ตำนานวังหน้า

วังหน้า คือพระราชวังอันเปนที่ประทับของพระมหาอุปราชแต่ก่อนมา เรียกในราชการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" แต่คนทั้งหลายเรียกกันว่าวังหน้ามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี ถ้าจะค้นหาว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกว่าวังหน้า ดูเหมือนจะอธิบายได้ไม่ยากเพราะตามศัพท์ความก็หมายว่า วังที่อยู่ข้างหน้า คือหน้าของพระราชวังหลวง ตามแผนที่กรุงศรีอยุธยา วังจันทรเกษมซึ่งเปนที่ประทับของพระมหาอุปราชก็อยู่ทิศตวันออก อันเปนด้านหน้าของพระราชวังหลวงอยู่ในที่ซึ่งสมควรเรียกได้ว่าวังหน้าด้วยประการทั้งปวง แต่มีข้อประหลาทอยู่ที่ ๆ ประทับของพระมหาอุปราช ไม่ได้เรียกว่าวังหน้าแต่ในเมืองเรา พม่าเรียกพระมหาอุปราชของเขาว่า "อินแซะมิน" ภาษาพม่า อินแปลว่า "วัง" แซะ แปลว่า "หน้า" มิน แปลว่า "ผู้เปนเจ้า" รวมความว่าผู้เปนเจ้าของวังหน้าก็ตรงกับวังหน้าของเรา ยังเหล่าเมืองประเทศราชข้างฝ่ายเหนือเช่นเมืองเชียงใหม่เปนต้น เจ้าอุปราช เขาก็เรียกกันในพื้นเมืองว่า "เจ้าหอหน้า" มาแต่โบราณ เหตุใดจึงเรียกพ้องกันดังนี้ดูน่าประหลาทอยู่ จะว่าเพราะวังอุปราชพเอิญอยู่ข้างหน้าวังหลวงเหมือนกันทั้งนั้นก็ใช่ที่ เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามหลักฐานในทางโบราณคดี เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้นแต่ลักษณพยุหโยธาแต่ดึกดำบรรพ์ ที่จัดเปนทัพหน้าแลทัพหลวง พระมหากษัตริย์ย่อมเสด็จเปนทัพหลวง ผู้ที่รองพระมหากษัตริย์ถัดลงมา คือพระมหาอุปราชย่อมเสด็จเปนทัพหน้าไปก่อนกองทัพหลวงเปนประเพณี จึงเกิดเรียกพระมหาอุปราชว่าฝ่ายหน้าแล้วเลยเรียกที่ประทับของพระมหาอุปราชว่า วังฝ่ายหน้า แลย่อลงมาเปนวังหน้าโดยสดวกปาก

วังหน้าครั้งกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมัยครั้งกรุงสุโขทัยเปนราชธานี มีตำแหน่งมหาอุปราชแต่ให้ไปครองเมืองศรีสัชนาลัย อันเปนเมืองหน้าด่านอยู่ข้างฝ่ายเหนือมาถึงสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี พระมหาอุปราชก็ไปครองเมืองลพบุรี อันเปนเมืองหน้าด่านทางฝ่ายเหนือ เมื่อขยายอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป จนได้ราชอาณาเขตของราชวงศพระร่วง ก็ให้พระมหาอุปราชขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก อันเปนราชธานีเก่า เช่น หน้าด่านทางฝ่ายเหนือ เรื่องราวอันเปนมูลประวัติของวังหน้าพึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาธิราช

ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรเปนพระมหาอุปราชเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก เสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระชนกชนนียังกรุงศรีอยุธยาเนืองๆ ความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัดถเลขาเล่ม ๑ หน้า ๑๐๒) ว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับที่วังใหม่ ที่เรียกว่าวังใหม่นี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เปนผู้ได้สังเกตขึ้นก่อนว่า คือวังจันทรเกษมนั้นเอง มิใช่ที่อื่นสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างขึ้นเปนที่ประทับในกรุงศรีอยุธยา จึงเรียกว่าวังใหม่ ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพของเมืองไทยไม่ยอมขึ้นเมืองหงสาวดีต่อไป ต้องเตรียมต่อสู้ศึกหงสาวดีที่จะมาตีเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรทรงกวาดต้อนผู้คนหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมารวบรวมกันในกรุงศรีอยุธยา ให้เปนที่มั่นต่อสู้พม่าแต่แห่งเดียวจึงเสด็จลงมาประทับอยู่ที่วังจันทรเกษมแต่นั้นมา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะเกิดเรียกวังจันทรเกษมว่า "วังฝ่ายหน้า" หรือ "วังหน้า" มาแต่สมัยนี้ เพราะพระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรนั้นประการ ๑ เพราะวังจันทรเกษมพเอิญอยู่ตรงด้านหน้าของพระราชวังหลวงด้วยอีกประการ ๑ แต่ความเข้าใจของคนทั้งหลายมายึดถือเอาความข้อหลังนี้เปนเหตุที่เรียกว่าวังหน้า จึงเรียกวังหลังขึ้นอีกวังหนึ่งซึ่งไม่ปรากฎว่ามีในประเทศอื่น เพราะวังหลังในกรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นที่สวนหลวงเดิมตรงบริเวณโรงทหารทุกวันนี้ อยู่ด้านหลังพระราชวังหลวง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เห็นจะสร้างขึ้นเมื่อในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเหมือนกัน สร้างขึ้นให้เปนที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถในเวลาทำสงครามต่อสู้พยม่า วังหลวงรักษาพระนครด้านเหนือ วังหน้ารักษาพระนครด้านตวันออก วังหลังรักษาพระนครด้านตวันตก รักษาลงมาบรรจบกับวังหน้าข้างด้านใต้ เพราะข้างด้านใต้เปนที่น้ำลึก ข้าศึกเข้ามายาก ใช้เรือกำปั่นรบป้องกันได้ถนัด จึงเกิดมีพระราชวังหลวง วังหน้า แลวังหลังแต่นั้นมา

ครั้นพระมหาธรรมาราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรเสด็จผ่านพิภพแล้ว เสด็จประทับอยู่วังหน้าอีก ๕ ปี จึงไปเฉลิมพระราชมนเทียรที่พระราชวังหลวง เหตุที่เรียกวังหน้าในกรุงศรีอยุธยาว่า "วังจันทรเกษม" จะเกิดขึ้นเมื่อใดข้าพเจ้ายังไม่ทราบ แต่เห็นมีเค้าเงื่อนอยู่ที่พระราชวังที่เมืองพิษณุโลกนั้นเรียกว่าวังจันทร์ แม้คนทุกวันเดี๋ยวนี้ในเมืองนั้นก็ยังทราบกันอยู่ บางทีจะเอานามวังจันทร์เดิมมาเรียกวังหน้าในกรุงศรีอยุธยา ในเวลาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรประทับเมื่อผ่านพิภพแล้วก็เปนได้ เพราะจะเรียกว่าพระราชวังหลวงๆ ของเดิมก็มีอยู่ จะเรียกว่าวังหน้าก็มิใช่เปนที่มหาอุปราชประทับ และบางทีจะเนื่องโดยเหตุอันเดียวกัน ในหนังสือพงศาวดารเก่าจึงเรียกสมเด็จพระเอกาทศรถว่าพระเจ้าฝ่ายหน้า เพราะเสด็จอยู่วังหลังในเวลานั้น ความสันนิษฐานตามเรื่องที่ปรากฎในพงศาวดารดังแสดงมานี้ เปนอัตโนมัติของข้าพเจ้าบางทีอาจจะผิดได้ เพราะฉนั้นท่านทั้งหลายอย่าเพ่อถือเอาเปนหลักฐานไปทีเดียว

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปอยู่พระราชวังหลวงแล้ว เข้าใจว่าสมเด็จพระเอกาทศรถเห็นจะเสด็จไปประทับอยู่ที่วังจันทรเกษม เพราะเปนที่สำคัญในการรักษาพระนคร แลสมเด็จพระนเรศวรนั้นหามีพระราชโอรสไม่ ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมีเจ้าฟ้าราชโอรส ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าสุทัศน์พระองค์ใหญ่ได้เปนพระมหาอุปราชคงเสด็จอยู่วังจันทรเกษม เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์พระองค์น้อยเห็นจะประทับอยู่วังหลัง ต่อมาถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (ในจดหมายเหตุของฮอลันดาว่า) มีน้องยาเธอพระองค์ ๑ แไม่ได้เปนพระมหาอุปราช จะประทับอยู่ที่ไหนไม่มีเค้าเงื่อนที่จะรู้ได้ ส่วนพระเจ้าลูกเธอเวลาเมื่อพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตล้วนยังทรงพระเยาว์ เข้าใจว่าประทับอยู่ในพระราชวังหลวงทั้งนั้น แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรมวังหน้าจึงว่างตลอดทั้งรัชกาล ถึงแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง มีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์ ๑ ทรงตั้งให้เปนพระศรีสุธรรมราชา ปรากฎว่าพระราชทานบ้านหลวงที่ตำบลข้างวัดสุทธาวาสให้เปนวัง ส่วนพระเจ้าลูกเธอก็ล้วนยังทรงพระเยาว์เสด็จอยู่ในพระราชวังหลวงทั้งนั้น วังหน้าจึงว่างมาอีกรัชกาลหนึ่ง เพราะไม่ได้ทรงตั้งพระมหาอุปราช จนเมื่อจะสวรรคตจึงมอบเวรราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้าฟ้าไชย (เชษฐา) พระราชโอรสพระองค์ใหญ เจ้าฟ้าไชยครองราชสมบัติอยู่ได้ ๙ เดือน สมเด็จพระนารายณ์ราชอนุชาก็ลอบหนีออกจากพระราชวังหลวง ไปคบคิดกับพระศรีสุธรรมราชาเจ้าอาว์ ชิงราชสมบัติได้จากเจ้าฟ้าไชย พระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงตั้งสมเด็จพระนารายณ์ราชภาคิไณยเปนพระมหาอุปราช เสด็จไปประทับอู่วังหน้าตามตำแหน่ง ต่อมาไม่ช้าก็เกิดรบพุ่งกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราช เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ได้ราชสมบัติแล้ว เสด็จประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี บางทีจะเรียกว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" ขึ้นในตอนนี้ โดยเหตุสมเด็จพระนารายณ์มีไชยได้ราชสมบัติเพราะอาศรัยวังหน้าเปนที่มั่นก็เปนได้ ต่อมาเมื่อโปรดให้รื้อพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทในพระราชวังหลวงลงทำใหม่ เปลี่ยนนามเปนพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทรแล้ว (๑) จึงเสด็จไปเฉลิมพระราชมรเทียรในพระราชวังหลวง พระราชทานวังหลังให้พระไตรภูวนาทิตยวงศ์น้องยาเธอประทับอยู่ เมื่อสำเร็จโทษพระไตรภูวนาทิตยวงศ์แล้ว พระราชทานให้เจ้าฟ้าอภัยทศน้องยาเธออีกพระองค์ ๑ เสด็จอยู่ (๒) แต่วังหน้านั้น ตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับในพระราชวังหลวงแล้วก็ว่างมา ด้วยไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดเปนพระมหาอุปราชจนตลอดรัชกาล

ความปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า มีแบบแผนในราชประเพณีตั้งขึ้นใหม่เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า "ตั้งกรมเจ้านาย" แต่เดิมมาขัตติยยศซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเจ้านายเปนตำแหน่งฉเพาะพระองค์ เช่นเปนพระราเมศวร พระบรมราชา พระอินทราชา พระอาทิตยวงศ์ ส่วนพระองค์หญิงก็มีพระนามปรากฎเปน พระสุริโยทัย พระวิสุทธิกษัตรีย์ เปนต้น ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุเปนอริกับพระเจ้าน้องยาเธอจึงไม่ได้ทรงสถาปนาขัตติยยศพระองค์หนึ่งพระองค์ใด พระราชโอรสก็ไม่มี (มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวว่า เมื่อพระอัคมเหษีทิวงคต สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์จะให้ข้าราชการในพระอัคมเหษี คงอยู่แก่เจ้าฟ้าราชธิดา) จึงโปรดให้รวบรวมข้าราชการจัดตั้งขึ้นเปนกรมๆหนึ่ง เจ้ากรมเปนที่หลวงโยธาเทพ ให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดีราชธิดา แลให้จัดตั้งอีกกรมหนึ่งเจ้ากรมเปนที่หลวงโยธาทิพให้ขึ้นอยู่ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณอย่างเดียวกัน เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้นจึงปรากฎพระนามตามกรมว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพพระองค์ ๑ เปนปฐมเหตุที่จะมีเจ้านายต่างกรมสืบมาจนทุกวันนี้

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต ราชสมบัติได้แก่พระเพทราชา ทรงตั้งหลวงสรศักดิ์ราชโอรสเปนพระมหาอุปราช ให้เสด็จอยู่วังหน้าตามตำแหน่ง แลตั้งนายจบคชประสิทธิ์ผู้มีความชอบช่วยให้ได้ราชสมบัติขึ้นเปนเจ้าอีกพระองค์ ๑ พระราชทานวังหลังให้เปนที่ประทับ แล้วจึงให้บัญญัตินามเรียกสังกัดวังหน้าว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล และให้เรียสังกัดวังหลังว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ตามแบบกรมหลวงโยธาทิพแลกรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เข้าใจว่าวังหลังคงได้ชื่อว่าพระราชวังบวรสถานพิมุขมีมาแต่ครั้งนี้ แต่ที่คนเรียกพระองค์พระมหาอุปราชว่าวังหน้าก็ดี หรือกรมพระราชวังบวร ฯลฯ ก็ดี เปนแต่เรียกกันตามสดวกปาก เหมือนอย่างเรียกเจ้านายในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ว่าวังบุรพา แลกรมอื่น ๆ เช่นกรมพระพิพิธเปนต้น ในทุกวันนี้ ที่จริงในทางภาษาไม่เปนชื่อเอกชน แต่ก่อนเขาจึงเติมคำ "พระเจ้า" หรือ "เจ้า" หรือ "เสด็จ" เข้าข้างหน้า ยังใช้ในราชการมาจนในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อไทยทำหนังสือกับอังกฤษยังเขียนในบันทึกว่า "ทำต่อหน้าพระที่นั่งเจ้ากรมหมื่นสุรินทรรักษ์" ดังนี้

ถึงแผ่นดินพระเจ้าเสือ ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรพระองค์ใหญ่เปนพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จประทับที่วังหน้าตามตำแหน่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพรพระองค์น้อยทรงตั้งเปนพระบัณฑูรน้อย ทำนองจะเปนเพราะทรงรังเกียจตำแหน่งกรมกระราชวังหลัง ด้วยเมื่อตั้งนายจบคชประสิทธิ เปนอยู่ได้ไม่ยืดยาวต้องสำเร็จโทษ หรือจะยกย่องพระยศให้สูงขึ้นเสมอกับพระมหาอุปราชอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ แต่พระบัณฑูรน้อยจะเสด็จประทับวังไหน แลข้าราชการในสังกัดกรมพระบัณฑูรน้อยจะมีทำเนียบแลนามขนานอย่างไรหาปรากฎไม่

พระเจ้าเสือสวรรคต พระมหาอุปราช คือพระเจ้าท้ายสระได้ครองราชสมบัติ (มีจดหมายเหตุฝรั่งว่า เมื่อพระเจ้าเสือจะสวรรคตนั้น เปนเวลาทรงขัดเคืองพระมหาอุปราช จึงทรงมอบเวรราชสมบัติพระราชทานพระบัณฑูรน้อย ครั้นพระเจ้าเสือสวรรคตแล้วพระบัณฑูรน้อยถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาพระมหาอุปราช) จึงทรงตั้งพระบัณฑูรน้อยเปนพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับที่วังหน้าต่อมาตามตำแหน่ง พระเจ้าท้ายสระมีพระราชโอรสเปนเจ้าฟ้า ๓ พระองค์ พระองค์ใหญ่ทรงพระนามเจ้าฟ้านเรนทรเปนกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ รองลงมาถึงเจ้าฟ้าอภัย แล้วเจ้าฟ้าปรเมศวรสันนิษฐานว่าพระเจ้าท้ายสระกับสมเด็จพระอนุชามหาอุปราช เห็นจะเกิดหมองหมางพระราชหฤทัยต่อกัน พระเจ้าท้ายสระจึงทรงพระราชดำริห์จะมอบเวรราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส แต่เจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ไม่เต็มพระทัยที่จะเป็นผู้รับรัชทายาท ด้วยเกรงพระมหาอุปราช (ฝรั่งว่าเพราะเห็นว่าราชสมบัติเปนของพระเจ้าอาว์ถวาย เมื่อสิ้นรัชกาลแล้วควรคืนเปนของพระเจ้าอาว์) ครั้นออกทรงผนวชก็เลยไม่สึก เมื่อพระเจ้าท้ายสระจะสวรรคต จึงมอบราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้าฟ้าอภัยพระราชโอรสที่ ๒ พระมหาอุปราชไม่ยอมเกิดรบพุ่งกันขึ้นเปนศึกกลางเมือง พระมหาอุปราชมีไชยชนะจึงได้ราชสมบัติ

เมื่อพระมหาอุปราชคือพระเจ้าบรมโกษฐ์เสด็จผ่านพิภพนั้น ทำพระราชพิธีปราบดาภิเษกที่วังหน้า แล้วเสด็จประทับอยู่ที่วังหน้าต่อมาอีก ๑๔ ปี มิได้เสด็จไปประทับอยู่พระราชวังหลวง ถ้าเวลามีการพระราชพิธีก็เสด็จไปฉเพาะงาร สิ้นงารแล้วก็เสด็จกลับไปวังจันทรเกษม (ความที่กล่าวข้อนี้ จะเห็นได้ในจดหมายเหตุงารพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์แล้วนั้น) แลตำแหน่งพระมหาอุปราชก็ไม่ได้ทรงตั้ง ปล่อยให้ว่างอยู่ถึง ๑๐ ปี ชรอยจะขัดข้องในพระราชหฤทัยที่จะเลือกในระหว่างเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ซึ่งเปนพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ กับพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรุมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งมีความชอบไม่แย่งชิงราชสมบัติเมื่อเวลามีโอกาศนั้น จึงเปนแต่โปรดให้ตั้งกรมเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เปนกรมขุนเสนาพิทักษ์ มาจนถึงปีระกา พ.ศ. ๒๒๘๔ (ครั้นเจ้าฟ้ากรมขุนสุเรนทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์) จึงได้พระราชทานอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เปนพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เสด็จอยู่ในพระราชวังหลวง เพราะสมเด็จพระราชบิดาเสด็จประทับอยู่ที่วังหน้า ครั้นปีชวด พ.ศ. ๒๒๘๗ เกิดเพลิงในวังหน้า พระราชมนเทียรไหม้เสียเปนอันมาก พระเจ้าบรมโกษฐ์จึงเสด็จมาอยู่พระราชวังหลวง ประทับที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เอาพระที่นั่งทรงปืนข้างท้ายวังเปนที่เสด็จออก ครั้นปลูกสร้างพระราชมนเทียรใหม่ในวังหน้าแล้ว จึงโปรดให้พระมหาอุปราชเสด็จไปอยู่วังหน้าตามตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษเปนพระมหาอุปราชอยู่ ๑๔ ปี มีความผิดต้องรับพระราชอาญา เลยทิวงคตในระหว่างโทษ วังจันทรเกษมก็ว่างแต่นั้นมาจนตลอดสมัยครั้งกรุงศรีอยุธยา

