![]() |
การฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันและวัดโพธิ์เก้าต้น สภาพของค่ายบางระจันก่อนการบูรณะ ในบันทึกเรื่อง "การสำรวจของโบราณในเมืองไทย" ของ พันเอกหลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) เมื่อยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงสภาพของค่ายบางระจันซึ่งท่านได้เดินทางไปสำรวจในปี พ.ศ. 2493 ว่า (1) "ตัวค่ายเวลานั้นเป็นเพียงเนินดินสูงและขาดเป็นห้วงๆ ยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร โค้งโอบรอบบึง ซึ่งเดิมเป็นคลองบางระจันเป็นรูปก้ามปู" หลักฐานในพงศาวดารกล่าวว่า "นายแท่นกับผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้นชักชวนคนได้ 400 เศษ มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านบางระจันทั้งสองค่าย" และ " ทัพพม่าพระนายกองก็ยกติดตามมาถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบางระจัน... แล้วตั้งค่ายใหญ่ลงที่นั้นรักษามั่นอยู่ ทัพบ้านระจันออกตีเป็นหลายครั้งไม่แตกก็เลยเสียน้ำใจท้อถอย พระนายกองจึงให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน แล้วปลูกหอรบขึ้นสูง เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่าย ต้องไทยตายเป็นอันมาก และตีเอาค่ายน้อยบ้านบางระจันได้ ยังแต่ค่ายใหญ่" ต่อมา " ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก" หลักฐานเหล่านี้แสดงว่าค่ายบ้านบางระจันมีอยู่ 2 ค่าย คือ ค่ายเล็ก และค่ายใหญ่ มีปัญหาว่าค่ายเล็กนั้นตั้งอยู่ที่ไหน ห่างจากค่ายใหญ่เท่าใด ถ้าสันนิษฐานตามความจริงที่ควรเป็นค่ายเล็กกับค่ายใหญ่ก็คงจะอยู่ไม่ไกลกันนัก เพื่อสะดวกในการส่งข่าว เสบียงอาหาร อาวุธ ตลอดจนกำลังคน เมื่อสุกี้ตั้งค่ายใหญ่ที่บ้านขุนโลกแล้ว อาจตั้งค่ายเล็กอีกค่ายหนึ่งระหว่างค่ายบ้านขุนโลกและค่ายเล็กบางระจัน ฉะนั้นจึงสามารถขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบางระจัน จนสามารถปลูกหอรบขึ้นสูง นำปืนใหญ่ขึ้นยิงจนค่ายน้อยบ้านบางระจันแตก การที่พม่าจะขุดอุโมงค์จากค่ายใหญ่บ้านขุนโลกมายังค่ายบางระจันย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีคลองบางระจันกั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อค่ายบางระจันทั้งสองแตก พม่าย่อมเผาทำลายเพื่อไม่ให้ไทยใช้เป็นที่ซ่องสุมผู้คนได้อีก ประกอบกับกาลเวลาได้ล่วงเลยถึง 209 ปี สภาพทางภูมิศาสตร์ตลอดจนหลักฐานต่างๆย่อมเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นหลักฐานเกี่ยวค่ายบางระจันจึงเหลือเพียงเนินดินซึ่งขาดเป็นตอนๆตามแนวขอบคลองบางระจันเท่านั้น เนินดินนี้กว้าง 12 เมตร ยาว 300 เมตร เนินดินเหล่านี้อยู่ทางใต้ของวัดโพธิ์เก้าต้น ก่อนการบูรณะขุดแต่งมีหญ้าตลอดจนวัชพืชอื่นๆ ปกคลุมอยู่ทั่วไป
การสร้างค่ายบางระจันจำลอง ในการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจัน ครั้งที่ 1 / 2513 วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2513 อธิบดีกรมการศาสนาเสนอต่อที่ประชุมว่า สมควรจะสร้างค่ายบางระจันจำลอง และซุ้มประตูค่ายขึ้นใหม่ ทั้งนี้เพื่อทำให้ประชาชนผู้ผ่านเข้าชมเกิดความประทับใจและสนใจในประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการฯ จึงสนับสนุนว่าเป็นข้อเสนอที่ดี หากมีเงินเหลือจากการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันก็ไม่ขัดข้องและควรให้กรมศิลปากรออกแบบเพื่อความถูกต้องตามหลักข้อเท็จจริง