช้ไหวพริบ ซึ่งกลวิธีทั้งสองประเภทยังสามารถจำแนกได้เป็นกลวิธีอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นกลวิธีใดล้วนแต่มีองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งร่วมกันคือการพลิกความคาดหมายซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขบขันของนิทานทั้งสองเรื่อง มีนักวิชาการทางด้านปรัชญา จิตวิทยา และวรรณคดีจำนวนมาก ได้พยายามที่จะอธิบายสาเหตุของความขบขัน สำหรับงานวิจัยฉบับนี้เห็นพ้องต้องกันกับทฤษฎีที่ว่าด้วยการพลิกความคาดหมายเป็นเหตุแห่งความขบขัน ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การศึกษาเปรียบเทียบกลวิธีต่างๆ ในการสร้างมุขตลกซึ่งมีการพลิกความคาดหมายเป็นองค์ประกอบสำคัญ

นิทานมุขตลกแม้จะฟังเพื่อความบันเทิง แต่ก็มีคนพยายามจะวิเคราะห์ต้นเหตุแห่งความขบขัน ในงานวิจัยฉบับนี้ต้องการเสนอว่าต้นเหตุแห่งความขบขันของเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย เกิดจากการพลิกความคาดหมายหรือการเปลี่ยนทิศทางไปอย่างกระทันหัน คือ การชักจูงความคิดของผู้อ่านให้มุ่งคิดว่าจะไปยังจุด ๆ หนึ่ง แล้วก็แปรเรื่องให้จบลงอีกอย่างหนึ่งที่
ผู้อ่านมิได้คาดคิดมาก่อน แบลส ปาสกาล (Blaise Pascal) นักเขียนชาวฝรั่งเศสเชื่อว่าไม่มีอะไรจะทำให้หัวเราะได้มากเท่ากับความไม่เหมือนกันระหว่างสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและอิมมานูเอลคานท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมันที่เห็นด้วยกับปาสกาล ได้นิยามเหตุแห่งความขบขันว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงความคาดหวังอย่างฉับพลันไปสู่ความว่างเปล่าหรืออาจจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ความคาดหวังต่อสิ่งนั้นมิได้เกิดขึ้น ซึ่งพลังความรู้สึกคาดหวังของผู้อ่านจึงถูกปล่อยออกมาเป็นเสียงหัวเราะ เมื่อเกิดการพลิกความคาดหมาย

คำว่า "ความคาดหมาย" ในที่นี้หมายถึงความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะได้รับมาจากกระบวนการขัดเกลาทางขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ความเชื่อและค่านิยมของแต่ละสังคม ที่ได้หล่อหลอมมาตรฐานปกติให้คนในสังคมยอมรับ ยึดถือและปฏิบัติ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับความคาดหมายหรือมาตรฐานปกติแต่ทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยกลับปฏิเสธและกระทำการพลิกความคาดหมาย

นอกจากต้นเหตุแห่งความขบขันแล้ว เงื่อนไขของความขบขันเป็นสิ่งที่ร่วมสร้างความขบขัน เงื่อนไขแรก มุขตลกต้องมีความแปลกใหม่ ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้อ่านหรือได้ฟังเป็นครั้งแรกจึงจะเกิดความขบขัน ความขบขันอาจจะไม่เกิดขึ้นหากผู้อ่านหรือผู้ฟังรับรู้เนื้อหาของมุขตลกแล้วเนื่องจากการทราบเนื้อหาแล้วย่อมจะไม่ได้สร้างพลังของความคาดหวังที่จะแปรเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะเมื่อมีการพลิกความคาดหมาย ด้วยเหตุนี้จึงควรจะเล่ามุขตลกให้กับผู้ที่ยังไม่เคยฟังมาก่อน

แม้ว่ามุขตลกบางเรื่องมีความโหดร้ายตามเนื้อหา แต่ผู้ฟังหรือผู้อ่านจะขบขันโดยไม่นำอารมณ์เข้าไปร่วม สืบเนื่องจากธรรมชาติของการฟังหรือการอ่านมุขตลกมักจะรอฟังหรืออ่านตอนท้ายของมุขตลกที่มีการขมวดปม แล้วก็มีการคลี่คลายซึ่งพลิกความคาดหมายของผู้ฟังหรือผู้อ่านจึงจะทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านขบขัน

ในแง่มุมทางด้านจิตวิทยา ความขบขันหรือการหัวเราะ น่าจะเป็นการผ่อนคลายจากความ
ตึงเครียด หรือความกดดัน เนื่องจากการเปล่งเสียงหัวเราะ คือ การระบาย หรือการปลดปล่อยสิ่งที่ถูกเก็บกดในจิตใจ ด้วยเหตุที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมจึงนำไปสู่การสร้างระเบียบทางสังคม
กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อเป็นกลไกควบคุมสมาชิกในสังคม แต่ในขณะเดียวกันอาจจะสร้างความกดดันให้แก่สมาชิกในสังคม เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถกระทำตามความต้องการที่แท้จริงได้อย่างเปิดเผย และความต้องการที่อยู่นอกเหนือระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงถูกปิดกั้นอยู่ภายในจิตใจ ด้วยเหตุนี้ความขบขันจึงเป็นการระบายความกดดันซึ่งพ้องกันกับบทบาทประการหนึ่งของนิทานมุขตลก ที่กล่าวว่านิทานมุขตลกเป็นทางออกของความกดดัน เนื่องจากในโลกของนิทานสามารถกระทำสิ่งใดก็ได้ตามที่ต้องการโดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อห้ามในชีวิตจริง ด้วยเหตุดังกล่าวเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย จึงอาจจะเป็นทางออกของ
ผู้อ่านหรือผู้ฟังซึ่งได้หลีกหนีจากกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นการหลีกหนีในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ได้ผ่อนคลายความกดดันที่ถูกเก็บกดในจิตใจซึ่งคงจะเป็นการดีกว่าที่จะปราศจากการปลดปล่อย

การแสดงอารมณ์ขันในศิลปะแขนงต่างๆ เป็นสิ่งที่มีกลวิธี ในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยมีกลวิธีนำเสนอมุขตลกหลายรูปแบบ ในการศึกษากลวิธีนำเสนอมุขตลกของนิทานทั้งสองเรื่องใช้ทฤษฎีการวิเคราะห์กลวิธีต่างๆ เกี่ยวกับมุขตลกของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ( Jokes and their Relations to the Unconscious ) เป็นแนวทาง

กลวิธีนำเสนอมุขตลกเป็นการเล่นคำกับการใช้ไหวพริบ ในงานวิจัยฉบับนี้ได้จำแนกการเล่นคำและการใช้ไหวพริบในนิทานทั้งสองเรื่อง ยังสามารถจำแนกเป็นกลวิธีย่อยได้อีกหลายประเภทซึ่งมีทั้งที่มีลักษณะร่วมและลักษณะเฉพาะ ดังนี้

