มหากาพย์เอล
ซิด
(EL
CID)
รศ.
พรสม ศิริสัมพันธ์*
ประเทศสเปนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่
8 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการสู้รบและศึกสงครามระหว่างพวกคริสเตียนซึ่งเป็นเจ้าของถิ่น
กับพวกมุสลิมซึ่งเข้ามารุกรานและยึดครองดินแดนสเปนในขณะนั้น จนกระทั่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่
13 จนถึงศตวรรษที่ 15 พวกคริสเตียนจึงค่อย ๆ ยึดดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้
นับเป็นเวลาถึงกว่าสามศตวรรษที่พวกคริสเตียนได้ต่อสู้เพื่อขับไล่พวกมุสลิมและเข้ามามีอำนาจปกครองดินแดนสเปนในปัจจุบันโดยสมบูรณ์
ในช่วงเวลาแห่งการศึกสงครามอันยาวนานนี้พวกคริสเตียนได้ค่อยๆรวมตัวกันขึ้นเป็นแคว้นต่างๆ
อันได้แก่ แคว้นอัสตูเรียส(Asturias) เลออน(Leon) นาบาร่า(Navarra) และแคว้นกัสตีย่า(Castilla)
ตามลำดับ ในระหว่างการรบพุ่งเพื่อขับไล่ศัตรูผู้รุกรานนี้เอง ชาวแคว้นกัสตีย่าได้แต่งบทเพลงสดุดีวีรกรรมของนักรบคริสเตียน
และนำมาขับร้องกันตามเมืองต่างๆ ทั่วไป พวกที่แต่งบทเพลงและนำมาขับร้องนี้คือพวกวณิพก
ซึ่งเป็นกวีชาวบ้านธรรมดาที่ต้องการมีส่วนร่วมในการยกย่องชื่นชมวีรบุรุษของพวกเขา
และแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชาติบ้านเมืองเช่นกัน
จากบทเพลงสรรเสริญวีรบุรุษที่ขับร้องจดจำกันมาปากต่อปากโดยมิมีผู้ใดทราบว่าใครเป็นผู้เริ่มต้นประพันธ์เพลงร้องเหล่านี้นั้น
ส่วนใหญ่ได้ถูกลืมเลือนไปไม่มีใครรู้จัก จะมีเฉพาะบางส่วนเท่านั้นที่ได้มีผู้คัดลอกเป็นลายลักษณ์อักษรเก็บรักษาไว้และตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน
ในบรรดาบทเพลงเหล่านี้นับได้ว่า
โรดริโก เดียซ เด บีบาร์ (Rodrigo Diaz De Vivar) เป็นบทเพลงสดุดีวีรบุรุษบทเดียวเท่านั้นที่เก่าแก่ที่สุดและได้มีผู้คัดลอกเอาไว้ได้ความสมบูรณ์ที่สุด
เนื้อหาของมหากาพย์เรื่องนี้เป็นการสรรเสริญวีรกรรมของนักรบแห่งแคว้นกัสตีย่าผู้หนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่
11 พวกมุสลิมเรียกเขาว่า ซิด (Cid) ซึ่งหมายความว่า เจ้านาย วีรบุรุษผู้นี้เป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณลักษณะต่างๆ
เท่าที่ชายชาตินักรบในยุคนั้นพึงจะมี คือเป็นผู้กล้าหาญ ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้าเหนือหัว
เป็นนักรบผู้สามารถมีชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นที่ยกย่องของคนทั่วไป
และจากนั้นเป็นต้นมาไม่ว่าใคร
คนทั่วไปให้สมญา ดอนโรดริโก
ว่าสามารถในการศึกใช่เรื่องโว
ดอนโรดริโก รุยเดียซแห่งบีบาร์
ต่างสรรเสริญว่าเป็นผู้พิชิต
คือเอล ซิดแห่งสเปนไม่กังขา
ทุกคนทราบและซึ้งเลื่องลือมา
ว่าเอล ซิดคือผู้กล้าน่านิยม
เรื่องราวในชีวิตของวีรบุรุษผู้นี้
เป็นทั้งประวัติศาสตร์ ตำนาน และข้อเท็จจริงซึ่งปรากฏรวมอยู่ในบทกวีนี้ แม้จะเป็นบทกวีที่แต่งโดยชาวบ้านธรรมดาก็ตาม
แต่เป็นวรรณคดีที่พวกเขาปรารถนาจะขับขานสดุดีวีรบุรุษด้วยน้ำใสใจจริง
อย่างไรก็ตามพวกคริสเตียนเหล่านี้มิได้ต่อสู้ทำสงครามกับพวกมุสลิมเท่านั้น
แม้ในระหว่างพวกมุสลิมด้วยกันเองก็มีการสู้รบกันด้วย
