มายาภาพของอุดมคติ

อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์ (*)

สาเหตุหนึ่งของการเข้าสงครามของบรรดาเด็กหนุ่มเยอรมันที่เพิ่งจะจบการศึกษาจากโรงเรียนก็คือ การได้รับอิทธิพลทางความคิดจากครู ครูในโรงเรียนเป็นผู้ปลูกฝังความคิดในแก่นักเรียนว่า การสมัครเข้าเป็นทหารในสงครามนั้น แสดงถึงความเป็นชายชาตรีผู้กล้าเป็นการรับใช้ชาติ การเป็นทหารแสดงถึงความรักมาตุภูมิบ้านเกิดเมืองนอน และได้ทำหน้าที่ของลูกผู้ชายอย่างสมบูรณ์ หากผู้ใดปฏิเสธการเป็นทหาร ก็จะถูกตราหน้าได้ว่าเป็นคนขี้ขลาดตาขาว ตัวละครที่สวมบทบาทครูและเป็นผู้ชักจูงตัวละครเอกกับเพื่อนๆ ให้เป็นทหารคือ คันเทอเรค น้ำเสียงที่ตัวละครเอกกล่าวถึงครูโรงเรียนของเขานั้น มิได้มีความชื่นชมแต่ประการใด เพราะเมื่อมาอยู่ในสมรภูมิเข้าจริงๆ เด็กหนุ่มก็ตระหนักว่า สิ่งที่ครูสั่งสอนและบรรยายอย่างสวยหรูในโรงเรียนนั้น แตกต่างกันลิบลับจากสภาพความเป็นจริง แต่ก่อนที่จะได้ตระหนักถึงความจริงอันโหดร้ายนั้น เด็กหนุ่มทั้งหลายถูกครอบงำทางความคิดโดยผู้เป็นครูซึ่งชอบสาธยายเหตุผลอย่างยืดยาว จนในที่สุดนักเรียนทั้งชั้นก็ตามครูไปหาผู้บังคับการจังหวัด และสมัครเป็นทหารกันหมด มีบางคนเหมือนกันที่ไม่เต็มใจจะเข้าสงครามแต่ก็ต้องยอมทำสิ่งที่ค้านกับใจตนเอง มิฉะนั้นจะถูกไล่ออกหรือมิฉะนั้นก็กลัวถูกประณาม "เพราะในเวลานั้น ตลอดจนผู้ปกครองก็มีคำว่า 'ขี้ขลาด' ติดอยู่ที่ริมฝีปากเสมอ" ตัวละครเอกอดไม่ได้ที่จะกล่าวโทษครู เพราะครูเป็นผู้ผ่านชีวิตมามากกว่า น่าจะชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกที่ควรให้แก่ลูกศิษย์ แทนที่จะชี้นำให้ไปตายหรือบาดเจ็บในสงคราม

สำหรับพวกเราซึ่งเป็นเด็กหนุ่มๆ อายุเพียงสิบแปดปี พวกเหล่านั้นควรจะเป็นผู้วินิจฉัย ผู้แนะนำชี้ทางไปสู่โลกแห่งความเป็นผู้ใหญ่ โลกแห่งการงาน แห่งหน้าที่ แห่งทางไปสู่ความเจริญ-ไปสู่อนาคต จริงหรอกเราชอบเอาท่านมาล้อเล่น เอามาเป็นตัวตลกบางครั้งบางคราว แต่น้ำใสใจจริงทำไมเราจะไม่เชื่อถือท่าน (…) แต่พอเราได้เห็นความตายเข้าทีแรก ความเชื่อถืออันนั้นก็พลันแตกสลายเป็นชิ้นๆ เรากลับเห็นว่าคนในวัยเดียวกับเราเป็นผู้ที่น่าจะเชื่อฟังเสียมากกว่า ท่านเหล่านั้นดีแต่พูดเก่งและรู้มาก กระสุนปืนใหญ่ซึ่งมาตกเป็นนัดแรกทำให้เราเห็นทันทีว่าเราคิดผิด โลกที่ท่านเคยสั่งสอนมาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้แตกกระจายไปด้วยชิ้นกระสุนที่ระเบิดนั้นเสียแล้ว

จากเด็กหนุ่มที่เชื่อผู้ใหญ่และเชื่อคำสั่งสอนในห้องเรียน จากเด็กหนุ่มที่ไม่เดียงสาต่อชีวิต มองทุกอย่างด้วยสายตาแจ่มใสและวาดหวังอนาคตอันรุ่งโรจน์ไว้ข้างหน้า ไม่เคยประสบหรือแม้แต่จะคิดถึงด้านมืดของชีวิต ไม่เคยเฉียดใกล้ประสบการณ์ความเป็นความตาย ไม่เคยสัมผัสความทุกข์ทรมานสาหัสสากรรจ์ซึ่งๆ หน้า กลับต้องเผชิญกับทุกอย่างที่บีบคั้นทารุณจิตใจในสมรภูมิรบ ทุกสิ่งในสนามรบคือเรื่องจริงที่เด็กหนุ่มเหล่านี้ไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะได้พานพบ เพาล์ได้เห็นเพื่อนทะยอยเสียชีวิตไปทีละคน บางคนถูกยิงที่ลูกตาและ "คลั่งด้วยความเจ็บปวดเหลือประมาณ" ก่อนที่จะตาย บางคนถูกตัดขาและเจ็บปวดทรมานจนเพื่อนๆ ต้องติดสินบนพลพยาบาลให้ฉีดมอร์ฟีนให้ก่อนจะสิ้นใจ เพาล์ได้เห็นทหารรุ่นเด็กกว่าตนเอง ตายอย่างน่าสมเพชด้วยความไม่ชำนาญการรบ ถูกยิงโดยเครื่องบินบ้าง ถูกไอพิษจนปอดพิการหายใจไม่ออกตายบ้าง หรือได้เห็นข้าศึกฝ่ายตรงข้ามที่ตนสังหารตายอย่างสยดสยอง ภาพเหล่านี้ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาที่ได้รับการบ่มเพาะจากโรงเรียนอย่างสิ้นเชิง

ด้วยนัยน์ตาอันใหม่ซึ่งเพิ่งจะเปิดขึ้น เราได้เห็นแล้วว่าความคิดในเรื่องบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งครูบาอาจารย์เคยสอนมานั้น ในที่นี้แปลว่าการยอมเสียสละซึ่งตนเอง ดังที่ไม่มีใครจะกล้าขอต่อขี้ข้าของตนเลย

จะให้ยังเชื่อครูอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อความจริงที่ได้รับรู้ด้วยตนเองนั้นแตกต่างจากคำสอนของครูอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ อุดมคตินั้นสวยสดงดงาม แต่ความเป็นจริงคือสิ่งเลวร้ายอัปลักษณ์

ขณะที่ท่านยังคงเขียนหนังสือและปาฐกอยู่ เราแลเห็นคนเจ็บและคนกำลังจะสิ้นใจ ขณะที่ท่านสอนว่าหน้าที่สำหรับชาติบ้านเกิดเมืองมารดรนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราได้เรียนรู้เสียแล้วว่าความเจ็บปวดเมื่อจะสิ้นใจนั้นร้ายแรงกว่า แต่กระนั้นเราก็ไม่ใช่เป็นคนทรยศ ไม่ใช่คนหนี และไม่ใช่คนฉลาด- ท่านพวกนั้นชอบกล่าวถึงคำเหล่านี้นัก เรารักประเทศบ้านเมืองของเรามากเท่าท่าน เราได้ปฏิบัติกิจการทุกอย่างโดยมิได้ย่อท้อ แต่เราก็ได้รู้จักแยกความเท็จออกจากความจริงด้วยเหมือนกัน เราได้เรียนแล้ว ได้เห็นแล้วอย่างทันทีทันควัน ได้เห็นแล้วว่าโลกของท่านได้ย่อยยับไปอย่างไม่มีอะไรเหลือ