การเล่นคำ การใช้ไหวพริบ
ลักษณะร่วม ลักษณะเฉพาะ ลักษณะร่วม
-การเล่นคำจากการใช้คำอย่างคลุมเครือ
-การเล่นคำพ้องเสียง ในทิลล์ ออยเลนชะปีเกล
-การเล่นคำประชด
-การเล่นคำที่กล่าวตามมารยาท
ในศรีธนญชัย
-การเล่นสำนวน
-การเล่นคำผวน
-การเล่นคำอนุนามนัย -การใช้อุบายทางจิตวิทยา
-การใช้เหตุผลผิดที่
-การใช้ไหวพริบสร้างคำถามที่ตอบไม่ได้


4.1 การเล่นคำในทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย หมายถึง การเล่นหรือพลิกแพลงคำ

4.1.1 กลวิธีที่มีลักษณะร่วมกันของนิทานทั้งสองเรื่อง ได้แก่ การเล่นคำจากการใช้คำอย่างคลุมเครือและการเล่นคำพ้องเสียง

ก. การเล่นคำจากการใช้คำอย่างคลุมเครือ หมายถึงการเล่นถ้อยคำหรือข้อความที่ผู้สื่อสารเรียบเรียงประโยคไม่ชัดเจน จึงเปิดโอกาสให้ผู้รับสารสามารถเล่นความหมายของประโยคดังกล่าวให้ผิดไปจากความหมายที่ผู้สื่อสารคาดหมายซึ่งความหมายที่ทิลล์ หรือ ศรีธนญชัยใช้ก็มิได้ผิดไปจากความหมายของประโยคนั้นๆ อาจจะกล่าวได้ว่าทั้งทิลล์และศรีธนญชัยสามารถเล่นคำที่ใช้อย่างคลุมเครือได้ เนื่องจากการเรียบเรียงข้อความไม่ชัดเจนหรือคำคำหนึ่งมีหลายความหมายจึงนำไปสู่การพลิกความคาดหมาย

หลังจากที่ทิลล์สร้างความรำคาญใจให้นายจ้างเป็นอย่างมาก เขาถูกนายจ้างไล่ออกโดยสั่งว่า พรุ่งนี้เช้าทำความสะอาดบ้านด้วย aber morgen raeume mir das Haus! เมื่อนายจ้างสั่งทิลล์ทำความสะอาดบ้าน (raeumen เป็นคำกิริยา หมายถึงทำความสะอาด) นายจ้างคงจะต้องการหมายถึงเก็บกวาดบ้านให้เรียบร้อย โดยเฉพาะสิ่งของของทิลล์ควรจะเก็บกวาดไปให้หมด อย่างไรก็ตาม นายจ้างไม่ได้ผูกประโยคให้ชัดเจน เขาเพียงแต่กล่าวว่า …aber morgen raeume mir das Haus! ซึ่งเป็นประโยคที่คลุมเครือ ผู้สื่อสารคาดว่าผู้รับสารจะเข้าใจความหมายตามที่ตนต้องการ เนื่องจากมีบริบทที่ระบุสถานการณ์ว่า ทิลล์ควรจะทำอย่างไร ทว่า ความคิดดังกล่าวเป็นความเข้าใจและความคาดหมายของนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว ทิลล์ขนเครื่องเรือนต่างๆ ออกไปจากบ้านของนายจ้าง ทำให้บ้านโล่งเรียบร้อย การกระทำดังกล่าวของทิลล์มิได้ผิดแผกไปจากความหมายของประโยคข้างต้น เพียงแต่ผิดไปจากความคาดหมายของนายจ้าง

ทิลล์เล่นคำจากการใช้อย่างคลุมเครือเนื่องจากนายจ้างผูกประโยคไม่ชัดเจน เมื่อนายจ้างสั่งทิลล์เย็บผ้าให้ดีๆ และอย่าให้ใครเห็น "Geselle, wenn du naehst, so naehe gut und naehe so, dass man es nicht sieht." ทิลล์คลานเข้าไปในถังเพื่อเย็บผ้าโดยไม่มีใครเห็น การที่เขาเย็บผ้าในถังทำให้ไม่มีใครเห็น น่าจะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่มิได้ผิดไปจากความหมายของประโยค เพียงแต่ไม่ตรงตามความคาดหมายที่ผู้สั่งต้องการ การกระทำของทิลล์อาจจะฉุกให้ผู้อ่านได้คิดและให้ความสำคัญกับการสร้างถ้อยคำที่ชัดเจน เพื่อการสื่อสารจะไม่เกิดข้อผิดพลาด
หากคำที่ใช้มีหลายความหมายทำให้ทิลล์สามารถจับจุดบกพร่องที่ภาษามีความคลุมเครือมาเล่นได้ เมื่อนายจ้างสั่งทิลล์ทำโวลฟ์ให้เสร็จ "Sieh her, mach den Wolf fertig ." ทิลล์จึงหยิบผ้ามาตัดและเย็บเป็นตัวสุนัขป่า อันที่จริงแล้ว นายจ้างต้องการให้ทิลล์เย็บเสื้อผ้าแบบที่ชาวนาใส่ "Solchen Wolf meinte ich nicht. Ich nannte nur den grauen Bauernrock einen Wolf." คำว่า โวลฟ์ (Wolf) หมายถึงสุนัขป่า และเสื้อ คำเดียวกันแต่มีหลายความหมายจึงเปิดโอกาสให้ทิลล์ได้พลิกแพลงถ้อยคำ

ในเหตุการณ์ที่ทิลล์กินอาหาร และใช้การผูกประโยคอย่างคลุมเครือช่วยให้ไม่ต้องเสียเงินค่าอาหาร เมื่อทิลล์มาถึงที่พักแห่งหนึ่งได้เลือกโต๊ะอาหารที่แพงที่สุด ขณะที่ถูกเรียกเก็บเงินค่าอาหารเป็นเงิน 24 เฟนนิก ทิลล์แย้งขึ้นว่า "ไม่ใช่สิ คุณควรจ่ายให้ผม 24 เฟนนิกอย่างที่คุณกล่าว เพราะคุณกล่าวว่าโต๊ะนี้ค่ากินอาหารเป็นเงิน 24 เฟนนิก ผมจึงเข้าใจว่า ผมจะได้รับเงินจากการกินอาหาร "Ihr sollt mir 24 Pfennige geben, wie Ihr gesagt habt. Denn Ihr spracht, an der Tafel esse man das Mahl um 24 Pfennige. Das habe ich so verstanden, dass ich damit Geld verdienen sollte…" ในบทสนทนาโดยทั่วไปมักจะไม่ต้องการการลำดับความที่ละเอียดลออ ส่วนใหญ่มักกล่าวว่า "โต๊ะนี้ค่ากินอาหาร 24 เฟนนิก" ซึ่งเป็นวลีที่สามารถเข้าใจได้ว่ากินอาหารโต๊ะนี้จะได้เงิน 24 เฟนนิก หรือกินอาหารโต๊ะนี้ต้องจ่าย 24 เฟนนิก ทิลล์สามารถนำข้อ
บกพร่องที่ภาษามีความคลุมเครือมาเล่นอย่างสนุกสนานและเป็นการพลิกความคาดหมายโดยที่มีประโยชน์ต่อตนเองเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าอาหาร