ประวัติศาสตร์ของประเทศสเปนในช่วงเวลานี้กล่าวถึงกษัตริย์ซานโซที่
2 ผู้เข้มแข็ง ( Sancho II el Fuerte) แห่งแคว้นกัสตีย่า ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าเฟร์นันโดที่
1 (Fernando I ) ได้รบพุ่งกับพี่น้องของพระองค์เองเพื่อแย่งกันครอบครองอาณาจักรอื่นๆส่วนเอล
ซิด นั้นเป็นทั้งข้าราชบริพารของกษัตริย์แห่งแคว้นกัสตีย่า และเป็นพระสหายของพระองค์ด้วย
ต่อมากษัตริย์ชานโซที่ 2 ถูกลอบปลงพระชนม์ด้วยน้ำมือของผู้ทรยศและพระอนุชาของพระองค์เองคือ
พระเจ้าอัลฟองโซที่ 6 (Alfonso VI)ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แทนในฐานะเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นเลออนและกัสตีย่า
ก่อนที่ เอล
ซิด จะปฏิญาณตนเป็นข้าราชบริพารในกษัตริย์พระองค์ใหม่ เขาได้กราบบังคมทูลให้กษัตริย์องค์ใหม่ทรงสาบานว่ามิได้มีส่วนรู้เห็นในการสิ้นพระชนม์ของพระเชษฐาของพระองค์
ซึ่งพระเจ้าอัลฟองโซที่ 6 ก็ทรงยอมทำตามคำขอร้องของเอล ซิด อย่างไรก็ตาม
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึกของกษัตริย์ต่อการกระทำของ
เอล ซิด มิได้ให้ความกระจ่างแจ้งแก่เรามากนัก แต่เสียงเล่าลือที่กลายเป็นตำนานซึ่งนำมาขับร้องเป็นบทเพลงบอกให้เราทราบว่า
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 ได้เก็บความไม่พอพระทัยที่มีต่อวีรบุรุษผู้นี้ไว้อย่างลึกๆ
เนื้อหาของมหากาพย์เริ่มต้นต่อจากประวัติศาสตร์ตอนนี้
แต่เรื่องราวต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่งเติมจนแตกต่างไปจากเรื่องราวที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
กำเนิดมหากาพย์เอล
ซิด
ตำนาน ประวัติศาสตร์
และบทกวี สามคำนี้ได้ประกอบกันขึ้นเป็นชื่อเดียว คือ เอล กันตาร์ เด มิโอ
ซิด (El Cantar de Mio Cid) หมายถึง บทเพลงสดุดีเอล ซิด บทเพลงสดุดีเอล
ซิดนี้ จัดเป็นบทกวีที่เรียกว่าบทกวีพื้นบ้าน ซึ่งถือกำเนิดมาจากพวกชาวบ้านแต่จะมีผู้แต่งเพียงคนเดียว
คือแต่งคราวละคน และก็ค่อยๆถ่ายทอดต่อๆกันไปตามความพอใจของพวกเขา ด้วยเหตุนี้เอง
กวีชาวบ้าน
หรือพวกวณิพกนี้ได้นำเอาบทเพลงร้องสดุดีเหล่านี้มาดัดแปลงให้เข้ากับกาลสมัย
สิ่งแวดล้อม สถานที่ ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่เก็บรักษาไว้เป็นฉบับที่ปรากฏในคริสต์ศตวรรษที่
14 เขียนโดย เปร์ อาบัท (Per Abat) เราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่ากวีผู้นี้เป็นใคร
มีผู้สันนิษฐานว่าเปร์ อาบัทอาจจะเป็นเพียงผู้คัดลอกบทกวีธรรมดาๆผู้หนึ่ง
หรือเป็นผู้ที่ดัดแปลงแต่งบทเพลงสดุดีด้วยศิลปะและแรงบันดาลใจของเขาเอง อย่างไรก็ตามนักวิชาการทางวรรณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเขาเป็นเพียงผู้คัดลอกคนหนึ่งเท่านั้น
ข้อมูลบางอย่างที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงสดุดีทำให้เราทราบว่าบทประพันธ์ต้นฉบับเดิมคงจะแต่งจบลงราว
50 ปี หลังจากที่วีรบุรุษผู้นี้ได้สิ้นชีวิตไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาในราวครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่
12 ส่วนความเห็นอื่นที่เกี่ยวกับผู้แต่งนั้น เมเนนเดซ ปิดาล (Menendez Pidal)