นอกจากคันเทอเรคก็ยังมีตัวละครที่เป็นครู คือครูสอนภาษาเยอรมันและครูใหญ่ ซึ่งมีความคิดเกี่ยวกับสงครามในแนวทางเดียวกัน คือเห็นว่าผู้ที่เป็นทหารนั้นคือผู้รับใช้ชาติ เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อแผ่นดิน ดังนั้นเมื่อเพาล์กลับมาเยี่ยมบ้านและได้พบกับบุคคลที่อยู่ในแนวหลัง จึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้รับการเชิญให้ดื่มเบียร์ และสูบซิการ์ตามธรรมเนียมของชาวเยอรมันในการต้อนรับอาคันตุกะที่ได้รับการยกย่อง บรรดาแนวหลังเหล่านี้ กระตือรือร้นที่จะชวนเพาล์สนทนาในเรื่องที่เกี่ยวกับสงคราม และออกรสไปกับการแสดงความเห็นของตน ซึ่งสะท้อนถึงภาพที่ตรงข้ามกันระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง ในอุดมคติของอาจารย์ใหญ่นั้น ประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นผู้นำของฝ่ายมหาอำนาจกลาง เข้มแข็งในการยุทธ์จนปิดประตู้แพ้ เหลือเพียงคำถามว่า "เยอรมนีควรจะเข้ายึดเมืองใดบ้างเมื่อเลิกสงครามแล้ว" เท่านั้น และเขาก็สาธยายเหตุผลว่า เหตุใดเยอรมนีจึงควรเข้ายึดครองประเทศเบลเยียมทั้งประเทศ มณฑลที่มีถ่านหินในประเทศฝรั่งเศส และประเทศรัสเซียบางส่วน ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นว่า บรรดาแนวหลังสนทนากันในลักษณะของผู้มิทิ่ได้อยู่ในสมรภูมิรบจริงๆ การออกความเห็นจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการฝันเฟื่อง และเข้าข้างพวกพ้องตนเอง บ้างก็แสดงภูมิรู้ แนะนำทหารหนุ่มว่าควรจะต้องดำเนินแผนการรบอย่างไร โดยคิดว่าทหารหนุ่มนั้นรู้น้อยกว่าตน

"อ้ายสงครามสนามเพลาะนี่เลิกกันเสียบ้างซี - ต้องเจาะเข้าไปให้ได้แล้วสงครามก็จะเสร็จเท่านั้นเอง" (...) "แกก็รู้แต่ส่วนปลีกย่อยน่ะซี" ท่านว่า "แต่เรื่องที่มันเกี่ยวกับส่วนใหญ่ทั้งหมด แกก็ไม่อาจวินิจฉัยได้ แกเห็นแต่ด้านของแกนิดเดียว ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ทั่วไป แกทำหน้าที่ของแก แกสละชีวิตของแกนั่นก็นับว่าเป็นเกียรติยศอย่างสูง - ทุกคนอย่างแกควรจะได้รับตราเหล็ก - แต่ก่อนอื่นต้องเจาะแนวข้าศึกเข้าไปให้ได้ทางมณฑลฟลันเดอรส์ แล้วจึงตลบมาจากข้างบน" ท่านพูดพลางสูดขี้มูกแล้วเช็ดหนวด "ต้องตลบให้ตลอดถึงจะได้ จากข้างบนถึงข้างล่าง แล้วจึงเข้ายึดปารีส"

ความเห็นของอาจารย์ใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่เพาล์คิดเลย แต่เมื่อเพาล์แย้งกลับไปในเชิงไม่เห็นด้วย อาจารย์ใหญ่ก็ปฏิเสธความเห็นของเพาล์ทันทีตามแบบฉบับของ "ผู้ใหญ่" ที่คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าผู้เยาว์เสมอ เพาล์ถึงกับปรารภกับตนเองว่า "ข้าพเจ้าอยากรู้นักว่าท่านเห็นภาพสงครามของท่านอย่างไร" แน่นอนว่าภาพของทั้งคู่ไม่ใช่ภาพเดียวกัน ภาพหนึ่งเป็นจินตนาการของ "ผู้ใหญ่" ส่วนอีกภาพหนึ่งคือภาพที่นักรบหนุ่มได้ประสบมาด้วยตาของตนเอง ซึ่งทำให้ย้อนคิดได้ว่า เมื่อผู้ใหญ่วาดภาพไปตามความนึกคิดของตน แต่กลับเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการเข้าสงครามของเด็กหนุ่ม เป็นผู้กระตุ้นให้เด็กหนุ่มเหล่านี้เข้าสมัครเป็นทหาร เป็นผู้ยกย่องเชิดชูด้วยถ้อยคำสวยหรู เขาเหล่านี้หรือมิใช่ ที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาแต่สงคราม ไม่น้อยไปกว่าพวกผู้นำประเทศและผู้นำกองทัพทั้งหลาย ที่เดินหมากยุทธศาสตร์อยู่แต่ในห้องบัญชาการ

หากพิเคราะห์ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่เลนิน ผู้นำบอลเชวิคทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาล รัสเซียชั่วคราวนั้น เลนินได้เรียกร้องให้ยุติสงครามในยุโรป ด้วยเห็นว่าประชาชนทุกข์ยากลำบาก แต่รัฐบาลของประเทศมหาอำนาจทั้งหลายที่ร่วมทำสงคราม ต่างไม่เห็นด้วยเพราะต้องการให้รู้แพ้รู้ชนะกันไป

รัฐบาลรัสเซียภายใต้การนำของเลนิน จึงขอเจรจาสงบศึกกับเยอรมนีโดยลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเบรสต์ - ลิตอฟสค์ (Brest- Litovsk) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1918 (๑) ความจริงข้อนี้แสดงให้เห็นว่า บรรดาผู้นำประเทศที่อยากทำสงครามนั้น มองเห็นภาพสงครามคนละภาพกันกับประชาชนหรือทหาร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม ในรัสเซีย ประชาชนโดยเฉพาะชาวนา มีชีวิตที่ลำเค็ญจนเกิดการปฏิวัติขึ้น การปฏิวัติในรัสเซีย นอกจากจะเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระเจ้าซาร์แล้ว ยังเกิดเพราะความยากลำบากที่ประชาชนและทหารได้รับจากสงครามอีกด้วย ภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลชั่วคราวภายใต้การนำของเคเรนสกี ก็ยังพยายามทำสงครามต่อไป แต่ทหารรัสเซียไม่ปรารถนาจะสู้รบอีกแล้ว ที่ละทิ้งหน้าที่และเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนมีจำนวนนับพันๆ คน เช่นเดียวกับทหารฝรั่งเศสที่ในปี 1917 ได้เริ่มก่อการกบฏ หลังจากร่วมมือกับกองทัพอังกฤษโจมตีแนวรบของเยอรมันทางด้านตะวันตกอ่างเต็มกำลังความสามารถ แต่กลับถูกตอบโต้จนสูญเสียชีวิตทหารไปกว่าแสนคน ทหารฝรั่งเศสจำนวนนับพันๆ คนละทิ้งหน้าที่เดินทางเข้ากรุงปารีสเพื่อเรียกร้องให้ยุติสงคราม (2) แต่จะเห็นได้ว่า บรรดาผู้นำประเทศคู่สงคราม ต่างก็เพิกเฉยต่อปฏิกิริยาของทหารที่หนีทัพเหล่านี้ ชัยชนะคือจุดมุ่งหมายเพียงประการเดียวของผู้นำ ในความคิดของพวกนี้สงครามคือความร่งุโรจน์ สงครามคือเครื่องประกาศศักดาอานุภาพของผู้เข้มแข็ง และชัยชนะคือรางวัลตอบแทนสำหรับผู้ที่เข้มแข็งที่สุด ความปรารถนาในชัยชนะ ทำให้ผู้กระหายสงครามตามืดบอดต่อความทารุณโหดร้ายที่เป็นผลพวงของสงคราม