การเล่นคำจากการใช้คำอย่างคลุมเครือ ส่งผลให้เกิดการพลิกความคาดหมายของผู้ส่งสาร แต่การกระทำนั้นมิได้ผิดไปจากความหมายของประโยคดังกล่าว เมื่อศรีทะนนไชยปลูกเรือนทองจึงทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบว่าที่ไม่ได้มาเฝ้าหลายวันเพราะติดธุระสร้างเรือนทอง พระองค์เสด็จทอดพระเนตรพบว่าเป็นเรือนไม้ทองหลาง ศรีทะนนไชยมิได้กล่าวอย่างชัดเจน เขาเพียงแต่กล่าวว่าตนปลูกเรือนทองทั้งหลังงดงามมาก "…ปลูกเรือนขึ้นโตใหญ่ งามสุดใจแต่ล้วนทอง เครื่องอื่นไม่มีปน ดูเหลือล้นงามเรืองรอง…." "เรือนทอง" น่าจะเป็นคำที่คลุมเครือเนื่องจากผู้ที่ได้ยินคำนี้มักจะตีความว่าเป็นเรือนที่ทำจากทองคำ คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อมโยงคำว่า "ทอง" หมายถึง ทองคำ ทั้ง ๆ ที่คำว่าทองเป็นคำเริ่มต้นของคำต่างๆอีกหลายคำ ไม่ว่าจะเป็นชื่อแร่ธาตุ ชื่อต้นไม้และชื่อขนม เช่น ทองแดง ทองขาว ทองเหลือง ทองหลาง ทองกวาว ทองพันชั่ง ทองพลู ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด เป็นต้น ตัวละครเอกใช้คำว่าทองโดยหมายถึงทองหลาง มิได้เป็นการใช้คำที่ผิดความหมาย การเอ่ยถึงคำว่าทองอย่างคลุมเครือประกอบกับความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อคำนี้ เป็นจุดที่ทำให้ศรีทะนนไชยสามารถพลิกความคาดหมายเป็นผลสำเร็จ และคู่กรณีต้องเสียรู้เขาอีกครั้ง

คำเดียวกันแต่มีหลายความหมาย จึงเปิดทางให้ศรีธนญชัยได้พลิกความคาดหมาย เมื่อศรีธนญชัยเคยไปขอยืมเงินจากสามีภรรยาคู่หนึ่ง และสัญญาว่าเมื่อครบสองเดือนแล้วจะส่งคืน "…มายืมเงินตรา…ยืมสองเดือนนา…" แต่เมื่อครบสองเดือนยังไม่มาจ่ายคืน ศรีธนญชัยอ้างว่าตนจะใช้เงินคืนเมื่อมีเดือน(พระจันทร์)ขึ้นสองดวง คำที่ศรีธนญชัยใช้ไม่ใช่ "เดือน"ที่บอกเวลาแต่เป็นเดือนที่หมายถึงพระจันทร์ "…แต่ข้าสัญญา สองเดือนตราไตร ไม่ถึงสัญญา ข้าจะให้เงินตรา แก่ตาฉันใด…"

ทั้งทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยเห็นช่องโหว่ของภาษาที่มีความคลุมเครือจึงเลือกใช้อีกความหมายหนึ่งที่คนอื่นไม่ใช้ และความหมายที่ทิลล์กับศรีธนญชัยเลือกใช้ก็มิได้ผิดไปจากความหมายของประโยคนั้น เพียงแต่ผิดไปจากความคาดหมายของคนส่วนใหญ่ ปรากฏการณ์ลักษณะดังกล่าวอาจจะต้องการแฝงการล้อเลียนการใช้ภาษาที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสื่อสารที่ผิดพลาด

ข. การเล่นคำพ้องเสียง หมายถึงการเล่นคำตั้งแต่สองคำที่มีเสียงคล้ายคลึงกัน แต่ความหมายแตกต่างกัน โดยที่รูปศัพท์อาจจะมีทั้งรูปแบบที่เหมือนกันหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน

ทั้งทิลล์ ออยเลนชะปีเกลและศรีธนญชัยใช้ประโยชน์จากการที่คำสองคำบังเอิญมีเสียงพ้องกันมาพลิกแพลงความคาดหมายของอีกฝ่าย เมื่อทิลล์ได้รับคำสั่งให้ใส่ฮอฟน์ (Hopfen) ซึ่ง
ผู้สั่งหมายถึงฮอฟน์ที่เป็นดอกไม้ ลงไปในหม้อเบียร์ที่กำลังเดือด แต่ทิลล์อุ้มเจ้าสุนัขที่ชื่อฮอฟ (Hopf) ลงไปในหม้อเบียร์ คำหนึ่งเป็นคำสามานยนาม ส่วนอีกคำหนึ่งเป็นคำวิสามานยนาม แต่ทั้งสองคำมีเสียงที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ซึ่งนำไปสู่การพลิกแพลงความคาดหมาย ส่วนศรีธนญชัยได้ชนะพนันคู่กรณี ทำให้คนเหล่านั้นต้องเสียค่าปรับเป็นเงินประมาณสี่ถึงห้าบาท "อย่าเสียดายคิดเงินให้กับเณร ตามมีสักสี่ซ้าห้าบาท" ศรีธนญชัยจึงรีบมาวัดและขอยืมบาตรของพระสงฆ์ห้าใบกับฝาอีกสี่ใบ เพื่อให้ผู้ที่แพ้พนันใส่เงินให้เต็ม "รับสั่งให้ใช้เงินแทนเมี่ยงส่วย จึงไปฉวยฝามาสี่แต่บาตรห้า แน่พวกส่วยจงตวงเอาเงินมา ให้เต็มบาตรเต็มฝาจะลาไป"

ศรีธนญชัยนำคำสองคำที่มีเสียงคล้ายคลึงกันมาพลิกความคาดหมายเช่นเดียวกับทิลล์ คำที่เปล่งเสียงว่า "บาด" มิได้หมายถึงคำว่า "บาท" ตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ แต่หมายถึงคำว่า "บาตร" คำพ้องเสียงเปิดโอกาสให้ตัวละครเอกทั้งสองกระทำการพลิกความคาดหมาย โดยที่มิอาจตำหนิการกระทำของตัวละครเอกได้ เนื่องจากเสียงของคำเหล่านั้นบังเอิญมีเสียงคล้ายคลึงกัน

ภาษาเยอรมันและภาษาไทยมีลักษณะร่วมกันตามที่ปรากฏในนิทานทั้งสองเรื่อง ได้แก่ การใช้คำอย่างคลุมเครือและการใช้คำพ้องเสียง ลักษณะร่วมกันเหล่านั้นถ้านำไปใช้โดยมิได้ผูกประโยคอย่างชัดเจนอาจจะส่งผลที่ผิดพลาดต่อการสื่อสารระหว่างกันได้ ทั้งทิลล์กับศรีธนญชัยได้ชี้ให้เห็นว่าภาษามีช่องโหว่ ด้วยการเล่นคำซึ่งนำไปสู่การพลิกความคาดหมายของคนส่วนใหญ่และความหมายการพลิกที่ทิลล์กับศรีธนญชัยเลือกใช้นั้น ก็มิได้ผิดความหมายของคำหรือข้อความแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การเล่นคำที่พบในนิทานทั้งสองเรื่องยังมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน

4.1.2 กลวิธีที่มีลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำในทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย

นอกเหนือจากกลวิธีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นิทานทั้งสองเรื่องยังมีการเล่นคำที่มีลักษณะเฉพาะ ในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลนั้นลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำแสดงออกในรูปของการเล่นคำประชดและการเล่นคำที่กล่าวตามมารยาท ส่วนในเรื่องศรีธนญชัยนั้นลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำแสดงออกมาในรูปของการเล่นสำนวน คำผวนและคำอนุนามนัย

4.1.2.1 ลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำในทิลล์ ออยเลนชะปีเกล

ลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกล ได้แก่ การเล่นคำประชดและการเล่นคำที่กล่าวตามมารยาท

ก. การเล่นคำประชด เป็นคำพูดตรงไปตรงมา แต่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นการประชดประชัน
ทิลล์ถูกนายจ้างประชดแต่เขากระทำตามถ้อยคำประชดของนายจ้างทุกประการ เมื่อทิลล์ถามนายจ้างว่าจะให้ใช้อะไรเป็นฟืน นายจ้างจึงประชดไปว่า หากฉันไม่มีฟืนล่ะก็ ฉันก็ยังมีเก้าอี้และม้านั่งหลายตัวนะ เท่านี้ฉันก็ต้มแผ่นหนังได้แล้ว "Wenn ich kein Holz in den Holzstapeln haette, so haette ich wohl noch so viele Stoehle und Baenke, womit du das Leder gar machen koenntest.") ทิลล์แกล้งทำตามคำประชดแบบเถรตรงด้วยการขนเก้าอี้และม้านั่งทุกตัวในบ้านไปโยนเข้าเตาไฟเพื่อเป็นฟืนในการต้มแผ่นหนัง นายจ้างสูญเสียเก้าอี้และม้านั่งทุกตัวในบ้านโดยที่ผู้ประชดมิอาจจะกล่าวโทษทิลล์ได้เลย เนื่องจากตนกล่าวคำเหล่านั้นเองเชิงท้าทายด้วยซ้ำ

บางครั้งการปฏิบัติตามคำประชดอย่างเถรตรงเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ในเหตุการณ์ที่ทิลล์ถามนายจ้างว่าจะให้อบขนมปังเป็นรูปอะไร นายจ้างจึงประชดว่าจะอบเป็นอะไรล่ะ เป็นนกฮูกหรือลิงค่างมั้ง "…was du backen sollst? Was pflegt man denn zu backen? Eulen oder Meerkatzen!" ทิลล์จึงอบขนมปังเป็นรูปนกฮูกและลิงค่างแทนที่จะเป็นขนมปังหัวกระโหลกเช่นทุกครั้งและเอาขนมปังรูปสัตว์ไปขายในตลาดเป็นที่ถูกใจลูกค้ามาก ทิลล์ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว ขนมปังรูปสัตว์เป็นการฉีกรูปแบบเดิม ทำให้ลูกค้าสนใจเพราะมีความแปลกใหม่

ข. การเล่นคำที่กล่าวตามมารยาท

ทิลล์ ออยเลนชะปีเกลเล่นคำที่กล่าวตามมารยาทด้วยการจับเอาคำบางส่วนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตน ในเหตุการณ์ที่ทิลล์มาอาศัยอยู่ที่โบสถ์แห่งหนึ่ง บาทหลวงกล่าวต้อนรับเขาอย่างเป็นมิตรและสุภาพ เมื่ออยู่ที่นี่เขาจะมีความสุขได้กินและดื่มอย่างดีที่สุด "…essen und trinken solle er das Beste…" ทิลล์เล่นคำที่กล่าวตามมารยาททั้งๆที่ผู้พูดกล่าวตามขนบของสังคมในการต้อนรับแขกเพื่อให้แขกรู้สึกว่าเจ้าบ้านยินดีต้อนรับตน เมื่อแม่บ้านของบาทหลวงยื่นไก่ให้ทิลล์ไปย่างสองตัวสำหรับอาหารเย็น แต่ทิลล์คิดถึงคำกล่าวตามมารยาทของบาทหลวงว่าตนจะกินดื่มอย่างดีที่สุดจึงกินไก่ย่างไปเสียตัวหนึ่ง

ในอีกเหตุการณ์ทิลล์เดินผ่านร้านขายเนื้อ พ่อค้าร้องเชิญชวนทิลล์คุณไม่อยากซื้ออะไรติดไม้ติดมือไปบ้างหรือ "Da sprach ein Metzger ihn an, ob er nicht etwas kaufen wolle, das er mit sich nach Hause traege." ทิลล์จึงเล่นคำเชิญชวนที่กล่าวเพื่อความสุภาพด้วยการหยิบเนื้อไปชิ้นหนึ่ง

ทิลล์ ออยเลนชะปีเกลยังได้เล่นคำที่กล่าวตามมารยาทอีกครั้งในเหตุการณ์ตอนที่บาทหลวงกล่าวต้อนรับทิลล์ว่าทุกๆสิ่งที่ทิลล์ต้องทำ เขาใช้แรงงานเพียงครึ่งเดียวก็ได้ "Alles, was er tun muesse, koenne er mit halber Arbeit tun." ทิลล์เล่นคำเชิญชวนที่กล่าวตามมารยาทด้วยการทำงานเพียงครึ่งเดียว เมื่อได้รับคำสั่งให้รองน้ำใส่ถัง ทิลล์รองน้ำใส่ถังเพียงครึ่งถัง เมื่อได้รับคำสั่งให้เอาฟืนมาสองมัด เขานำมาเพียงหนึ่งมัด

ทิลล์เล่นคำที่กล่าวตามมารยาทซึ่งผู้กล่าวกล่าวเพื่อความสุภาพตามขนบของสังคมโดยไม่ได้มีความจริงใจในการปฏิบัติตามข้อความนั้น ในขณะที่ทิลล์จับเอาบางจุดของข้อความที่กล่าวตามมารยาทมาเล่นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง

4.1.2.2 ลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำในศรีธนญชัย

ลักษณะเฉพาะทางด้านการเล่นคำในเรื่องศรีธนญชัย ได้แก่ การเล่นสำนวน การเล่นคำผวนและการเล่นคำอนุนามนัย

ก. การเล่นสำนวน เป็นวลีที่มีความหมายเฉพาะซึ่งไม่สามารถแปลความหมายอย่างตรงไปตรงมา

ศรีธนญชัยเล่นสำนวน ด้วยการตีความหมายตามตัวอักษรของแต่ละสำนวนโดยไม่ยอมรับความหมายเฉพาะของแต่ละสำนวน เมื่อเขาขอพระราชทานที่ดินเท่าแมวดิ้นตายเพื่อเลี้ยงชีพ "…ข้าบาทขอรับประทาน ที่ริมบ้านด้วยใจหมาย ประมาณเท่าแมวดิ้นตาย…" พระเจ้าแผ่นดินคิดว่าศรีธนญชัยขอเพียง "ที่ดินที่มีเนื้อที่น้อยหรือที่ดินผืนเล็ก" ตามความหมายของสำนวน อย่างไรก็ตาม ศรีธนญชัยมิได้ครอบครองเพียงที่ดินผืนเล็ก เขาจับแมวมาผูกเชือก แล้วไล่ตีไปเรื่อยๆกว่าแมวจะตาย เขาได้ที่ดินหลายไร่ "…กว่าแมวจะดิ้นตาย ที่มากมายกว้างถนัด ร้อยเส้นสิบห้าทัศ…" อีกเหตุการณ์หนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ศรีธนญชัยตามเสด็จ และกำชับว่าให้มาก่อนไก่ ตกบ่ายศรีธนญชัยขี่ช้างมาเข้าเฝ้า โดยผูกไก่ไว้ข้างท้ายช้าง "…จงเตรียมเสร็จตื่นนอนแต่ก่อนไก่ มาให้ทันเวลาเราคลาไคล…ตื่นขึ้นบ่ายแล้วให้ผูกช้างพลัน…ผูกไว้ที่ท้ายช้างร้องอึงไป ขึ้นนั่งได้ก่อนไก่แล้วจึงมา…" อันที่จริงแล้วพระเจ้าแผ่นดินเจ้าแผ่นดินต้องการให้ศรีธนญชัยมาแต่เช้ามืดตั้งแต่ไก่ยังไม่ขัน มิใช่ผูกไก่ไว้ข้างหลัง

