![]() |
บางระจัน อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์ (*) บางระจัน ของ ไม้ เมืองเดิม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง แม้ว่าตัวละครเอกทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย คือทัพกับแฟงจะเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้ประพันธ์ และเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลัก แต่ผู้ประพันธ์ก็ได้นำบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เข้ามาใส่เป็นตัวละครในนวนิยาย และให้มีบทบาทสำคัญในการที่จะก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆในเรื่อง ซึ่งตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เชื่อกันว่า ไม้ เมืองเดิม คงจะได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงเสียกรุงครั้งที่สองมากมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้ใช้พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเป็นหลักในการสร้างเหตุการณ์ในนวนิยาย เพราะเห็นได้ว่ารายละเอียดต่างๆ นั้น ดำเนินตามเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับนี้ มีแต่เหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับเรื่องรักใคร่ส่วนตัวระหว่างทัพกับแฟง และตัวละครรองอีกสองสามคนเท่านั้น ที่เป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์แต่งเติมเสริมเข้ามาเพื่อให้นวนิยายมีรสชาติอื่นเพิ่ม นอกเหนือไปจากรสชาติของการสู้รบ นอกเหนือจากนี้แล้ว โครงเรื่องก็เป็นเช่นเดียวกับในประวัติศาสตร์ช่วงนั้น กล่าวคือ เริ่มต้นด้วยการรวมตัวกันของชาวบ้านระจัน การต่อสู้ป้องกันค่ายแปดครั้งตลอดห้าเดือน และจบลงด้วยการยอมสละชีพเพื่อรักษาแผ่นดิน ส่วนแก่นเรื่องหลักก็คือการเชิดชูวีรกรรมของวีรบุรุษที่ยอมพลีชีพเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กล่าวได้ว่า เรื่องบางระจันนี้เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเคารพประวัติศาสตร์มากที่สุดเล่มหนึ่ง โครงสร้างของนวนิยายแบ่งเป็นสี่ตอน แต่ละตอนมีชื่อซึ่งสอดคล้องกับแก่นเรื่อง โดยตอนที่ ๑ มีชื่อว่า มโนมอบพระผู้เสวยสวรรค์ ตอนที่ ๒ แขนมอบถวายทรงธรรม์เทอดหล้า ตอนที่ ๓ ดวงใจมอบเมียขวัญแลแม่ และตอนที่ ๔ เกียรติศักดิ์รักของข้ามอบไว้แก่ตัว ในตอนแรกเปิดเรื่องขึ้นที่บ้านคำหยาด บ้านของทัพตัวละครเอกฝ่ายชาย ซึ่งเป็นทหารม้ายกไปรบพม่า แต่พ่ายแพ้กลับมาแล้วไม่ยอมกลับเข้ารายงานต่อนายทัพ จนต้องหนีการจับกุม และเตลิดต่อไปเป็นโจรปล้นบุคคลที่ไม่เป็นธรรมต่อไพร่ฟ้าประชาชนชาววิเศษชัยชาญและใกล้เคียง และบางครั้งก็ปล้นกองทัพพม่า แต่ด้วยการเตือนสติจากบิดาอดีตทหารอาทมาตที่บวชเป็นภิกษุ จึงกลับตัวกลับใจคิดแทนคุณแผ่นดินด้วยการไปสมทบกับชาวบ้านต่างๆ ที่ไปรวมตัวกัน ณ บ้านระจัน จากตอนที่ ๒ เป็นต้นไป ตัวละครเอกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของค่ายบางระจันและในตอนนี้เองที่วีรชนในประวัติศาสตร์ได้ปรากฏกาย