สภาพชีวิตของทหารในสมรภูมิ

ผู้ประพันธ์ได้ให้ภาพชีวิตประจำวันของเด็กหนุ่มที่ไปเป็นทหาร ซึ่งสะเทือนใจผู้อ่านไม่น้อย เนื่องจากเต็มไปด้วยความอัตคัดขัดสนลำบาก ทั้งในการกินและการอยู่ เหตุผลประการหนึ่งเป็นเพราะทหารต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสนามเพลาะ สงครามโลกครั้งที่ 1 มีอีกชื่อหนึ่งว่า "สงครามสนามเพลาะ" ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากภายหลังการรบที่ลุ่มแม่น้ำมาร์น กองทัพเยอรมันเข้ายึดเบลเยียมได้เกือบทั้งประเทศ ได้ประเทศฝรั่งเศสส่วนหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ นายพลฟอน ฟอลเคนไฮน์ ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพของกองทัพเยอรมัน หาทางที่จะรักษาดินแดนที่ยึดไว้ไม่ให้ฝ่ายพันธมิตรตีคืนไป จึงให้ขุดสนามเพลาะเพื่อให้ทหารเข้าไปอาศัยอยู่ และหลบการโจมตีจากฝ่ายพันธมิตร ด้วยวิธีนี้ ฝ่ายเยอรมันอาจป้องกันดินแดนที่ยึดมาได้โดยไม่ต้องใช้กำลังคนมาก และไม่ต้องเสี่ยงกับความเสียหายหนักด้วย ทั้งฝ่ายเยอรมนีและฝ่ายพันธมิตรจึงเริ่มขุดสนามเพลาะ และขุดเส้นทางขนส่งเสบียงและสรรพาวุธ ส่วนทางข้างหน้าของสนามเพลาะได้สร้างแนวรั้วลวดหนามกั้นไว้ เพื่อมิให้ศัตรูบุกเข้ามาได้โดยง่าย สนามเพลาะของฝ่ายเยอรมันบางแห่งขุดลึกถึง 40-50 ฟุต ใช้ไม่กระดานหนาประกบเป็นผนัง มีรางรถสำหรับขนส่งเสบียงอาหารและอาวุธด้วย แนวสนามเพลาะของทั้งสองฝ่ายนี้ ยาวหลายร้อยไมล์ จากเขตแดนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไปจนถึงฝั่งทะเล ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งกองบัญชาการอยู่ในสนามเพลาะ นับได้ว่าสงครามสนามเพลาะมีองค์ประกอบคื อเสียม รั้วลวดหนาม และปืนกลเป็นลักษณะของการโรมรันทางแนวรบด้านตะวันตก (3)

ด้วยสภาพการรบเช่นนี้ ทหารจึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในสนามเพลาะอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ในบางเวลาที่ปลอดจากการโจมตี พวกทหารสามารถฆ่าเวลาด้วยการเล่นไพ่ ซึ่งนับว่ายังโชคดีที่มีช่วงเวลาผ่อนคลาย แต่ก็เสี่ยงอันตรายอย่างสูงไม่แน่ว่าวินาทีใดวินาทีหนึ่ง อุโมงค์ในสนามเพลาะจะถล่มลงมา ดังเช่นเพาล์เคยเผชิญมาแล้ว

เมื่อสองสามเดือนมานี่ ข้าพเจ้านั่งเล่นไพ่อยู่ในอุโมงค์แห่งหนึ่ง เล่นอยู่ได้สักครู่ ข้าพเจ้าก็ลุกขึ้นไปหาเพื่อนที่อุโมงค์อีกแห่งหนึ่ง พอกลับมา อุโมงค์แห่งแรกก็ถูกทำลายเสียหมดแล้ว กระสุนตกลงมาถูกจังๆ เข้านัดหนึ่ง ข้าพเจ้ากลับไปยังอุโมงค์ที่สอง พอดีต้องช่วยเขาขุดดินอีก เพราะระหว่างนั้นอุโมงค์ที่สองก็ได้ถูกกลบเสียด้วยเหมือนกัน

สนามเพลาะเป็นที่กำบังของเหล่าทหาร แต่ใช่ว่าจะคุ้มกันการโจมตีได้ร้อยเปอร์เซนต์ แม้ว่าตามประวัติศาสตร์นั้น สนามเพลาะของฝ่ายเยอรมันจะได้เปรียบกว่าฝ่ายพันธมิตร เพราะขุดสนามเพลาะอยู่ในชัยภูมิค่อนข้างสูงและสร้างอย่างดี แต่แม้กระนั้นทหารก็ยังต้องหวาดผวาเมื่อถูกโจมตีอย่างหนัก

ทุกคนรู้สึกว่ากระสุนปืนขนาดหนักกำลังทำลายสนามเพลาะ ขุดผนัง ขุดพื้นคอนกรีต พอกระสุนตกลงในสนามเพลาะนัดหนึ่ง เราอาจสังเกตเสียงดู คล้ายๆ สัตว์อันดุร้ายกำลังตะครุบอาหารของมันด้วยฝ่าตีนอันกำยำ พอตอนเช้าทหารใหม่บางคนทำหน้าเขียวซีดอาเจียนไปตามกัน เจ้าพวกนี้ยังไม่คุ้นเคยต่อการพรรค์นี้ (…) สนามเพลาะของเราเกือบจะหมดอยู่แล้ว บางแห่งลึกเพีงสิบแปดนิ้ว บางแห่งเป็นหลุมเป็นบ่อ บ้างก็เป็นกองดินราวกับภูเขา ลูกกระสุนนัดหนึ่งมาตกตรงหน้าอุโมงค์เรา ทันใดนั้นอากาศก็มืด เราถูกฝังเสียแล้ว ต้องพยายามขุดดินออก ชั่วโมงหนึ่งภายหลังจึงทำทางออกมาได้ เราค่อยใจเย็นลงหน่อยเพราะได้มีงานทำ

การที่ต้องอยู่ในสถานที่แคบเช่นสนามเพลาะ เป็นภาวะที่น่าอึดอัดทรมานเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อสถานการณ์ล่อแหลมวิกฤติข้าศึกระดมโจมตีอย่างหนักด้วยเครื่องบิน ระเบิด และก๊าซพิษ จนออกไปตอบโต้ไม่ได้ ต้องอยู่แต่ในสนามเพลาะก็ยิ่งเพิ่มความกดดันมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทหารบางคน โดยเฉพาะทหารที่อายุน้อยมากและเพิ่งถูกส่งมาประจำการ ประสบการณ์ความโชกโชนในการยุทธ์ยังน้อย ก็จะเกิดอาการควบคุมตนเองได้ยาก อาการขั้นเบาคือหน้าซีด ตัวสั่น หนักหน่อยคือ นั่งสะอื้น ซึ่งใครก็คงนึกไม่ถึงว่าชายชาติทหารจะนั่งร้องไห้ในสมรภูมิ แต่เมื่อนึกถึงว่าทหารเหล่านี้คือใครเล่า พวกเขาก็คือเด็กหนุ่มที่บางคนหนวดเพิ่งขึ้น เสียงเพิ่มแตก ได้รับการฝึกฝนสำหรับการสู้รบมาเป็นเวลาน้อย ยังไม่เคยพบเห็นการพิฆาตฆ่าฟันใดๆ มาก่อนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กหนุ่มเหล่านี้มองโลกด้วยสายตาอุดมคติ เมื่อต้องมาเผชิญกับสงครามเข้าจริงๆ ก็ขวัญเสีย เพราะตั้งสติรับไม่ทันกับสภาพความทารุณโหดร้ายที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นว่ าทหารหนุ่มบางคนประสาทเสียจนถึงกับเกิดอาการคลั่ง "นั่งเคี้ยวฟัน เดี๋ยวกำหมัด เดี๋ยวก็แบมือ นัยน์ตาเถลือกถลน" แล้วพยายามจะเล็ดลอดออกไปจากสนามเพลาะ ซึ่งเป็นการกระทำที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง บรรดาเพื่อนต้องช่วยกันจับตัวไว้ การบรรยายตอนนี้ทำได้ละเอียดชัดเจนให้ภาพที่สะเทือนอารมณ์ ผู้อ่านจะเห็นภาพเด็กหนุ่มที่มีสภาพเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางขณะนัยน์ตาสดใสแต่ชั่วครู่เดียวก็กลับขุ่นราวกับสุนัขบ้า บางครั้งเอาหัวชนฝาผนังคล้ายแพะ เมื่อถูกรวบตัวไว้ก็ดิ้นพราดๆ ปากแบะ เป็นเหตุให้ถูกทุบตีแรงๆ เพื่อจะได้เรียกสติสัมปชัญญะกลับคืนมาใหม่ แต่เมื่อโดนโจมตีหนักเข้า สติที่เรียกกลับคืนมาได้ก็หลุดลอยไปอีก และแพร่ระบาดทำให้คนอื่นคลั่งตามไปด้วย แน่นอนว่าเมื่อขาดสติเสียแล้วหานะก็ย่อมตามมา ทหารเด็กที่คลั่งไม่มีสติพอจะคิดเอาตัวรอด จึงสิ้นชีวิตไปพร้อมๆ กันเมื่อสิ้นเสียงระเบิด ผู้ประพันธ์ใช้ถ้อยคำน้อยในการบรรยายเหตุการณ์ตอนนี้ แต่ให้ผลลัพธ์ที่สยดสยองยิ่งนักในความรู้สึก

