วิมานลอย

อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์ (*)

นวนิยายเรื่อง Gone with the Wind (วิมานลอย) (๑) ของ Margaret Mitchell (มาร์กาเรต มิตเชลล์) เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีโครงเรื่องผูกพันอย่างแนบแน่นกับประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865) ไปจนสิ้นสุดสมัยฟื้นฟู (ค.ศ. 1865-1877) สการ์เลตต์ โอฮารา (Scarlett O'Hara) คือศูนย์กลางของการดำเนินเรื่องทั้งหมด ตัวละครเอกฝ่ายหญิงผู้นี้เป็นผู้ที่นำพาผู้อ่านไปให้รู้จักกับวิถีชีวิตของเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ทางใต้ของอเมริกา การศึกระหว่างฝ่ายสหภาพกับฝ่ายสมาพันธรัฐ การปกครองมลรัฐฝ่ายใต้ด้วยรัฐบาลทหารในระหว่างสมัยฟื้นฟู ตลอดจนภาพชีวิตของทาสผิวดำทั้งก่อนและหลังได้รับอิสระเสรีภาพ นวนิยายเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนกระจกเงาบานใหญ่ที่สะท้อนภาพของอาณาจักรฝ่ายใต้ตั้งแต่สมัยเมื่อครั้งยังรุ่งโรจน์ จนกระทั่งถึงช่วงเสื่อมถอยย่อยยับ รายละเอียดของขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง กฎหมาย ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของตัวละครเอกฝ่ายหญิง เหนือสิ่งอื่นใดคืออารมณ์ความรู้สึกความคิดเห็นของผู้คนสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตใจของประชาชนชาวใต้ทั้งหลาย ในขณะที่กระท่อมน้อยของลุงทอม เป็นเสียงเพรียกหามนุษยธรรมของสตรีฝ่ายเหนือ วิมานลอยก็เป็นเสียงของสตรีฝ่ายใต้ที่ยืนหยัดต่อสู้ชะตากรรมในดินแดนที่ล่มสลายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งของคนชาติเดียวกัน

ประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึก

นวนิยายเปิดเรื่องขึ้นด้วยการเปิดตัวละครสการ์เลตต์ในช่วงที่ฝ่ายสหพันธ์กับฝ่ายสมาพันธรัฐกำลังจะประกาศสงครามกันพอดี กล่าวคือ เดือนเมษายน ค.ศ. 1861 ภาพที่ปรากฏต่อสายตาของผู้อ่านคือภาพชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือยของบรรดาสมาชิกในตระกูลเจ้าที่ดินขนาดใหญ่แห่งรัฐจอร์เจีย สการ์เลตต์ใช้ชีวิตหมดไปวันๆ กับการทำตัวเป็นดาวเด่นเสน่ห์แรงดึงดูดชายหนุ่มในสังคมชั้นสูงของท้องถิ่นให้มารุมล้อมเอาอกเอาใจ เธอแสดงตนเป็นสุภาพสตรีตามธรรมเนียมปฏิบัติของหญิงสาวสมัยนั้นตามที่ได้รับการอบรมจากมารดาและพี่เลี้ยงผิวดำ เธอสนุกสนานไปกับงานเลี้ยงสังสรรค์ตามคฤหาสน์ของคนระดับเดียวกัน มีความสุขกับการปรุงแต่งโฉมให้งดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจชายหนุ่มที่มาติดพันด้วยพัสตราภรณ์แพรพรรณที่คัดสรรมาอย่างดี

ภาพของสการ์เลตต์นั่งอยู่กับหนุ่มแบรนต์และสจวต ทาลตันที่ระเบียงคฤหาสน์ทาราของบิดาในตอนเย็นที่แจ่มใสวันหนึ่งของเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 นั้นเป็นภาพที่งดงามเหลือเกิน วันนั้นเธอแต่งกายด้วยกระโปรงชุดใหม่ผ้ามัสลินดอกสีเขียว กระโปรงพองบานใช้ผ้าถึงสิบสองหลาคลุมขดลวดข้างในไว้ สีของมันเข้าชุดกับสีรองเท้าส้นเตี้ยหนังโมร็อกโกซึ่งบิดาของเธอเพิ่งซื้อมาให้จากแอตแลนตา กระโปรงบานใหญ่นี้มาเพิ่มความงามสมบูรณ์ให้แก่เอวเล็กๆ ซึ่งวัดได้โดยรอบเพียงสิบเจ็ดนิ้วเท่านั้น

ผู้ประพันธ์ใส่ใจกับการให้รายละเอียดของเครื่องแต่งกาย สถาปัตยกรรม ธรรมเนียมประเพณีและแบบแผนความเป็นอยู่ในสังคม อันเป็นการสืบทอดขนบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยของเซอร์วอลเตอร์ สกอต ผู้อ่านจึงเห็นพลเมืองแห่งรัฐจอร์เจียปรากฏกายด้วยรายละเอียดของเครื่องแต่งกายตามยุคสมัยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หญิงสาวในชุดประโปรงยาวพองบานรัดสะเอวแน่น ผมหวีเรียบมีช้องคลุมผม หมวกปีกกว้างประดับด้วยขนนกหรือดอกไม้และริบบิ้นผูกคาง ถือร่มเล็กๆ มีผ้าโปร่งคลุมหรือพัดด้ามจิ๋ว ชายหนุ่มในชุดเสื้อเชิ้ตผ้าลินินและทอปบูตสูงถึงหัวเข่า ขี่ม้าเก่ง ยิงปืนแม่น เต้นรำด้วยฝีเท้าเบาหวิว ให้เกียรติสุภาพสตรี มีท่าทางสง่าตามแบบแผนสุภาพบุรุษแม้ขณะจับแก้วเหล้า ผู้อ่านจะได้เห็นภาพของคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ได้สัดส่วน เสาสูง เฉลียงกว้าง หลังคาตัด หน้าต่างกว้างใหญ่แบบฝรั่งเศส ราวบันไดสลักเสลาลวดลายประณีต เวลามีงานเลี้ยงเนื้อย่างก็จะมีโต๊ะปิกนิกตัวยาวปูผ้าสวยของตระกูลตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ร่มเงาหนาในสวนเขียวขจีหน้าคฤหาสน์ หมู่หญิงสาวสดใสในชุดสีต่างๆ งดงามเหมือนผีเสื้อพากันเดินขึ้นลงบันไดระหว่างห้องโถงกับชั้นบน การบรรยายของผู้ประพันธ์ที่ให้ภาพงานเลี้ยงเนื้อย่างที่ทเวลฟโอกหรืองานเต้นรำเพื่อหาทุนให้โรงพยาบาลในตอนต้นสงคราม เต็มไปด้วยรายละเอียดที่มีสีสันเพริดแพร้วติดตรึงใจ ผู้อ่านสามารถนึกเห็นภาพทหารหาญฝ่ายใต้ในชุดเครื่องแบบงามสง่าได้อย่างชัดเจน

ต่างแต่งเครื่องแบบหรูหรา เป็นเงาวับด้วยลูกกระดุมและดิ้นทองที่ข้อมือและคอเสื้อ ริ้วแดง เหลือง น้ำเงินที่กางเกง บอกสังกัดหน่วยต่างๆ ทำให้ชุดสีเทางามไม่มีที่ติ สายสีแดงสีทองแกว่งไปมา ดาบเป็นเงาวับกระทบกับรองเท้าขัดมันปลาบ สเปอร์ดังกรุ๋งกริ๋ง

การดำเนินเรื่องในตอนต้นเรื่อยมาจนถึงการสัประยุทธ์ในช่วงแรกของสงคราม ผู้อ่านจึงได้ภาพของฝ่ายสมาพันธรัฐที่หยิ่งผยองในดินแดนอันรุ่งโรจน์ของตน ชาวใต้ทะนงตนว่าเป็นผู้ผลิตฝ้ายอันเป็นสินค้าออกสำคัญของสหรัฐอเมริกาและเหยียดหยามว่า ชาวเหนือเป็นพวกพ่อค้าที่ฉวยผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อแรงงานของคนอื่น ชาวใต้มิได้ตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงเลยว่าอันที่จริงแล้ว ฝ่ายเหนือเหนือกว่าตนในทุกๆ ด้าน ฝ่ายเหนือประกอบด้วยรัฐ 23 รัฐ ประชากร 22 ล้านคน ขณะที่ฝ่ายใต้ประกอบด้วยรัฐ 11 รัฐ ประชากร 9 ล้านคน นอกจากกำลังคนจะเหนือกว่าแล้ว ฝ่ายสหพันธ์ยังเหนือกว่าในด้านอุตสาหกรรม มีสิ่งเกื้อหนุนอย่างเต็มที่ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่นเสื้อผ้าและเสบียงอาหาร และยังมีเส้นทางรถไฟที่มีเครือข่ายโยงใยกว้างขวาง* ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ข้อนี้ปรากฏอยู่ในคำพูดของเรตต์ บัตเลอร์ ตัวละครเอกฝ่ายชายที่กล่าวขึ้นต่อหน้าบรรดาชายหนุ่มฝ่ายใต้ที่กระเหี้ยนกระหือรือจะเข้าสงคราม เพราะมั่นใจว่าฝ่ายใต้เป็นฝ่ายได้เปรียบ

"ท่านสุภาพบุรุษ มีใครบ้างไหมในพวกท่านที่เคยคิดว่าในแนวเมซอนดิกซันนี้หามีโรงทำปืนใหญ่แม้แต่โรงเดียวไม่ ใครเคยคิดบ้างไหมว่าเรามีบ่อแร่น้อยเหลือเกิน โรงทำขนแกะ ทำฝ้าย ทำหนัง เราก็ไม่มี เรือรบหรือ เราก็ไม่มีสักลำ เผื่อพวกแยงกีจะปิดอ่าวเสียไม่ให้เราส่งฝ้ายออกนอกประเทศ เขาจะทำได้ในอาทิตย์เดียวเท่านั้นเอง อาทิตย์เดียวจริงๆ แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรกัน (...) ผมได้เห็นโรงงาน บ่อแร่ อู่เรือ บ่อเหล็ก บ่อถ่านหิน โอ๊ย! เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไม่มี เรามีอะไร เรามีแต่ฝ้าย ทาส และความโก้เก๋ เท่านั้นเอง ขืนรบไปก็เดือนเดียวเท่านั้นเอง บอกจริงๆ เดือนเดียวก็เจ๊ง"

แต่ประชาชนฝ่ายใต้น้อยคนนักที่จะตระหนักในความจริงข้อนี้เหมือนเรตต์ บัตเลอร์ ความหยิ่งผยองใน"ชาติ"ของตัวจนละเลยที่จะพิเคราะห์สถานการณ์ด้วยใจเป็นกลาง ทำให้ฝ่ายใต้กระตือรือร้นเป็นที่ยิ่งที่จะเข้าสงคราม ด้วยเข้าใจว่าฝ่ายใต้จะสามารถพิชิตปัจจามิตรได้ในเวลาอันรวดเร็ว ต่างคิดว่ารบเพียงครั้งเดียวก็จะคว้าชัยชนะมาอยู่ในกำมือได้ ดังนั้นชายหนุ่มทั้งหลายเมื่อได้ข่าวประกาศศึกจึงต่างอาสาสมัครเข้าเป็นทหารโดยมิพักต้องรีรอ มาร์กาเรต มิตเชลลล์ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเหล่าสุภาพบุรุษฝ่ายใต้ที่ปีติยินดีที่จะได้มีโอกาสเป็นวีรบุรุษ ซึ่งนับเป็นเกียรติยศทั้งแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล พวกเขามิได้มีความคิดเลยแม้แต่น้อยว่าฝ่ายสมาพันธรัฐจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ บรรยากาศของความยินดีปรีดาปราโมทย์ของฝ่ายใต้เมื่อได้ข่าวสงครามระเบิดเป็นเรื่องที่บันทึกทางประวัติศาสตร์มิได้พรรณนาไว้ แต่นวนิยายได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์