เรื่องตำนานวังหน้าครั้งกรุงศรีอยุธยา ถ้ากล่าวแต่เนื้อความโดยสังเขป ก็คือวังหน้าแรกมีขึ้นในแผ่นดินพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อราวปีวอก พ.ศ. ๒๑๑๕ เข้าใจว่าแรกเรียกว่าวังจันทรเกษมนั้นในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วมาเรียกว่าพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วังหน้าได้เปนที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ๓ ครั้ง คือในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้ง ๑ แผ่นดินพระนารายณ์มหาราชครั้ง ๑ แผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ครั้ง ๑ พระมหาอุปราชที่ได้เสด็จประทับที่วังจันทรเกษมมี ๘ พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรพระองค์ ๑ สมเด็จพระเอกาทศรถพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุทัศน์พระองค์ ๑ สมเด็จพระนารายณ์พระองค์ ๑ พระเจ้าเสือ (เปนแรกที่ปรากฎพระนามว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) พระองค์ ๑ พระเจ้าท้ายสระพระองค์ ๑ พระเจ้าบรมโกษฐ์พระองค์ ๑ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เปนที่สุด) พระองค์ ๑

พระราชมนเทียรสถานที่ต่างๆ ในวังจันทรเกษม ซึ่งเปนของสร้างแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นจะเปนอันตรายสูญไปเสียเมื่อไฟไหม้ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์โดยมาก ที่สร้างใหม่ชั้นหลังสำหรับกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ เข้าใจว่าเห็นจะทำแต่เปนสถานประมาณพอเสด็จอยู่ได้ หมดของดีงามมาแต่ครั้งนั้นชั้นหนึ่งแล้ว ครั้นเสียกรุงศรีอยุธยา วังจันทรเกษมเปนที่ทิ้งร้างทรุดโทรมมาอีกกว่า ๘๐ ปี ทั้งรื้อเอาอิฐมาสร้างกำแพงพระนครรัตนโกสินทร์เมื่อในรัชกาลที่ ๑ แลรื้อเอามาสร้างพระอารามเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เสียเปนอันมาก พึ่งมาสถาปนาเปนพระราชวังขึ้นอีกเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เพราะฉนั้นแผนที่เดิมจะเปนอย่างไรจึงทราบไม่ได้ทีเดียว สิ่งซึ่งสร้างในวังจันทรเกษมเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ที่ทราบว่าสร้างตามแนวรากของโบราณ มีแต่หมู่พระที่นั่งพิมานรัตยาอันเปนที่ว่าการมณฑลอยุธยาอยู่บัดนี้แห่ง ๑ พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ (หอสูง) อีกแห่ง ๑ พระยาโบราณราชธานินทร์ขุดพบแนวพระราชมนเทียรอยู่ตรงโรงเรียนข้างหลังวังจันทรเกษมอีกแห่ง ๑ กับฐานระหัดน้ำยังอยู่ที่ริมเขื่อนตรงมุมวัง ข้างใต้ก็เปนของครั้งกรุงศรีอยุธยาอีกอย่าง ๑ แต่เล่ากันมาว่าเขตวังหน้าเดิมกว้างกว่าแนวกำแพงวังเดี๋ยวนี้มาก วัดเสนาสนาราม (แต่ก่อนเรียกว่าวัดเสื่อ) วัดขมิ้น (อยู่ในบริเวณเรือนจำใหม่) ๒ วัดนี้ว่าอยู่ในเขตวังครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนวัดไม่มีพระสงฆ์ เรื่องตำนานวังหน้าครั้งกรุงศรีอยุธยา มีเนื้อความตามที่ได้ทราบดังกล่าวมานี้ ต่อมาในครั้งกรุงธนบุรี ไม่มีพระมหาอุปราช ในกรุงธนบุรีจึงมิได้มีวังหน้า


ตำนานวังหน้าในกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเปนพระมหาอุปราชแล้ว ทรงสร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งแม่น้ำฟากตวันออก จึงสร้างพระราชวังหลวงแลพระราชวังบวร ฯ ขึ้นใหม่ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ พร้อมกันทั้งสองวัง แต่ที่ซึ่งจะสร้างพระราชวังใหม่เปนที่มีเขตจำกัด เพราะแผนที่กรุงธนบุรีเอาแม่น้ำไว้กลาง ตั้งกำแพงเมืองทั้งสองฟาก คลองตลาดทุกวันนี้เปนคูเมืองข้างฟากตวันออก พื้นที่ในบริเวณกำแพงเมืองเดิมข้างฝั่งตวันออก มีที่ผืนใหญ่พอจะสร้างพระราชวังได้แต่ ๒ แปลง คือที่แต่วัดโพธารามยืนมาข้างเหนือจนถึงวัดสลักแปลง ๑ แต่วัดสลักขึ้นไปจนถึงปากคลองคูเมืองข้างเหนืออีกแปลง ๑ ไม่มีที่อื่นที่จะสร้างพระราชวังนอกจากที่ ๒ แปลงนี้ จึงตั้งพระราชวังหลวงในที่แปลงใต้ แลตั้งพระราชวังบวรสถานมงคลในที่แปลงข้างเหนือ เพราะเหตุนี้พระราชวังหลวงกับวังหน้าในกรุงรัตนโกสินทร์จึงอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่เหมือนที่กรุงศรีอยุธยา ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศร์ขึ้นเปนกรมพระราชวังหลัง พระราชวังหลังก็ต้องไปตั้งที่ปากคลองบางกอกน้อยฟากข้างโน้น ผิดแผนที่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เปนแต่เอาชื่อมาเรียกว่าวังหลัง ให้เหมือนประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

พระราชวังที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถ่ายแบบอย่างพระราชวังในพระนครศรีอยุธยามาสร้างทั้งพระราชวังหลวงแลวังหน้า มีคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ามาว่า พระราชวังหลวงสร้างหันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ เอาพระฉนวนน้ำไว้ข้างซ้ายวัง ตามแผนที่พระราชวังเก่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทดำรัสว่าไม่ถูกทิศ พระราชวังเก่าหันหน้าวังไปทางทิศตวันออก ให้สร้างพระราชวังบวร ฯ หันหน้าไปทางทิศตวันออก พระฉนวนน้ำวังหน้าจึงกลับไปอยู่ข้างหลังวัง เพราะแม่น้ำที่ในพระนครศรีอยุธยาอยู่ทางทิศเหนือพระราชวังหลวง แลอยู่ทางทิศตวันออกวังจันทรเกษม แต่แม่น้ำที่กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ข้างทิศตวันตกของที่สร้างพระราชวัง จึงเปนเหตุให้แตกต่างกันไปได้ดังกล่าวมา แต่ส่วนแผนที่ข้างภายในพระราชวัง ถ้าใครเคยได้เที่ยวเดิรดูในพระราชวังหลวงที่ในพระนครศรีอยุธยา สังเกตดูก็จะเห็นได้ว่าพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพ ฯ นี้ ถ่ายแผนที่ข้างตอนหน้ามาสร้างเหมือนกันไม่เพี้ยนผิดคือวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ตรงที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ หมู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยอยู่ตรงพระวิหารสมเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ตรงพระที่นั่งสรรเพ็ชญปราสาท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เว้นเสียองค์ ๑ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอยู่ตรงพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ถึงศาลาลูกขุนและที่ปันเขตกำแพงพระราชวังชั้นกลางชั้นในก็ตรงกัน ส่วนพระราชวังบวร ฯ นั้น จะได้ถ่ายแบบวังหน้าที่กรุงศรีอยุธยาบ้างหรืออย่างไรหาทราบไม่ ด้วยของเดิมไม่มีอะไรเหลืออยู่พอจะตรวจเทียบ แต่ทราบได้แน่ว่าที่ตรงสิ่งสำคัญนั้นถ่ายแบบพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาตอนข้างด้านหลังมาสร้าง ถ้าสังเกตดูในแผนที่วังหน้าที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ที่ตรงสระสี่เหลี่ยมมีเกาะกลาง จะเห็นได้ว่าถ่ายแบบสระพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์มาสร้าง และพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ( อันเปนพิพิธภัณฑสถานทุกวันนี้ ) อยู่ตรงกับแผนที่พระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา แลยังมีคนเรียกพระที่นั่งศิวโมกข์ ว่าพระที่นั่งทรงปืนอยู่จนทุกวันนี้ ความที่กล่าวมาว่าตามที่จะแลเห็นหลักฐานเปนที่สังเกตได้แน่นอนในปัจจุบันนี้ แต่เมื่อแรกสร้างเห็นจะมีอะไรที่ถ่ายแบบอย่างมาอีกหลายสิ่ง แต่รื้อแลแปลงไปเสียแล้วจึงรู้ไม่ได้

การสร้างพระราชวังในกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพระราชวังหลวงแลวังหน้า ไม่ได้สร้างสำเร็จในคราวเดียว แรกลงมือสร้างเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ เปนการเร่งรัดด้วยจะทำพระราชพิธีปราบดาภิเษก กำแพงพระราชวังใช้แต่ปักเสาไม้ระเนียด พระราชมนเทียรก็ทำแต่ด้วยเครื่องไม้มุงจากพอเสด็จประทับชั่วคราวทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า พระราชวังหลวงเวลาปลูกสร้างไม่ถึงสองเดือนก็ถึงพระฤกษ์พระราชพิธีปราบดาภิเษกเสด็จมาเฉลิมพระราชมนเทียรเมื่อณวันพฤหัสบดี เดือน ๘ บุรพาสาธ ขึ้น ๔ ค่ำ พระมหาอุปราชจะได้เสด็จจากพระนิเวศน์เดิม อันอยู่ตรงป้อมพระสุเมรุทุกวันนี้ มาเฉลิมพระราชมนเทียรในพระราชวังบวรสถานมงคลที่สร้างใหม่เมื่อวันใดยังไม่พบจดหมายเหตุ แต่มีหลักฐานที่ยุติได้เปนแน่ว่าเสด็จมาภายในเดือน ๘ บุรพาสาธ ปีขาลจัตวาศกนั้นเอง ด้วยมีจดหมายเหตุปรากฎว่า ปรึกษาความชอบตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอหลานเธอแลตั้งข้าราชการทั้งหลายเมื่อเดือน ๘ อุตราสาธ การอันนี้ต้องอยู่ภายหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษก

