สามก๊กจี่และสามก๊กเอี้ยนหงี(*)

ยง อิงคเวทย์ (**)

หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสามก๊กฉบับภาษาจีนที่นับว่ามีความสำคัญและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปมีอยู่ ๒ ชุด ชุดหนึ่งเรียกว่า สามก๊กจี่ เป็นจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ในยุคสามก๊ก ส่วนอีกชุดหนึ่งเรียกว่า สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี ( หรือสามก๊กจี่เอี้ยนหงี หรือ สามก๊กเอี้ยนหงี ) ชุดนี้เป็นนิทานอิงพงศาวดารสามก๊ก หนังสือเรื่องสามก๊กพากย์ไทยเป็นฉบับที่แปลจากหนังสือนิทานอิงพงศาวดารสามก๊กคือ สามก๊กเอี้ยนหงี ในบทความนี้ผู้เขียนขอเล่าความเป็นมาประวัติผู้เรียบเรียง และหลักการในการเรียบเรียงหนังสือทั้งสองชุดนี้เสนอท่านผู้อ่านพอสังเขป

สังเขปเหตุการณ์สมัยสามก๊ก

สมัยสามก๊กคือระยะเวลาซึ่งในประเทศจีนมีรัฐอิสระ ๓ รัฐ ได้แก่ รัฐวุ่ย รัฐจ๊กฮั่น และรัฐหงอ ต่างยึดครองอาณาเขตของบางมณฑลและต่างสถาปนาราชวงศ์ของตน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๗๖๓จนถึง พ.ศ.๘๒๓ รวมเวลา ๖๑ ปี รัฐวุ่ยของโจผีบุตรชายโจโฉมีอาณาเขตกว้างใหญ่ทางภาคเหนือ รัฐจ๊กฮั่นของเล่าปี่ได้ครองอาณาเขตเพียง ๒-๓ มณฑลทางภาคตะวันตก ส่วนรัฐหงอของซุนกวนได้ครองอาณาเขตหลายมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ( ผู้สนใจอาจดูแผนที่อาณาเขตของทั้งสามก๊กในหนังสือพระนิพนธ์ ตำนานหนังสือสามก๊ก ของ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมการฝึกหัดครูจัดพิมพ์ในโครงการพัฒนาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการพ.ศ.๒๕๐๔ )

ต้นเหตุที่ทำให้เกิดมีสามก๊ก อาจกล่าวได้ว่าสืบเนื่องมาจากอำนาจการปกครองของรัฐบาลตอนปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เริ่มเสื่อมมาตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าฮั่นเต้และพระเจ้าเลนเต้ เพราะพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่คบหาขุนนางผู้มีธรรมจรรยา กลับเชื่อและวางใจในพวกขันที ถึงกับปล่อยให้พวกขันทียุ่งเกี่ยวกับราชการบ้านเมือง พวกขันทีจึงถือโอกาสใส่ร้ายขุนนางผู้ใหญ่และร่วมกันฉ้อราษฎร์บังหลวงขายตำแหน่งพนักงานให้พวกเหล่านั้นไปรีดนาทาเร้นราษฎร จนประชาชนเดือดร้อนกันมาก บ้านเมืองจึงเกิดจลาจลอยู่ทั่วไป ต่อมาเกิดโจรโพกผ้าเหลืองก่อกบฏ ตั้งกองทัพต่อสู้กับกองปราบปรามของรัฐบาลบ้านเมืองระส่ำระสายลุกลามไปหลายมณฑล เจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆก็ถือโอกาสในการปราบปรามโจรโพกผ้าเหลือง เสริมสร้างกำลังทหารของตน

ต่อมาในปีที่ ๖ ของศักราชตงเผ็ง ( พ.ศ.๗๒๓ ) พระเจ้าเลนเต้สวรรคตโฮจิ๋นแม่ทัพใหญ่ผู้เป็นพี่ชายของพระมเหสีโฮเฮา ได้เชิญหองจูเปียนโอรสของโฮเฮาขึ้นครองราชย์ แล้วโฮจิ๋นก็คิดอุบายจะกำจัดพวกขันที แต่โฮจิ๋นไม่ได้ใช้อำนาจอันอยู่ในมือของตนจับขันทีลงโทษ หากแต่ได้มีหนังสือไปบอกตั๋งโต๊ะขุนพลเมืองซีเหลียงยกกองทัพเข้าปราบปรามพวกขันทีในเมืองหลวง พวกขันทีรู้เข้าจึงลวงให้โฮจิ๋นเข้าวังแล้วฆ่าเสีย ครั้นเมื่อตั๋งโต๊ะมีโอกาสยกกองทัพของตนเข้านครหลวง ตั๋งโต๊ะก็กำเริบถอดพระยุวกษัตริย์เสีย แล้วเชิญหองจูเหียบพระอนุชาต่างมารดาของยุวกษัตริย์ขึ้นครองราชย์แทนคือพระเจ้าเหี้ยนเต้ และตั๋งโต๊ะยังส่งสมุนของตนไปลอบฆ่ากษัตริย์องค์ที่ถูกถอดกับนางโฮเฮาด้วย

เนื่องจากตั๋งโต๊ะใช้อำนาจถอดพระมหากษัตริย์ แม่ทัพและเจ้าเมืองภูมิภาคหลายเมืองจึงรวมพลกันยกกองทัพมาปราบตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาตั๋งโต๊ะถูกขุนนางคนอื่นใช้อุบายฆ่าตาย หลังจากนั้นเจ้าเมืองที่มีกำลังกองทัพต่างก็รุกรานแย่งชิงอาณาเขตของกันและกัน เมื่อโจโฉมีโอกาสได้เข้าไปช่วยปราบสมุนของตั๋งโต๊ะในเมืองหลวงสำเร็จ โจโฉก็กุมอำนาจราชการและยกกองทัพไปปราบหัวเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือจนราบคาบ แล้วสร้างอิทธิพลของตนเหนือพระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่หลายปี พระเจ้าเหี้ยนเต้จำต้องตั้งให้โจโฉมีศักดิ์เป็นวุ่ยก๋ง และเลื่อนขึ้นเป็นวุ่ยอ๋องมีศักดิ์เป็นรองจากพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

เมื่อโจโฉตาย โจผีลูกชายคนโตของโจโฉก็ขึ้นเป็นวุ่ยอ๋องต่อจากพ่อในปีที่ ๒๕ ศักราชเกี้ยนอันแผ่นดินพระเจ้าเหี้ยนเต้ ( พ.ศ. ๗๖๓ ) และในปีเดียวกันนั้นเองโจผีก็ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้โอนพระราชสมบัติให้แก่ตน สถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์วุ่ย และตั้งให้พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นซันเอี๋ยงก๋งไปประทับอยู่ที่เมืองซันเอี๋ยง แล้วโจผีย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ในนครลกเอี๋ยง ( ตรงกับสามก๊ก พากย์ไทยตอนที่ ๖๓ )

หลังจากโจผีปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้เพียง ๑ ปีเล่าปี่ผู้ยึดครองเมืองเอ๊กจิ๋ว( เสฉวนปัจจุบัน ) กับเมืองฮั่นต๋งได้ข่าวว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกชิงราชสมบัติและถูกทำร้ายจนสิ้นพระชนม์ เล่าปี่จึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ต่อจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั้งเมืองเช็งโตเป็นเมืองหลวง ( คนสมัยต่อมาจึงเรียกราชวงศ์ฮั่นของพระเจ้าเล่าปี่ว่าจ๊กฮั่น เพราะก๊กฮั่นของเล่าปี่ถูกตันซิ่วผู้เขียนจดหมายเหตุสามก๊กเรียกว่าจ๊กและเนื่องจากเมืองเอ๊กจิ๋วเป็นที่ตั้งของเมืองจ๊กสมัยโบราณ )

ส่วนซุนกวนผู้ปกครองดินแดนตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง และเคยยอมสวามิภักดิ์ต่อโจผี ยอมรับสนองพระราชโองการพระเจ้าโจผีตั้งให้ตนเป็นหงออ๋องอยู่ได้ ๗ ปีก็สถาปนาตนเป็นมหากษัตริย์ราชวงศ์หงอ ( พ.ศ.๗๗๒ ) ตั้งเมืองหลวงที่เกี้ยนเงียบ

เมื่อก๊กวุ่ย ก๊กฮั่น และก๊กหงอต่างสถาปนาราชวงศ์ของตนขึ้นแล้วภาวการณ์เมืองในสมัยนั้นจึงมีลักษณะเป็นสามเส้า คล้ายสามขาที่ตรงเชิงกระทะโบราณจีนก๊กทั้งสามดังกล่าวนี้ทำสงครามรบพุ่งกันเกือบไม่เว้นแต่ละปี สงครามสามก๊กส่วนใหญ่เป็นสงครามซึ่งก๊กจ๊กนำทัพไปตีก๊กวุ่ย เพราะขงเบ้งสมุหนายกของก๊กฮั่น( หรือจ๊ก ) ถือว่าอุดมการณ์ของราชวงศ์ฮั่นซึ่งตนรับราชการอยู่ก็คือ ต้องปราบดัสกรวุ่ยให้สำเร็จเพราะโจโฉเป็นเสนียดแผ่นดินและโจผีชิงราชสมบัติราชวงศ์ฮั่น อีกทั้งพระเจ้าเล่าปี่ก่อนสิ้นพระชนม์ก็ได้มอบหมายให้ขงเบ้งปราบอริราชศัตรูให้ได้ ขงเบ้งจึงเพียรพยายามยกกองทัพไปปราบก๊กวุ่ย ๕-๖ ครั้ง จนตนเองล้มเจ็บตายในสนามรบ เมื่อขงเบ้งตายแล้ว เกียงอุยลูกศิษย์ของขง-เบ้งก็ยกกองทัพไปตีก๊กวุ่ยครั้งแล้วครั้งเล่า จนวาระสุดท้ายก๊กจ๊กฮั่นแผ่นดินพระเจ้าเล่าเสี้ยนโอรสพระเจ้าเล่าปี่ก็ถูกก๊กวุ่ยพิชิตสลายตัวไปในปี พ.ศ.๘๐๖ ก๊กจ๊กฮั่นจึงมีกษัตริย์ครองราชย์ต่อกันเพียง ๒ แผ่นดิน ดำรงประเทศอยู่ได้ ๔๓ ปี

ในก๊กวุ่ยนั้นมีกษัตริย์ครองราชย์ ๕ พระองค์สืบต่อกันเป็นเวลา ๔๖ ปีพระเจ้าโจผีครองราชย์ได้เพียง ๗ ปี พระเจ้าโจยอยผู้บุตรครองราชย์ได้ ๑๓ ปี จากนั้นก็มีกษัตริย์สืบต่ออีก ๓ พระองค์ แต่ทุกองค์ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพ่อลูกตระกูลสุมา ๓ คน ได้แก่ สุมาอี้ สุมาสู และสุมาเจียว กษัตริย์องค์ที่ ๔ พระเจ้าโจเมาถูกสุมาเจียวบุตรคนเล็กของสุมาอี้ปลงพระชนม์ และองค์สุดท้ายคือโจฮ่วนถูกจิ้นอ๋องสุมาเอี๋ยน( ลูกสุมาเจียว ) ขับจากบัลลังก์ และใช้วิธีเดียวกับที่โจผีทำกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ คือบังคับให้พระมหากษัตริย์โอนราชสมบัติให้แก่ตน ก๊กวุ่ยจึงสิ้นอายุในปี พ.ศ.๘๐๘ คือหลังก๊กจ๊ก ๒ ปี