นักค้นคว้าคนสำคัญของสเปนเห็นว่าบทเพลงสดุดีวีรบุรุษนี้แต่งขึ้นโดยวณิพก
2 คน คนแรกแต่งขึ้นในราว 20 ปีหลังจากที่เอล ซิด ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว และนี่คือเหตุผลเชิงประวัติศาสตร์ของมหากาพย์เรื่องนี้ซึ่งถือว่าเป็นบทเพลงสดุดีที่แต่งขึ้นสดๆร้อนและเหตุ-การณ์ยังคงอยู่ในความทรงจำของทุกคน
ส่วนวณิพกคนที่สอง
ดัดแปลงบทเพลงสดุดีบางตอนเมื่อราวๆ 30 ปีหลังจากวณิพกคนแรกโดยได้เพิ่มเติมแต่งต่อตามความนึกคิดและจินตนาการของเขาเอง
ด้วยเหตุดังกล่าวบทกวีใน มหากาพย์เอล ซิด จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างประวัติศาสตร์
ตำนาน และข้อเท็จจริง
เรื่องย่อ
เอล ซิดได้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่ายักยอกเงินบรรณาการของหลวง
พระเจ้าอัลฟองโซที่ 6 ได้เนรเทศเขาออกไปจากแคว้นกัสตีย่า เขาจึงต้องอำลาจากภรรยาและบุตรสาวไปอย่างทุกข์ทรมานใจ
เขาได้รับความช่วยเหลือจากพวกขุนนางและคนอื่นๆสู้รบกับพวกแขกมัวร์และท่านเคานต์แห่งบาร์เซโลน่า
(Conde de Barcelona) ต่อมาเขาก็ได้พิชิตเมืองบาเลนเซียซึ่งตกอยู่ใต้การปก-ครองของพวกมุสลิมได้สำเร็จ
เจ้าชายทั้งสองแห่งการิออน (Carrion)อิจฉาความสำเร็จ ของเอล ซิด จึงขอให้กษัตริย์อัลฟองโซสู่ขอบุตรสาวของเอล
ซิดให้แต่งงานกับตน เอล ซิดยอมยกบุตรสาวให้แต่งงานกับเจ้าชายทั้งสอง บริวารของเอล
ซิด ได้พูดจาล้อเลียนความขี้ขลาดของเจ้าชายแห่งการิออน ทำให้เกิดความแค้นประกอบกับความริษยาที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจ
จึงแก้แค้นเอล ซิดด้วยการทำร้ายภรรยาและทิ้งไว้ในป่าที่เนินเขากอร์เปส เอล
ซิดจึงต้องร้องขอความเป็นธรรมจากพระเจ้าอัลฟองโซที่ 6 โดยการให้นักรบของตนสู้กับเจ้าชายทั้งสองตัวต่อตัวจนได้ชัยชนะ
ในตอนสุดท้ายเอล ซิดได้จัดการแต่งงานบุตรสาวทั้งสองอีกครั้งหนึ่งกับเจ้าชายแห่งแคว้นนาบาร์ร่า
(Navarra) และอารากอน (Aragon)
เนื้อหาทั้งหมดในบทเพลงสดุดีเอล
ซิดแบ่งออกเป็นสามตอน
บทเพลงตอนที่หนึ่งชื่อว่า
เอล กันตาร์ เดล เดสเตียร์โร (หมายถึงนิราศถิ่นกำเนิด) กล่าวถึงว่าเอล
ซิดถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าอัลฟองโซที่6 แห่งแคว้นเลออนและกัสตีย่าว่า
เขาได้ยักยอกเงินบรรณาการของพวกกษัตริย์มุสลิมที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรคริสเตียน
ซึ่งส่งมาถวายพระเจ้าอัลฟองโซที่ 6 พระองค์จึงทรงขับไล่เอล ซิด ออกไปจากแคว้นกัสตีย่า
เมืองบูรโกสนั้นมีทุกข์ใหญ่มหันต์
ชาวคริสเตียนพากันหลบหน้าหาย
ไม่ยอมพูดกับเอล ซิดถึงสิ่งใด
แต่เอล ซิดก็มุ่งไปที่เคยพัก
เมื่อไปถึงพบประตูปิดสนิท
ประกาศิตอัลฟองโซแจ้งประจักษ์
ห้ามผู้ใดยอมให้เอล ซิดพัก
ต่างก็รักชีวิตตัวกลัวโทษทัณฑ์
วีรบุรุษผู้นี้ต้องถูกพรากจากนางคิเมน่า
(Jimena) ภรรยาของเขารวมทั้งเอลบีรา(Elvira)และซอล(Sol) บุตรีทั้งสองของเขาด้วย
เขาต้องออกจากเมืองบูรโกสซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาในแคว้นกัสตีย่าทิ้งให้ครอบครัวต้องอยู่ในความคุ้มครองของวัดแห่งหนึ่งที่เมืองนั้น
