กระท่อมน้อยของลุงทอม

อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์ (*)

Uncle Tom's Cabin (กระท่อมน้อยของลุงทอม) (**) เป็นนวนิยายที่ถือกำเนิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ท่ามกลางบรรยากาศที่กรุ่นไปด้วยความขัดแย้งของชาวอเมริกันในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง "ทาส" ผู้ประพันธ์คือ แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe ค.ศ. ๑๘๑๑-๑๘๙๖) เขียนนวนิยายเล่มนี้ขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะประณามความชั่วร้ายของระบบทาสโดยใส่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ นั่นคือเรื่องราวของทาสผู้ประสบชะตากรรมอันน่าเวทนาจากความทารุณโหดร้ายของนายทาส ตลอดจนสภาพการณ์ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องทาสนี้ อันได้แก่ขบวนการ "รถไฟใต้ดิน" และพวกเควกเกอร์ที่ช่วยทาสให้หลบหนีจากดินแดนฝ่ายใต้ไปยังดินแดนฝ่ายเหนือจนเข้าสู่แคนาดา หรือการออกกฎหมายที่ขัดต่อหลักมนุษยธรรม สิ่งที่ผู้ประพันธ์วาดไว้ในนวนิยายเรื่องนี้กระทบใจผู้อ่านอย่างเอกอุเปรียบประดุจลูกระเบิดที่ปาเข้าใส่มวลชน และมีผลกระทบต่อเนื่องรุนแรง และผลกระทบอันใหญ่หลวงประการหนึ่งที่เกิดจากหนังสือความยาวไม่กี่ร้อยหน้าเล่มนี้ก็คือ สงครามกลางเมืองอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในปี ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕ จนถึงกับมีคำเล่าลือสืบต่อกันมาว่าประธานาธิบดีลินคอล์นเมื่อพบกับแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ ได้กล่าวว่า "นี่เองคือสตรีร่างเล็กที่ก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่นี้ ("So this is the little lady who made this big war.") แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ เกิดในครอบครัวคริสเตียนแห่งคอนเนคติกัตที่เคร่งศาสนา เธอเป็นบุตรสาวของนักเทศน์ และเริ่มสนใจในเทววิทยาและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาตั้งแต่เยาว์วัย ครอบครัวของเธอย้ายจากคอนเนคติกัตมาที่ซินซินนาติเมื่อค.ศ.๑๙๓๒ และบิดาของเธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของสถาบันการศึกษาของนักบวชที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่คือ Lane Theological Seminary เธอสมรสกับคาลวิน สโตว์ (Calvin Stowe) อาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษาแห่งนี้ในปีค.ศ.๑๘๓๖

แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ เกิดในครอบครัวคริสเตียนแห่งคอนเนคติกัตที่เคร่งศาสนา เธอเป็นบุตรสาวของนักเทศน์ และเริ่มสนใจในเทววิทยาและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มาตั้งแต่เยาว์วัย ครอบครัวของเธอย้ายจากคอนเนคติกัตมาที่ซินซินนาติเมื่อค.ศ.๑๘๓๒ และบิดาของเธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการของสถาบันการศึกษาของนักบวชที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่คือ Lane Theological Seminary เธอสมรสกับคาลวิน สโตว์ (Calvin Stowe) อาจารย์ผู้สอนในสถานศึกษาแห่งนี้ในปีค.ศ.๑๘๓๖ (๑)

ณ เมืองซินซินนาตินี้เองที่ความขัดแย้งในประเด็นปัญหาเรื่องทาสมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ เนื่องจากเป็นเมืองชายแดนระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ และเปิดโอกาสให้สโตว์ได้รู้จักกับทาสที่หลบหนีเจ้านายหลายคน รวมทั้งได้รับรู้จากมิตรสหายและจากแขกที่มาเยี่ยมเยียนว่า ชีวิตของชาวนิโกรในดินแดนภาคใต้นั้นทุกข์ยากอย่างไร และเมื่อมีการออกกฎหมายห้ามช่วยทาสหลบหนี (Fugitive Slave Act) ในปี ค.ศ.๑๘๕๐ พี่สะใภ้ของสโตว์ได้กระตุ้นเธอให้เขียนแสดงความชั่วร้ายของระบบทาสออกมาให้สาธารณชนประจักษ์ เพราะเห็นว่าสโตว์มีฝีมือทางการประพันธ์ด้วยเคยมีผลงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาตั้งแต่ค.ศ.๑๘๔๓ สโตว์เห็นด้วยและเริ่มลงมือเขียนภาพชีวิตของชาวนิโกรโดยตั้งใจจะเขียนเพียง ๓-๔ บท แต่เมื่อเขียนไปเรื่อยๆเนื้อหาก็ขยายยืดยาวออกไปทุกทีจนกลายเป็น ๔๔ บท และได้รับการตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆใน The National Era ระหว่างปี ค.ศ.๑๘๕๑ - ๕๒ และรวมพิมพ์เป็นเล่มในปี ค.ศ.๑๘๕๒ การปรากฏขึ้นของหนังสือเล่มนี้ในบรรณพิภพจะต้องจารึกไว้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ภายในเวลาเพียงหนึ่งปีขายได้ถึง ๓๐๐,๐๐๐ เล่ม และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย

ภาพชีวิตทาส : ความโหดร้าย การละเมิดสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ การพลัดพราก

นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายอเมริกันเรื่องแรกที่มีตัวละครเอกเป็นชาวผิวดำ ผู้ประพันธ์ใช้ตัวละครลุงทอมเป็นเครื่องมือในการเสนอประเด็นสำคัญต่อผู้อ่านว่า ความทารุณโหดร้ายนั้นมิอาจแยกออกจากระบบทาสได้ แม้ว่าทาสบางคนจะบังเอิญมีนายทาสที่ใจดีมีเมตตากรุณา แต่ชะตากรรมของเหล่าทาสก็หนีไม่พ้นต้องเผชิญกับการปฏิบัติที่ราวกับพวกเขามิใช่มนุษย์ ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปมาในระหว่างคนผิวขาวราวกับเป็นวัตถุสิ่งของ ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยา ถูกเฆี่ยนตีถูกล่าจนแม้แต่ถูกเอาชีวิตไปโดยไม่มีโอกาสร้องขอความยุติธรรมจากผู้ใด แม้แต่กฎหมายก็ดูจะหันหลังให้กับพวกเขา จริงอยู่ว่ารัฐสภาบัญญัติออกกฎหมายห้ามค้าทาสในปีค.ศ.๑๘๐๘ (๒) แต่ตามรัฐธรรมนูญ ทาสเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากรัฐธรรมนูญยอมให้นับทาสจำนวน ๕ คนเท่ากับเสรีชน ๓ คน ในการนับจำนวนประชาชนเพื่อตัดสินว่ามลรัฐใดมีผู้แทนราษฎรได้กี่คน (๓) สินค้าทาสเป็นสินค้าที่ได้ราคาดีเพราะตลาดต้องการ ตลาดในขณะนั้นก็คือพวกเจ้าของไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ทั้งหลายที่ต้องใช้แรงงานทาสจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานของสตรีและเด็ก กล่าวได้ว่า ฝ้ายทำให้การเลี้ยงทาสเฟื่องฟู อันที่จริงในปีต้นๆของสาธารณรัฐ เมื่อรัฐภาคเหนือกำหนดให้มีการปลดปล่อยทาสในอาณาบริเวณภาคเหนือนั้น ชนชั้นผู้นำของประเทศหลายคนคาดว่าระบบทาสคงจะหมดไปในไม่ช้าไม่ว่าจะเป็นวอชิงตัน เจฟเฟอร์สัน เมดิสัน มอนโร และรัฐบุรุษชาวใต้คนสำคัญอื่นๆ ตลอดจนพวกชาวใต้เองก็คิดเช่นเดียวกันว่าการเลี้ยงทาสคงจะสิ้นสุดลงในเวลาไม่นาน แต่ความคาดหวังนี้กลับผิดไปเนื่องจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับฝ้ายเติบโตขึ้นอย่างมาก มีการใช้ฝ้ายชนิดใหม่และประดิษฐกรรมใหม่คือ เครื่องปั่นฝ้ายสำหรับฝัดเมล็ดออกจากปุยฝ้าย ขณะเดียวกันการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ทำให้อุตสาหกรรมผลิตผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ มีการบุกเบิกที่ดินใหม่ในภาคตะวันตกทำให้เกิดการขยับขยายพื้นที่สำหรับปลูกฝ้ายเพิ่มขึ้นอีกมาก การปลูกฝ้ายได้ขยายจากรัฐชายฝั่งทะเลแผ่ไปตลอดดินแดนส่วนมากของภาคใต้ตอนล่าง ถึงแม่น้ำมิสซิสซิปปี และในที่สุดก็ไปถึงเท็กซัส ยิ่งพื้นที่ปลูกฝ้ายขยายตัวมากขึ้นเท่าใด การเลี้ยงทาสก็ยิ่งขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้การปลูกอ้อยที่ขยายตัวมากขึ้นก็ทำให้เกิดความนิยมเลี้ยงทาสมากยิ่งขึ้น และการปลูกยาสูบที่แผ่ไปทางตะวันตกก็พาเอาระบบทาสตามเข้าไปด้วย (๔) ดังนั้น การเลี้ยงทาสที่เคยราคาแพงและไม่คุ้มทุนเพราะเสียค่าใช้จ่ายมากในการเลี้ยงดูทาส จึงกลับกลายเป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรสูง โดยเฉพาะการปลูกฝ้ายนั้นเหมาะกับการใช้ทาสเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นงานที่ใช้เวลาถึงเก้าเดือนในปีหนึ่งๆ ทั้งยังใช้แรงงานของผู้หญิงและเด็กๆได้อีกด้วยนอกเหนือไปจากแรงงานผู้ชาย

นายจ้างคนแรกของลุงทอมเป็นคนใจดีทั้งสามีและภรรยา ลุงทอมรับใช้มิสเตอร์และมิสซิสเชลบีด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดี นายทาสก็ให้ลุงทอมมีสภาพความเป็นอยู่สุขสบายตามสมควร กล่าวคือมีกระท่อมเป็นของตนเองโดยอาศัยอยู่กับภรรยาและบุตร นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสรู้จักกับพระคัมภีร์ไบเบิลและคำสอนในศาสนาคริสต์ด้วยความเอื้ออารีของบุตรชายของนายทาส แต่ลุงทอมก็มีชีวิตสุขสบายอยู่ได้ไม่นานเมื่อมิสเตอร์เชลบีประสบปัญหาหนี้สินจนต้องตัดสินใจขายทาส นั่นเองคือจุดที่ลุงทอมต้องพลัดพรากจากครอบครัวโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าจะมีโอกาสได้กลับมาพบกันอีกหรือไม่ อันที่จริงลุงทอมอาจจะหนีไปเสียก็ได้พร้อมกับเอลิซาทาสหญิงอีกคนหนึ่งดังคำแนะนำของป้าโคลผู้เป็นภรรยา

"ตาเอ๊ย" ป้าโคลพูด "ทำไมไม่หนีไปเสียด้วยกันล่ะ? ตาจะคอยให้เขามาเอาใส่เรือไปในแม่น้ำ และต้องตายไปเพราะทำงานตรากตรำและอดอยากอย่างนั้นรึ? ฉันยอมตายเสียดีกว่าจะไปที่นั่นอีก ยังมีเวลาพอจะเตรียมตัวทันถมไป หนีไปเสียกับลิซซี่เถอะเร็วๆเข้า ฉันจะเตรียมข้าวของให้เอง"

 

จากคำพูดของป้าโคลสะท้อนชะตากรรมของพวกทาสผิวดำได้เป็นอย่างดี ทาสจะถูก"ขนย้าย" ไปทางลำน้ำมิสซิสซิปปีและชะตากรรมที่ทาสเผชิญอยู่จนเป็นเรื่องปกติคือการ " ต้องตายไปเพราะทำงานตรากตรำและอดอยาก" ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีทาสพยายามหลบหนีจากชะตากรรมเช่นนี้มากมาย เฉพาะในโอไฮโอรัฐเดียวมีทาสหลบหนีไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ คน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือไปสู่เสรีภาพระหว่าง ค.ศ.๑๘๓๐ ถึง ๑๘๖๐ (๕) แต่ลุงทอมไม่หนีด้วยความที่เป็นคนซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเจ้านายอย่างที่สุด

"ฉันไม่หนีหรอก!ให้ลิซซี่ไปเถอะ เขามีสิทธิจะทำได้ ได้ยินลิซซี่พูดแล้วไม่ใช่รึ? ถ้านายไม่ขายฉัน ทุกๆคนและทรัพย์สินทั้งหมดที่นายมีก็จะสูญสิ้นไป ยอมให้นายขายฉันดีกว่า ฉันคงจะทนความยากลำบากได้หรอก" แกกล่าวต่อไป พร้อมกับถอนหายใจใหญ่และสะอื้นจนตัวสั่นสะท้าน "นายจะพบฉันอยู่ที่นี่แหละ ฉันจะไม่ยอมทำลายความไว้วางใจของนายเสียในครั้งนี้ ถ้าฉันถูกขายคนเดียวก็ยังดีกว่าทุกคนจะต้องถูกขาย และบ้านเรือนก็ต้องสูญสิ้นไป ยายเอ๋ย! นายไม่ควรจะถูกตำหนิที่ทำการครั้งนี้ และนายจะระวังเลี้ยงดูแกและลูกๆที่น่าสงสารของเรา"

 

ดูเหมือนว่าผู้แต่งจะให้ผู้อ่านเปรียบเทียบเองระหว่างนายทาสผู้ใจดีกับทาสผู้ภักดีว่าใคร เหนือกว่าใครในแง่คุณธรรมและจริยธรรม ในที่สุดลุงทอมก็ต้องพลัดพรากจากครอบครัวที่อบอุ่นอันประกอบไปด้วยภรรยาและบุตรหลายคน การบรรยายถึงความโทมนัสของลุงทอมในวาระนี้เป็นโอกาสให้ผู้แต่งได้พูดกับผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้อ่านที่ได้เคยสูญเสียลูกไปคงจะซาบซึ้งถึงหัวอกของทาสที่ต้องสูญเสียลูก เพราะทาสก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน มีเลือดเนื้อมีชีวิตจิตใจเหมือนคนผิวขาวทุกประการ เหตุใดเล่าคนผิวขาวจึงคิดว่าคนผิวดำจะไม่โศกเศร้า เมื่อต้องพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก

