![]() |
||
เจ้าพระยาสุรสีห์ เมื่อพระเจ้าตากสินได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ ผ่านพิภพสีมา ณ กรุงธนบุรี เมื่อปีชวด พุทธศักราช ๒๓๑๑ นั้นแล้ว พระมหามนตรีก็ได้ประเดิมศึกกับพม่าเป็นครั้งแรก คือในปีนั้นพระเจ้าอังวะได้มีรับสั่งให้แมงกี้มารหญ่าเจ้าเมืองทวายยกกองทัพเข้ามาสืบดูเมืองไทยว่ายังสงบราบคาบอยู่ หรือว่าจะกำเริบขึ้นประการใดบ้าง แมงกี้มารหญ่าคุมพลทหารเมืองทวายสองหมื่นยกเข้ามาทางเมืองไทรโยคในตอนนั้นเรือรบเก่ายังคงอยู่ที่นั้น จึงได้ยกทัพทั้งบกและเรือลงมา ณ ค่ายตอกระออม แล้วก็ยกเลื่อนลงมาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้ กรมการเมืองสมุทรสงครามได้มีใบบอกให้กราบทูล ครั้นได้ทราบจึงโปรดให้พระมหามนตรีเป็นกองหน้า เสด็จยกกองทัพหลวงไปทางชลมารคถึงเมืองสมุทรสงคราม ให้ทัพหน้าเข้าโจมตี กองทัพพม่าก็แตกฉานไปสิ้นในเพลาเดียว นับว่าพระมหามนตรีได้ชัยชนะประเดิมตำแหน่งเป็นครั้งแรก เมื่อพระมหามนตรี ได้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วก็ได้ไปรับหลวงยกกระบัตร (ด้วง) พี่ชายมารับราชการด้วย และสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์ ทั้งพระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ ได้ออกศึกด้วยกันเป็นครั้งแรกในปีชวดนั้นเอง โดยมีดำรัสให้พระมหามนตรีและพระราชวรินทร์ยกกองทัพขึ้นไปตีพัพพระยาวงศาธิราชซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านขุนทด ได้สู้รบกันอยู่หลายวัน ค่ายพระยาวรวงศาธิราชก็แตก ในการรบนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จ ตั้งพระราชวรินทร์ผู้พี่เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา ตั้งพระมหามนตรีผู้น้องเป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินปราบกรมหมื่นเทพพิพิธได้แล้ว ก็เสด็จกลับมาจากนครราชสีมา และในปีฉลู พุทธศักราช ๒๓๑๒ ขณะที่เกณฑ์กองทัพออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชนั้นเอง พระอุทัยราชา (นักพระองค์ตน) ได้ไปขอทัพญวนมาตีเมืองพุทไธเพชร นักพระรามาธิบดีผู้ครองเมืองสู้ไม่ได้ก็พาสมัครพรรคพวกอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ กรุงธนบุรี จึงมีพระราชดำรัสให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชายกกองทัพพลสองพันไปทางเมืองนครราชสีมาทัพหนึ่ง ให้พระยาโกษาธิบดียกกองทัพพลสองพันไปทางเมืองปราจีนทัพหนึ่ง ไปตีนักพระอุทัยราชาเมืองพุทไธเพชรคืนให้แก่นักพระรามาธิบดีให้จงได้ พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชา เมื่อยกกองทัพไปถึงเมืองนครราชสีมา ก็รวบรวมผู้คนยกไปตีเมืองเสียมราฐได้ ส่วนกองทัพพระยาโกษาธิบดี (สาย) ซึ่งยกไปจากเมืองปราจีนก็ตีได้เมืองปัตบอง พระอุทัยราชาได้ยกกองทัพเรือเข้ามาทางทะเลสาบจะมาตีเอาเมืองเสียมราฐคืน พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาจัดแจงได้เรือที่เมืองเสียมราฐ ยกทัพเรือออกรบกับทัพเขมรในทะเลสาบ ได้สู้รบกันหลายเพลา ครั้งนั้นมีข่าวลือออกไปว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินที่เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชาก็ตกใจ เกรงว่าจะเกิดจลาจลขึ้นจึงเลิกทัพกลับมา แต่พระยาอภัยรณฤทธิ์เกรงความจะไม่แน่ จึงรอทัพอยู่ที่เมืองนครราชสีมาก่อน ส่วนพระยาอนุชิตราชานั้นรีบยกทัพลงมาจนถึงเมืองลพบุรี จึงได้รู้ความตระหนักว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ได้เป็นอันตรายและตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ ทัพหลวงจะกลับอยู่แล้ว จึงตั้งอยู่ ณ เมืองลพบุรี มิได้กลับลงมายังกรุงธนบุรี ฝ่ายพระยาโกษาธิบดีแจ้งว่าทัพทางเมืองเสียมราฐเลิกถอยไปแล้ว ก็ให้ลาดทัพกลับมา ณ เมืองปราจีนแล้วบอกกล่าวโทษเข้ามาว่าทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชาเลิกหนีมาก่อน ครั้นจะตั้งอยู่แต่ทัพเดียวก็เกรงทัพเขมรจะยกทุ่มเข้ามามากจะเสียที