พอดีมีเสียงระเบิดขึ้นอีก ข้าพเจ้าหมอบลงโดยเร็ว พอลุกขึ้นก็แลเห็นฝาผนังสนามเพลาะตรงหน้ามีเครื่องประดับ ชิ้นระเบิดยังมีควัน เนื้อเลือดยังแดง ชิ้นเครื่องแบบติดอยู่เต็ม

ผู้ประพันธ์ใช้ประโยคๆ หนึ่งที่สื่อความคับแคบของอุโมงค์ และอากาศอันอุดอู้รบกวนเส้นประสาทอย่างหนัก นั่นก็คือ ประโยคที่ว่า "เรานั่งราวกับอยู่ในหลุมศพคอยให้คนเอาดินกลบ" เป็นภาวะที่เหมือนรอความตาย เพราะไม่รู้ว่าเมื่อใดระเบิดจะถล่มอุโมงค์ หรือเมื่อใดสะเก็ดระเบิดไม่ก็กระสุนปืนจะพุ่งเข้าโดนใคร

ทันใดนั้นเสียงระเบิดและประกายก็บังเกิดขึ้นอีกอย่างรุนแรง อุโมงค์ของเราสั่นทั่วทุกระแหง ถูกลูกกระสุนเข้าอย่างจัง เคราะห์ดีที่เป็นลูกกระสุนอย่างขนาดย่อม คอนกรีตพอทนทานไว้ได้ แต่กระนั้นฝาผนังก็สั่น ปืน หมวกเหล็ก ดิน โคลน และผงผุ่นกระเด็นกระจายทั่วไป กลิ่นกำมะถันเข้ามาตลบ ถ้าเป็นอุโมงค์บางๆ อย่างที่เขาสร้างกันเวลานี้ แทนที่จะเป็นอุโมงค์ลึกอย่างอันนี้ พวกเราจะไม่เหลือกันสักคนเดียว

สนามเพลาะคือยุทธวิธีหนึ่งที่นักยุทธศาสตร์คิดขึ้นมาเพื่อพิชิตศึก มันถูกคิดและสร้างขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อเป็นที่บัญชาการ เพื่อเป็นที่กำบัง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าโจมตี ตลอดจนเป็นที่กินที่นอน ที่ขนถ่ายเสบียงและยุทโธปกรณ์ นั่นคือเหตุผลตามตำราพิชัยสงคราม แต่ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญแห่งความเป็นจริง สนามเพลาะคือที่ที่ทำให้คนเจียนบ้า ความรู้สึกของทหารในสนามเพลาะ ช่างแตกต่างกันลิบลับกับอุดมคติที่วาดฝันไว้งดงามสูงส่ง ขณะที่ซุกตัวอยู่ในที่กำบังอันคับแคบ ตัวละครเอกรู้สึกราวกับว่าร่างกายของเขาเปรียบเสมือน "หนังบางๆ ซึ่งห่อหุ้มความคลั่งที่ถูกอัดไว้ ความคลั่งที่จวนจะระเบิด" ร่างกายราวกับไม่มีเนื้อไม่มีกล้าม แต่เป็นมวลสารของความคลั่ง ความตึงเครียดเช่นนี้ทำให้ทหารไม่กล้ามองหน้ากัน "เพราะกลัวจะเกิดอะไรขึ้นก็ทายยาก" ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า อาจจะคลั่งจนฆ่าพวกเดียวกันเองได้ถ้าไม่คุมสติให้มั่นไว้

นอกจากความกดดันอันเนื่องมาจากสภาพทางกายภาพแล้ว ยังมีความคับข้องทั้งกายและใจอันเกิดจากสัตว์ที่น่ารังเกียจอีกด้วยนั่นคือ หนู ใครจะคาดคิดบ้างว่า ทหารหาญนอกจากจะต้องเผชิญกับข้าศึกปัจจามิตรที่เป็นมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังต้องผจญกับศัตรูที่เป็นสัตว์หน้าขนน่าขยะแขยงดังเช่นหนูอีกด้วย ผู้ประพันธ์บรรยายฉากการโรมรันพันตูระหว่างทหารกับหนู ด้วยถ้อยคำที่กระตุ้นอารมณ์ขัน แต่หากนึกภาพตามไปด้วยแล้ว สิ่งที่ดูน่าขบขันจะกลายเป็นขันไม่ออกเสียมากกว่า เมื่อนึกจินตนาการตามผู้ประพันธ์ไปว่า ในสนามเพลาะนั้นมีหนูชุกชุม ขนาดห่อขนมปังไว้ในผ้าแล้วเอาหนุนหัวนอน หนูก็มาไต่ใบหน้าเพราะจะมากินขนมปัง เมื่อเอาขนมปังแขวนเชือกห้อยจากหลังคา หนูตัวเบ้อเริ่มก็ดั้นด้นไปกินขนมปังจนได้ ตัวละครเอกให้ภาพหนูว่า "น่าเกลียดเป็นพิเศษ" และเรียกมันว่า "หนูกินศพ" เพราะมันกินแมวและหมาที่มันช่วยกันรุมกัด มันหน้าตาเกลี้ยงๆ "ดูน่าขยะแขยง เห็นหางยาวเป็นมันของมันเขาก็ชักคลื่นไส้" วิธีจัดการมันก็คือ เอาชิ้นส่วนขนมปังที่ถูกหนูแทะแล้วมากองรวมกันไว้บนพื้น แล้วถืออาวุธนอนคอยอยู่ในความมืด เมื่อได้ยินเสียงหนูวิ่ง ก็ส่องไฟแล้วทุกคนก็ตีลงไปที่กองขนมปัง การกระทำเช่นนี้ของเหล่าทหารราวกับเป็นการละเล่นสนุกๆ แต่หากใครโดนเข้ากับตัวเองคงไม่สนุกแน่นอน

เราขว้างศพหนูไปให้พ้นสนามเพลาะ แล้วนอนคอยไปใหม่ เป็นหลายครั้งเราทำเช่นเดียวกัน ในที่สุดอ้ายสัตว์มันรู้ เท่าที่มันจะได้กลิ่นเลือด มันไม่มาอีก แต่ถึงกระนั้นก่อนจะถึงเช้า ขนมปังที่เหลืออยู่ถูกมันเอาไปจนหมดจนได้

ฉากการกำจัดหนูนี้เป็นการสื่อทางอ้อม ถึงความอัตคัดเสบียงอาหาร อาหารเป็นสิ่งมีค่ามาก จนไม่สามารถจะปล่อยให้หนูมาแบ่งปันไปเลี้ยงชีวิตมัน เพราะแม้เศษขนมปังก็สามารถต่อชีวิตของทหารให้ยืนยาวต่อไปได้ในยามขัดสนถึงขีดสุด ในยามที่มีเสบียงเพียงพอ ทหารอาจได้รับประทานเนยแข็งและเหล้ารัม แต่เมื่อขาดแคลน แม้แต่ขนมปังก็ถึงกับต้องกินส่วนที่นิ่มก่อน แล้วเก็บเปลือกแข็งข้างนอกเอาไว้กินภายหลัง