หยาดน้ำตาไหลรินผ่านช่องนิ้วมือแกลงไปสู่พื้น เป็นหยาดน้ำตาชนิดเดียวกับที่ได้หลั่งไหลจากดวงตาของท่าน เมื่อท่านฝังศพบุตรชายคนหัวปีของท่าน เป็นหยาดน้ำตาที่ท่านหญิงทั้งหลายหลั่ง เมื่อได้ยินเสียงลูกน้อยร้องเมื่อใกล้จะสิ้นใจ เพราะลุงทอมเป็นมนุษย์ และท่านก็เป็นมนุษย์ และท่านหญิงผู้แต่งกายด้วยแพรพรรณอันมีค่าและตบแต่งเครื่องประดับอันงดงาม... ท่านก็เป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งซี่งมีความโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งเมื่อต้องพรากจากบุตรที่รัก

ยอร์ช แฮริส เป็นทาสอีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสภาพอันน่าขมขื่นใจของระบบทาส ผู้ประพันธ์สร้างให้ตัวละครตัวนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมูลฐานของความเป็นมนุษย์ ยอร์ชแตกต่างไปจากลุงทอม เขาเป็นชายหนุ่มลูกครึ่งนิโกรผู้มีความสามารถและฉลาดเฉลียวแต่ด้วยความใจแคบของผู้เป็นนายทาส แทนที่จะสนับสนุนยอร์ชซึ่งสามารถดูแลกิจการโรงทำกระสอบป่าน และมีความคิดริเริ่มคิดสร้างเครื่องจักรสำหรับฟอกป่านให้สะอาดขึ้น ซึ่งทำประโยชน์ให้แก่นายอย่างมากมาย แต่นายทาสกลับส่งเขากลับไปทำงานขุดดินในไร่ตามเดิมเพราะ "กลัวว่ายอร์ชจะมีความสามารถมากไปกว่าเขา เหตุไรยอร์ชผู้เป็นทาสของเขาจึงได้คิดสร้างเครื่องจักรขึ้นใหม่ และเที่ยวเดินไปไหนมาไหนทั่วเมืองแสดงท่าภาคภูมิเช่นเดียวกับสุภาพบุรุษผิวขาว" ความใจแคบของผู้เป็นนายเช่นนี้รังแต่จะทำให้ทาสเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมและขุ่นแค้นใจ แม้ว่ายอร์ชจะอดทนทำงานในไร่อย่างไม่ปริปากบ่น แต่เขาก็มี "ดวงหน้าที่บูดบึ้ง คิ้วขมวด และดวงตาที่ลุกเป็นประกายแสดงให้เห็นความรู้สึกภายในใจของเขาได้อย่างแจ่มแจ้ง เขารู้สึกว่า มนุษย์มิใช่สิ่งของที่จะทำอะไรๆได้ตามใจชอบ" แม้ว่าผู้คุมโรงงานจะพยายามพูดให้นายทาสของยอร์ชเปลี่ยนใจ โดยให้เหตุผลว่าหากยอร์ชทำงานที่โรงงานต่อไป เขาจะทำให้โรงงานของนายทาสเจริญขึ้น แต่นายกลับยืนกรานปฏิเสธ เป็นการพิพากษามิให้ชีวิตของยอร์ชได้สุขสบายอีก ยอร์ชเคยถูกมัดติดกับต้นไม้ และถูกเฆี่ยนจนคนเฆี่ยนเหนื่อย เหตุเพราะเขาบังอาจจับมือลูกของนายที่หวดเขาด้วยแส้ก่อน และอีกครั้งหนึ่งถูกเฆี่ยนเพราะไม่ยอมเอาสุนัขไปถ่วงน้ำตามคำสั่งของนาย ผู้ประพันธ์ตอกย้ำชะตากรรมของยอร์ชและทาสทั้งหลายด้วยข้อความว่า

ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้วสำหรับเขา นอกจากชีวิตที่ต้องตรากตรำทำงาน มีนายคอยกดขี่และบีบบังคับอย่างโหดร้ายทารุณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อนิจจา!ชีวิตของทาสผู้น่าสมเพชเวทนา ทาสผู้ต้องทำงานหนักโดยไร้อิสระเสรี มีคำกล่าวไว้ว่า "วิธีลงโทษมนุษย์อย่างร้ายแรงที่สุดคือการแขวนคอ "หามิได้...ชีวิตแห่งการเป็นทาสนี่สิร้ายยิ่งกว่าการถูกแขวนคอหลายพันเท่า

แต่ยอร์ช แฮริส มิได้มีอุปนิสัยยอมให้กับผู้เป็นนายอย่างศิโรราบเช่นเดียวกับลุงทอม ตรงกันข้ามเขาเป็นคนที่มีวิญญาณขบถอยู่ในตัว เขาตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำๆซากๆ ว่า ใครตั้งให้นายทาสเป็นนายของเขา เหตุไรนายจึงมีสิทธิในตัวเขา เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งและเป็นได้ดีกว่านายด้วย ดังนั้นเมื่อถูกเบียดเบียนบีฑาราวกับมิใช่มนุษย์เช่นนี้ ยอร์ชจึงไม่ทน และเลือกที่จะหนี เช่นเดียวกับเอลิซาภรรยาของเขา ผู้เลือกที่จะพาลูกน้อยหนี แทนที่จะยอมให้ลูกถูกพรากไปจากอก ทั้งสองต่างคนต่างหนีแต่ได้ไปพบกันอีกครั้งโดยบังเอิญที่หมู่บ้านของพวกเควกเกอร์ ซึ่งตามประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับระบบทาส และช่วยให้ทาสหลบหนี อันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการช่วยทาสหลบหนีจากฝ่ายใต้ไปยังฝ่ายเหนือ (๖) และบ่อยครั้งที่ช่วยให้หนีไปสู่ประเทศแคนาดาด้วยโดยใช้เส้นทางที่เรียกว่า "ทางรถไฟใต้ดิน" กล่าวคือ มีการพาทาสหนีตามเส้นทางลับที่ประสานกันอย่างกว้างขวางในภาคเหนือ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอันเป็นสถานที่ลับที่รู้กันในหมู่ผู้ร่วมขบวนการ ฉากการช่วยยอร์ชและเอลิซาพร้อมลูกน้อยให้หลบหนีพ้นไปจากเงื้อมมือของพวกไล่ล่า เป็นการสะท้อนประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นเป็นอย่างดีว่า ผู้ที่ช่วยเหลือทาสให้หลบหนีนั้น มีเครือข่ายประสานงานอย่างเข้มแข็ง เอลิซาถูกพาตัวมาไว้ที่บ้านของจอน แวนทรอมพ์ ก่อนที่จะถูกพาต่อไปยังบ้านของซีเมียน ฮอลลิเดย์ ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้พบกับสามีก่อนจะได้รับการพาหนีด้วยรถม้าโดยมีฟีเนียส เฟลตเชอร์ สมาชิกของหมู่บ้านเควกเกอร์เป็นคนขับรถฝ่าด่านของผู้ไล่ล่าจนไปถึงบ้านอะมาริยาซึ่งเป็นบ้านของพวกเควกเกอร์อีกแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะขึ้นรถไปที่เมืองซันดัสกี โดยมีมิสซิสสมิธปลอมตัวเป็นป้าร่วมเดินทางไปส่ง โดยข้ามทะเลสาบอีริกไปสู่เมืองแอมเฮิสต์เบอร์กในแคนาดา คำพูดของยอร์ชขณะที่กล่าวตอบโต้ผู้ที่ไล่ล่าเขานั้น สะท้อนทั้งสภาพการณ์ในประวัติศาสตร์ที่คนผิวขาวเป็นผู้ถือกฎหมายอยู่ในมือ และสะท้อนความขมขื่นเคียดแค้นของพวกทาสที่รอวันจะปะทุออกมาเป็นสงครามกลางเมืองในอีกไม่กี่ปีต่อมา

"ยังหรอก ท่านยังจับเราไม่ได้! เรายืนอยู่ที่นี่ภายใต้ท้องฟ้าของพระเจ้า เรายืนอยู่อย่างอิสระเช่นเดียวกับท่าน และในนามของพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพอันยิ่งใหญ่ เราจะขอสู้เพื่ออิสรภาพจนกว่าจะหมดลมหายใจ"

เอลิซา ภรรยาของยอร์ช แฮริส เป็นตัวละครฝ่ายหญิงที่ผู้ประพันธ์ใช้เป็นเครื่องมือในการเสนอประเด็นว่า ทาสหญิงผิวดำผู้เป็นมารดาก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับมารดาผิวขาวทั้งหลาย หัวอกแม่ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีใดย่อมไม่แตกต่างกัน หญิงผิวขาวเป็นทุกข์เพียงใดเมื่อต้องสูญเสียบุตรหญิงผิวดำก็ทุกข์เพียงนั้นเมื่อต้องพลัดพรากจากลูก มิสเตอร์เชลบีตกลงขายลูกของเอลิซา เอลิซาจึงตัดสินใจพาลูกน้อยหนีเพราะเธอทนที่จะให้ใครมาพรากลูกน้อยไปจากอกมิได้ ฉากที่เอลิซาหนีการไล่ล่าของฮาเลย์พ่อค้าทาสที่รับซื้อลูกของเธอทำให้ผู้อ่านต้องนึกนิยมความเป็นผู้มีใจคอเด็ดเดี่ยวของหญิงผู้นี้ เธอกล้าเสี่ยงชีวิตอุ้มลูกกระโดดลงไปในแม่น้ำที่กระแสน้ำเชี่ยวกรากและมีน้ำแข็งลอยเป็นก้อนๆ ซึ่งเป็นการกระทำที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเธออาจจะพลาดตกลงไปและถูกกลืนลงสู่ห้วงน้ำเบื้องล่างได้ แต่เอลิซาก็เลือกที่จะไปตายเอาดาบหน้าเพราะไม่สามารถทนกับการกดขี่ของคนผิวขาวได้อีกต่อไป หากฮาเลย์ตามมาทันย่อมหมายถึงว่า เธอจะต้องถูกพรากจากลูกน้อยอย่างไม่มีหวังจะได้พบกันชั่วชีวิต เป็นฉากที่ทำให้ผู้อ่านยิ่งทวีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ชะตากรรมลิขิตมาให้เป็นทาส การบรรยายในฉากนี้ ให้ภาพของทาสที่เหมือนสัตว์ถูกไล่ล่า และเป็นสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อ อ่อนแอกว่าผู้ล่า ไร้หนทางที่จะต่อสู้

ด้วยกำลังแรงที่พระเจ้าทรงประทานให้ เอลิซาส่งเสียงร้องดังแล้วกระโดดลงไปบนก้อนน้ำแข็งซึ่งกำลังลอยอยู่ในน้ำ ไม่มีผู้ใดสามารถกระโดดเช่นนั้นได้นอกจากผู้ที่หมดหวังในชีวิตหรือไม่ก็สติวิปลาส ขณะที่เห็นหล่อนกระโดด ฮาเลย์กับพรรคพวกก็ร้องเสียงดังและชูมือขึ้นอย่างตกอกตกใจ น้ำแข็งก้อนใหญ่ซึ่งหล่อนกระโดดลงไปยืนนั้นแตกออกและเลื่อนลอยไปขณะที่ทานน้ำหนักของหล่อนไว้ แต่เอลิซาหาได้ยืนอยู่ต่อไปไม่ หล่อนส่งเสียงแล้วกระโดดจากน้ำแข็งก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่งอย่างกล้าหาญ ตัวหล่อนลื่นถลาและล้มคลุกคลาน แต่แล้วก็กลับลุกขึ้นได้อีก รองเท้าของหล่อนหลุดหาย ถุงเท้าขาดออกจากเท้า มีโลหิตไหลจากเท้าของหล่อนเป็นทางไปบนน้ำแข็ง แต่เอลิซามองไม่เห็นอะไรเลย ไม่รู้สึกอะไรเลย จนกระทั่งหล่อนไปถึงฝั่งน้ำโอไฮโอฟากข้างโน้นและผู้ชายคนหนึ่งช่วยฉุดหล่อนขึ้นไปบนตลิ่ง

ด้วยหัวใจของผู้เป็นมารดาเท่านั้นจึงจะหาญกระทำการที่เสี่ยงต่อความเป็นความตายเช่นนี้ได้ แฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์เองมีหัวใจของผู้เคยสูญเสียบุตรมาแล้ว ความทุกข์เทวษปิ้มว่าจะขาดใจตายบุตรตามไปด้วย ทำให้เธอตั้งใจว่าจะไม่ให้ความทุกข์ครั้งนั้นสูญเปล่า แต่จะแปรออกมาให้เป็นประโยชน์ต่อผู้สูญเสียทั้งมวล ในจดหมายฉบับลงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๑๘๕๒ ที่เขียนถึงเอลิซา คาบอต ฟอลเลน (Eliza Cabot Follen) สโตว์ได้ถ่ายทอดความเจ็บปวดจากการสูญเสียบุตรและปณิธานของเธอไว้ดังนี้

"ฉันเป็นมารดาของบุตรเจ็ดคน (...) ข้างเตียงที่เขานอนป่วยใกล้จะสิ้นใจและที่หลุมฝังศพของเขานั่นเอง ที่ฉันได้ซาบซึ้งว่าทาสผู้น่าสงสารที่เป็นมารดารู้สึกอย่างไรเมื่อบุตรของเธอถูกพรากจากไป ในทุกข์สุดลึกล้ำเหลือที่จะหยั่งถึงได้นั้น ฉันได้แต่สวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า ขออย่าให้ฉันต้องผ่านความโทมนัสเช่นนี้โดยเปล่าประโยชน์เลย (...) ฉันรู้สึกว่าฉันจะไม่มีวันได้รับการปลอบประโลมใจ จนกว่าสิ่งที่บดขยี้หัวใจฉันจนแหลกสลายนี้จะสามารถช่วยให้ฉันสร้างคุณูปการอันยิ่งใหญ่เพื่อผู้อื่น (...) บัดนี้มันไม่เหลือร่องรอยในจิตใจของฉันอีกนอกเหนือจากความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งสำหรับผู้ที่โศกเศร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาแม่ที่ถูกพรากจากลูกๆ"

ตัวละครหลายตัวในนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นตัวแทนของมารดา โดยเฉพาะมารดาที่เป็นทาสผิวดำซึ่งต้องพลัดพรากจากบุตรอันเป็นที่รัก เอลิซา ลูซี ยายปรู ซูซานกับเอ็มมิลีน แคซซี ทุกคนล้วนแล้วแต่มีหัวใจของแม่ที่รักลูกสุดชีวิตจิตใจไม่แตกต่างไปจากบรรดาแม่ผิวขาวที่มีสถานะเหนือกว่าในสังคม

ลูซี่ต้องจากลูกน้อยไปชั่วนิรันดร์เนื่องจากฮาเลย์ขายลูกของเธอแก่ชาวผิวขาวที่พบกันบนเรือโดยไม่ให้ผู้เป็นแม่ได้มีโอกาสรับรู้ เธอมารู้ก็ต่อเมื่อลูกถูกขายไปแล้ว สโตว์บรรยายฉากนี้อย่างบาดลึกความรู้สึกของผู้อ่าน ในขณะที่พ่อค้าทาสใจหินมิได้สะดุ้งสะเทือนต่อการกระทำอันไร้มนุษยธรรมของตนแต่อย่างใด "ฮาเลย์เป็นคนใจแข็งเพราะเคยชินต่อสิ่งเหล่านี้ แม้หญิงนั้นจะแสดงความทุกข์โศก เขาก็ไม่รู้สึกสงสารหล่อนเลยแม้แต่น้อย" เขาให้เหตุผลซึ่งเป็นเพียงคำแก้ตัวว่า "ฉันได้โอกาสเหมาะ ก็เลยขายให้ครอบครัวที่ดีครอบครัวหนึ่งซึ่งสามารถเลี้ยงดูเด็กได้ดีกว่าหล่อนเสียอีก" และปลอบใจหญิงผู้เจ็บช้ำด้วยถ้อยคำที่แสดงว่าเขามิได้มองทาสผิวดำเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน "หล่อนรูปร่างสะสวยน่าดู ฉันจะหาที่อยู่ดีๆให้ แล้วอีกไม่ช้าหล่อนก็จะได้สามีใหม่ คนสวยๆอย่างเธอ..." ลูซีทนแบกรับความทุกข์อันใหญ่หลวงนี้ด้วยความงงงันต่อชะตาชีวิตที่มนุษย์ผิวขาวคนหนึ่งเป็นผู้ลิขิตให้เธอ โดยมิได้สำนึกว่าเธอก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน

หล่อนกำมือแน่น หายใจสะท้อน และพยายามกัดริมฝีปากแน่นเพื่อห้ามมิให้ส่งเสียงร้องออกมา หล่อนยืนเงียบๆ ความทุกข์โศกของหล่อนครั้งนี้มากเกินกว่าที่จะร้องไห้ได้ หล่อนนั่งลงอย่างงุนงงแขนตกห้อยอยู่ข้างๆอย่างปราศจากชีวิต ดวงตาของหล่อนเพ่งตรงไปข้างหน้าแต่มองไม่เห็นอะไรเลย เสียงเครื่องจักรและเสียงพูดจาของผู้โดยสารดังแว่วมาเข้าหูหล่อนคล้ายความฝัน ดวงตาของหล่อนแห้งผากไม่มีน้ำตาเลยแม้แต่หยดเดียว

ความทุกข์ครั้งนี้สาหัสสากรรจ์เกินกว่าความทุกข์ปกติที่ทาสผิวดำต้องเผชิญอยู่เป็นนิจสิน และลูซีก็ตัดสินใจจบชีวิตของเธอด้วยการกระโดดลงสู่ลำน้ำมิซซิสซิปปี ให้แม่น้ำผู้ปฏิบัติต่อคนทุกผิวสีอย่างเสมอภาคกันเป็นผู้ดับความโทมนัสของเธอ

หัวใจอันมีโลหิตไหลรินของหญิงผู้เคราะห์ร้ายสงบนิ่งแล้วในที่สุด ผืนน้ำในแม่น้ำราบเรียบเหมือนเช่นเคย ราวกับว่ามิได้กลืนร่างของทาสหญิงผู้น่าสมเพชซึ่งทุ่มตัวลงสู่แม่น้ำเลย

ลุงทอมรู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนี้แต่ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งโศกนาฏกรรมได้ แม้ว่าจะได้พยายามปลอบโยนลูซีด้วยการยกคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลมาให้แม่ผู้หัวใจสลาย ได้ยึดศาสนาเป็นที่พึ่ง ผู้ประพันธ์ใช้ความรู้สึกของลุงทอมเป็นสื่อ กระตุ้นผู้อ่านให้นึกใคร่ครวญถึงความทารุณโหดร้ายที่ทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกาได้รับอยู่ในขณะนั้น

ลุงทอมรู้สึกว่าการกระทำของฮาเลย์เป็นสิ่งโหดร้ายทารุณ... โหดร้ายจนไม่สามารถจะบรรยายออกมาเป็นถ้อยคำได้ หัวใจของแกปวดร้าวเมื่อเห็นพวกทาสได้รับความทุกข์ทรมาน... พวกทาสที่มีชีวิต... มีเลือดเนื้อและความรู้สึกเหมือนพวกผิวขาวทุกอย่าง แต่กลับถูกเหยียดหยามเป็นสิ่งที่ไม่มีค่ามากยิ่งไปกว่าวัตถุและหีบห่อที่กองอยู่บนพื้นเรือ

 

ยายปรูเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งที่ต้องจบชีวิตลงด้วยความตรอมใจ อันเนื่องมาจากการสูญเสียบุตรน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน ซี่งตายเพราะความทารุณของผู้เป็นนาย ที่คอยแต่จะตักตวงผลประโยชน์จากทาสของตน จนลืมเลือนมนุษยธรรมที่ควรจะมี ยายปรูเป็นทาสบ้านใกล้เรือนเคียงกับบ้านนายทาสคนที่สองของลุงทอม และด้วยเหตุนี้ลุงทอมจึงมีโอกาสได้ฟังยายปรูระบายความในใจถึงสาเหตุที่ต้องใช้เหล้าเป็นเครื่องระบายความทุกข์ชั่วขณะ

"เมื่อมาอยู่ที่นี่แล้วข้ามีลูกคนหนึ่ง ลูกข้าน่ารักเหลือเกิน ครั้งแรกๆนายหญิงรักมันมากเพราะมันอ้วนท้วนสมบูรณ์และไม่ขี้อ้อน แต่ต่อมานายล้มป่วย ข้าเฝ้าพยาบาลนายแล้วข้าก็เป็นไข้ น้ำนมข้าแห้งไปไม่มีให้ลูกกิน มันก็อดจนผอมมีแต่กระดูก และนายก็ไม่ยอมซื้อนมให้มันกิน เมื่อข้าบอกว่าข้าไม่มีนมให้ลูกกิน นายก็บอกว่าให้มันกินอะไรก็ได้ที่คนอื่นเขากินกัน ลูกข้าก็ร้องจนคอแทบแตกเพราะมันหิว นายหนวกหูและอยากจะให้มันตายเสีย เวลากลางคืนก็ไม่ยอมให้ข้าไปนอนกับลูก เพราะกลัวลูกจะกวนข้าให้อดนอนทำอะไรไม่ได้ตอนกลางวัน นายให้ข้านอนในห้องและเอาลูกไปไว้ห้องชั้นบน มันร้องจนขาดใจตายคืนหนึ่ง มันร้องจนตายจริงๆ ข้าต้องกินเหล้าให้เมาเพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงมันร้อง"

ความทารุณของนายทาสทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นนายกับทาสอยู่ในลักษณะของน้ำกับน้ำมัน ดังนั้นเมื่อลุงทอมพยายามพูดถึงพระเยซู และดินแดนในสวรรค์ เพื่อให้ยายปรูมีกำลังใจที่จะเผชิญความทุกข์ยากในโลกนี้และมีความหวังในโลกหน้า ยายปรูจึงไม่เชื่อในสิ่งที่ลุงทอมพูด แต่กลับคิดว่าการแบ่งแยกสีผิวก็ยังจะมีอยู่ดี แม้เมื่อตายไปแล้ว และยายปรูขอไปในที่ที่จะไม่ต้องพบพานกับนายผิวขาวที่ไร้ความเมตตากรุณาอีกต่อไป

"อย่างข้าน่ะรึจะไปสวรรค์? เออ! ข้าจะบอกให้ สวรรค์น่ะมีไว้สำหรับพวกผิวขาวหรอก คนอย่างเราน่ะตายแล้วก็ตกนรกทั้งนั้น ข้าอยากไปนรกดีกว่า จะได้ไม่ต้องพบหน้านาย"

คำพูดนี้มีนัยสำคัญสองประการ ประการแรก สิ่งที่ดีๆ ในชีวิตย่อมจะเป็นของคนผิวขาวเท่านั้น ประการที่สอง ชีวิตจริงบนโลกสำหรับคนเป็นทาสนั้นเลวร้ายยิ่งกว่านรกเสียอีก ยายปรูจึงมิได้หวาดหวั่นเลยหากตายแล้วจะต้องไปนรก และยายปรูก็จากโลกนี้ไปในสภาพที่นายทาสกักขังไว้ในห้องใต้ดินจนเสียชีวิต กระทั่งศพของยายปรูก็ไม่ได้รับการเหลียวแล ถูกทิ้งไว้จนแมลงวันตอม

ซูซานกับเอ็มมิลีนเป็นตัวละครสองแม่ลูก ที่ตอกย้ำว่า ขณะเวลาที่ผู้ประพันธ์แต่งนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมานั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยการพลัดพรากระหว่างสมาชิกในครอบครัวอันเนื่องมาจากการค้าทาส บทที่กล่าวถึงชะตากรรมของสองแม่ลูกคู่นี้ เป็นโอกาสให้ผู้อ่านให้เห็นภาพของตลาดค้าทาส และกระบวนการของการประมูลซื้อขายทาสทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ภาพของสิ่งที่ผู้ประพันธ์เรียกว่า "โรงเก็บสินค้าทาส" ซึ่งผู้อ่านจะรู้สึกได้ทันทีว่ามนุษย์ผิวดำที่ได้ชื่อว่าเป็นทาสนั้น ถูกปฎิบัติราวกับเป็นสินค้าจริงๆ ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ที่ก่อนจะถูกซื้อขายจะได้รับการ"ขุน"ให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเพื่อเป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าเกิดความอยากซื้อ พวกทาสจะถูกจัดให้อยู่ในที่ที่เปรียบเสมือนตู้โชว์สินค้า เพื่อให้ลูกค้าสะดวกต่อการพินิจพิจารณาและตัดสินใจซื้อไป

โรงเก็บสินค้าทาส! ท่านผู้อ่านบางคนอาจจะคิดว่าเป็นสถานที่ที่น่ากลัว สกปรกโสมมและมืดทึบ หามิได้! ในสมัยนี้มนุษย์เราได้เรียนรู้ถึงศิลปะการจัดและตบแต่งสถานที่สำหรับเก็บสินค้าที่จะขายเป็นอย่างดี เพื่อมิให้พวกที่จะมาซื้อทาสรังเกียจสถานที่ สินค้าทาสมีราคาสูงในท้องตลาด ฉะนั้นพวกทาสจึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี มีเสื้อผ้านุ่งห่มสะอาดสะอ้าน เพื่อเมื่อเวลาที่นำออกไปขาย พวกทาสเหล่านั้นจะได้มีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์แข็งแรงและขายได้ราคาดี (...) ท่านจะได้เห็นพวกทาสชายหญิงยืนเรียงรายกันอยู่ในเพิงที่ปลูกอยู่ข้างนอก เป็นเครื่องหมายแสดงว่าภายในสถานที่แห่งนั้น มีทาสสำหรับขายแก่พวกผู้ดีมีเงินที่ต้องการจะซื้อ แล้วท่านจะได้รับการต้อนรับอย่างสุภาพ ให้เข้าไปดูข้างใน ท่านจะได้เห็นสามีภรรยา พี่ชาย น้องสาว พ่อ แม่ และเด็กๆ ถูกแยกไว้เป็นพวกๆ สำหรับจะขายรวมกันเป็นหมู่ หรือขายแยกไปเฉพาะตัว สุดแล้วแต่ความปราถนาของผู้ซื้อ

พ่อค้าทาสจะตรวจตราสินค้าทาสอย่างละเอียดลออ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าจะดึงดูดใจผู้ซื้อมากที่สุด โดยเฉพาะทาสชายที่ล่ำสันแข็งแรงอย่างลุงทอมและทาสสาวหน้าตาดีอย่างเอ็มมิลีนจะสามารถขายได้ราคาสูง มิสเตอร์สะเก็ตซ์เมื่อจะส่งเอ็มมิลีนไปประมูล จึงสั่งให้ซูซานหวีผมให้ลูกสาวเสียใหม่ให้หยิกสวยแทนที่จะหวีเรียบๆ

"รีบไปหวีผมใหม่เดี๋ยวนี้ ปล่อยให้ผมหยิกสวยๆนะ" แล้วแกว่งแส้หวายในมือ "ไปเร็วๆเข้า แกไปช่วยหวีผมลูกของแกด้วย" เขาพูดกับหญิงมารดา "ยายบ้า! แกช่างไม่รู้เสียเลยว่าผมหยิกสวยของลูกแกเพิ่มค่าตัวเด็กนั่นตั้งหลายร้อยดอลล่าร์!"