และสร้างวีรกรรมตามที่มีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ โดยเรียงลำดับไปตั้งแต่นายโชติคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย ๒๐ กว่าคน พม่าตามมาเพื่อจับพันเรืองกำนันบ้านระจัน นายแท่นนั้นก็พาคนสองร้อยไปรบกับพม่าเหลือรอดตายไปเพียงตัวนายสองคนไปแจ้งความแก่นายกองที่ตั้งค่ายอยู่ ณ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ ต่อจากนั้นจึงเป็นวีรกรรมการรบทั้งแปดครั้ง ไม้ เมืองเดิมเก็บรายละเอียดทุกประการจากพงศาวดารไว้อย่างไม่ตกหล่น ไม่ว่าจะเป็นชื่อนายทัพทั้งแปดที่เรียงกันมาทำศึกตามลำดับ เริ่มตั้งแต่งาจุนหวุ่นในครั้งแรก ต่อด้วยเยกิหวุ่น ติงจาโบ่ สุรินทจอข่อง แยจออากา จิกแก อากาปันญี และท้ายสุดคือสุกี้พระนายกอง จำนวนไพร่พลที่นายทัพแต่ละคนบัญชาการมาก็ตรงตามข้อเท็จจริง เริ่มจากจำนวนน้อยเพราะชะล่าใจว่า เป็นเพียงกองกำลังชาวบ้านแล้วค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นด้วยความประมาทอีกต่อไปไม่ได้ พลห้าร้อยในครั้งแรกที่งาจุนหวุ่นคุมมาจึงเพิ่มเป็นเก้าร้อยเมื่อครั้งติงจาโบ่ และเป็นพันเศษในคราวสุรินทจอข่องแม่ทัพใหญ่ จนกลายเป็นสองพันในการเผด็จศึกครั้งสุดท้าย วันเวลาและสถานที่ก็ไม่ผิดเพี้ยนจากพงศาวดารโดยจะเห็นว่า ไม้ เมืองเดิม เปิดฉากตอนที่ ๑ ด้วยประโยคที่ว่า "กลางเดือน ๗ เมื่อตะวันบ่าย ความร้อนกลับอบอ้าวยิ่งขึ้น..." คือก่อนหน้าจะเกิดการรวมตัวกันที่บางระจันประมาณแปดเดือนทำให้มีโอกาสเปิดตัวพระเอกนางเอกปูพื้นแก่นเรื่องรองคือรักระหว่างรบไว้ก่อน จนถึงตอนที่ ๒ เมื่อเริ่มกล่าวถึงเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ สิงห์บุรี สรรค์บุรี พากันคิดอุบายล่อลวงพม่าเวลาก็ตรงตามประวัติศาสตร์ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า "ครั้น ณ เดือนสาม ปีระกา สัปศก พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญและเมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า" ตอนที่ ๒ ของนวนิยายก็เริ่มด้วยประโยคที่ว่า "เดือน ๓ กำลังฤดูร้อนจะย่างถึง หากปีนี้จะเหมือนปีระกาอื่นแล้วเดือนสามก็พ้นหน้านามาเป็นหน้าข้าวหน้าลาน" หลังจากนั้นผู้ประพันธ์ก็จะแจ้งเวลาเป็นระยะๆ เมื่อฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ไปในการศึกครั้งที่ ๕ ผู้อ่านก็จะทราบว่าเป็นกลางเดือน ๖ ด้วยข้อความที่ว่า
ในการศึกครั้งที่ ๗ ไม้ เมืองเดิมก็จะบอกกล่าวไว้ว่าเป็น "เดือน ๗ ปีจอนี้อันเป็นศึกครั้งที่ ๗ ซึ่งอากาปันญียกไปไปเสียค่ายบ้านขุนโลก และตัวเองก็เสียชีวิตในค่ายรบ" และการรบครั้งสุดท้าย ก็มีการระบุวันเดือนปีอย่างชัดเจนตรงตามพงศาวดารซึ่งบันทึกไว้ว่า "ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก "ในนวนิยาย" วันซึ่งชีวิตว้าเหว่ของชาวค่ายทั้งหลายไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า ๒ ค่ำข้างแรมวันจันทร์เดือน ๘ ปีจอนี้จะฝากความเศร้าสลดและน้ำตาไว้แก่คนอยู่หลัง" ทางด้านฉาก ผู้ประพันธ์สร้างฉากอันเป็นที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ อย่างพยายามรักษาข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก่อนการศึกครั้งแรกมีการปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังของบ้านระจันซึ่งมีนายแท่นอาสาออกนำหน้า ในพงศาวดารกล่าวว่า "พม่าประมาณร้อยเศษ ตามมาจับพันเรือง มาถึงบ้านระจันก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำฟากข้างโน้น นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนให้รักษาค่าย แล้วก็พาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า" ในนวนิยายรายละเอียดนี้ก็ปรากฏอยู่โดยไม่ผิดเพี้ยน
เช่นเดียวกับในการรบครั้งที่๔นี้ ซึ่งพงศาวดารจารึกไว้เกิดการศึก ณ ทุ่งบ้านห้วยไผ่ บริเวณคลองสะตือสี่ต้น กำลังของชาวบ้านระจันคอยรับทัพพม่าที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่คนละฟากคลอง ทั้งสองฝ่ายยิงปืนโต้ตอบกัน ฝ่ายไทยขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลองแล้วยกพลข้ามคลองไปตะลุมบอนด้วยอาวุธสั้น ฉากตอนนี้ในนวนิยายก็ถูกต้องตรงกัน แน่นอนว่าต้องมีการบรรยายขยายความ เพราะในตอนนี้ได้แทรกวีรกรรมของตัวละครสมมติเข้าไปด้วย แต่มิได้เบี่ยงเบนไปจากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ กลับเป็นความสามารถของผู้ประพันธ์เสียอีก ที่สอดแทรกการกระทำของตัวละครที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ ให้อยู่ร่วมกับตัวละครที่มาจากบุคคลจริงได้อย่างประสานกลมกลืน
สถานที่ที่สำคัญที่สุดอันเป็นที่เกิดของวีรกรรมนั้นก็คือ บ้านระจัน ซึ่งเหล่าวีรชนได้ช่วยกันสร้างค่ายล้อมนั้น ไม้ เมืองเดิม ได้บรรยายไว้อย่างชัดเจนว่ามีสองค่ายคือค่ายน้อยกับค่ายใหญ่ ซึ่งแสดงว่าผู้ประพันธ์จับสังเกตได้จากพงศาวดารว่า ค่ายอันเป็นที่เกิดของวีรกรรมอันประทับใจนี้มิได้มีค่ายเดียวดังที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจกัน นับตั้งแต่แรกเมื่อกล่าวถึงตอนตั้งค่ายใหม่ๆ ผู้อ่านนวนิยายก็จะได้รับทราบว่าชาวบ้านระจันและที่มาจากที่อื่น "ช่วยกันหักร้างถางพงเอาไม้ป่ามาปลูกค่ายมั่นล้อมรอบบ้านระจันเป็นสองค่าย แล้วชักปีกกาถึงกันตลอดทั้งค่ายเล็กค่ายใหญ่" เมื่อกล่าวถึงค่ายก็จะมีข้อความที่บ่งบอกอย่างชัดแจ้งว่าเป็นสองค่าย เช่น "ค่ายเล็กที่ปลูกโอบต่อค่ายใหญ่เป็นปีกกาไปโน้น" ที่สำคัญคือตามประวัติศาสตร์นั้นค่ายน้อยแตกก่อนค่ายใหญ่ด้วยน้ำมือของสุกี้พระนายกอง ที่ขุดอุโมงค์เข้าไปใกล้ค่ายแล้วปลูกหอรบขึ้นสูง เอาปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่าย จนคนไทยตายลงเป็นอันมาก ค่ายน้อยจึงถูกตีแตกก่อน ไม้ เมืองเดิม สร้างฉากอย่างเคารพรายละเอียดตามนี้ ดังคำบรรยายที่ว่า
วีรบุรุษจากประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ศึกบางระจันนั้น ได้รับการจำลองนำมาใส่ไว้ในนวนิยายของ ไม้ เมืองเดิม อย่างไม่ทำลายจินตนาการของผู้อ่านเลย เนื่องจากทุกท่านล้วนองอาจกล้าหาญ รักชาติรักแผ่นดินยิ่งชีพตามที่ผู้อ่านได้รับรู้จากประวัติศาสตร์ ไม้ เมืองเดิม กล่าวถึงทุกท่านอย่างไม่ตกหล่น ไม่ว่าจะเป็นนายแท่นชาวบ้านศรีบัวทองแขวงเมืองสิงห์ นายโชติ นายอิน นายเมือง ชาวบ้านศรีบัวทองด้วยกัน นายทองแก้วบ้านโพธิ์ทะเล นายดอกไม้ชาวบ้านกรับ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กล้าหกท่านแรกที่รวมตัวกันออกอุบายลวงฆ่าพม่า แล้วอพยพครัวเรือนมาปักหลัก ณ บ้านระจัน พันเรืองกำนันบ้านระจัน นายทองเหม็นผู้ใหญ่บ้าน นายทองแสงใหญ่ นายจันทร์เขียวสมญา"จันทร์หนวดเขี้ยว" และขุนสรรค์กรมการเมืองสรรค์บุรี ไม้ เมืองเดิม วาดภาพท่านเหล่านี้อย่างเต็มไปด้วยเลือดเนื้อชีวิตจิตใจ สอดคล้องกลมกลืนไปกับเหตุการณ์ในเรื่องทุกบททุกตอน ตลอดจนบทสนทนาเจรจาความ ล้วนทำให้ผู้อ่านคล้อยตามว่า บุคคลจริงในประวัติศาสตร์ก็คงจะไม่ต่างไปจากที่ผู้ประพันธ์นำเสนอไว้ในนวนิยาย นายโชติปรากฏต่อสายตาผู้อ่านในฉากที่แฟงตัวละครเอกฝ่ายหญิงจะล่อพม่ามาให้ชาวบ้านชำระแค้น ตัวละครที่เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ปราศรัยกับตัวละครจากจินตนาการอย่างไม่ขัดเขิน ผู้อ่านไม่รู้สึกสะดุดเลยกับบทสนทนาระหว่างตัวละครทั้งสอง ไม่เพียงใส่บทเจรจาให้บุคคลจริงในประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม้ เมืองเดิม ยังใส่ความรู้สึกนึกคิดให้ท่านด้วย
เช่นเดียวกับนายทองเหม็น นายจันทร์ ขุนสรรค์ พันเรือง เมื่อแรกพบกับทัพตัวละครเอกฝ่ายชายที่นำพวกพ้องนายกองม้าบ้านคำหยาดเข้าสวามิภักดิ์ โดยแสดงความจริงใจด้วยการคุกเข่าและปลดดาบสะพายหลังวางลงกับพื้น ผู้ประพันธ์บรรยายความรู้สึก อากัปกิริยา ตลอดจนคำพูดของเหล่าบุคคลจริงจากประวัติศาสตร์ได้อย่างสมจริง
ไม้ เมืองเดิม วาดภาพเหล่าผู้กล้าอย่างสง่างาม แม้จะเป็นเพียงชาวบ้านไร้ยศฐาบรรดาศักดิ์ มิได้เป็นทหารหลวงแห่งราชธานีศรีอยุธยา ทว่าล้วนแต่ฮึกหาญเข้มแข็งสมชาย ปกป้องผู้หญิง เด็ก คนชรา สมัครสมานสามัคคีในการออกศึกเพื่อรักษาแผ่นดิน ผู้อ่านจะได้เห็นภาพพันเรือง นายจันทร์ นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ ทำหน้าที่หัวหน้าในการประชุมลูกบ้านโดยยืนบนครกตำข้าวหลายใบที่คว่ำอยู่ท่ามกลางฝูงชน คอยปลุกปลอบใจมิให้ระย่อท้อถอยหวาดเกรงศัตรู นำชาวบ้านหักโค่นไม้ป่ามาปลูกค่ายล้อมรอบบ้านระจันเป็นสองค่ายแล้วชักปีกกาถึงกัน ตระเตรียมอาวุธสำหรับการสู้แบบตะลุมบอน แบ่งหน้าที่กันตามความถนัดตั้งเป็นหมวดเป็นกอง เช่น นายจันทร์ผู้ชำนาญภูมิประเทศทั้งทุ่งโล่งและดงทึบก็ได้รับหน้าที่เป็นแม่กองคอยสอดแนมสืบข่าวพม่า เมื่อยามออกศึกก็รอบคอบในการวางตัวให้เหมาะกับแผนการยุทธ์ ดังในคราวที่ปะทะกับสุรินทจอข่อง ซึ่งเป็นการรบครั้งที่ ๔ ต่างตระหนักดีว่า นายทัพที่ยกมานั้นเป็นนายทหารใหญ่แม่ทัพค่ายวิเศษไชยชาญ ผู้แต่งกองโจรออกปล้นสะดมก่อความเดือดร้อนให้แก่ชาวศรีอยุธยามาตั้งแต่ต้น เหล่าหัวหน้าบ้านระจันจึงจัดทัพโดยไม่ประมาท ตามพงศาวดารนั้นการศึกครั้งนี้มีนายแท่นเป็นแม่ทัพ ปีกขวาแม่ทัพใหญ่คือนายทองเหม็น ปีกซ้ายมีพันเรืองเป็นแม่ทัพ ในนวนิยายผู้อ่านก็จะได้ทราบสิ่งเดียวกัน แต่ผนวกด้วยรสทางวรรณศิลป์อันเนื่องจากความสามารถของผู้ประพันธ์ ผสมผสานไปด้วยจินตนาการที่ผู้ประพันธ์ปรุงแต่งเพิ่มเติมเข้าไป นายแท่นจึงออกศึกพร้อมกับนายทัพและอนุญาตให้ฝ่ายหลังข้ามคลองเข้ารบประชิดตะลุมบอนก่อน ไม้ เมืองเดิม ให้ภาพของความเป็นผู้นำที่รู้จักตัดสินใจเปี่ยมด้วยเมตตาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ขณะเดียวกันก็เป็นปุถุชนที่อ่อนไหวได้เฉกเช่นคนสามัญธรรมดาทั่วไป
วาจาที่เปล่งจากปากของวีรบุรุษในประวัติศาสตร์เหล่านี้ล้วนแต่มีพลังกระทบใจผู้อ่าน ผู้ประพันธ์ประดิษฐ์ถ้อยความอย่างได้อารมณ์ โดยยังคงความเรียบง่ายให้สมกับความจริงที่ว่า ผู้กล่าวเป็นชาวบ้าน วาจาของผู้นำชาวบ้านมิได้วิจิตรอลังการ เต็มไปด้วยศัพท์สูงแบบคนในรั้วในวัง ทว่าจริงใจและแสดงออกอย่างสูงสุดถึงความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน คำพูดปลุกใจของพันเรืองกำนันบ้านระจัน เมื่อจะเข้าต่อกรกับกองกำลังของสุรินทจอข่องในการประจัญบานครั้งที่ ๔ จึงจับใจผู้อ่านและสะท้อนบุคลิกของชายชาติอาชาไนยอย่างแท้จริง
คำพูดของนายจันทร์ก่อนการรบครั้งที่แปดอันเป็นการรบครั้งสุดท้ายก็จับใจไม่แพ้กัน
คำกล่าวตอบของขุนสรรค์กรมการเมืองผู้แม่นปืน
จะเห็นได้ว่า ไม้ เมืองเดิม มิได้กลัวที่จะวาดภาพวีรบุรุษบ้านระจันอย่างเต็มไปด้วยเลือดเนื้อ เขาให้ตัวละครที่เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ออกมามีบทบาทเช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ มิได้เป็นเพียงให้เดินไปเดินมาเป็นเครื่องประกอบฉาก เพียงเพื่อให้นวนิยายมีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์เท่านั้น ตัวละครเหล่านี้ถูกสร้างให้สมจริงจนราวกับจะจับต้องได้ ผู้อ่านสามารถรู้กระทั่งความนึกคิดของตัวละครเหล่านี้ ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึก เป็นตัวจักรที่ทำให้เรื่องราวดำเนินไปได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ฉากรบที่เด่นๆ ในเรื่องนอกจากจะเป็นฉากที่แสดงความสามารถของตัวละครเอก สมมติแล้วก็จะเป็นฉากวีรกรรมของชาวบ้านวีรบุรุษเหล่านี้นี่เอง ซึ่งผู้ประพันธ์ใส่ใจมากในการบรรยายให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วมตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นฉากแรกที่นายโชติลวงฆ่าพม่า ฉากการสู้รบทั้ง ๘ ครั้งที่ตามมา และฉากการรบครั้งสุดท้ายที่สุดแสนสะเทือนใจ แต่ละครั้งผู้อ่านจะนึกเห็นภาพตามไปอย่างง่ายดาย ถึงความกล้าหาญไม่กลัวตายของวีรชนผู้นำเหล่านี้ เช่นฉากอันลือเลื่องที่ใครๆก็รู้จักเมื่อกล่าวถึงศึกบางระจันก็คือ ฉากที่นายทองเหม็นขี่ควายเผือกออกไปต่อกรกับพม่า การบรรยายฉากนี้มีสัมฤทธิผลอย่างยิ่งในการสร้างตัวละครให้มีบุคลิกตรงตามประวัติศาสตร์ ความมุทะลุดุดันของนายทองเหม็นที่ยอมตายพร้อมควายคู่ชีพ เพียงขอให้มือแตะระเนียดค่ายของฝ่ายข้าศึกได้ก็ถือว่ามีชัย ได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างน่าระทึกใจ เหตุการณ์อันพิเศษไม่ธรรมดานี้ราวกับเกิดขึ้นจริงต่อหน้า สะกดให้ผู้อ่านระทึกใจไปกับการสู้รบสะเทือนใจไปกับจุดจบของผู้ใหญ่บ้านระจัน
วีรกรรมของบ้านระจันมิใช่วีรกรรมของนักรบผู้ใดผู้หนึ่ง สิ่งที่ประทับใจอนุชนรุ่นหลังคือ ความร่วมแรงร่วมใจกันสมัครสมานสามัคคีกันต่อสู้อริราชศัตรูอย่างไม่ย่อหย่อนท้อแท้ แม้ว่าจะมีอุปสรรค จนแม้วินาทีสุดท้ายถึงจะรู้อยู่เต็มอกว่าแพ้แน่ ด้วยข้าศึกมีกำลังเหนือกว่าอย่างเปรียบกันไม่ได้ ประกอบกับมีปืนใหญ่ที่ชาวบ้านไม่มี แต่แทนที่จะทิ้งค่ายต่างคนต่างหนี อย่างน้อยก็อาจจะมีชีวิตรอดต่อไป กลับเป็นว่า บรรดาหัวหน้าผู้กล้ายังคงยืนหยัดรวมใจเป็นหนึ่งยอมสละชีพเฝ้าค่าย เอกลักษณ์ของวีรกรรมบางระจันจึงอยู่ที่น้ำใจของหมู่คณะที่เป็นปึกแผ่นมั่นคง ในนวนิยาย ไม้ เมืองเดิมก็รักษาเอกลักษณ์นี้ไว้ จริงอยู่ว่าวีรบุรุษแต่ละท่านก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัวต่างกันไป และผู้ประพันธ์ก็ได้แสดงให้เห็นว่า พันเรืองกำนันมีความเป็นผู้นำสูง นายทองเหม็นขี้เมามุทะลุ ขุนสรรค์ยิงปืนแม่น นายจันทร์ถนัดเป็นกองสอดแนมสืบข่าว นายแท่นเหมาะเป็นแม่ทัพใหญ่ การบรรยายวีรกรรมของแต่ละคนก็จะเน้นความโดดเด่นเหล่านี้ ทว่าสิ่งที่เหนือกว่าความทรนงองอาจเฉพาะตัวก็คือ ความพร้อมพรักเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแม้จะมาจากต่างบางต่างแขวง เมืองสุพรรณ เมืองสิงห์ เมืองสวรรค์ บ้านศรีบัวทอง บ้านกรับ บ้านโพธิ์ทะเล บ้านระจัน แต่เมื่อรวมกันแล้วทุกคนคือคนไทยที่จะไม่ยอมให้ใครมาย่ำยี การบรรยายการรบแต่ละครั้ง ผู้อ่านจึงจะได้ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า วีรชนบางระจันนั้นผนึกกำลังกันโดยประสานงานกันเป็นอย่างดี ฉากการวางกำลังเข้าบุกในการรบครั้งที่สี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน
ในการศึกครั้งสุดท้ายอันเป็นสุดยอดวีรกรรมของนักรบเหล่านี้ แม้จำนวนคนจะร่อยหรอ แต่จิตใจของเหล่าผู้กล้าหาระย่อไม่ ดังนั้นถึงหัวหน้าจะเหลืออยู่เพียงสี่ แต่ก็ยังผนึกกำลังร่วมกันประจญปัจจามิตรโดยไม่ถอยและวางแผนประสานงานกันเช่นเคย เพียงแต่ครั้งนี้สุดที่จะได้ชัยชนะเพราะน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
ยามศึกร่วมสู้ยิบตาเคียงบ่าเคียงไหล่ ยามตายตายเฉกเช่นกันด้วยใจปีติโสมนัสที่ได้รับใช้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตราบจนลมหายใจสุดท้าย ฉากจบเรื่องของนวนิยายเล่มนี้เป็นอีกฉากหนึ่ง ที่นอกจากจะเป็นการปิดฉากวีรกรรมชาวบ้านระจันอย่างไม่ทำให้ผู้อ่านโศกสลดแล้ว ยังเป็นการเน้นย้ำเอกลักษณ์ของเหล่าวีรชนกลุ่มนี้ นั่นคือความมีเอกภาพสมานฉันท์แม้ในภพสวรรค์
