![]() |
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา "ครั้น ณ เดือนสาม ปีระกา สัปตศก พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญและเมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า พม่าเร่งเอาทรัพย์เงินทองและบุตรหญิง๑ จึงชวนกันลวงพม่าว่าจะให้บุตรหญิงและเงินทองแล้วคิดกันจะสู้รบพม่า บอกกล่าวชักชวนกันทุกๆบ้าน และนายแท่น๑ นายโช๑ นายอิน๑ นายเมือง๑ ชาวบ้านสีบัวทองแขวงเมืองสิงห์ นายดอกชาวบ้านตรับ นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล คนเหล่านี้มีสมัครพรรคพวกมาก เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางเมืองอุทัยธานี ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดจะให้ส่งบุตรหญิง จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย ๒๐ เศษ แล้วพากันหนีมาหาพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช มีความรู้วิชาการดี มาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น ในบ้านระจันเอาเป็นที่พึ่ง และพาสมัครพรรคพวกครอบครัวทั้งปวงอยู่ ณ บ้านระจัน และนายแท่นกับผู้มีชื่อเหล่านั้นชักชวนคนชาวบ้านได้ ๔๐๐ เศษ มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย พระอาจารย์นั้นลงตะกรุด ประเจียดและมงคลแจกให้ และพม่าประมาณร้อยเศษตามมาจับพันเรือง มาถึงบ้านระจันก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำฟากข้างโน้น นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนให้รักษาค่าย แล้วก็พาคนทั้งสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า พม่ายิงปืนได้นัดเดียวนายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงตะลุมบอนฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษ เหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้ จึงไปแจ้งความแก่นายทัพนายกองซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วบอกไปถึงแม่ทัพ แม่ทัพจึงแต่งให้เงจุนหวุ่นคุมพลห้าร้อยมาตีค่ายบ้านระจัน นายค่ายบ้านระจันก็ยกพลทหารออกรบ ตีทัพพม่าแตกพ่ายหนีและป่วยเจ็บล้มตายเป็นอันมาก แม่ทัพจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลพม่าเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายบ้านระจัน ก็แตกพ่ายมาอีกเป็นสองครั้ง จึงให้ติงจาโบ่คุมพลเก้าร้อยยกไปตีอีก ก็แตกพ่ายมาเป็นสามครั้ง พวกพม่าขยาดฝีมือไทยค่ายบ้านระจันยิ่งนัก หยุดอีกสองวันสามวัน แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินทจอข่องเป็นนายทัพใหญ่ คุมพลทหารเกณฑ์กันทุกค่ายเป็นคนพันเศษ ม้าหกสิบม้า ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นสี่ครั้ง สุรินทจอข่องก็ยกพลทหารไปถึงทุ่งบ้านห้วยไผ่ พวกค่ายบ้านระจันจึงจัดกันให้นายแท่นเป็นนายทัพพลสองร้อยให้นายทองเหม็นเป็นปีกขวา พันเรืองเป็นปีกซ้าย คุมพลกองละสองร้อยทั้งสามกองเป็นคนหกร้อย มีปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง ปืนของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายเก็บได้บ้าง ทั้งเก็บกระสุนดินของพม่าซึ่งทิ้งเสียเก็บไว้ได้บ้าง และตัวนายทั้งสามคนก็นำพลทหารทั้งสามกองยกออกจากค่ายไปถึงคลองสะตือสี่ต้น จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกอง คอยรับทัพพม่าที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่ฟากคลองข้างโน้น ได้ยินเสียงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย พม่าเห็นพวกไทยน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย ทัพไทยจึงขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลอง แล้วยกข้ามคลองรุกไปรบพม่าถึงอาวุธสั้นเข้าไล่ตะลุมบอนแทงฟัน ฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก และสุรินทจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล เร่งให้ตีกลองรบ รบกันตั้งแต่เช้าจนตะวันเที่ยง พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ และนายแท่นซึ่งเป็นนายทัพไทยนั้นวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่า ไล่แทงพม่าตายเป็นหลายคน และตัวนายแท่นนั้นถูกปืนพม่าที่เข่าล้มลง พวกพลช่วยกันหามออกมาจากที่รบ และพลทหารทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยอ่อนอิดโรย ก็รอรบถอยออกจากกันทั้งสองข้าง หยุดพักอยู่ข้างละฟากคลอง พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารออกมาส่งเลี้ยงดูพวกทหาร ฝ่ายพม่าก็หุงข้าวสุกบ้าง ยังบ้าง ที่ได้กินข้าวบ้างยังไม่ได้กินบ้าง พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จพร้อมกันแล้ว ก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน ฝ่ายพลพม่าสาละวนขุดหลุมฝังศพนายอยู่ บ้างตีกลองประโคมศพ บ้างร้องไห้รักนาย ไม่เป็นอันจะต่อรบก็แตกพ่ายหนีไปต่อหน้า พลทหารไทยไล่ติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าตายเสียเป็นอันมาก เก็บได้ปืนและเครื่องศาสตราวุธ ผ้านุ่งห่มต่างๆ แต่ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจวนจะใกล้ค่ำจึงกลับมายังค่าย และพลพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ ที่เหลือรอดกลับมาสามร้อยเศษ ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก ข้างทัพไทยตายหกสิบเศษ ป่วยเจ็บสิบสองคน ขณะนั้นชาวบ้านอื่นๆพาครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบ้านระจันเป็นอันมาก ฝ่ายพม่ากลัวฝีมือชาวบ้านระจันยิ่งนัก แต่จัดแจงกะเกณฑ์ทัพปรึกษากันอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวัน แม่ทัพจึงแต่งให้แยจออากาเป็นนายทัพ เกณฑ์แบ่งพลทหารไปทุกๆค่ายเป็นพันคนเศษ สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีก ก็แตกพ่ายหนีมาเป็นครั้งที่ห้า แล้วแม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดเมืองทวายเป็นนายทัพคุมพลร้อยเศษยกไปตีเป็นหกครั้งก็แตกพ่ายมา จึงแต่งให้อากาปันญีเป็นนายทัพคุมพลพันเศษยกไปรบอีกเป็นเจ็ดครั้ง และอากาปันญียกไปตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบ้านขุนโลก ฝ่ายทัพไทยข้างบ้านระจันจึงจัดให้ขุนสันฝีมือยิงปืนแม่นเป็นนายพวกทหารปืน คอยป้องกันทหารม้าพม่า แล้วแต่งให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่า เข้าล้อมค่ายไว้ ฝ่ายทัพพม่าตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว ทัพไทยวกเข้าโจมตีข้างหลังค่าย ยิงแทงฟันพม่าตายแทบถึงพัน และอากาปันญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย ทัพไทยได้ม้าและผ้านุ่งห่มศาสตราวุธต่างๆเป็นอันมาก พม่าแตกหนีเหลือรอดมานั้นน้อยประมาณร้อยเศษ ตั้งแต่นั้นพม่ายิ่งกลัวฝีมือไทยค่ายบ้านระจันนัก เกณฑ์กันจะให้ไปรบอีกมิใคร่ได้หยุดนานไปถึงกึ่งเดือน ฝ่ายในกรุงเทพมหานครนั้น ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาจะใกล้ถึงกรุงนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะซึ่งอยู่วัดนอกเมืองนั้น ให้เข้ามาอยู่ในวัดพระนครทั้งสิ้น และสมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดประดู่นั้น ก็เสด็จเข้ามาอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน ขุนนางและราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนคร เหมือนเมื่อศึกมังลองครั้งก่อน ก็หาลาผนวชออกไม่ และเพลาเสด็จไปทรงรับบิณฑบาตชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเป็นใจความทูลวิงวอนให้ลาผนวช และได้ห่อหนังสือในบาตรเป็นอันมากทุกๆวัน ขณะนั้น