ทั้งให้ใกล้เคียงลักษณะป้อมค่ายในสมัยโบราณมากที่สุด กรมศิลปากรได้มอบให้ นายประเวศ ลิมปรังษี สถาปนิกเอก หัวหน้าแผนกออกแบบกองสถาปัตยกรรมเป็นผู้ออกแบบ ผู้ออกแบบได้ศึกษาลักษณะป้อมค่ายจากพงศาวดารต่างๆ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และป้อมค่ายโบราณที่มีอยู่ ในชั้นแรกได้ศึกษาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบพระแสงดาบนำทหารขึ้นปีนระเนียดจะเข้าค่ายพระเจ้าหงสาวดีในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ พ.ศ. 2129 ภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ ทำให้เข้าใจว่า ค่ายสร้างด้วยไม้ไผ่ (2) แต่เมื่อได้พิจารณาจากหนังสือพงศาวดารต่างๆที่กล่าวถึงการสร้างค่าย เช่น ประชุมจดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ 3 (3) ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) (4) และหนังสือโคลงภาพพระราชพงศาวดาร(5) ตลอดจนร่องรอยค่ายยั้งทัพสมเด็จพระนเรศวร-มหาราชที่เมืองงาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่เสด็จยกทัพไปตีกรุงอังวะ ใน พ.ศ.2142 ซึ่งมีรั้วค่ายเป็นไม้สักผ่าซีกขนาดใหญ่เหลืออยู่Ùè (6) จึงทำให้เข้าใจว่าค่ายบางระจันในสมัยที่เกิดสงครามกับพม่านั้นคงจะสร้างด้วยไม้จริง เพื่อความมั่นคงแข็งแรง และคงจะสร้างด้วยไม้เบญจพรรณซึ่งหาได้ในท้องถิ่นนั้น ดังนั้น ค่ายบางระจันจำลองที่จะสร้างขึ้นนี้ จึงใช้ไม้เบญจพรรณ
ลักษณะค่าย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2493 อธิบายคำว่า "ค่าย" ว่า ที่พักของกองทัพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเกี่ยวกับเรื่องค่ายไว้ในลายพระหัตถ์ถึงสมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า (7) "ค่าย คู ประตู หอรบ" รวมสิ่งซึ่งสร้างสำหรับป้องกันศัตรูอยู่ใน 4 คำนี้หมด ยังมีรอยที่ตั้งทัพรบศึกครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปรากฏอยู่ในแขวงจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี รอยที่ตั้งทัพครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรบพม่าก็ยังปรากฏอยู่ที่เมืองไทรโยค ดูลักษณะเหมือนกันหมด เมื่อทำนั้น ขุด "คู"รอบๆ เอาดินที่ขุดขึ้นพูนทำเชิงเทินข้างในตลอดแนวคู มี "ประตู"ทางเข้าออกเป็นระยะ ทำเชิงเทินยื่นออกไปเป็น "หอรบ" เป็นระยะสำหรับยิงศัตรูทางด้านสกัด ที่บนเชิงเทินเอาไม้ปัก "ค่าย" บังตัวคนที่ต่อสู้มิให้ถูกศัสตราวุธ และบังตาศัตรูด้วย ที่ตั้งทัพที่เขาเรียกรวมว่า "ค่าย" ประกอบด้วยองค์ 4 อันมีชื่อเรียกในภาษาไทยดังกล่าวมา" ค่ายบางระจันจำลองที่สร้างขึ้น ถือว่าเป็นอนุสาวรีย์ จึงเพียงแต่สันนิษฐานให้ใกล้ ความจริงที่สุด ซึ่งประกอบด้วยเชิงเทิน ระเนียด ป้อมและหอคอย 5 ป้อม (8) คือป้อมใหญ่ 2 ป้อมป้อมเล็ก 3 ป้อม อยู่ที่มุมทิศตะวันออกป้อมหนึ่ง และทางทิศตะวันตก 2 ป้อม ตัวป้อมสูง 8 เมตรกว้าง 4.60 เมตร มีหอคอยหลังคาเหลี่ยมทรงคล้ายมณฑป มุงด้วยหญ้าคาหรือแฝกกว้าง 2.50 เมตร เฉพาะป้อมใหญ่มีพื้น 3 ชั้น ป้อมเล็กมี 2 ชั้น มีบันไดขึ้นลง กำแพงค่ายหรือระเนียดใช้ไม้เนื้อแข็งทุบเปลือกทาด้วยน้ำมันดิน กำแพงป้อมรักษาการมีลักษณะการเรียงเสาสามต้นให้สูงขึ้นมา สลับกับเสาสองต้นเป็นระยะสำหรับกำบังตัวตามแบบใบเสมาของกำแพง ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า ลูกป้อม เสาระเนียดทั้งหมดเสี้ยมปลายแหลมปักอยู่ในคอนกรีตซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับดินเดิม 1 เมตร วิธีนี้จะทำให้ค่ายตั้งอยู่ทนนานกว่าฝังเสาในดินธรรมดา หลังค่ายยกเป็นเนินดินสูงประมาณ 1.20 เมตร ค่ายบางระจันจำลองนี้มีความยาวทั้งหมดประมาณ 175.25 เมตร ค่าก่อสร้างใช้งบประมาณของจังหวัดสิงห์บุรี เป็นเงิน 150,000 บาท เริ่มก่อสร้างประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยบริษัทประยงค์สหการก่อสร้างจำกัด สร้างเสร็จประมาณเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2515
สถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ จังหวัดสิงห์บุรีได้จัดซื้อที่ดินฝั่งถนนตรงข้ามค่ายบางระจัน 100 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2508 เพื่อใช้เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน และจะจัดเป็นอุทยานสำหรับพักผ่อนด้วย ในการประชุมในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2509 ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอว่าจะขอใช้ที่ดิน 15 ไร่ เป็นที่ก่อสร้างสถานที่ทำการกิ่งอำเภอค่ายบางระจันตลอดจนบ้านพักข้าราชการ ฉะนั้น เพื่อให้แผนผังสอดคล้องกลมกลืนกับอนุสาวรีย์ คณะกรรมการจึงขอให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบผังอนุสาวรีย์ตลอดจนที่ตั้งอาคารสถานที่ราชการทั้งหมด ส่วนอนุสาวรีย์นั้นจะต้องสร้างให้ได้แนวกับวิหาร พระอาจารย์ธรรมโชติหลังเดิม หันหน้าอนุสาวรีย์มาทางค่ายบางระจัน แผนผังบริเวณทั้งหมดนี้ นางจันทร์ลัดดา น้ำทิพย์ สถาปนิกเอก (9)กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ กรมศิลปากรได้เสนอหุ่นจำลองอนุสาวรีย์วีรชน หุ่นจำลองพระอาจารย์ธรรมโชติ ตลอดจนหุ่นจำลองผังบริเวณที่ตั้งอนุสาวรีย์ สถานที่ตั้งหน่วยราชการกิ่งอำเภอค่ายบางระจันต่อคณะกรรมการในการประชุมวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2509 คณะกรรมการลงมติเห็นชอบรูปจำลองอนุสาวรีย์และอนุมัติให้ดำเนินการปั้นหล่อได้ ครั้นเมื่อพิจารณาแผนผังอนุสาวรีย์และอาคารสถานที่ราชการแล้ว เห็นว่าอยู่ใกล้อนุสาวรีย์มากเกินไปจะทำให้อนุสาวรีย์ขาดความสง่างาม ควรย้ายสถานที่ราชการไปไว้ในที่ดินแปลงอื่น ที่ดิน 100 ไร่นี้จะใช้สำหรับสร้างอนุสาวรีย์อย่างเดียว บริเวณที่เหลือจัดทำเป็นอุทยาน
การปั้นรูปหล่ออนุสาวรีย์ กองหัตถศิลป กรมศิลปากร เริ่มดำเนินการปั้นรูปต่างๆด้วยดินเหนียว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2509 เดือนมกราคม พ.ศ. 2510 รูปปั้นแล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่เหลือแต่รูปนายทองเหม็นขี่กระบือ และแผ่นแสดงเหตุการณ์ 2 แผ่น กับจารึก 1 แผ่น เนื่องจากรูปปั้นบางรูปใกล้จะเสร็จถึงขั้นถอดพิมพ์จากดินเหนียวเป็นปูนปลาสเตอร์ได้แล้ว ฉะนั้นกรมศิลปากรจึงเชิญคณะกรรมการมาตรวจพิจารณาในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2510 คณะกรรมการอนุมัติให้ดำเนินการขั้นต่อไปได้ อนึ่ง ขณะดำเนินการปั้นรูปอนุสาวรีย์นั้น กองหัตถศิลปได้ส่งนาย บุญส่ง นุชน้อมบุญ ช่างปั้นผู้หนึ่งไปติดต่อขอถ่ายภาพและสเก็ตช์แบบอาวุธตลอดจนปืนสมัยอยุธยาจากพิพิธภัณฑ-สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาประกอบการปั้นด้วย เมื่อถอดพิมพ์รูปปั้นอนุสาวรีย์เป็นปูนปลาสเตอร์แล้ว