สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

หลังจากที่ไทยเสียกรุงแก่พม่าในพ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว เราชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ๒ พระองค์ พระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยได้ทรงกอบกู้เอกราชชาติไทยจากพม่า และอีกพระองค์หนึ่งคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ด้วยได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร และรับพระราชภาระป้องกันและฟื้นฟูประเทศสืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนฐานะของประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองมาตราบเท่าทุกวันนี้ แต่หากท่านผู้ฟังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์แล้ว ท่านจะตระหนักดีว่าพระราชภาระในการกู้ชาติและสร้างชาตินั้น มีขุนพลแก้วคู่พระทัย ผู้ได้ตรากตรำทำศึกขับเคี่ยวกับอริราชศัตรูด้วยความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเด็ดเดี่ยว มาตลอดสองแผ่นดิน ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติอีกด้วย มหาบุรุษของชาติไทยผู้นี้ก็คือสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมว่าบุญมา เป็นบุตรคนเล็กของพระพินิจอักษร (ทองดี) เสมียนตรากรมมหาดไทย และคุณดาวเรือง ประสูติเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๒๘๖ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเริ่มรับราชการครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้เป็นที่นายสุดจินดาหุ้มแพร มหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในพ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทพร้อมด้วยสหายอีก ๓ คนได้ลงเรือหลบหนีพม่าไปพบพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรอยู่ที่เมืองราชบุรี เพื่อชักชวนหลบหนีพม่าไปอยู่กับสหายที่เมืองชลบุรี แต่สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงมีพระราชภาระที่จำเป็นต้องอยู่ปฏิบัติในเมืองราชบุรี จึงทรงแนะนำให้สมเด็จพระอนุชาธิราชไปสมทบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งนั้นยังเป็นพระยาตาก รวบรวมผู้คนเตรียมกู้ชาติอยู่ที่เมืองชลบุรี และทรงแนะนำให้รับพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งอยู่ที่บ้านแหลม แขวงเมืองเพชรบุรี ไปด้วย

ครั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงรับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ได้รับความรักใคร่ไว้วางใจอย่างดี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ณ กรุงธนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจในขวา ในครั้งนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้าหาได้ทรงลืมสมเด็จพระเชษฐาไม่ ได้กราบบังคมทูลขอไปรับสมเด็จพระเชษฐาธิราชเข้าถวายตัวรับราชการด้วย

ตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงเป็นขุนพลคู่พระทัยเคียงคู่กับสมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงปฏิบัติราชการสงครามถึง ๑๖ ครั้ง มีความดีความชอบได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์โดยลำดับ คือ พระมหามนตรี พระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชสำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ทรงเป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามชาวไทยที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ เช่น นายทองอินที่เมืองธนบุรี เจ้าพิมายที่เมืองนครราชสีมา และเจ้าพระฝางที่เมืองสวรรคโลก ขับไล่พม่าที่ยึดพระนครศรีอยุธยา และเมืองเชียงใหม่ ตีทัพพม่าที่ยกเข้ามารุกรานหัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองราชบุรี สวรรคโลก พิชัย และพิษณุโลก และยกทัพไปตีกัมพูชา จำปาศักดิ์ และเวียงจันทน์ สมเด็จพระบวรราชเจ้าทรงรับผิดชอบเป็นแม่ทัพทั้งทัพบกและทัพเรืออย่างสูงยิ่งด้วยพระปรีชาสามารถ ดังเช่นคราวทัพไทยยกไปตีพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระบวรราชเจ้าครั้งนั้นทรงเป็นที่เจ้าพระยาสุรสีห์ และสมเด็จพระเชษฐาธิราชเป็นที่เจ้าพระยาจักรี ได้นำทัพเหนือเข้าตีเมืองเชียงใหม่พร้อมกัน เจ้าพระยาจักรีเข้าตีค่ายพม่าซึ่งตั้งรับนอกเมืองด้านใต้และด้านตะวันตกหมดทุกค่าย ขณะที่เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าตีค่ายพม่าที่ตั้งรับ ณ ประตูท่าแพด้านตะวันออกแตกทั้ง ๓ ค่าย ยึดได้ปืนใหญ่น้อยถึง ๒,๐๐๐ กว่ากระบอก และม้าอีก ๒๐๐ ตัว ยังความชื่นชมโสมนัสแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยิ่งนัก ถึงกับทรงยกพระหัตถ์ตบพระเพลาและออกพระโอษฐ์ว่า "นี่ว่าพี่หรือน้องดีกว่ากันไฉน ในครั้งนี้"