ทางก๊กหงอเริ่มตั้งแต่ซุนกวนได้เป็นหงออ๋องในปี พ.ศ.๗๖๓ ต่อมาสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ใน พ.ศ. ๗๗๑ ดำรงประเทศได้เป็นเวลา ๖๐ ปี มีกษัตริย์สืบต่อกัน๔ พระองค์ ในระหว่างที่เป็นสามก๊กนั้นก๊กหงอนับได้ว่าเป็นสัมพันธมิตรกับก๊กจ๊กฮั่น และเคยทำสัญญาแบ่งครองดินแดนกัน แต่ก๊กหงอช่วยอะไรก๊กจ๊กฮั่นไม่ได้มากนัก และก๊กหงอรบกับก๊กวุ่ยไม่กี่ครั้ง ทั้งนี้เป็นเพราะกำลังทัพและสภาพภูมิประเทศของก๊กหงอนั้น เหมาะที่จะตั้งรับมากกว่ารุกประการหนึ่ง และเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ในก๊กหงอเองมีปัญหาเรื่องชนเผ่าเวียดคอยรังควานชายแดน และก่อความยุ่งยากให้แก่ก๊กหงอเสมอ หลังจากพระเจ้าซุนกวนสิ้นพระชนม์และกษัตริย์ของก๊กหงอถัดไปอีก๒ พระองค์ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอัครมหาเสนาบดีซุนหลิม ส่วนซุนโฮกษัตริย์องค์สุดท้ายนั้นก็มีลักษณะเป็นทรราช ชอบทำตามใจตนเอง หลงใหลในความฟุ้งเฟ้อและไม่ยอมเชื่อฟังคำทัดทานของขุนนางผู้มีความรู้และหวังดี ทั้งยังระแวงแม่ทัพผู้เก่งกาจและภักดีอีกด้วย ฉะนั้นเมื่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยนแห่งราชวงศ์จิ้นส่งกองทัพไปปราบก๊กหงอ ซึ่งเหลืออยู่เพียงก๊กเดียว ซุนโฮจึงไม่มีทางจะต่อสู้ได้ ต้องยอมจำนนเป็นเชลยของราชวงศ์จิ้นในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. ๘๒๓

สมัยสามก๊กนับตั้งแต่โจผีขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๗๖๓ จนถึงซุนโฮแห่งก๊กหงอตกเป็นเชลยใน พ.ศ.๘๒๓ รวมเวลา๖๑ ปีสภาพการณ์บ้านเมืองก็รวมเป็นอาณาจักรเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

สภาวการณ์บ้านเมืองสมัยสามก๊กมีย่อ ๆ ดังกล่าวข้างต้น ต่อไปจะกล่าวถึงตำนานของหนังสือ สามก๊กจี่ หรือ จดหมายเหตุสามก๊ก และหนังสือ สามก๊กเอี้ยนหงีหรือ นิทานประวัติศาสตร์สามก๊ก

หนังสือสามก๊กจี่ ( จดหมายเหตุสามก๊ก )

หนังสือ สามก๊กจี่ เป็นจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์สมัยสามก๊ก ผู้ประพันธ์ชื่อ ตันซิ่ว (เฉินโส้ว) เป็นข้าราชการต้นราชวงศ์จิ้น มีตำแหน่งเป็น จู้จั้วหลาง(ประพันธกร) มีหน้าที่เรียบเรียงหนังสือราชการในราชสำนัก จดหมายเหตุสามก๊กที่ตันซิ่วเรียบเรียงมี ๖๕ เล่มสมุด แบ่งเป็น ๓ ภาค ได้แก่

๑. วุ่ยจี่ หรือจดหมายเหตุก๊กวุ่ย มีจำนวน ๓๐ เล่ม เป็นราชประวัติกษัตริย์ก๊กวุ่ย ๔ เล่ม เล่มหนึ่งเป็นราชประวัติวุ่ยบู๊เต้โจโฉ เล่ม ๒ ราชประวัติวุ่ยบุ๋นเต้โจผี เล่ม ๓ ราชประวัติวุ่ยเหม็งเต้โจยอย และเล่ม ๔ ราชประวัติของยุว-กษัตริย์ ๓ พระองค์ คือ โจฮวง โจเมา และโจฮ่วน ส่วนอีก ๒๖ เล่ม เป็นชีวประวัติมเหสีรัชกาลต่างๆ ของก๊กวุ่ย ข้าราชการและบุคคลสำคัญต่าง ๆ ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับก๊กวุ่ย เช่น ตั๋งโต๊ะ อ้วนเสี้ยว ลิโป้ เคาทู ฯลฯ รวม ๒๕๐ คน (มีประวัติเฉพาะตัว ๑๕๙ คน ถูกผนวกรวมอยู่ในชีวประวัติของผู้อื่น๙๑ คน) นอกจากนี้ก็มีประวัติของชนเผ่าต่างๆที่มีเหตุการณ์สัมพันธ์กับก๊กวุ่ย ๑๐ เผ่าชน อีกจำนวนหลายคน

๒. จ๊กจี่ หรือจดหมายเหตุก๊กจ๊ก ( ฮั่น ) จำนวน ๑๕ เล่มสมุด เป็นชีวประวัติของบุคคลต่าง ๆ ในก๊กจ๊ก นับตั้งแต่เล่าเอียน เล่าเจียง เล่าปี่ เล่าเสี้ยน ขงเบ้งตลอดจนหญิงชายที่มีความสำคัญในก๊กจ๊กรวม ๘๖ คน (มีชีวประวัติเฉพาะตัว ๖๗ คน ถูกกล่าวอยู่ในชีวประวัติของผู้อื่น ๑๙ คน) และ

๓. หงอจี่ หรือจดหมายเหตุก๊กหงอ จำนวน ๒๐ เล่มสมุด มีชีวประวัติของบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในก๊กหงอ นับตั้งแต่ ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก (พ่อและพี่ของซุนกวน)ซุนกวน กษัตริย์องค์หลังๆของก๊กหงอและหญิงชายที่มีความสำคัญของก๊กนี้รวมทั้งหมด๑๓๑ คน (มีชีวประวัติเฉพาะตัว ๙๐ คน ถูกกล่าวผนวกในชีวประวัติของผู้อื่น ๔๑ คน)

เนื้อหาในหนังสือสามก๊กจี่

ในหนังสือ สามก๊กจี่๖๕ เล่มสมุดนี้ มีราชประวัติชีวประวัติของบุคคลต่าง ๆ ทั้งหมด ๓๖๗ คน เป็นชีว-ประวัติเฉพาะตัว ๒๑๖ คน ผนวกอยู่ในชีวประวัติบุคคลอื่นๆ ๑๕๑ คน ทั้งนี้ยังไม่นับประวัติของชนเผ่านอกประเทศอีก ๑๐ เผ่าชน และยังไม่ได้นับชื่อบุคคลที่อ้างถึงในชีวประวัติของ ๓๖๗ คนดังกล่าวข้างต้น

ถึงแม้ตันซิ่วจะเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก ของเขาในรูปชีวประวัติเป็นรายบุคคลก็ตาม ถ้ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายคนในระยะเวลาเดียวกัน ในชีวประวัติของบุคคลต่าง ๆ เหล่านั้นก็มีเรื่องราวของเหตุการณ์นั้นปรากฏอยู่ไม่ขาดตกบกพร่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อโจโฉได้เมืองเก็งจิ๋วแล้วยาตราทัพไล่ติดตามเล่าปี่ไปจนประชิดแดนกังตั๋ง มุ่งจะใช้แสนยานุภาพของตนปราบภูมิภาคกังตั๋งของซุนกวนให้อยู่มือทำให้ขุนนางในกังตั๋งตกอกตกใจ ถึงกับเสนอให้ซุนกวนยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ แต่ในที่สุดซุนกวนก็ตกลงใจร่วมมือกับเล่าปี่ตีกองทัพเรือของโจโฉแตกพ่ายไป (ตรงกับสามก๊ก พากย์ไทยตอน ๔๑-๔๒) ในราชประวัติวุ่ยบู๊เต้โจโฉมีกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้และในชีวประวัติของบุคคลอื่น ๆ เช่น เล่าปี่ ขงเบ้ง ซุนกวน จิวยี่ ฯลฯ ต่างก็มีกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ตรงกัน แต่วิธีการบรรยายไม่ซ้ำแบบกัน

ตันซิ่วผู้เรียบเรียงสามก๊กจี่มีความสามารถเชิงบรรยายเหตุการณ์ด้วยสำนวนที่กะทัดรัดชัดเจนน่าอ่านมาก แต่เนื่องจากเหตุการณ์สามก๊กเป็นเรื่องของการเมืองการสงครามระหว่างสามรัฐอิสระต่อเนื่องกันเป็นเวลาถึง ๖๑ ปี จะหวังให้ผู้เรียบเรียงเขียนอย่างดีพร้อมโดยตลอดย่อมเป็นของยาก และเนื่องจากตันซิ่วได้แหล่งวัสดุเอกสารจากทั้งสามก๊กด้วยความลำบากและละเอียดมากน้อยไม่เท่ากัน จึงทำให้การเขียนเหตุการณ์หลายตอนและชีวประวัติของบุคคลหลายคนสั้นและย่นย่อเกินไป

เนื่องด้วย สามก๊กจี่ ของตันซิ่วเขียนไว้อย่างย่นย่อมาก หลังจากตันซิ่วตายไปแล้วประมาณ ๑๓๐ ปี ในสมัยซ้องถัดจากรัชสมัยจิ้น พระเจ้าซ้องบุ๋นตี่(ระหว่างพ.ศ.๙๖๗-๙๙๔)จึงสั่งให้ขุนนางคนหนึ่งชื่อผวยซงจือ ผู้มีตำแหน่งเป็นอาจารย์ในราชวิทยาลัยเขียนอรรถาธิบายเพิ่มเติมประกอบ จดหมายเหตุสามก๊ก ที่ตันซิ่วแต่งไว้ ในการนี้ผวยซงจือตั้งอกตั้งใจทำงานอย่างจริงจังเป็นงานใหญ่ เขาค้นคว้าหนังสือจำนวนหลายเล่ม และค่อยอ่านค่อยเขียนอรรถาธิบาย เขียนยืนยันเหตุการณ์หรือค้านข้อความเดิม และวิจารณ์ข้อความบางตอนใน สามก๊กจี่ ของตันซิ่วอย่างละเอียดกว้างขวาง โดยอ้างอิงเอกสารและหนังสือต่างๆจำนวนมาก

ปัจจุบันมีผู้สำรวจจำนวนรายชื่อหนังสือที่ผวยซงจือใช้ค้นคว้าอ้างอิงในการทำอรรถาธิบาย จดหมายเหตุสามก๊ก ปรากฏว่ามีรายชื่อหนังสือที่ผวยซงจือใช้อ้างถึง ๑๖๕ ชุด (บางตำราว่า ๒๐๐ ชุด) ข้อความของคำอรรถาธิบายจึงมีมากกว่าข้อความในตัวบท สามก๊กจี่ ของตันซิ่ว ๓-๔ เท่า นับว่าคำอธิบายของผวยซงจือที่อาศัยการค้นคว้าโดยมีหลักฐานอ้างอิงนั้น เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสามก๊กอย่างมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า หนังสือที่ผวยซงจือใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงจำนวน ๒๐๐ ชุดนั้นเวลานี้มีเหลืออยู่เพียง ฮัวเอี๋ยงก๊กจี่ ของ เสียงขือ ชุดเดียว ส่วนอีก ๑๙๐ กว่าชุดเหลือแต่เพียงข้อความที่ผวยซงจือคัดมาลงไว้ในคำอรรถาธิบายเป็นตอน ๆ เท่านั้น ต้นฉบับเต็มสูญหายไปหมด

อนึ่งปัจจุบันมีคนสำรวจรายชื่อบุคคลในหนังสือ จดหมายเหตุสามก๊ก ทั้งที่ปรากฏอยู่ในข้อความจดหมายเหตุที่ตันซิ่วเขียนไว้ บวกกับรายชื่อบุคคลสมัยสามก๊กที่ปรากฏในอรรถาธิบายที่ผวยซงจืออ้างอิงจากหนังสือราว ๒๐๐ ชุด รวมกันแล้วปรากฏว่ามีรายชื่อบุคคลในสมัยสามก๊กอยู่ถึง ๔,๐๐๐ กว่าคน

นอกจากการสำรวจหนังสืออ้างอิงและจำนวนบุคคลยุคสามก๊กดังกล่าวแล้ว ยังมีนักศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสามก๊กอีกหลายคน ต่างทำการค้นคว้าและนำผลของการค้นคว้าเขียนเป็นหนังสือให้สำนักพิมพ์จำหน่ายกันมากมายหลายเล่ม เช่น หนังสือสามก๊กซินจี่ สามก๊กจี่พังเจ่ง เป็นต้น (ผู้เขียนบทความนี้สะสมหนังสือเกี่ยวกับสามก๊กได้เพียงไม่กี่เล่ม)