คณะกรรมการได้มาตรวจพิจารณาในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2510 อนุมัติให้หล่อเป็นรูปโลหะ ส่วนแผ่นภาพประกอบแท่นฐานอนุสาวรีย์นั้น คณะกรรมการมีมติว่า การมีภาพประกอบ จะทำให้แท่นฐานมีลักษณะขาดความแข็งแรงมั่นคง และในแผ่นภาพมีเรื่องราวซ้ำกับท่าทางของภาพปั้นอนุสาวรีย์ ทั้งจะทำให้กลุ่มอนุสาวรีย์วีรชนทั้ง 11 ขาดความเด่นลงได้ ฉะนั้นจึงขอให้ตัดออก กรมศิลปากรได้ดำเนินการปั้นหล่ออนุสาวรีย์เป็นรูปโลหะเสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะนำไปติดตั้งได้ในพ.ศ. 2512 ช่างปั้นที่ร่วมงานมี นายสนั่น ศิลากรณ์ นายสุกิจ ลายเดช นายอนิก สมบูรณ์ นายประเทือง ธรรมรักษ์ นายพนม สุวรรณนารถ นายขวัญเมือง ยงประยูร นายบุญส่ง นุชน้อมบุญ นายสาโรช จารักษ์ นายแหลมเทียน คชะภูติ นายสุนทร ศรีสุนทร ได้ปั้นรูปวีรชนดังนี้
อนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติ
ความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการสร้างวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติจำลอง เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2509 เนื่องจากคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันเห็นว่าพระอาจารย์ธรรมโชติเป็นพระสงฆ์ ไม่ควรสร้างอนุสาวรีย์อยู่กับวีรชนค่ายบางระจันที่เป็นฆราวาส (10) ฉะนั้นจึงขอให้กรมศิลปากรออกแบบรูปหล่ออนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติ และวิหารที่จะประดิษฐานอนุสาวรีย์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา กรมศิลปากรได้เสนอหุ่นจำลองอนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติต่อคณะกรรมการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2509 นายสนั่น ศิลากรณ์ ช่างศิลปเอกกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ แต่ขอให้แก้ไขฐานรองรับรูปพระอาจารย์ธรรมโชติให้ลดลง ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นจริง เช่นนั่งบนตั่งกำลังบริกรรมทำน้ำพระพุทธมนต์เป็นต้น และอนุมัติให้ดำเนินการปั้นหล่อตามแบบได้ รูปพระอาจารย์ธรรมโชติ ปั้นเป็นรูปพระภิกษุสูงอายุ ขนาดเท่าจริงนั่งขัดสมาธิหลับตาในท่าบริกรรม มือทั้ง 2 วางซ้อนกันเหนือตัก มีสายตะกรุดและมงคลอยู่ในมือ รูปอนุสาวรีย์หล่อด้วยโลหะทองเหลืองผสมทองแดง ทาน้ำยารมดำ นอกจากนี้มีสิ่งประกอบอนุสาวรีย์คือ 1. บาตรน้ำมนต์
หล่อด้วยทองเหลืองผสมทองแดง กองหัตถศิลปได้เริ่มดำเนินการปั้นหุ่นพระอาจารย์ธรรมโชติด้วยดินเหนียวพร้อมกับรูปวีรชนอื่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2509 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2510 ก็พร้อมที่จะถอดพิมพ์เป็นปูนปลาสเตอร์ได้ คณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันได้มาตรวจพิจารณารูปปั้นในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2510 และได้ตรวจพิจารณารูปปลาสเตอร์ ณ โรงปั้นหล่อ กองหัตถศิลป กรมศิลปากร ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2510 มีมติให้ดำเนินการหล่อรูปโลหะได้ กองหัตถศิลปดำเนินการเสร็จในปี พ.ศ. 2512