การกระทำของศรีธนญชัยมิได้ผิดไปจากความหมายของสำนวนดังกล่าว เพียงแต่ผิดไปจากความหมายที่กลุ่มคนในสังคมยอมรับร่วมกัน

ข.การเล่นคำผวน คำผวนเป็นการสร้างคำใหม่โดยใช้การสลับที่เสียงสระระหว่างคำซึ่งไม่สามารถค้นหาความหมายได้ในพจนานุกรม

ศรีธนญชัยเล่นคำผวนโดยเขียนลงในคัมภีร์ แล้วอ้างว่าเป็นคัมภีร์ไตรคดและนำมาให้พระสังฆราชจากลังกาตีความ "...พระไตรคดในบทปถะมา ว่าปะปะปาปาว่าขันขัน ปะลูลิดตาอันดับกัน กับกะลันทาโชอักษรมี โกนถะกิปะอักขรา พระสังฆราชลังกาจนจึงหนี..." พระสังฆราชเห็นข้อความเหล่านี้ขอยอมแพ้ คำเหล่านั้นเป็นคำผวนทั้งสิ้น


ใกล้รุ่ง อามระดิษ, "ร้อยแก้วแนวขบขันของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7", (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2533 ), หน้า 8.
Max Eastman, Enjoyment of Laughter, p. 9.
ใกล้รุ่ง อามระดิษ, "ร้อยแก้วแนวขบขันของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7", หน้า 10.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 9.
Sigmund Freud, Jokes and their Relations to the Unconscious, trans. Angela Richards (Great Britain: Penguin Books, 1976 p. 207
Ibid. , p. 167.
Alan Dundes, The Study of Folklore, (United States of America: Prentice-Hall, 1965), pp. 278-279.
Hermann Bote, Till Eulenspiegel, p. 50.
Ibid. , p. 135.
Ibid. , p. 136.
Ibid. , p. 136.
Ibid. , p. 100.
กรมศิลปากร, ศรีทะนนไชยสำนวนกาพย์และลิลิตตำรานพรัตน์, หน้า 26.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 32.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 93.
หอพระสมุดวชิรญาณ, เสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง, หน้า 12.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 12.
Ibid. , p. 155.
Ibid. , p. 169.
Ibid. , pp. 51-52.
Ibid. , p. 163.
Ibid. , p. 52.
กรมศิลปากร, ศรีทะนนไชยสำนวนกาพย์และลิลิตตำรานพรัตน์, หน้า 72-73.
หอพระสมุดวชิรญาณ, เสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง, หน้า 46-47.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 76.
ตรีศิลป์ บุญขจร, การใช้ภาษาไทย (นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2526), หน้า 736.
หอพระสมุดวชิรญาณ, เสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง, หน้า 54.
Hermann Bote, Till Eulenspiegel, p. 83.
กรมศิลปากร, ศรีทะนนไชยสำนวนกาพย์และลิลิตตำรานพรัตน์, หน้า 68.
เรื่องเดียวกัน, หน้า 46.
Hermann Bote, ed., Till Eulenspiegel, p. 59.
หอพระสมุดวชิรญาณ, เสภาเรื่องศรีธนญไชยเชียงเมี่ยง, หน้า 14.
Hermann Bote, Till Eulenspiegel, p. 52.
กรมศิลปากร, ศรีทะนนไชยสำนวนกาพย์และลิลิตตำรานพรัตน์, หน้า 54.
Hermann Bote, Till Eulenspiegel, p. 88.
หอพระสมุดวชิรญาณ, เสภาเรื่องศรีทะนนไชยเชียงเมี่ยง, หน้า 43.

กะลันทาโชคือกะโล่ทาชัน โกนถะคือกะโถน และกิปะคือกะปิ

ค.การเล่นคำอนุนามนัย (Synecdoche) หมายถึงการใช้คุณสมบัติเด่นๆ ส่วนหนึ่งเพื่อแทนความหมายทั้งหมด เช่น กาลเวลาคร่าทุกสิ่งไปจากฉันทิ้งไว้แต่ความทรงจำและรอยย่นที่ขอบตา รอยย่นที่ขอบตาเป็นเพียงส่วนเดียวของร่างกายที่แสดงถึงความชรา ในที่นี้รอยย่นที่ขอบตาหมายถึงความแก่ชรา หรือความร่วงโรยของสังขาร (ร่างกายทั้งร่าง)

ศรีธนญชัยโผล่บั้นท้ายให้พระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระเจ้าแผ่นดินตรัสไล่ศรีธนญชัยว่า ต่อไปนี้จะไม่ขอดูหน้าเขาอีก "ตั้งแต่นี้อย่าเข้ามาทำวู่วาม ไม่ขอดูหน้าเองจะลามมาหลอกล้อ" การที่พระเจ้าแผ่นดินกล่าวว่าไม่ขอดูหน้าหมายถึงไม่ต้องการพบตัวศรีธนญชัย ซึ่งเป็นการกล่าวเพียงส่วนหนึ่งเพื่อใช้แทนความหมายทั้งหมด โดยที่หน้าเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย ในที่นี้หมายถึงตัวของศรีธนญชัย แต่ศรีธนญชัยเล่นคำอนุนามนัย ด้วยการดักพบพระเจ้าแผ่นดินและแอบขุดหลุมตรงทางที่พระองค์จะเสด็จผ่าน แล้วเอาศรีษะซุกฝังลงไปในหลุมโผล่แต่บั้นท้ายขึ้นมา การตีความตามตัวอักษรด้วยการเก็บหน้าของตนมิให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตร ซึ่งอันที่จริงแล้วพระองค์ไม่ต้องการพบศรีธนญชัย

การเล่นคำที่มีลักษณะร่วมกันของนิทานทั้งสองเรื่อง ได้แก่ การเล่นคำจากการใช้คำอย่างคลุมเครือและการเล่นคำพ้องเสียงล้วนแต่ทำให้ประโยคคลุมเครือ หรือบางครั้งการผูกประโยคถูกต้องตามกฎเกณฑ์ไวยากรณ์อาจจะเกิดความคลุมเครือได้ นอกจากนี้ทั้งความหมายและเสียงอ่านของคำเป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนด ซึ่งคงจะไม่มีมนุษย์คนใดสามารถกำหนดคำทุกคำให้แตกต่างกันได้โดยเฉพาะเสียงอ่านที่ทุกภาษาย่อมจะพบคำที่มีเสียงพ้องกัน ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะกล่าวได้ว่าความคลุมเครือและคำพ้องเสียงเป็นธรรมชาติของภาษาที่มีความเป็นสากล ส่วนการเล่นคำที่มีลักษณะเฉพาะของนิทานทั้งสองเรื่อง ในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลนั้นการเล่นคำที่มีลักษณะเฉพาะแสดงออกในรูปของการเล่นคำประชดและการเล่นคำที่กล่าวตามมารยาท ในเรื่องศรีธนญชัยนั้นการเล่นคำที่มีลักษณะเฉพาะแสดงออกในรูปของการเล่นสำนวน การเล่นคำผวนและการเล่นคำ
อนุนามนัย