ครั้นเสด็จมาประทับอยู่ในพระราชวังใหม่แล้ว จึงลงมือปลูกสร้างสิ่งซึ่งเปนของถาวรต่อมา ทั้งพระราชวังหลวงแลวังหน้าด้วยกัน ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า การสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์แลพระราชวังหลวง สร้างอยู่ ๓ ปี สำเร็จเมื่อในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้วสมโภชพระนครต่อกันไป เชื่อได้ว่าพระราชวังบวร ฯ ก็คงสร้างสำเร็จ แลได้มีการฉลองเนื่องในงารสมโภชพระนครคราวนั้นด้วย แต่หากไม่ปรากฎจดหมายเหตุรายการแก่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจึงมิได้พรรณาไว้ด้วย แต่การก่อสร้างในชั้นนั้น ทั้งพระนคร ฯ แลพระราชวัง ก่ออิฐถือปูนฉเพาะแต่ป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึกศัตรู ส่วนพระราชมนเทียรแลสถานที่นอกจากนั้น ทำด้วยเครื่องไม้แทบทั้งนั้น แม้ซุ้มประตูเมืองแลประตูพระราชวังก็เปนเครื่องยอดทำด้วยไม้ ที่สุดจนพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทในพระราชวังหลวง ซึ่งสร้างขึ้นแต่แรก ก็เปนปราสาทไม้ เพราะในเวลานั้นอิฐปูนยังหาได้ยาก ป้อมปราการที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์ต้องไปรื้อเอาอิฐกำแพงพระนครศรีอยุธยามาก่อสร้างแทบทั้งหมด เพราะฉนั้นสิ่งซึ่งสร้างเปนของก่ออิฐถือปูน นอกจากป้อมปราการกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว เปนของก่อสร้างต่อทีหลังเป็นลำดับมาทั้งนั้น

จะกล่าวฉเพาะตำนานการสร้างพระราชวังบวร ฯ ต่อไป ที่เกาะกลางสระ ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว เดิมกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทรงสร้างปราสาทเหมือนอย่างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ที่กรุงศรีอยุธยาสร้างยังไม่ทันสำเร็จมีเหตุเกิดขึ้น เมื่อณวันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๖ อ้ายบันทิด ๒ คนคิดขบถลอบเข้าไปในวังหน้า ไปแอบพระทวารด้านหลังพระราชมนเทียรคอยจะทำร้ายกรมพระราชวังบวร ฯ เวลาเสด็จลงทรงบาตร แต่พเอิญเช้าวันนั้นจะเสด็จลงมาเฝ้า ฯ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่พระราชวังหลวง เสด็จออกทางพระทวารด้านหน้า อ้ายขบถจึงทำร้ายไม่ได้ ครั้นเสด็จลงมาพระราชวังหลวงแล้ว ทางโน้นนางพนักงารในวังหน้าไปพบอ้ายขบถก็ร้องอื้ออึงขึ้น เจ้าพนักงารผู้รักษาหน้าที่พากันเข้าไปจับได้ ๑ ไล่ไปฟันตายลงตรงที่สร้างปราสาทคน ๑ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีรับสั่งว่า ที่วังจันทรเกษมซึ่งเปนวังหน้าครั้งกรุงศรีอยุธยาไม่มีปราสาท พระองค์มาทรงสร้างปราสาทขึ้นในวังหน้าเห็นจะเกินวาสนาไปจึงมีเหตุ จึงโปรดให้งดการสร้างปราสาทนั้นเสีย ให้เอาตัวไม้ ที่ปรุงไว้ ไปสร้างพระมณฑป (เก่า) ที่วัดนิพพานารามคือวัดมหาธาตุทุกวันนี้ ส่วนที่ซึ่งกะไว้ว่าจะสร้างปราสาทนั้น โปรดให้สร้างพระวิมานถวายเปนพุทธบูชา ขนานนามว่า "พระพิมานดุสิดา (๓ )" เปนที่ไว้พระพุทธรูป พระวิมานนี้พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทันทอดพระเนตรเห็น ทรงพรรณาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องสถานที่ซึ่งกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงสร้าง ( หอพระสมุด ฯ พิมพ์ในประชุมพระบรมราชาธิบาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ) ว่าตัวพระวิมานกลางที่เปนหอพระ หลังคามุงดีบุก ฝากระดาน ข้างนอกประกอบเปนลายทรงเข้าบิณฑ์ปิดทองประดับกระจก ข้างในเขียนลายรดน้ำมีราชวัตรฉัตรรูปอย่งฉัตรเบญจรงค์ ( ปักรายรอบ) เปนเครื่องปิดทองประดับกระจกทั้งสิ้น นอกพระวิมานออกมามีพระระเบียง ฝาข้างในเขียนเรื่องพระปฐมสมโพธิแลเรื่องรามเกียรติ์ " งามนักหนา " ข้างนอกมีลายประกอบปิดทองประดับกระจก เสาแลหูช้างพนักข้างในก็ล้วนลายสลักปิดทองประดับกระจก มีตะพานพนักสลักปิดทองเปนทางข้ามสระเข้าไปทั้งสี่ทิศ

ตรงสระมาทางตวันออกสร้างท้องพระโรงหลัง ๑ เปนพระที่นั่งโถงวางแผนที่ตามแบบอย่างพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา จึงเปนเหตุให้คนทั้งหลายเรียกว่าพระที่นั่งทรงปืนมาจนทุกวันนี้ แต่ที่จริงขนานนามว่า " พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน (๔) " ในจดหมายเหตุเก่าเห็นเรียกพระที่นั่งทรงธรรมก็มี พระราชมนเทียรที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้นเปนที่ประทับในชั้นแรก รูปสัณฐานจะเปนอย่างไรทราบไม่ได้ แม้ที่สร้างจะอยู่ตรงไหนก็สงสัยอยู่ สันนิฐานว่าจะเปนตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทองที่ปรากฎในแผนที่นั้นเอง ซึ่งเปนพระราชมนเทียรเดิม พระราชมนเทียรที่สร้างเปนตึก เปนที่เสด็จประทับต่อมา เปนของสร้างในชั้นหลังประมาณว่าราวปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในคราว ๆ เดียวกับสร้างหอพระมนเทียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยแบบอย่างลวดลายคล้ายคลึงกัน ส่อให้เห็นว่าสร้างในคราวเดียวกัน พระราชมนเทียรที่สร้างใหม่นี้ สร้างเปนพระวิมาน ๓ หลังเรียงกัน เข้าใจว่าจะมีแบบอย่างในกรุงศรีอยุธยามาแต่คติที่ว่าปราสาทเปนที่ประทับ ๓ ฤดูกาล แม้ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ทำเป็น ๓ หลัง จึงเรียกว่า "ไตรโลกมนเทียร" ในศุภอักษรที่มีไปเมืองลังกา ครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ แต่ข้าพเจ้าได้ ไปเดิรตรวจดูในพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยากับพระยาโบราณราชธานินทร์ด้วยกันหลายครั้ง ยังไม่พบที่สร้างพระวิมาน ๓ หลังที่ตรงไหน มีปรากฎแต่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ( ซึ่งหอพระสมุด ฯ พิมพ์แล้ว เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ ) ว่าพระวิมาน ๓ หลังมีที่วังจันทรเกษม ตรงพระที่นั่งพิมานรัตยา ที่สร้างเปนที่ว่าการมณฑลอยุธยาทุกวันนี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พะราชมนเทียรที่ประทับสร้างเปนพระวิมาน ๓ หลัง ทั้งในพระราชวังหลวงแลที่วังหน้า ในพระราชวังหลวง คือหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น แต่สร้างผิดกัน พระวิมานวังหลวงสร้างติดกันทั้ง ๓ หลัง พระวิมานวังหน้าสร้างห่างกัน มีชาลาคั่นกลาง จะกล่าวฉเพาะพระวิมานวังหน้า ตัวพระวิมาน ๓ หลังทำเปนสองชั้น หลังใต้ขนานนามว่า " พระที่นั่งวสันตพิมาน " ทำนองความว่าเปนที่ประทับฤดูฝน หลังกลางขนานนามว่า " พระที่นั่งวายุสถานอมเรศร์ " ทำนองความว่า เปนที่ประทับฤดูหนาว แต่หลังเหนือขนานนามว่า "พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์" ทำนองความแปลกไป จะเปนด้วยเหตุใดไม่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบ ได้แต่สันนิฐาน ๆ ว่า เดิมเห็นจะมีนามอื่น ซึ่งทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูร้อน แต่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเปลี่ยนนามนั้นเสียที่ชลาระหว่างพระวิมาน ข้างหนึ่งมีตึกห้องสรง อีกข้างหนึ่งมีตึกที่ลงพระบังคล สร้างต่างหากข้างละหลัง ต่อพระวิมานออกมาทั้งข้างหน้าข้างหลัง สร้างพระราชมนเทียรชั้นเดียวเปนหลังขวางตลอดแนวพระวิมานทั้งสองด้าน ตรงพระวิมานหลังกลางทำเปนมุขผ่านหลังขวางตรงออกไปทั้งด้านหน้าแลด้านหลัง ที่สุดมุขด้านหน้า มีพระที่นั่งบุษบกมาลาเปนที่เสด็จออกแขกเมือง มุขนี้เรียกว่าท้องพระโรงหน้า มุขหลังพระวิมานเรียกว่า ท้องพระโรงหลัง แลมีปราสาททองสร้างไว้ที่มุขหลังหนึ่งเปนที่สรงพระพักตร เล่ากันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น มีที่พระบรรธมทั้งที่บนพระวิมาน แลที่ห้องพระราชมนเทียรหลังชวางหลายแห่ง ไม่บรรธมที่ใดแห่งเดียวเปนนิตย์ แต่ถึงจะบรรธมที่ใด คงจะเสด็จมาสรงพระพักตรที่ปราสาททองนั้น กล่าวกันมาดังนี้

พระราชมนเทียรหลังขวาง ข้างหน้าข้างหลังพระวิมานที่กล่าวมานี้มีนามขนานเรียกเปนมุข ด้านตวันออกเฉียงเหนือ เรียกพระที่นั่งบุรพาภิมุข ตวันออกเฉียงใต้ เรียกทักษิณาภิมุข ตวันตกเฉียงใต้เรียกปัจฉิมาภิมุข ตวันตกเฉียงเหนือ เรียกอุตราภิมุข นามเหล่านี้สงสัยว่า จะมาขนานต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับขนานนามมุขหน้าว่า พระที่นั่งภิมุขมนเทียร และมุขหลังว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุขก็เปนได้ มุขหน้าเมื่อเปนท้องพระโรงครั้งแรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เข้าใจว่าเรียกพระที่นั่งพรหมพักตร ตรงหน้ามุขพระที่นั่งบุษบกมาลาออกมาข้างนอกเดิมเปนชาลา ที่แขกเมืองเฝ้า พ้นชาลาออกมามีทิมคด บังหน้ามุขท้องพระโรงทั้งสามด้าน ทิมคดนี้ต่อมามีชื่อเรียกว่า "ทิมมหาวงศ์ " เพราะประชุมนักปราชญ์แปลหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา ที่ตรงนั้นเล่ากันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดเสด็จออกที่ระโหฐานที่ทิมมหาวงศ์นี้

เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งร้างมาแต่ครั้งกรุงธนบุรี เมื่อเสด็จกลับเชิญพระพุทธรูปพระพุทธสิหิงค์ อันเปนพระพุทธรูปสำคัญในพระราชพงศาวดารลงมาด้วย (๕) เรื่องตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ ว่าเดิมพระเจ้ากรุงลังกาองค์ ๑ ทรงสร้างขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาถวายสมเด็จพระร่วง (รามราช) พระเจ้ากรุงสุโขทัย ๆ ทรงปฏิบัติบูชามาหลายรัชกาล จนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ กรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเปนเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ ในกรุงศรีอยุธยา อยู่ได้หน่อย ๑ พระมเหษีคิดอุบายทูลขอให้พระญาณดิศผู้เปนบุตรไปไว้ณเมืองกำแพงเพ็ชร อยู่นั่นไม่ช้า พระยามหาพรหมเจัาเมืองเชียงรายยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพ็ชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเปนไมตรี พระยามหาพรหมจึงขอพระพุทธสิหิงค์ไปไว้เมืองเชียงราย ต่อมาพระยามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมาเจ้านครเชียงใหม่ผู้เปนหลาน พระเจ้าแสนเมืองมายกกองทัพไปตีได้เมืองเชียงรายจึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากับพระแก้วมรกฎด้วยกัน พระพุทธสิหิงค์อยู่มาในเมืองเชียงใหม่ จนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๐๒๔ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พระพุทธสิหิงค์อยุ่ในกรุงศรีอยุธยาต่อมาตลอดเวลา ๑๐๕ ปี จนเสียพระนครแก่พม่าข้าศึก สมัยนั้นชาวเชียงใหม่ยังเปนพวกพม่า จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชดำริห์ว่า พระพุทธสิหิงค์เคยเปนพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธยา โดยมีตำนานดังแสดงมา จึงได้โปรดให้เชิญลงมายังกรุงเทพ ฯ ประจวบเวลากำลังทรงสร้างพระราชมนเทียรที่กล่าวมาแล้วจึงโปรดให้สร้างพระวิมาน ถวายเปนที่ประดิษฐานพุทธสิหิงค์ องค์ ๑ ต่อออกมาข้างด้านหน้าพระราชมนเทียรทางตวันออก ขนานนามว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ฝาผนังข้างในเขียนรูปเทพชุมนุม แลเรื่องพระปฐมสมโพธิ เปนพุทธบุชา ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์นี้ เปนที่สำหรับทำการพระราชพิธีตรุษสารทแลโสกันต์ลูกเธอด้วย

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกฎว่ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างเขาไกลาส บนยอดเขามีบุษบก สำหรับเปนที่ลูกเธอสรงเวลาโสกันต์อีกสิ่ง ๑ เรียกในหนังสือพระนิพพานวังหน้าว่าเขาแก้ว แต่จะอยู่ที่ตรงไหนไม่ปรากฎในพระราชนิพนธ์แลว่ามีเขาก่อเปนฐานรองหอแก้วศาลพระภูมิอีกเขา ๑ ยังอยู่ข้างหลังพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรจนทุกวันนี้ กระบวรพระราชมนเทียรในพระราชวังบวร ฯ ที่สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ได้ความดังกล่าวมานี้

สถานที่ต่าง ๆ ในพระราชวังบวร ฯ นอกพระราชมนเทียรจะมีสิ่งใดสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๑ บ้างทราบไม่ได้แน่ ด้วยของที่สร้างในครั้งนั้นสร้างด้วยเครื่องไม้ หักพังรื้อถอนแลสร้างใหม่เปลี่ยนแปลงในชั้นหลังเสียแล้วแทบทั้งหมด ได้แต่ประมาณว่า บรรดาสถานที่สำหรับราชการ อย่างใดมีในพระราชวังหลวงก็คงมีในวังหน้าทำนองเดียวกัน คือ โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง เปนต้น ที่ทราบว่าผิดกับพระราชวังหลวงมีอยู่บางอย่าง คือตำหนักข้างใน ในพระราชวังหลวงสร้างเปนตำหนักเครื่องไม้ทั้งนั้น พึ่งมาเปลี่ยนเปนตึกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่ตำหนักในวังหน้าสร้างเปนตึกมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แลมีตำหนักหมู่หนึ่ง ยกหลังคาเปนสองชั้น คล้ายพระวิมาน เปนที่ประทับของเจ้ารจจาผู้เปนพระอัคชายา แลเปนพระมารดาของเจ้าฟ้าพิกุลทอง บางทีตำหนักหลังนี้จะเปนพระราชมนเทียรแต่ก่อนสร้างวิมานก็เปนได้ อีกอย่างหนึ่งนั้น มีปรากฎในจดหมายเหตุเก่าว่า ที่ลานพระราชวังบวร ฯ ชั้นนอกข้างด้านเหนือ ตรงที่สร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ( แลยังปรากฎเรียกว่าพระเมรุพิมานอยู่บัดนี้ ) เมื่อแต่แรกเปนสวนที่ประพาสของกรมพระราชวังบวร ฯ มีตำหนักสร้างไว้ ในสวนนั้นหลัง ๑ ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชอุทิศให้เปนบริเวณที่หลวงชีจำศีลภาวนา เหตุเพราะมารดาของนักองค์อีธิดาสมเด็จพระอุทัยราชาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเปนพระสนมเอก ชื่อนักนางแม้น บวชเปนรูปชี เรียกกันว่านักชี มาอยู่ในกรุง ฯ จึงโปรดให้มาอยู่ในพระราชวังบวร ฯ กับพวกหลวงชีที่เปนบริษัท ที่ตรงนั้นจึงเลยเรียกกันว่า "วัดหลวงชี "

ว่าด้วยเขตพระราชวังบวร ฯ เขตวังปันเปนชั้นในชั้นกลางชั้นนอก เหมือนอย่างพระราชวังครั้งกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิม แต่เขตพระราชวังบวร ฯ ชั้นในกับชั้นกลาง เมื่อในรัชกาลที่ ๑ จะอยู่เพียงไหนจะทราบโดยแผนที่ที่มีอยู่ไม่ได้แน่ ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงขยายเขตวังชั้นกลางออกไปข้างด้านตวันออกเขตวังชั้นในก็ขยายออกไปข้างด้านเหนือ แต่มีของควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ที่ในพระราชวังบวร ฯ ไว้ที่เปนสนามใหญ่กว่าในพระราชวังหลวงทั้งชั้นกลางแลชั้นนอก คงจะเปนเช่นนี้มาแต่เดิมเพราะการฝึกหัดช้างม้าผู้คนพลทหารฝ่ายพระราชวังบวร ฯ มักฝึกหัดอยู่ได้แต่ในบริเวณพระราชวัง จะออกมาฝึกหัดตามท้องถนนแลสนามหลวงเหมือนอย่างข้างวังหลวงไม่ได้ แต่เขตพระราชวังบวร ฯ ชั้นนอกตามแนวป้อมปราการที่ปรากฎในแผนที่ เปนของคงตามเมื่อแรกสร้างครั้งรัชกาลที่ ๑ มิได้เปลี่ยนแปลงในชั้นหลัง