เราต้องรัดเข็มขัดขึ้นอีกหน่อย และเคี้ยวอาหารที่เหลืออย่างช้าๆ สามเท่าที่เคยเคี้ยว แต่กระนั้นอาหารก็ไม่พอ เราหิวกันจัง ข้าพเจ้าหยิบขนมปังขึ้นมาชิ้นหนึ่ง กินส่วนสีขาวเสีย เปลือกนั้นเก็บใส่ย่ามไว้ นานๆ ทีจึงชักขึ้นมาดูด

ความขาดแคลนอาหารเช่นนี้ ทำให้บางครั้งการเข้าโจมตีข้าศึกของฝ่ายเยอรมัน มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อต้องการอาหารจากฝ่ายพันธมิตร ซึ่งได้ชื่อว่าเนื้อกระป๋องอร่อยยิ่ง เมื่อเทียบกับอาหารของฝ่ายเยอรมันที่ไม่มีเนื้อ จึง "ดูราวกับของวิเศษ" ผู้อ่านอาจจะไม่เคยนึกว่าขนมปังสูงค่าปานใด จนเมื่อได้รับรู้ว่าเพื่อนของตัวละครเอกที่ชื่อเฮย์ ได้ขนมปังฝรั่งเศสสีขาวมาก้อนหนึ่งมาแล้ว "ผูกไว้กับเข็มขัดราวกับเครื่องมือโยธาสนาม มันเปื้อนเลือดอยู่นิดหน่อย แต่นั่นตัดออกเสียก็ได้" หากเป็นในยามปกติ ขนมปังที่เปื้อนเลือดมนุษย์เช่นนี้คงไม่มีใครปรารถนา แต่ในยามสงครามที่เสบียงอาหารเป็นสิ่งที่หายาก ขนมปังก้อนหนึ่ง แม้จะสกปรกน่าพะอืดพะอมก็มีค่าราวกับทองคำ

ความเสื่อมของการเป็นมนุษย์

จากเด็กหนุ่มที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา สดชื่นแจ่มใส อัดแน่นไปด้วยความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ค่อยๆ กลายเป็นมนุษย์เครื่องจักร มนุษย์หุ่นยนต์ มนุษย์ที่ทำตามคำสั่ง ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เริ่มรับรู้ได้นับตั้งแต่เด็กหนุ่มผู้สมัครเป็นทหารได้รับการฝึกช่วงสั้น ก่อนเข้าประจำการ ช่วงเวลานี้เอง ที่เปรียบเสมือนเป็นประตูเปิดให้ทหารหนุ่มก้าวจากโลกของความเพ้อฝัน เข้าสู่โลกของความจริงที่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ลงไปทีละเล็กทีละน้อย จากการที่จะใช้สมองเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ กลับมีแต่การฝึกหัดทางกาย ระเบียบวินัยทางทหาร การฝึกฝนที่ส่งผลให้จิตใจด้านชา การฝึกหัดที่ซ้ำซากทำให้มนุษย์กลายเป็นเหมือน "ม้าในละครสัตว์"

วันทยาหัตถ์ กระโดดลุกขึ้นทำท่าตรง เดินท่าสวนสนาม วันทยาวุธ ขวาหัน ซ้ายหัน กระแทกส้น คำดุด่า และเล็กๆ น้อยๆ อีกตั้งร้อยพันอย่าง เราเคยคิดว่าหน้าที่ของเราเป็นอย่างอื่น แต่กลับมาเห็นว่าเราถูกฝึกหัดสำหรับให้มีความกล้าหาญประดุจเราเป็นม้าในละครสัตว์

"ม้าในละครสัตว์" ย่อมจะหมดสิ้นแล้วซึ่งจิตใจที่จะจำแนกแยกแยะ วิเคราะห์วิพากษ์ด้วยเหตุผล ดังนั้นเพาล์จึงรู้สึกว่า เวลาสิบสัปดาห์ของการฝึกนี้ สามารถทำให้การอบรมสั่งสอนนับสิบปีที่โรงเรียนอันตรธานไปแทบไม่เหลือร่องรอย คุณค่าความดีงามปรัชญา และศิลปะวรรณคดีทั้งหลายที่เคยร่ำเรียนมาปลาสนาการไป มีคำสั่งและระเบียบแบบแผนทางทหารเข้ามาแทนที่ในหัวสมอง ในชีวิตประจำวัน ในจิตวิญญาณ

สิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ความคิดแต่อยู่ที่แปรงขัดรองเท้า ไม่ใช่อยู่ที่ความฉลาดแต่อยู่ที่ระเบียบ ไม่ใช่อยู่ที่เสรีภาพ แต่อยู่ที่การเข้าแถวหัด (…) พอหัดไปได้สามสัปดาห์ เราก็เข้าใจทีเดียวว่า เจ้าบุรุษไปรษณีย์คนนั้นควรมีอำนาจเหนือเรายิ่งพ่อยิ่งแม่ ยิ่งเสียกว่าครู ยิ่งเสียกว่าคำสั่งสอนของท่านศาสตราจารย์ทั้งกองตั้งแต่เพลโตจนถึงเกอเธ

เพาล์กับเพื่อนๆพานพบกับผู้ฝึกที่อดีตเคยเป็นบุรุษไปรษณีย์ พวกเขาถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานาจากสิบโทฮิมเมิลชโตสส์ผู้นี้ ซึ่งเป็นตัวละครที่ผู้ประพันธ์ใช้แสดงให้ผู้อ่านตระหนักว่า ขั้นตอนการฝึกทหารนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ตลอดจนอุดมการณ์ของเด็กหนุ่มผู้อ่อนโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ฝึกที่นิสัยไม่ดี จนเด็กหนุ่มได้ข้อสรุปว่า "เรามาเป็นทหารด้วยความกระหายและความชื่นชมยินดี แต่เขาก็ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะไล่สิ่งเหล่านั้นไปเสียจากเรา" และเมื่อผ่านจากการฝึกทหารเข้าสู่สมรภูมิรบจริงๆ นอกจากความกระหายและความชื่นชมยินดีจะสูญสลายไปแล้ว ความเป็นมนุษย์ก็ค่อยๆหมดไปด้วย ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผู้นำประเทศที่ทำสงคราม ตามืดบอดต่อความทารุณโหดร้ายของสงคราม แต่ผู้ประพันธ์ซึ่งเคยเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้มิได้ตามืดบอดไปด้วย ดังนั้นเขาจึงตีแผ่ความรู้สึกของเด็กหนุ่มที่ตกอยู่ในสภาพที่เหลือความเป็นมนุษย์น้อยลงๆ ทุกที และในทางกลับกันกลับ เข้าใกล้สภาพความเป็นเครื่องจักรมากขึ้นๆ

เรากลายเป็นสัตว์ป่าไปแล้ว เราไม่ได้สู้รบ เราป้องกันความพินาศของเราต่างหาก เราไม่ได้ขว้างลูกระเบิดไปที่มนุษย์ เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่ามนุษย์เป็นอย่างไร ขณะที่พญามัจจุราชมีมือและหมวกเหล็กกำลังไล่ผลาญเราอยู่ (…) เรากลายเป็นคนดุร้าย เป็นคนฆ่ามนุษย์ เป็นปิศาจหรือเป็นอะไรก็ตาม การชุลมุนที่ทวีกำลังของเราด้วยความกลัวและความคลั่ง ความอาลัยในชีวิต พยายามหาทางและพยายามสู้ ไม่ใช่สำหรับอะไร สำหรับรอดตายเท่านั้น แม้แต่บิดาของท่านเองมากับข้าศึก ท่านก็ไม่เว้นที่จะขว้างลูกระเบิดไปให้