ผู้ประพันธ์ใช้บรรยายโวหารที่เน้นให้เห็นว่า บรรดาทาสได้รับการปฏิบัติไม่ต่างอะไรจากสัตว์จริงๆ ผู้ซื้อต่าง "ชี้ไม้ชี้มือและติชมรูปร่างลักษณะของพวกทาสที่ยืนรวมกัน ดูประหนึ่งว่าเขาเป็นคนขี่ม้าที่กำลังอภิปรายกันถึงลักษณะดีๆ ในตัวม้าที่เขาจะขี่" บ้างก็พิจารณาดูทาสโดยละเอียด " เขาจับขากรรไกรลุงทอมอ้าปากแกออกตรวจดูฟัน ให้แกถลกแขนเสื้อขึ้นดูกล้ามเนื้อ หมุนตัวรอบๆ ให้แกกระโดดแล้วเดินให้ดู" วาจาและอากัปกิริยาที่กระทำต่อทาสก็ปราศจากการให้เกียรติ ดังเช่นลีกรี ที่ถ่มน้ำยาเส้นรดรองเท้าของอะดอลฟ์ หรือเอามือลูบคลำร่างกายของเอ็มมิลีนอย่างกักขฬะ ก่อนจะผลักไปหามารดา และเมื่อเด็กสาวร้องไห้ แทนที่จะได้รับคำปลอบโยนจากพ่อค้าทาส ก็กลับถูกตวาดซ้ำห้ามมิให้ร้องไห้ ลุงทอมถูกผลักและกระชากบ่าอย่างไม่ปรานีปราศรัยในระหว่างการประมูล ก่อนจะถูกขายไปโดยถูกล่ามโซ่ทั้งข้อมือข้อเท้า การกระทำที่หยาบช้าทั้งหลาย ล้วนเกิดขึ้นในสถานที่ประมูลสินค้าที่อยู่ในสภาพสวยงามซึ่งเป็นภาพที่ขัดกันอย่างยิ่ง ราวกับผู้ประพันธ์จงใจจะเสียดสีชาวผิวขาวที่ถือตัวว่าศิวิไลซ์กว่าคนผิวดำที่พวกเขาเหยียดหยามว่าเป็นคนป่าคนดงจากทวีป แอฟริกา คนผิวขาวเจริญรุ่งเรืองในวัตถุอันเห็นได้จากตึกรามสิ่งก่อสร้าง ทว่าจิตใจของพวกเขานั้นเล่า เจริญทัดเทียมกับวัตถุที่พวกเขาสร้างขึ้นหรือไม่ ในที่สุดซูซานก็ต้องถูกพรากจากเอ็มมิลีนลูกสาวของเธอ ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยจนดูราวกับเป็นสิ่งปกติธรรมดา แต่การพรากแม่ไปจากลูก การตัดขาดความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นเรื่องปกติธรรมดาแน่ละหรือ

เสียงค้อนกระทบโต๊ะอีก ซูซานถูกขาย หล่อนเดินลงจากแท่นเหลียวหลังไปดูข้างหลังอย่างอาลัยอาวรณ์ บุตรสาวของหล่อนอ้าแขนออกมาหามารดา หล่อนมองหน้าชายผู้ซื้อหล่อนด้วยแววตาแสดงความปวดร้าวใจ (...) เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน! ใครๆก็เห็นลูกสาวและแม่ร้องไห้เพราะถูกพรากจากกันในการขายเลหลังเช่นนี้เสมอๆ

ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวถูกตัดขาดนั้น เป็นประเด็นที่ผู้ประพันธ์เน้นย้ำอยู่ในนวนิยายเล่มนี้ตลอดทั้งเรื่อง โดนเฉพาะอย่างยิ่งหัวอกแม่ที่ต้องโดนพรากจากลูกของตน แคสสีก็เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง ที่ได้รู้รสของมารดาที่ต้องถูกพรากจากบุตรสองคน ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ยังต้องทนรับรู้ว่าบุตรชายที่ถูกขายไปนั้นถูกเฆี่ยนตีจากนายทาส ความเจ็บปวดทรมานใจอย่างใหญ่หลวงทำให้เธอใช้มีดทำร้ายคนที่ขายลูกของเธอ และทำให้เธอตัดสินใจฆ่าบุตรที่เธอให้กำเนิดคนต่อมา เนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกมีชีวิตเป็นทาส และประสบกับความอยุติธรรมดังที่เธอเคยประสบมาแล้ว แคสสีมีแม่เป็นทาส แม้จะเคยมีชีวิตวัยเด็กที่สุขสบาย แต่เมื่อบิดาผิวขาวเสียชีวิต เธอก็ถูกขายไปเป็นภรรยาของเฮนรี ซึ่งขายเธอและลูกสองคนต่อไปเมื่อตนเองมีหนี้สิน จากเฮนรี เธอถูกขายต่อไปให้บัตเลอร์ จากบัตเลอร์ถูกขายให้สจ๊วต และเมื่อสจ๊วตตายเธอก็ถูกขายต่อไปอีกเรื่อยๆ จนตกมาอยู่ในมือของลีกรี ชีวิตที่ไม่เคยเป็นไทแก่ตัวมาตลอด ทำให้เธอมองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าลูกของเธอก็จะมีชีวิตไม่ต่างจากตัวเธอเลย

"ฉันอุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมแขนเมื่อเด็กนั้นมีอายุเพียง ๒ อาทิตย์ จูบแกแล้วก็ร้องไห้ แล้วฉันเอายานอนหลับให้กิน และกอดแกไว้แนบอกจนเด็กนั้นสิ้นใจตาย ฉันร้องไห้เศร้าโศกถึงลูกคนนั้นมากมาย (...) ฉันไม่เสียใจเลยที่ฆ่าลูกคนนั้น อย่างน้อยที่สุดแกก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน มีอะไรอีกเล่าที่ฉันสามารถจะให้เด็กคนนั้นได้มากยิ่งไปกว่าความตาย?"

จะมีโศกนาฏกรรมใดที่สะเทือนใจยิ่งไปกว่าการที่มารดาฆ่าบุตรของตน ไม่มีแม่คนใดในโลกนี้ที่ไม่รักลูกตัวเองและไม่ปรารถนาจะเห็นลูกเจริญเติบโต แม่สามารถเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างให้ลูกได้แม้กระทั่งชีวิตของแม่เอง การหักใจฆ่าลูกจึงเป็นการกระทำที่แม่ต้องคิดแล้วว่า การมีชีวิตอยู่ต่อไปนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าการเป็นทาส เป็นสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และทั้งๆที่การฆ่าคนเป็นบาปหนัก แคสสีก็ยังตัดสินใจทำโดยไม่รู้สึกสำนึกผิดหรือเสียใจเลย นี่ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่าภาวะของการเป็นทาสนั้นเป็นภาวะที่ตกต่ำที่สุดของมนุษย์ ผู้ประพันธ์สร้างตัวละครที่เป็นตัวแทนของมารดาผิวดำหลายคน ขณะเดียวกัน ก็ไม่ไม่ลืมสร้างตัวละครที่เป็นตัวแทนของเด็กผิวดำที่เป็นทาสด้วย นั่นคือ ทอปสี ซึ่งปรากฎตัวให้ผู้อ่านรู้จักในฐานะทาสที่เซนต์แคลร์ซื้อมา ตัวละครตัวนี้เป็นภาพร่างของลูกทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกาขณะนั้น ที่อยู่ในสภาพน่าเวทนาเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือถูกขายเหมือนสินค้าตั้งแต่ยังเด็กและโดยมากก็ถูกกระทำการทารุณต่างๆตั้งแต่ยังเด็กด้วย กรณีของทอปสีนี้เซนต์แคลร์ซื้อมาด้วยความใจดีมีเมตตาของเขาเพราะทนเห็นเจ้าของทอปสีทำทารุณต่อเด็กไม่ได้

"เจ้าขี้เมาสองคนเป็นเจ้าของเด็กคนนี้ ผมต้องเดินผ่านร้านขายอาหารเลวๆ ของเจ้าขี้เมานั่น ทุกวัน และขี้เกียจจะฟังเสียงร้องของเด็ก และไม่อยากดูเจ้าขี้เมาสองคนนี้ตีเด็กอย่างโหดร้าย ทารุณ"

จากคำพูดของทอปสีเองที่โต้ตอบกับมิสโอฟีเลีย ยิ่งตอกย้ำสภาพที่น่าเวทนาของลูกทาส ที่ถูกซื้อขายตั้งแต่เล็กขนาดจำความไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อแม่หรือว่าตัวเองมีความเป็นมาอย่างไร

"ทอปสี อายุเท่าไร?"
"ไม่ทราบ" เด็กหญิงตอบพลางยิงฟันขาว
"อะไรไม่รู้ว่าอายุเท่าไหร่ ไม่มีใครเคยบอกรึ? รู้ไหมว่าใครเป็นแม่?"
"ไม่มีแม่ค่ะ"
"ไม่มีแม่! หมายความว่ากระไร? เกิดที่ไหนล่ะ?"
"ไม่เคยเกิดค่ะ" (...)
"ทอปสี อย่าตอบฉันอย่างนั้นซิ ฉันไม่ได้พูดเล่นกับเจ้าหรอกนะ บอกซิว่าเกิดที่ไหน ใคร เป็นพ่อแม่"
"ไม่เคยเกิดค่ะ" เด็กหญิงตอบเน้นถ้อยเน้นคำ "พ่อแม่ก็ไม่เคยมี ไม่มีอะไรทั้งนั้นค่ะ...มีคน ซื้อทาสไป เลี้ยงฉันไว้กับเด็กอื่นๆ ป้าซูเป็นคนเลี้ยงดูเรา"

เมื่อทาสกลายเป็น"สถาบัน"หนึ่งที่ภาคใต้ขาดเสียมิได้แล้ว ทาสผิวดำจึงถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างคล่องตัว เพราะมีผู้ต้องการอยู่ตลอดเวลาแม้แต่เด็กเล็กๆ เช่นทอปสีก็ถูกซื้อตัวไปเพื่อเอาไปเลี้ยง บางครั้งเมื่อโตขึ้น ก็ถูกขายต่อไปในราคาสูงผิดกับตอนแรกที่นายทาสซื้อมา เจนคนรับใช้ในบ้านของเซนต์แคลร์ช่วยให้ความกระจ่างแก่มิสโอฟีเลียยิ่งขึ้น ด้วยประโยคที่ว่า "คุณนายคะ มีคนซื้อเด็กนิโกรเล็กๆไปเลี้ยงเยอะแยะค่ะ เขาซื้อเด็กมาราคาถูกๆ พอเลี้ยงโตแล้ว ก็เอาไปขายที่ตลาด" ผู้ประพันธ์ได้บรรยายสภาพของพวกลูกทาสเหล่านี้ว่า นอกจากจะถูกพรากจากพ่อแม่พี่น้องวงศาคณาญาติตั้งแต่เล็กๆแล้ว ยังได้รับการปฎิบัติอย่างทารุณซึ่งเด็กเล็กๆ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะถูกกระทำเช่นนี้ ก่อนมาอยู่กับเซนต์แคลร์ ทอปสีอยู่ในสภาพสกปรกมอมแมมแสดงถึงการไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากผู้เป็นนายเลย และมีริ้วรอยของการถูกเฆี่ยนตีปรากฏบนร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดความสลดใจเป็นอย่างยิ่งแก่มิสโอฟีเลีย ที่อาบน้ำชำระร่างกายให้กับเด็กหญิง นอกจากจะถูกเฆี่ยนแล้วบางครั้งทอปสียังถูกนายคนเก่ากระชากผมและเอาศีรษะโขกพื้น

ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวให้ท่านผู้อ่านฟังว่า การอาบน้ำแต่งตัวให้เด็กผู้ไม่มีใครเหลียวแลและถูกกดขี่ข่มเหงนั้นเป็นสิ่งที่ลำบากยากเย็นเพียงไร ในโลกนี้มีคนมากมายที่ต้องมีชีวิตและตายในสภาพซึ่ง ถ้าจะนำมากล่าวแล้วก็จะทำให้ท่านผู้อ่านรู้สึกสลดใจมิใช่น้อย มิสโอฟีเลียเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง หล่อนจึงสามารถอดทนได้ ในการอาบน้ำแต่งตัวให้เด็กนั้น เมื่อหล่อนเห็นรอยไม้เรียวบนหลังและบ่าของทอปสี จิตใจหล่อนก็เต็มไปด้วยความสมเพชเวทนา

เด็กผิวดำไม่ได้รับการศึกษาและจะหานายทาสใจดี ที่อบรมสั่งสอนให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรก็หายากยิ่ง ดังนั้นภาพที่สะท้อนออกมาในนวนิยายก็คือทาสเด็กผิวดำจะมีนิสัยชอบพูดปดและการถูกเฆี่ยนก็เป็นสิ่งที่ชาชินจนดื้อด้านไปแล้ว ทอปสีเป็นเด็กมือไวชอบหยิบข้าวของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อถูกจับได้ก็ปากแข็งยืนกรานว่าไม่ได้ทำ เมื่อถูกขู่ว่าจะโดนเฆี่ยนทอปสีก็มิได้มีท่าทางหวาดกลัวแต่ประการใดอันเป็นลักษณะของผู้ที่ "ด้านไม้" เสียแล้ว และทอปสีก็ชาชินต่อการถูกประณามว่าเป็นเด็กดื้อ ขี้ปด อากัปกิริยาภายนอกของเด็กน้อยจึงใช้การหัวเราะกลบเกลื่อนความรู้สึกเป็นประจำแต่ภายในใจนั้นก็มิต่างจากเด็กเยาว์วัยทั่วไป ที่ยังสามารถซึมซับความเมตตากรุณาจากผู้มีจิตใจอ่อนโยนแท้จริง ดังอีแวนเจลีนบุตรสาวของเซนต์แคลร์ อีแวนเจลีนเป็นเด็กเช่นเดียวกับทอปสี และมีจิตใจดีเช่นเดียวกับเซนต์แคลร์ เธอปรารถนาจะให้ทอปสีเลิกพฤติกรรมโป้ปดมดเท็จ จึงตักเตือนทอปสีด้วยถ้อยคำอ่อนหวานอันเป็นลักษณะนิสัยของเธอ ชั่วขณะหนึ่งทอปสีรู้สึกหวั่นไหว

ถ้อยคำของอีวาเป็นถ้อยคำอันอ่อนหวาน ซึ่งทอปสีได้เคยฟังเป็นครั้งแรกในชีวิต น้ำเสียงอัน ไพเราะและกิริยามารยาทอันอ่อนโยนนุ่มนวลของอีวาจับใจอันแข็งกระด้างของเด็กหญิงนิโกร ในดวงตาอันดำเป็นมันของทอปสีมีหยาดน้ำตาคลอ แต่แล้วเด็กหญิงก็หัวเราะและ ยิงฟันขาวเช่นเคย หูของทอปสีซึ่งเคยชินต่อคำอันหยาบกระด้าง ทำให้เด็กหญิงไม่สามารถจะเชื่อได้ว่าตนได้ยินถ้อยคำอันอ่อนหวานของอีวาจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ความตายของอีแวนเจลีนทำให้ทอปสีสามารถกลับตัวมาเป็นเด็กที่มีความประพฤติเรียบร้อยเชื่อมั่นศรัทธาในคริสต์ศาสนา และด้วยการอบรมเลี้ยงดูของมิสโอฟีเลีย ทอปสีก็เติบโตกลายเป็นหนึ่งในคณะผู้ประกาศศาสนาในแอฟริกา ที่มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมชาติพันธุ์เดียวกัน ทอปสีเป็นเด็กผิวดำที่บังเอิญโชคดีมีชีวิตในตอนโตเป็นอิสระและสุขสบาย แต่ดูเหมือนผู้ประพันธ์ปรารถนาจะให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเด็กผิวดำที่เป็นทาสคนอื่นๆ เล่าจะมีสักกี่คนที่โชคดีอย่างทอปสี จะมีสักกี่คนที่พ้นจากความเป็นทาสและได้พบกับอิสรภาพในที่สุด

ตัวละครเซนต์แคลร์เป็นนายใจดีคนที่สองของลุงทอม และเป็นตัวละครที่เป็นตัวแทนของนายทาสที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบทาสอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เข้าข้างคนผิวขาวด้วยกัน เซนต์แคลร์เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ และมีทาสอยู่ในความดูแลเป็นจำนวนมาก เขามีจิตใจเมตตากรุณา และปกครองทาสเสมือนพ่อปกครองลูก ทำให้ชีวิตทาสในอาณาจักรของเขามีความสุข แต่ความสุขของพวกทาสเหล่านี้มิได้ทำให้เซนต์แคลร์มองไม่เห็นความทุกข์ของทาสส่วนใหญ่ในดินแดนฝ่ายใต้ เซนต์แคลร์ตระหนักดีถึงความโหดร้ายทารุณและความอยุติธรรมที่พวกทาสได้รับจากชาวผิวขาวเช่นเดียวกับเขา การสนทนาระหว่างมิสโอฟีเลียญาติผู้พี่ของเซนต์แคลร์กับเซนต์แคลร์ เป็นฉากที่ผู้อ่านจะได้เข้าใจความคิดของนายทาสที่เห็นใจทาส และไม่เห็นด้วยกับการมีทาสแต่ก็อ่อนแอเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมาจัดการสิ่งใดได้ คำพูดของเซนต์แคลร์ เป็นการพูดแทนคนผิวขาวอีกจำนวนมากในขณะนั้น ที่ต่อต้านระบบทาสอยู่เงียบๆโดยไม่ลุกขึ้นมาปฏิบัติการใดๆ

"การค้าทาส...สิ่งที่มนุษย์และพระเจ้าสาปแช่งนี้คืออะไร ? พูดกันตรงๆคือการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหงผู้อ่อนกำลังกว่าเรา (...) สิ่งใดที่ลำบาก สกปรกและน่าเบื่อหน่ายเกินไปสำหรับเราๆ ก็ให้พวกทาสทำ เพราะเราไม่ชอบทำงาน พวกนิโกรต้องทำงานแทนเรา (...) พวกทาสจะหาเงินมา และเราจะเป็นคนใช้เงินนั้น (...) พวกทาสจะต้องทำตามใจเรา และทำอะไรตามใจของเขาไม่ได้ตลอดชีวิต นี่แหละครับคือการเป็นทาส (...) ดีแต่เรายังมีใจเป็นคนอยู่บ้าง เราไม่ใช่สัตว์ป่าที่ดุร้าย จึงมิได้ใช้อำนาจของเราตามที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้อย่างเต็มที่ ส่วนพวกที่โหดร้ายทารุณต่อพวกทาสนั่นคือพวกที่ใช้อำนาจของเขาทางกฎหมายอย่างเต็มที่"

แม้ว่าจะไม่พอใจต่อสิ่งที่พบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เซนต์แคลร์ก็มิได้ทำสิ่งใดที่จะช่วยแก้ไขสถานการณ์อันรันทดของพวกทาส เขาเองตั้งใจที่จะมอบอิสรภาพให้แก่ลุงทอม แต่ยังมิทันจะทำหนังสือสำคัญที่จะให้ความเป็นไทแก่ลุงทอม เขาก็มาสิ้นชีวิตไปเสียก่อน อย่างไรก็ดีเซนต์แคลร์ประณามระบบทาสอย่างรุนแรง และคำพูดของเขาราวกับจะเป็นการทำนายถึงความพินาศของประเทศ ซึ่งกลายเป็นความจริงในอีกไม่กี่ปีต่อมา อย่างน้อยก็ความพินาศของดินแดนฝ่ายใต้ภายหลังสงครามกลางเมือง

"มีบางเวลาที่ผมคิดว่าถ้าประเทศทั้งประเทศจะต้องล่มจมลงไปในดิน และซ่อนความอยุติธรรมและความทุกข์ยากให้พ้นจากสายตาของมนุษย์แล้ว ผมก็ยินดีที่จะจมลงไปในดินด้วย เมื่อผมเดินทางไปในเรือโดยสารตามลำน้ำต่างๆ ได้เห็นพวกทาสทั้งชายหญิงและเด็กถูกเฆี่ยนตีและทารุณกรรม เมื่อผมเห็นพวกพ่อค้าทาสผมก็พร้อมที่จะสาปแช่งประเทศของผมเองและสาปแช่งมนุษย์ทั้งโลก !"

ตัวละครเซนต์แคลร์เป็นตัวแทนที่ผู้ประพันธ์ใช้เสนอประเด็นว่า แม้จะมีนายทาสที่ใจดีอยู่ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นแต่ก็มิได้เป็นเครื่องประกันว่าทาสจะมีชีวิตที่สุขสบายได้ตลอดชีวิต เมื่อใดก็ตามที่นายทาสไม่สามารถจะเลี้ยงทาสไว้ในความดูแลของเขาได้อีกต่อไป ทาสก็จะถูกขายเปลี่ยนมือจากนายทาสที่ใจดีไปยังนายทาสคนใหม่ที่อาจจะไม่ใจดีเหมือนคนเดิม และเมื่อนั้นเองที่ทาสจะต้องเผชิญกับชะตากรรมที่คาดการณ์ไม่ได้ เซนต์แคลร์เป็นตัวอย่างที่ดีของกรณีเช่นนี้ เขาเลี้ยงดูลุงทอมอย่างดี ทำให้ลุงทอมมีสภาพความเป็นอยู่ที่สุขสบายพอควรแก่อัตภาพ เซนต์แคลร์ซื้อทอมมาจากฮาเลย์พ่อค้าทาสใจทราม ช่วยให้ช่วงชีวิตหนึ่งของลุงทอมไม่ต้องตกระกำลำบาก ทว่าช่วงเวลานั้นก็แสนสั้น ทั้งๆที่เซนต์แคลร์ตั้งใจจะมอบอิสรภาพให้แก่ลุงทอม แต่เขาก็มาด่วนเสียชีวิตไปก่อน ลุงทอมจึงถูกขายต่อไป ตกอยู่ในเงื้อมมือของลีกรี และได้พบกับความทารุณโหดร้ายจนถึงแก่ชีวิต จึงเห็นได้ว่าผู้ประพันธ์ประสงค์จะย้ำเตือนว่า ความทารุณโหดร้ายเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับระบบทาสอย่างแยกไม่ได้ ไม่มีหลักประกันใดเลยว่า วันหนึ่งนายใจดีจะไม่ขายทาสให้แก่พ่อค้าทาสใจทราม มิสเตอร์เชลบีขายลุงทอมให้ฮาเลย์ทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าฮาเลย์เป็นคนทารุณโหดร้าย แม้ใจจะไม่อยากขายแต่ความจำเป็นที่เป็นหนี้สินทำให้หาทางออกด้วยการขายทาส ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา ผู้ประพันธ์ทิ้งปัญหาคาใจไว้ให้แก่ผู้อ่านว่าการขายทาสเป็นทางออกทางเดียวหรือสำหรับนายทาสที่มีทรัพย์สมบัติมากมาย นายทาสได้พยายามอย่างสุดกำลังความสามารถแล้วหรือไม่ ที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์พรากสามีจากภรรยา พรากบิดามารดาจากบุตร หรือนายทาสเพียงแต่แก้ปัญหาอย่างง่ายๆด้วยความคิดพื้นฐานเพียงว่าทาสผิวดำมิได้มีสิ่งใดเท่าเทียมกับคนผิวขาว ถูกซื้อมาก็ถูกขายไปได้เป็นธรรมดาเช่นเดียวกับสินค้าทั่วๆไป นั่นจึงเป็นคำอธิบายที่ว่ามิสเตอร์เชลบีมิได้เดือดเนื้อร้อนใจเท่าที่ควรเมื่อตัดสินใจขายลุงทอม เซนต์แคลร์เองแม้จะเห็นคุณค่าของลุงทอม และตั้งใจจะให้ลุงทอมเป็นไทแก่ตัว แต่ก็ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยมิได้ทำความตั้งใจให้สำเร็จ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยอุปนิสัยของเซนต์แคลร์ที่เป็นคนเรื่อยๆ เฉื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันผู้ประพันธ์ก็อาจจะต้องการชี้ว่า ด้วยพื้นฐานความคิดที่หยั่งรากมาเนิ่นนานว่าทาสผิวดำต่ำต้อยกว่าคนผิวขาว นายทาสจึงมิได้กระตือรืนร้นในการช่วยทาสให้พ้นจากความทุกข์แม้ว่าจะมีความตั้งใจที่ดีก็ตาม ราวกับผู้ประพันธ์จะตั้งคำถามต่อผู้อ่านว่าความตั้งใจเพียงอย่างเดียวเพียงพอละหรือ หากปราศจากการปฏิบัติแล้วความตั้งใจจะบรรลุผลเป็นความจริงได้อย่างไร เซนต์แคลร์พูดกับมิสโอฟีเลียว่า "จะเอาแน่นอนอะไรกับผมไม่ได้หรอกครับ ทฤษฎีของผมอาจจะขึ้นไปถึงประตูสวรรค์ แต่การปฎิบัติของผมอยู่ในแผ่นดินโลก" ทอปสีโชคดีที่มิสโอฟีเลียขอให้เซนต์แคลร์ทำหนังสือสำคัญ มอบทอปสีเป็นสิทธิ์แก่มิสโอฟีเลียเรียบร้อย ก่อนที่เขาจะถึงแก่มรณกรรม เหตุการณ์ตอนนี้สะท้อนถึงกฎหมาย และวิธีปฏิบัติเพื่อการมีสิทธิ์ในตัวทาสในช่วงเวลานั้น หากไม่มีหนังสือสำคัญมอบสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทาสโดยมีพยานร่วมลงนามแล้ว ผู้ใดจะมีสิทธิ์พาทาสจากรัฐที่มีทาสเข้าไปเลี้ยงในรัฐอิสระไม่ได้

"เอ๊ะ! นี่คุณพี่ก็ต้องการมีทาสอย่างพวกผมเหมือนกันรึครับ? ผมคิดว่าคุณพี่ไม่นิยมการใช้ทาสอย่างคนทางใต้"
"ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก พี่ต้องการให้ทอปสีเป็นเด็กของพี่เพื่อพี่จะมีสิทธิ์พาทอปสีไปที่รัฐซึ่ง เป็นอิสระและปล่อยให้มีเสรีภาพ พี่อยากทำทุกสิ่งให้สำเร็จตามที่ได้ตั้งใจไว้(...) ไม่มีประโยชน์อะไรที่พี่จะอบรมสั่งสอนเด็กคนนี้ให้เป็นคริสเตียน นอกเสียจากพี่จะสามารถช่วยเขาให้พ้นจากความเป็นทาสได้ และถ้าหากเธอเต็มใจจะยกเด็กคนนี้ให้พี่โดยแท้จริงแล้ว พี่ ขอให้เธอเขียนใบสำคัญให้พี่อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย"

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ผู้ประพันธ์สร้างให้ตัวละครเซนต์แคลร์ เป็นตัวแทนของนายทาสผิวขาวอีกมากมายในประวัติศาสตร์อเมริกา ที่ใจดีและมีความคิดเกี่ยวกับการเลิกทาสอยู่ แต่มิได้กระทำการอันใด ผู้ประพันธ์ใช้เรื่องราวของเซนต์แคลร์ เพื่อเรียกสติของนายทาสประเภทนี้ ให้ย้อนกลับมามองตนเองว่าได้ปล่อยชีวิตไปอย่างเปล่าประโยชน์ และเพิกเฉยละเลยต่อความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกับเซนต์แคลร์หรือไม่ หากนายทาสชาวใต้เหล่านี้เป็นคริสเตียนที่ดี พวกเขาควรจะหยุดคิดถึงเนื้อความในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการพิพากษาครั้งสุดท้าย

เซนต์แคลร์พูดต่อไปอย่างใจลอยแต่ด้วยความรู้สึกลึกซึ้งว่า "สำหรับผู้ที่มีความรู้สูงและได้ รับการศึกษาดี แต่ไม่ได้กระทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตาม ยถากรรมทั้งๆ ที่เห็นผู้อื่นได้รับความทุกข์ยากโดยไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลยนั้น เขาควรทำ อย่างไรในเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องได้รับโทษในวันพิพากษาครั้งสุดท้าย?"
"เขาควรจะกลับใจและตั้งต้นดำเนินชีวิตเสียใหม่" มิสโอฟีเลียพูด