วีรชนจากจินตนาการ ด้วยความที่เป็นนวนิยาย ตัวละครเอกทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจึงสร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้ประพันธ์ ทั้งทัพและแฟงทำให้เรื่องราวการสู้รบอันแกล้วกล้าทรหดนี้มีสีสันละเมียดละไมของความรักเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม แก่นเรื่องหลักคือการเชิดชูวีรกรรมของวีรบุรุษก็ยังคงโดดเด่นกว่าแก่นเรื่องรองคือความรักระหว่างทัพกับแฟง ดังนั้นตัวละครสมมติทั้งสองจึงมีลักษณะเช่นเดียวกันกับวีรบุรุษบุคคลจริงจากประวัติศาสตร์ ทัพเป็นนายกองม้าคำหยาดที่เข้าสวามิภักดิ์ต่อเหล่าหัวหน้านักสู้ที่มารวมตัวกัน ณ บ้านระจันและขออาสาออกศึกตั้งแต่ศึกครั้งแรกที่มีงาจุนหวุ่นเป็นแม่ทัพนำกองม้าของตนเข้าลุยพลเท้าให้ขาดกลางเสียขบวนก่อนแล้วจึงเข้าตีกองม้าที่ยกมาเป็นปีก ไม้ เมืองเดิม บรรยายการรบบนหลังม้าและการบัญชาการกองม้าของทัพอย่าง "วิเศษพิสดารประหนึ่งเคยเป็นทหารม้ามาเก่าแก่" (๑) และสามารถบรรยาย "ให้เห็นจริงจังและดูเหมือนทหารม้าอาชีพก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์อย่างนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ผิดความเป็นจริง" (๒)
ทัพมิได้มีฝีมือเก่งฉกาจเฉพาะด้านการรบบนหลังม้าเท่านั้น แม้มิได้อยู่บนหลังอาชาไนย ทัพก็สามารถสู้ได้อย่างไว้ลายอดีตชายชาติทหาร ในฉากการรบครั้งที่สี่ที่ฝ่ายข้าศึกมีสุรินทจอข่องเป็นแม่ทัพใหญ่นั้น ประวัติศาสตร์มิได้ระบุแน่ชัดว่านายทหารไทยชื่อเรียงเสียงไรเป็นผู้ฝ่าเข้าตัดศีรษะแม่ทัพของศัตรู ผู้ประพันธ์ได้อาศัยช่องโหว่ตรงนี้แทรกให้ตัวละครที่ตนสร้างขึ้นเป็นผู้ประกอบวีรกรรมอันสะท้านใจครั้งนี้เสียเลย ดังนั้นทัพจึงกลายเป็นผู้ตัดศีรษะสุรินทจอช่องที่กั้นร่มระย้าอยู่กลางพล โดยก่อนที่จะถึงตัวแม่ทัพก็ได้ประดาบกับทหารเอกจนสามารถปลิดศีรษะของทหารเอกได้อย่างรวดเร็ว แล้วรุกเข้าหาสุรินทจอข่องอย่างไม่ทันให้ตั้งตัว เป็นการเผด็จศึกที่ว่องไวปานสายฟ้าแลบ และเน้นให้ผู้อ่านประจักษ์ความเป็นเลิศในเชิงยุทธ์ของตัวละครเอกผู้สวมบทบาทของบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ที่พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า "พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ" ไม้ เมืองเดิม ให้รายละเอียดของฉากนี้มากกว่าในพงศาวดารมาก บอกผู้อ่านแม้กระทั่งความรู้สึกของแม่ทัพที่อดนิยมฝีไม้ลายมือของพลทหารไทยมิได้
ขณะเดียวกันก็คงข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ไว้อย่างครบถ้วน กระทั่งการกั้นร่มระย้าของสุรินทจอข่องอยู่กลางทัพก็ถูกนำมาใส่เป็นรายละเอียดไว้ด้วย