การก่อสร้างวิหารจตุรมุข วิหารสำหรับประดิษฐานรูปอนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติ นายประเวศ ลิมปรังษี สถาปนิกเอก กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ เป็นวิหารจตุรมุข มีบันไดทางขึ้น 3 ทาง ได้เสนอแบบแปลนวิหารให้คณะกรรมการพิจารณา พร้อมกับรูปหุ่นจำลองพระอาจารย์ธรรมโชติ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2509 และได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการ เริ่มก่อสร้างในพ.ศ. 2513 จังหวัดสิงห์บุรีเป็นผู้เรียกประกวดราคาจ้างเหมาบริษัทพรหมวิวัฒน์ประมูลได้ในราคา 220,000 บาท เมื่อเริ่มขุดหลุมรากฐานตามผังได้ศูนย์หันหน้าตรงกับอนุสาวรีย์วีรชน วิหารใหม่ไม่ขนานกับวิหารเดิม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เก้าต้นเสนอว่า ราษฎรอยากให้รูปพระอาจารย์ธรรมโชติหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามวิหารเดิม คณะกรรมการจึงมีมติให้สร้างวิหารให้ขนานกับวิหารเดิม วิหารหันหน้าตรงกับอนุสาวรีย์วีรชน (11) และหันหน้ารูปพระอาจารย์ธรมโชติไปทางทิศตะวันออก วิหารใหม่นี้อยู่ทางทิศเหนือของวิหารเดิม เมื่อปักผังจึงให้วิหารตั้งฉากกับแกนซึ่งวัดจากแกนศูนย์กลางวิหารเก่าเป็นเส้นตรงถึงศูนย์อนุสาวรีย์วีรชน สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2515 พร้อมด้วยแท่นหินอ่อนภายในสำหรับตั้งอนุสาวรีย์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 310,000 บาท ใช้งบประมาณสลากกินแบ่งส่วนของจังหวัดและกองหัตถศิลป กรมศิลปากร ได้จัดทำจารึกหินอ่อนประกาศเกียรติคุณพระอาจารย์ธรรมโชติติดไว้ที่วิหารด้วย ในคราวที่ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปตรวจการก่อสร้างตามโครงการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 มีความเห็นว่าวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติสร้างเสร็จแล้ว หากอัญเชิญอนุสาวรีย์เข้าไปประดิษฐานภายในจะมีผู้เข้าไปปิดทองที่รูปอนุสาวรีย์มาก อาจจะทำให้อนุสาวรีย์สกปรกและชำรุดง่าย เห็นว่าไม่สมควรให้ปิดทองที่องค์จริง แต่ควรสร้างองค์จำลองขนาดเล็กกว่าของจริงไว้ที่หน้าวิหาร (กลางแจ้ง) ทำซุ้มมีหลังคา และควรมีที่บูชาเป็นต้นว่ากระถางธูป ราวเทียน ตลอดจนที่วางดอกไม้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มาสักการะ แต่มิได้จัดสร้างตามคำแนะนำ เพราะคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามศรัทธาของประชาชน จังหวัดสิงห์บุรี ได้จัดขบวนแห่อัญเชิญรูปอนุสาวรีย์พระอาจารย์ธรรมโชติจาก กรมศิลปากรในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2517 เวลา 13.00 น. ประดิษฐานที่ศาลากลางจังหวัด สิงห์บุรี ให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำเนื่องในเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราว รุ่งขึ้นจึงอาราธนาไปยังวิหาร ณ วัดโพธิ์เก้าต้นเพื่อทำบุญฉลองอีกครั้งหนึ่ง
คำจารึกอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน และจารึกวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ ร่างคำจารึกครั้งที่ 1 ในการดำเนินงานปั้นหล่อและจัดทำคำจารึกอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน กรม-ศิลปากรได้มอบให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์เป็นผู้ตรวจสอบประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวีรกรรมของวีรชนค่ายบางระจัน และเรียบเรียงคำจารึก โดยขั้นแรก กำหนดทำแผ่นจารึกที่แท่นฐานอนุสาวรีย์ด้วยทองแดงขนาด 72x185 เซนติเมตร