พวกผู้ชายทิ้งแก้วเหล้าทิ้งพัดไว้บนโต๊ะ บ้างเฮเข้าล้อมเขาเต็มไปหมด แม้จะอยู่ไกล สการ์เลตต์ยังได้ยินเสียงจอแจ เสียงเรียก เสียงถาม รู้สึกว่าเลือดเขากำลังร้อนจัด เหนือเสียงเซ็งแซ่นี้ สการ์เลตต์ได้ยินเสียงสจวตร้องกู่ขึ้นด้วยความลิงโลดราวกับว่าจะไปล่าสัตว์ สการ์เลตต์เพิ่งได้ยินเสียงนี้เป็นครั้งแรก และไม่รู้ว่าเป็นเสียงกู่ของคณะปฏิวัติ หนุ่มทาลตันทั้งสี่วิ่งแหวกกลุ่มคนออกไปยังคอกม้าร้องตะโกนไปพลาง (...) จากคอกม้า พวกผู้ชายพากันควบม้าออกมาอย่างรวดเร็ว ทาสนิโกรควบม้าไปติดๆ หนุ่มมันโรห้อม้าพลางแกว่งหมวกอยู่ไปมา ฟอนเตนและแคลเวิร์ตร้องกู่ไปตามถนน ทาลตันทั้งสี่ควบม้าตัดหน้าสการ์เลตต์ไป แบรนต์ส่งเสียงร้องกู่สัญญาณดังก้อง

ความดีอกดีใจจนออกนอกหน้าที่จะได้ไปรบเช่นนี้เกิดจากการประเมินตนเองที่ผิดพลาด ความหยิ่งทระนงในภูมิหลังของภาคใต้ที่มีประวัติศาสตร์น่าภาคภูมิใจกว่า ทำให้ฝ่ายสมาพันธรัฐตาบอดต่อความจริงที่อยู่เบื้องหน้า

ภาคใต้กำลังซาบซ่านไปด้วยความกระตือรือร้นและความตื่นเต้น ใครๆ ก็รู้ว่าการโจมตีเพียงหนเดียวจะยุติสงครามลงได้ ชายหนุ่มทุกคนรีบไปลงชื่ออาสาสมัครรอช้าไม่ได้ ขืนรีรอสงครามก็จะจบลงเสียเท่านั้นเอง ใครจะแต่งงานก็รีบแต่งเสียก่อนเดินทางโดยด่วนไปทางเหนือของเวอร์จิเนียไปปราบพวกแยงกีที่นั่นให้พินาศลงไป (...) รถไฟบรรทุกทหารเต็มวิ่งผ่านโจเนสโบโรไปสู่แอตแลนตาและเวอร์จิเนียทุกๆ วัน ทุกคนได้รับการฝึกหัดมาครึ่งๆ กลางๆ อาวุธก็ไม่ครบมือ ท่าทางตื่นเต้นกันเหลือเกิน ร้องตะโกนโหวกเหวกราวกับจะไปปิกนิก พวกเวอร์จิเนียหนุ่มๆ แลเห็นทหารเหล่านี้เข้ายิ่งตระหนกตกใจกันใหญ่ ตายแล้ว! สงครามจะสุดสิ้นลงก่อนพวกเขาจะไปถึงเวอร์จิเนียกระมัง จะรีรออยู่ไม่ได้แล้ว ต่างเร่งมือออกเดินทางกันยกใหญ่

นวนิยายเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน และสื่อไปถึงจิตใจของผู้อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าพงศาวดาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ประพันธ์นวนิยายเป็นผู้ที่มีสายเลือดของฝ่ายใต้อยู่เต็มเปี่ยมดังเช่นมาร์กาเรต มิตเชลล์ ไม่ว่าในความเป็นจริงฝ่ายใต้จะมีข้อผิดพลาดบกพร่องน่าตำหนิอย่างไร ผู้อ่านก็อดมิได้ที่จะรู้สึกซาบซึ้งไปกับความรุ้สึกภาคภูมิใจในดินแดนอันเป็นที่รัก ความรักสามัคคีในระหว่างเพื่อนร่วมชาติ ความองอาจที่จะสละชีพเพื่อสิ่งที่เขาเห็นว่าถูกต้องและควรค่าแก่การแลกมาด้วยชีวิต ผู้ประพันธ์เน้นย้ำแก่นเรื่องนี้โดยตลอดทั้งเรื่อง ความเป็นปึกแผ่นของชาวใต้เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธ หากมิใช่เพราะกำลังคนและทรัพยากรที่เหนือกว่าของฝ่ายสหพันธ์ ประวัติศาสตร์อาจจะต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไปก็ได้เพราะฝ่ายใต้มีกำลังใจ สตรีผู้อยู่แนวหลังก็เทอดทูนผู้ชายของตน ฉากที่เมลานีหลั่งน้ำตาเมื่อได้ยินเพลง Bonnie Blue Flag ซึ่งเป็นเพลงชาติของฝ่ายใต้บรรเลงโดยวงดนตรีทั้งวงและกระหึ่มด้วยเสียงของคนจำนวนนับร้อยที่ร่วมร้องไปพร้อมๆ กันนับว่าเป็นฉากที่สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านและดึงความรู้สึกของผู้อ่านให้อดคล้อยตามไปด้วยไม่ได้

สการ์เลตต์หันไปมองเห็นเมลานียืนเอามือทาบอก หลับตานิ่ง หยาดน้ำตาน้อยๆ ซึมออกมาทางหางตา พอดนตรีหยุดเธอหันมายิ้มกับสการ์เลตต์อย่างอายๆ พึมพำขอโทษอยู่ในลำคอ พลางยกผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับน้ำตา "ฉันเป็นสุขเหลือเกิน เป็นสุขและภูมิใจในทหารของเราจนอดร้องไห้ไม่ได้" นัยน์ตาเป็นประกายวาวด้วยความรู้สึกซึ่งออกมาจากหัวใจ (...) ทุกคนรักและเชื่อถือพวกผู้ชายของตน ไว้เนื้อเชื่อใจกระทั่งลมหายใจอันสุดท้าย ในเมื่อมีแถวทหารสีเทายืนอยู่ระหว่างตนกับพวกแยงกีแล้ว อันตรายจะมาแผ้วพานอย่างไรได้ ตั้งแต่โลกเป็นโลกมา มีคนเคยเห็นผู้ชายอย่างนี้บ้างละหรือ แข็งแรง กล้าหาญ สุภาพและอ่อนโยนอย่างหาที่เปรียบมิได้ เมื่อพวกผู้ชายของเราเป็นฉะนี้แล้ว ฉันใดเล่า ชัยชนะจะไม่ตกเป็นของชาติที่สุจริตและเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมความดี ชาติที่ผู้หญิงเหล่านี้รักเท่าๆ กับพวกผู้ชายของเธอ ชาติที่พวกเธอยอมพลีกายพลีใจให้ ชาติที่พวกเธอพูดถึงคิดถึงและฝันถึง เมื่อชาติต้องการพวกผู้ชายของเธอ เธอก็มีความยินดีที่จะเสียสละ ยินดีที่จะรับการสูญเสียอย่างอาจหาญและภาคภูมิใจด้วยความอาจหาญและภาคภูมิของทหารผู้แบกธงของกองทัพ

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า นวนิยายเรื่องนี้มีโครงเรื่องผูกพันอย่างลึกซึ้งกับสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ และด้วยความที่ผู้ประพันธ์ค้นคว้าเอกสารมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะลงมือเขียน (๒) นวนิยายเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดของสงครามมากมาย ชะตาชีวิตของตัวละครโลดแล่นอยู่ท่ามกลางกระแสสงคราม สงครามทำให้สามีคนแรกของสการ์เลตต์ต้องเสียชีวิตในสนามรบ เธอต้องเผชิญกับภาวะสงครามในขณะที่แอตแลนตาถูกล้อมและถูกตีแตก ต้องอดอยากลำบากแทบเลือดตากระเด็นภายหลังสงครามยุติและต้องหวาดหวั่นขวัญผวาภายใต้รัฐบาลทหารในสมัยฟื้นฟู ทุกจังหวะชีวิตของสการ์เลตต์ล้วนมีประวัติศาสตร์เป็นฉากหลัง และถูกแต่งแต้มให้มีสีสันไปตามสภาพการณ์ทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไประหว่างสงคราม ผู้อ่านจะได้เห็นภาพเมืองแอตแลนตาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งขยายตัวเพื่อสนับสนุนกองกำลังของฝ่ายใต้ กลายเป็นแหล่งใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรม คลังเสบียงอาหาร คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนเป็นสถานพยาบาล เปลี่ยนจากเมืองกสิกรรมมาเป็นเมืองอุตสาหกรรม ผู้อ่านจะได้รู้จักนายพลคนสำคัญๆ ทั้งของฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ การรบในสมรภูมิที่ปลิดชีพทหารของแต่ละฝ่ายเป็นจำนวนมาก เฟรดดริกสเบิร์ก เกตตีสเบิร์ก วิกสเบิร์ก อัพโพแมททอกซ์ การเดินทัพ การโจมตี การปิดอ่าว การกักกันเชลย การแลกเปลี่ยนเชลย ฯลฯ ข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมถูกถ่ายทอดออกมาพร้อมๆ กับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เป็นนามธรรม ทำให้นวนิยายไม่แข็งกระด้างและดึงดูดใจผู้อ่าน

จริงอยู่ พวกแยงกีภายใต้บังคับบัญชาของแกรนต์ได้ล้อมวิกสเบิร์กมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม จริงอยู่ภายหลังที่สโตนวอล แจ็กสันถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัสในการรบที่ชานเซลเลอร์สวิลมาแล้ว ผู้คนในภาคเหนือล้มตายหายไปเป็นส่วนมาก จริงอยู่ เมื่อนายพลทีอาร์อาร์ คอบบ์ถูกฆ่าที่เฟรดดริกสเบิร์ก จอร์เจียได้สูญเสียบุตรชายซึ่งกล้าหาญและฉลาดที่สุดไปคนหนึ่ง กระนั้นก็ดีพวกแยงกีคงจะไม่ทนการแตกยับอย่างที่เฟรดดริกสเบิร์กและชานเซลเลอร์สวิลได้อีกหนเป็นแน่ เขาจะต้องยอมแพ้แน่ๆ แล้วสงครามจะได้สิ้นสุดกันลงเสียที