4.2 การใช้ไหวพริบในทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย หมายถึง การใช้ไหวพริบในนิทานทั้งสองเรื่อง ซึ่งแสดงออกในรูปของการใช้อุบายทางจิตวิทยา การใช้เหตุผลผิดที่ และการใช้ไหวพริบสร้างคำถามที่ตอบไม่ได้

ก. การใช้อุบายทางจิตวิทยา

การใช้ไหวพริบลักษณะแรก คือ การใช้อุบายทางจิตวิทยาเข้าจับธรรมชาติของคนและสัตว์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในกรณีของผู้ที่เกิดอยู่ในตระกูลสูงมักจะภูมิใจชาติกำเนิดของตน และอาจจะไม่ต้องการให้มีการสงสัยเรื่องชาติกำเนิดของตน ทิลล์จับจุดเรื่องความทรนงในชาติกำเนิดมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตน อันที่จริงแล้ว ทิลล์ไม่ได้วาดรูป แต่เงื่อนไขของทิลล์ที่กล่าวว่า "ใครก็ตามที่ไปกับท่านดยุคและชมภาพเขียนของผม หากไม่ได้ถือกำเนิดอย่างสูงส่งก็จะมิอาจเห็นภาพเขียนได้" "(Wer mit Euer Gnaden geht und das Gemaelde beschaut und nicht ehelich geboren ist, der kann mein Gemaelde nicht sehen." ด้วยเงื่อนไขนี้ ทำให้เหล่าดยุคทั้งหลายมิได้ปริปากว่าตนมองไม่เห็นภาพ หากกล่าวว่าตนมองไม่เห็นภาพอาจจะถูกคนอื่นดูแคลนเรื่องชาติกำเนิดของตน กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ทิลล์ได้รับเงินค่าจ้างวาดรูปและหนีออกจากเมืองไปแล้ว
เมื่อทิลล์ถูกท้าทายให้สอนลาอ่านหนังสือ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในการสอนสัตว์เดรัจฉานให้อ่านหนังสือ แต่ทิลล์ก็สามารถกระทำได้ด้วยการใช้อุบายจับเอาธรรมชาติประการหนึ่งของลามาใช้ให้เกิดประโยชน์ นั่นคือเสียงร้องขณะที่ลาหิวจะส่งเสียงร้อง "อี-อา-อี-อา" ซึ่งคล้ายคลึงกับเสียงสระอีและสระอาในภาษาของคน ทิลล์เพียงแต่นำข้าวโอ้ตวางบนหน้าหนังสือ ลาใช้ลิ้นเลียแล้วใช้จมูกดุนหนังสือไปทีละหน้า เมื่อถึงหน้าที่ไม่มีข้าวโอ้ต มันจะส่งเสียงร้องอี-อา วันที่แสดงการสอนให้แก่คู่กรณีชม ทิลล์วางหนังสือที่ไม่มีข้าวโอ้ตไว้หน้าลา เจ้าลารีบดุนจมูกหาหน้าที่มีข้าวโอ้ต เมื่อไม่พบมันก็ร้องอี-อา ทิลล์สรุปว่าลูกศิษย์ของตนรู้จักตัวอักษรสองตัวแล้ว

ศรีธนญชัยสามารถจับธรรมชาติของสัตว์มาเล่นได้เช่นกัน มดเป็นสัตว์ที่ชอบของหวาน เมื่อศรีธนญชัยถูกขังในตึกที่มีแต่มด เขาอาจจะถูกมดรุมกัดจนตาย แต่เขานำอ้อยไปด้วย เมื่อเข้าในตึกรีบหักอ้อยกองเรี่ยรายไว้ข้างหนึ่ง พวกมดได้กลิ่นอ้อยพากันออกมากิน จึงไม่ได้กัดศรีธนญชัย "…เห็นมดมากแท้ อ้อยชักหักแผ่ เรียบแรรายไป มดหอมกลิ่นหวาน น้อยใหญ่ไต่คลาน รับประทานชื่นใจ ทั้งสิ้นกินอ้อย นับร้อยอสงไขย พ้นศรีทะนนไชย" นอกจากสามารถจับเอาธรรมชาติของสัตว์มาใช้แล้ว ศรีธนญชัยยังจับเอาธรรมชาติของคนมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้ ใน
เหตุการณ์ที่ศรีธนญชัยท้าพนันว่าสามารถทายความคิดของเหล่าขุนนางได้ โดยขอให้
พระเจ้าแผ่นดินเป็นกรรมการ คงจะไม่กล้าปฏิเสธว่าความคิดของเหล่าขุนนางคือมีความซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน "…แต่บรรดาข้าราชการ ซึ่งพนันกันทั้งหมด ย่อมซื่อสัตย์สุจริต มิได้คิดเป็นกบฏ ไม่มีทรยศ ไม่คิดคดต่อบาทา…" พวกขุนนางเมื่อได้ยินเช่นนั้นต่างนิ่งงัน ไม่กล้าทูลว่าไม่จริง ต้องยอมรับว่าทุกคนซื่อสัตย์ เป็นอันว่าศรีธนญชัยชนะได้รางวัลกลับบ้าน ข้าราชการทุกคนต้องซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน เป็นวิถีปฏิบัติที่ศรีธนญชัยตระหนักดี เขานำประเด็นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้โดยที่คนอื่นๆไม่คาดคิดว่าเขาจะนำเป็นคำตอบของการทายความคิด หากปฏิเสธว่าไม่ใช่ย่อมกลายเป็นการคิดกบฏต่อพระเจ้าแผ่นดิน มีโทษถึงประหาร ดังนั้นการยอมแพ้พนันย่อมดีกว่าการยอมรับว่าเป็นกบฏ ซึ่งศรีธนญชัยตระหนักดีถึงทางเลือกที่คู่พนันต้องเผชิญ คู่พนันย่อมกลัวตายมากกว่ากลัวที่จะสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งความกลัวตายนี้ทำให้ศรีธนญชัยชนะพนัน

การที่ทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยจับธรรมชาติของคนและสัตว์จนกระทั่งสามารถเชื่อมโยงเรื่องดังกล่าวมาพลิกความคาดหมายได้อาจกล่าวได้ว่าบุคคลทั้งสองช่างสังเกต พวกเขาเก็บรายละเอียดเหล่านี้มาอ้างอิงโดยที่คู่กรณีมิอาจโต้แย้งได้เนื่องจากเรื่องที่ใช้เป็นข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ

ในเหตุการณ์ที่ที่ชาวเมืองมักเดอบูร์กขอให้ทิลล์แสดงอะไรสนุกๆให้ดู ทิลล์กล่าวว่าจะบินให้ดู เมื่อถึงเวลาแสดง ทิลล์ก็พลิกความคาดหมายของผู้ชมว่าตนไม่ใช่นกหรือห่านและไม่มีปีกจะบินได้อย่างไร การที่ไม่มีปีกก็ไม่สามารถบินได้ "Wie sollte ich fliegen koennen? Ich bin doch weder Gans noch Vogel! Auch habe ich keine Fittiche, und ohne Fittiche oder Federn kann niemand fliegen." เหตุผลที่ทิลล์กล่าวเป็นข้อเท็จจริง ในยุคสมัยของทิลล์ยังไม่มีเครื่องร่อนหรือเครื่องบิน ด้วยเหตุที่ประดิษฐกรรมด้านการบินยังไม่ปรากฏ สิ่งที่บินได้ตามธรรมชาติในขณะนั้นมีแต่นกหรือห่าน ซึ่งเป็นสัตว์ปีก การให้เหตุผลของทิลล์จึงมิอาจปฏิเสธได้

และในอีกเหตุการณ์หนึ่งของศรีธนญชัย เขาจับธรรมชาติของความหิวของคนมาแสดง
ไหวพริบของตน พระเจ้าแผ่นดินเสวยพระกระยาหารไม่ค่อยจะได้ เขาทูลว่าตนมียาดีที่ทำให้
พระองค์เสวยได้มาก พระเจ้าแผ่นดินคอยอยู่นานรู้สึกหิวจนแสบท้อง จึงไม่รอยาของศรีธนญชัย แต่ได้เสวยไปก่อนและเสวยได้มากด้วย เมื่อศรีธนญชัยกลับมาเข้าเฝ้าอีกครั้ง ทูลว่าพระองค์เสวยได้มากเพราะหิวนั้นเป็นยาที่ตนถวาย "…คอยอยู่จนเที่ยงสายก็หายไป แสบอุทรสั่งให้เชิญเครื่องมา เสวยเวลานั้นมีรสมาก เพราะหิวอยากเสวยได้เปนนักหนา…เชียงเมี่ยงว่านั่นแหละยาหม่อมฉันถวาย เพราะเวลาเที่ยงสายโอสถขลัง อร่อยเมื่ออยากเสวยมากมีกำลัง ไม่ต้องตั้งพระโอสถเข้าหมดชาม…" เมื่อรู้สึกหิวมักจะรับประทานอาหารได้มากเป็นอาการตามธรรมชาติ ที่มักจะเกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่
ศรีธนญชัยใช้ไหวพริบเรื่องความหิวได้อย่างเป็นประโยชน์ เขาไม่ได้มียาที่จะช่วยให้หายจากการเบื่ออาหาร แต่เขาปล่อยให้พระองค์คอยจนกระทั่งรู้สึกหิว เมื่อหิวจึงสามารถรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ความหิวจึงเป็นยารักษาโรคเบื่ออาหารได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่มิอาจโต้แย้งได้

ข. การเล่นเหตุผลผิดที่ บางครั้งทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยให้เหตุผลในการกระทำของตนแต่เป็นเหตุผลที่ขาดความเป็นเหตุเป็นผลที่คนส่วนใหญ่จะยอมรับได้ ทิลล์แอบกินอาหารแล้วให้เหตุผลแบบผิดๆแก้ตัว ในเหตุการณ์ที่แม่บ้านซึ่งเป็นหญิงที่ตาบอดข้างหนึ่งถามหาไก่ย่างอีกหนึ่งตัว ที่ทิลล์แอบกินไปแล้ว ทิลล์ขอให้แม่บ้านลืมตาอีกข้างแล้วจะได้เห็นไก่ทั้งสองตัว "Frau, tut Ihre anderes Auge auch auf, dann seht Ihr alle beide Huehner." ทั้งๆที่เป็นคนกินไก่ แต่ไม่ยอมรับผิด กลับอ้างว่าที่ไก่หายไปหนึ่งตัวเป็นเพราะแม่บ้านมีตาเพียงดวงเดียว จึงทำให้เห็นไก่เพียงตัวเดียว อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าแม่บ้านจะมีดวงตาสมบูรณ์ทั้งสองข้างหรือดวงตาพิการเสียข้างหนึ่ง ผลลัพธ์ก็เหมือนกัน การที่มีตาพิการข้างหนึ่งมิได้หมายความว่าจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้เพียงครึ่งเดียว เหตุผลที่ทิลล์กล่าวจึงเป็นการให้เหตุผลแบบผิดๆ

ศรีธนญชัยเล่นกับเหตุผลผิดที่ ในเหตุการณ์ที่ศรีธนญชัยร่วมการแข่งขันประกวดผ้า ศรีธนญชัยไม่มีผ้าเนื้อดีแต่ใช้เหตุผลผิดที่ ผ้าของคู่แข่งขันนั้นเนื้อผ้าใสมากจนมองดูเหมือนควันไฟ ส่วนศรีธนญชัยไม่มีผ้าแต่เปิดหีบและทำท่าหยิบผ้าออกมา พร้อมกับจับผ้าอวดไปรอบ ๆ ข้าง แล้วคุยว่าผ้าของตนหายากกว่า เพราะใสราวกับกระจกจนกระทั่งมองไม่เห็นรอยตะเข็บ แม้ว่าคู่แข่งขันจะมีผ้าในขณะที่ศรีธนญชัยไม่มีผ้า แต่ยังยืนกรานว่ามีผ้าที่สวยงาม เนื้อใสราวกับกระจกจนกระทั่งคนรอบข้างมองไม่เห็น "…ผ้ากูผืนนี้ เนื้อดีสุดใจ ไม่เห็นเป็นสาย เนื้อคล้ายกระจก ทะนนไชยเถียงดัง ผ้าของท่านยัง เนื้อหนังคลายคลาย เป็นควันปลิวอยู่ เรารู้แยบคาย อย่าพึ่งนึกหมาย ไม่เหมือนของเรา อันผ้าผืนนี้ เนื้อหนังเต็มดี ไม่มีใครเอา ในโลกอันนี้ ไม่มีแล้วเจ้า ดูเห็นเป็นเงา แพ้เราทุกประการ… คำยืนกรานอันหนักแน่นของเขาทำให้คนรอบข้างมิอาจโต้แย้งได้ไม่ว่าจะถกเถียงกันนานเพียงใด ศรีธนญชัยยังคงยืนยันว่าผ้าของตนเนื้อใสมาก การใช้เหตุผลผิดที่เพื่อที่จะพลิกแพลงสถานการณ์เปรียบเสมือน"การแก้ตัวน้ำขุ่นๆ" เพียงเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ต่างๆ

การใช้เหตุผลผิดที่ของทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยมิอาจจะกำหนดขอบเขตของความหมายได้ชัดเจนเนื่องมาจากเหตุผลที่ใช้อ้างอิงเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งผิดไปจากหลักของเหตุและผลที่คนทั่วไปยอมรับ