ป้อมรอบพระราชวังบวร ฯ มี ๑๐ ป้อม เปนของสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทั้งนั้น รูปป้อม ๔ มุมวัง ทำเปนแปดเหลี่ยม หลังคากระโจมนอกนั้นทำเปนรูปหอรบ มีป้อมซึ่งมีเรื่องตำนานอยู่ป้อม ๑ ชื่อป้อมไพฑูรย์อยู่ข้างทิศใต้ เปนรูปหอรบยาวตามกำแพงวัง ทางปืนตรงฉเพาะพระราชวังหลวง ประหนึ่งว่าสร้างไว้สำหรับยิงพระราชวังหลวง เหตุใดจึงได้สร้างป้อมนี้ก็หาปรากฎไม่ ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า เคยเปนเหตุถึงใหญ่โตครั้งหนึ่งเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙ คราวนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดขัดพระทัยกับพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงไม่เสด็จลงมาเฝ้า ฯ ความปรากฎในหนังสือนิพพานวังหน้า ว่ามีข้าราชการวังหน้ากราบทูลกรมพระราชวังบวร ฯ ว่า พวกวังหลวงให้เอาปืนใหญ่ขึ้นป้อมจะยิงวังหน้า กรมพระราชวังบวร ฯ มีรับสั่งให้นักองค์อีแต่งข้าหลวงลอบลงมาสืบพวกเขมรที่ลากปืนที่วังหลวง ก็ได้ความแต่ว่าเอาปืนขึ้นป้อมเมื่อยิงอาฏานาพิธีตรุษ กรมพระราชวังบวร ฯ จะมีรับสั่งอย่างไรหาปรากฎไม่ ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า พวกข้าราชการวังหน้า มีพระยาเกษตร ( บุญรอด ) เปนต้น ให้เอาปืนขึ้นป้อมไพทูรย์นี้ แลตระเตรียมจะต่อสู้วังหลวง พวกข้าราชการวังหลวงเห็นข้างวังหน้าเตรียมกำลังก็เตรียมบ้าง เกือบจะเกิดรบกันขึ้น ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางทั้งสองพระองค์จึงเสด็จขึ้นไปวังหน้า มีรับสั่งเล้าโลมสมเด็จพระอนุชาธิราชจนสิ้นทิษฐิมานะ แล้าพาพระองค์ลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช การที่ทรงขัดเคืองกันจึงระงับไปได้

ภายนอกบริเวณกำแพงพระราชวังบวร ฯ ด้านใต้แลด้านตวันออกแต่เดิมมีคูทั้งสองด้าน คูไม่ลึกแลกว้างเท่าใดนัก พอน้ำไหลขึ้นขังอยู่ได้ พ้นคูออกมามีถนนรอบวัง ถนนด้านใต้ คือถนนพระจันทร์ทุกวันนี้ ยืนขึ้นไปทางตวันออกจดถนนหน้าวังใกล้ถนนราชดำเนิรในทุกวันนี้ ส่วนด้านเหนือเพราะคลองคูเมืองเดิมเป็นคู ถนนอยู่ข้างในใกล้แนวถนนราชินีทุกวันนี้ปลายไปลงท่าช้างวังหน้า ด้านตวันตกเปนลำแม่น้ำ เอากำแพงพระนครเปนกำแพงวังชั้นนอก

ยังมีถนนผ่านพระราชวังบวร ฯ ตามยาวเหนือลงมาใต้ อีกสามสายคือริมกำแพงข้างในพระนครสาย ๑ ข้างเหนือวังมีสพานช้างข้ามคลองคูเมืองเดิม ตรงสพานเจริญสวัสดิ์ทุกวันนี้ ถนนสายกลาง คือถนนหน้าพระธาตุทุกวันนี้นั้นเอง ตรงประตูพรหมทวารวังหน้า เปนทางเสด็จลงมาพระราชวังหลวง ถนนสายตวันออกก็คืออย่างถนนราชดำเนิรในทุกวันนี้ แต่อยู่ค่อนมาทางตวันตก ต่อจากถนนสนามไชยตรงไปหาสพานเสี้ยวซึ่งเปนสพานช้างวังหน้าอีกสพานหนึ่ง

พ้นถนนรอบพระราชวังบวร ฯ ออกมาข้างด้านใต้ต่อเขตวัดมหาธาตุเดิมชื่อวัดสลัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาในคราวเดียวกับสร้างวังหน้า แต่แรกทรงขนานนามว่า วัดนิพพานาราม ครั้นจะทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ เปลี่ยนนามว่าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แลได้เสด็จออกทรงผนวชอยู่คราวหนึ่ง ๑๕ ราตรีเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘ ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตแล้วจึงเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่ง ว่าวัดมหาธาตุ หน้าวัดมหาธาตุเปนท้องสนามหลวง อยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับพระราชวังบวร ฯ เวลาทำพระเมรุในท้องสนามหลวงพระเมรุอยู่กลาง พลับพลาวังหลวงตั้งข้างใต้ พลับพลาวังหน้าตั้งข้างเหนือ เครื่องมหรศพของวังหลวงกับวังหน้าเล่นกันคนละฝ่ายสนามหลวง

ทางด้านตวันออกตรงหน้าวังข้ามถนนไปสร้างวังลูกเธอ ( ตั้งแต่ตรงถนนพระจันทร์ไปจนน้ำพุนางพระธรณี ) ๔ วัง เรียงแต่ข้างใต้ ไปข้างเหนือคือวังพระองค์เจ้าลำดวนวัง ๑ วังพระองค์เจ้าอินทปัตวัง ๑ วังพระองค์เจ้าอสนีภายหลังได้เปนกรมหมื่นเสนีเทพวัง ๑ วังพระองค์เจ้าช้างวัง ๑ ด้านเหนือข้ามฟากถนนไปริมคลองคูเมืองเดิมเปนโรงไหม แลโรงช้างตลอดท่าช้าง ฟากคลองข้างเหนือสร้างวังกรมขุนสุนทรภูเบศร์ ( ทีหลังเปนวังเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ อยู่ตรงระหว่างโรงกระสาปน์กับโรงพยาบาลทหารทุกวันนี้ ) ด้านตวันตกพระราชวังบวร ฯ ประตูวังทางลงท่าทำเปนประตูยอดปรางค์เรียกประตูฉนวน ( วังหน้า ) ประตู ๑ ที่ท่าพระฉนวนมีแพจอดเปนที่ประทับประจำท่า แลเรียกว่าตำหนักแพเหมือนวังหลวง แต่ที่วังหลวงทำเปนอย่าง " เรือนแพ " ข้างใต้ท่าพระฉนวนเปนโรงเรือแลศรีสำราญของชาววัง มีอุโมงค์เปนทางเดิรออกไปได้แต่ในวัง ใต้อุโมงค์ลงไปเปนโรงวิเสทจนสุดเขตวัง ข้างเหนือตำหนักแพเปนโรงฝีพายแลเข้าใจว่าทำตำรวจต่อขึ้นไป แล้วมีโรงช้างอยู่ริมน้ำหลัง ๑ ต่อโรงช้างถึงประตูท่าช้างวังหน้า เหนือประตูว่าเปนบ้านข้าราชการจนปากคลองคูเมืองเดิม เหนือคลองคูเมืองเดิมขึ้นไปทางริมน้ำนอกกำแพงเมืองเปนบ้านรับแขกเมืองแลบ้านขุนนาง ตอนในกำแพงเมืองเปนบ้านเสนาบดีวังหน้า แลมีคุกวังหน้าอยู่ตรงหน้าวัดชนะสงครามแห่ง ๑ ด้วยท้องที่กำหนดเปนแขวงอำเภอพระราชวังบวร ฯ กึ่งพระนครตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงราววัดเทพธิดา ภูมิแผนที่วังหน้าเปนดังพรรณามาฉนี้

มีคำกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า กรมพระราชวังบวรมมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชมนเทียรแลสถานที่ต่าง ๆ ในพระราชวังบวร ฯ ทรงทำโดยประณีตบรรจงทุก ๆ อย่าง ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสิ้นพระชนมายุขัยสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวร ฯ ตามแบบอย่างพระเจ้าบรมโกษฐ์ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง เปนคำเล่ากันมาดังนี้ แต่พระราชประวัติมิได้เปนไปตามธรรมดาอายุขัยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จดำรงพระยศมาได้ ๒๑ พรรษาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ มีพระอาการประชวรเปนนิ่วในเวลาเมื่อเสด็จเปนจอมพลไปรบพม่าที่มาตีเมืองเชียงใหม่ เสด็จขึ้นไปถึงกลางทางประชวรลงในเดือน ๓ ต้องประทับอยู่ที่เมืองเถิน ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปบัญชาการรบแทนพระองค์ เมื่อมีไชยชนะข้าศึกเสร็จสงครามเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ พระอาการค่อยทุเลาขึ้นคราวหนึ่ง ครั้นถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระโรคกลับกำเริบอีก คราวนี้พระอาการมีแต่ทรงอยู่กับทรุดลงโดยลำดับมา จนถึงเดือน ๑๒ ประชวรหนัก พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปช่วยรักษาพยาบาล (๖) มาจนถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ เวลาเที่ยงคืน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งบุรพาภิมุข คำนวณพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ครั้นรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จ ฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ทรงเครื่องพระศพตามพระเกียรติยศเสร็จแล้ว เชิญลงพระลองประกอบด้วยพระโกษฐ์ไม้สิบสองหุ้มทองคำ ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ แห่ไปประดิษฐานไว้ณพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พร้อมด้วยเครื่องประดับตามสมควรแก่พระเกียรติยศพระมหาอุปราช แล้วโปรดให้มีหมายประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาเขต

ตรงนี้จะต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระประชวรจะสวรรคต ด้วยเกี่ยวเนื่องกับตำนานวังหน้าในชั้นหลังต่อมา เรื่องเหตุการณ์ครั้งนั้นมีปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารแลพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้าง ในเรื่องนิพพานวังหน้า พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร พระราชธิดากรมพระราชวังบวร ฯ ซึ่งนักองค์อีเปนเจ้าจอมมารดาได้ทรงนิพนธ์ไว้บ้างพิเคราะห์เนื้อเรื่องที่ยุติต้องกัน ได้ความดังนี้