ต้นเดือนมิถุนายนย่างเข้ามาและพร้อมๆ กันนี้ข่าวลือซึ่งภายหลังทางการได้รับรองว่าเป็นความจริงว่า นายพลลีกำลังเดินทัพเข้าสู่เพนซิลเวเนีย วิเศษเลย! ลีกำลังย่างเข้าในพรมแดนข้าศึกแล้ว! (...) แอตแลนตากำลังเป็นบ้าเป็นหลังไปด้วยความตื่นใจ ความดีใจ และความหื่นกระหายจะแก้แค้น คราวนี้แหละพวกแยงกีจะได้รู้สึกนึกเสียบ้างว่าการเปิดแนวรบขึ้นในแดนของตนบ้านนั้นมันจะเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยความที่เป็นนวนิยาย มิตเชลล์จึงใช้กลวิธีการประพันธ์แบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวใจหรือบีบคั้นอารมณ์ของผู้อ่าน เช่น ใช้จดหมายของตัวละครเป็นเครื่องมือบอกเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ผู้อ่านจะไม่พบในการอ่านตำราประวัติศาสตร์ จดหมายของดาร์ซี มี้ด บุตรชายวัยรุ่นของนายแพทย์มี้ดเล่าถึงความลำเค็ญในสมรภูมิรบที่ต้องเดินเท้าเปล่าเป็นอาทิตย์ๆ เพราะไม่มีรองเท้าใส่ ทหารบางคนยึดรองเท้าของข้าศึกที่ตายแล้วมา ทหารมีโรคประจำตัวกันทั้งนั้น คือโรคบิด บางครั้งด้วยความหิวโหยก็ขโมยข้าวโพดของพลเรือนฝ่ายเหนือกินซึ่งยิ่งทำให้โรคบิดกำเริบหนักขึ้นไปอีก เมื่อผู้อ่านอ่านจดหมายของตัวละครตัวนี้ ความรู้สึกที่ได้คือความสะเทือนใจเช่นเดียวกับนางมี้ดที่หลั่งน้ำตาเมื่ออ่านจดหมายของบุตร บางครั้งผู้ประพันธ์ก็ให้ตัวละครเอกเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทหารเพื่อถ่ายทอดเกร็ดประวัติศาสตร์ เช่นตอนที่ทหารฝ่ายใต้เลิกเดินทัพกลับบ้านแล้วเดินทางผ่านทารา สการ์เลตต์กับสมาชิกในครอบครัวต้องให้ที่พักและอาหารแก่ทหารเหล่านี้ซึ่งอยู่ในสภาพที่น่าเวทนาเป็นที่สุด ไม่เหลือร่องรอยของความเป็นนักรบผู้กล้าอีกต่อไป ผู้อ่านต้องสะเทือนใจอีกคำรบหนึ่งเมื่อได้เห็นภาพของทหารในเสื้อผ้ากะรุ่งกระริ่ง ส่วนมากเป็นเสื้อนอกสีน้ำเงินที่ได้จากเชลยศึก บางคนแขนขาด ตาหลุดไปข้างหนึ่ง หนวดเครายาวสกปรก และต่างมี "สหายคู่ชีพ" ติดตัวมาจากสนามรบด้วยกันทั้งนั้น นั่นคือตัวเหาตัวหมัดตัวเล็นซึ่งแมมมีจะช่วยขจัดให้ด้วยการพาทหารไปที่พุ่มไม้หลังบ้านแล้วให้ถอดเสื้อผ้าออก อาบน้ำถูสบู่ยา แล้วให้ห่มผ้าเช็ดตัวหรือผ้าห่มนอนไปพลางๆก่อนในระหว่างที่แมมมีเอาเครื่องแบบไปต้มน้ำร้อนในหม้อซักผ้าใบใหญ่ สำหรับโรคบิด แมมมีก็รักษาให้ด้วยการต้มรากแบล็กเบอรีผสมกับรากไม้ขมบางชนิดตามสูตรของเอเลนนายผู้หญิง ให้ทหารทุกคนกิน ผู้อ่านจะได้ทราบจากปากของทหารเหล่านี้ ถึงพฤติกรรมของทหารแยงกีที่ปล้นป่าช้าของประชาชนฝ่ายใต้ ด้วยการขุดหลุมฝังศพขึ้นมา งัดโลง ขโมยเครื่องแต่งตัวของศพ ป้ายชื่อที่ทำด้วยเงินและทอง หูหิ้วและขอบทองที่ทาบโลงก็แกะเอาไปสิ้น "กระดูกและซากศพกระเรี่ยกระราดปนอยู่กับหีบที่ถูกงัด ถูกพัง ดูเป็นที่น่าทุเรศและสังเวชแก่ตาเหลือเกิน" นอกจากนี้ เมื่อทหารกลับเข้าเมืองแอตแลนตาพบแมวกับสุนัขที่พวกผู้หญิงชอบเลี้ยง สัตว์สองชนิดนี้จำนวนหมื่นอดโซ ไม่มีที่อยู่เพราะบ้านของนายถูกเผาทำลายไปสิ้น ต่างตื่นกลัว หนาวสั่น และดุร้ายไม่ผิดกับสัตว์ป่า ตัวที่แข็งแรงรังแกตัวที่อ่อนแอ กินซากศพของตัวที่ตายไปแล้ว ผละยังมีฝูงแร้งคาบซากศพบินว่อนในท้องฟ้า

ภาวะข้าวยากหมากแพงเศรษฐกิจตกต่ำก็เป็นประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองอเมริกา ที่ผู้อ่านจะได้ทราบผ่านทางชะตาชีวิตของตัวละคร สการ์เลตต์เคยเป็นหญิงสาวสวยหรู สวมเสื้อกระโปรงมัสลินลายดอกไม้สีสันสดใสที่ต้องใช้ผ้าตัดเย็บชุดละเป็นสิบหลาก็ต้องเผชิญกับการขาดแคลนปัจจัย ถึงขนาดต้องปั่นด้ายกันเองและนำหูกทอผ้าที่แต่ละบ้านจะมีเก็บๆว้ที่ห้องใต้หลังคามาทอผ้าใช้เอง ผลที่ได้ก็คือผ้าฝ้ายสีเหลืองๆปนน้ำตาลกลายมาเป็นผ้าที่ทุกคนสวมใส่นับตั้งแต่ผู้หญิง เด็ก ทาส แม้กระทั่งทหาร เครื่องแบบทหารโก้เก๋สง่าภาคภูมิที่ผู้อ่านได้เห็นในงานเลี้ยงหาทุนให้โรงพยาบาลไม่มีอีกต่อไป การปิดล้อมอ่าวโดยกองทัพเรือของฝ่ายเหนือทำให้ไม่เพียงแต่แพรพรรณชั้นดีขาดตลาดเท่านั้น แต่ของฟุ่มเฟือยอย่างอื่นๆ ก็พลอยหายากไปด้วยไม่ว่าเป็นชา กาแฟ สเตย์ทำด้วยกระดูกปลาวาฬ น้ำหอม หนังสือแบบเสื้อต่างๆ ยิ่งการปิดท่าเรือทางภาคใต้นานมากขึ้นเท่าใดความขาดแคลนก็ทวีคูณยิ่งขึ้นเพียงนั้น ช่วงหลังของสงครามแม้แต่ของจำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันก็มีราคาสูงลิบลิ่ว

พร้อมๆ กับการตกต่ำของการเงิน ราคาของขึ้นสูงลิ่วอีกครั้งหนึ่ง เนื้อหมู เนื้อวัว และเนย ขึ้นราคาถึงปอนด์ละสามสิบห้าดอลลาร์ แป้งถังละพันสี่ร้อยดอลลาร์ โซดาปอนด์ละหนึ่งร้อยดอลลาร์ ชาปอนด์ละห้าร้อยดอลลาร์ เสื้อผ้ากันหนาวถ้าพอมีบ้างก็แพงเสียจนจดไม่ลง พวกสุภาพสตรีต้องเอาเสื้อเก่าๆ มาแล้วเอาผ้าขาดๆ และกระดาษหนังสือพิมพ์เย็บทับลงไปเพื่อกันลมหนาว รองเท้าคู่หนึ่งมีราคาตั้งแต่สองสามร้อยดอลลาร์ขึ้นไป ทั้งนี้แล้วแต่ว่ารองเท้าทำด้วยหนังเทียมหรือหนังแท้ รองเท้าผู้หญิงในสมัยนี้ต้องทำด้วยผ้าห่มขนสัตว์เก่าๆ หรือพรม ส่วนส้นทำด้วยไม้

ราคาสินค้าขึ้นสูงลิ่วเพราะค่าของเงินสมาพันธรัฐตกอย่างมาก จนในที่สุดกองพลาธิการเริ่มจำกัดและกักเครื่องบริโภคจนครัวเรือนต่างๆ เดือดร้อน แต่ของสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการรบก็คือเวชภัณฑ์และยุทธภัณฑ์ ทหารคือกำลังสำคัญในสงครามหากบาดเจ็บแล้วไม่ได้รับการรักษาพยาบาลก็มีแต่จะลดกำลังพลที่จะไปต่อกรกับข้าศึก ตามโรงพยาบาลของภาคใต้ขาดแคลนควินิน คาโลเมล ฝิ่น คลอโรฟอร์ม ไอโอดีน ผ้าพันแผลหายากถึงขนาดว่าใช้แล้วก็ยังทิ้งไม่ได้ สตรีในแนวหลังที่มาช่วยทำหน้าที่พยาบาลต่างหอบตะกร้าผ้าเปื้อนเลือดกลับไปซักรีดที่บ้านและส่งกลับมาให้คนเจ็บอื่นๆ ใช้ต่อไปอีก ยุทธปัจจัยขาดแคลน กรมรถไฟต้องการรถใหม่ๆ รางใหม่ๆ มาแทนรางที่ถูกพวกข้าศึกทำลาย เหล็กไม่มีถึงขนาดต้องใช้รั้วบ้านของพลเรือน ประตูบ้าน เรือนต้นไม้ รูปปั้นเหล็กกลางเมืองมาหลอม

มิตเชลล์มิได้ให้รายละเอียดแต่เพียงการบริโภคและความฝืดเคืองในชีวิตประจำวันของแนวหลังและแนวหน้าเท่านั้น แต่เธอยังได้กล่าวถึงผลกระทบจากยุทธศาสตร์การปิดอ่าวของฝ่ายเหนือที่มีต่อสินค้าออกสำคัญของฝ่ายใต้คือฝ้าย ซึ่งกระเทือนชีวิตของเจ้าที่ดินขนาดใหญ่ทั้งหลายอย่างชนิดถอนรากถอนโคน เนื่องจากบรรดาเจ้าที่ดินเหล่านั้นกำหัวใจของโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคใต้เกือบทั้งหมด เมื่อฝ้ายส่งออกไม่ได้ชีวิตของเจ้าที่ดินตลอดจนสิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นระบบกสิกรรมของภาคใต้ก็เกิดการปรวนแปรขนานใหญ่ ดังเช่นเจอราลด์ โอฮารา บิดาของสการ์เลตต์ซึ่งต้องตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นอย่างชนิดกลับหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเทียบกับสมัยก่อนสงคราม

เส้นชีวิตของภาคใต้นั้นอยู่ที่การขายฝ้ายและซื้อสิ่งที่ผลิตเองไม่ได้เข้ามา แต่บัดนี้ทั้งการซื้อและขายต้องชะงักหมด ฝ้ายของเจอราลด์ โอฮาราตลอดสามปีนี้ต้องนอนอยู่ในยุ้งใกล้ๆ โรงเก็บเครื่องแยกเมล็ดฝ้าย มันเกือบจะไม่มีประโยชน์อะไรต่อเขาเสียเลย ถ้าอยู่ในลิเวอร์พูล เขาอาจจะได้ราคาแสนห้าหมื่นดอลลาร์ แต่เขาไม่มีหวังซึ่งจะนำมันออกไปลิเวอร์พูลได้ เจอราลด์ได้เปลี่ยนสภาพจากเศรษฐีมาเป็นชายธรรมดาซึ่งนั่งคิดนอนคิดตลอดวันว่า ระหว่างหน้าหนาวปีนี้ เขาจะหาเงินที่ไหนมาเลี้ยงครอบครัวและทาสของเขาได้

ทั่วทั้งภาคใต้ เศรษฐีฝ้ายเกือบทุกคนต้องตกอยู่ในฐานะเดียวกัน ท่าเรือยิ่งถูกปิดแน่นเข้าทุกที ก็ยิ่งไม่มีทางจะนำสินค้าในดินแดนภาคใต้ออกไปสู่ตลาดอังกฤษและไม่มีทางจะพาเอาเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ ซึ่งเงินจากฝ้ายเคยพาเข้ามาได้ในครั้งกระนั้น

