![]() |
เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์ (*) ประวัติศาสตร์สมัย "เสียกรุง" ครั้งที่สอง คือ สมัยกรุงศรีอยุธยาล่มสลายนั้นปรากฏเป็นโครงเรื่องหรือเป็นฉากของการดำเนินเรื่องในวรรณคดีอิงประวัติศาสตร์ไทยมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่กวีและนักประพันธ์นำมาใช้ในการสร้างสรรค์วรรณคดีประเภทนี้มากที่สุด (๑) ผู้แต่งแต่ละคนต่างวาดประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไปตามมุมมองของตน นักประพันธ์ที่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์สูงก็จะค้นคว้าหาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนจะเลือกว่าจะยึดข้อมูลใดเป็นหลัก เพื่อใช้จินตนาการแต่งเติมต่อไปตามจุดยืนและอารมณ์ความรู้สึกของตน ที่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลก็เนื่องจากผู้ประพันธ์มิได้เป็นบุคคลร่วมสมัยกับเหตุการณ์ครั้งกระนั้น ทว่าเป็นบุคคลที่เกิดหลังจากเหตุการณ์การเสียกรุงผ่านไปแล้วนับเป็นร้อยปี อย่างไรก็ดีมีวรรณคดีฉบับหนึ่งที่ผู้แต่งมิได้เป็นบุคคลในสมัยหลังแต่เป็นบุคคลร่วมสมัยเลยทีเดียว และด้วยเหตุนี้จึงทำให้วรรณคดีชิ้นนี้มีคุณค่าในแง่ที่เป็นบันทึกของพยานบุคคลผู้ได้มีส่วนรับรู้และบันทึกความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์ความรู้สึกของตนลงไว้ วรรณคดีฉบับนี้คือ เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของประชาชนคนไทยนัก ในหนังสือประวัติวรรณคดีไทยโดยทั่วๆไปส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของวรรณคดีชิ้นนี้ปรากฏอยู่ ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยผู้แต่งคือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท(วังหน้าในรัชกาลที่ ๑) เป็นที่รู้จักกันในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงร่วมในการยุทธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมาโดยตลอด จนทรงได้รับสมญานามว่า"พระยาเสือ"ด้วยฝีมือรบอันเก่งกาจฉกาจ ฉกรรจ์ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ว่า "แท้จริงแล้วทรงเป็น "กวี" แท้จริงด้วย เพราะ "กวีวรโวหาร"ที่ทรงพรรณนาถึงพระบรมมหาราชวังในพระนครศรีอยุธยาเมื่อยังบริบูรณ์นั้นกระชับ รัดกุมและสง่างามยิ่ง" (๒) กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงแต่งเพลงยาวนิราศนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งเสด็จบัญชาการกองทัพเรือลงไปเตรียมรบกับพม่าทางภาคใต้เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๖ ชื่อวรรณคดีฉบับนี้คือ เพลงยาวนิราศ เป็นการบ่งบอกประเภทของวรรณคดีไปด้วยในตัวว่าเป็นนิราศซึ่งตามขนบการแต่งนั้น มักจะนิยมรำพึงรำพันถึงนางอันเป็นที่รักที่ต้องจากมา เมื่อกวีไปถึงสถานที่แห่งใดหรือพบเห็นสิ่งใดไม่ว่าจะเป็นต้นหมากรากไม้สิงสาราสัตว์ก็จะนึกถึงนางในดวงใจอย่างถวิลหาอาลัย แต่ในเพลงยาวนิราศฉบับนี้ สิ่งที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงถวิลหาอาวรณ์หาใช่สตรีนางใดนางหนึ่งไม่ แต่เป็นกรุงศรีอยุธยาที่ได้ล่มสลายไปแล้ว แม้ว่าขณะที่ทรงแต่งนั้น เหตุการณ์วิปโยคจะได้ผ่านไปนับได้ ๒๖ ปีแล้ว แต่ผู้อ่านจะสำเหนียกได้ว่า ยังทรงสะเทือนพระราชหฤทัยอยู่มิรู้วาย ทั้งนี้ คงเป็นเพราะได้ทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์โดยตลอดเนื่องจากทรงรับราชการอยู่กับสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระเจ้าเอกทัศน์) ทรงได้เห็นพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร ไพร่ฟ้าประชาชนยังอยู่ดีมีสุข ดังที่ทรงพรรณนาไว้ว่า