ประวัติตันซิ่วผู้ประพันธ์จดหมายเหตุสามก๊ก

ตันซิ่ว เป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ที่สำคัญคนหนึ่ง และนับได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์อาภัพมากคนหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน เดิมเขาเป็นคนในก๊กจ๊ก(ก๊กเล่าปี่) เกิดในปีที่ ๑๑ ศักราชเกี้ยนเฮ็ง แผ่นดินพระเจ้าเล่าเสี้ยนกษัตริย์องค์ที่ ๒ (องค์สุดท้าย)ของก๊กจ๊ก เวลาที่เขาเกิดบิดาของเขาต้องกลายเป็นนักโทษถูกกล้อนผม ทั้งนี้เพราะบิดาของเขาเคยเป็นที่ปรึกษาของม้าเจ๊ก ซึ่งรับอาสาเป็นแม่กองระวังหน้าของกองทัพของขงเบ้งไปรบกับกองทัพสุมาอี้แห่งก๊กวุ่ย(สามก๊ก พากย์ไทย ตอนที่ ๗๒-๗๓) ม้าเจ๊กอวดดีตั้งค่ายในยุทธภูมิที่ผิด แทนที่จะตั้งค่ายคร่อมทางแยกเส้นทางสำคัญ ม้า-เจ๊กกลับขึ้นไปตั้งค่ายบนเขาโดดโดยไม่ยอมฟังคำทัดทานของอองเป๋ง เป็นโอกาสให้สุมาอี้นำกองทัพเข้าล้อมเขาไว้ และตัดเส้นทางน้ำสำหรับกองกำลังของตน กองทหารของม้าเจ๊กจึงถูกกองทัพสุมาอี้ตีแตกพ่ายยับเยิน เมื่อม้าเจ๊กถูกลงโทษกล้อนผมถูกลดจากฐานะเดิมลงเสมอกับชั้นทาส แต่ต่อมาบิดาของตันซิ่วก็ได้รับอภัยโทษเปลี่ยนจากฐานะทาสเป็นสามัญชน และเป็นคนว่างงานอยู่กับบ้าน

ในวัยเด็กตันซิ่วเคยศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้จากอาจารย์คนเมืองเดียวกันชื่อ เจียวจิว เมื่อโตเป็นหนุ่มตันซิ่วได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหอสมุดหลวง แต่ตันซิ่วไม่เป็นที่พอใจของฮุยโฮ ขันทีผู้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเล่าเสี้ยน ชีวิตการงานของตันซิ่วจึงมืดมนอยู่มาก ต่อมาบิดาของตันซิ่วถึงแก่กรรม ตันซิ่วจึงต้องไว้ทุกข์ให้แก่บิดาอยู่กับบ้าน บังเอิญตัวตันซิ่วเองล้มป่วย จำต้องให้เด็กสาวใช้จัดหาหยูกยาให้ตันซิ่วรับประทาน เมื่อคนตำบลเดียวกันรู้เรื่องที่ตันซิ่วให้สาวใช้ปรนนิบัติตน ต่างก็ตำหนินินทาว่าตันซิ่วขาดความกตัญญูต่อบิดาทำเสื่อมเสียศีลธรรม

ในที่สุดตันซิ่วต้องถูกถอดจากตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นที่เหยียดหยามของคนทั่วไป

เมื่อตันซิ่วมีอายุ๓๑ ก๊กจ๊กก็ถูกกองทัพก๊กวุ่ยพิชิตสลายตัวไป บรรดาข้าราชการและนักศึกษาทั้งหลา ยในก๊กจ๊ก ส่วนมากได้รับการชี้ชวนให้หันไปรับราชการกับราชวงศ์ใหม่คือก๊กวุ่ย แต่ทว่าตันซิ่วไม่ได้รับการทาบทามเพราะเคยถูกตราหน้าว่าเป็นคนทำผิดศีลธรรม จนกระทั่งทายาทของตระกูลสุมา คือจิ้นอ๋องสุมาเอี๋ยนช่วงชิงราชสมบัติของกษัตริย์ก๊กวุ่ยมาสถาปนาราชวงศ์จิ้นแล้ว จึงมีข้าราชการผู้มีเกียรติศักดิ์คนหนึ่ง ซึ่งนิยมชมชอบงานเขียนของตันซิ่วมากชื่อว่า เตียวหัว ช่วยแก้ข้อกล่าวหาที่ตันซิ่วเคยถูกตำหนิพร้อมกับเสนอชื่อตันซิ่วให้ได้เป็น เห่าเหนียม (หรือเฮ่าเหลียม ภาษาจีนกลางว่า เซี่ยวเหลียน) คำว่า เห่า แปลว่า มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ เหนียม แปลว่า มีนิสัยรักความสะอาดและสมถะ สมัยนั้นเห่าเหนียมเป็นคำเรียกผู้ชายที่ได้รับการเลือกตั้งจากอำเภอหรือจังหวัดไม่ได้มีการสอบ

หลังจากนั้นตันซิ่วก็ถูกเรียกตัวเข้าไปในนครลกเอี๋ยง ให้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยในส่วนภูมิภาค ต่อมาในปีที่ ๕ แห่งศักราชไทสื่อแผ่นดินพระเจ้าสุมาเอี๋ยนผู้ซึ่งเพิ่งสถาปนาราชวงศ์จิ้นได้ ๕ ปี ตันซิ่วก็ได้ย้ายกลับไปเป็นข้าราชการตำแหน่งลอยที่ภูมิลำเนาเดิมของตน ช่วงเวลานั้นอาจารย์เจียวจิวของเขากำลังป่วยรักษาตัวอยู่กับบ้าน เขาได้รับมรดกสำหรับเรียบเรียงประวัติศาสตร์สมัยสามก๊กจากอาจารย์เจียวจิวของเขา เช่น วัสดุเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติของก๊กจ๊ก ซึ่งสลายตัวไปเมื่อ ๖-๘ ปีก่อน แม้เอกสารดังกล่าวมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก ของเขา

ต่อมาไม่นานตันซิ่วได้ย้ายเข้าไปดำรงตำแหน่งประพันธกรในราชการส่วนกลางที่นครลกเอี๋ยง และได้รับคำสั่งจากซูนหอยราชเลขาธิการและห่อเขียวรองราชเลขาธิการ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเขา ให้เรียบเรียงหนังสือรวมวรรณกรรมของขงเบ้งผู้ล่วงลับ ตันซิ่วใช้เวลาเรียบเรียงอยู่ ๕ ปีจึงสำเร็จ และในระยะเวลาเดียวกันนั้นตันซิ่วก็เริ่มขะมักเขม้นรวบรวมวัสดุเอกสารและหลักฐานต่างๆ สำหรับการเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก ด้วย

การเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก เป็นงานที่หนักมาก และตันซิ่วต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ แม้เขาจะได้อาศัยตำแหน่งประพันธกรของราชวงศ์จิ้นสำรวจเอกสาร ซึ่งจะเป็นเนื้อหาเขียนจดหมายเหตุก๊กวุ่ยเท่าที่มีอยู่ในหอสมุดหลวงก็ตาม แต่เนื่องด้วยตันซิ่วเป็นข้าราชการในตำแหน่งต่ำ การจะหาโอกาสสำรวจเอกสารราชการของก๊กวุ่ย ซึ่งตกมาเป็นสมบัติของราชวงศ์จิ้นแล้วก็เกือบจะไม่ได้รับความสะดวกเลย ก๊กจ๊กไม่มีจดหมายเหตุอยู่เดิมเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่บันทึก (ตันซิ่วเขียนไว้ในคำวิจารณ์ท้ายประวัติพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่าก๊กจ๊กไม่ได้ตั้งพนักงานพงศาวดาร) ตันซิ่วมีเนื้อหาเกี่ยวกับก๊กจ๊กเพียงเล็กน้อยที่ได้รับจากอาจารย์เจียวจิวของเขาแหล่งเดียว ก๊กหงอยังไม่ได้ถูกปราบให้ราบคาบ ตันซิ่วจึงยังขาดแคลนวัสดุเอกสารเกี่ยวกับก๊กหงออย่างยิ่ง แม้กระนั้นตันซิ่วก็มานะพยายามเขียนจดหมายเหตุทุกวันทุกคืนเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี ในที่สุดงานเขียนจดหมายเหตุ สามก๊กจี่ ของเขาก็สำเร็จเป็นหนังสือรวม ๖๕ เล่มสมุด (ในสมัยนั้นเล่มหนังสือมีลักษณะเป็นกระดาษม้วน)

แต่ว่าเมื่อต้นร่างหนังสือ สามก๊กจี่ ของตันซิ่วเป็นที่เปิดเผยขึ้นและมีคนยืมอ่านกันบ้างแล้ว ในสังคมขุนนางนครลกเอี๋ยงก็เกิดปฏิกิริยาต่อตันซิ่วทั้งดีและไม่ดีเวลานั้นมีขุนนางคนหนึ่งชื่อ แฮหัวตำ กำลังเรียบเรียงพงศาวดารก๊กวุ่ยอยู่ แต่เมื่อแฮหัวดำได้อ่านต้นร่าง สามก๊กจี่ ของตันซิ่วแล้ว แฮหัวตำก็ทำลายต้นร่างพงศาวดารก๊กวุ่ยของตนเองทันที

ปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อตันซิ่วก็มีมาก และทำให้ตันซิ่วต้องได้รับความอัปยศเหยียดหยามเป็นอย่างมาก เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อตันซิ่วเปิดเผยต้นร่าง จดหมายเหตุสามก๊ก ของเขานั้น ถึงแม้สภาวะบ้านเมืองจะเปลี่ยนจากราชวงศ์วุ่ยเป็นราชวงศ์จิ้นแล้วก็ตาม แต่บุคคลสำคัญบางคนในสมัยสามก๊กยังมีชีวิตอยู่ และทายาทของบุคคลสมัยสามก๊กบางคนกำลังมีตำแหน่งราชการชั้นสูง คนเหล่านั้นต้องการให้ตันซิ่วเขียนชีวประวัติและเชิดชูคุณงามความดีของบรรพบุรุษของเขา แต่ตันซิ่วยังคงขัดแข็งไม่ยอมโอนอ่อนเอาอกเอาใจบุคคลใดทั้งสิ้น ตันซิ่วจึงเป็นที่เกลียดชังของขุนนางหลายคนในงานชุมนุมสโมสรอันมีเกียรติคราวใดหากตันซิ่วไปร่วมอยู่ด้วย บรรดาพวกขุนนางจะพากันหลีกไปเสียทางอื่น ซ้ำยังกล่าววาจาเป็นเชิงเย้ยหยันอยู่ในที

ในชั้นแรกมีผู้ที่ได้อ่านต้นร่าง สามก๊ก เพียงไม่กี่คน จึงมีบางคนเจตนากล่าวหาว่าเนื่องจากบิดาของตันซิ่วเคยถูกขงเบ้งมหาอำมาตย์นายกของก๊กจ๊กลงโทษกล้อนผม ตันซิ่วจึงมีเจตนาเขียนวิจารณ์ชีวประวัติขงเบ้งในแง่ไม่ดี เช่น วิจารณ์ว่าขงเบ้งเป็นผู้สามารถในด้านบริหารพอเทียบได้กับกวนต๋งหรือเซียวหอ แต่ขงเบ้งระดมพลรบติดต่อกันหลายปี ในด้านชั้นเชิงการศึกคงไม่ใช่สิ่งที่ขงเบ้งถนัดนัก และมีคำกล่าวหาว่าที่ตันซิ่ววิจารณ์ว่าจูกัดเจี๋ยม (บุตรขงเบ้ง) ผู้อาสาออกรบป้องกันประเทศต่อสู้กับกองทหารก๊กวุ่ยของเต็งงาย จนถูกทหารก๊กวุ่ยฆ่าตายกลางสนามรบทั้งพ่อลูกนั้น มีกิตติคุณเกินกว่าความเป็นจริง คำกล่าวหาอีกเรื่องหนึ่งมีว่าเต็งหงี เต็งอี๋ สองพี่น้องเป็นคนมีชื่อเสียงเกียรติคุณในสมัยก๊กวุ่ย ตันซิ่วเคยบอกกับผู้สืบตระกูลของเต็งหงี เต็งอี๋ว่าจะเขียนชีวประวัติของเต็งหงีเต็งอี๋ให้ หากผู้สืบตระกูลทั้งสองคนให้ข้าวสารแก่ตนหนึ่งพันสัด แต่ผู้สืบตระกูลของเต็งหงี เต็งอี๋ไม่ยอมให้ ตันซิ่วจึงไม่ยอมเขียนชีวประวัติเต็งหงี เต็งอี๋ลงในจดหมายเหตุก๊กวุ่ย (คำกล่าวต่าง ๆ ข้างต้นนักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นหลังบางคนก็เชื่อว่าเป็นจริง แต่บางคนก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นเพียงคำเล่าลือ)