ตัวละครที่คู่ขนานกับเซนต์แคลร์ คือลีกรี ซึ่งเป็นนายทาสใจอำมหิต และเป็นคนชนิดที่เซนต์แคลร์กล่าวว่า ใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงมีทาสของลีกรีที่ถูกโบยจนถึงแก่ความตายเช่นลุงทอม โดยที่กฎหมายไม่สามารถเอาตัวผู้ผิดมาลงโทษได้ เพราะกฎหมายขณะนั้น มีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้คนผิวขาวกระทำการอันโหดร้ายทารุณต่อทาสได้ ดูเป็นความจงใจของผู้ประพันธ์ ที่จะกระตุ้นผู้อ่านให้ชิงชังบรรดานายทาสที่โหดร้าย จึงเปิดตัวลีกรีในรูปลักษณ์ภายนอกที่สะท้อนถึงความชั่วร้ายภายใน ผู้ประพันธ์บรรยายลีกรี ขณะปรากฏกายเป็นครั้งแรกต่อสายตาผู้อ่านในฉากการประมูลซื้อขายทาส ว่าเป็นคนรูปร่างอ้วนเตี้ย แต่งกายอย่างไม่สุภาพเพราะสวมเสื้อเชิ้ตเปิดอก สกปรกมอมแมมทั้งเสื้อผ้าและร่างกาย นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกจะหยาบกระด้างน่ารังเกียจแล้ว อากัปกิริยาก็น่ารังเกียจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการชอบถ่มน้ำยาเส้นลงพื้นรวมทั้งลงบนเท้าของทาส หรือการใช้มือลูบคลำร่างกายของทาสสาวอย่างกักขฬะ ตลอดจนการง้างปากลุงทอมออกตรวจดูฟัน กระชากตัวและผลักลุงทอมอย่างไม่ปรานีปราศัย การเปิดตัวเช่นนี้เหมือนจะเป็นการบอกต่อผู้อ่านกลายๆ ว่า นายทาสที่ใจคอโหดร้ายของภาคใต้นั้นมีลักษณะอย่างไร และเป็นการเตรียมใจผู้อ่านให้พร้อมเพื่อนำไปสู่จุดวิกฤตของเรื่อง นั่นคือการกระทำทารุณต่อลุงทอม แต่ก่อนจะถึงฉากอันเป็นจุดวิกฤตดังกล่าว ผู้ประพันธ์ได้ให้ภาพของลุงทอมที่ถูกลีกรีพานั่งเรือกลไฟไปในลักษณะมีโซ่ล่ามข้อมือข้อเท้า ทาสทั้งหมดแปดคนที่ลีกรีซื้อจากสถานที่ต่างๆ กันในเมืองนิวออร์ลีนส์ ถูกใส่กุญแจมือติดกันเป็นคู่ เมื่อถึงไร่ของลีกรี ผู้ประพันธ์ก็เสนอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าทาสต่อผู้อ่านในลักษณะที่ชวนสังเวชใจ กระท่อมสำหรับทาสหลังหนึ่งๆ อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ปราศจากเครื่องตบแต่งใดๆ ทั้งสิ้นนอกจากฟางและสิ่งสกปรกสุมทับกัน พื้นกระท่อมเป็นดินแห้ง ทาสต้องทำงานตั้งแต่เช้าตรู่โดยมีนายงานถือแส้คอยควบคุม อาหารเย็นคือข้าวโพดที่ได้รับแจกซึ่งแต่ละคนจะต้องแย่งกันใช้โม่โม่ข้าวโพดให้เป็นแป้งทำขนม ในสภาพเช่นนี้ทาสแต่ละคนจึงมีแต่ใบหน้าบึ้งตึง เพราะตรากตรำทำงานหนักประกอบกับถูกโบยตีและแย่งชิงกันเอง การบรรยายชีวิตของทาสที่ไร่ของลีกรีนี้เป็นเครื่องชี้อย่างชัดเจนที่สุดอีกครั้งหนึ่งว่า ความทารุณโหดร้ายมิอาจจะแยกจากระบบทาสได้ ตราบใดที่ยังมีทาสตราบนั้นก็มีความทารุณโหดร้ายควบคู่อยู่ด้วยเสมอ

พฤติกรรมของลีกรีคือสุดยอดของความโหดเหี้ยม ลีกรีสั่งให้ทาสผิวดำสองคนที่ตนตั้งให้เป็นนายงานเฆี่ยนลุงทอม ครั้งแรกเนื่องจากลุงทอมไม่ยอมเฆี่ยนทาสหญิงคนหนึ่งตามคำสั่งของลีกรี ครั้งที่สอง เนื่องจากลุงทอมยืนกรานไม่รู้ไม่เห็นกับการที่แคสสีและเอ็มมิลีนหลบหนีไปจากไร่ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุประการใดผู้อ่านก็รู้สึกว่าลีกรีไร้มนุษยธรรม ในหัวใจของมนุษย์ประเภทนี้มีเพียงคำว่าผลประโยชน์ พวกเขาไม่รู้จักความรักและความเมตตาที่จารึกในพระคัมภีร์ รู้จักแต่โทสะจริตเมื่อมีผู้ขัดใจ จิตใจของพวกเขาไม่สะดุ้งสะเทือนต่อความผิดบาปที่ได้กระทำการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แล้วปีศาจแห่งความชั่วร้ายก็กลับเข้าสิงในจิตใจของเขาอีก ลีกรีโกรธจนน้ำลายฟูมปาก เขาเงื้อไม้ขึ้นตีลุงทอมล้มลงบนพื้น เราทุกคนย่อมรู้สึกหวาดเสียวเมื่อเห็นการกระทำอันโหดร้ายทารุณ แต่ซีมอน ลีกรีหารู้สึกสะดุ้งสะเทือนไม่ เมื่อเห็นลุงทอมล้มลงแล้ว เขาก็หวดซ้ำอีกหลายครั้ง แกร้องครวญครางอย่างน่าเวทนา แซมโบเองยังอดสงสารไม่ได้ เขาพูดกับลีกรีว่า "แกจวนจะตายแล้วละครับ อย่าเฆี่ยนแกอีกเลย" "ข้าจะเฆี่ยนให้มันยอมแพ้จนได้ ข้าตั้งใจแล้วว่าจะเฆี่ยนมันให้ตาย ถ้ามันไม่ยอมบอกว่านังสองคนหนีไปไหน"

 

ศาสนา กฎหมาย และข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์

ประเด็นศาสนาคือเหตุผลที่ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ใช้ในการสนับสนุนหลักการของตน ฝ่ายใต้อ้างข้อความในพระคัมภีร์ไบเบิลบางตอน ที่ให้ผู้เป็นข้าต้องปฏิบัติตามบัญชาของเจ้านาย และอ้างอีกว่า ทาสมีปรากฏในพระคัมภีร์มาแต่เดิมจึงเป็นสถาบันเก่าแก่ที่อยู่คู่โลกมาช้านาน ส่วนฝ่ายเหนือก็ยกคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ตลอด จนพระกรุณาธิคุณที่ทรงสละพระชนม์ชีพไถ่บาปให้แก่มนุษย์ทุกคน โดยไม่แบ่งแยกมาเป็นเหตุผลหลักในการต่อต้านระบบทาส โดยเฉพาะแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ นั้น มาจากสภาพแวดล้อมที่เคร่งศาสนา ดังที่กล่าวไว้แล้วในประวัติของเธอ ดังนั้น นวนิยายเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยการพาดพิงถึงคริสต์ศาสนาตลอดทั้งเรื่อง เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ประพันธ์สร้างตัวละครฝ่ายดีที่ไม่เห็นด้วยกับการมีทาส ล้วนแต่เป็นคนยึดมั่นศรัทธาในศาสนา และปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอน ด้วยพฤติกรรมที่เปี่ยมด้วยคุณงามความดี ไม่ว่าจะเป็นลุงทอม อีแวนเจลีน ยอร์ช เชลบี มิสเตอร์และมิสซิสเบิ๊ด ขณะที่ตัวละครฝ่ายเลวที่สนับสนุนการเลี้ยงทาสนั้น ไม่มีความศรัทธาแท้จริงในศาสนาเลย เหมือนจะชี้ให้ผู้อ่านตระหนักว่าฝ่ายใต้นั้นจอมปลอม ปากว่าตาขยิบ ปากอ้างศาสนา แต่การกระทำกลับตรงกันข้ามกับหลักการของศาสนาโดยสิ้นเชิง ออกจะยากอยู่สักหน่อย ที่สโตว์จะต้องแสดงให้เห็นถึงความถูกต้องเที่ยงธรรมและพลังของศาสนา ในขณะที่วาดภาพชีวิตอันทนทุกข์ลำเค็ญของเหล่าทาสไปในขณะเดียวกัน บ่อยครั้งที่ศรัทธาอันเข้มแข็งก็ถูกสั่นคลอน บ่อยครั้งที่กำลังใจเกือบเหือดแห้ง และบ่อยครั้งที่ตัวละครรู้สึกเหมือนถูกพระเจ้าทอดทิ้งให้เผชิญทุกข์แต่ลำพัง

แคสสีเองก็เคยเป็นคริสเตียนที่ดี แต่ชีวิตการเป็นทาสได้ค่อยๆทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาคริสต์ของเธอจางลงจนเกือบจะละลายหายไป ดังคำพูดที่เธอตอบลุงทอมเมื่อฝ่ายหลังหวังจะให้เธอยังคงศรัทธาในพระ "ผู้สามารถจะประทานน้ำแห่งชีวิตให้แก่คุณนายได้"

"เมื่อเด็กๆ ฉันเคยเห็นรูปพระเยซูเหนือแท่นบูชา" แคสสีพูด ดวงตาสีดำของหล่อนเหม่อ มองไปข้างหน้าคล้ายคนที่กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความฝันอันเศร้าสลด"แต่พระองค์ไม่อยู่ ที่นี่! ที่นี่ไม่มีอะไรนอกจากความผิดบาปและความทุกข์ทรมานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

บางครั้งแม้แต่ลุงทอม ผู้ศรัทธาในศาสนาและพระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้า ยังเกือบจะหมดความเชื่อไปเช่นเดียวกัน เพราะดูราวกับว่า พระเจ้าได้ทอดทิ้งมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างมาด้วยพระองค์เอง ให้เผชิญชะตากรรมอันสยดสยองโดยไม่แยแสเหลียวแล

พระเจ้าอยู่ที่นี่หรือ? จะเป็นไปได้หรือที่ความเชื่อของคนเราจะไม่เสื่อมคลายลง เมื่อต้องประสบความทุกข์ยากแสนสาหัส? ภายในจิตใจของผู้ต่ำต้อยเกิดการต่อสู้ อย่างรุนแรง ความรู้สึกที่ว่าตนถูกกดขี่ข่มเหง ความทุกข์ยากในอนาคต ความหวังที่จะต้อง สูญสลาย สิ่งเหล่านี้วุ่นวายอยู่ในดวงจิต เหมือนภาพเรือนร่างอันหาชีวิตไม่แล้วของภรรยา ลูก และสหายโผล่ขึ้นมาจากคลื่นอันมืดมิดและปรากฏอยู่ตรงหน้าของนักเดินเรือที่จวนจะ จมน้ำตาย! ในสถานที่นี้จะเป็นการง่ายละหรือที่พวกทาสจะเชื่อว่า 'พระเจ้ามีอยู่และเป็นผู้ ประทานบำเหน็จรางวัลแก่ทุกคนที่แสวงหาพระองค์ด้วยความขยันหมั่นเพียร?'

บางครั้งผู้ประพันธ์ก็บรรยายด้วยน้ำเสียงที่ทำให้ผู้อ่านอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ประพันธ์เองก็หมดความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเสียแล้วหรือ ทั้งๆ ที่มาจากครอบครัวที่เคร่งศาสนาที่สุด ความเชื่อมั่นในพระเจ้าของเธอได้คลอนแคลนไปแล้วหรือไร จึงบรรยายตอนก่อนที่ลูซีจะกระโดดน้ำตายว่า "ไม่มีมือยื่นมาช่วยเหลือจากฟากฟ้าอันไกลโพ้น" หรือให้ทาสหญิงคนหนี่งพูดกับลุงทอมเมื่อลุงทอมบอกเธอว่า พระเยซูอยู่ที่นี่อยู่ทุกหนทุกแห่ง "จ้างให้ก็ไม่เชื่อ พระเยซูไม่ได้อยู่ที่นี่หรอก พูดไปก็เปล่าประโยชน์ นอนเอาแรงดีกว่า" ท่าทีเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นการปฏิเสธพระเจ้า แต่แท้จริงแล้วผู้ประพันธ์คงประสงค์จะให้ผู้อ่านได้ยึดมั่นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าให้มากยิ่งขึ้น ปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาให้มากยิ่งขึ้น ระบบทาสที่ชั่วร้ายเลวทรามซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการของศาสนาคริสต์จะได้หมดไปจากโลกนี้ ประโยคของทอมที่พูดกับยายปรูถึงพระเยซูว่า "พระองค์ทรงรักพวกเราผู้เป็นคนบาปและทรงตายแทนเรา" เหมือนกับผู้ประพันธ์จะเชิญชวนให้ผู้อ่านคิดว่าเมื่อพระเยซูทรงรักทุกคนโดยเท่าเทียมกันโดยไม่มีการแบ่งแยกสีผิว เชื้อชาติ ชั้นวรรณะ มนุษย์ก็ไม่ควรแบ่งแยกมนุษย์ด้วยกันเอง อีกทั้งไม่ควรจะหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ดูราวกับว่าพระองค์ได้ทอดทิ้งมนุษย์ผู้ทุกข์ยากเสียแล้ว ผู้ประพันธ์คงทราบดีว่าการเสนอชะตากรรมของลูซีอาจจะสะเทือนใจผู้อ่าน จนทำให้บางคนอาจตั้งคำถามเรื่องพระหรรษทานของพระผู้เป็นเจ้าได้ ผู้ประพันธ์จึงต้องกล่าวกับผู้อ่านตรงๆ หลังจากการจบชีวิตของลูซีว่า