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสังเกตเห็นอาการที่ทรงประชวรมีแต่ทรงอยู่กับทรุดลงเปนลำดับมา จนพระสิริรูปซูบผอมทุพพลภาพ ทรงรำคาญด้วยทุกขเวทนาที่มีในอาการพระโรค วันหนึ่งจึงทรงอธิษฐานเสี่ยงทายพระสุธารสว่า ถ้าหากพระโรคที่ประชวรจะหายไซ้ ขอให้เสวยพระสุธารสนั้นให้ได้โดยสดวก พอเสวยพระสุธารสเข้าไปก็มีอาการทรงพระอาเจียน พระสุธารสไหลกลับออกมาหมด แต่นั้นกรมพระราชวังบวร ฯ ก็ปลงพระราชหฤทัยว่าคงจะสวรรคต มิได้เอาพระหฤทัยใส่ที่จะเสวยพระโอสถรักษาพระองค์ แลทรงสั่งเสียพระราชโอรสธิดาข้าราชการในวังหน้าตามพระอัธยาศัยให้เข้าใจทั่วกันว่า พระองค์คงจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้าแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง ทรงรลึกถึงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งไฟไหม้เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๔๔ แล้วทรงสถาปนาใหม่ การยังค้างอยู่ จึงดำรัสสั่งให้เชิญพระองค์ ขึ้นทรงพระเสลี่ยงเสด็จออกมายังวัดพระศรีสรรเพชญ์ ว่าจะทรงนมัสการลาพระพุทธรูปครั้นเสด็จถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ดำรัสเรียกพระแสงว่า จะจบพระหัตถ์อุทิศถวายเปนพุทธบูชาเพื่อให้ทำราวเทียน ครั้นพนักงารถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงแล้วทรงบูชาอยู่ครู่หนึ่ง ขณะนั้นพออาการพระโรคเกิดทุกขเวทนาเสียดแทงขึ้นเปนสาหัส ก็ทรงหุนหันจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระชนมชีพเปนพุทธบูชา พระองค์เจ้าชายลำดวนลูกเธอองค์ใหญ่ที่ตามเสด็จไปด้วยเข้าแย่งพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงโทมนัสทอดพระองค์ลงทรงพระกรรแสงแช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวนต่าง ๆ ในที่สุดเจ้านายแลข้าราชการที่ตามเสด็จ ต้องช่วยกันปล้ำปลุกเชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงกลับคืนเข้าพระราชวังบวร ฯ ต่อนั้นมาในไม่ช้าอีกวันหนึ่งกรมพระราชวังบวร ฯ มีรับสั่งว่า พระราชมนเทียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โต เปนของประณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จุงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรธมพิงพระเขนย เชิญเสด็จไปรอบพระราชมนเทียร กระแสรับสั่งของกรมพระราชวังบวร ฯ เมื่อเสด็จประพาสพระราชมนเทียรครั้งนี้เล่ากันมาเปนหลายอย่าง บางคนเล่าว่ากรมพระราชวังบวร ฯ ทรงบ่นว่า " ของนี้กูอุส่าห์ทำด้วยความคิดแลเรี่ยวแรงเปนหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เปนที่สุดต่อไปก็จะเปนของท่านผู้อื่น " เล่ากันแต่สังเขปเท่านี้ก็มี เล่ากันอีกอย่างหนึ่งยิ่งไปกว่านี้ว่า กรมพระราชวังบวร ฯ ตรัสบ่นว่า " ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเปนเจ้าของเข้าครอบครอง ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข " แล้วก็ทรงแช่งสาปสาบาลไปต่าง ๆ ตามพระหฤทัยที่โทมนัส เล่ากันอย่างหลังนี้โดยมาก (๗)

ปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กรมพระราชวังบวร ฯ ประชวรครั้งนั้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรเมื่อแรกเสด็จกลับลงมาจากเมืองเถินครั้ง ๑ ต่อมาเมื่อทรงทราบว่าพระอาการหนัก จะเสด็จขึ้นไปช่วยรักษาพยาบาล ครั้งหลังนี้พวกข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปตั้งกองรักษาพระองค์ พวกข้าราชการวังหน้ามากีดกันห้ามปราม ไม่ยอมให้พวกข้าราชการวังหลวงเข้าไปตั้งกองล้อมวงลงได้ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกต้องเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จขึ้นไปเปนประธานจัดการตั้งกองล้อมวง เจ้าพระยารัตนาพิพิธพระยายมราชเดิรตามเสด็จไปสองข้างพระเสลี่ยง พวกวังหน้ายำเกรงพระบารมีจึงยอมให้ตั้งกองล้อมวง

เรื่องตั้งกองล้อมวงที่ปรากฎตรงนี้ บางทีท่านผู้อ่านจะมีความสงสัยว่า พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรกรมพระราชวังบวร ฯ ถึง ๒ ครั้ง ครั้งก่อนก็เปนการเรียบร้อยเหตุใดจึงมาเกิดการเกี่ยงแย่งเรื่องล้อมวงขึ้นต่อครั้งหลัง ข้อนี้อธิบายว่าที่จริงการที่วังหลวงเสด็จขึ้นไปวังหน้านั้น โดยปรกติย่อมมีเนืองๆ เหมือนดังเช่นเสด็จในงารพระราชพิธีโสกันต์ลูกเธอวังหน้าเปนต้น แต่การเสด็จโดยปรกติจัดเหมือนอย่างเสด็จวังเจ้านายต่างกรม ไม่มีจุกช่องล้อมวงเปนการพิศษอย่างใด แต่ครั้งหลังนั้น เพราะจะเสด็จขึ้นไปรักษาพยาบาลกรมพระราชวังบวร ฯ ซึ่งประชวรหนักจวนจะสวรรคตจะประทับอยู่เร็วหรือช้าจนถึงแรมค้างคืนวันก็เปนได้ เปนการผิดปรกติจึงต้องจัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระองค์ให้มั่นคงกวดขัน ฝ่ายข้างพวกวังหน้าถือว่าพวกวังหลวงเข้าไปทำละลาบละล้วงในรั้ววังลบหลู่เจ้านายของตน จึงพากันขัดแขงเกะกะ เพราะข้าราชการวังหลวงกับวังหน้าที่ทิษฐิถือเปนต่างพวกต่างฝ่ายกันอยู่แล้ว แลในครั้งนั้นยังมีเหตุอื่นอีกซึ่งทำให้พวกวังหน้ากระด้างกระเดื่อง เนื่องมาแต่ครั้งรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีมะเสง พ.ศ. ๒๓๕๐ คราวนั้นโปรดให้กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จเปนจอมพล เจ้านายที่ไปตามเสด็จมีกรมพระราชวังหลังเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์แลกรมขุนสุนทรภูเบศร์ กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ๒ องค์นี้เปนลูกเธอชั้นใหญ่ของกรมพระราชวังบวร ฯ พึ่งจะออกทำการสงครามในครั้งนั้น กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน ทรงจัดกองทัพที่จะยกไปรบพม่าที่มาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่เปน ๔ ทัพ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกไปทัพ ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบศร์กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตคุมกองทัพวังหน้ายกไปทัพ ๑ ให้เจ้าอนุอุปราชซึ่งยกกองทัพเมืองเวียงจันท์มาช่วยยกไปทัพ ๑ แล้วให้กรมพระราชวังหลังคุมกองทัพวังหลังยกไปเปนทัพหนุนอีกทัพ ๑ การสงครามครั้งนั้นต่างทัพต่างทำการรบพุ่งประชันกัน มีชัยชนะตีกองทัพพม่าแตกยับเยิน จนจับได้อุบากองตัวนายทัพพม่าคน ๑ ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีก จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จเปนจอมพล แลจัดกองทัพไปเหมือนกับครั้งก่อน เว้นแต่กรมพระราชวังหลังไม่ได้เสด็จขึ้นไปในชั้นแรก กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน ไปประชวรในคราวที่จะสวรรคตนี้ กองทัพเจ้าอนุเวียงจันท์ก็ยกมาไม่ทันกำหนด กรมพระราชวังบวร ฯ จึงทรงจัดให้เจัาฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทางเมืองลี้ทัพ ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบศร์กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต และพระยาเสนหาภูธร ชื่อทองอิน ภายหลังได้เปนพระยากลาโหมราชเสนาเปนคนซึ่งกรมพระราชวังบวร ฯ ทรงพระเมตตาเหมือนอย่างเปนพระราชบุตรบุญธรรม คุมกองทัพวังหน้าขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทางเมืองนครลำปางอีกทัพ ๑ ฝ่ายข้างกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบว่ากรมพระราชวังบวร ฯ ประชวร โปรดให้กรมพระราชวังหลังเสด็จตามขึ้นไป กรมพระราชวังบวร ฯ จึงให้กรมพระราชวังหลังคุมกองทัพหนุนขึ้นไปอีก ๑ กองทัพที่ยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ทัพวังหลวงที่ไปทางเมืองลี้ไปเข้าใจผิดถอยลงมาเสียคราวหนึ่ง จนทัพวังหน้าตีได้เมืองลำพูนจึงยกตามขึ้นไป ตั้งประชิดค่ายพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ ครั้นกรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้กองทัพยกเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกัน กองทัพวังหน้าก็ตีได้ค่ายพม่าก่อนต่อพวกวังหน้าชนะแล้วทัพวังหลวงจึงตีค่ายได้ กรมพระราชวังบวร ฯ ทรงขัดเคืองกองทัพวังหลวง ดำรัสบริภาษต่าง ๆ แล้วปรับโทษให้ขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนแก้ตัวด้วยกันกับกองทัพเจ้าอนุเวียงจันท์ ซึ่งยกมาถึงไม่ทันรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ การสงครามคราวนี้จึงเปนเหตุให้พวกวังหน้าที่เปนตัวสำคัญ คือพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต แลพระยากลาโหมทองอิน ซึ่งเปนพวกรุ่นหนุ่ม ไปมีชื่อเสียงมาในคราวนี้ เกิดดูหมิ่นพวกวังหลวงว่าในการรบพุ่งทำศึกสงครามสู้พวกวังหน้าไม่ได้ ข้างพวกวังหลวงเมื่อเห็นพวกวังหน้าดูหมิ่นก็คงต้องขัดเคือง จึงเลยเปนเหตุให้ไม่ปรองดองกันในเวลาเมื่อจะตั้งกองล้อมวงเตรียมรับเสด็จดังกล่าว