อย่างไรก็ดี ยังมีขุนนางผู้มีความรู้และเป็นผู้ชื่นชมเชิงการเขียนของตันซิ่วอยู่สองคน คนหนึ่งชื่อ เตียวหัว เป็นเจ้ากรมคลัง ผู้นี้เคยช่วยแก้ข้อกล่าวหาให้ตันซิ่ว อีกคนหนึ่งชื่อ เตาอี้ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าสุมาเอี๋ยนให้เป็นแม่ทัพไปปราบก๊กหงอจนราบคาบ (สามก๊ก พากย์ไทยตอนอวสาน) ขุนนางทั้งสองคนนี้พยายามกราบทูลให้พระเจ้าสุ-มาเอี๋ยนรับพิจารณาต้นร่าง จดหมายเหตุสามก๊ก ของตันซิ่ว แต่ก็ถูกขุนนางชั้นผู้ใหญ่บางคนคัดค้านอย่างหนัก

ต่อมาไม่นานมารดาของตันซิ่วก็ถึงแก่กรรม ตันซิ่วจำต้องลาออกจากราชการเพื่อไว้ทุกข์ให้มารดา และจัดการฝังศพมารดาไว้ที่นครลกเอี๋ยงตามคำสั่งของมารดาก่อนตาย เขาไม่ได้คาดคิดว่าพวกขุนนางในนครลกเอี๋ยงอ้างเหตุนี้โจมตีเขาอีกว่า เป็นคนอกตัญญูไม่นำศพมารดากลับไปฝังยังบ้านเดิม

นับตั้งแต่ตันซิ่วเขียนต้นร่าง จดหมายเหตุสามก๊ก ของเขาเสร็จเป็นต้นมาเขาถูกพวกขุนนางโจมตีตลอดเวลาเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งเรื่องค่อย ๆ เงียบหายไปเอง ส่วนตัวตันซิ่วเองเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่อำนวยแก่เขา กอปรกับต้นร่างของเขายังไม่สมบูรณ์ดี เขาจึงไม่กล้านำถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อก๊กหงอถูกพิชิตสลายตัวแล้ว ตันซิ่วจึงเริ่มแก้ไขเพิ่มเติมต้นร่างอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเขาได้รับความสนับสนุนจากขุนนางชื่อ อ้องหุ่น ผู้มีตำแหน่งเป็นปลัดสมุหนายกกราบทูลพระเจ้าสุมาเอี๋ยนให้แต่งตั้งตันซิ่วเป็นจางวางในวังรัชทายาท แต่เวลานั้นตันซิ่วหมดเรี่ยวแรงที่จะทำอะไรได้แล้ว เพราะถูกความชราและโรคภัยไข้เจ็บรบกวน ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ ในปีต่อมาตันซิ่วถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๖๕ ปี

เมื่อตันซิ่วตายแล้วจึงมีคนกล่าวขวัญถึงงานนิพนธ์ของเขา และมีขุนนางหลายคนถวายหนังสือขอให้พระเจ้าแผ่นดินส่งคนไปลอกต้นฉบับ สามก๊กจี่ ที่บ้านของตันซิ่ว หนังสือนี้จึงเป็นที่รับรองของทางราชการและได้เข้าอยู่ในหอสมุดหลวง ตอนนั้นตันซิ่วตายไปแล้วหลายปี

หลักการในการเรียบเรียงสามก๊กจี่ของตันซิ่ว

ในการเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก ตันซิ่วถือหลักว่าก๊กวุ่ยเป็นรัฐ “เจิ้งถุ่ง” ส่วนก๊กจ๊กและก๊กหงอเป็นเพียงรัฐ “เพียนอัน” ถึงแม้ตันซิ่วเองไม่ได้ใช้สองคำนี้แต่ตันซิ่วมีความหมายเช่นนี้ สองคำนี้แปลยาก ผู้เขียนบทความนี้ขออนุญาตแปลตามศัพท์และเขียนชี้แจงความหมายของสองคำดังต่อไปนี้ หากเป็นคำที่ยังไม่เหมาะโปรดให้อภัยแก่ผู้เขียนด้วย คือ ตันซิ่วถือหลักว่า ก๊กวุ่ยเป็น “ยุกตประศาสนรัฐ” ซึ่งสืบสายสันตติวงศ์อย่างถูกต้องตามแนวประเพณีและมีอำนาจการปกครองบ้านเมืองอย่างสมบูรณ์ ส่วนก๊กจ๊กของเล่าปี่และก๊กหงอของซุนกวนทั้งสองก๊กเป็นเพียง “ภาคศานติรัฐ” ซึ่งยึดครองแผ่นดินได้เพียงบางส่วนและดำรงอำนาจการปกครองในภูมิภาคบางส่วนของบ้านเมือง ประทังความสงบสันติสุขอยู่ในมุมหนึ่งของบ้านเมืองเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองทั้งมวลด้วยหลักการดังกล่าวตันซิ่วจึงใช้วิธีเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก ดังนี้

๑.เริ่มต้นกล่าวถึงก๊กวุ่ยก่อน แล้วจึงต่อด้วยก๊กจ๊กและกล่าวถึงก๊กหงอเป็นก๊กสุดท้าย

๒.เมื่อเขียนประวัติของกษัตริย์ก๊กวุ่ย ตันซิ่วใช้คำว่า “จี่” ซึ่งมีความหมายว่าราชประวัติตามแบบจดหมายเหตุสมัยก่อน ๆ เริ่มต้นด้วยราชประวัติพระเจ้าบู๊เต้ ( โจโฉซึ่งไม่เคยได้ครองราชย์ ) แล้วต่อด้วยราชประวัติพระเจ้าบุ๋นเต้

( โจผี ) ราชประวัติเม็งเต้ ( โจยอย ) และราชประวัติสามยุวกษัตริย์ ( โจฮวง โจเมา โจฮ่วน )เป็นอันดับที่๔

ส่วนประวัติของกษัตริย์ในก๊กจ๊ก(เล่าปี่ เล่าเสี้ยน)และประวัติของกษัตริย์ในก๊กหงอ (ซุนกวน ซุนเหลียง ซุนฮิว ซุนโฮ) ตันซิ่วใช้เพียงคำว่า “จ้วน” ซึ่งหมายถึงชีวประวัติเหมือนกับชีวประวัติของขุนนางข้าราชการและคนอื่นทั่วไป

๓.ตันซิ่วไม่ยอมเขียนชื่อก๊กฮั่นของเล่าปี่ “ฮั่น” หากแต่เรียกว่า “จ๊ก” ตามที่ตนเห็นชอบอาจเป็นเพราะถือว่าฮั่นสิ้นบุญไปแล้ว และเล่าปี่เป็นเพียงกษัตริย์ “ภาคสันติรัฐ” มณฑล (เสฉวน)เท่านั้น ถ้าเขียนว่าฮั่นก็จะข่มชื่อก๊กวุ่ยไป แต่ตันซิ่วยังให้เกียรติแก่เล่าปี่อยู่บ้าง จึงเขียนถึงเล่าปี่ว่า “เซียนจู่” หมายถึงเจ้าองค์แรก และเขียนกล่าวถึงเล่าเสี้ยนว่า “โฮ่วจู่” หมายถึงเจ้าองค์หลัง ส่วนกษัตริย์ของก๊กหงอนั้นตันซิ่วเรียกชื่อโดยตรง “ซุนกวน ซุนเหลียง ซุนฮิว ซุนโฮ” ทุกองค์

๔.เหตุการณ์ตอนที่ขงเบ้งนำกองทัพมาตีเมืองของก๊กวุ่ย ตันซิ่วเขียนในจดหมายเหตุว่า “จูกัดเหลียงแม่ทัพจ๊กบุกรุกชายแดน”

คำวิจารณ์ของนักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นหลัง

การที่ตันซิ่วยกให้ก๊กวุ่ยเป็น “ยุกตประศาสนรัฐ” นั้นเป็นที่วิจารณ์ตำหนิของนักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นต่อ ๆ มา เพราะข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นพระมหากษัตริย์ทรงราชธรรมไม่มีจุดด่างพร้อย โจโฉใช้อิทธิพลการเมืองของตนข่มขู่พระเจ้าเหี้ยนเต้ตลอดเวลาที่โจโฉรับราชการอยู่ และที่โจผีลูกชายโจโฉได้รับโอนราชสมบัติจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ ก็ทำด้วยการใช้อำนาจข่มขู่ เป็นการชิงราชสมบัติและทรยศต่อพระมหากษัตริย์ของตน ตามหลักธรรมและตามอุดมการณ์ของจดหมายเหตุ “ซุนชิว” ของขงจื๊อควรถือว่าปล้นราชสมบัติ ไม่สมควรถือว่าเป็นการสืบสันตติวงศ์อันถูกต้องที่ถูกควรถือว่าก๊กฮั่นของพระเจ้าเล่าปี่เป็น “ยุกตประศาสนรัฐ” เพราะเมื่อฮั่นตงอ๋องเล่าปี่ทราบว่าโจผีใช้อำนาจปลดพระเจ้าเหี้ยนเต้จากราชบัลลังก์ และมีข่าวว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกทำร้ายสิ้นพระชนม์แล้ว เล่าปี่ก็ทำพิธีเซ่นสรวงพระวิญญาณพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น และถวายพระสมญาว่า “เฮ่าหมินฮ่องเต้” (ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอนที่๖๓) แล้วฮั่น-อ๋องเล่าปี่จึงขึ้นเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ ฮั่นสืบต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้เพื่อปราบดัสกรโจผีต่อไป (ความจริงพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกโจผีถอดให้เป็นซันเอี๋ยงก๋งแล้ว ยังมีพระชนม์อยู่จนถึงศักราชเช็งเล็งปีที่ ๒ แผ่นดินพระเจ้าโจยอยของก๊กวุ่ยจนถึงสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจยอยก็ทรงขาวไว้ทุกข์และส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไปดูแลพิธีพระศพ ณ เมืองซันเอี๋ยง ทั้งโปรดให้ถวายสมญาว่า “เฮ่าเหี้ยนฮ่องเต้” และจัดฝังพระศพเยี่ยงพระมหากษัตริย์แห่งรัชสมัยฮั่น เนื่องจากการอันนี้มีบันทึกอยู่ในจดหมายเหตุสามก๊กจี่ อย่างชัดเจน พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ( ตังฮั่น)จึงมีสมญาว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นที่รับรองในประวัติศาสตร์จีน)

คำตำหนิในตัวตันซิ่ว

นอกจากคำวิจารณ์หลักการที่ไม่เหมาะสมของตันซิ่วดังกล่าวข้างต้นแล้วนักศึกษาประวัติศาสตร์สมัยต่อ ๆ มาบางคน ยังตำหนิตัวตันซิ่วเองอีกด้วย เช่น

๑.ตันซิ่วไม่ยอมเรียกชื่อก๊กฮั่นของพระเจ้าเล่าปี่ว่า “ฮั่น” หากแต่เรียกว่า “จ๊ก” เป็นการเปลี่ยนชื่อโดยพลการอย่างไม่สมควร

๒.เพราะตันซิ่วผูกใจเจ็บขงเบ้ง ที่เคยลงโทษกล้อนผมบิดาของตน และแค้นเคืองที่ตนเองเคยถูกจูกัดเจี๋ยมลูกชายขงเบ้งสบประมาท ในการเขียนประวัติขงเบ้งตันซิ่วจึงจงใจเขียนว่า ขงเบ้งขาดความถนัดในเชิงสงคราม เพื่อกดขงเบ้งและเชิดชูความสามารถของสุมาอี้ต้นตระกูลราชวงศ์จิ้นซึ่งตนรับราชการอยู่ นับว่าตันซิ่วมีเจตนารมณ์ไม่บริสุทธิ์ ตันซิ่วจึงขาดคุณสมบัติความเที่ยงธรรมของนักเขียนประวัติศาสตร์