ในสมรภูมิทหารถูกกำหนดให้ฆ่า ให้ทำลาย ให้ทำร้ายคนอื่น ก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็นผู้ถูกกระทำ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่ต้องคำนึงถึง มนุษยธรรมถูกลืมเลือนไปชั่วขณะ เมื่อมนุษยธรรมไม่มี ความเป็นมนุษย์ก็ไม่เหลือ สิ่งที่เหลือคือความเป็นสัตว์ป่า ที่จะต้องเอาตัวรอดด้วยสัญชาตญาณดิบ ฆ่าก่อนที่จะถูกฆ่า ฉากที่เพาล์ฆ่าทหารฝรั่งเศสที่บังเอิญตกลงมาในหลุมเดียวกัน เป็นฉากที่ตอกย้ำความคิดนี้ เพาล์จ้วงแทงทหารฝรั่งเศสด้วยสัญชาตญาณแต่เพียงอย่างเดียวว่า นี่คือข้าศึกที่จะทำอันตรายเขาได้ "ข้าพเจ้าไม่นึกถึงอะไรหมด ไม่ตกลงใจอย่างไร - แต่แทงเอาๆ อย่างคนบ้า" แต่หลังจากนั้นเพาล์ต้องทรมานใจอย่างที่สุด กับสำนึกผิดชอบชั่วดีในใจของตน ร่างโชกเลือดที่ครวญครางอย่างเจ็บปวดอยู่หลายชั่วโมง ข้ามวันข้ามคืนก่อนจะสิ้นใจ ทำให้เพาล์เสียใจที่ได้ทำลายชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่หากไม่ใช่เพราะเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามในสงครามแล้ว เขาก็เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ มีครอบครัว บุตรภรรยา ประกอบอาชีพสุจริตแบบสามัญชนทั่วไป รูปภาพและจดหมายในสมุดพกที่ติดตัวทหารฝรั่งเศสผู้นั้น ทำให้เพาล์รู้ว่าเขาเป็นช่างพิมพ์ มีภรรยากับบุตรสาวหนึ่งคน และคงจะไม่ร่ำรวยนัก มันช่างน่าอนาถใจที่คนที่ไม่เคยมีความอาฆาตแค้นเคืองใดๆ ต่อกันเลยต้องมามุ่งร้ายหมายขวัญกัน จนคนหนึ่งถูกปลิดชีวิตไปด้วยน้ำมือของอีกคนหนึ่ง หากอยู่ในสถานการณ์อื่น พวกเขาอาจเป็นมิตรกันได้ด้วยซ้ำ เพาล์เสียใจจนอยากให้เวลาย้อนกลับแล้วสามารถแก้ไขการกระทำของตัวใหม่

"เพื่อนเอ๋ย กันไม่อยากจะฆ่าแกเลยทีเดียว ถ้าแกกระโดดลงมาในหลุมนี้อีกสักครั้ง กันจะไม่ทำอะไรแกเลย (…) ขอโทษเถอะนะเพื่อนเอ๋ย เราทุกคนมองเห็นความจริงเอาเมื่อสายเสียแล้ว ทำไมเขาไม่บอกเราเสียก่อนนะว่า แกเป็นมนุษย์ที่น่าสงสารอย่างเดียวกับเรา และมารดาของแกก็มีความวิตกทุกข์ร้อนอย่างเดียวกับมารดาของเรา และเราต่างก็มีความกลัวตายเช่นเดียวกัน มีอาการตาย อาการชักเช่นเดียวกัน - ขอโทษเถอะเพื่อนเอ๋ย แกจะมาเป็นข้าศึกกับกันได้อย่างไร? ถ้าเราต่างก็ทิ้งปืนเสีย ทิ้งเครื่องแบบเสีย แกก็อาจมาเป็นพี่น้องของกันได้อย่างเดียวกับคัทหรืออัลแบร์ท"

หลุมที่เพาล์ต้องทนดูวาระสุดท้ายของนายทหารฝรั่งเศสด้วยความทรมานใจนั้น เป็นสถานที่ที่เปลี่ยนตัวตนของเพาล์ไปชั่วนิรันดร์ และเป็นสถานที่ที่ได้เปิดเผยสัจธรรมของโลกให้แก่เด็กหนุ่มผู้นี้ ดูเหมือนผู้ประพันธ์จะตั้งคำถามในแนวอภิปรัชญาต่อผู้อ่าน ชีวิตคือสิ่งใดเล่า เหตุใดมนุษย์จึงต้องเกิดมาแล้ว ต้องมาเสียชีวิตอย่างไร้ค่าเช่นนี้ อะไรคือความดีความถูกต้อง หน้าที่และเกียรติยศต่อประเทศชาติ ทำให้เรามีสิทธิฆ่ามนุษย์ด้วยกันอย่างชอบธรรมกระนั้นหรือ ทำไมเด็กหนุ่มที่มีอนาคตสดใสอีกยาวไกลจึงต้องมาจบชีวิตอย่างน่าเศร้า และครอบครัวของเขา พ่อแม่ ลูกเมีย ญาติพี่น้อง ที่ผูกพันรักใคร่เขาจะต้องเศร้าโศกเสียใจเพียงใด จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร พวกผู้นำที่พาประเทศเข้าสู่สงครามได้เคยตั้งคำถามเหล่านี้บ้างหรือไม่ ความเป็นมนุษย์คืออะไร มนุษย์หลายยุคหลายสมัยได้สร้างอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ที่แสดงถึงสติปัญญาของอารยชน แต่เหตุไฉนอารยชนจึงต้องมาทำลายล้างฆ่าฟันกัน ราวกับสูญสิ้นแล้วซึ่งความเป็นมนุษย์ ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์ได้บันทึกอาวุธยุทโธปกรณ์ที่อารยชนได้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อทำลายล้างกันถูกต้องตามประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นปืนกล ก๊าซพิษ ระเบิดมือ เครื่องบินทิ้งระเบิด ปืนยาวแบบมีดาบปลายปืน ปืนไรเฟิลซึ่งมีศูนย์เป็นกล้องส่อง บอลลูนตรวจการณ์ เป็นต้น ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นว่า สงครามทำลายความเป็นมนุษย์ลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อเพาล์สามารถกลับมาถึงหน่วยรบของตนเอง ก็อดที่จะระบายความคับแค้นใจต่อผู้บังคับหน่วยและเพื่อนฝูงมิได้ ซึ่งฝ่ายหลังพยายามปลอบใจ โดยชี้ให้ดูนายสิบคนหนึ่งที่กำลังเล็งปืนยิงข้าศึกอย่างเมามันในอารมณ์ เขาค่อย ๆ สอยข้าศึกให้ร่วงไปอย่างประณีตทีละคน และจดแต้มไว้เพื่อว่าจากสถิติที่บันทึกไว้นี้ เขาอาจจะได้รับการปูนบำเหน็จ เลื่อนยศ และประดับเหรียญกล้าหาญเป็นเกียรติต่อตนเองและวงศ์ตระกูลต่อไป เมื่อเพาล์เห็นเช่นนั้นก็รู้สึกสับสน "ทีนี้ข้าพเจ้าเข้าใจความวิตกของข้าพเจ้าไม่ได้เสียแล้ว"

ความสำนึกผิดและเสียใจที่ได้ฆาตกรรมทหารฝรั่งเศสนั้น คือสิ่งใดเล่า ก็ในเมื่อเพื่อนในสนามรบของเขา กลับกระทำการฆาตกรรมอย่างชื่นมื่น โดยมิได้รู้สึกสำนึกผิดหรือเสียใจเลยแม้แต่น้อย และการกระทำเช่นเดียวกัน ยังจะเป็นที่มาของการสรรเสริญเชิดชูเกียรติยศอีกด้วย แม้ว่าการกระทำของนาสิบเอกเอิลริชจะไม่ใช่สิ่งที่เพาล์ประสงค์จะทำตาม แต่มันก็ทำให้เขาสงบใจลงได้ในที่สุด

"เห็นจะเป็นเพราะต้องนอนอยู่กับศพนานนักเท่านั้นเอง" ข้าพเจ้าพูด "แต่ก็ช่างมัน สงครามก็ต้องเป็นสงคราม"
เสียงปืนของเอิลริชลั่น แหลมและดัง