ตัวอย่างการศึกที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถแห่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทอีกคราวหนึ่งก็คือ คราวศึกอะแซหวุ่นกี้ เมื่อพ.ศ. ๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าที่เคยรบชนะจีนมาแล้ว ได้ยกพล ๓๐,๐๐๐ เศษเข้ามาทางเหนือ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์รีบรุดยกทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่เข้ารักษาเมืองพิษณุโลกด้วยกำลังพลไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ แต่พม่าก็ไม่อาจรุกรบหักเอาเมืองพิษณุโลกได้ พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่ถึง ๔ เดือน จนภายในเมืองขาดแคลนเสบียงอาหาร เจ้าพระยาทั้งสองจึงนำไพร่พลและราษฎรตีหักออกไปอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ ถึงพม่าจะเข้าเมืองพิษณุโลกได้แต่ก็ได้เพียงเมืองเปล่า ทั้งยังไม่สามารถทำลายกองทัพไทยได้ อะแซหวุ่นกี้ถึงกับประกาศว่า "ไทยเดี๋ยวนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน และเมืองพิษณุโลกเสียครั้งนี้จะได้เสียเพราะฝีมือทแกล้วทหารเรานั้นหามิได้ เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง และซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญาและฝีมือแต่เพียงเสมอเราและต่ำกว่าเรานั้นอย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาชัยชนะเขามิได้ แม้นดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชนะ"

ประวัติศาสตร์ในระยะต่อมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คำกล่าวของอะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ของพม่าเป็นจริงทุกประการ แม้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ พระจ้าปดุงกษัตรย์พม่ายกทัพใหญ่มาตีไทยทุกทางจากทิศเหนือจรดใต้รวมถึง ๙ ทัพ กำลังพลถึง ๑๒๐,๐๐๐ เศษ ก็ยังไม่อาจตีเอาประเทศไทยได้ สงครามครั้งนี้ไทยมีกำลังพลเพียง ๗๐,๐๐๐ เศษ จึงวางยุทธวิธีรวบรวมกำลังไปตีทัพสำคัญๆ ของข้าศึกเสียก่อน เมื่อได้ชัยชนะแล้วจึงจะปราบปรามข้าศึกในทางอื่นต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นจอมทัพนำทัพ ๓๐,๐๐๐ เข้าตั้งรับทัพพม่าที่สำคัญที่สุดคือทัพพระเจ้าปดุง ซึ่งยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้าตั้งรับทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี ศึกครั้งนี้ไทยยึดชัยภูมิที่ได้เปรียบ เพราะทุ่งลาดหญ้าอยู่ต่อเชิงเขาบรรทัดซึ่งพม่าต้องเดินทัพข้ามมา ทำให้ทัพหน้าพม่าต้องหยุดเพียงเชิงเขา และทัพที่ตามมาก็ต้องหยุดยั้งบนภูเขาเป็นระยะๆ ทำให้หาเสบียงอาหารในแดนไทยไม่ได้ต้องหาบหามเสบียงจากแดนพม่า และทัพไทยก็ไม่ต้องปะทะกับทัพพม่าที่ยกมาด้านนี้ทั้งหมด นอกจากนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ายังทรงใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร จัดทหารไทยคอยซุ่มสกัดแย่งชิงเสบียงอาหารที่จะส่งไปค่ายพม่าทำให้พม่าขาดแคลนหนักขึ้น นอกจากนี้ยังทรงดำเนินกลอุบายทำลายขวัญทหารพม่า โดยให้ทหารไทยลอบออกจากค่ายในเวลากลางคืน รุ่งเช้าก็ให้ทหารเหล่านั้นยกเป็นกองทัพถือธงทิวเดินเข้าสมทบทัพไทยที่ทุ่งลาดหญ้าอยู่เนืองๆ พม่าจึงสำคัญผิดว่าไทยมีกำลังเพิ่มเติมมิได้ขาด ก็ยิ่งครั่นคร้ามหนักขึ้น เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสังเกตเห็นทหารพม่าอดอยากและเสียขวัญมากแล้ว จึงระดมทัพไทยเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่าย ซ้ำทัพกองโจรของไทยยังเข้าตีซ้ำเติมทหารพม่าที่แตกพ่ายไปอีก ศึกครั้งนี้ทหารพม่าถูกฆ่าฟันล้มตายก็มากจนพระเจ้าปดุงต้องสั่งให้เลิกทัพกลับ ส่วนทัพพม่าที่ยกเข้ามาโจมตีไทยด้านอื่นก็พ่ายแพ้แตกไปเช่นกัน