แน่นอนว่าเมื่อภาคใต้แดนกสิกรรมทำสงครามกับภาคเหนือแดนอุตสาหกรรมในสภาวะดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ย่อมก่อให้เกิดบุคคลที่คอยฉวยโอกาสจากความเดือดร้อนของผู้อื่น อันได้แก่พวกกักตุนสินค้าและนักค้ากำไร ผู้ประพันธ์ให้ตัวละครเรตต์ บัตเลอร์สวมบทบาทนี้เพื่อถ่ายทอดข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงที่ว่าชาวใต้มิได้จงรักภักดีอย่างสุดจิตใจต่อสมาพันธฐรัฐเสมอหน้ากันทุกคน ขณะเดียวกันทหารฝ่ายเหนือก็มิได้เสียสละชีพอย่างซื่อตรงต่อสหพันธ์เหมือนกันทุกคน ดังนั้นจึงมีคนอย่างเรตต์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "พ่อค้าสงคราม" ติดต่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับทหารแยงกี เพื่อนำสินค้าหายากฝ่าการปิดอ่าวเข้ามาขายให้แก่เพื่อนชาวใต้ด้วยราคาสูงลิบลิ่ว ในตอนแรก เรตต์ได้รับการเชิดชูประหนึ่งวีรบุรุษ ในฐานะที่นำของขาดแคลนซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างที่สุดมาให้แก่พรรคพวกร่วม "ชาติ" เขานำเข้าได้แม้กระทั่งสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น นำหมวกตามแฟชั่นล่าสุดที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปมากำนัลแก่สการ์เลตต์ นำผ้าต่วนสีขาวมากำนัลแด่เมเบล เมอรีเวตเตอร์เพื่อตัดชุดเจ้าสาวในพิธีวิวาห์ สินค้าของเขาแต่ละชิ้นได้กำไรถึงสองพันเปอร์เซนต์ จากที่มีเรือเร็วลำเล็กๆ ลำเดียวในระยะแรกกลายเป็นมีเรือเพิ่มเป็นสี่ลำ เขาให้ค่าจ้างแก่คนนำร่องอย่างงามเพื่อนำฝ้ายลอบหนีออกจากชาร์ลสตันและเวลมิงตันในตอนกลางคืน เพื่อนำไปยังนาซเซา อังกฤษ และแคนาดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษที่โรงปั่นฝ้ายกำลังไม่มีงานทำ หากผู้ใดนำฝ้ายออกมาป้อนโรงงานที่ลิเวอร์พูลได้ก็สามารถโก่งราคาได้ตามอำเภอใจ ขณะเดียวกันก็นำสินค้าและยุทโธปกรณ์มาจำหน่ายให้ภาคใต้ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมเช่นนี้ของเรตต์ได้รับการยกย่องเพียงชั่วไม่นาน เมื่อความจริงปรากฏว่าเรตต์เป็นผู้แสวงหากำไรบนความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ เขาจึงกลับถูกประณามและเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์

ในตอนแรกๆแห่งปี ค.ศ. 1863 ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนจะออกอยู่ได้ ถ้าหากไม่มีบทความของบรรณาธิการประณามคนเหล่านี้อย่างรุนแรงว่า เป็นแร้งและปลิงที่คอยสูลเลือด ประชาชนต่างก็เร่งเร้าให้รัฐบาลจัดการลงโทษอย่างหนัก (...) ความรู้สึกเป็นอริต่อพวกค้ากำไรคนไหนๆ ก็ไม่ขมขื่นรุนแรงเท่ากับความรู้สึกต่อเรตต์ บัตเลอร์ พออ่าวถูกปิดหนาแน่นและชักจะมีอันตรายมากขึ้น เขาก็ขายเรือของเขาเสีย และตั้งหน้ากักเครื่องบริโภคอย่างเปิดเผย ข่าวคราวของเขาที่แพร่สะพัดมาจากเวลมิงตันและริชมอนด์ทำให้พวกที่เคยเป็นเพื่อนเขาตัวชาด้วยความละอาย

มิตเชลล์ยังได้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจเมื่อสงครามใกล้จะสิ้นสุดผ่านทางวิถีชีวิตของตัวละครเอกเมื่อแอตแลนตาแตก และสการ์เลตต์ฝ่าแดนมิคสัญญีกลับมาสู่ทารา ซึ่งก็ไม่มีสิ่งใดเหลือนอกจากตัวบ้าน ทรัพย์สมบัติใดๆ ก็ถูกทหารฝ่ายเหนือยึดเอาไปหมด สการ์เลตต์ต้องพยายามยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ตนเองและครอบครัวอยู่รอดต่อไปให้ได้ ท่ามกลางบ้านของเพื่อนบ้านในสังคมระดับเดียวกันส่วนใหญ่ที่ถูกเผา เช่น บ้านของทาลตันเหลือแต่รากตึก บ้านของพวกมันโรถูกทำลายราบไปกับพื้นดิน บ้านของพวกเมลลอรีเหลือแต่ซากตึกไหม้ดำและ"นิ่งเงียบเหมือนซากศพ" ทุกคนที่รอดชีวิตแทบไม่มีอะไรใส่ท้อง ฉากที่สะเทือนอารมณ์ผู้อ่านมากที่สุด น่าจะเป็นฉากที่สการ์เลตต์เดินหาอาหารไปตามสวนของเพื่อนบ้าน ไปจนถึงแปลงปลูกผักของพวกทาส และพบผักที่เหี่ยวแห้ง ความหิวทำให้สการ์เลตต์ใช้มืออันสั่นเทาขุดหัวผักกาดหัวหนึ่งจากร่องผักและทั้งๆ ที่ยังไม่ทันจะเช็ดโคลนด้วยชายกระโปรงออกให้หมด สการ์เลตต์ก็กัดและเคี้ยวกลืนอย่างรวดเร็ว แต่ความที่หิวโหยไม่มีอาหารตกถึงท้องมาเป็นเวลานาน สการ์เลตต์ก็อาเจียนหัวผักกาดที่เพิ่งกลืนลงไปออกมา จนหมดแรงล้มฟุบนอนจมอยู่กับร่องผักเป็นนานกว่าจะสามารถลุกขึ้นมาเก็บผักต่างๆ ที่พอจะรับประทานได้ใส่กระจาดกลับไปเป็นอาหารที่ทารา ขณะที่กระเดียดกระจาดผักจนเอวคอดผ่านซากปรักหักพังที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคฤหาสน์ทเวลฟโอ๊กอันสง่าภาคภูมิ พร้อมกับความหิวที่หวนมารบกวนกระเพาะอีกนั้น สการ์เลตต์ได้ปฏิญาณด้วยน้ำเสียงอันดังที่จะไม่มีวันหิวอีกต่อไป

"ขอพระเจ้าจงเป็นพยาน พวกแยงกีจะมาทำอันตรายแก่ฉันไม่ได้อีกแล้ว ฉันจะมีชีวิตอยู่ผ่านความยากแค้นนี้ให้ได้...และเมื่อมันผ่านไปแล้ว ฉันจะไม่ยอมอดอยากอีก ถึงพวกพ้องวงศ์วานของฉันก็เหมือนกัน ถึงจะต้องขโมยเขากินหรือต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเลี้ยงท้องก็ตามเถิด แต่ฉันจะไม่ยอมอดอยากยากจนอีกต่อไปแล้ว ขอพระเจ้าจงเป็นพยานเถิด"

ด้วยปณิธานเช่นนี้สการ์เลตต์จึงเป็นหลักที่พึ่งพิงของทุกคนในครอบครัวเพราะเธอต่อสู้ทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ท้องหิว จากหญิงสาวผู้ไม่เคยแม้แต่จะผูกเชือกรองเท้าด้วยตัวเอง ไม่เคยแม้แต่จะ "กรีดนิ้วหยิบถุงเท้าที่ใช้แล้วของตนเองขึ้นจากพื้น" เธอตรากตรำทำงานในไร่ฝ้ายท่ามกลางแสงแดดแผดเผาเคียงคู่กับดิลซี คนงานนิโกรเลือดผสมอินเดียนแดงจนหลังปวดเมื่อยเพราะก้มตลอดเวลา ไหล่ช้ำเพราะแบกถุงฝ้าย มือสากเพราะถูไถกับกระเปาะฝ้ายแห้งๆ ในยามเข้าตาจนเธอฆ่าทหารแยงกีเพื่อปกป้องหีบเครื่องเย็บของมารดาซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้าย เธอ "ขโมย" ธนบัตรของภาคเหนือและเพชรพลอยที่ติดตัวทหารที่เธอฆ่ามาเป็นสมบัติของตัวอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ เธอกระเหม็ดกระแหม่เสบียงอาหาร เธอบัญชาการให้เลี้ยงแม่หมูและลูกหมูที่ตามจับมาจากป่าเพื่อเป็นอาหารในฤดูหนาว ให้พอร์กไปดักจับกระต่ายและตกปลา เธอออกคำสั่งฆ่าลูกวัวเพราะมันกินนมจากแม่วัวมากเกินไป นมแม่วัวมีค่าสำหรับทุกคนเพราะวันใดไม่มีอะไรกินก็ต้องกินนมวัวคนละนิดละหน่อยกับลูกนัตหรือมันเผาเท่านั้น

ปัญหาใหญ่สำหรับทาราและบ้านอื่นๆ ทั่วมณฑลคืออาหาร ส่วนมากเกือบจะไม่มีของกินเหลือติดบ้าน มีแต่ร่องมัน ลูกนัต และของป่าแล้วแต่จะหาได้ ใครมีอะไรก็แบ่งให้เพื่อนบ้านที่เคราะห์ร้ายมากกว่าอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาเมื่อครั้งปรกติสุข แต่เวลาที่ไม่มีอะไรจะแบ่งได้มาถึงเข้าแล้ว

เมื่อโทนีและอเลกซ์ ฟอนเตน เพื่อนบ้านผู้ไปสงครามกลับมาบ้านเกิดและแจ้งข่าวสงครามยุติ สการ์เลตต์มิได้ร้องไห้เช่นหญิงสาวในครอบครัวอื่นๆ ความรู้สึกแรกของเธอคือความโล่งใจที่จะไม่ต้องเผชิญความหวาดกลัวว่า ทหารแยงกีจะมาเผาบ้านหรือปล้นทรัพย์สินเสบียงอาหารอีกต่อไป

ช่วงเวลาระหว่างที่สงครามดำเนินอยู่รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ผู้ประพันธ์วาดไว้ให้ผู้อ่านตระหนักนั้นเกี่ยวพันกับการรบ การดำเนินชีวิต สภาวะเศรษฐกิจ เป็นส่วนใหญ่ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนช่วงเวลาภายหลังสงครามนับตั้งแต่วันที่นายพลลียอมจำนนต่อนายพลแกรนต์ ตลอดจนสมัยฟื้นฟูนั้นรายละเอียดที่ผู้ประพันธ์นำเสนอต่อผู้อ่านมักเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองเสียมาก เราจะได้เห็นฝ่ายสมาพันธรัฐตกอยู่ในฐานะกบฏผู้พ่ายแพ้และถูกลงโทษจากผู้ชนะอย่างชนิดที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นการแก้แค้น ทั้งๆที่ประธานาธิบดีลินคอล์นได้วางนโยบายที่จะปฏิบัติต่อฝ่ายใต้อย่างในฐานะเพื่อนร่วมชาติ แต่เมื่อในความเป็นจริงประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบสังหารหลังจากสงครามยุติได้เพียง 5 วัน ด้วยน้ำมือของจอห์น วิลเคส บูธ จากรัฐแมรีแลนด์ สมาชิกพรรครีพับลิกันซึ่งคุมเสียงข้างมากในสภา ก็ได้โอกาสต่อต้านนโยบายของลินคอล์น ทั้งๆที่ประธานาธิบดีคนต่อมาคือ แอนดรู จอห์นสัน พยายามจะสานต่อ ด้วยเหตุดังนี้ โชคร้ายจึงตกอยู่กับฝ่ายสมาพันธรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดสมัยฟื้นฟู (ค.ศ. 1865-1877) รัฐบาลกลางดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อริดรอนสิทธิเสรีภาพของชาวใต้

