logos.gif (7470 bytes)สหสาขาศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท

LOOKER1.GIF (1665 bytes)

รายงานการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 2

เรื่อง

"ความเชื่อในหมู่บ้านบึงสวาง"

2.1 วัตถุประสงค์

2.1.1 เพื่อฝึกการทำงานกลุ่ม

2.1.2 เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน

2.1.3 เพื่อฝึกการอยู่ร่วมกับผู้คนในท้องถิ่นอื่น ๆ

2.1.4 เพื่อเรียนรู้ และฝึกการสำรวจ และเก็บข้อมูล

2.1.5 เพื่อศึกษาแนวความคิดเรื่องความเชื่อในวิถีชีวิตของชาวบ้าน

2.2 ขอบเขตการศึกษา

2.2.1 ความเชื่อที่เกี่ยวกับสถานที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

2.2.2 ความเชื่อที่เกี่ยวกับการทำนายโชคชะตา

2.2.3 ความเชื่อที่เกี่ยวกับพิธีกรรม

2.2.4 ความเชื่อที่เกี่ยวกับอาถรรพณ์

2.2.5 ความเชื่อที่เกี่ยวกับการศึกษา และการสืบทอดทางด้านไสยศาสตร์

2.2.6 ความเชื่อที่เกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง

2.2.7 ความเชื่อที่เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วย "การรำผีทรง"

2.2.8 ความเชื่อที่เกี่ยวกับผี

2.3 วิธีการศึกษา

ศึกษาในด้านความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสรวง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เก็บข้อมูลโดยการพูดคุย สอบถามชาวบ้าน และสำรวจพื้นที่ที่ชาวบ้านอ้างถึงเกี่ยวกับความเชื่อในด้านต่าง ๆ ของชาวบ้าน เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้นสองวันครึ่ง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลในช่วงเย็นถึงกลางคืนของทุกวัน

2.4 คำนิยามของความเชื่อ

ความเชื่อ คือ ความเห็นจริงด้วย ในแง่พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์เดือดร้อนด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความทุกข์แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ใช่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล ความเห็นจริงด้วยนั้นต้องเป็นสิ่งที่ใช้หลักการในการลงความเชื่อนั้นลงไป ซึ่งหลักการในความเชื่อนี้ในทางพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนจดจำได้ขึ้นใจกันมาก คือ คำสอนในกาลามสูตร

เนื้อความในกาลามสูตรนี้เหมาะอย่างยิ่ง ในการนำมาเป็นหลักในการคิดพิจารณาหาเหตุผลก่อนที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องนี้ไว้กว่าสองพันปี ล้วนเป็นสัจธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ทุกสถานที่ และทุกเวลา เนื้อหาของ "กาลามสูตร" มีดังนี้คือ อย่าเชื่อเพียงเพราะได้ฟังตาม ๆ กันมา , การถือสืบกันมา , เป็นข่าวที่เล่าลือกัน , อ้างว่ามีอยู่ในตำรา , นึกเดาเอา , คาดคะเน , ตรองตามแนวเหตุผล , เข้าได้กับทฤษฎีของตน , ผู้พูดน่าเชื่อถือหรือเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา ทั้งหมดนี้คือหลักความเชื่อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง

แม้ว่าคำสอนเรื่องการเชื่อนี้จะเป็นสิ่งที่แน่นอน แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ผู้ที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมต้องการสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของตน เพื่อปลุกปลอบใจว่าได้มีการกระทำนั้นบุญขึ้นจริง และหากไม่ใช่สิ่งชั่วช้า ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะละกิเลสทั้งปวง ในการมาคิดค้นหาความจริงดังกล่าว ทำให้ทั้งพิธีบางอย่างที่ยังมีประโยชน์แอบแฝงอยู่ นับเป็นการสร้างจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดจนเป็นการประกาศข่าวสารต่าง ๆ ให้รับรู้อีกด้วย