ตอนนี้เป็นตอนที่เจ็บปวดสะเทือนใจและเศร้าซึ้งมาก กวีผู้แต่งบทเพลงได้เขียนความเปรียบตามภาษาชาวบ้านดังต่อไปนี้ว่า
พ่อแม่ลูกต้องพรากจากกันไป
เพราะถูกหาความใส่และเดียดฉันท์
ความเจ็บแค้นแสนสาหัสต้องพลัดกัน
ดั่งเล็บถูกฉีกพลันจากเนื้อตน
จะเห็นได้ว่า
เอล ซิดต้องละทิ้งถิ่นกำเนิดกลายเป็นผู้ไม่พึงปรารถนาของสังคมชาวคริสเตียนออกไปร่อนเร่หากินอยู่ในถิ่นของพวกมัวร์
เขาต้องต่อสู้เผชิญภัยเพื่อดำรงชีวิตอยู่ จะมีก็แต่ข้าทาสเพื่อนฝูงที่รักใคร่ภักดีต่อเขาจริงๆเท่านั้นที่ติดตามเขาไปในการ
พเนจรครั้งนี้
ในบทเพลงเขียนไว้ดังนี้ว่า
เราต้องเร่ร่อนไปในต่างแดน
แม้เจ็บแค้นก็ต้องดื่มกินของเขา
เหล้าองุ่นขนมปังชังไม่เบา
กินดื่มของพวกเขาไม่เข้าที
แม้ถูกเขาด่าว่าก็จำยอม
เราต้องสูไปพร้อมไม่คิดหนี
เขามีสิทธิ์จะว่าเราไม่ดี
เราก็มีสิทธ์จะอยู่สู้ต่อไป
อนึ่ง การที่
เอล ซิด ต้องต่อสู้กับแขกมัวร์หลายครั้งและได้รับชัยชนะเรื่อยมา ด้วยความจงรักภักดีของเขาที่มีต่อกษัตริย์และสำนึกที่ว่าเขาเป็นข้าราชบริพารของพระองค์
ดังนั้นเมื่อรบชนะคราวใดเขาจึงส่งทรัพย์สินเงินทองต่างๆที่เขายึดได้จากการสู้รบมาถวายเป็นบรรณาการต่อกษัตริย์ของเขา
ความในบทเพลงตอนนี้มีดังนี้
สมบัติที่ยึดมาได้มากมายนัก
ข้าน้อยจักถวายองค์พระทรงศรี
แทบพระบาทที่พระหัตถ์ของภูมี
เอล ซิดนี้ขอจุมพิตถวายพระพร
ซึ่งแสดงให้เห็นความมีน้ำใจอันสูงค่าของวีรบุรุษผู้นี้ว่า
เขามีความจงรักภักดีอย่างสูงสุดต่อกษัตริย์ของเขา ไม่มีความรู้สึกขึ้งเคียดเกลียดชังอยู่เลยแม้แต่น้อยแม้พระองค์จะเป็นผู้พรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเขาก็ตาม
เขาก็ยังไม่ถือโกรธ เขาคิดเพียงแต่ว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ของเขาเท่านั้นก็พอแล้ว
บทเพลงตอนที่หนึ่งจบลงตรงที่เอล
ซิดรบชนะท่านเคานต์แห่งเมืองบาร์เซโลน่า(Barcelona) ขุนนางคริสเตียนคนหนึ่งซึ่งเขาจับมาเป็นเชลยได้ในการรบครั้งหนึ่ง
บทเพลงตอนที่สองมีชื่อว่า
เอล กันตาร์ เด ลาสโบดาส พิธีแต่งงาน ในตอนนี้เอล ซิดพิชิตเมืองบาเลนเซีย
(Valencia) ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของพวกมุสลิม และเขาได้รบชนะกษัตริย์ของพวกมัวร์ที่เมืองเซบีย่า(Sevilla)
ซึ่งเป็นอาณาจักรอีกแห่งหนึ่งของสเปนและวีรบุรุษผู้นี้ได้ส่งเครื่องบรรณาการไปถวายกษัตริย์ของเขาอีก
กษัตริย์จึงทรงอนุญาตให้ภรรยาและบุตรสาวทั้งสองของเอล ซิดมาพบกับเขาที่เมืองบาเลนเซียซึ่งเป็นเมืองที่เขาพิชิตได้
หลังจากนั้นเอล ซิดก็ได้เข้าโจมตีและสู้รบกับกษัตริย์แห่งมอรอคโคโดยมีภรรยาของเขายืนคอยให้กำลังใจดูการสู้รบอยู่บนกำแพงเมือง
ทำให้เอล ซิดรู้สึกมีกำลังใจเข้มแข็งจนได้ชัยชนะในการรบ ความในบทเพลงตอนนี้มีดังนี้
หัวใจข้าชุ่มชื่นและกล้าแกร่ง
เธอคือแรงบันดาลใจอยู่ตรงหน้า
ข้าต้องรบชนะแน่ไม่สงกา
เนื่องด้วยพระเมตตาจากเบื้องบน
การที่เอล
ซิดรบชนะได้รับความสำเร็จต่อเนื่องกันเช่นนี้ ทำให้ขุนนางคริสเตียนบางคนเกิดความริษยา
จนเกิดความโลภขึ้น มีเจ้าชายสององค์แห่งการิออนคิดอุบายกราบทูลให้กษัตริย์ทรงสู่ขอบุตรสาวทั้งสองของเอล
ซิดให้กับตน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กษัตริย์ก็ได้พระราชทานอภัยโทษแก่เอล