ในพระนครได้ทราบข่าวว่าชาวบ้านระจันตั้งค่ายต่อรบพม่า พม่ายกไปตีแตกพ่ายมาเป็นหลายครั้ง ชาวบ้านระจันฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก เห็นพม่าย่อท้อถอยกำลังลง สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงดำรัสให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพจะให้ยกออกไปรบพม่า แล้วโปรดให้ถอดเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ออกจากโทษ ให้คงฐานันดรศักดิ์ทำราชการดังเก่า จึงโปรดให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ กับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นหลายนาย และทัพหัวเมืองสมทบด้วยก็หลายเมืองเป็นคนหมื่นหนึ่ง ให้ยกออกไปตีค่ายพม่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ และให้สานกระชุกแบกไปเป็นอันมาก สำหรับเมื่อจะตั้งรบที่ใดกจะเอากระชุกตั้งเรียงให้ชิดกัน แล้วจะขุดมูลดินบรรจุลงในกระชุกเป็นสนามเพลาะ บังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก พระยาพระคลังและนายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลาแล้วยกกองทัพออกจากพระนครวันนั้น รี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง แม่ทัพหยุดแคร่ที่ใดกองทัพก็หยุดที่นั้น พร้อมๆกันเป็นกองๆรั้งรอไป ครั้งไปถึงที่ใกล้ค่ายพม่าก็ต้องทัพดากันอยู่ และทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกเป็นหลายม้า จึงขับทหารเข้าตีค่าย พม่าในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องพลทัพไทยล้มลงสี่ห้าคน กองทัพทั้งนั้นก็ถอยออกมาสิ้น ครั้นเพลาเย็นก็เลิกกลับเข้าพระนครอยู่สองสามวัน จึงมีพระราชดำรัสให้ทัพพระยาพระคลังยกออกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก ขณะนั้นบรรดาชาวพระนครทั้งคฤหัสถ์และสมณะไม่เคยเห็นเขารบกัน ชวนกันตามกองทัพออกไปดูรบพม่าเป็นอันมากและกองทัพยกออกไปตั้งอยู่ยังไม่ทันเข้าตีค่าย พม่าแต่งกลให้รี้พลยกหาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะแตก พวกกองอาจสามารถชวนกันวิ่งเข้าไปใกล้ค่ายพม่า และเนเมียวแม่ทัพขับพลทหารทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย พุ่งหอกซัดและยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยตายเป็นหลายคนกองทัพไทยมิได้ต่อรบ พากันแตกพ่ายหนีถอยลงมา ณ โพธิ์สามต้นทั้งสิ้น และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ เจ้าหมื่นเสมอใจราชขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก แต่กองพระยาตากรอรบอยู่ค่อยข้ามมาต่อภายหลัง ทัพพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดต้องพลทัพไทยและคนซึ่งตามออกไปดูรบศึกนั้นบาดเจ็บเป็นอันมาก ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป กองทัพไทยก็พ่ายหนีเข้าพระนคร พวกทัพพม่าก็กลับไปค่าย ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าทั้งปวง จึงปรึกษากันจัดหาผู้ซึ่งจะเป็นนายทัพ จะให้ยกไปตีเอาค่ายบ้านระจันให้จงได้ ขณะนั้นรามัญคนหนึ่งเป็นมอญเก่าอยู่ในพระนครนี้มาช้านาน เข้าเกลี้ยกล่อมพม่ามีฝีมือรบเข้มแข็ง แม่ทัพพม่าตั้งให้เป็นพระนายกอง จึงเข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบ้านระจันให้แตกจงได้ แม่ทัพจึงเกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน ตั้งให้พระนายกองเป็นนายทัพ สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นแปดครั้ง และพระนายกองยกทัพไปตีค่ายบ้านระจัน ครั้งนั้นมิได้ตั้งทัพกลางแปลง ให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่ายแล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างหน้าอีก แต่เดินค่ายไปตามทางทีละสามค่าย ดังนี้ถึงกึ่งเดือนจึงไปเกือบจะใกล้ค่ายบ้านระจัน