๓.ตันซิ่วไม่ยอมเรียบเรียงชีวประวัติให้แก่เต็งหงี เต็งอี๋ เพราะลูกหลานต้นตระกูลแซ่เต็งทั้งสองไม่ยอมให้ข้าวสารแก่ตน ก็เป็นข้อที่น่าตำหนิอยู่ด้วย

๔.การบรรยายเรื่องในจดหมายเหตุ ตันซิ่วมักจะใช้ถ้อยคำสำนวนช่วยปิดป้องความผิดให้แก่ก๊กวุ่ยและราชวงศ์จิ้นเสมอ ไม่กล้าเขียนความผิดของผู้กระทำ นักศึกษาประวัติศาสตร์ถือว่าตันซิ่วมีใจลำเอียงเข้าข้าง ขัดกับหลักบันทึกอย่างตรงไปตรงมาของนักประวัติศาสตร์ เช่นในปีที่ศักราชเกี้ยนอัน แผ่นดินพระเจ้าเหี้ยนเต้ (พ.ศ.๗๔๓) พี่ชายของนางตังกุยฮุย พระสนมของพระเจ้าเหี้ยนเต้มีชื่อว่านายพลตังสิน ได้รับเสื้อพระราชทานพร้อมกับพระอักษรลับจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้กำจัดโจโฉ ตังสินจึงคิดแผนการร่วมกับว่าที่นายพลอ้องจูฮก นายพลหงอจูหลั่น และนายพลชงฉิบ แต่แผนลับของพวกตังสินรั่วไหลรู้ไปถึงโจโฉจึงจับตังสิน อ้องจูฮก หงอจูหลั่น และชงฉิบฆ่าสามโคตรทุกคน (ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอนที่ ๑๘ และ ๒๑) เรื่องนี้ปรากฏบันทึกในหนังสือบางเล่ม แต่ตันซิ่วเขียนไว้ในราชประวัติบู๊เต้ (โจโฉ) เพียงย่อ ๆ ว่า “เดือนอ้ายปีที่ ๕ แผนลับของพวกตังสินรั่วไหล ถูกลงโทษประหารชีวิตทุกคน”

ยิ่งกว่านั้นในปีที่ ๑๙ ศักราชเกี้ยนอัน นางฮกเฮาพระมเหสีของพระเจ้าเหี้ยนเต้มีหนังสือลับให้ฮกฮ้วนบิดาคิดหาทางกำจัดโจโฉ โจโฉก็จับหนังสือลับโต้ตอบของพ่อลูกสองคนนี้ได้อีก โจโฉโกรธมากถึงกับใช้ให้เอกลีเข้าไปในวังหลวงตรงเข้าไปยึดตราสำหรับมเหสี พร้อมกันนั้นยังใช้ให้ฮัวหิมเข้าไปจับพระมเหสีฮกเฮาในพระตำหนัก ฮัวหิมทะลวงฝากั้นห้องพระตำหนักลากนางฮกเฮาออกมา พระเจ้าเหี้ยนเต้กำลังประทับพูดจากับเอกลีอยู่ นางฮกเฮาถูกลากเปลือยเท้าเผ้าผมกระเซิงผ่านพระพักตร์พระเจ้าเหี้ยนเต้ นางฮกเฮาเข้าไปจับพระหัตถ์พระเจ้าเหี้ยนเต้ทูลถามว่า “จะช่วยชีวิตกันไม่ได้เชียวหรือ” พระเจ้าเหี้ยนเต้ได้แต่กันแสงและตรัสว่า “ฉันเองยังไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปอีกนานเท่าไร” พลางหันมาตรัสกับเอกลีว่า “ท่านเอกลี มีเรื่องเช่นนี้ในใต้ฟ้าได้ด้วยหรือ” (ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอน ๕๔) แล้วโจโฉก็ฆ่านางฮกเฮาพร้อมกับสั่งประหารชีวิตฮกฮ้วนกับคนในครอบครัวตลอดจนเครือญาติรวมหลายร้อยคน เหตุการณ์ครั้งนี้มีปรากฏในประวัติโจโฉซึ่งผู้อื่นบันทึกไว้ แต่ตันซิ่วเขียนไว้ในสมุดเล่มที่ ๑ ราชประวัติโจโฉว่า “เดือน ๑๑ ฮกเฮามเหสีแห่งฮั่นมีความผิดฐานมีจดหมายถึงบิดาของตนว่าฮ่องเต้โกรธแค้นที่ท่าน (โจโฉ)ประหารตังสิน อันข้อความในจดหมายใช้ถ้อยคำเลวร้ายมาก เรื่องปรากฏ ฮกเฮาถูกฆ่าตาย พี่น้องถูกสำเร็จโทษขั้นชีวิตทุกคน” สองกรณีนี้เป็นข้อผิดที่นักศึกษาประวัติศาสตร์สมัยต่อ ๆ มา ไม่ยอมให้อภัยแก่ตันซิ่ว

อย่างไรก็ดีข้อตำหนิที่กล่าวมามีผู้แก้แทนตันซิ่วและให้เหตุผลเป็นประโยชน์ต่อตัว ตันซิวอยู่บ้างเหมือนกัน

ข้อดีเด่นของสามก๊กจี่ของตันซิ่ว

หนังสือ สามก๊กจี่ มีข้อที่ถูกตำหนิดังได้กล่าวแล้ว แต่นักศึกษาประวัติศาสตร์ทั่วไปก็ยอมยกย่องข้อดีเด่นของหนังสือชุดนี้ว่า ตันซิ่วมีความสามารถในเชิงบรรยายความด้วยสำนวนกะทัดรัดชัดเจนและน่าอ่าน หนังสือชุดนี้ช่วยให้คนรุ่นหลังรู้เรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่ปีที่ ๖ ศักราชตงเผ็ง รัชกาลพระเจ้าฮั่นเลนเต้ (พ.ศ.๗๓๒) จนถึงอวสานของสามก๊กเป็นเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี

ประโยชน์ของบทอรรถาธิบายของผวยซงจือ

น่าจะกล่าวถึงประโยชน์ของบทอรรถาธิบายซึ่งผวยซงจือเขียนประกอบสามก๊กจี่ เป็นตอน ๆ ไปด้วย ผวยซงจือเป็นข้าราชการสมัยหลิวซ่ง (พ.ศ. ๙๖๓-๑๐๒๑)ต่อจากรัชสมัยจิ้น ผวยซงจือเป็นผู้คงแก่เรียนและมีคุณธรรมจรรยาพระเจ้าซ่องบุ๋นตี่ตำหนิว่า สามก๊กจี่ ของตันซิ่วย่อเกินไปจึงสั่งให้ผวยซงจือเขียนอรรถาธิบายประกอบ และเหตุผลที่ผวยซงจือตั้งอกตั้งใจเขียนอรรถาธิบายประกอบ สามก๊กจี่ อย่างละเอียดกว้างนั้น พอประมวลได้ดังนี้

เมื่อตันซิ่วเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก ตันซิ่วแยกเรียบเรียงเป็นหนังสือ ๓ ชุด ต่างหากจากกันเรียกชื่อว่า วุ่ยซู จ๊กซู และหงอซู (ซูคือหนังสือ) ตันซิ่วตั้งใจจะรวมเป็นชุดเดียวกันและไม่ได้เรียกชื่อว่า สามก๊กจี่ คำว่า สามก๊กจี่ เป็นชื่อที่ผู้จัดพิมพ์รวมชุดในสมัยไต้ซ้อง ( พ.ศ. ๑๕๐๓ - ๑๘๒๒ ) ตั้งให้

ระหว่างที่ตันซิ่วเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก นั้น ก๊กวุ่ยและก๊กหงอต่างมีจดหมายเหตุอยู่ก่อนทั้งของราชการและของเอกชน ก๊กวุ่ยมีหนังสือ วุ่ยซูของอ้องติ๋ม และหนังสือ วุ่ยเลียก ของหยี่ฮ่วน ก๊กหงอมีจดหมายเหตุ หงอซู ของอุ้ยเจา หนังสือสามชุดนี้จึงเป็นวัสดุสำคัญที่ตันซิ่วได้อาศัยเป็นแนวการเรียบเรียงจดหมายเหตุก๊กวุ่ยและจดหมายเหตุก๊กหงอ ส่วนก๊กจ๊กไม่เคยมีจดหมายเหตุของผู้ใดเขียนไว้ ตันซิ่วจึงจำต้องค้นคว้าเสาะหา และได้รับจากอาจารย์เจียวจิวของเขาบ้าง เนื่องจากวัสดุที่ได้จากอาจารย์ทั้งสามมีรายละเอียดต่างกัน จึงทำให้ความหนาของจดหมายเหตุทั้งสามก๊กของตันซิ่วไม่เท่ากัน(ในสามก๊กจี่มีวุ่ยซู ๓๐ เล่ม จ๊กซู ๑๕ เล่ม หงอซู ๒๐ เล่ม)

หนังสือ หงอซู ต้นฉบับเดิมของอุ้ยเจาเขียนไว้ดีพอสมควรอยู่แล้ว จึงเป็นหนังสืออุเทศสำคัญช่วยให้ตันซิ่วเรียบเรียงจดหมายเหตุก๊กหงอได้เรียบร้อยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ทางก๊กจ๊กขาดวัสดุเอกสารที่สำคัญ จึงเป็นอุปสรรคทำให้ตันซิ่วต้องเขียนจดหมายเหตุก๊กจ๊กอย่างย่นย่อและน้อยเล่ม ส่วนทางก๊กวุ่ยซึ่งมีหนังสือ วุ่ยซู และ วุ่ยเลียก อยู่แล้วนั้นมีอยู่หลายตอนที่ผู้แต่งเดิมจำต้องเขียนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เพราะถูกสุมาอี้ต้นตระกูลราชวงศ์จิ้นใช้อิทธิพลบังคับให้เขียนตามปรารถนาของตน (เช่นตอนที่เกี่ยวกับโทษกบฏของโจซอง ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอนที่ ๗๙) เป็นต้น เมื่อตันซิ่วเรียบเรียงจดหมายเหตุก๊กวุ่ย ตันซิ่วเป็นข้าราชการของราชวงศ์จิ้นจึงไม่กล้าเขียนผิดไปจากใจความหนังสือเดิม ด้วยเหตุนี้จดหมายเหตุก๊กวุ่ยของตันซิ่วจึงมีส่วนผิดไปจากเหตุการณ์และข้อเท็จจริงอยู่ไม่น้อย

รวมความว่า จดหมายเหตุสามก๊ก ของตันซิ่วยังมีส่วนที่ขาดตกบกพร่อง การทำอรรถาธิบายของผวยซงจือมุ่งจะแก้ไขข้อบกพร่องในหนังสือของตันซิ่วดังกล่าว ผวยซงจือจึงพยายามรวบรวมแหล่งวัสดุเอกสารสำคัญให้มากที่สุดเพื่อใช้อ้างอิงในการอรรถาธิบายให้ สามก๊กจี่ มีความสมบูรณ์ถูกต้อง ส่วนหลักวิธีที่ผวยซงจือถือปฏิบัติในการอรรถาธิบาย จดหมายเหตุสามก๊ก พอประมวลได้เป็น ๔ ประการ ได้แก่

๑.เหตุการณ์เรื่องใดที่สมควรจะบันทึกแต่ตันซิ่วไม่ได้เขียนไว้ ผวยซงจือจะเพิ่มเติมให้สมบูรณ์

๒.เรื่องใดที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่ข้อความในหนังสือเล่มหนึ่งกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งไม่ตรงกัน และไม่อาจตัดสินได้ว่าข้อความใดถูกต้อง ผวยซงจือจะเพิ่มไว้ทั้งสองข้อความเพื่อให้เห็นความแตกต่าง

๓.ข้อความเดิมตอนใดที่ตันซิ่วบันทึกไว้ไม่สมเหตุผล ผวยซงจือก็ชี้ทักท้วงให้เห็นความผิดพลาด

๔.กรณีที่อาจถูกหรืออาจผิดตลอดจนเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเล็กๆน้อยๆ ของตันซิ่ว ผวยซงจือก็ใช้วิจารณญาณของตนเองแสดงให้เห็นความถูกหรือผิด