การศึกษาทางจิตตามแนวพุทธ จะเน้นการตรวจสอบขัดเกลาให้จิตบริสุทธิ์ สงบ ไม่เกิดกรรมชั่ว ย่อมทำให้ตนเอง และสังคมเกิดความสุข ซึ่งเป็นธรรมะโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีธรรมะขั้นสูง คือ การปฎิบัติเพื่อการหลุดพ้น เพื่อการสูญสิ้นแห่งตัณหาทั้งมวล เพื่อการดับที่ไม่เกิดอีกต่อไป นั่นคือ นิพพาน ประเทศไทยเป็นสังคมชาวพุทธจึงมีความเชื่อเหล่านี้อยู่โดยมาก หากแต่จะปฎิบัติได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เนื่องจากระดับสติปัญญา และจิตใจที่เข้มแข็งของมนุษย์มีความแตกต่างกัน

ความเชื่อนั้นเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยซึ่งมีความสำคัญมาก ก่อให้เกิดอิทธิพลต่อจิตใจที่มีผลต่อพฤติกรรม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และสังคม นั่นคือ

ความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อปัจเจกบุคคล เช่น ความเชื่อว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย เนื่องจากสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ได้แก่ ผีทำโทษโดยการถูกผีเข้า ฯลฯ ยังมีอยู่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคทางจิต โรคเรื้อรัง และโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ พิธีกรรมก็เป็นไปตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เป็นการช่วยเหลือโดยพระ หรือหมอผี เป็นความเชื่อที่อธิบายโดยยาก และบางครั้งได้ผลในทางจิตใจของทั้งผู้ป่วย และญาติอย่างมาก ความเชื่อนี้หากเป็นการกระทำด้วยศรัทธา และเมตตามิได้หลอกลวงให้สิ้นเปลืองก็มิใช่เรื่องที่น่ารังเกียจ และอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยได้

ความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคม ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับผีป่า ผีบ้าน ผีแถน เทพเทวาอารักษ์ ผู้คุ้มครองสังคม ความเชื่อนี้มีผลทำให้จารีตประเพณีมีความมั่นคง และส่งผลให้การทำลายป่า การทำลายสิ่งแวดล้อม และการประพฤติผิดจารีตต่าง ๆ ที่เรียกว่า "การผิดผี" จักถูกลงโทษต่าง ๆ นานา แต่ในปัจจุบัน แม้มีการอธิบายถึงผลดีผลเสียของการทำลาย และการทำผิดต่าง ๆ ก็ยังพบว่าผู้ที่เข้าใจเหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์มากมาย ก็ยังคงทำความผิดครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งนี้เพราะเราขาดมาตรการการควบคุมทางจิต ซึ่งมีมากมายในอดีต ในรูปพิธีกรรมและความเชื่อ ดังนั้น การที่เรามีการรณรงค์ปลูกป่า และป้องกันการทำลายป่า นอกเหนือาจากวิธีการในปัจจุบัน หากจะมีการฟื้นฟูพิธีกรรมวิงวอนผีป่า ผีฟ้า ผีแถน ให้ช่วยคุ้มครองป้องกัน และให้ลงโทษผู้คิดทำลายและฉกฉวยผลประโยชน์จากป่าที่เหลือน้อยนิด มาเสริมเป็นมาตรการทางจิตเข้ามาด้วย ก็ไม่น่าเป็นผลเสียแต่อย่างใด

นอกจากบทบาทหน้าที่ ต่อการดำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นแล้ว ความเชื่อในเรื่องผีของคนไทย ยังมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการควบคุมพฤติกรรมสมาชิกในสังคมเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย และก่อให้เกิดสันติสุขต่อสังคมโดยส่วนรวม ด้วยความเชื่อว่า การล่วงละเมิดผิดผีไม่เพียงแต่สมาชิกในสังคมคนใดคนหนึ่งจะมีอันตราย แต่ยังมีผลกระทบต่อการล่มสลายของชุมชนนั้นอีกด้วย