ผู้ประพันธ์บรรยายความทรมานใจของเพาล์อย่างยืดยาว อันเนื่องมาจากถูกมโนธรรมกระตุ้นเตือนให้สำนึกผิด ตลอดระยะเวลานับสิบชั่วโมงที่ต้องอยู่ตามลำพังกับศพที่ตนเป็นผู้ฆ่า แต่แล้วเมื่อมาเห็นเพื่อที่ไม่รู้อนรู้หนาวกับการฆ่า มิหนำซ้ำเกือบจะกลายเป็นความบันเทิงใจที่ได้ฆ่า เพาล์ก็ได้โอกาสสรุปกับตนเอง ดังข้อความที่ยกมาข้างต้น จากจุดนี้ผู้ประพันธ์ประสงค์จะแสดงความคิดใดต่อผุ้อ่นกันเล่าถ้ามิใช่ความคิดที่ว่า สงครามได้ลิดรอนความเป็นมนุษย์ไปทีละเล็กทีละน้อย ความทารุณที่ซ้ำซาก การทำลายล้างที่ซ้ำซาก การฆ่าที่ซ้ำซาก สภาพที่อยู่ที่ลำเค็ญ อาหารการกินที่ขาดแคลนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นความจำเจที่ต้องทนเผชิญอย่างหนีไปไหนไม่ได้ มนุษย์จึงกลับกลายเป็นสิ่งอื่น ที่ถูกควบคุมด้วยสัญชาตญาณดิบอันป่าเถื่อน ความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่แต่เพียงเปลือก แต่จิตวิญญาณได้สิ้นความเป็นมนุษย์ไปแล้วหรือมิใช่

ตัวตนที่แปลกแยก

ผู้ประพันธ์ให้ภาพการเว้นวรรคของเหล่าทหารที่ไม่ต้องทำสงครามบางขณะไว้ด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน เมื่อเทียบกับภาพในสนามรบ แม้จะเป็นการเว้นวรรคเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ และมิได้มีเครื่องอำนวยสะดวกแต่ประการใด เป็นเพียงการเอกเขนกอยู่ในทุ่งหญ้า ต่างคนต่างทำกิจกรรมของตนไป แต่ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความสุขที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศ และในจิตใจของเหล่าทหาร เพราะแม้แต่การบรรยายถึงสิ่งอันเกี่ยวกับการสู้รับ ก็ยังเป็นการบรรยายที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับความสงบงดงามของธรรมชาติรอบข้าง สงครามดูไร้พิษสงไปชั่วขณะ

ชั่วโมงเหล่านี้แสนจะผาสุก ข้างบนหัวเราฟ้าสีน้ำเงิน ทางขอบฟ้าลูกบอลลูนตรวจการณ์สีเหลืองเป็นมันลอยอยู่กลางแดด ลูกกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงเครื่องบินระเบิดออกเป็นเมฆขาวลอย บางคราวก็ขึ้นไปเป็นกลุ่มเพราะกำลังไล่ตามนักบิน เสียงสงครามมาถึงเราก็แต่เบาๆ เรากับเสียงฟ้าร้องอยู่ห่างๆ แม้แต่แมลงผึ้งที่หึ่งมาใกล้ก็กลบเสียงได้หมด รอบๆตัวเรามีทุ่งกว้างขวางประดับด้วยดอกไม้ หญ้ายาวเอนเอียงยอดอยู่ไปมา ผีเสื้อขาวต่างก็บินว่อนลอยลมอันอบอุ่นแห่งปลายฤดูร้อน เราอ่านจดหมายอ่านหนังสือพิมพ์และสูบบุหรี่ ถอดหมวกออกวางไว้ข้างตัว ลมเล่นอยู่กับผม เราเล่นกับคำพูด เล่นกับความคิด หีบสามใบตั้งเด่นอยู่กลางทุ่งประดับดอกไม้แดง

เราเอาฝาถังเนยวางบนหัวเข่า ทำเป็นโต๊ะเล่นไพ่ชกาทกัน ครอพพ์เอาไพ่ออกมา ผู้แพ้ต้องลงกองกลาง ให้อยู่ยังงี้ตลอดชีวิตก็เอา

แต่ช่วงเวลาแห่งความสงบสุขนั้นแสนสั้น เวลาอีกช่วงหนึ่งที่น่าจะเต็มไปด้วยความสุขก็คือ เวลาที่ทหารได้กลับไปเยี่ยมบ้านซึ่งเป็นระยะเวลาที่แสนสั้นเช่นกัน แต่เมื่อกลับไปถึงบ้านเข้าจริงๆ เวลาที่รอคอยกลับมิได้เปี่ยมสุขดังที่หวัง ตัวละครเอกคือเพาล์ถ่ายทอดอารณ์ความรู้สึกตอนนี้ได้อย่างถึงแก่น ช่วงเวลาแห่งสงคราม ได้ตัดพวกเขาออกจากโลกที่อบอุ่นคุ้นเคย ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงผู้คนที่เคยรู้จัก ดูราวกับมีสิ่งที่มาขวางกั้น มิให้พวกเขากลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในแนวหลังได้อีกแล้ว การบรรยายภาพทิวทัศน์ข้างทางเมื่อเพาล์มองจากรถไฟ ช่างเป็นภาพที่แสดงความสงบ ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะชวนให้เพาล์หวนระลึกถึงความหลัง เมื่อครั้งยังมีชีวิตเยาว์วัยไร้เดียงสา ต้นพ็อพลาร์เรียงเป็นแถวโอนเอนไปมา ลำธารสายน้อย หอนาฬิกาสูงเก่าแก่ สถานที่ที่เคยนั่งเล่นสูดกลิ่นอันเยือกเย็นของสายน้ำ และเล่านิทานสู่กันฟัง ร้านขนมที่เคยมาซื้อไอศครีม เคยหัดสูบบุหรี่ ร้านขายของชำ ร้านขายยา ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่แห่งความหลัง ที่นำพาความทรงจำรำลึกอันสุขใจ แต่พอก้าวแรกที่เพาล์เหยียบย่างเข้าไปในบ้าน ผู้อ่านก็จะสำเหนียกได้ว่า บางสิ่งบางอย่างที่น่าฉงนได้เกิดขึ้นในใจของเด็กหนุ่มผู้นี้ "ในที่สุดข้าพเจ้ายืนอยู่ตรงหน้าประตูสีน้ำตาลมีลูกบิดเก่าคร่ำ ข้าพเจ้ารู้สึกหนักที่มือ พอเปิดประตูเข้าไป อากาศอันเยือกเย็นอย่างประหลาดก็มาปะทะกับตัว นัยน์ตาแลไม่เห็นอะไร" และเมื่อได้เห็นใบหน้าพี่สาวเพียงชั่วแวบ กับได้ยินเสียงพี่สาวเรียกมารดาให้มาพบตน แทนที่เพาล์จะเกิดอาการปีติโสมนัส ถลาวิ่งขึ้นบ้นไดไปหาบุพการี เขากลับยืน "พิงฝาผนัง จับหมอนกับปืนไว้แน่น แน่นที่สุดที่จะจับได้ แต่ไม่อาจก้าวขาออกไป ดูบันไดมันหายไปตรงหน้า ต้องพยุงตนเองด้วยพานท้ายปืน กัดฟันไว้แน่น แต่พูดอะไรไม่ออก" เสียงของพี่สาวทำให้เพาล์หมดกำลัง ไม่สามารถจะบังคับตัวเอง ให้แสดงกิริยาที่สื่อความรักความคิดถึงของพี่น้องที่จากกันไปไกล แล้วกลับมาพบกัน เพาล์ "พยายามข่มตัวเองจะให้หัวเราะ จะให้พูดแต่คำพูดไม่มา ลิ้นแข็ง และตรงข้ามกับความประสงค์ น้ำตาไหลพรูออกมาอาบแก้ม" ปฏิกิริยาเช่นนี้น่าจะสื่อว่าเด็กหนุ่มผู้นี้ต้องกดดันคับแค้นใจอย่างมากในระหว่างการรบ แต่ได้พยายามอดทนอดกลั้นเรื่อยมา พยายามทำหน้าที่รับใช้ชาติอย่างเต็มสติกำลังความสามารถของตน โดยใช้ความเข้มแข็งเป็นเกราะภายนอก ปิดบังซ่อนเร้นความอ่อนแอหวาดหวั่น ที่เด็กหนุ่มโดยทั่วไปย่อมจะต้องมี แต่เมื่อได้กลับมายังที่ที่เขาไม่ต้องเสแสร้ง ทำนบที่กั้นความรู้สึกวันแท้จริงก็พังทลาย อย่างไรก็ตาม เขาก็แสดงความอ่อนแอต่อหน้าที่สาวเท่านั้น แต่ต่อหน้ามารดา เพื่อมิให้ท่านต้องกังวลใจ เขาก็ยังต้องซ่อนเร้นความอ่อนไหวของความรู้สึกไว้