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในพ.ศ. ๒๓๒๕ และทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาคู่พระทัยเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จเป็นแม่ทัพในพระราชการสงครามอีกถึง ๗ ครั้ง ทำให้พระราชอาณาเขตขยายออกไปกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ กล่าวคือ ทิศเหนือได้เมืองเชียงใหม่ และเวียงจันทน์ ทิศตะวันตกได้เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ทิศตะวันออกได้กัมพูชา และทิศใต้ได้ถึงกลันตัน และตรังกานู

นอกจากงานพระราชสงครามเพื่อป้องกันเอกราชและขยายขอบขัณฑสีมาแล้ว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยังทรงเป็นกำลังสำคัญในการทะนุบำรุงพระศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ทรงสร้างพระราชวังบวรฯทั้งวัง ประตูยอดในพระบรมมหาราชวัง 3 ประตู วังพระองค์เจ้า และบ้านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกมาก โรงเรือถวายเป็นส่วนทั้งของพระบรมมหาราชวัง และเป็นส่วนของพระราชวังบวรฯ สะพานและศาลาหลายแห่ง พ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงเป็นประธานร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดนิพพานารามหรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในปัจจุบัน แล้วทรงมีพระราชศรัทธาทรงผนวช ณ วัดนั้นอยู่ ๗ ราตรี ทรงเป็นแม่กองสร้างมณฑปพระพุทธบาท ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเชียงใหม่มาประดิษฐาน ณ พระราชวังบวรฯ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๓๐ ทรงสถาปนาวัดสลัก พระราชทานนามว่าวัดนิพพานาราม ต่อมาเมื่อทำสังคายนา ณ วัดนี้ ได้พระราชทานนามใหม่ว่าวัดพระศรีสรรเพชญ และเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้าสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามว่า วัดมหาธาตุราชวรวิหาร นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงสถาปนาวัดชนะสงคราม วัดโบสถ์ วัดบางลำภู วัดสมอแครง วัดสมอราย วัดส้มเกลี้ยง และทรงปฏิสังขรณ์วัดสำเพ็ง วัดปทุมคงคา วัดครุฑ วัดสุวรรณคีรี วัดสุวรรณดาราราม ทั้งยังสร้างสิ่งก่อสร้างถวายวัดต่างๆ อีกมากมาย เช่น ทรงสมทบทำหอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวิหารคดวัดพระเชตุพนฯ เป็นต้น และในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพได้ถวายพระแสงดาบเป็นราวเทียนพุทธบูชาพระพุทธปฏิมาองค์ประธานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ายังทรงเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เพลงยาวถวายพยากรณ์เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท และเพลงยาวเรื่องตีเมืองพม่า

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงประชวรพระโรคนิ่ว ตั้งแต่คราวเสด็จยกทัพไปตีพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. ๒๓๔๕ จนต้องประทับแค่เมืองเถินไม่อาจเป็นแม่ทัพไปช่วยเมืองเชียงใหม่ได้ ต่อมาพระอาการทุเลาขึ้น จนพ.ศ.๒๓๔๖ พระโรคนิ่วกำเริบ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๔๖

ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและพระปรีชาสามารถในการศึกของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มิได้เป็นที่ประจักษ์เฉพาะชาวไทยเท่านั้น แม้แต่ข้าศึกยังครั่นคร้าม และขนานนามพระองค์ว่า "พระยาเสือ" หรือ "เจ้าพระยาเสือ" มาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายพระนาม "กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท" และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนเป็น "สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท" สืบมาจนปัจจุบันนี้

เนื่องด้วยวันที่ ๓ พฤศจิกายนนี้ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตแห่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จึงขอให้ชาวไทยทุกท่านน้อมสักการะในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมทั้งน้อมรำลึกและยึดถือพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านเป็นหลักในการดำรงตน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมืองสืบไป


วีณา โรจนธารา. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท. บรรยายทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๓.