ซิด ดังเนื้อความในบทเพลงกล่าวไว้ดังนี้ว่า
ข้ายินดีอภัยให้แก่เจ้า
ไม่ถือโทษโปรดเกล้าฯและนับถือ
แต่นี้ไปจะรักเจ้าเพราะเจ้าคือ
ผู้สัตย์ซื่อภักดีต่อแผ่นดิน
อาจจะกล่าวได้ว่า
ระยะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความปลื้มปิติยินดีที่วีรบุรุษผู้นี้พิชิตพระทัยของกษัตริย์ได้
เขาคือเอล ซิด นักรบผู้ยิ่งใหญ่ผู้พิชิตดินแดนต่างๆและมีจิตใจสูงส่ง หลังจากนั้น
กษัตริย์ก็ทรงขอให้เอล ซิดจัดการแต่งงานให้บุตรีทั้งสอง เอล ซิดตอบรับอย่างไม่ค่อยเต็มใจนักเพราะไม่ไว้วางใจเจ้าชายทั้งสองว่ามีเจตนาดีร้ายอย่างไร
ตอนที่สองของบทเพลงจบลงด้วยงานแต่งงาน
ในตอนที่หนึ่งและที่สองนั้นจะเห็นได้ว่าเอล
ซิดต้องถูกขับออกจากบ้านเกิดไปสู่ดินแดนของพวกมัวร์เป็นเวลานาน ซึ่งเท่ากับว่ากษัตริย์ได้หมดความไว้วางพระราชหฤทัยต่อเขารวมทั้งสายใยแห่งมิตรภาพของพระองค์ต่อข้าราชบริพารผู้นี้ก็ได้ขาดสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิง
แต่ด้วยความสามารถในการรบพุ่งและคุณธรรมอันสูงส่งของวีรบุรุษผู้นี้ เขาจึงสามารถเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด
บทเพลงตอนที่สามอันเป็นตอนสุดท้ายมีชื่อว่า
เอล กันตาร์ เด ลา อาเฟรนตา เด กอร์เปส หรือ เหตุเกิดที่เขากอร์เปส
ในตอนนี้เจ้าชายแห่งการิออนกลายเป็นตัวตลก
ทั้งนี้เพราะในการสู้รบต่อหน้าพวกพ้องและทหารของเอล ซิด ทั้งสองได้แสดงความขี้ขลาดให้ปรากฏ
ต่อมาก็แสดงความหวาดกลัวอีกเมื่อมาพบสิงโตเข้า พรรคพวกของเอล ซิดจึงเย้ยหยันให้ได้อาย
เจ้าชายทั้งสองจึงผูกใจเจ็บคิดแก้แค้น ทั้งสองได้ขออนุญาตเอล ซิดพาภรรยาของเขากลับไปเมืองการิออนบ้านเกิด
เมื่อไปได้ครึ่งทางในป่าสนนั้นเอง บุตรสาวทั้งสองของเอล ซิดก็ถูกกระทำทารุณกรรมต่าง
ๆ อย่างป่าเถื่อนและถูกทอดทิ้งไว้ ณ ที่นั่น เฟลิกซ์ มูโยส (Felix Munoz)
หลานชายของเอล ซิดซึ่งสังหรณ์ใจอยู่แล้วว่าอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้น จึงตามไปพบนางทั้งสอง
เมื่อเอล ซิดทราบเรื่องก็ได้ขอความเป็นธรรมจากกษัตริย์ซึ่งพระองค์ก็ยินยอมให้จัดการกับเจ้าชายทั้งสองได้
ปรากฏว่าทหารของเอล ซิดก็สามารถเอาชนะเจ้าชายทั้งสองได้ในการต่อสู้ครั้งนี้
บทเพลงตอนที่สามจบลงด้วยการแต่งงานครั้งใหม่ของบุตรสาวเอล ซิดกับเจ้าชายแห่งแคว้นนาบาร่าและอารากอนซึ่งเป็นอาณาจักรคริสเตียน
วิเคราะห็ตัวละครเอก
เอล ซิด
จากเรื่องราวในบทเพลงสดุดีทั้งสามตอนนี้จะเห็นได้ว่าเอล
ซิดเองนั้น นอกจากจะเป็นนักรบผู้กล้าหาญและมีฝีมือในการรบเป็นที่เลื่องลือแล้ว
เอล ซิดยังเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมความดีพร้อมอยู่ในตัว เขาเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสุภาพ
ถ่อมตน ซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อกษัตริย์ เข้มแข็งเมื่อเผชิญกับความทุกข์
รักเกียรติและความยุติธรรม แต่ขณะเดียวกัน เขาก็มีความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ปุถุชนธรรมดา
เป็นผู้มีเมตตาช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่าอันเป็นลักษณะของวีรบุรุษในมหากาพย์
กล่าวคือ มีความรู้สึกละเอียดอ่อนผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวในฐานะที่เป็นทั้งสามีและพ่อที่ดี