ข้าพเจ้าเข้าไปหาที่ในห้อง ยื่นมือให้แล้วพูด พยายามให้เสียงสงบที่สุด "ลูกมาแล้วไงล่ะจ๊ะ แม่" มารดานอนนิ่งอยู่ในที่มืด ครั้นแล้วถามอย่างวิตก
"เจ้าถูกบาดเจ็บหรือเปล่า?" ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านพยายามจะจับตา
"เปล่าจ้ะ แม่ ฉันได้ลาพัก"

ผู้อ่านรู้สึกได้ว่าเพาล์พยายามข่มใจและบังคับตัวเอง นอกเหนือจากเหตุผลเพื่อมิให้มารดาต้องวิตกทุกข์ร้อนแล้ว ตัวของเขาเองก็เปลี่ยนไปด้วย หากเป็นในอดีต เขาคงแสดงความรักใกล้ชิดสนิทสนมเคล้าคลอมารดา พร่ำรำพันถึงความคิดถึงถวิลหาตลอดเวลาที่อยู่ห่างกัน แต่สงครามทำให้เขาเปลี่ยนไป เขายังอ่อนเยาว์แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนลึกของจิตใจยังเป็นเด็ก แต่ประสบการณ์มากกว่าผู้ใหญ่อีกหลายคน อาจกล่าวได้ว่าเขาตกอยู่ในภาวะของ "ความแปลกแยก" แปลกแยกทั้งจากตัวของเขาเอง และแปลกแยกจากสังคมดั้งเดิมที่เขาเคยเป็นส่วนหนึ่ง

ข้าพเจ้านั่งอยู่ข้างเตียง ลอดหน้าต่างออกไปแลเห็นต้นเชสต์นัตในเบียร์การ์เดน ฉายแสงสีน้ำตาลและสีทอง ข้าพเจ้าสูดหายใจอย่างแรงแล้วพูดกับตัวเองว่า "เจ้าอยู่บ้าน เจ้าอยู่บ้าน" แต่ความรู้สึกอันแปลกประหลาดไม่ยอมไปพ้นตัว ไม่ได้พบสิ่งใดเป็นของตัวเองแท้ๆ ในที่นี้เลย แม่ก็อยู่นี่ พี่สาวก็อยู่นี่ ตู้เก็บผีเสื้อก็อยู่ เปียโนก็อยู่ - แต่ทำไมตัวข้าพเจ้าจึงไม่ใช่ตัวเองเล่า ยังห่างกันมาก มีฉากกั้นระหว่างเราเสียแล้ว

เมื่ออยู่ที่บ้านได้ไม่กี่วัน เพาล์ก็ตระหนักแก่ใจว่าตนไม่ควรจะลากลับมาเยี่ยมบ้านเลย เขาไม่สามารถที่จะเป็นเด็กน้อยคนเดิมของมารดา ที่เล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้พบเห็นมาอย่างเปิดใจ เมื่อมารดาถามว่าในสมรภูมิมีสิ่งน่าสยดสยองเช่น"ไอพิษและอะไรต่อมิอะไรอีกแยะ" ตามที่ได้ยินได้ฟังมาจริงหรือไม่ เพาล์ก็ไม่สามารถพูดความจริงได้ ที่บีบคั้นจิตใจที่สุด คือการไม่สามารถระบายความรู้สึกอย่างในอดีตได้อีกแล้ว เขาเป็นชายชาติทหารแล้วมิใช่เด็กน้อยอีกต่อไป

ทำไมลูกจึงไม่ได้เอาหัวซบตักแม่แล้วร้องไห้อีกหนอ? ทำไม่ลูกจึงต้องทำใจแข็ง? พุทโธ่ ลูกก็อยากร้องไห้แล้วอยากให้ใครปลอบ จริงๆ นะลูกโตกว่าเด็กเล็กๆ นิดเดียวแหละ ในตู้กางเกงขาสั้นของลูกยังแขวนอยู่เลย - เมื่อเร็วๆมานี้เองนะ ทำไมเวลานั้นจึงพ้นไปเสียเล่า? (...) ทำไมลูกจึงไม่เข้ากอดแม่ไว้แล้วตายด้วยกันกับแม่? โอ คนเราหนอ!

ผู้เป็นแม่ก็ยังเป็นแม่เฉกเช่นกาลก่อน เคยเอื้ออาทรห่วงใยลูกสุดที่รักอย่างไรก็อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเวลาจากกันอีกครั้งมาถึง เพาล์ต้องกลับไปสนามรบ แม่จึงเตรียมกางเกงชั้นในให้ลูกสองตัวทำด้วยขนแกะ เพื่อลูกจะได้อบอุ่น เพาล์รู้ดีว่าแม่ต้องลำบากเพียงใด ในการจะได้กางเกงขนแกะเช่นนี้มาในยามสงคราม เขาซาบซึ้งใจ แต่ไม่สามารถจะสื่อความรู้สึก ตลอดจนความนึกคิดใดๆ ออกมาได้ "ลูกนั่งอยู่นี่ แม่นอนอยู่นั่น เรามีเรื่องจะพูดกันม้ากมาก แต่เราจะพูดกันไม่ได้เลย" เพาล์ไม่เคยคิดว่า การลากลับมาบ้านจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกแปลกแยก ดูราวกับเป็น "คนไร้ราก" เช่นนี้ สงครามนั่นเองที่ทำให้เขาเปลี่ยนไป เมื่อเขาก้าวขึ้นรถไฟไปรบ กับตอนลงจากรถไฟกลับมาเยี่ยมบ้าน "ระหว่างครั้งนั้นกับครั้งนี้มีอ่าวใหญ่กั้นเสียแล้ว" ก่อนจากบ้านไป เพาล์ไม่เคยรู้ว่าสงครามเป็นอย่างไร เคยอยู่แต่ในมุมสงบของชีวิต "แต่เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าได้ถูกขยี้โดยไม่รู้ตัว รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่นี่เสียแล้ว ที่นี่เป็นโลกต่างด้าว" สงครามได้ขยี้ตัวตนของเพาล์ จนไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่อย่างกลมกลืน ในมุมสงบของภูมิลำเนาเดิมได้อีกแล้ว เขาเกิดความรู้สึกแปลกแยกกับผู้คนรอบข้าง ซึ่งสื่อออกมาด้วยประโยคเหล่านี้ "ข้าพเจ้าชอบอยู่คนเดียวมากกว่า ไม่อยากให้ใครกวน เพราะทุกคนลงท้ายก็มีคำถามอย่างเดียวกัน เลวอย่างไรบ้าง ดีอย่างไรบ้างที่แนวรบ" และแม้กระทั่งตัวเองเพาล์ก็รู้สึกแปลกแยก เมื่อกลับมาสวมเสื้อผ้าแบบพลเรือนเขาเหมือนกับจะไม่คุ้นเคยกับตัวเอง "ข้าพเจ้ารู้สึกเร่อร่าพิกล (...) ข้าพเจ้ามองตัวเองในกระจก ดูแปลกพิลึก ตัวโตเก้งก้างทำหน้าตาพิศวง" แล้วเพาล์ก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า "ข้าพเจ้าไม่ควรลามาบ้านเลยทีเดียว" ความรู้สึกแปลกแยกเช่นนี้ของเพาล์ น่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกับคนรุ่นราวคราวเดียวกับเขาภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ซึ่งกลายเป็นหมู่ชนที่เรียกกันว่า "the lost generation"


(*) จาก อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์, เอกสารคำสอน วิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔.

(๑) วไล ณ ป้อมเพชร. สงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918). ไทยวัฒนาพานิช. กรุงเทพมหานคร. 2520. หน้า 47-48.
กลับไปที่เดิม

(2) อ้างแล้ว หน้า 43, 45.
กลับไปที่เดิม

(3) อ้างแล้ว หน้า 25.
กลับไปที่เดิม