การใช้เหตุผลผิดที่ มีลักษณะตรงกันข้ามกับการใช้อุบายทางจิตวิทยาที่จับธรรมชาติของคนและสัตว์มาใช้ กลวิธีแรกใช้ลักษณะที่เกิดขึ้นจริงตามธรรมชาติมาอ้างอิงโดยที่อีกฝ่ายมิอาจโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ส่วนกลวิธีการอ้างเหตุผลผิดที่นั้นทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยเพียงแต่อ้างถึงเรื่องใดก็ได้ และยืนยันถึงคำอ้างของตนอย่างหนักแน่นซึ่งมักจะส่งผลให้อีกฝ่ายไม่สามารถโต้แย้งได้

ค. การใช้ไหวพริบสร้างคำถามที่ตอบไม่ได้ หมายถึงการเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่คู่กรณีต้องการ

ทิลล์เปลี่ยนสาระที่คู่กรณีต้องการให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในเหตุการณ์ที่ทิลล์ต้องตอบคำถามของครูอาจารย์ซึ่งถามทิลล์ว่า มีน้ำกี่โอห์มในมหาสมุทร แม้ว่าทิลล์จะไม่ทราบคำตอบ แต่เขาไม่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เขาตอบว่า กรุณาทำให้ในมหาสมุทรน้ำหยุดนิ่ง แล้วผมจะวัดให้คุณทราบ และมันก็เป็นงานง่ายๆด้วย "Wuerdiger Herr Rektor, heisset die Wasser stillstehen, die an allen Enden in das Meer laufen. Dann will ich es Euch messen, beweisen und davon die Wahrheit sagen; und das ist leicht zu tun." ผู้ถามไม่สามารถทำให้กระแสน้ำหยุดนิ่งได้ จึงต้องยอมแพ้ ทั้งๆที่ทิลล์ไม่ทราบคำตอบ แต่เขาสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ถามในการรอคอยคำตอบจากคำถามของตนมาอยู่ที่เงื่อนไขของทิลล์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจกระทำได้ ผู้ถามคาดหวังว่าทิลล์มิอาจตอบคำถามของตนได้ โดยมิได้คาดคิดว่าเขาไม่สนใจที่จะตอบคำถาม แต่เขาพลิกความคาดหมายทั้งๆที่เขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ด้วยการใช้ตรรกเดียวกัน แก้ไขสถานการณ์

ส่วนศรีธนญชัยอาสาเป็นตัวแทนตอบปัญหาทางธรรม ทั้งๆที่ตนไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ แต่เขาสามารถชนะได้โดยที่ไม่ต้องตอบคำถามเช่นเดียวกับทิลล์ เขาไม่รอฟังคำถามเสียด้วยซ้ำ หากตั้งคำถามก่อนว่า พุทธบิดา พระอัยกาและพระบิดาในพระอัยกามีพระนามอะไร นอกจากนี้ต้นวงศ์และนครที่ครอบครองแต่ละสมัยมีชื่ออะไร "พุทธบิดาแลไอยกาไซ้ นามอย่างไรบิตุรงค์องค์ไอยกา อีกทั้งต้นวงษ์พงษ์ศักราช ลำดับถึงจอมปราชญ์นารถนาถา พระนครที่สถิตย์กระษัตรา นามภาราชื่อใดจงไขความ" คำถามของศรีธนญชัยไม่เกี่ยวข้องกับพระธรรมสักเท่าใด แม้ว่าคำถามจะเชื่อมโยงกับพระพุทธเจ้า แต่การถามถึงต้นตระกูลของพระพุทธเจ้าทำให้ผู้ถามไขว้เขวและขอยอมแพ้ อันที่จริงแล้ว ผู้ถามมีความรู้เรื่อง พระธรรมอย่างแตกฉาน แต่ถูกศรีธนญชัยเบี่ยงเบนประเด็นจนต้องขอยอมแพ้

ทั้งทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยสามารถชนะได้เนื่องจากสามารถใช้ไหวพริบสร้างคำถามที่ตอบไม่ได้ หรือท้าทายการกระทำที่คู่แข่งขันไม่สามารถกระทำได้

การใช้ไหวพริบพบแต่ลักษณะร่วมเนื่องมาจากการใช้ไหวพริบ เพื่อพลิกความคาดหมายของคนส่วนใหญ่นั้นเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ซึ่งย่อมจะกลั่นกรองความคิด ซึ่งมีรูปแบบพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ การใช้อุบายทางจิตวิทยา การใช้เหตุผลผิดที่ และการใช้ไหวพริบสร้างคำถามที่ตอบไม่ได้ กลวิธีต่างๆดังกล่าวคล้ายคลึงกันซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งๆที่นิทานทั้งสองเรื่องมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่กลับมีรูปแบบของการใช้ไหวพริบเพื่อพลิกความคาดหมายที่คล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตามในกลวิธีที่คล้ายคลึงกันนั้นพบว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้นิทานทั้งสองเรื่องมิได้เหมือนกันราวกับถอดแบบจากพิมพ์เดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าจะชื่นชมผู้เรียบเรียงที่สามารถเติมเครื่องปรุงรสชาดเนื้อหาให้ผลงานของตนมีเนื้อหาที่โดดเด่น

อาจกล่าวได้ว่าทั้งทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยเป็นผู้ชี้ช่องโหว่ทางภาษา บุคคลทั้งสองเล่นคำเพื่อแฝงการเสียดสีช่องโหว่ทางภาษา ลักษณะคำที่คนส่วนใหญ่ในสังคมใช้มีช่องโหว่ จึงเปิดโอกาสให้บุคคลทั้งสองสามารถพลิกความคาดหมายได้ไม่ว่าจะเป็นการผูกประโยคคลุมเครือและการใช้คำพ้องเสียงของนิทานทั้งสองเรื่อง หรือคำประชดและคำที่กล่าวตามมารยาทซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะด้านการเล่นคำในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกล หรือการใช้สำนวน การใช้คำผวนและการใช้คำอนุนามนัยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะด้านการเล่นคำในเรื่องศรีธนญชัย

การที่ทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยใช้ไหวพริบเพื่อแก้ไขปัญหาแต่ละครั้งให้ผ่านพ้นไปได้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ด้วยปัญญา

กลวิธีนำเสนอมุขตลกในเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัย มีทั้งลักษณะที่คล้ายคลึงกันและลักษณะที่แตกต่างกัน ประเด็นต่อไปที่จะคึกษาคือตัวละครเอกและคู่กรณี

บทความที่ 2

บทคัดย่อ

ผลการศึกษาเปรียบเทียบนิทานเรื่องทิลล์ ออยเลนชะปีเกล กับ ศรีธนญชัย พบว่านิทาน
มุขตลกไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิง แต่ยังมีบทบาททางด้านจิตวิทยาแก่คนในสังคม สำหรับผู้ไร้อำนาจ ดังเช่นทิลล์ ออยเลนชะปีเกลกับศรีธนญชัยได้ใช้มุขตลกเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ผู้มีอำนาจในสังคม ความขัดแย้งระหว่างตัวละครเอกทั้งสองกับคู่กรณีนั้น อาจจะสะท้อนการเล่าความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นในสังคม

The comparative analysis of Till Eulenspiegel and Srithanonchai shows that trickster tales play not only an entertaining role but also a psychological one for people in each society. Jest is used as weapon by the weak in Till Eulenspiegel and Srithanonchai. A view of conflict both protagonists and their specially powerful antagonists may possibly reflect relationships between varied classes of people in both societies.