ผู้ประพันธ์ได้ให้ทัพแสดงฝีมือในการรบหลายครั้ง ขณะที่แฟงนั้นก็ได้มีโอกาสแสดงความเป็นหญิงไทยใจหาญอยู่หลายครั้งเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่ใช่ในระดับเดียวกันกับทัพก็ตามด้วยความที่เป็นสตรีเพศ ครั้งแรกนั้นแฟงทำหน้าที่เป็นเพียงคนล่อพม่าให้หลงเข้ามาติดกับชาวบ้านที่มีนายโชติเป็นผู้นำ แม้จะไม่ต้องจับอาวุธขึ้นสู้กับทหารพม่า เป็นแต่เพียงร้องเพลงใช้เสียงและรูปลักษณ์งดงามวิ่งล่อจากปากดงเข้าไปในป่า กระนั้นแฟงก็อดเกิดความกลัวมิได้ แต่ด้วยความตั้งใจที่จะขอทำคุณทดแทนแผ่นดิน แฟงจึงรวบรวมกำลังใจและความกล้าทำหน้าที่จนสำเร็จ หญิงชาวบ้านร่างเล็กแต่หัวใจยิ่งใหญ่ทำการเสี่ยงอันตรายจนบรรดาบุรุษสามารถกำจัดพม่าที่ชอบออกมาปล้นสะดมชาวบ้านและเอาผู้หญิงไปเป็นนางบำเรอ สำนวนความเปรียบที่ถ่ายทอดอารมณ์ของแฟงในตอนนี้จับใจผู้อ่านอยู่ไม่น้อย
ผู้อ่านจะได้ทราบถึงความกล้าหาญของหญิงไทยในยุคนั้นที่เล่าลือสืบต่อกันมาว่าใจเด็ดไม่แพ้ชาย "มือก็ไกวดาบก็แกว่ง" ครั้งที่สองแฟงได้ออกไปอยู่กลางสนามรบพร้อมกับพี่สาวและเพื่อนหญิงบ้านเดียวกัน ด้วยความที่มิได้รู้ถึงกลศึกของฝ่ายตน บรรดาหญิงทั้งหลายจึงตกอยู่ท่ามกลางการศึก บ้างล้มลุกคลุกคลานหลบอาวุธ บ้างกรีดร้องตามประสาหญิง บ้างก็ต้องอาวุธล้มตายลง แฟง เฟื่องและจวง ยืนหยัดสู้โดยไม่ถอยพิสูจน์ถึงเลือดไทยที่เข้มข้นไม่ด้อยไปกว่าบุรุษเพศเลย
แต่ฉากไหนก็ไม่สะเทือนใจและประทับใจเท่าฉากการรบครั้งสุดท้ายที่แฟงผู้ตั้งครรภ์อ่อนคาดผ้าตะเบงมานจับอาวุธเคียงคู่กับทัพผู้สามีพร้อมกับสังข์และจวง จิตใจของแฟงควรค่าแก่การคารวะเพราะมิใช่มีแต่ตนเองเท่านั้นที่ต่อกรกับศัตรู แต่ยังอุ้มบุตรอยู่ในครรภ์อีกชีวิตหนึ่งด้วย ศิลปะการยุทธ์ใดก็มิเคยฝึกปรือให้ชำนาญมาก่อน แต่เมื่อถึงคราวจวนตัวและทะนงในศักดิ์ศรีของเจ้าของแผ่นดินที่จะไม่ยอมให้ศัตรูหยามเกียรติ แฟงแม้เป็นสตรีก็ปลงแล้วที่จะสละชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมือง แฟงจึงเป็นตัวละครที่ผู้ประพันธ์จงใจให้เป็นตัวแทนของหญิงไทยในสมัยกรุงแตก โอ้ หญิงระจัน หญิงสยามผู้ปลงชีพให้ชาติแล้ว เจ้าแต่งตัวกะทัดรัดผ้าตะเบงมานพร้าหวดแต่พอแรงถือ ( ) ยามศึกยามเข็ญ หญิงสยามใช่จะหนีหน้า หญิงจับอาวุธมาหนุนหลังร่วมตาย วาจาอ่อนเสนาะหูกลับปลอบใจชายให้เหิมศึก เสียงใสไพเราะของเจ้านั้นสะอื้นรักชาติ อ้า ร่างน้อยจักทอดเหนือดินแทนฟูกนุ่มบนเหย้า บทเจรจาของทั้งคู่ที่สั่งเสียว่าจะตายพร้อมกันพร้อมบุตรน้อยในครรภ์ช่างบีบคั้นจิตใจนัก
ยิ่งประโยคสุดท้ายก่อนที่ทั้งคู่จะสิ้นใจ แทนที่จะพร่ำอาลัยซึ่งกันและกัน กลับเป็นว่าฝ่ายชายบอกให้ฝ่ายหญิงลาชาติบ้านเกิดเมืองนอนอันเป็นที่รักยิ่ง ซึ่งแสดงว่ามิได้คิดถึงส่วนตัวแม้สักนิด ในจิตใจของผู้กล้าเหล่านี้ส่วนรวมต้องมาก่อน
(*) จาก อนงค์นาฏ เถกิงวิทย์, เอกสารคำสอน วิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๔. (๑) สุจิตต์ วงศ์เทศ "คำนำเสนอบางระจันของไม้
เมืองเดิม" ใน บางระจัน, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บางหลวง, ๒๕๓๘,
หน้า ๒๐. (๒) อ้างแล้ว
|