มิตเชลล์บันทึกสภาพการณ์ในสมัยฟื้นฟูไว้อย่างได้อารมณ์ความรู้สึก เป็นอีกสมัยหนึ่งที่ตัวละครต้องเผชิญกับความลำเค็ญแต่ด้วยลักษณาการที่เปลี่ยนไป แอชเลย์พูดกับสการ์เลตต์ว่าสิ่งที่เราผจญอยู่นี้ "ร้ายยิ่งกว่าสงคราม ร้ายยิ่งกว่าคุก ร้ายยิ่งกว่าความตายด้วยซ้ำไป" สการ์เลตต์ผจญกับพิษสงของสมัยฟื้นฟูเป็นครั้งแรกเมื่อโจนาส วิลเกอร์สัน อดีตผู้ดูแลทาราและได้มาเป็นหัวหน้าพนักงานพวกทาสอิสระ จงใจที่จะแย่งทาราไปจากเธอด้วยการสนับสนุนจากทหารแยงกี โจนาสคือตัวละครที่เรียกกันว่า "นักฉวยโอกาส" ตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ พวกนี้คือพลเมืองของสมาพันธรัฐที่ฉวยโอกาสขณะที่ภาคใต้กำลังประสบวิกฤติจากสงครามหาผลประโยชน์จากเพื่อนพ้องร่วมชาติ ด้วยการมีสัมพันธ์อันดีกับทหารฝ่ายเหนือที่ถูกส่งมาปกครองประเทศในสมัยฟื้นฟู พวกนี้ก็เช่นเดียวกับพวกนักเผชิญโชค (carpetbaggers) ต่างกันตรงที่ฝ่ายหลังเป็นชาวเหนือ ที่หิ้วกระเป๋าใบเดียวเพื่อมาแสวงหาผลประโยชน์จากทางใต้ ทั้งสองพวกต่างก็สนับสนุนอดีตทาสผิวดำ ตามกระแสของการเมืองขณะนั้น และเป็นปฏิปักษ์กับบรรดาพลเมืองแห่งสมาพันธรัฐที่บอบช้ำจากการสู้รบ เท่ากับว่าเป็นการซ้ำเติมชาวใต้ที่บาดเจ็บอยู่แล้วให้บาดเจ็บสาหัสยิ่งไปกว่าเดิม สิ่งหนึ่งที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสูบเลือดเนื้อชาวใต้ก็คือ "ภาษี" หากผู้ใดไม่มีเงินพอจะเสียภาษีให้กับรัฐบาลก็อาจจะต้องสูญเสียสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของตนไปได้ สการ์เลตต์จึงต้องดิ้นรนหาเงินมาเสียภาษีเพื่อมิให้ทาราตกไปอยู่ในมือของโจนา วิลเคอร์สัน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เธอต้องตัดสินใจแต่งงานกับแฟรงค์ เคนเนดี ผู้กลายมาเป็นสามีคนที่สอง การแต่งงานกับแฟรงค์ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตของสการ์เลตต์ได้มิใช่น้อย สการ์เลตต์ทำงานหนักช่วยดูแลกิจการร้านค้าและโรงเลื่อย แต่เธอก็เข้าใจดีว่าเธอไม่อาจวางใจอะไรได้ทั้งสิ้น เธอประจัญหน้ากับพิษสงของสมัยฟื้นฟูเป็นครั้งที่สองเมื่อโทนี ฟอนเตน มาเคาะประตูบ้านยามวิกาลเพื่ออาศัยหลับภัยชั่วครู่ ก่อนที่จะหนีต่อไปยังเท็กซัสเนื่องจากได้ยิงนิโกรที่กระทำหยาบหยามต่อพี่สะใภ้ของตัว และฆ่าโจนาสผู้อยู่เบื้องหลังนิโกรจนถึงแก่ความตาย หากโทนีไม่หนีก็คงถูกลงทัณฑ์โดยศาลทหารจนเสียชีวิต เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สการ์เลตต์เพิ่งจะตระหนักถึงความเป็นจริงทางการเมืองอันร้ายกาจ เพราะก่อนหน้านั้นสการ์เลตต์เพียงแต่นึกว่า เมื่อสงครามสงบการเมืองก็คงจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ความสงบเรียบร้อย ปกติสุภาพสตรีก็ไม่ค่อยจะสนใจการเมืองอยู่แล้วโดยเฉพาะสการ์เลตต์ และเมื่อต้องรับผิดชอบชีวิตคนอีกหลายคนเธอก็ยังสนใจแต่เรื่องการทำมาค้าขายเพื่อเลี้ยงปากท้อง แต่กรณีของโทนี เป็นผู้นำการเมืองเข้ามาใกล้ชิดกับสการ์เลตต์และเปิดตาเธอให้มองเห็นความจริงที่เธอไม่เคยประจักษ์มาก่อน

หล่อนเห็นแล้ว พวกนิโกรยืนอยู่ข้างหน้า ข้างหลังเป็นดาบปลายปืนของพวกแยงกี หล่อนอาจจะถูกฆ่า อาจจะถูกข่มขืน และไม่มีทางป้องกันด้วย ใครที่มาแก้แค้นแทนหล่อนจะต้องถูกแขวนคอโดยไม่ต้องมีการอุทธรณ์ฎีกา (…)

การเมืองในปี ค.ศ. 1866 ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของสการ์เลตต์ซึ่งแลเห็นแล้วว่าชีวิตของชาวใต้ทั้งมวลไม่มีหลักประกันสิ่งใดทั้งสิ้น ต่อให้ได้ใครทำงานแค่ไหนเช่นตัวสการ์เลตต์เองทำงานหนักเสียยิ่งกว่าทาส เก็บหอมรอมริบด้วยความหวังว่าจะได้เงยหน้าเชิดคออย่างทรนงได้อีกครั้งหนึ่ง แต่กลับเป็นว่าคนของฝ่ายเหนืออาจจะมายึดทรัพย์ของเธอไปเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีสิทธิ์แก้ไขอย่างไรได้เลยด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีแต่ศาลเตี้ยหรือศาลทหาร

จอร์เจียถูกองทหารคุมแน่นหนา และแอตแลนตาถูกคุมมากกว่าที่ใดๆ ทหารแยงกีมีอำนาจสูงสุดในกิจการทุกอย่าง แม้ในเรื่องความเป็นความตาย และเขาใช้อำนาจอันนี้ เขามีสิทธิ์และก็ได้ใช้สิทธิ์จับคนมาขังด้วยสาเหตุเพียงเล็กน้อย และอาจริบทรัพย์หรือแขวนคอคนโดยไม่มีสาเหตุอะไรเลย ด้วยการออกกฎข้อบังคับ เขาขัดขวางและตัดทางทำมาหากิน กำหนดราคาค่าลูกจ้าง บังคับเสียทุกอย่างแม้กระทั่งการพูดจะพูดกันเป็นส่วนตัวหรือในที่สาธารณะ ตัดสิ่ทธิ์ในเรื่องการอกความเห็นในหนังสือพิมพ์ วางข้อบังคับเรื่องการเทขยะ จะต้องเทเมื่อไหร่ที่ไหน ทำอย่างไร ชี้ขาดว่าพวกลูกหลานของเขาจะร้องเพลงอะไรได้บ้าง การร้องเพลงชาติ "ดิกซี" และ "บอนนีบลูแฟลก" นั้นจัดเป็นความผิดร้ายแรงเกือบถึงขั้นกบฏ เขาออกกฏว่าใครจะไปรับจดหมายจากที่ทำการไปรษณีย์ต้องสาบานเสียก่อนว่าจะซื่อตรงต่อรัฐบาลเหนือ และบางทีแม้จะแต่งงานก็ต้องสาบานตามนี้เหมือนกัน มิฉะนั้นจะไม่ได้แต่

นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลกลางซึ่งมีพรรครีพับลิกันเป็นแกนนำกลายเป็นเสมือนการแก้แค้นกบฏ มากกว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมชาติ การออกบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญข้อ 14 และตามมาด้วยข้อ 15 ตลอดจนการออกกฎหมายฟื้นฟู (Reconstruction Act) ที่ตัดสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและสมัครเข้ารับเลือกตั้งของผู้ที่เคยทำงานรับใช้สมาพันธรัฐ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสนับสนุนให้คนผิวดำมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ก่อให้เกิดความร้าวฉานในระหว่างชาวใต้ผิวขาวกับอดีตทาสผิวดำ การริดรอนสิทธิเสรีภาพตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนกระทั่งถึงเรื่องเล็ก การใช้ศาลทหารและสมาคมคณะทาสที่เป็นอิสระ อีกทั้งพวกนักเผชิญโชคและนักฉวยโอกาสเป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายทางการเมือง ทำให้รัฐบาลกลางได้รับการต่อต้านจากฝ่ายใต้ในที่สุด การต่อต้านดำเนินการในรูปของสมาคมลับซึ่งก่อกำเนิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะแก้แค้นพวกคนผิวดำ หรือคนผิวขาวที่เข้าข้างนิโกรมากระทำการเลวร้ายต่างๆ กับคนใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสุภาพสตรี สมาชิกของสมาคมลับเหล่านี้ออกทำการในตอนกลางคืนโดยทำร้ายหรือฆ่าผู้ที่หยามเกียรติชาวใต้ ชื่อของสมาคมนี้เป็นที่รู้จักกันในนามว่า คูคลักซ์แคลน สุภาพบุรุษชาวใต้ในแวดวงที่สการ์เลตต์รู้จักต่างก็เป็นสมาชิกสมาคมนี้รวมทั้งแฟรงค์ เคนเนดี สามีของเธอด้วยซึ่งทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงการดำเนินงานของสมาคมนี้โดยตรงเมื่อครั้งที่สการ์เลตต์ถูกลวนลามโดยคนผิวดำ สมาชิกของสมาคมคูคลักซ์แคลนได้ออกปฏิบัติการกู้เกียรติของเธอคืนมาซึ่งมีผลทำให้แฟรงค์เสียชีวิต และแอชเลย์ได้รับบาดเจ็บขณะปะทะกับกองกำลังของทหารแยงกี สมาคมลับดำเนินการดุเดือด ขณะที่ทางทหารและพวกนิโกรก็ตอบโต้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผู้ประพันธ์วาดภาพสถานการณ์ที่ปะทุคุกรุ่นในประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไว้อย่างเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกแยกที่ยังไม่ประสาน แม้ว่าสงครามจะยุติแล้ว

พวกทหารเริ่มทำการค้นคว้าจับกุมผู้ต้องหา สบถสาบานที่จะกวาดล้างพวกสมาคมลับให้หมด ถึงแม้จะต้องจำขังผู้ชายผิวขาวหมดทั้งแอตแลนตาก็ตาม พวกนิโกรทั้งกลัวและทั้งโกรธพากันทำการแก้แค้นโดยเผาบ้านเรือนคนผิวขาวเสียบ้าง เสียงโจษกันแซ่ไปหมดว่าถ้าพวกแยงกีจับตัวผู้ผิดได้แล้ว เขาจะแขวนคอเสียทั้งก๊ก และมีเสียงหนาหูว่าพวกนิโกรซ่องสุมกันคิดอ่านจะทำลายพวกผิวขาว ผู้คนทั้งเมืองต่างอยู่แต่ในบ้านปิดประตูลงกลอนและปิดบานเกล็ดเสียสิ้น

เป็นเวลานานหลายปีที่เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้โดยต่างฝ่ายต่างรุนแรงเข้าหากัน ในระหว่างนั้นประชาชนชาวใต้เองก็มีหลายพวก มีทั้งพวกที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ดั้งเดิมจนไม่มีวันที่จะญาติดีกับฝ่ายเหนือ ยอมลำบากยากจนไม่อ่อนน้อมค้อมหัวให้กับผู้ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นศรัตรู ขณะเดียวกันก็มีพวกที่ปล่อยตัวไปตามกระแสการเมืองยอมผูกมิตรกับพวกทหารฝ่ายเหนือที่มีอำนาจในด้านต่างๆ เพื่อหวังความสะดวกที่จะได้รับในการทำธุรกิจการค้า สการ์เลตต์เป็นคนพวกหลังนี้ เธอก่อร่างสร้างตัวใหม่โดยอาศัยรากฐานของธุรกิจของสามีคนที่สอง และความกว้างขวางของสามีคนที่สามจนกลายเป็นเศรษฐีใหม่ มีหน้ามีตาในวงสังคมชั้นสูงของแอตแลนตาที่ประกอบไปด้วยพรรคพวกข้าหลวงบุลลอค นายทหารฝ่ายเหนือและผู้มีความสัมพันธ์กับฝ่ายเหนือทั้งหลาย ทั้งๆ ที่สการ์เลตต์รู้ว่ามีสมาคมลับมีการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูพรรคเดโมแครตและนำสิทธิเลือกตั้งของชาวภาคใต้คืนมา แต่เธอไม่สนใจทีจะร่วมขบวนการเหล่านี้ เธอเลือกที่จะมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนของพรรครีพับลิกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจและฐานะที่เริ่มจะกลับมามั่งคั่งอีกครั้งหนึ่ง