เห็นเหลือกำลังจะลาดถอยลงมาบ้าง ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จมาถึงกรุง ได้ทรงทราบหนังสือบอกของพระยาโกษาธิบดีแล้ว ได้ข่าวว่าพระยาอนุชิตราชายกกลับมาตั้งอยู่ ณ เมืองลพบุรีก็กริ้ว จึงดำรัสใช้ตำรวจให้ไปหาตัวพระยาอนุชิตราชาลงมาเฝ้า แล้วตรัสถามว่าใช้ไปราชการสงครามยังมิได้ให้หาทัพกลับ เหตุไฉนจึงยกกลับมาเองดังนี้จะคิดเป็นกบฏหรือ พระยาอนุชิตราชาจึงกราบทูลพระกรุณาโดยจริงว่า มีข่าวลือออกไปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ เมืองนครศรีธรรมราช ข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่า ข้าศึกอื่นจะยกมาชิงเอากรุงธนบุรี จึงรีบกลับมาหวังจะรักษาแผ่นดินไว้ นอกจากพระเจ้าอยู่หัวแล้วซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้ยอมเป็นข้าผู้อื่นอีกนั้น หามิได้เลยเป็นอันขาด เมื่อได้ทรงสดับเช่นนั้นก็หายกริ้วกลับทรงโสมนัสดำรัสสรรเสริญพระยาอนุชิตราชาว่า เออเองเป็นคนสัตย์ซื่อแท้ น้ำใจสมัครเป็นข้าแต่กูผู้เดียว มิได้ยอมเป็นข้าผู้อื่นอีกสืบไป แล้วโปรดให้มีตราหากองทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาโกษาธิบดีกลับคืนมายังพระนคร ครั้นถึงปีขาล โทศก พุทธศักราช ๒๓๑๓ เจ้าพระฝางซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ทางฝ่ายเหนือคิดกำเริบเบียดเบียน เผาผลาญบ้านเรือนราษฎรตีชิงเอาเสบียงอาหาร กรมการเมืองอุทัยธานีและเมืองชัยนาทจึงมีใบบอกลงมาให้กราบทูลพระกรุณา ครั้นได้ทรงทราบจึงมีพระราชดำรัส โปรดให้พระยาพิชัยราชาเป็นแม่ทัพถือพลห้าพันยกไปทางฟากตะวันตกทัพหนึ่ง ขณะนั้นพระยายมราชถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาอนุชิตราชาเลื่อนเป็นที่พระยายมราช ให้เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน ยกไปทางฟากตะวันออกทัพหนึ่งให้ยกล่วงหน้าไปทางบก ส่วนพระเจ้าตากสินเสด็จทางชลมารคไปตีเมืองพิษณุโลกได้ก่อน ฝ่ายกองทัพพระยายมราช (บุญมา) และพระยาพิชัยราชายกขึ้นไปถึงเมืองสวางคบุรี ก็ให้ตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ และเมืองสวางคบุรีนั้นไม่มีกำแพงใช้แต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน เจ้าพระฝางได้แต่เกณฑ์ทหารรบพุ่งป้องกันอยู่ ในเมือง สู้รบอยู่ได้สามวันเห็นท่าจะสู้ไม่ได้ก็พากันหนีออกจากเมืองในเวลากลางคืน กองทัพพระยายมราชก็เข้าเมืองได้โดยง่าย ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดตั้งข้าหลวงเดิมซึ่งมีความชอบในการสงครามให้อยู่ครองเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง บรรดาหัวเมืองใหญ่นั้น โปรดให้พระยายมราช (บุญมา) เป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช อยู่ครองเมืองพิษณุโลก ส่วนพระยาอภัยรณฤทธิ์ได้เป็นพระยายมราชแทน และให้ว่าราชการในที่สมุหนายกด้วย (ในปีเถาะ พุทธศักราช ๒๓๑๔ เจ้าพระยาจักรี(แขก)ถึงแก่กรรม จึงโปรดให้ตั้งพระยายมราชเป็นที่เจ้าพระยาจักรีแทน) จะขอกล่าวถึงนามบรรดาศักดิ์ต่อไปอีกสักนิด เพราะได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่มาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชวิจารณ์ว่า"กรมพระราชวังพระองค์ที่ ๑ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก พวกพม่าเรียกกันว่าพระยาเสือ นามที่เรียกว่าเสือนี้ ย่อมใช้ทั่วไปในประเทศใกล้เคียงทั้งปวง ฤานามสุรีสห์เกิดขึ้นประกอบให้แปลว่าพระยาเสือ ข้อซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีตั้งชื่อตามนามประจามิตรเรียกด้วยเห็นว่าเป็นคำซึ่งประจามิตรยกย่องด้วยความเกรงขาม จึงเป็นสง่าแก่กรุงศรีอยุธยา" จาก: ส. พลายน้อย. วังหน้าพระยาเสือ: พระบวรราชประวัติ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑(ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ). พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๓.
|