รวมทั้งเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้า ดังความตอนหนึ่งที่ เอล ซิดสวดอ้อนวอนต่อพระแม่มาเรียที่โบสถ์ซานเปโดร
เด การ์เดนย่า (San Pedro de Cardena) เมื่อจำต้องร่ำลาจากภรรยาและบุตรสาว
เขาสวดอ้อนวอนให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีเพื่อที่เขาจะได้กลับมามีความสุขกับครอบครัวอีก
ข้าแต่พระเป็นเจ้าผู้ประเสริฐ
ทรงนำทางบรรเจิดสู่พิภพสวรรค์
ขออำนาจพระแม่มารีดีอนันต์
ช่วยคุ้มกันข้าให้รอดตลอดไป
ข้าจำต้องจากแคว้นกัสตีย่า
ด้วยว่าองค์กษัตราไม่เลื่อมใส
ชีวิตนี้ไม่รู้ว่าอีกเมื่อใด
พระแม่จะบันดาลให้ได้กลับคืน
ถ้าแม้ว่าข้าได้มีโชคดีอีก
ไม่เลี่ยงหลีกขอสัญญาว่าไม่ฝืน
สวดมิซซาพันครั้งเมื่อข้าคืน
เครื่องบูชาล้ำค่าอื่นพร้อมสักการ
ตัวอย่างอีกตอนหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นปุถุชนของนักรบผู้นี้ได้แก่ตอนที่เอล
ซิดถูกกษัตริย์เนรเทศจากดินแดนคริสเตียน และเดินทางไปเมืองบูรโกสบ้านเกิดในแคว้นกัสตีย่าเพื่อเก็บข้าวของ
เขาแสดงความเศร้าโศกเสียใจที่ต้องจากบ้านเกิดเมือง นอนแต่ในขณะเดียวกันก็ยังขอบคุณพระเจ้าที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้
เพราะทำให้ทราบว่าใครคือมิตรแท้
เอล ซิดจากเมืองบีบาร์มาบูรโกส
ทิ้งปราสาทเดี่ยวโดดร้างเจ้าของ
เดินร้องไห้ก้มหน้าน้ำตานอง
เหลียวหลังมองเพ่งดูอยู่เป็นนาน
เห็นประตูเปิดอยู่สลักหลุด
เอล ซิดหยุดดูในตู้ไม่กล่าวขาน
ไม่มีแผ่นหนัง ผ้าห่ม หรือ เหยี่ยวกาฬ
นกอาซอร์ผลัดขนนั้นไม่มีเงา
เอล ซิดถอนหายใจกังวลจิต
หากยังมีสติคิดถึงพระเจ้า
ผู้ที่ละทิ้งไปใช่เพื่อนเรา
ข้าขอบคุณพระเจ้าย่อมรู้ดี
บทเพลงสดุดีทั้งสามตอนนี้มีสาระสำคัญที่ปรากฏเด่นชัดตั้งแต่ต้นจนจบเริ่มตั้งแต่สภาพยากแค้นเมื่อถูกเนรเทศจากบ้านเกิด
นิราศจากที่พักอาศัย ทรัพย์สมบัติและมิตรสหาย นอกจากสองสามคนที่อยู่เคียงข้างเขาจนกระทั่งได้เป็นใหญ่ในเมืองบาเลนเซีย
และต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกษัตริย์และได้ปลูกฝังให้บุตรสาวทั้งสองเป็นฝั่งเป็นฝาในการแต่งงานครั้งหลังสุด
การที่เขาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามในชีวิตได้สำเร็จจนประสบชัยชนะในท้ายที่สุดนั้น
ก็เนื่องมาจากความเข้มแข็งกล้าหาญและคุณสมบัติอันสูงส่งในตัวของเขานั่นเอง
ซึ่งวณิพกได้ขับขานสดุดีวีรกรรมและเกียรติคุณของเอล ซิลไว้ในตอนจบของบทเพลงดังต่อไปนี้
นับเป็นบุญบารมีที่เสริมส่ง
ให้เกริกเกียรติยิ่งยงบ่งราศรี
วีรบุรุษถือกำเนิดเกิดฤกษ์ดี
เอล ซิดนี้นับว่าเห็นเป็นยอดคน
ถูกกล่าวหาใส่ความแล้วถูกขับ
ต้องลำเค็ญทุกข์ทับทั้งสับสน
ต้องถูกพรากจากลูกและเมียตน
ต้องอับจนเจียนตายวายชีวี
หากรักเกียรติกล้าหาญและซื่อสัตย์
คุณสมบัติช่วยไว้ไม่กังขา
จนกลับกลายเป็นพระญาติกษัตรา
นับว่าทรงคุณค่าน่านิยม
จากประวัติศาสตร์มาสู่ตำนาน
โรดริโก เด
บีบาร์เป็นนักรบที่เก่งกล้าในสมัยสงครามกลางเมืองระหว่างพวกคริสเตียนและมุสลิม
แม้แต่พวกอาหรับเองยังยกย่องว่าเขาเป็น เจ้าเหนือหัว ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าเอล