ท่านผู้อ่านทั้งหลายผู้มีความขุ่นเคืองใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ขอให้ท่านมี ความอดทน ไม่มีความปวดร้าวใจใดๆ...ไม่มีหยดน้ำตาสักหยดเดียวของผู้ถูกกดขี่ ข่มเหงซึ่งพระเยซูพระผู้ทรงยอมรับทุกข์แทนเราจะทรงละลืมเสีย พระองค์ทรงยอมรับ ความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั้งโลกด้วยความอดทน จงมีความอดทนเช่นเดียวกับพระองค์ และจงทำงานด้วยความรัก พระองค์เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้แน่นอนฉันใด พระองค์จะเสด็จ กลับมาไถ่มนุษย์ให้พ้นจากบาปและความทุกข์ทรมานฉันนั้น

ข้อความข้างต้นเป็นการพูดกับผู้อ่านโดยตรงเลยทีเดียว เป็นเสียงของผู้ประพันธ์ที่บ่งบอกถึงจุดยืนของเธอที่อยู่ข้างเดียวกันกับศาสนาอย่างชัดเจน เป็นการใช้ประเด็นศาสนา มาโน้มน้าวใจผู้อ่านให้อ่อนลงด้วยความเห็นอกเห็นใจทาสผิวดำผู้ทุกข์ยาก ขณะเดียวกัน ก็แข็งข้อกับการกระทำทุกชนิดที่เบี่ยงเบนไปจากคำสอนในพระคัมภีร์ ความอยุติธรรมโหดเหี้ยม ที่เห็นอยู่ตำตาจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ถ้าชาวอเมริกันทุกคนโดยเฉพาะพลเมืองฝ่ายใต้เป็นคริสเตียนที่ดีโดยเนื้อแท้ มิใช่เป็นคริสเตียนแต่เพียงชื่อ นอกจากนี้ตอนที่ลุงทอมจวนจะหมดลมหายใจนั้น ผู้ประพันธ์ก็ยังได้ให้ลุงทอมทำหน้าที่ประดุจดังเป็นสาวกคนหนึ่งของพระเยซู กล่าวคือ ได้ชี้ทางสว่างให้แก่แซมโบและควิมโบทาสผิวดำสองคนที่ตกเป็นเครื่องมือของลีกรีเฆี่ยนตีทำร้ายลุงทอมจนถึงแก่ชีวิต จากคำแนะนำของลุงทอมทั้งแซมโบและควิมโบต่างสำนึกผิดในสิ่งเลวทรามที่ตนเองได้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายลุงทอมผู้แสนดี ผู้ยังคงยืนยันมั่นคงในความรักที่มีต่อพระเยซูและยกโทษให้แก่พวกเขา เฉกเช่นเดียวกับพระเยซู ที่ทรงยกโทษให้แก่ผู้ที่ตรึงกางเขนพระองค์ "ถ้อยคำอันน่ามหัศจรรย์และคำอธิษฐานของแกจับใจทาสผิวดำทั้งสองซึ่งถูกใช้ให้เฆี่ยนตีแกอย่างหนัก" ทั้งสองขอให้ลุงทอมเล่าเกี่ยวกับพระเยซูให้ฟัง และคำพูดสุดท้ายของลุงทอม ที่กล่าวกับผู้กระทำการเบียดเบียนลุงทอมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ทำให้ตัวละครตัวนี้เป็นดังอัครสาวกผู้ดำเนินรอยตามพระเยซูอย่างไม่ผิดเพี้ยน

"ฉันยินดีที่จะทนทุกข์ทรมานทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าฉันสามารถจะนำท่านมาหาพระคริสต์ได้" แล้วลุงทอมก็อธิฐานว่า "ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดประทานจิตวิญญาณสองดวงนี้ให้ข้าพเจ้า" และพระเจ้าก็ได้ทรงตอบคำอธิษฐานของลุงทอม

ผู้ประพันธ์ใช้ประเด็นศาสนา มาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ โดยให้ข้อคิดว่าใครก็ตามเป็นคริสเตียนที่ดี ย่อมจะไม่เห็นด้วยกับระบบที่ชั่วร้ายนี้ เพราะศาสนาคริสต์สอนให้เรารักเพื่อนมนุษย์ประหนึ่งเรารักตัวเอง และคริสเตียนที่ดีย่อมจะมีใจเมตตากรุณาต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าเขาจะมีผิวสีต่างไปหรือมีความแตกต่างอย่างอื่นใดจากเราไปก็ตาม ผู้ประพันธ์เน้นประเด็นนี้ชัดเจน ในฉากที่มิสซิสเบิ๊ดวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่เพิ่งออกใหม่ คือ กฎหมาย Fugitive Slave Act ที่ห้ามมิให้ช่วยทาสหลบหนีและผู้ใดพบเห็นทาสหลบหนีต้องจับส่งคืนผู้เป็นนาย

"จริงหรือคะที่เขาพูดกันมีกฎหมายออกใหม่ห้ามไม่ให้พวกเราให้อาหารและน้ำท่าแก่พวกนิโกรที่เดินผ่านบ้านเรา? (...) ไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่เป็นคริสเตียนจะออกกฎหมายเช่นนี้ (...) ฉันคิดว่ากฎหมายโหดร้ายเกินไป (...) น่าละอายเหลือเกินค่ะ จอห์น น่าสงสารพวกทาสที่ไม่มีที่อยู่...ไม่มีบ้าน...และผู้คุ้มครอง เป็นกฎหมายที่ชั่วร้ายสมควรจะยกเลิกเสีย ถ้ามีโอกาสละก็ฉันคนหนึ่งล่ะที่ขอยกเลิก ร้ายกาจแท้ๆ! กฎหมายอะไร้! ห้ามไม่ให้พวกเราหาอาหารและที่นอนอันอบอุ่นน่าสบาย ให้แก่ทาสนิโกรที่อดอยาก และถูกกดขี่ข่มเหงตลอดชีวิต! (...) ในคัมภีร์ได้สอนฉันว่าฉันต้องให้อาหารแก่ผู้หิวกระหาย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ที่มีร่างกายเปลือยเปล่า และช่วยเล้าโลมใจผู้ที่มีความทุกข์ยาก และฉันตั้งใจว่าจะกระทำตามคำสั่งสอนในพระคัมภีร์"

กฎหมายนี้ออกมาในปี ค.ศ. ๑๘๕๐ เป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ที่สโตว์จงใจใส่เข้ามาในนวนิยาย เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวภาคเหนือยิ่งต่อต้านระบบทาสหนักยิ่งขึ้นและขบวนการช่วยทาสหลบหนีที่เรียกกันว่า "ขบวนการรถไฟใต้ดิน" ก็ยิ่งช่วยทาสให้หลบหนีมากยิ่งขึ้น

ประเด็นเรื่องกฎหมาย เป็นประเด็นที่ผู้ประพันธ์เอ่ยถึงอยู่บ่อยๆ ด้วยน้ำเสียงที่แสดงว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับทาสเท่าที่เป็นมาและใช้กันอยู่ในเวลานั้นล้วนแล้วแต่เป็นการเอื้อให้คนผิวขาวกระทำการต่อทาสได้ตามอำเภอใจ ผู้ประพันธ์คงตั้งใจที่จะให้ผู้อ่านรู้สึกว่า การที่นายทาสใจทมิฬเห็นชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นผักปลาเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ กฎหมายในขณะนั้นมีช่องโหว่ ทำให้นายทาสสามารถแม้กระทั่งปลิดชีวิตของทาส โดยศาลเอาผิดไม่ได้ หากไม่มีคนผิวขาวมาเป็นพยานยืนยันความผิด ลุงทอมต้องเสียชีวิตอย่างน่าเวทนา ขณะที่ตัวการที่ทำให้ลุงทอมต้องจากโลกนี้ ก่อนจะได้พบกับครอบครัวอีกครั้งหนึ่งนั้น รอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปได้อย่างน่าแค้นใจ ยอร์ช เชลบี บุตรชายนายทาสคนแรกของลุงทอมปรารถนาจะดำเนินคดีกับลีกรี แต่ก็เป็นไปไม่ได้เพราะไร้พยานผิวขาว เมื่อยอร์ช เชลบีพูดกับลีกรีว่าจะไปฟ้องผู้พิพากษา ลีกรีกลับตอบอย่างเย้ยหยันว่า "เชิญไปฟ้องเถิด ท่านมีอะไรเป็นพยาน? ท่านพิสูจน์ได้อย่างไรว่าฉันเป็นคนฆ่าทอมตาย ?" แล้วสำทับต่ออย่างไม่สะดุ้งสะเทือนว่า "คนตายแล้วปล่อยให้ตายเถอะ ไม่น่าจะมาทำจุกจิกไม่เข้าเรื่อง" ยอร์ชตระหนักดีว่าในศาลนั้น คำให้การของพยานผิวดำไม่มีน้ำหนักใดๆทั้งสิ้น เขาทำได้แต่เพียงชกหน้าลีกรีไปหนึ่งหมัดเท่านั้น

กรณีของยอร์ช แฮริส ที่ได้เข้าพิธีแต่งงานกับเอลิซาโดยมีศิษยาภิบาลเป็นผู้ประกอบพิธีให้เ ฉกเช่นพิธีแต่งงานของคนผิวขาว แต่นายทาสกลับจะบังคับให้ยอร์ชมีภรรยาเป็นทาสผิวดำอีกคนหนึ่ง โดยให้เลิกกับเอลิซานั้น ก็เพราะไม่มีกฎหมายในเรื่องการแต่งงานของทาสและคุ้มครองสิทธิของพวกเขาดังคำพูดของยอร์ชที่ว่า

"เธอไม่รู้รึว่าพวกทาสแต่งงานไม่ได้ ? ในประเทศนี้ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉันไม่สามารถจะถือสิทธิว่าเธอเป็นภรรยาฉัน ถ้านายเขาต้องการแยกเราจากกัน"

และเมื่อมิสเตอร์วิลสันผู้เคยเป็นนายในโรงงานทำกระสอบป่าน เตือนยอร์ชมิให้หนีอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมือง ยอร์ชก็เล่าชีวิตแต่หนหลังของเขาที่ถูกขายพร้อมกับแม่และพี่น้องเจ็ดคน เห็นแม่ถูกนายทาสเตะกระเด็นเมื่อคุกเข่าลงวิงวอนให้ซื้อเธอไปพร้อมกับยอร์ช เพื่อที่อย่างน้อยเธอจะได้มีลูกเหลือไว้กับตัวสักหนึ่งคน เห็นพี่สาวถูกเฆี่ยนเพราะพี่ซึ่งเป็นสมาชิกของโบสถ์แบบติสท์และเคร่งศาสนาต้องการจะประพฤติตัวตามแบบอย่างคริสเตียนที่ดี

"ผมยืนอยู่ที่ประตูและได้ยินเสียงพี่ถูกเฆี่ยน เสียงที่เฆี่ยนทุกๆครั้งดูประหนึ่งว่าจะทิ่มแทงหัวใจอันเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างของผม และผมไม่สามารถจะช่วยอะไรพี่ได้ พี่ถูกเฆี่ยนเพราะต้องการจะประพฤติตัวดีแบบอย่างคริสเตียน ซึ่งกฎหมายของท่านมิได้อนุญาตให้ทาสหญิงมีสิทธิจะทำได้ แล้วในที่สุดผมก็เห็นพี่สาวถูกล่ามโซ่ติดกับทาสอื่นๆเพื่อจะส่งไปขายที่ตลาดเมืองออร์ลีนส์ ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ทราบข่าวคราวอะไรอีกเลย"

จากชีวิตที่ยากลำบากเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีพี่น้อง "ไม่มีมนุษย์ใดแคร์ผมมากยิ่งไปกว่าสุนัขตัวหนึ่ง" ไม่เคยได้รับสิ่งดีๆในชีวิตนอกจากการเฆี่ยนตี "ผมเคยหิวจนแทบอยากจะเข้าไปแย่งกระดูกที่เขาโยนให้สุนัขกิน" ยอร์ชมีชีวิตที่ดีขึ้นเมื่อได้ทำงานกับมิสเตอร์วิลสันในโรงทำกระสอบป่านและได้เอลิซาเป็นภรรยาตลอดจนมีบุตร แต่แล้วก็ได้รับความอยุติธรรมจากนายทาสอีกดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นคำเตือนจากมิสเตอร์วิลสันมิให้หนี เพราะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายจึงมิได้เป็นสิ่งที่ยอร์ชแยแสเลย

"กฎหมายของท่าน... กฎหมายของชาวเมืองเคนทักกีได้อนุญาตให้ทุกๆคนที่เป็นนายทำสิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งที่ทำลายหัวใจของแม่และพี่สาวผม ท่านเรียกสิ่งเหล่านี้ว่ากฎหมายของบ้านเมืองผมหรือครับ ? (...) เมื่อผมไปถึงแคนาดาแล้ว...ประเทศนั้นแหละจะเป็นบ้านเมืองของผม และผมจะเชื่อฟังกฎหมายของประเทศนั้น"

ยอร์ชไม่เชื่อฟังและเคารพกฎหมายของสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป เพราะเป็นกฎหมายที่ริดรอนสิทธิมูลฐานของความเป็นมนุษย์และไร้มนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง

"ฉันรู้ดีแล้วว่าพวกท่านมีกฎหมายและอำนาจอยู่ฝ่ายท่าน" ยอร์ชพูดอย่างขมขื่น "ท่านตั้งใจจะเอาเมียฉันไปขายที่ตลาดทาสเมืองนิวออร์ลีนส์ และเอาลูกชายฉันไปขังไว้ในโรงสำหรับขังพวกทาสเหมือนกับลูกวัว แล้วส่งแม่ของจิมไปให้นายใจอำมหิตเฆี่ยนตีอีก ท่านอยากจะส่งฉันกลับไปให้ถูกเฆี่ยนและถูกทรมาน ท่านต้องการให้พวกที่ท่านเรียกว่านายเหยียบย่ำเราไว้ที่ใต้ฝ่าเท้า นั่นแหละ! คือสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายของท่านละ ช่างน่าอายเสียจริงๆ