จากความสัมพันธ์ของสการ์เลตต์กับคนเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ผู้อ่านได้ทราบข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าใจอีกประการหนึ่งในสมัยฟื้นฟู นั่นคือการคอรัปชันอย่างมโหฬาร พวกฝ่ายเหนือที่เข้ามาอยู่ในภาคใต้กระทำตัวไม่ผิดอะไรกับปลิงสูบเลือด ภาคใต้ย่ำแย่อยู่แล้วด้วยมาตรการทางกฎหมายที่รัฐบาลกลางออกมาบีบคั้น ถูกกดให้แทบจะจมดินลงไปอีกด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวงกันในทุกระดับ นับเป็นรอยด่างในประวัติศาสตร์สมัยที่นายพลแกรนต์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นสาเหตุประการสำคัญที่ทำให้พรรครีพับลีกันเสื่อมสมรรถนะในการบริหารประเทศ อีกทั้งทำให้พรรคเดโมแครตกลับมามีที่นั่งในรัฐสภาได้อีก ผู้ประพันธ์ใช้มุมมองของสการ์เลตต์ในการถ่ายทอดเบื้องหลังของเพื่อนใหม่ของเธอ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประวัติน่ารังเกียจ แต่กลับได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่เป็นโตและโกงกินชาติบ้านเมือง

เพื่อนชุดใหม่ของหล่อนนี้ประกอบขึ้นด้วยคนหลายประเภท เช่นเพวกเกเลิร์ตซึ่งเคยอยู่ในรัฐต่างๆมาสิบสองรัฐแล้ว และได้กระทำการฉ้อโกงมนุษย์จนต้องรีบหนีออกจากแต่ละรัฐโดยปัจจุบันทันด่วน พวกคอนนิงตันซึ่งได้ร่วมทำงานกับสมาคมเลิกทาสในรัฐไกลๆแล้วเลยถือโอกาสรีดเลือดพวกคนดำอย่างไม่ปรานี (…) พวกฮันดอนซึ่งเป็นที่รู้จักดีของตำรวจในเมืองหลายเมืองกระนั้นก็ยังเป็นผู้มีตำแหน่งใหญ่โตอยู่ในรัฐบาล พวกคาราฮันซึ่งเริ่มต้นชีวิตในบ่อนการพนัน และบัดนี้กำลังเล่นการพนันครั้งใหญ่ด้วยการเอาเงินของรัฐไป นัยว่าจะไปสร้างทางรถไฟซึ่งจะไม่มีวันเป็นรูปร่างขึ้นมาได้

สการ์เลตต์ใช้ชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าแวดล้อมด้วยเพื่อนใหม่เหล่านี้ จึงเป็นที่เดียดฉันท์ของบรรดาเพื่อนเก่าที่เกลียดการปกครองของข้าหลวงบุลลอคเท่าไหร่ ก็เกลียดสการ์เลตต์มากเท่านั้น ต่างลงความเห็นว่าเธอ "เป็นคนนอกกอ เป็นคนเข้าข้างพวกนิโกร เป็นคนทรยศ เป็นพวกรีพับลิกัน และเป็นไพร่สารเลว"

ขณะที่เรตต์ บัตเลอร์สามีคนที่สามของเธอผู้เคยมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับฝ่ายเหนือตั้งแต่ก่อนสงครามเลิก และแม้ภายหลังสงครามก็ยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ แต่เมื่อเขามีบุตรสาวที่เกิดจากสการ์เลตต์เขาจึง "กลับตัวกลับใจ" มาร่วมต่อสู้กับเพื่อนพ้องฝ่ายใต้เพราะเห็นแก่อนาคตของบุตรสาวที่รัก ด้วยพฤติกรรมของเรตต์นี่เองที่ผู้อ่านจะได้ทราบถึงขบวนการ "สร้างชาติ" ขึ้นใหม่ของฝ่ายใต้ เป็นเวลาหลายปีที่สมาคมลับพยายามกู้เกียรติของสมาพันธรัฐด้วยวิธีการรุนแรง แต่เมื่อตระหนักว่าใช้วิธีใต้ดินก็ยิ่งถูกปราบปราม บางครั้งถูกสวมรอยอ้างชื่อโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ในที่สุดต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าวิธีที่น่าจะมีประสิทธิภาพกว่าคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคเดโมแครตเพื่อไปต่อสู้ในสภาผู้แทนราษฎร ดังคำพูดของเรตต์ที่เล่าให้สการ์เลตต์ฟังถึงการสลายตัวของสมาคมลับ

"พวกสมาคมลับไม่มีแล้วจริงๆ เราลงมติเห็นพ้องกันแล้วว่ามันทำอันตรายให้มากกว่าความดี มันทำให้พวกแยงกีโกรธเรามาขึ้น และมันป้อนเม็ดข้าวให้โรงสีข่าวเท็จของท่านข้าหลวงบุลลอคมากขึ้นเท่านั้นเอง เขารู้ว่านานเท่าที่เขายังทำให้รัฐบาลภาคเหนือและหนังสือพิมพ์แยงกีเห็นจริงได้ว่า จอร์เจียเตรียมตัวกบฏและมีพวกสมาคมลับซุ่มอยู่ทุกพุ่มไม้เสมอแล้ว เขาก็คงมีอำนาจอยู่ต่อไปได้ เพราะยังงั้นเขาจึงปั้นเรื่องเหลวๆไหลขึ้นว่าพวกสมาคมลับไปก่อการที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง แขวนคอพวกรีพับลิกันที่ซื่อสัตย์บ้าง แอบฆ่าพวกคนดำที่สุจริตเสียบ้างโดยหาว่ากระทำการข่มขืนผู้หญิง เขากำลังยิงเป้าที่ไม่มีตัวตนอยู่ในโลกและเขารู้ความข้อนี้ดี ขอบใจที่อุตส่าห์เป็นกังวล แต่พวกสมาคมลับหายไป แล้วตั้งแต่ฉันเลิกเป็นพวกนักฉวยโอกาสและกลับเป็นเดโมแครตที่เสงี่ยมเจียมตัวใหม่ๆ"

ฝ่ายสมาพันธรัฐรอคอยและทำงานสร้างชาติไปเรื่อยๆ ปล่อยให้พรรครีพับลิกันทำลายตัวเองด้วยการ "ตะกรุมตะกรามเงินมากเกินไป - ทำเปิดเผยเกินไป" ตามคำพูดของเรตต์ซึ่งบอกกล่าวสถานการณ์ที่กำลังจะพลิกผันให้สการ์เลตต์ได้รับรู้และเตรียมตัวเตรียมใจ เรตต์อุทิศเงินไปเป็นจำนวนมากเพื่อพยายามจะให้มีการเลือกตั้งขึ้นให้ได้ เขาและเพื่อนชาวใต้ประชุมการเมืองกันในตอนเย็นๆ และดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ "ส่วนมากของสมาชิกสภาร่างกฎหมายเป็นพวกเดโมแครต" เพื่อ "จะเอาพวกรีพับลิกันออกจากศาลเสียให้หมด" และเพื่อ "ไล่พวกรีพับลิกันออกไปเสียจากรัฐของเรา" สการ์เลตต์ไม่สามารถจะทำใจเชื่อสิ่งที่เรตต์มาเปิดเผยให้เธอฟังได้ เพราะเธอได้เห็นแต่พวกรีพับลิกันมีทหารฝ่ายเหนือหนุนหลังจนมีอำนาจอยู่ในจอร์เจียมานานหลายปี และได้เห็นภาคใต้ฟุบอยู่ใต้ฝ่าเท้าของรัฐบาลกลางมานานจนเกินกว่าจะเชื่อได้ว่า พรรคเดโมแครตจะกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง แต่พรรคเดโมแครตสามารถทำได้สำเร็จ สามารถกดดันข้าหลวงบุลลอคให้กลับไปภาคเหนืออย่างสิ้นศักดิ์ศรี เนื่องจากตลอดสมัยที่เขาจัดการปกครอง เขาทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง สุรุ่ยสุร่ายและความเหลวแหลกต่างๆมากเกินไป จนเมื่อประชาชนโกรธแค้นเขามากขึ้นๆทุกวันและพวกเดโมแครตมีเสียงอยู่ในศาลมาก บุลลอคก็เกรงว่าภัยจะมาถึงตัวด้วยการไต่สวนและตามมาด้วยการลงทัณฑ์เขาจึงลาออกอย่างเงียบที่สุด เขาหนีไปภาคเหนือเรียบร้อยแล้วคนจึงรู้กัน ผู้ประพันธ์บันทึกความรู้สึกของพลเมืองชาวใต้ต่อเหตุการณ์นี้ไว้ว่า

พอมีการประกาศลาออกภายหลังที่บุลลอคหนีไปแล้วอาทิตย์หนึ่ง แอตแลนตาแทบจะเป็นบ้าด้วยความตื่นเต้นและดีใจ ผู้คนเฮกันออกมาคับคั่งถนน พวกผู้ชายหัวเราะร่า สั่นมือแสดงความยินดีต่อกัน พวกผู้หญิงกอดจูบ ร้องไห้กระซิกกระซักทั่วทุกหน้า จัดให้มีงานเลี้ยงฉลองใหญ่โต (…) เกือบแล้ว เกือบจะหลุดพ้นจากสมัยฟื้นฟูอันแสนโหดร้ายทารุณแล้ว แน่ละ ผู้รักษาการแทนข้าหลวงนั้นเป็นพวกรีพับลิกันเหมือนกัน - แต่การเลือกตั้งใหม่กำลังจะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้แล้ว

และการเลือกตั้งก็มีขึ้นโดยพรรครีพับลิกันเป็นฝ่ายปราชัย รัฐจอร์เจียกลับมีรัฐบาลเดโมแครตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากความระทมขมขื่นเหนื่อยยากแสนสาหัสเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดภาคใต้ก็กลับเป็นไทแก่ตัวเอง ความปีติโสมนัสใหญ่หลวงของมหาชนในครั้งนี้สมควรที่จะได้รับการบันทึกไว้เช่นเดียวกัน

คราวนี้ก็มีการโห่ร้องยินดีเช่นเดียวกับคราวที่บุลลอคหนีไป แต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง การดีใจครั้งนี้ปราศจากความรู้สึกอย่างบ้าคลั่งเหมือนคราวก่อน มันเป็นความยินดีที่รู้สึกกันอยู่ในใจ ซึ้งลงไปในวิญญาณนั้นเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกคุณพระเป็นเจ้า โบสถ์ต่างๆ เต็มไปด้วยคณะรัฐมนตรีที่เข้าไปสวดขอบคุณพระเป็นเจ้าในการที่ได้ประทานรัฐของเขาคืนมา มีความหยิ่งผยองปนอยู่ในความหฤหรรษ์และความยินดีนี้ด้วย ต่างรู้สึกภาคภูมิใจที่จอร์เจียได้กลับมาอยู่ในมือของชาวจอร์เจียอีกครั้งหนึ่งทั้งๆที่รัฐบาลวอชิงตัน กองทัพแยงกี พวกนักฉวยโอกาส พวกนักผจญภัยและชาวพื้นเมืองที่เป็นรีพับลิกันได้พยายามหนักหนาที่จะแย่งเอาไปเสีย

