กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชรัชทายาท มีความสำคัญรองลงมาจากพระเจ้าแผ่นดิน มีอำนาจรักษาพระนครได้กึ่งหนึ่ง เรียกเป็นสามัญว่า "วังหน้า" ตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นยังไม่มีการตั้งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีแต่ตำแหน่งลูกหลวงไปครองเมืองต่างๆ เมืองลูกหลวงได้แก่ เมืองพิษณุโลก สุพรรณบุรี ลพบุรี สวรรคโลก สิงห์บุรี กำแพงเพชร และชัยนาท เมืองหลานหลวงได้แก่เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี กฎมนเทียรบาล กล่าวถึงยศเจ้านายว่า พระราชกุมารที่เกิดด้วยพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า พระราชกุมารที่เกิดด้วยแม่ยั่วเมือง เป็นพระมหาอุปราช พระราชกุมารที่เกิดด้วยลูกหลวงเป็นพระเจ้าลูกเธอกินเมืองเอก เกิดด้วยหลานหลวง เป็นพระเจ้าลูกเธอกินเมืองโท เกิดด้วยพระสนมเป็นพระเยาวราช ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารนั้น มีเจ้าไปครองเมืองไม่กี่พระองค์ และเมื่อเริ่มประเพณีตั้งวังหน้าประทับในพระนคร จึงเลิกประเพณีการตั้งเจ้านายไปครองเมือง การตั้งพระมหาอุปราชเริ่มมีเค้าในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๑ (พระมหาธรรมราชา) แต่ยังไม่ได้ตั้งเป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประทับ ณ พระราชวังจันทรเกษม ซึ่งตั้งอยู่หน้าวังหลวง คำว่า "วังหน้า" คงจะเกิดขึ้นสมัยนี้ ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นครองราชย์ ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเอกาทศรถให้รับพระราชโองการ มีพระเกียรติยศเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ถึงรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๓ (สมเด็จพระเอกาทศรถ) จึงตั้งเจ้าฟ้าสุทัศน์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เป็นพระมหาอุปราช รับพระบัณฑูร อีก ๖ รัชกาลต่อมา คือ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๔ (เจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์) สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าทรงธรรม) สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (พระเชษฐาธิราช) สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๕ (พระเจ้าปราสาททอง) และสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๖ (เจ้าฟ้าชัย) ไม่มีการตั้งพระมหาอุปราช เริ่มตั้งอีกครั้งหนึ่งในรัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๗ (พระศรีสุธรรมราชา) คือ ทรงตั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชภาคินัย เป็นพระมหาอุปราช ประทับที่พระราชวังจันทรเกษมตามตำแหน่ง ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ไม่ได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นพระมหาอุปราช เมื่อสวรรคตพระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ทรงตั้งหลวงสรศักดิ์ บุตรบุญธรรมเป็นพระมหาอุปราชประทับ ณ วังหน้า และทรงตั้งนายจบคชประสิทธิ์ ผู้มีความชอบช่วยให้ได้ราชสมบัติขึ้นเป็นเจ้า พระราชทานวังหลังให้เป็นที่ประทับ แล้วจึงให้บัญญัตินามเรียกสังกัดวังหน้าว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เรียกสังกัดวังหลังว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข นอกจากนี้ยังตั้งเจ้าพระยาสุรสงครามให้มียศเสมอกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขด้วย รัชกาลสมเด็จพระสรรเพชญที่ ๘ (ขุนหลวงสรศักดิ์) ทรงตั้งพระเจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสองค์น้อยเป็นพระบัณฑูรน้อย เจ้าฟ้าเพชรได้ครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) ทรงตั้งเจ้าฟ้าพร พระอนุชาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตอนปลายรัชกาล สมเด็จพระสรรเพชญที่ ๙ ทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสองค์ที่ ๒ แทนที่จะมอบแก่พระมหาอุปราช จึงเกิดศึกกลางเมือง พระมหาอุปราชทรงมีชัยชนะ เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) แต่ยังคงประทับ ณ วังหน้าตามเดิม ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิาชที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) ทรงแต่งตั้งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ๒ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๒๒๘๔ ทรงอุปราชาภิเษก เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ประทับในพระราชวังหลวง เพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ยังประทับที่วังหน้า ต่อมาเกิดเพลิงไหม้วังหน้าใน พ.ศ. ๒๒๘๗ จึงย้ายมาประทับในพระราชวังหลวง ครั้นปลูกสร้างพระราชมนเทียรในวังหน้าเสร็จแล้ว จึงโปรดให้พระมหาอุปราชเสด็จไปประทับตามตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์นี้ ต่อมาได้รับพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พระเจ้าบรมโกศ) ทรงมีพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าอีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ทรงพระราชดำริว่าเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตมีพระปรีชาสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งพระมหาอุปราชมากกว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับอยู่ในพระราชวังหลวง มิได้ออกไปประทับ ณ วังหน้า ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นได้เสด็จออกทรงผนวช เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชได้เพียงปีเดียว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ก็เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ครองราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ อยู่ในราชสมบัติไม่นานก็ถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐา แล้วเสด็จออกทรงผนวช เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ได้บรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ในรัชกาลของพระองค์ไม่มีพระมหาอุปราช ตราบจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๓๑๐ หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว บ้านเมืองเป็นจลาจล เพราะต่างฝ่ายต่างตั้งตนเป็นเจ้าพระยาวชิรปราการ (สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรสามารถกู้อิสรภาพปราบก๊กต่างๆ และรวมคนไทยเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ณ กรุงธนบุรี ราชธานีแห่งใหม่ใน พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ และตลอดรัชกาลของพระองค์ก็ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติและวิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๓๔๕ อีกสามปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงพระราชทานอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรให้ดำรงตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่โปรดให้ประทับที่พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี และประทับอยู่จนกระทั่งสิ้นรัชกาลที่ ๑ อนึ่ง ในคราวเดียวกันนี้ ได้โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงเสนานุรักษ์เป็นพระบัณฑูรน้อย ด้วย พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และเสด็จประทับ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ตามตำแหน่ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้วใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สืบมา ได้โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่ให้มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดินดังเช่นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและโปรดให้แก้ไขประเพณีฝ่ายพระราชวังบวรฯ ให้สมพระเกียรติยศสมเด็จพระอนุชาธิราช หลายประการ เป็นต้นว่า เปลี่ยนคำเรียกวังหน้าทางราชการจาก "พระราชวังบวรสถานมงคล" เป็น "พระบวรราชวัง" ให้เรียกพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเป็น "พระราชพิธีบวรราชาภิเษก" เปลี่ยนพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ จากแบบเดิมว่า "พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" เป็นพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดิน ว่า"สมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" และเปลี่ยนคำขานรับสั่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จาก "พระบัณฑูร" เป็น "พระบวรราชโองการ" ฉะนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลนี้จึงมีพระเกียรติยศสูงกว่าสมัยใด พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระบวรราชวังตามตำแหน่ง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพระชนม์เพียง ๑๕ พรรษา คณะพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีปรึกษากันอัญเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นับเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน และพระเจ้าแผ่นดินมิได้ทรงแต่งตั้งเอง พ.ศ. ๒๔๒๘ กรมพระราชขวังบวรวิไชยชาญสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า แล้วประกาศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรัชทายาทตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระมหาอุปราชฝ่ายหน้า จึงยกเลิกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คงมีแต่ประเพณีการสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ตำแหน่งรัชทายาท ซึ่งยังปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน พระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ในระหว่างที่ยังดำรงพระชนม์ชีพในแต่ละรัชกาล เรียกพระนามตำแหน่งว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลเหมือนกัน ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๓ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสะดวกแก่การขานพระนาม ดังนี้
ส่วนในรัชกาลของพระองค์เอง ได้สถาปนาพระยศสมเด็จพระอนุชาธิราชเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน จึงปรากฏพระนามดังกล่าวมาแล้ว ปรากฏในสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๗ ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนคำนำหน้าพระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลรัชกาลที่ ๑-๓ จากคำว่า "กรมพระราชวังบวร" เป็น "สมเด็จพระบวรราชเจ้า" ทุกพระองค์ พระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติให้เรียกว่า กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ดู กรมศิลปากร. อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย อักษร ก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ ๒๕๒๖, หน้า ๑๒๕-๑๓๐. บรรณานุกรม จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยพระยศเจ้าต่างกรม และยศขุนนาง. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. ๒๔๖๕. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดาร กับเรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช. โรงพิมพ์พระจันทร์, ๒๔๗๙. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕. บริษัทรัฐภักดีจำกัด, ๒๔๙๓.
|