อันที่จริงเรื่องกระท่อมน้อยของลุงทอมนี้ เป็นข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์ทั้งเรื่อง เมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาก็มีปฏิกิริยาทั้งบวกและลบ ในชั่วข้ามคืนสโตว์กลายเป็นที่รักของฝ่ายเหนือขณะเดียวกันก็เป็นที่ชิงชังของฝ่ายใต้ ฝ่ายหลังนี้ประณามว่าสโตว์วาดภาพเกินจริงจนอาจเรียกได้ว่าแต่งเรื่องเท็จ ในที่สุดผู้ประพันธ์ทนนิ่งเฉยให้ถูกพาดพิงอย่างเสียหายต่อไปไม่ไหว และเพื่อเป็นการเปิดเผย "ความจริง" ให้เป็นที่ประจักษ์ เธอจึงรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องมือยืนยันอย่างแน่นแฟ้นว่า เธอมิได้ใส่สิ่งที่เป็นเท็จลงไปในนวนิยายของเธอเลย เอกสารเหล่านี้ เธอสามารถรวบรวมจนมีความหนาเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งต่างหาก มีชื่อว่า "กุญแจสำหรับกระท่อมน้อยของลุงทอม" (A Key to Uncle Tom's Cabin) นอกจากนี้ในบทสุดท้ายของนวนิยาย ที่เขียนเติมต่อจากเนื้อหาที่จบสมบูรณ์ซึ่งเธอให้ชื่อบทว่า "Concluding Remarks" เธอได้ย้ำว่าสิ่งที่เธอถ่ายทอดเป็นชีวิตของตัวละครในนวนิยายนั้นมาจากเรื่องจริงทั้งสิ้น ทั้งจากการได้ยินได้ฟังมาจากบุคคลที่ใกล้ชิดสนิท ที่จะไม่มีการเล่าสิ่งที่เป็นเท็จต่อเธอ ทั้งจากบุคคลอื่นๆที่น่านับถือ ซึ่งเธอรู้จักมักคุ้น ตลอดจนจากประสบการณ์ตรงที่เธอได้สัมผัสมาด้วยตนเอง การวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ชาร์ลส์ มอริส(Charles Morris) ชี้ให้เห็นว่าแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ เขียนนวนิยายตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ตัวละครแต่ละตัวสามารถหาต้นแบบที่เป็นบุคคลจริงได้ทั้งสิ้น นวนิยายทั้งเรื่องจึงเป็นการรวบรวมเหตุการณ์จริง เพียงแต่นำเหตุการณ์จริงเหล่านั้นมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะในกรอบของนวนิยาย โดยเปลี่ยนชื่อ วันที่และฉาก แต่เก็บความจริงไว้พร้อมรายละเอียดของสภาพสังคม ดังเช่นตัวละครลุงทอมนั้นก็มีนักวิจารณ์ว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะมีตัวตนอยู่จริง แต่ศาสตราจารย์มอริสกล่าวว่าผู้อ่านมากมายหลายคน ได้ยืนยันภายหลังเมื่ออ่านนวนิยายจบลงว่า ได้เคยรู้จักหรือพบเห็นคนอย่างลุงทอมในมลรัฐทางใต้ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นนิโกรในนิวออร์ลีนส์ที่มีความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง ถึงขนาดที่เจ้านายไว้วางใจมอบเงินให้ไปจับจ่ายซื้อข้าวของแทนนายโดยไม่ต้องกริ่งเกรงเลยว่าเงินทอนจะไม่ครบ นอกจากนี้ยังเป็นคนมีศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า อีกคนหนึ่งเป็นนักเทศน์ผู้มีชื่อเสียงในแคนาดาชื่อ โจไซอาห์ เฮนสัน (Josiah Henson) ซึ่งเคยเป็นทาสมาก่อน และมีบิดาที่ถูกนายทาสกระทำทารุณ เมื่อเขามีโอกาสได้นับถือศาสนาคริสต์ เขาก็กลายเป็นคริสเตียนที่มั่นคงในความเชื่ออย่างยิ่ง ตัวละครยอร์ช แฮริส สามีของเอลิซา ก็เป็นตัวละครที่สามารถพบเห็นตัวจริงได้มากมาย จากประสบการณ์ของผู้ประพันธ์เอง หนึ่งในนั้นชื่อลูอิส คลาก (Lewis Clark) ซึ่งเป็นทาสรับใช้ของคนในครอบครัวของผู้ประพันธ์เอง และต้องหนีไปเพราะนายทาสเป็นคนอารมณ์ร้ายขนาดที่ทำให้ทาสคนหนึ่งกลายเป็นคนสติไม่ดีมาแล้ว ส่วนในนวนิยายเหตุการณ์ที่แม่และพี่น้องของยอร์ช แฮริสถูกขายนั้น เป็นประสบการณ์ในชีวิตจริงของโจไซอาห์ เฮนสัน ผู้ซึ่งพี่น้องชายหญิงของเขาถูกแยกประมูลขายไปคนละทาง โดยแม่ของเขาทนที่จะต้องจากลูกในไส้ทั้งหมดไปไม่ได้ จึงคุกเข่าวิงวอนให้นายทาสซื้อลูกคนหนึ่งพร้อมกับซื้อเธอด้วย เพื่อว่าอย่างน้อยเธอจะได้มีลูกอยู่กับตัวสักหนึ่งคน แต่แทนที่นายทาสจะเห็นใจ ไม่เพียงแต่เขาจะปฏิเสธเธอเท่านั้น ยังทุบตีและเตะเธออย่างรุนแรงอีกด้วย นอกจากนี้ในนวนิยายที่กล่าวถึงประกาศหาตัวแฮริสไม่ว่า "เป็นหรือตาย" ซึ่งเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าผู้ประพันธ์กล่าวเกินจริงไป ศาสตราจารย์มอริสได้ยืนยันว่า ประกาศเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาในสมัยนั้น สามารถพบเห็นได้บ่อยในหนังสือพิมพ์ ซึ่งศาสตราจารย์มอริสได้นำตัวอย่างจากหนังสือพิมพ์ Wilmington (N.C.) Advertiser ฉบับวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๑๘๓๘ ซึ่งมีข้อความประกาศหาตัวทาสนิโกรชื่อริชาร์ดที่หลบหนีไป ผู้ใดให้เบาะแสจะได้รับค่าตอบแทน ๒๕ ดอลลาร์ไม่ว่าเป็นหรือตาย ผู้ประกาศลงชื่อของตนไว้ด้วยคือ Durant H Rhodes

สำหรับตัวละครเอลิซา ภรรยาของยอร์ช แฮริส ผู้ประพันธ์ได้พบต้นแบบเป็นหญิงสาวที่มีเลือดผสมผิวขาว ๓ ใน ๔ และผิวดำ ๑ ใน ๔ (quadroon) ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเคนตักก ีซึ่งสโตว์ได้รับทราบว่าเธอเป็นทาสและนายทาสของเธอไม่ยอมขายเธอ แม้ว่าจะมีผู้เสนอราคาให้เป็นพันดอลลาร์ ด้วยเหตุผลว่าเธอเป็นคนดีเกินกว่าจะเป็นภรรยา หรือแม้แต่เมียเก็บของผู้เสนอราคา ส่วนวีรกรรมของเอลิซาในนวนิยาย ที่อุ้มลูกน้อยกระโดดลงไปบนก้อนน้ำแข็งในแม่น้ำโอไฮโอที่เชี่ยวกราก เพื่อหนีพ่อค้าทาสนั้นก็เป็นที่ถกเถียงกันมากว่า เหลือเชื่อเกินกว่าจะเป็นจริงได้ แต่ผู้ประพันธ์ได้เคยอ่านพบเรื่องเช่นนี้มาแล้ว และได้รับการยืนยันจากศาสนาจารย์นิกายเพรสไบทีเรียนที่เธอได้พบผู้หนึ่งว่า เป็นเรื่องจริงเพราะศาสนาจารย์ได้รับทราบเรื่องนี้ จากชายผู้ได้ช่วยทาสหญิงผู้นั้นจากแม่น้ำขึ้นมาบนฝั่ง ซึ่งหญิงนั้นต่อมาได้ไปพำนักอยู่ในแคนาดา ส่วนในนวนิยายตอนที่พ่อค้าทาสฮาเลย์ มาร์กส์ และลอกเกอร์วางแผนที่จะลักพาตัวเอลิซาก็มาจากเรื่องจริงที่เกิดกับคนรับใช้ในครอบครัวของผู้ประพันธ์เอง ซึ่งยังโชคดีที่สามีของสโตว์และสมาชิกในครอบครัวช่วยให้หนีรอดไปได้ สำหรับตัวละครมิสเตอร์และมิสซิสเชลบีและเซนต์แคลร์นั้น เป็นตัวแทนของนายทาสจำนวนมากในขณะนั้นและเป็นด้านสว่างของระบบทาส หากนายทาสทุกคนใจดีมีเมตตาเหมือนตัวละครทั้งสามนี้ ระบบทาสคงจะไม่เลวร้ายดังเช่นที่เป็นอยู่ คงจะเป็นระบบที่เอื้อเฟื้อกันแบบพ่อปกครองลูก เปี่ยมไปด้วยระเบียบวินัยและความยุติธรรม ตัวละครเซนต์แคลร์นั้นเป็นตัวละครที่ผู้ประพันธ์สร้างด้วยความหวังและความกระตือรือร้นที่สุด เพราะใกล้เคียงกับบุคคลจริงที่เป็นชาวใต้บางส่วนในช่วงของการปฏิวัติ เช่น จอห์น แรนดอล์ฟที่กล่าวในสภาคองเกรสว่า "กระผมได้ให้อิสรภาพแก่ทาสของกระผม ซึ่งมโนธรรมของกระผมได้บอกว่าพวกเขาสมควรจะได้รับ"

หากตัวละครทั้งสามที่เพิ่งกล่าวถึงเป็นด้านสว่างของระบบทาส ตัวละครลีกรีก็เป็นด้านมืด และเป็นตัวแทนของนายทาสชาวใต้จำนวนมหาศาล ทั้งที่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์และกิริยากักขฬะหยาบคาย และทั้งที่มีรูปร่างหน้าตาและกิริยาวาจาเป็นสุภาพบุรุษ แต่ทั้งหมดล้วนแต่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างเลือดเย็น ที่ทำให้กระทำการอันโหดร้ายทารุณได้อย่างไร้ความปรานี

สโตว์วาดภาพของตัวละครลีกรีด้วยสีดำมืดแต่ก็ไม่ดำมืดไปกว่าความเป็นจริง ในความเป็นจริงแล้วมีนายทาสจำนวนมากที่เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ ที่ตักตวงผลประโยชน์จากแรงงานทาสให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ภายในเวลา ๒-๓ ปี แล้วก็แลกเปลี่ยนให้คนอื่นต่อไป ด้วยพฤติกรรมของนายทาสเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้ระบบทาสน่าสะพรึงกลัวเป็นที่ยิ่ง เมื่อประกอบกับตัวละครอย่างฮาเลย์ที่เป็นตัวแทนของบรรดาบุคคลที่เป็นองค์ประกอบเสริมของระบบ ได้แก่บรรดาพ่อค้าทาส คนจับทาส คนลักพาตัวทาส คนเฆี่ยนทาส ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวจักรของสังคมคนผิวขาวในภาคใต้ ตัวจักรที่ทารุณและไร้จิตใจเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดเสียมิได้ของระบบทาส เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้ระบบอันพิกลพิการนี้ดำรงคงอยู่อย่างหยั่งรากฝังลึกจนกลายเป็น "สถาบัน" หนึ่งของภาคใต้

แม้ในปัจจุบันระบบทาสดังเช่นที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม จะหมดสิ้นไปจากแผ่นดินอเมริกาแล้ว แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็ยังมีคุณค่าสูง ในแง่ที่เป็นเครื่องเตือนมโนธรรมแก่อนุชนรุ่นหลัง มิให้ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ เพราะหากเมื่อใดที่มนุษย์มิได้ปฏิบัติต่อกันอย่างเป็นมนุษย์เสมอกันแล้ว เมื่อนั้นก็คงมีเสียงเพรียกหาความยุติธรรม ที่สั่นคลอนสำนึกของผู้คน จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้นได้อีก ดังที่นวนิยายของแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ ได้เป็นดั่งเสียงของผู้รักความยุติธรรมนั้นแล้ว


(*) จาก อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์, เอกสารคำสอน วิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔.

(**)Uncle Tom's Cabin ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.สนิทวงศ์ ใช้ชื่อว่า กระท่อมน้อยของลุงทอม ข้อความจากตัวบทวรรณกรรมที่ยกมาอ้างอิงในบทความนี้ใช้ฉบับแปลของ อ.สนิทวงศ์
กลับไปที่เดิม

(๑) จากหน้าแนะนำผู้ประพันธ์ใน Harriet Beecher Stowe,Uncle Tom's Cabin,Signet Classics,U.S.A.
กลับไปที่เดิม

(๒) สำนักข่าวสารอเมริกัน.ประวัติศาสตร์อเมริกันโดยสังเขป. หน้า ๖๙
กลับไปที่เดิม

(๓) โกวิท วงศ์สุรวัฒน์.ประวัติศาสตร์และการเมืองสหรัฐอเมริกา. บรรณกิจ.กรุงเทพฯ.๒๕๒๔.หน้า ๙๗.
กลับไปที่เดิม

(๔) สำนักข่าวสารอเมริกัน. ประวัติศาสตร์อเมริกันโดยสังเขป. หน้า ๖๘, ๖๙, ๘๒.
กลับไปที่เดิม

(๕) สำนักข่าวสารอเมริกัน.ประวัติศาสตร์อเมริกันโดยสังเขป. หน้า -๘๔
กลับไปที่เดิม

(๖) มีหลักฐานปรากฏว่ามีสมาคมต่อต้านการเลี้ยงทาสอยู่ราว ๒,๐๐๐ สมาคม ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสิ้นราว ๒๐๐,๐๐๐คน.สำนักข่าวสารอเมริกัน. ประวัติศาสตร์อเมริกันโดยสังเขป.หน้า ๘๔.
กลับไปที่เดิม