พวกตัวนายค่ายบ้านระจันคุมพลทหารยกออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งไม่แตกฉาน และพระนายกองตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่ายมิได้ออกรบนอกค่าย พวกบ้านระจันเสียคนล้มตายเป็นอันมาก วันหนึ่งนายทองเหม็นกินสุราเมาขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า พระนายกองขับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าในกลางทัพแต่เพียงผู้เดียว แทงพลพม่ารามัญตายเป็นหลายคน พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้ เข้ารุมฟันแทงนายทองเหม็นไม่เข้า นายทองเหม็นสู้รบอยู่ผู้เดียวจนสิ้นกำลัง พม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น พวกทัพบ้านระจันเสียนายแล้วก็แตกหนีไปค่าย ทัพพม่าพระนายกองก็ยกติดตามมาถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจันจึงให้เก็บเอาศพพม่าซึ่งตายแต่ทัพก่อนๆนั้นเผาเสียสิ้น แล้วก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่นั้นรักษามั่นอยู่ ทัพบ้านระจันออกตีเป็นหลายครั้งไม่แตกก็เสียน้ำใจท้อถอย พระนายกองจึงให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วปลูกหอรบขึ้นสูง เอาปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่ายต้องไทยตายเป็นอันมาก และตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้ยังแต่ค่ายใหญ่ และนายแท่นซึ่งถูกปืนพม่าเข่าหักแต่ก่อนนั้นป่วยมานาน ก็ถึงแก่กรรมลงในเดือนหก ปีจอ อัฐศก ขณะนั้น ขุนสันซึ่งมีฝีมือเข้มแข็งถือปืนอยู่เป็นนิจ และนายจันหนวดเขี้ยวยกพลทหารออกรบกับพม่าอีกเป็นหลายครั้ง วันหนึ่งพลพม่าโอบหลังข้าศึกได้ ก็ฆ่าขุนสันกับทั้งนายจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองนาย ยังแต่พันเรืองกับนายทองแสงใหญ่อยู่ในค่ายบ้านระจัน เห็นเหลือกำลังจะสู้รบพม่าจึงบอกเข้ามาในเมือง ขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำเสนาบดีจึงปรึกษาลงเห็นพร้อมกันมิได้ให้ ว่าถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้วก็จะได้ปืนใหญ่และกระสุนดินดำเป็นกำลังเข้ามารบพระนคร เหมือนหนึ่งให้กำลังแก่ข้าศึก แต่พระยารัตนาธิเบศร์นั้นหาลงเห็นด้วยไม่ จึงออกไป ณ ค่ายบ้านระจัน คิดอ่านเรี่ยไรทองชาวบ้านซึ่งอยู่ในค่ายมาหล่อปืนใหญ่ขึ้นได้สองกระบอก ก็บกพร่องร้าวรานไปหาบริบูรณ์ไม่ เห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จก็กลับเข้าพระนคร ฝ่ายชาวบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้ ไม่มีใครช่วยอุดหนุน ก็เสียใจย่อหย่อนอ่อนฝีมือลง เห็นจะสู้รบต้านทานพม่าไม่ได้ แต่ตั้งต่อรบพม่ามาแต่เดือนสี่ปลายปีระกาสัปตศก จนถึงเดือนแปด ปีจอ อัฐศก ได้ห้าเดือน เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามกับพม่าสืบไปอีก ต่างคนก็พาครอบครัวหนีไปจากค่าย ที่ยังอยู่นั้นน้อย ผู้คนก็เบาบางลง ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก ฆ่าคนเสียเป็นอันมาก ที่จับไปได้นั้นก็มาก บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น แล้วก็เลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น ไทยตายประมาณพันเศษ พม่าตายประมาณสามพันเศษ และพระอาจารย์ธรรมโชตินั้น กระทำสายสิญจน์มงคลประเจียด ตะกรุดต่างๆแจกให้คนทั้งปวง แต่แรกนั้นมีคุณอยู่คงแคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่ ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง ก็เสื่อมตบะเดชะลง ที่อยู่คงบ้างที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง และตัวพระอาจารย์นั้นที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี ที่ว่าหายสูญไปก็มีความหาลงเป็นแน่ไม่" ดู กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ๒๕๐๕ หน้า ๒๖๙-๒๗๗. |