เนื่องด้วยคำอธิบายของผวยซงจือที่เขียนประกอบ จดหมายเหตุสามก๊กของตันซิ่ว เมื่อรวมเป็นเล่มแล้วมีปริมาณมากกว่าตัวจดหมายเหตุเองถึง ๓-๔ เท่า นักศึกษาก่อนรัชสมัยไต้เหม็งมีความเห็นว่า ผวยซงจือบรรจุไว้มากเกินไปจนยุ่งเหยิง และว่าอรรถาธิบายที่ผวยซงจือให้ไว้นั้นล้วนเป็นกระผีกเล็กเศษน้อยซึ่งตันซิ่วคัดทิ้งแล้วทั้งสิ้น ส่วนนักศึกษาในสมัยไต้เช็ง (แมนจูเรีย) หลายคนยอมรับว่าอรรถาธิบายของผวยซงจือมีค่าคู่ควร แต่ก็ยังมีบางคนตำหนิจนได้ว่า ที่ควรอธิบายผวยซงจือไม่อธิบาย กลับอธิบายที่ไม่ควรอธิบาย ส่วนคำนำของหนังสือ สามก๊กจี่ พร้อมอรรถาธิบายที่บริษัทจงหัวจัดพิมพ์จำหน่ายในปัจจุบันนั้น ให้ความเห็นว่า ข้อบกพร่องในอรรถาธิบายของผวยซงจือซึ่งบางคนกล่าวหานั้นเป็นเพียงข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ ที่ผวยซงจือได้พยายามรวบรวมหนังสือที่คนสมัยสามก๊กและสมัยจิ้นเขียนไว้มากถึง ๒๐๐ เรื่องนั้น เท่ากับได้อนุรักษ์เอกสารโบราณไว้ในบทอรรถาธิบาย สามก๊กจี่ ให้คนรุ่นหลังได้รู้เห็นก็นับว่ามีคุณค่าพออยู่แล้ว

สามก๊กเอี้ยนหงี(นิทานพงศาวดารสามก๊ก)

ที่กล่าวมาแล้วเป็นประวัติความเป็นมาของหนังสือ จดหมายเหตุสามก๊กซึ่งมีชื่อว่า สามก๊กจี่ ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวและผลสัมฤทธิ์ของ นิทานสามก๊ก หรือ สามก๊กเอี้ยนหงี ซึ่งเป็นต้นฉบับการแปลหนังสือ สามก๊ก พากย์ไทยพอสังเขป

ความหมายของชื่อหนังสือนิทานสามก๊ก

หนังสือชุดนี้เรียกชื่อเต็มว่า สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี คำว่า ทงซก หมายความว่า เหมาะแก่สามัญชนทั่วไป ส่วน เอี้ยนหงี หมายความว่า การแสดงความหมายของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน ชื่อเต็มของ สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี จึงมีความหมายว่า นิทานแสดงความหมายของจดหมายเหตุสามก๊กสำหรับสามัญชน บางคนเรียกว่า สามก๊กจี่เอี้ยนหงี หรือเรียกให้สั้นขึ้นอีกว่า สามก๊กเอี้ยน หงี

 

ประวัติผู้เรียบเรียงนิทานสามก๊ก

ผู้แต่ง สามก๊กจี่ทงซกเอี้ยนหงี ชื่อ ล่อกวนตง เขาเป็นคนปลายสมัยหงวนและมีชีวิตต่อมาถึงสมัยเหม็ง แต่น่าเสียดายที่ไม่มีใครทราบประวัติของเขาอย่างละเอียดได้ทราบแต่เพียงว่า เขาเป็นศิษย์ของ ซีไน่อำ ผู้แต่งเรื่อง ซ้องกั๋ง นิทานที่ล่อกวนตงแต่งทำนองประวัติศาสตร์แบบแบ่งตอนมีหลายชุด ที่มีคนนิยมอ่านแพร่หลายกันมากได้แก่เรื่อง สามก๊กจี่เอี้ยนหงี เรื่อง ซุยถัง เรื่องฮุ่นจวงเหลา และ กิมเสี่ยถ่าง นักศึกษาคนเก่งปลายสมัยเหม็งเข้าใจว่า เรื่อง ซ้องกั๋ง ที่ซีไน่อำแต่งไว้ ๖๙ ตอน ตอนที่ ๗๐ ไปจนถึงตอนจบเป็นฝีมือแต่งเพิ่มเติมของล่อกวนตง นอกจากมีฝีมือการเขียนนิทานแล้ว

ล่อกวนตงยังเป็นนักประพันธ์บทละครร้อง(งิ้วหรืออุปรากรจีน )ชั้นเยี่ยมคนหนึ่งด้วย

เนื้อหาสำหรับเรียบเรียงนิทานสามก๊ก

นิทานสามก๊กของล่อกวนตงมี ๑๒๐ ตอน แต่ละตอนยังแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนแรกและส่วนหลังในการเขียนนิทานสามก๊กล่อกวนตงใช้เนื้อหาจากแหล่งต่อไปนี้

๑.ใช้เนื้อหาจาก จดหมายเหตุสามก๊กจี่ เป็นแกนดำเนินเรื่อง

๒.อาศัยบทอรรถาธิบายของผวยซงจือประกอบ เช่น ตอนที่ขงเบ้งล้มเจ็บจนตายในกองทัพ ( ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอน ๗๘ ) เกียงอุยและเอียวหงีจึงต้องถอนทัพ นำศพของขงเบ้ง

กลับเมืองฮั่นตง เหตุการณ์ตอนนี้หนังสือ สามก๊กจี่ ของตันซิ่วเขียนไว้ในชีวประวัติขงเบ้งเพียงว่า “ในเดือน ๘ ปีนั้นขงเบ้งเจ็บหนัก ตายในกองทัพ อายุได้ห้าสิบสี่ปี เมื่อกองทัพ(ขงเบ้ง)ถอยไปท่านซวนอ๋อง (สุมาอี้) ไปตรวจดูรอยที่ตั้งค่ายของขง-เบ้งและชม (ขงเบ้ง) ว่า ‘เป็นผู้มีปัญญาอัจฉริยะแท้’” แต่ในบทอรรถาธิบายของผวยซงจืออ้างหนังสือฮั่นจิ้นชุนชิวของสิบ-ฉัดชี่ คนรุ่นตอนปลายสมัยจิ้นเขียนไว้ต่างกัน มีใจความว่าเมื่อขงเบ้งตายในค่ายแล้ว เอียวหงีก็นำทัพถอยกลับไป มีราษฎรวิ่งไปบอกข่าวแก่สุมาอี้ สุมาอี้รู้ว่าขงเบ้งตาย จึงนำกำลังทหารไล่กวดไป เอียวหงีจึงจัดขบวนทัพหันกลับคล้ายจะรุกเข้าหาสุมาอี้ สุมาอี้ล่าถอยไม่กล้าติดตามไป เอียวหงีจึงจัดขบวนทัพกลับ เมื่อผ่านหุบเขาแล้วจึงจัดขบวนทัพขงเบ้งอย่างเปิดเผย การล่าถอยของสุมาอี้ครั้งนี้ทำให้ราษฎรพากันพูดเป็นเรื่องขำว่า “จูกัดคนตายไล่กวดจ้งตัดคนเป็น”(จ้งตัดเป็นชื่อรองของสุมาอี้) มีคนเอาคำที่ราษฎรพูดเล่นไปเล่าให้สุมาอี้ฟัง สุมาอี้แก้ว่า “ฉันเดาคนเป็นถูก เดาคนตายไม่ถูก” ล่อกวนตงอาศัยแหล่งอ้างอิงดังกล่าวเขียนบรรยายใน นิทานสามก๊ก อย่างสนุกโลดโผนว่า “สุมาอี้ไล่กวดไปพอพบกองระวังหลังของก๊กจ๊กฮั่น เข็นรถมีหุ่นไม้รูปขงเบ้งนั่งอยู่เผชิญหน้าเข้ามา สุมาอี้ถึงกับตกใจหนี ล้มลุกคลุกคลานต้องเอามือคลำต้นคอดูว่า

ศีรษะของตนยังอยู่หรือเปล่า” เป็นต้น

๓.อาศัยเค้าของตำนานและเรื่องเล่าต่าง ๆ ซึ่งมีผู้เล่านิทานอาชีพเคยใช้หากินมาตั้งแต่สมัยก่อนๆ

๔.บางตอนล่อกวนตงก็เพิ่มเติมเนื้อเรื่องตามจินตนาการของตนเองให้เกิดรสสนุก เช่น เรื่องนางเตียวเสี้ยน (พากย์ไทย ตอนที่ ๗) เป็นต้น

หลักการสำคัญของหนังสือนิทานสามก๊กของล่อกวนตง

ในการแต่ง นิทานสามก๊ก ล่อกวนตงถือหลักตรงกันข้ามกับการเขียนจดหมายเหตุของตันซิ่ว คือตันซิ่วถือว่าก๊กวุ่ยของโจผีเป็นยุกตประศาสนรัฐซึ่งสืบสันตติวงศ์จากพระเจ้าเหี้ยนเต้อย่างสมภาคภูมิ เ พราะพระเจ้าเหี้ยนเต้

โอนราชสมบัติให้แต่ล่อกวนตงถือว่าก๊กฮั่นของพระเจ้าเล่าปี่เป็นเชื้อพระวงศ์ไต้ฮั่น และสืบราชสมบัติพระมหากษัตริย์ต่อจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฉะนั้นในการดำเนินเรื่องใน นิทานสามก๊ก ล่อกวนตงจึงเน้นในการเรียกชื่อก๊กของเล่าปี่ว่า ฮั่น ไม่เรียก จ๊ก เหมือนอย่างตันซิ่ว ในการบรรยายเรื่องตอนใดที่ควรระบุวันเดือนปี ล่อกวนตงจะระบุศักราชเกี้ยนเฮ็งของก๊กจ๊กฮั่นเกือบตลอดนิทานและในการบรรยายสงคราม เมื่อขงเบ้งนำกองทัพไปรบก๊กวุ่ยครั้งแรก ล่อกวนตงเขียนเกี่ยวกับขงเบ้งผู้เป็นแม่ทัพ แต่งตั้งหน้าที่ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารต่างๆ จำนวนมากมายอย่างละเอียดถี่ถ้วนและลงท้ายว่า ข้าราชการทั้งหมดดังกล่าวให้ขึ้นตรงต่อมหาอำมาตย์นายก พระยาบู๊เฮียงจูกัดเหลียงแม่ทัพใหญ่ผู้รักษาการเจ้าเมืองเอ๊กจิ๋วฯลฯ และกำหนดปีขาลเดือน ๓ ศักราชเกี้ยนเฮ็งปีที่ ๕ เป็นวันยาตราทัพไปปราบวุ่ย (ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอนที่ ๗๐ ขงเบ้งยกทัพไปตีเมืองวุ่ยครั้งที่ ๑ ) ส่วนตอนที่สุมาอี้นำทัพมาตีเมืองจ๊กฮั่น (ตรงกับ สามก๊ก พากย์ไทย ตอนที่ ๗๒ ) ล่อกวนตงเขียนลงใน นิทานสามก๊ก ในหัวข้อเรื่องตอนที่ ๙๙ ว่า สุมาอี้เข้าปล้นเมืองจ๊ก

ดังได้กล่าวแล้วจดหมายเหตุ สามก๊กจี่ ของตันซิ่วแบ่งเป็น ๓ ภาค ภาคละก๊ก และบรรยายแบบราชประวัติและชีวประวัติของคนในแต่ละก๊กเป็นคนคนไป แต่นิทานสามก๊ก ของล่อกวนตงบรรยายเรื่องเริ่มตั้งแต่ศักราชตงเผ็งปีที่ ๑ รัชกาลพระเจ้าเลียนเต้ จนจบในปีแรกของศักราชไทคังรัชกาลพระเจ้าจิ้นบู๊เต้สุมาเอี๋ยน รวมเวลากว่า ๑๐๐ ปีเป็นเรื่องเดียวกันอย่างมีเอกภาพและสัมพันธภาพอันดี ดังเค้าเรื่องสังเขปของนิทานสามก๊กต่อไปนี้