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปถึงพระราชวังบวร ฯ ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมา ก็ทรงพระอาลัย แลทรงพระกรรแสงรำพรรณต่าง ๆ พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรเฝ้าอยู่ในที่นั้น ได้ทรงพรรณาไว้ ในกลอนเรื่องนิพพานวังหน้าเปนน่าจับใจ จึงคัดมาลงไว้ต่อไปนี้

"พระบิตุลาปรีชาเฉลียวแหลม
พระโองการร่ำว่านิจาจอม
ว่าพ่อผู้กู้ภพทั้งเมืองพึ่ง
ดำรงจิตต์คิดทางพระอนัตตา
ครั้นทรงสดับโอวาทประสาทสอน
แต่หนักหน่วงห่วงหลังยังเกรงกรม
บุญน้อยมิได้รองยุคลคืน
จึงทูลฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง
ฝากหน่อขัตติยานุชาด้วย
แต่พื้นพงศ์จะพึ่งพระบารมี
ก็จะงามฝ่ายุคลไม่มลทิน
อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง
อย่าบำราศให้นิราแรมวัง
จึงตรัสปลอบพระบัณฑูรอาดูรด้วย
เปนห่วงไปไยพ่อให้ทรมาน
อันเยาวยอดสืบสายโลหิตพ่อ
ครั้นทรงสดับแน่นึกสำเนาคำ
ขยายแย้มสั่งให้ห้อยมณฑาหอม
ถนอมขวัญตรัสโอ้พระอนุชา
จงข้ามถึงพ้นโอฆสงสาร์
อนาคตนำสัตว์เสวยรมย์
ค่อยเผยผ่อนเคลื่อนคล้องอารมณ์สม
ประนมหัตถ์ร่ำว่าฝ่าลออง
ยิ่งทรงสอื้นโศกสั่งกันทั้งสอง
ประสิทธิปองมอบไว้ใต้ธุลี
จงปรานีนัดดาอย่าราคิน
จะนึกตอบแต่บุญการุญถวิล
ก็เชิญผินนึกน้องเมื่อยามยัง
โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ
ว่าจะช่วยเอาธุระแสนสงสาร
จะอุ้มหลานจูงลูกไม่ลืมคำ
พี่ตั้งต่อสุจริตอุปถัมภ์
ก็คลายร่ำทุกข์ถ้อยบันเทาทน ฯ

เนื้อความตามที่ปรากฎในกลอนของ พระองค์หญิงกัมพุชฉัตรก็ตรงกับคำที่เล่ากันมา ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวร กรมพระราชวังบวร ฯ กราบทูลฝากพระโอรสธิดา แล้วกราบทูลขอให้ได้อยู่อาศรัยในวังหน้าต่อไป บางทีความข้อหลังนี้เองจะเปนเหตุให้พระองค์เจ้าลำดวน แลพระองค์เจ้าอินทปัตเข้าพระทัยไปว่า พระราชบิดาได้ทูลขอให้ลูกเธอได้ครองวังหน้าอย่างรับมรฎกกันในสกุลคนสามัญ ไม่รู้สึกว่าเปนพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ไม่ได้เข้าไปครองวังหน้าดังปรารถนา จึงโกรธแค้นคบคิดกันซ่องสุมหากำลังจะก่อการกำเริบ

ในชั้นแรกความปรากฎทราบถึงพระกรรณแต่ว่า พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต เกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาอยู่คงไปลองวิชากันที่วังในเวลากลางคืนเนือง ๆ บางทีลองวิชาพลาดพลั้งถึงผู้คนล้มตายก็เอาศพซ่อนฝังไว้ในวังนั้น เพื่อจะปิดความมิให้ผู้ใดรู้ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงแคลงพระราชหฤทัยอยู่ให้แต่งข้าหลวงปลอมไปเข้าเปนสมัครพรรคพวกของพระองค์เจ้าทั้งสองนั้นก็ได้ความสมจริงดังคำที่กล่าว จึงโปรดให้จับมาชำระ ได้ความว่าคบคิดกับพระยากลาโหม ทองอิน ด้วย ครั้นจับพระยากลาโหมกับพรรคพวกที่เข้ากันมาชำระ จึงให้การรับเปนสัตย์ว่าคบคิดกันจะทำร้ายพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อวันเสด็จพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวร ฯ แลทำนองถ้อยคำซึ่งกรมพระราชวังบวร ฯ ได้ตรัสว่าประการใด ๆ ในเวลาทรงพระประชวร ก็เห็นจะปรากฎขึ้นในเวลาชำระกันนี้ จึงเปนเหตุให้พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงน้อยพระราชหฤทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราช ว่าเพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ แต่แรกดำรัสว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวร ฯ แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดให้ทำพระเมรุใหญ่ตามเยี่ยงอย่างพระเมรุพระมหาอุปราชครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุให้เปนพุทธบูชาเสียก่อน ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวร ฯ

เมื่องารพระศพเสร็จแล้ว พระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะประดิษฐานอยู่ที่ไหน ข้อนี้นึกฉงนอยู่ ถ้าว่าโดยสถานซึ่งควรเปนที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรที่ในวังหน้า ก็คือพระวิมานองค์ใดองค์หนึ่ง แท้จริงตามที่ปรากฎจนชั้นหลัง พระอัฐิกรมพระราชวัง ฯ ทั้ง ๓ รัชกาลก็ประดิษฐานในพระวิมานองค์กลาง คือพระที่นั่งวายุสถานอมเรศร์ แต่ความปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุแลพงศาวดาร ว่าเมื่อครั้งอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๒ ตั้งพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรที่พระวิมานองค์เหนือ คือพระที่นั่งพรหเมศรธาดา แลกรมพระราชวังบวรพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตในพระวิมานองค์กลาง เหตุทั้ง ๒ อย่างนี้ ขัดกับจะเปนที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ส่วนพระวิมานองค์ใต้คือพระที่นั่งวสันตพิมานนั้นก็ปรากฎว่าเปนที่เฉลิมพระราชมนเทียรครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก ขัดกับเปนที่ไว้พระอัฐิอีก พระอัฐิกรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๒ นั้น เดิมประดิษฐานอยู่ในพระราชวังหลวง พึ่งเชิญขึ้นไปไว้วังหน้าเมื่อรัชกาลที่ ๔ ดังนี้ หรือพระอัฐิกรมพระราชวังบวรรัชกาลที่ ๑ เดิมพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะโปรดให้เชิญมาไว้ด้วยกันกับพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกที่ในพระราชวังหลวง จะพึ่งเชิญกลับขึ้นไปประดิษฐานไว้วังหน้าเมื่อในรัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔ ดอกกระมัง ถ้าจะเชิญไปแต่รัชกาลที่ ๓ ก็มีเหตุอันสมควร เพราะกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระราชมนเทียรสถานในวังหน้าให้คืนดีอย่างเก่า อีกประการ ๑ เปนพระราชบุตรเขยของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทด้วย ข้อนี้ขอให้ผู้ศึกษาสำเหนียกดูเถิด

ส่วนการพระเมรุแต่นั้นก็เลยเปนประเพณี เวลามีงารพระเมรุท้องสนามหลวงจึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชก่อนงารพระศพสืบมาจนรัชกาลหลัง ๆ

ดู ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯกรมพระยา, ตำนานวังหน้า. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก หม่อมเจ้าโกสิต ท จ. ต ช. รัตน ว ป ร ๓. ในพระเจ้าราชวรวงศเธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าภาณุมาศ. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, กรุงเทพฯ, ๒๔๖๘, หน้า ๑-๓๙.


(๑) พระที่นั่งเบญจรัตน ฯ มีชื่อในหนังสือพระราชพงศาวดาร จนแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้วเงียบหายไป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริห์ว่าจะเปนชื่อเก่าของพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์นั้นเอง พิเคราะห์ดูฝีมือที่ก่อก็เปนของชั้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ และปรากฎในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าตั้งพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ที่พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ จึงรู้ได้ว่ารื้อพระที่นั่งเบญจรัตนสร้างใหม่ในแผ่นดินนั้น
กลับไปที่เดิม

(๒) ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าฟ้าอภัยทศ เปนพระราชโอรสสมเด็จพระนารายณ์นั้นผิดไป สมเด็จพระนารายณ์มีแต่พระราชธิดา พระราชบุตรหามีไม่
กลับไปที่เดิม

(๓) พบนามพระพิมานที่กล่าวนี้ในหนังสือนิพพานวังหน้า
กลับไปที่เดิม

(๔) เรื่องนามพระที่นั่งในวังหน้า มีข้อสงสัยอยู่บ้าง จะกล่าวต่อไปในตอนอธิบายแผนที่
กลับไปที่เดิม

(๕) ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ลงศักราชปีที่กรมพระราชวังบวร ฯ เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาช้าไป ๘ ปี
กลับไปที่เดิม

(๖) ในหนังสือพระราชพงศาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งว่า พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปประทับแรมอยู่ ๖ ราตรี ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะเอาคราวรัชกาลที่ ๒ มาลงผิดไป ด้วยในหนังสือเรื่องนิพพานวังหน้าไม่ปรากฎว่าเสด็จไปประทับแรม
กลับไปที่เดิม

(๗) ความตรงนี้มีในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กลับไปที่เดิม