ผู้ประพันธ์ได้บันทึกไว้ด้วยว่ารัฐสภาได้ออกกฎหมาย "ที่จะกดจอร์เจียไว้ใต้อำนาจถึงเจ็ดครั้ง และกองทหารฝ่ายเหนือได้พยายามเลิกกฎหมายแพ่งถึงสามครั้ง" แต่รัฐบาลกลางและพวกรีพับลิกันเองก็ประจักษ์ว่ามาตรการในสมัยฟื้นฟูนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นหลังจากเวลาผ่านไป 12 ปี รัฐบาลก็ยกเลิกมาตรการดังกล่าว

ความสัมพันธ์ระหว่างนายทาสกับทาส

นวนิยายเรื่อง วิมานลอย มีฉากหลังคือสงครามกลางเมืองอเมริกา ดังนั้นย่อมจะต้องกล่าวถึงสถาบันทาสซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของสงครามครั้งนี้ แต่หากเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของทาสที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ตลอดจนน้ำเสียงที่ผู้ประพันธ์พรรณนาถึงทาสและองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับทาสแล้ว ผู้อ่านจะสำเหนียกได้ทันทีถึงความแตกต่างระหว่างทาสตามสายตาของแฮเรียต บีชเชอร์ สโตว์ กับทาสของมาร์กาเรต มิตเชลล์ เราได้กล่าวถึงทาสตามสายตาของสโตว์ในบทความที่เกี่ยวกับ กระท่อมน้อยของลุงทอม มาแล้ว ซึ่งสรุปได้ว่า "ความทารุณโหดร้ายแยกออกจากสถาบันทาสไม่ได้" แต่มาร์กาเรต มิตเชลล์คัดค้านข้อสรุปนี้โดยตรง เธอกล่าวอย่างชัดเจนในนวนิยายของเธอว่าชาวเหนือมิได้มีความเข้าอกเข้าใจในระบบทาสอย่างถ่องแท้ และยึดถือสิ่งที่สโตว์บรรยายว่าเป็นความจริงเพียงประการเดียว ชาวเหนือมิได้รู้จักชาวผิวดำอย่างลึกซึ้งเพราะมิได้มีระบบทาสมายาวนานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเช่นเดียวกับชาวใต้ ตามประวัติศาสตร์นั้น ฝ่ายเหนือได้จัดการให้ล้มเลิกระบบทาสอย่างทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพได้ไม่นาน ขณะที่ฝ่ายใต้นั้นยังคงมีทาสมาโดยตลอดจนกระทั่งลินคอล์นประกาศเลิกทาส

นอกจากคัมภีร์ไบเบิลแล้ว พวกชาวเหนือรับเอาอย่างเต็มที่ว่าหนังสือเรื่อง "กระท่อมน้อยของลุงทอม" เป็นหนังสือที่เปิดความจริงทุกประการ พวกผู้หญิงแยงกีจึงต้องการนักหนาที่จะดูสุนัขไล่เนื้อซึ่งพวกชาวใต้มีไว้ล่าพวกทาสที่หนี ต่างไม่มีใครเชื่อเมื่อสการ์เลตต์บอกว่าตั้งแต่เกิดมาหล่อนเคยเห็นสุนัขไล่เนื้อเพียงตัวเดียวเท่านั้น และมันก็เป็นสุนัขตัวเล็กๆ ท่าทางเชื่องๆ ไม่ใช่สุนัขชนิดมาสติฟฟ์ตัวใหญ่มหึมา ทุกคนอยากรู้เรื่องการเผาเหล็กแดงประทับตราที่หน้าทาส อยากเห็นแส้เก้าปมที่ใช้หวดทาสจนตายคาที่

มิตเชลล์ต้องการจะสื่อถึงผู้อ่านว่าฝ่ายเหนือรู้ปัญหาเกี่ยวกับทาสเพียงผิวเผินแต่กลับตั้งตนเป็นผู้แก้ปัญหา ฉากที่ภรรยาของนายทหารฝ่ายเหนือที่เข้ามาอยู่ทางใต้ตามมาตรการในสมัยฟื้นฟู สอบถามสการ์เลตต์เพื่อหาพี่เลี้ยงลูกของตนนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าชาวเหนือเองก็ดูถูกและรังเกียจทาสผิวดำเหมือนกัน ชาวเหนือเรียกร้องอิสระเสรีภาพให้กับทาสผิวดำ มีขบวนการพาทาสหลบหนี รณรงค์ต่อต้านการมีทาสจนแม้แต่ยอมเข้าสงครามเพื่อให้เลิกทาสตามที่ฝ่ายเหนือเองสร้างภาพให้เป็นเช่นนั้น แต่ลึกๆแล้วชาวเหนือมีความจริงใจเพียงใดต่อปัญหานี้ ณ ส่วนลึกของหัวใจชาวเหนือเองเห็นแก่มนุษยธรรมและสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ดังคำพูดหรือสุนทรพจน์ที่ประกาศต่อสาธารณชนหรือรู้สึกเหยียดผิว รังเกียจคนดำ แต่กลับใช้เรื่องทาสมาเป็นเหตุผลข้อหนึ่งในการช่วงชิงดุลแห่งอำนาจกันแน่

"ต๊ายตาย! ใครจะไปไว้ใจให้คนดำเลี้ยงลูกฉัน" ผู้หญิงที่มาจากรัฐเมนพูด "ฉันอยากได้ผู้หญิงไอริชที่ดีๆ"
"ถ้างั้นน่ากลัวคุณจะหาคนใช้ชาวไอริชไม่ได้เลยในแอตแลนตา" สการ์เลตต์ตอบเสียงมึนชา "ฉันเองเกิดมาไม่เคยเห็นคนใช้ผิวขาวเลยสักคนเดียวและไม่อยากได้ด้วย แล้วก็…" อดไม่ได้ที่จะสำแดงความแดกดัน "รับประกันได้ว่าพวกคนดำไม่ใช่มนุษย์กินคน ไว้ใจได้ทีเดียว"
"โอ๊ยตาย! ไม่เอาละ ไม่เอาแน่ๆ เชียว"
"โอ๊ย! ใครจะไปไว้ใจพวกนิโกร เพียงแต่เห็นก็ไม่อยากมองแล้ว จะเอามาไว้ให้ลูก…"

มาร์กาเรต มิตเชลล์ประสงค์จะบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนายทาสกับทาสในภาคใต้นั้นลึกซึ้งเกินกว่าชาวเหนือจะเข้าใจได้ ทาสผิวดำที่เป็นพี่เลี้ยงลูกของเจ้านายผิวขาวในภาคใต้นั้นมิใช่พี่เลี้ยงเด็กธรรมดาๆ แต่จะทำหน้าที่ของ "พี่เลี้ยง" และ "ครู" หรือ "ผู้อบรมกิริยามารยาท" หรือบางครั้งก็เป็น "แม่นม" ไปด้วย แมมมีพี่เลี้ยงเก่าแก่ประจำตระกูลโอฮารา เลี้ยงดูตั้งแต่แม่ของสการ์เลตต์คือเอเลน แล้วก็มาเลี้ยงสการ์เลตต์ของเธอตั้งแต่แบเบาะ จนมาถึงรุ่นลูกของสการ์เลตต์ แมมมีก็ยังทำหน้าที่นี้อย่างซื่อสัตย์และภาคภูมิ แมมมีภูมิใจในความเป็นทาสในบ้านของตนซึ่งมีสถานะสูงกว่าทาสในไร่ เธอดูแลสารทุกข์สุขดิบของสมาชิกในครอบครัวเจ้านายมิให้ต้องอนาทรร้อนใจตลอดจนอบรม "ความเป็นผู้ดี" ของเจ้านายรุ่นเยาว์ให้ได้ตามแบบแผนของเจ้านายผู้ใหญ่ ผู้อ่านจะอดขำไม่ได้กับการอบรมของแมมมีเพื่อให้สการ์เลตต์เป็นกุลสตรีที่ดีงามเพียบพร้อม ดังนั้น สการ์เลตต์ต้องรับประทานอาหารที่แมมมีจัดเตรียมมาให้อย่างเต็มที่เพื่อจะได้ไปรับประทานพอเป็นพิธีเท่านั้น ในงานเลี้ยงตามความนิยมของยุคสมัยที่หญิงสาวต้องรับประทานอาหารแต่น้อย แมมมีคอยเตือนให้สการ์เลตต์คลุมไหล่เมื่อสวมเสื้อคอกว้างและลึกเกินไปสำหรับงานเลี้ยงช่วงเช้า คอยแนะนำว่าอย่าทำตัวให้แข็งแกร่งเกินหญิงไปนักต้องรู้จักเป็นลมบ้าง ต้องสุภาพเรียบร้อยไม่ขมวดคิ้วทำคางยื่นแล้วพูดว่า "เอาซิ" หรือ "ไม่เอา" แต่ควรจะต้องก้มหน้าหลบสายตาลงแล้วพูดว่า "เสียใจจริงๆ ค่ะ ดิฉันไม่เห็นด้วย" หรือว่า "จริงๆ ค่ะ คุณพูดถูกต้องแล้ว" จะเห็นว่าหน้าที่เช่นนี้มิได้เป็นเพียงพี่เลี้ยงแต่เปรียบเสมือนแม่คนที่สองก็ไม่ปาน ในยามทุกข์ยากลำเค็ญหลังสงครามและมารดาลาจากโลกนี้ไป บิดาก็สติฟั่นเฟือน แมมมีนี่เองที่เป็นที่พึ่งทางใจให้ความอบอุ่นแก่สการ์เลตต์และอยู่เผชิญชะตากรรมด้วยกัน เมื่อสการ์เลตต์ตัดสินใจไปแอตแลนตาเพื่อกอบกู้สภาพแร้นแค้นของครอบครัว แมมมีขอติดตามไปเพื่อคอยพิทักษ์ปกป้องนายหญิงของเธอ ในยามที่สการ์เลตต์ประสบปัญหาในชีวิตสมรสกับเรตต์ บัตเลอร์สูญเสียบุตรในครรภ์และต่อมาก็บอนนีบุตรสาว แมมมีคือหลักที่พักใจของทุกคนไม่เว้นแม้แต่ชายผู้แข็งแกร่งเช่นเร็ต และในท้ายที่สุดเมื่อเรตต์จากไป เมลานีเพื่อนแท้เพียงคนเดียวจากไป สการ์เลตต์ก็กลับไปทาราเพื่อรักษาแผลหัวใจและความบอบช้ำในชีวิตกับแมมมี

ถนนขึ้นไปสู่ทาราซึ่งเรียงรายด้วยต้นซีดาร์ทั้งสองฟาก กอแจสมินสีเขียวสดตัดกับกำแพงตึกสีขาว และม่านหน้าต่างสีขาวช่างพลิ้วสะบัด แล้วก็แมมมีจะยืนอยู่ที่นั้น ทัทีนั้นเองหล่อนรู้สึกต้องการแมมมีเหมือนใจจะขาด ต้องการอย่างเดียวกับที่หล่อนเคยต้องการแมมมีเมื่อครั้งตนยังเป็นเด็กหญิงเล็กๆ ต้องการหน้าอกอันกว้างใหญ่สำหรับซบศีรษะลงบนนั้น ต้องการให้มือสีดำลูบศีรษะของหล่อน - แมมมี - สายสัมพันธ์อันสุดท้ายที่เชื่อมหล่อนไว้กับโลกเก่า