เค้าเรื่องนิทานสามก๊ก

นิทานสามก๊ก เริ่มเรื่องตั้งแต่พระเจ้าฮั่นเต้ของราชวงศ์ฮั่น สกัดกั้นโอกาสของขุนนางคนดีที่จะรับใช้บ้านเมือง กลับหลงเชื่อแต่ขุนนางขันที(คือพวกที่ถูกตอนแล้ว) ปล่อยให้ขันทีร่วมกันทำการทุจริต ครั้นเมื่อพระเจ้าฮั่นเต้

สวรรคต พระเจ้าเลนเต้ขึ้นเสวยราชย์ พระเจ้าเลนเต้ยิ่งหลงเชื่อพวกขุนนางขันทีมากขึ้น ต่อมาบ้านเมืองเกิดการจลาจลเนื่องมาจากพวกโจรโพกผ้าเหลืองก่อกำเริบรวมกันเป็นกองทัพจะล้มรัฐบาลราชวงศ์ฮั่น จลาจลพวกโจรโพกผ้าเหลืองลุกลามไปหลายมณฑล รัฐบาลจึงต้องสั่งให้หน่วยทหารในมณฑลต่างๆ ร่วมกันปราบปรามพวกโจร ระหว่างนั้นมีชายชาตรีผู้รักชาติบ้านเมืองสามคนชื่อว่า เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน แล้วไปอาสาสมัครเป็นทหารปราบปรามเหล่าโจร

พร้อมกันนั้นก็มีนักการเมืองใจฉกาจอีกคนหนึ่งชื่อโจโฉ ถือโอกาสในคราวปราบโจรโพกผ้าเหลืองสร้างสมกำลังทหารของตนจนเป็นกองทัพเข้มแข็ง ต่อมาโจโฉมีโอกาสยกกองทัพเข้าไปปราบปรามจลาจลสมุนตั๋งโต๊ะในเมืองหลวงได้สำเร็จ โจโฉก็ยึดองค์พระมหากษํตริย์(คือพระเจ้าเหี้ยนเต้) เป็นทางเพิ่มอำนาจของตนสำหรับออกคำสั่งบังคับเจ้าเมืองทั้งหลาย และยกกองทัพไปปราบขุนทัพใหญ่ๆ ในหัวเมืองทางภาคเหนือราบคาบไปทีละคน บรรดาขุนพลที่มีกำลังทัพแข็งแกร่ง เช่น ลิโป้ อ้วนเสี้ยว อ้วนสุด เหล่านี้ต่างต้องปราชัยแก่โจโฉ แล้วโจโฉก็คิดจะใช้กำลังทัพของตนรวบอำนาจการปกครองทั้งประเทศให้อยู่ในกำมือของตนให้ได้

ฝ่ายซุนกวนผู้ได้มรดกตกทอดจากซุนเกี๋ยนบิดาและซุนเซ็กผู้พี่ก็ได้ยึดอาณาเขตกังตั๋ง ซึ่งอยุ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้มีปัญญาความรู้จำนวนมากเป็นที่ปรึกษา

ส่วนเล่าปี่ผู้ถือว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ห่างๆคนหนึ่งของราชวงศ์ฮั่น ตั้งใจจะกู้เมืองและฟื้นอำนาจพระมหากษัตริย์ ได้พยายามต่อสู้กับโจโฉอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง แต่ต้องปราชัยแก่โจโฉตลอดเวลา ต่อมามีอาจารย์ดีแนะนำให้เล่าปี่ไปหาผู้มีความรู้ความสามารถอันแท้จริงคนหนึ่งชื่อขงเบ้ง เล่าปี่จึงอุตส่าห์ฝ่าพายุหิมะเดินทางจากเมืองซินเอี่ยไปหาขงเบ้งยังบ้านไร่ที่โงลังกั๋งแต่ไม่พบ ไปครั้งที่ ๒ ก็ไม่พบ เล่าปี่ต้องไปหาอีกเป็นครั้งที่ ๓ จึงได้พบขงเบ้งเมื่อได้สนทนากันถึงภาว-การณ์บ้านเมืองเป็นที่ถูก อกถูกใจกันแล้ว เล่าปี่นายพลราชนิกูลวัย ๔๗ ก็ขอเชิญอาจารย์ขงเบ้งหนุ่มบ้านนาอายุ ๒๗ ปี ออกมาช่วยกันกู้ชาติบ้านเมือง ขงเบ้งก็ตกลงรับคำเชิญ

ถึงแม้เล่าปี่จะได้ขงเบ้งเป็นเสนาธิการแล้วก็ตาม แต่กองทัพของเล่าปี่มีกำลังอ่อนด้อยกว่าโจโฉ จึงถูก

โจโฉไล่กวดจนต้องถอยตลอดเวลา ในที่สุดเล่าปี่จำต้องร่วมมือกับซุนกวนเป็นกองทัพพันธมิตรโต้การรุกรานของกองทัพโจโฉ และในสงครามเซ็กเป๊ก (สงครามผาแดง) ครั้งนั้นด้วยอุบายอันแยบยลของขงเบ้งกับจิวยี่ร่วมกัน กองทัพพันธมิตรของเล่าปี่และซุนกวนก็สามารถตีกองทัพมหึมาของโจโฉแตกพ่ายไปอย่างสิ้นเชิง นับเป็นสงครามที่ช่วยให้เล่าปี่มีโอกาสตั้งตัวได้ และสภาวะการเมืองเวลานั้นก็เริ่มมีเค้าแบ่งออกเป็นสามเส้า คือโจโฉอยู่ทางเหนือ ซุนกวนอยู่ทางแถบตะวันออก และเล่าปี่ยึดครองพื้นที่แถบเสฉวน และบางส่วนของฮุนหนำ กุยจิ๋ว กับแถบตะวันตกของชานสีเป็นอาณาเขต

ต่อมาทั้งฝ่ายเล่าปี่และซุนกวนซึ่งเคยเป็นพันธมิตรกันได้เกิดเหตุการณ์แตกร้าวอย่างน่าเสียดาย คือฝ่ายซุนกวนตีชิงเอาเมืองเก็งจิ๋วฐานทัพสำคัญของฝ่ายเล่าปี่จากกวนอูน้องร่วมสาบานของเล่าปี่ กวนอูถูกลิบองทหารของซุนกวนจับและฆ่าตาย เตียวหุยน้องร่วมสาบานอีกคนหนึ่งของเล่าปี่และกวนอูจะยกทัพไปล้างแค้นแทนกวนอู แต่กลับถูกผู้ใต้บังคับบัญชาของตนลอบฆ่าตาย แล้วฆาตกรสองคนนั้นหนีไปสวามิภักดิ์กับซุนกวน เล่าปี่จึงโกรธแค้นซุนกวนมาก

ในระยะเวลาใกล้ ๆ กันนั้นโจโฉตายลง โจผีบุตรคนโตของโจโฉได้สืบตำแหน่งแทนบิดา และใช้อำนาจบังคับให้พระเจ้าเหี้ยนเต้สละราชบัลลังก์โอนราชสมบัติให้โจผีสถาปนาราชวงศ์วุ่ย ทางฝ่ายเล่าปี่ได้ข่าวว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกปลดจากบัลลังก์และถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต ขงเบ้งและข้าราชการในเมืองฮั่นตงของเล่าปี่จึงเชิญฮั่นตงอ๋องเล่าปี่ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นสืบต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้

พระเจ้าเล่าปี่ไม่ลืมความเคียดแค้นที่น้องร่วมสาบานของพระองค์ถูกฝ่ายซุนกวนฆ่าตาย จึงยาตราทัพที่มีกำลังพลถึง ๘๐ หมื่นไปตีเมืองกังตั๋งโดยไม่ฟังคำทัดทานของขงเบ้งและข้าราชการบางคน แต่เมื่อทำศึกแล้วพระเจ้าเล่าปี่กลับถูกกลอุบายของลกซุนแม่ทัพกังตั๋งตีพ่ายแตกสลายทั้งกองทัพ พระเจ้าเล่าปี่เองก็ประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ที่ตำหนักย่งอันหรือเมืองเป๊กเต้ ระหว่างทางที่ถอยทัพนั่นเอง

ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าเล่าปี่ได้ฝากฝังพระโอรสคือ เล่าเสี้ยน เล่าเอ๋ง เล่าสี ไว้กับขงเบ้ง ทั้งมอบให้ขง-เบ้งบริหารราชการแผ่นดินโดยตลอด ขงเบ้งรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระเจ้าเล่าปี่มีแก่ตน จึงเชิญเล่าเสี้ยนหรืออาเต๊าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ที่เมืองเช็งตูในเสฉวน แล้วขงเบ้งก็จัดการบริหารและพัฒนาบ้านเมืองและประชา-ราษฎร์อยู่เย็นเป็นสุข และตัวขงเบ้งเองยกกองทัพไปปราบผู้แข็งข้อต่างๆ ทางชายแดนทิศตะวันตกเฉียงใต้จนสำเร็จ จากนั้นขงเบ้งก็เร่งบำรุงกำลังทหารและยกกองทัพไปปราบก๊กวุ่ยของโจผีหลายครั้ง

ต่อมาอีก ๗ ปี ซุนกวนก็ทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ราชวงศ์หงอ ใช้เมืองเกี้ยนเงียบเป็นเมืองหลวง สภาพการณ์บ้านเมืองของประเทศจีนในเวลานั้นจึงเป็นรูบสามก๊กอย่างชัดเจน คือ มีก๊กฮั่น ก๊กวุ่ย และก๊กหงอ

ทั้งๆที่ขงเบ้งรู้ดีว่าพระเจ้าเล่าเสี้ยนไม่มีปัญญาความฉลาด ซ้ำยังสนพระทัยแต่ความสนุกสบาย แต่ขงเบ้งก็ยอมมอบกายเป็นราชพลีเพื่อสนองพระคุณพระเจ้าเล่าปี่ (ขงเบ้งเขียนในหนังสือในหนังสือกราบทูลพระเจ้าเล่าเสี้ยนตอนจะออกรบว่า “ข้าบาทขอมอบกายเป็นราชพลีจนชีวีจะหาไม่”) ขงเบ้งตั้งใจจะพัฒนา บ้านเมืองจนราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ บำรุงกองทัพให้เข้มแข็ง และออกบัญชาการรบด้วยตนเองทุกครั้ง ขงเบ้งบริหารงานทุกอย่างด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง โทษโบยตั้งแต่ ๒๐ ขึ้นไป ขงเบ้งจะต้องตรวจสอบด้วยตนเองเสมอ ด้วยเหตุนี้จึงต้องตรากตรำทำงานมากเป็นเหตุให้ร่างกายทรุดโทรมจนล้มป่วย แล้วขงเบ้งยอดกตัญญูก็ตายอยู่ในค่ายในสมรภูมินั่นเอง

เมื่อขงเบ้งตายแล้ว เกียงอุยศิษย์รักของขงเบ้งเป็นแม่ทัพคุมกองทหารไปปราบก๊กวุ่ยตามแนวนโยบายของอาจารย์ผู้ล่วงลับถึง ๙ ครั้ง แต่เนื่องจากเกียงอุยถูกขุนนางบางคนในเมืองหลวงกีดกัน เป็นเหตุหนึ่งที่เกียงอุยไม่สามารถปราบก๊กวุ่ยสำเร็จ

ส่วนก๊กหงอของซุนกวนนั้นบางคราวก็สู้รบกับวุ่ย แต่บางคราวก็จำต้องคืนดีอ่อนน้อมต่อวุ่ย อย่างไรก็ดี ทั้งสามก๊กได้มีการรบพุ่งกันบ่อยครั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี

ในที่สุดก็มีสุมาอี้ สุมาสู และสุมาเจียว พ่อลูกสามคนเข้ากุมอำนาจราชการของก๊กวุ่ยไว้ได้ เมื่อสุมาอี้และสุมาสูตายแล้ว สุมาเจียวบุตรคนเล็กของสุมาอี้ส่งกองทัพไปปราบก๊กฮั่นจนสำเร็จ พระเจ้าเล่าเสี้ยนต้องยอมแพ้และตกเป็นเชลย เมื่อสุมาเจียวตาย สุมาเอี๋ยนบุตรสุมาเจียวก็ทำตามอย่างโจผีใช้อำนาจบังคับให้พระเจ้าโจฮ่วนกษัตริย์ก๊กวุ่ยโอนราชสมบัติให้ตนเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้นต่อไป และต่อมาอีก ๑๕ ปี กองทัพของราชวงศ์จิ้นก็ปราบก๊กหงอจนราบคาบ สภาพการณ์บ้านเมืองซึ่งแยกออกเป็นสามก๊กมาเป็นเวลา ๖๐ ปี ( พ.ศ. ๗๖๓-๘๒๓ ) ก็รวมเข้าอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์องค์เดียวกันอีกวาระหนึ่ง และหนังสือนิทานสามก๊กก็จบลงเพียงเท่านี้