ตามพระบวรราชประวัติ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน พ.ศ.๒๒๘๖ เป็นพระโอรสองค์ที่ ๕ ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกและพระชนนีหยก เป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ (พระเจ้าเอกทัศน์) ดำรงตำแหน่งนายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพร (๓) ดังนั้น ย่อมจะได้ทรงเข้านอกออกในบริเวณพระบรมมหาราชวังอยู่เป็นประจำ และย่อมจะได้ซึมซับความงดงามของเขตพระราชฐานชั้นในที่ทรงสนิทชิดใกล้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความผูกพันเช่นนี้มิใช่สิ่งที่จะลบเลือนไปจากความทรงจำได้ง่ายๆ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส จึงได้ทรงบันทึกภาพแห่งความประทับใจเหล่านั้นไว้อย่างเต็มไปด้วยความอาลัย
ภาพที่ทรงพรรณนาไว้ข้างต้นมีคุณค่าต่อชาวไทยรุ่นหลังเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถจินตนาการได้ว่า สมัยก่อนนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เคยมีพระบรมมหาราชวังในลักษณะอย่างไร ประกอบไปด้วยพระที่นั่งและส่วนประกอบใหญ่น้อยตามแบบสถาปัตยกรรมของยุคนั้นอย่างไร ทั้ง "พระที่นั่งทั้งสาม" (คือพระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์) และ "พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์" สำหรับ "ประพาสมัจฉาในสระศรี" ทั้ง "มุขโถง" "มุขเด็จ" "มุขกระสัน" "บัลลังก์แก้ว" "กำแพงแก้ว" "โรงคชาธาร" "ทิมดาบ" และการตกแต่งภายในที่ "เป็นเชิงชั้นลวดลายล้วนเลขา" มีทั้ง "เพดานในไว้ดวงดารา" และ "ผนังฝาดาดแก้วดังวิมาน" ล้วนแล้วแต่เป็นรายละเอียดที่เป็นฐานข้อมูลอันมีคุณค่าสำหรับการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นอย่างยิ่ง แต่ภาพแห่งความทรงจำมิใช่ภาพแห่งความจริงอีกต่อไป จากวันที่กรุงแตกมาจนถึงวันที่ทรงพระราชนิพนธ์นิราศฉบับนี้กาลเวลาได้ผ่านกรุงธนบุรีมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พระนครศรีอยุธยาอันรุ่งโรจน์วิจิตรตระการตา "ดั่งเทวานฤมิตประดิษฐ์ไว้" เหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง ความเป็นจริงนี้สำหรับผู้ที่เคยผ่านวันวารอันน่าภาคภูมิใจกลายเป็นความจริงอันปวดร้าวที่ทำใจยอมรับได้ยากยิ่ง
วัดวาอารามในพระพุทธศาสนาที่เป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมืองคู่แผ่นดินก็พลอยตกอยู่ในสภาพที่น่าสลดสังเวชใจ ช่างน่าสะเทือนใจเป็นยิ่งนักสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้เคยเห็นยอดโบสถ์ยอดวิหารช่อฟ้าใบระกา ตลอดจนพระพุทธรูปในเครื่องทรงอร่ามมลังเมลือง มองครั้งใดก็เต็มตื้นไปด้วยศรัทธาปสาทะเป็นที่พึ่งทางใจ และเป็นส่วนสำคัญในวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยา ต้องมากลับกลายเป็นเพียงเศษอิฐเศษปูนถูกเผากลายเป็นเถ้าถ่านกองจมดิน
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทรงเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระเชษฐาธิราช ในการป้องกันประเทศแล้ว ยังทรงมีส่วนในการสร้างพระนคร คือ สร้างพระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) สร้างป้อม ประตูยอด สะพาน วังเจ้านาย บ้านรับแขกเมือง และบ้านข้าราชการหลายแห่ง ทรงสร้างโรงเรือถวายเป็นส่วนของพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงสถาปนาวัดมหาธาตุฯ พระราชวังบวร วัดชนะสงคราม วัดโบสถ์ วัดบางลำพู วัดเทวราชกุญชร วัดส้มเกลี้ยง ส่วนวัดเก่าที่ทรงปฏิสังขรณ์คือวัดสำเพ็ง วัดปทุมคงคา วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี วัดสุวรรณดาราราม และทรงสมทบทำหอพระมณเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระวิหารคดในวัดพระเชตุพนฯ ตลอดจนทรงสร้างอาคารต่างๆที่ใช้ในงานศพด้วยถาวรวัตถุ ณ วัดสุวรรณาราม (๔) ทั้งนี้ด้วยหน้าที่ของคนไทยคนหนึ่ง เมื่อมีโอกาส มีอำนาจ มีทรัพย์ มีปัญญา ก็อุทิศแรงกายแรงใจอย่างเต็มสติกำลังเพื่อสร้างกรุงขึ้นมาใหม่ (๕) แม้ว่ากรุงใหม่ที่สร้างนี้จะไม่สามารถลบภาพของกรุงเก่าอันเป็นที่สนิทเสน่หาไปได้ก็ตาม ยามใดที่หวนนึก กรุงเก่าก็ยังปรากฏอย่างแจ่มชัดในมโนทัศน์ไม่มีวันลบเลือน