ซิด เขาเกิดในตระกูลขุนนางผู้สูงศักดิ์เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของกษัตริย์และได้รับตำแหน่งสูงส่งในราชการ
ภรรยาของเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ของสเปน แต่ภายหลังกษัตริย์เกิดความกินแหนงแคลงใจในตัวเขาเนื่องจากมีผู้ไปฟ้องร้องว่าเขายักยอกเงินส่วย
วีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเอล ซิดคือการยึดเมืองบาเลนเซียได้ในปี ค.ศ.1094
เขาได้สิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1099 และภรรยาของเขาก็ปกครองเมืองนี้อย่างราบรื่นต่อมาอีกสามปีเศษ
เรื่องราวของนักรบผู้นี้ได้รับการเล่าขานแต่งเติมต่อๆ
กันไปจนกระทั่งเอล ซิดได้รับการยกย่องเทิดทูนเสมอเหมือนนักบุญ ผู้คนเชื่อถือและศรัทธาในตัวเอล
ซิดว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์มีอภินิหารสามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้แก่ผู้ที่มาสวดอ้วนวอน
มีผู้แต่งเพลงร้องเรื่องเล่าและโคลงกลอนที่เกี่ยวกับวีรกรรมของเอล ซิดไว้มากมาย
นักรบผู้นี้ได้กลายเป็นวีรบุรุษแห่งชาติสเปนไปในที่สุด
ไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวของเอลซิดในประวัติศาสตร์และที่บรรยายไว้ในบทกวีนั้น
เรื่องใดคือประวัติที่แท้จริงของวีร-บุรุษผู้นี้ ตามเอกสารที่มีผู้ค้นพบ
กล่าวไว้ว่า เอล ซิดเป็นคนที่อยู่เหนือการควบคุมของราชสำนักและเป็นผู้ที่เอาข้าวของเงินทองที่ยึดมาได้ในการสงครามไปแบ่งปันกันในหมู่ทหารของตน
และนำเชลยที่จับได้มาเผาทั้งเป็น หากใครไม่ให้เครื่องบรรณาการก็จะถูกเฆี่ยนตีและทรมาน
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเอกสารเหล่านั้นถูกเขียนขึ้นโดยศัตรูของเอล ซิดเอง ซึ่งจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่นอนว่าเอกสารเหล่านี้เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
เช่นเดียวกันกับเนื้อหาในบทเพลงสดุดีซึ่งอาจจะมีการแต่งเติมเสริมต่อจนเปลี่ยนแปลงไปจากข้อเท็จจริงดั้งเดิม
นอกจากนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันว่าบุตรสาวทั้งสองของเอล
ซิดได้แต่งงานกับเจ้าชายสองพระองค์แห่งการิออน ตามหลักฐานที่มีอยู่กล่าวว่าเอล
ซิดมีลูกสาวสองคน คนหนึ่งชื่อ คริสติน่า แต่ชื่อที่ปรากฏในบทกวีคือ เอลบีรา
ซึ่งได้แต่งงานไปในปี 1097 กับเจ้าชายแห่งแคว้นนาบาร่า ชื่อ รามิโร (Ramiro)
ลูกสาวคนที่สองชื่อมาเรีย (Maria) ในบทกวีชื่อ ซอล ซึ่งได้แต่งงานไปในราวปี
1098 กับท่านเคานต์แห่งบาร์เซโลน่า รามอน เบเรงเกร์ที่3 (Ramon Berenguer
III) ขุนนางผู้นี้มีศักดิ์เป็นหลานและผู้สืบสกุลของท่านเคานต์แห่งบาร์เซโลน่าผู้มีบทบาทอยู่ในตอนแรกของบทกวีซึ่งได้ถูกเอล
ซิดปราบลงได้
เมเนนเดซ ปิดาล
ให้ความเห็นว่า ชื่อเอลบีราและซอล ซึ่งไม่ตรงกับชื่อที่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์
อาจเป็นชื่อเล่นเรียกกันในครอบครัวซึ่งเป็นที่นิยมของสตรีในสมัยนั้น และเป็นชื่อที่ใช้ต่างกับชื่อที่ใช้เป็นทางการ
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ผู้นี้ยังกล่าวเสริมว่า การแต่งงานของลูกสาว