และจะหล่อแผ่นจารึกไปพร้อมกับการหล่อ รูปอนุสาวรีย์วีรชน กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้เสนอร่างคำจารึกให้พิจารณา 4 แบบ ผู้ร่างคือ นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ผู้อำนวยการกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และนางละม่อม โอชกะ หัวหน้าแผนกประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี (12) ที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันได้พิจารณาร่างคำจารึกนี้รวม 2 ครั้ง ต่อมา ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจัน ได้แก้ไขร่างจารึกใหม่เป็นแบบที่ 5 ซึ่งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันได้ลงมติให้ใช้ร่างจารึกนั้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2512 ร่างคำจารึกครั้งที่ 2 ต่อมาใน พ.ศ. 2514 กองหัตถศิลป กรมศิลปากร กำหนดจะจัดทำแผ่นจารึกด้วยหินอ่อนสีขาว ทั้งนี้โดยได้รับเงินค่าจัดทำจากจังหวัดสิงห์บุรี เป็นเงิน 11,000 บาท กรมศิลปากรจึงมอบให้กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ร่างคำจารึกใหม่ และขอให้ร่างคำจารึกติดผนังวิหาร พระอาจารย์ธรรมโชติด้วย จารึกที่กำหนดไว้นี้เป็นหินอ่อนสีขาว ขนาด 89x194 เซนติเมตร กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้เสนอร่างคำจารึก 3 แบบ นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ผู้อำนวยการ กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ และนางสายไหม จบกลศึก หัวหน้างานประวัติศาสตร์ เป็นผู้เรียบเรียง ได้นำร่างคำจารึกเสนอที่ประชุมในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2515 และนายดำเนิน รตานนท์ ผู้อำนวยการกองหัตถศิลปได้เสนอว่า ควรทำผังรูปวีรชนไว้ด้วย เพื่อประชาชนจะได้ทราบว่ารูปไหนคือใคร ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณอีก 5,000 บาท
ร่างคำจารึกครั้งที่ 3 ต่อมากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้รับมอบให้แก้ไขคำจารึกเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันอีก 4 ครั้ง รวมเป็น 7 ครั้งด้วยกัน ครั้งสุดท้าย นางกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เป็นผู้เรียบเรียงเสนอ 2 แบบ คือ 1. คำจารึกอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน
1 แบบ ที่ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะค่ายบางระจันได้พิจารณาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ได้แก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย และอนุมัติให้กองหัตถศิลปจัดทำคำจารึกนำไปติดตั้ง ณ อนุสาวรีย์ต่อไป
จารึกอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อเดือนสาม ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ ตั้งแต่เดือนสี่
ปีระกา พุทธศักราช ๒๓๐๘ จนถึงเดือนเจ็ด ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙
รัฐบาลและประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ขึ้น
คำจารึกวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ พระอาจารย์ธรรมโชติ วัดเขานางบวช ซึ่งมาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น
ได้ประสาทวิทยาคมบำรุงขวัญวีรชนค่ายบางระจันในการสู้รบกับพม่า รัฐบาลและประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันสร้างวิหารนี้ขึ้น
|