สายสัมพันธ์เช่นนี้เป็นสายสัมพันธ์ที่ชาวภาคเหนือยากจะเข้าใจเพราะพวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง และเพราะเป็นสายสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากสถานะของนายทาสแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าถักทอขึ้นมาจากน้ำใจไมตรี ความเอื้ออาทรความเมตตากรุณาของผู้เป็นนายและความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความเสียสละของผู้เป็นทาส ปีเตอร์ทาสเก่าแก่ของตระกูลแฮมิลตันก็มีบทบาทเช่นเดียวกับแมมมี ปีเตอร์เข้าร่วมรบในสงครามเม็กซิกันกับพันเอกแฮมิลตันพ่อสามีของสการ์เลตต์ เมื่อนายตายปีเตอร์นี่เองเป็นผู้อุ้มนายไว้ในวงแขนและเลี้ยงดูลูกๆ ของนายจนเติบใหญ่ตลอดจนดูแลพิตตีแพตน้องสาวของนายผู้อ่อนแอและช่วยตัวเองไม่ได้ตลอดมา เมื่อคราวแอตแลนตาใกล้จะแตกเพราะการปิดล้อมของนายพลเชอร์แมน ปีเตอร์เป็นผู้ขับรถพาพิตตีแพตหนีภัยไปอยู่ที่เมืองเมคอน และเมื่อสงครามยุติก็ปีเตอร์ผู้นี้เองที่คุ้มครองพิตตีแพตผ่านซากหมู่บ้านปรักหักพังทั้งหลายกลับมายังบ้านเดิมอย่างปลอดภัย พอร์กข้ารับใช้ในบ้านที่ทาราของสการ์เลตต์ก็ยอมไปขโมยไก่ของเพื่อนบ้านมาเป็นอาหารให้นายเมื่อถึงคราวอดอยาก แม้ตนเองจะต้องเสี่ยงชีวิตก็ตามเพราะในภาวะขาดแคลนเช่นนั้น ทุกคนต่างก็หวงสิ่งที่จะเป็นอาหารประทังชีวิตของตนและครอบครัว ดิลซียืนหยัดทำงานในไร่เคียงคู่นายสาวทั้งๆที่สามารถจะทิ้งนายไปได้เพราะเป็นไทแก่ตัวแล้ว แต่ดิลซีเต็มใจอยู่รับใช้นายสาวต่อไปด้วยสำนึกในบุญคุณของบิดาสการ์เลตต์ พริซซีลูกทาสผจญความทุกข์ยากมาด้วยกันกับนายตั้งแต่ก่อนเมลานีคลอด จนฝ่าออกจากเมืองแอตแลนตากระทั่งมาเป็นพี่เลี้ยงลูกๆ ของสการ์เลตต์อีก แม้จะด้อยสติปัญญาแต่ก็เปี่ยมล้นไปด้วยความซื่อสัตย์ สการ์เลตต์จึงโกรธนักหนาเมื่อภรรยานายทหารฝ่ายเหนือกล่าววาจาจาบจ้วงปีเตอร์ เหยียดหยามด้วยคำเรียกว่า "นิกเกอร์" และแสดงความไม่ไว้วางใจนิโกรหากจะมาเป็นพี่เลี้ยงลูกของตน

ทำไมไม่รู้จักไว้ใจนิโกร สการ์เลตต์ไว้ใจคนพวกนี้ยิ่งกว่าคนขาวอีกหลายคน และแน่ละ หล่อนต้องไว้ใจนิโกรมากกว่าพวกแยงกี คนพวกนี้มีความซื่อสัตย์ ความไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และความรักซึ่งตีไม่แตกและซื้อไม่ได้ด้วยเงิน หล่อนนึกไปถึงดวงหน้าที่สัตย์ซื่อที่ยังคงอยู่ที่ทารา (…) หล่อนนึกไปถึงทาสของเพื่อนบ้านทั้งหลายซึ่งกระทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ คอยป้องกันภัยให้นายหญิงขณะที่นายผู้ชายออกไปรบเมื่อนายหนีภัยสงครามก็หนีตามไปด้วย คอยพยาบาลคนเจ็บ ฝังคนตาย ปลอบโยนคนที่ทุกข์ยาก ทำงาน ขอทานเขา หรือแม้แต่ขโมย เพื่อหาอาหารมาให้นาย และกระทั่งสมัยนี้พวกเลิกทาสได้ยุแหย่สัญญาจะให้ของวิเศษเลิศลอยหลายอย่าง พวกนี้ก็ยังคงยึดมั่นอยู่กับนายเก่าและทำงานหนักเสียยิ่งกว่าสมัยทาสอีก แต่พวกแยงกีไม่เคยเข้าใจสิ่งเหล่านี้ และคงไม่มีวันเข้าใจได้เป็นอันขาด

ใน วิมานลอย ผู้อ่านจึงจะไม่ได้เห็นภาพความทารุณโหดร้ายที่เกิดจากระบบทาสดังเช่นในเรื่อง กระท่อมน้อยของลุงทอม เลย การกดขี่ขูดรีดแรงงานทาส การลงทัณฑ์เฆี่ยนตีหรือไล่จับทาส การประมูลซื้อขายทาสพรากทาสในครอบครัวเดียวกันไปคนละทิศละทาง เหล่านี้เป็นภาพที่เราจะได้เมื่ออ่านนวนิยายของสโตว์ แต่ในนวนิยายของมิตเชลล์นั้น ความรู้สึกของผู้อ่านกลับเป็นตรงกันข้าม ผู้อ่านจะรู้สึกซาบซึ้งไปกับสายใยความผูกพันที่ร้อยรัดหัวใจของผู้เป็นนายและผู้เป็นทาสเข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม มิตเชลล์ก็มิได้ให้แต่ภาพที่สวยงามเพียงด้านเดียว แม้ว่าภาพที่ก่อให้เกิดความรู้สึกในด้านดีต่อระบบทาสจะมีมากและเป็นส่วนใหญ่ แต่มิตเชลล์ก็ยุติธรรมพอที่จะให้ภาพของความเลวร้ายไว้ด้วย ผู้ประพันธ์กล่าวถึงการกระทำย่ำยีหญิงผิวขาวโดยผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นทาส กล่าวคือ ภายหลังสงคราม บรรดาทาสต่างเป็นไทแก่ตัวตามกฎหมาย และด้วยสถานการณ์ที่ฝ่ายเหนือสนับสนุนเอาใจเหล่าอดีตทาสเต็มที่ คนผิวดำบางส่วนจึงอุกอาจกระทำการเกี้ยวพาราสี ลวนลามไปจนถึงข่มขืนหญิงผิวขาวฝ่ายใต้ นี่เป็นภาพที่เลวร้ายที่มิตเชลล์นำเสนอต่อผู้อ่านซึ่งทำให้คิดได้ว่า ผู้ประพันธ์ประสงค์จะกล่าวหาฝ่ายเหนือใช่หรือไม่ การกระทำของอดีตทาสเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากการเลิกทาสอย่างฉับพลันและการกระตุ้นยุยงส่งเสริมของฝ่ายเหนือ มิตเชลล์กล่าวหาตรงๆ ว่าฝ่ายเหนือคิดแต่จะให้มีการล้มล้างระบบทาส โดยมิได้มีการเตรียมการว่าหากเลิกทาสสำเร็จแล้วจะจัดการกับทาสจำนวนมากมายอย่างไร ในเมื่อก่อนการเลิกทาสนั้นทาสอยู่อาศัยกับนายทาส ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็ได้นายหญิงดูแลรักษาพยาบาลตลอดจนอนุเคราะห์พ่อแม่ ญาติที่แก่ชรา หรือลูกที่ยังเล็ก แม้แต่การตัดสินใจใดๆ นายทาสก็เป็นผู้ตัดสินใจทั้งหมด ทาสเคยชินแต่การรับคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น เมื่ออิสรภาพมาถึงอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ทาสก็ไม่รู้จะจัดการกับตัวเองและครอบครัวอย่างไร แม้ฝ่ายเหนือจะพยายามหาทางช่วยเหลือบรรดาอดีตทาสด้วยการตั้งสมาคมคนอิสระขึ้น แต่สมาคมนี้ก็ไม่สามารถจะดูแลอดีตทาสได้ เช่นเดียวกับนายผิวขาว จะเป็นด้วยจำนวนคนผิวดำที่มีมากมายจนเกินกว่าสมาคมคนอิสระนี้จะรับผิดชอบได้ทั่วถึง หรือจะเป็นเพราะสมาคมนี้มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเป็นหลัก จึงใช้เวลายุ่งอยู่กับการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใด ในสายตาของมาร์กาเรต มิตเชลล์ฝ่ายเหนือนั่นเองที่เป็นผู้ทำให้ทาสผิวดำลุกขึ้นมากระทำการเลวร้ายต่างๆ ซึ่งในสมัยทาสพวกเขาไม่เคยกล้าประพฤติมาก่อน

เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากนักผจญภัยผู้ปราศจากหิริโอตตัปปะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสมาคมคนอิสระ และเมื่อได้รับความยุยงเร่งเร้าจากพวกชาวเหนือซึ่งเกลียดชาวใต้อย่างเข้ากระดูกดำ พวกนิโกรซึ่งเคยทำงานในนาแต่ก่อนนี้กลับเป็นผู้กำอำนาจในทันที ต่างก็กระทำตัวเหมือนอย่างคนโง่ที่ทรงอำนาจทั้งหลาย เหมือนลิงหรือเด็กๆ ที่ถูกปล่อยเป็นอิสระท่ามกลางสรรพสิ่งที่มีค่าทั้งหลายซึ่งตนเองไม่รู้จักค่า ต่างก็ทำลายข้าวของกันอย่างป่าเถื่อนเพราะเห็นสนุกในการทำลาย หรือไม่ก็เป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (…) อิสรภาพกลายเป็นงานเลี้ยงกันทุกวันมิได้ขาด เป็นเหยื่ออันโอชะของความเกียจคร้าน การปล้นสะดม และความบังอาจอวดดี (…) ผลของวิธีการใหม่ที่เขาสอนให้คือความเกียจคร้านและเที่ยวรังแกผู้คน

ผู้ประพันธ์เน้นย้ำว่าผลของการเลิกทาสโดยไม่มีมาตรการรองรับรังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาเร้ารุมสุมทับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่สงครามเพิ่งยุติ ภาคใต้ถูกทำลายราบเป็นหน้ากลองด้วยน้ำมือของกองทหารฝ่ายเหนือ นายทาสเจ้าที่ดินทั้งหลายตกอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ปัญหาเรื่องทาสยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้วิกฤติยิ่งขึ้นไปอีก อิสรภาพ เสรีภาพ มนุษยธรรมเป็นเพียงถ้อยคำสวยหรูแต่ความเป็นจริงนั้นคนผิวดำเองมิได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนแม้กระทั่งเรียกร้องอยากจะกลับไปมีชีวิตแบบเดิมดังที่เคยอยู่กับนายผิวขาวก็มี

พวกนิโกรตามหัวเมืองก็แห่กันเข้ามาคับคั่งอยู่ตามในเมือง ทิ้งไร่นาสาโทไว้โดยไม่มีคนทำ แอตแลนตาล้นหลามไปด้วยคนจำพวกนี้ (…) เมื่อมายัดเยียดกันอยู่ในกระท่อมนิดๆ สกปรก ก็เกิดเป็นไข้ทรพิษ ไข้รากสาดและวัณโรคไปตามกัน (…) พวกลูกนิโกรที่ถูกทอดทิ้งเที่ยววิ่งเพ่นพ่านเต็มเมืองเหมือนสัตว์ที่ตื่นตกใจจนกว่าคนผิวขาวที่ใจดีจะเก็บไปเลี้ยง พวกนิโกรแก่ๆ ที่เคยอยู่ตามบ้านนอกถูกลูกหลานละทิ้ง มาเห็นเมืองก็เต็มไปด้วยความตื่นตะลึง อกสั่นขวัญหาย จะพากันนั่งตามบาทวิถี พอผู้หญิงเดินผ่านหน้าไปก็จะร้องออดอ้อนว่า "คุณนายครับ ได้โปรดเถิดช่วยเขียนจดหมายไปบอกนายของผมที่ลาฟาแยตต์ทีว่าผมอยู่นี่ ท่านจะได้ลงมารับคนแก่คนเฒ่ากลับบ้านเสียที พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย ลูกได้ชิมรสความอิสระนี้พอแล้ว"


(*) จาก อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์, เอกสารคำสอน วิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔.

(๑) ฉบับแปลของรอย โรจนานนท์ ให้ชื่อภาษาไทยว่า วิมานลอย
back

(๒) สำนักข่าวสารอเมริกัน หน้า 90.
back