ความอาลัยอาวรณ์ระคนเจือปนไปด้วยความเสียใจและเสียดายอย่างสุดซึ้งทำให้กลายเป็นความแค้นใจไปอย่างช่วยไม่ได้ สังเกตจากถ้อยคำที่ทรงใช้ นอกจากจะเป็นคำที่แสดงอารมณ์โศกอันเกิดจากบาดแผลภายในที่ยากจะเยียวยาแล้ว ยังมีถ้อยคำที่แสดงอารมณ์รุนแรงตามแบบฉบับนักรบที่กรำศึกสงครามมาโชกโชน ผ่านวันเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบากจนสามารถเห็นคนไทยเงยหน้าสู้ฟ้าได้อย่างไม่อายใคร เพราะสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่ง แต่คราใดที่หวนรำลึกถึงห้วงวิกฤติเมื่อครั้งกระนั้น ก็อดที่จะเคียดขึ้งขึ้นมามิได้ ด้วยสมัยเมื่อยังมีตำแหน่งเป็นเพียงนายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ได้เห็นความเป็นมาเป็นไปในราชสำนักอยู่ตำตา แต่ไร้ซึ่งหนทางที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ใดๆ
ในวรรคกลอนที่พาดพิงถึงสภาพการณ์ภายในราชสำนักนี้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงเอ่ยถึงทัพพม่าที่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ไว้ด้วย นั่นคือทัพของพระเจ้าอลองพญามังลองที่ยกเข้ามาพร้อมมังระราชบุตรในปี พ.ศ.๒๓๐๒ ซึ่งหากไม่บังเอิญถูกรางปืนแตกต้องพระองค์ประชวรเป็นเหตุให้ทัพพม่าต้องถอยกลับไป ก็ไม่แน่ว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยอาจเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีก
สืบเนื่องจากความสะเทือนใจอาลัยอาวรณ์ในกรุงศรีอยุธยาที่ล่มสลายไปแล้วนั้นเอง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงได้คิดที่จะเอากลับคืนจากพม่าบ้างในการศึกเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๖ ซึ่งเป็นการศึกคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชดำริว่า ควรจะไปตีเมืองเมาะตะมะและเมืองร่างกุ้งเพื่อลองกำลังพม่า หากสำเร็จก็จะตีให้ถึงเมืองหลวง จึงโปรดให้เกณฑ์ทัพยกไปโดยโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปทรงบัญชาการต่อเรือรบอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อจะยกกองทัพเรือไปทางแม่น้ำเมืองมะริด (๖) เพลงยาวนิราศได้เป็นที่บันทึกพระราชดำริและพระราชปณิธานของกรมพระราชวังบวรฯในการศึกครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงความเป็นนักรบและนักวางแผนการยุทธ์ผู้เจนจบ
วรรคกลอนในตอนนี้สะท้อนว่า เหตุการณ์การเสียกรุงยังคงฝังใจคนร่วมสมัยอยู่ หากจะเปรียบเป็นแผลก็เป็นแผลที่ยังคงทิ้งรอยไว้ เมื่อเห็นหรือสัมผัสรอยนั้นทีไรก็ให้เจ็บแปลบที่ใจไปทุกคราว
อย่างไรก็ตามการศึกครั้งนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไม่สามารถ "จะเห็นเมืองพม่าในครั้งนี้" ดังที่ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ เพลงยาวนิราศฉบับนี้จบลงด้วยการกล่าวถึงคำทำนายแต่เก่าก่อน ซึ่งเปรียบเทียบเป็นนิทานว่า หงส์มากินน้ำในหนองแล้วถูกพรานป่าอองไจยฆ่า โดยเปรียบพรานป่าเป็นพม่า ส่วนหงส์นั้นคือมอญ พม่าสามารถตีเอามอญได้ แต่นิทานยังมีต่อไปว่าจะมีพยัคฆ์มากินพรานที่ยิงหงส์ตาย ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงตีความตอนนี้ว่า พยัคฆ์ก็คือไทย ทัพไทยในครั้งนี้จะพิชิตพม่าที่คือพรานป่าตามคำทำนาย