ความสำเร็จของนิทานสามก๊ก

หนังสือ นิทานสามก๊ก ใช้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เป็นภูมิหลังสำหรับการแต่งนิทาน เรื่องราวส่วนใหญ่ในหนังสือนิทานชุดนี้จึงดำเนินตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกือบตลอดเรื่อง แต่นิทานจะเขียนให้เหมือนประวัติศาสตร์คงไม่น่าอ่าน ผู้แต่งนิทานจึงบรรจุส่วนที่สร้างสรรค์ตามจินตนาการของเขาไม่น้อย อาจกล่าวได้ว่า จดหมายเหตุสามก๊ก ของตันซิ่วมีเหตุการณ์ที่เป็นจริงราว ๗๐ เปอร์เซ็นต์ มีส่วนที่ระบายสี ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วน นิทานสามก๊ก มีส่วนที่เป็นเหตุการณ์จริงๆ ราว ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มีส่วนที่ระบายสีถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ล่อกวนตงมีความสัมฤทธิ์ในการเขียน นิทานสามก๊ก อย่างมาก เขาสามารถรวบรวมเนื้อหาจากหนังสือจดหมายเหตุต่างๆ ตลอดจนเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุ สามก๊กจี่ แต่มีปรากฏอยู่ในหนังสืออื่นๆ มาร้อยกรองให้เข้าอยู่ในเรื่องได้อย่างกลมกลืนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ เขายังสามารถบรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านได้เห็นบุคลิกลักษณะ ตลอดจนอุปนิสัยของบุคคลสำคัญในเรื่องอย่างชัดเจน และพิมพ์ใจผู้อ่าน ผู้ที่ได้อ่าน นิทานสามก๊ก มาแล้วต่างก็นึกออกว่าโจโฉ จิวยี่ เล่าปี่ ขงเบ้ง กวนอู จูล่ง คนไหนมีลักษณะท่าทางและอุปนิสัยอย่างไร เช่น เล่าปี่เป็นคนใจเมตตากรุณา ขงเบ้งเก่งดังเทวดาทำนายอะไรไม่มีผิด โจโฉเป็นคนคดโกงและโหดเหี้ยม กวนอูกล้าหาญและซื่อสัตย์ โลซกเป็นสุภาพบุรุษคนซื่อ เป็นต้น

อิทธิพลของนิทานสามก๊ก

เนื่องจากหนังสือ นิทานสามก๊ก มีการบรรยายสงครามกลางแปลงและมีการบรรยายกลศึกซ้อนกลศึก วาทศิลป์ตอบวาทศิลป์อย่างมีความหมายสนุกพิสดารน่าอ่านและน่าเชื่อ จึงมีอิทธิพลต่อผู้ได้อ่านหรือได้ฟังเรื่อง สามก๊ก อยู่มากมีกล่าวกันว่าเมื่อปลายสมัยเหม็ง ราชวงศ์เหม็งปราชัยแก่ทัพแมนจูเรียมาก แต่ก็มีแม่ทัพของไต้เหม็งพยายามต่อสู้กับแมนจูเรีย เพราะซึ้งในความกตัญญูของขงเบ้ง กวนอู ฯลฯ และมีคำกล่าวว่า องค์ปฐมกษัตริย์ไต้เช็ง (แมนจูเรีย) ถึงกับใช้ นิทานสามก๊ก เป็นตำราพิชัยสงครามในการนำทัพเข้ายึดครองประเทศจีนจากราชวงศ์เหม็งได้สำเร็จ ทั้งได้ใช้คติธรรมใน นิทานสามก๊ก เป็นคู่มือการต่างประเทศเจริญสัมพันธไมตรีกับมองโกเลีย คือก่อนที่แมนจูจะเข้ายึดครองจีนนั้น แมน-จูเรียรบชนะมองโกเลียก่อน และทำความสัมพันธ์กับมองโกเลียด้วยการนับถือเป็นพี่น้องกับเจ้าข่านของมองโกเลียตาม สามก๊กคือให้แมนจูเรียเป็นเล่าปี่ (พี่) และให้มองโกเลียเป็นกวนอู (น้อง) และระหว่างที่แมนจูเรียยึดครองประเทศจีนเป็นราชวงศ์เช็งอยู่นั้น แมนจูเรียยังเป็นห่วงมองโกเลียจะทำความยุ่งยากให้ จึงใช้วิธียกย่องเทิดทูนกวนอูอย่างเต็มที่ ถึงกับให้มีศาลเจ้ากวนอูให้ราษฎรเคารพบูชา ทั้งพระราชทานฐานันดรศักดิ์ให้กวนอูเป็นกวนเสี่ยไต้ตี่เทียบเท่าราชาธิราช ด้วยเหตุนี้คนมองโกเลียนอกจากเลื่อมใสบูชาองค์ลามะแล้วยังเคารพนับถือกวนอูเป็นที่สุด และด้วยเหตุนี้เองตลอดระยะเวลา ๒๐๐ กว่าปีที่แมนจูเรียปกครองประเทศจีนอยู่ มองโกเลียไม่เคยทำความลำบากใจให้แก่แมนจูเรียเลย

คำวิจารณ์หนังสือนิทานสามก๊ก

หนังสือ สามก๊กเอี้ยนหงี เป็นหนังสือที่อ่านสนุก ใครอ่านใครชอบจึงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศจีน แม้ชาวไร่ชาวนายายแก่แม่เฒ่าก็ชอบฟังหรือชอบอ่านนิทานชุดนี้ และสนทนาถึงเรื่องราวใน สามก๊ก เสมอ ๆ แต่ในหนังสือบางเล่มก็ปรากฏว่ามีคำวิจารณ์หนังสือ นิทานสามก๊ก อยู่บ้าง เช่น วิจารณ์ว่าล่อกวนตงบรรยายบุคลิกลักษณะของคนใน สามก๊ก สลักเสลาเกินไปจนผิดธรรมดา เช่น บรรยายความมีใจดีของเล่าปี่จนคล้ายกับแสร้งทำ แสดงความมีปัญญาของขงเบ้งจนเหมือนกับพ่อมด ส่วนกวนอูก็ถูกบรรยายความกล้าหาญสัตย์ซื่อเข้มแข็งจนกลายเป็นคนบุ่มบ่าม เป็นต้น

การจัดพิมพ์หนังสือสามก๊กจี่เอี้ยนหงีของล่อกวนตง

ประวัติการพิมพ์ สามก๊กจี่เอี้ยนหงี มีเพียงย่อ ๆ ดังนี้ หนังสือ นิทานสามก๊ก ของล่อกวนตงแรกพิมพ์ในรัชสมัยเหม็ง อยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๐๔๘ ดูเหมือนจะเป็นฉบับที่มีบทวิจารณ์ของจงแปะเก่งและฉบับที่มีคำพังเพยของลีโต๊ะอู๋ แต่ไม่สู้แพร่หลายนัก ส่วนฉบับที่มีพิมพ์ขายในท้องตลาดปัจจุบัน เป็นฉบับที่ผ่านการดัดแปลงแก้ไขของคนในต้นสมัยเช็ง(แมนจูเรีย) ชื่อว่า เหมาจงกัง เขาเป็นลูกศิษย์ของ กิมเสี่ยถ่างเขาอ้างว่า นิทานสามก๊ก ที่เขาปรับปรุงแก้ไขนี้เป็นฉบับโบราณขนานแท้และดั้งเดิม งานปรับปรุงของเขามีหลายด้าน เช่น ตัดทอนเนื้อเรื่องบางตอนและเพิ่มเนื้อหาบางส่วนลงในนิทาน เปลี่ยนแปลงชื่อเรื่องของทั้ง ๑๒๐ ตอนใหม่หมดทุกตอน และแต่งหัวข้อชื่อเรื่องใหม่ให้เป็นกลอนคู่ไพเราะน่าอ่าน แก้ไขสำนวนการบรรยายในบางแห่ง ตัดบทกลอนประกอบเหตุการณ์ในเรื่องในฉบับเก่าและหากลอนที่ดีกว่ามาบรรจุแทน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีคำวิจารณ์ของกิมเสี่ยถ่างประกอบด้วย หนังสือนิทานสามก๊กฉบับแก้ไขของเหมาจงกังจึงเริ่มแพร่หลายตั้งแต่นั้นมา

ประเมินค่าของสามก๊กจี่และสามก๊กเอี้ยนหงี

หนังสือ สามก๊กจี่ เป็นจดหมายเหตุซึ่งนักศึกษาประวัติศาสตร์จีนยอมรับว่า เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ดีชุดหนึ่ง ทั้งๆที่ตันซิ่วต้องประสบกับความลำบากในการค้นคว้าหาวัสดุเอกสารมาเรียบเรียงได้ไม่สมบูรณ์ดีนัก แต่หนังสือชุดนี้ก็ช่วยให้นักศึกษาสมัยต่อมาได้รู้เรื่องราวสำคัญและต้นเหตุของเรื่องราวในยุคสามก๊กได้มากพอ และถึงแม้จะมีคนตำหนิว่า ตันซิ่วเชิดก๊กวุ่ยให้เป็น “ยุกตประศาสนรัฐ” ทำตัวอย่างไม่ดีแก่ผู้เขียนประวัติศาสตร์รุ่นหลัง บิดเบือนด้วยสำนวนการเขียนเพื่อปกป้องความผิดให้แก่ก๊กวุ่ยและราชวงศ์จิ้น แต่ก็น่าเห็นใจตันซิ่ว เพราะตันซิ่วเป็นข้าราชการของราชวงศ์จิ้นยอมไม่กล้าพอที่จะเขียนความผิดของต้นตระกูลราชวงศ์ซึ่งตนกำลังรับราชการอยู่ เช่นถ้าจะเขียนว่าก๊กวุ่ยได้ราชสมบัติมาอย่างไม่บริสุทธิ์ จิ้นได้ราชสมบัติจากวุ่ยก็ต้องถือว่าไม่บริสุทธิ์เช่นกัน ตันซิ่วย่อมไม่อาจทำเช่นนั้นได้ เมื่อเทียบดูข้อดีและข้อเสียหนังสือ สามก๊กจี่ ก็ยังได้รับการยกย่องรวมเข้าอยู่ในระดับวรรณกรรมประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์มีทางที่จะอาศัยหนังสือ สามก๊กจี่ ศึกษาเหตุการณ์ระบบราชการ เศรษฐกิจ และภาวการณ์ของสังคมในสมัย สามก๊ก ได้มาก ส่วนหนังสือ สามก๊กเอี้ยนหงี ของล่อกวนตง นับว่าเป็นหนังสืออ่านง่ายสำหรับสามัญชนทั่วไปแฝงอุดมการณ์และคติธรรมที่ดี เป็นหนังสือนิทานที่ช่วยให้ประชาชนชื่นชมคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีคุณธรรมจรรยาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของประชาชาติจีน นอกจากนี้หนังสือ นิทานสามก๊ก ยังเหมาะที่จะใช้เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์และวรรณคดีสำหรับนักเรียนและหนุ่มสาวได้อย่างดี ถึงแม้ว่าปัจจุบันการประเมินค่าของหนังสือ นิทานสามก๊ก จะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่หนังสือ นิทานสามก๊ก ยังเป็นที่นิยมอ่านของคนทั่วไปไม่เสื่อมคลาย มีความหมายในด้านการศึกษาพอสมควร


* จาก สามก๊กวรรณทัศน์. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ๒๕๓๖. หน้า ๒๖ - ๕๗
ซึ่งนำมาจาก ยงนิพนธ์พจน์ไว้ อนุสรณ์ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพนายยง อิงคเวทย์ ณ วัดโสมนัสวิหาร วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๐.

** ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา ปัจจุบันถึงแก่กรรม