แพทย์ที่ดีในสายตาของแพทยสภา อาจารย์ และประชาชน[1]

สำหรับผมเองบอกได้เลยว่า ผมสอนให้ลูกศิษย์ผมเป็นแพทย์ที่มีคุณสมบัติดีเป็นอันดับที่ ๑  ถ้าใครมี "ทีท่า" ว่าอาจจะไม่ดี ผมจะไม่รับไว้ ถึงแม้จะเรียนเก่งมาก  เพราะถ้าเก่งและไม่ดีอาจทำงานเป็นทีมไม่ได้ อาจเห็นแก่ตัว เห็นแก่เงิน เอาแต่เรียนหนังสือ ไม่ดูผู้ป่วย หรือไม่ค่อยทำงานหลวง เอาแต่ไปทำงานข้างนอก ฯลฯ

ฉะนั้นแพทย์ในสายตาของแพทยสภา ครูบาอาจารย์ และประชาชน น่าจะต้อง หนึ่งเป็นแพทย์ที่ดี และสองเก่งด้วย  แพทย์ที่ดีคือ มีผู้ป่วยอยู่ในหัวใจ เอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ดูแลเขาด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ให้เวลาเขา (ถ้ามีเวลาให้)  ทำดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ซักประวัติเก่ง  ตรวจร่างกาย วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเก่ง  มีความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วย ญาติ และผู้ร่วมงาน  พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย  ต้องตรวจเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็น  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วยด้วย  ต้องเขียนหน้าป้ายเป็นระยะๆ แต่ต้องจับประเด็นให้เป็น  สรุปให้เป็น เพราะอาจไม่มีเวลาที่จะเขียนยาว  ต้องเขียนให้อ่านออก  ต้องดูแลผู้ป่วยบ่อยๆ วันละ ๓ ครั้งถ้าจำเป็น (แต่ในบางแห่ง อาจมีแพทย์น้อย ผู้ป่วยมาก ก็คงต้องทำเท่าที่ทำได้)

ถ้าทำได้อย่างนี้ผู้ป่วย ญาติ สังคม คงพอใจแล้ว

แพทย์ที่ดี จะไม่ทำผิดกฎหมาย เช่น ไม่เขียนใบรับรองแพทย์เท็จ ไม่โฆษณา ไม่เห็นแก่เงิน ต้องพยายามมีอารมณ์ที่ดี ไม่ทับถมเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ

แพทย์ที่เก่ง จะต้องเรียนตลอดเวลา แบ่งเวลาเป็น เรียนเป็น จับประเด็นเป็น เพราะข้อมูลมีมาก  ต้องไปประชุมวิชาการบ้าง (ถ้ามีแพทย์เพียงพอให้เราไปได้)

...

แพทย์ทุกท่านโปรดอย่าลืมว่า เรามี "ของที่ดี" อยู่ในมือเรา คือความสามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยรอดตาย หายจากความทุกข์ทรมานได้  ถ้าเราใช้มันดีๆ แพทย์เองจะมีความสุขมาก และสิ่งอื่นๆ ที่ดีก็จะเป็นผลพลอยได้ที่ตามมา

ผมอยากเห็นทุกฝ่ายในประเทศไทยหันหน้าเข้าหากันครับ พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน  ขอให้ทุกๆ คนมองคนอื่นๆ ในแง่ที่ดีไว้ก่อน และถ้าทุกคนพยายามทำดีไว้แล้ว ทุกๆ อย่างจะดีขึ้นเอง

ด้วยความปรารถนาดีต่อทุกๆ คนครับ


[1] ศาสตราพิชาน นายแพทย์พินิจ กุลละวณิชย์.  "แพทย์ที่ดีในสายตาของแพทยสภา อาจารย์ และประชาชน."  เสี้ยวหนึ่งของชีวิต.  วงการแพทย์ ๑-๑๕ ก.พ. ๒๕๕๐: ๑๘.