แต่กาลเวลาก็ได้ทำให้ประจักษ์แล้วว่า พยัคฆ์ในคำทำนายมิใช่ชาติไทย แต่เป็นชาติอื่นที่ทำให้ "อังวะจะฉิบหายในครั้งนี้" วรรคกลอนสุดท้ายในเพลงยาวนิราศเป็นการอัญเชิญเทพยดาจากสวรรค์มาอำนวยพร และดลใจให้ชาวไทยช่วยกันสู้จนกว่าการศึกจะเสร็จสิ้น
เพลงยาวนิราศกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พ.ศ.๒๓๓๖ นี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของวรรณคดีที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์อย่างแนบแน่น เนื่องจากสาระสำคัญคือการกล่าวถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สองเหตุการณ์ คือการเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ และการยกทัพไทยไปตีเมืองพม่า พ.ศ.๒๓๓๖ อีกทั้งผู้ประพันธ์ก็เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยผู้หนึ่งที่ได้ผ่านเหตุการณ์ทั้งสองมาด้วยพระองค์เอง ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ความทุกข์ยากลำเค็ญที่ทรงเผชิญมา แม้ว่าจะเป็นเพียงมุมมองหนึ่งของบุคคลเพียงคนเดียว แต่ก็เป็นการบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกของคนสมัยอยุธยาที่ถ่ายทอดอารมณ์สะเทือนใจได้อย่างลึกซึ้ง ในฐานะกวี"พระยาเสือ" สมควรแล้วกับคำว่า "กวีวรโวหาร" โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบทกลอนที่ประทับใจทุกผู้ทุกนามบทนี้
(*) จาก อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์, เอกสารคำสอน วิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔. (๑) วินิตา
ดิถียนต์. "เบื้องหลัง รัตนโกสินทร์ การนำวิธีวิจัยมาใช้ในการแต่งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์"
ในรัตนโกสินทร์.บริษัท ต้นอ้อ จำกัด.กรุงเทพฯ ๒๕๓๕.หน้า๔๒๒. (๒) สุจิตต์
วงษ์เทศ. "กรุงแตก" ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองก็จะออกไปอยู่ไพร"
ในศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๖ ๒๕๓๘ หน้า ๕๕-๖๓. (๓) ศิลปากร,
กรม, อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล สหประชาพาณิชย์,
๒๕๒๖, หน้า ๑๑๔. (๔) อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย,
อ้างแล้ว, หน้า ๑๑๔, ๑๑๕, ๑๒๘. (๕) การสร้างกรุงเทพฯ
เป็นราชธานีนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยึดแบบอย่างกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก
กล่าวคือ การสร้างสิ่งต่างๆสำหรับพระนคร เช่น พระบรมมหาราชวัง ก็ทรงสร้างตามพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา
เป็นต้นว่า พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ลอกแบบพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท
หรือสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดในพระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยกรุงศรีอยุธยา
นอกจากนี้ในส่วนของศิลปวัฒนธรรมแบบแผนประเพณีต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ฟื้นฟูแบบอย่างจากกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น
ดังเช่นที่มีสำนวนพูดกันว่า สร้างกรุงเทพฯ ให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี
และนามของกรุงเทพฯ เองก็ยึดนามของกรุงศรีอยุธยาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญให้เห็นการต่อเนื่องของราชธานีประเทศไทยมาตามลำดับ
นามเต็มของกรุงเทพฯ คือ "กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรา อยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์
อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"
อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย, อ้างแล้ว, หน้า ๑๕๘, ๑๕๙. (๖) อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย,
อ้างแล้ว, หน้า ๑๙๕.
|