เอล ซิดกับเจ้าชายแห่งการิออนคงไม่ใช่เป็นการแต่งงานจริงๆ แต่เป็นเพียงการหมั้นหมายหรือคำมั่นสัญญาซึ่งคงจะได้ยกเลิกไปในเวลาต่อมา
ในช่วงเวลานั้นลูกสาวของเอล ซิด ยังเป็นเด็กอยู่ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะแต่งงานไปแล้วดังที่ได้กล่าวไว้ในบทกวี
ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีคำอธิบายถึงการแก้แค้นของเจ้าชายทั้งสองแห่งการิออน เพราะไม่มีการแก้แค้นเกิดขึ้นจริงๆ
แม้แต่เหตุการณ์ที่เอล ซิด ขอความเป็นธรรมจากกษัตริย์ก็ไม่ปรากฏ จึงไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเนื้อหาทั้งหลายเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการที่แต่งเสริมเข้าไปในบทกวีโดยวณิพกคนที่สอง
ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจให้แก่มหากาพย์
อย่างไรก็ตามดอนย่า
คิเมน่า เป็นภรรยาของเอล ซิดจริง ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสในปี ค.ศ. 1074 ดอนย่า
คิเมน่า เป็นหลานสาวคนที่สองของกษัตริย์อัลฟองโซที่ 6 แต่การที่บทกวีไม่เคยกล่าวถึงความเกี่ยวดองและชาติกำเนิดที่สูงส่งของนางเลยน่าจะเป็นเพราะว่า
กวีต้องการจะเน้นถึงบทบาทของความเป็นภรรยาที่รักและซื่อสัตย์เท่านั้น เป็นไปไม่ได้ที่กวีจะไม่ทราบว่าดอนย่า
คิเมน่ามีเชื้อสายเจ้านาย เนื่องจากข้อมูลนี้มีปรากฏอย่างชัดเจนอยู่ในประวัติศาสตร์
แต่การที่กวีมิได้มุ่งแต่ยกย่องเอล
ซิดว่ารบกับพวกมัวร์เพื่อขับไล่ผู้รุกรานออกไปจากดินแดนของพวกคริสเตียน ซึ่งดูจะมีศักดิ์ศรีดีกว่าการที่วีรบุรุษต้องออกรบกับข้าศึกเพื่อหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยนั้น
น่าจะเป็นเพราะว่ากวีต้องการจะชี้ให้เห็นว่าวีรบุรุษผู้หนึ่งได้ต่อสู้เพื่อประเทศชาติอย่างมีเกียรติกล้าหาญ
แต่ในขณะเดียวกันวีรบุรุษผู้นั้นก็มีความเป็นมนุษย์ปุถุชนควบคู่กันไปด้วย
ด้วยเหตุนี้เรื่องราวการผจญภัยของเอล ซิดจึงมีค่าควรคิดเป็นสองแง่ด้วยกันคือ
ชัยชนะในการกอบกู้ดินแดนคืนจากพวกมัวร์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ควรยกย่องสรรเสริญดังปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์สเปน
และอีกแง่หนึ่งนั้นคือ ความเข้มแข็งเด็ดขาดเพื่อความอยู่รอดของตนเองของครอบครัวและทหาร
ทั้งสองแง่นี้เป็นการแสดงออกที่น่าชื่นชมทางด้านสังคมและกวีได้ใช้ความสามารถอย่างน่าทึ่งในการหยิบยกวีรกรรม
และความเป็นมนุษย์ปุถุชนของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ออกมาให้ปรากฏ
จากการผสมผสานประวัติศาสตร์และตำนานตลอดจนจินตนาการของกวีเอง
มหากาพย์เรื่องนี้จึงเป็นงานสร้างสรรค์ทางวรรณศิลป์ ที่กวีได้ถ่ายทอดความรู้สึกของผู้คนในยุคสมัยหนึ่งที่ปรารถนาจะแสดงความชื่นชมและเลื่อมใสในตัววีรบุรุษของเขา
ด้วยการขับร้องเพลงสดุดีวีรบุรุษ โรดริโก เดียซ เด บีบาร์ เอล ซิด เจ้านายผู้พิชิต
ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในประวัติศาสตร์และตำนาน
ตัดตอนจากบทความเรื่อง
มหากาพย์เอล ซิด ใน วรรณกรรมเอกยุโรปยุคกลาง.โครงการตำราคณะอักษรศาสตร์
, 2537.
* รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน
ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|