2.5 ผลการศึกษาภาคสนาม

2.5.1 ความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์

หมู่บ้านบึงสวางเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติอันยาวนาน จากการสอบถามชาวบ้านทำให้ทราบว่า ในหมู่บ้านนี้มีสถานที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านอยู่หลายแห่ง

1) วัดนาฬิการาม : วัดประจำหมู่บ้าน

วัดนาฬิการาม เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2424 ตั้งอยู่ที่บ้านบึงสรวงหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ในเนื้อที่ 5 ไร่ 64 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย

- อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีต กว้าง 4.5 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2525

- วิหาร เป็นอาคารไม้ กว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521

- ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ กว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2506

- กุฎิสงฆ์ จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารไม้

แต่ปัจจุบันพบว่า เหลือเพียงกุฎิสงฆ์ มีพระสงฆ์จำวัดเพียง 2 รูป และอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระประทาน นอกจากนี้ ขณะที่ทำการสำรวจ (ระหว่างวันที่ 14 - 19 มีนาคม พ.ศ. 2541) กำลังมีการก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ และจากการสังเกตพบว่า ในวัดนี้ไม่มีเมรุเผาศพ ทั้งนี้เพราะความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า ถ้ามีเมรุเผาศพ จะทำให้คนตายมาก

วัดนาฬิการาม บริหาร และการปกครองโดยเจ้าอาวาส จากการสัมภาษณ์ทำให้ทราบถึงรายนามของเจ้าอาวาสของวัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

- พระหลวง พ.ศ. 2489 - 2492

- พระบุญชู พ.ศ. 2493 - 2499

- พระมหาสอน พ.ศ. 2500 - 2510

- พระกอง พ.ศ. 2511 - 2516

- พระทอง พ.ศ. 2517 - 2520

- พระคำสิงห์ พ.ศ. 2521 - 2526

- พระบุญถม พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา

การบริการทางการศึกษาของวัดนี้ ได้แก่ โรงเรียนประปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ. 2493 และเนื่องจากเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ในแต่ละปีจึงมีการประกอบพิธีกรรม และประเพณีปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอ ประเพณีของแต่ละเดือน ได้แก่

เดือนหนึ่ง งานบุญปีใหม่

เดือนสอง งานบุญแจกข้าว

เดือนสาม งานบุญข้าวจี่

เดือนสี่ งานบุญพระเวสสันดร

เดือนห้า งานบุญสงกรานต์

เดือนหก งานบุญบั้งไฟ

เดือนเจ็ด งานบุญเบิกบ้าน

เดือนแปด งานบุญเข้าพรรษา

เดือนเก้า งานบุญประดับดิน

เดือนสิบ งานบุญสลากพัตร

เดือนสิบเอ็ด งานบุญออกพรรษา

เดือนสิบสอง งานบุญมหากฐิน

จากการสอบถามชาวบ้านทำให้ทราบว่า วัดนาฬิกานี้เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านโนนเขวา ชาวบ้านมักจะพาลูกหลานมาที่วัดสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ลูกหลานไม่สบาย ร้องให้งอแงก็มักให้พระที่วัดทำการเป่ากระหม่อมเหมือนเป็นที่พึ่งทางใจ

2) พระธาตุโนนแท่น : สถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่หมู่บ้านบึงสวาง

พระธาตุโนนแท่น ตั้งอยู่บนเนินดินกลางทุงนานอกหมู่บ้าน มีพระพุทธรูปประดิษฐานบนแท่นที่ก่อด้วยอิฐ และมีการสร้างโครงโดยใช้เสาคอนกรีตอย่างง่ายมุงด้วยหลังคาสังกะสี เพื่อกันแดดกันฝน โดยรอบบริเวณสิ่งก่อสร้างจะมีต้นไม้ใหญ่ที่คาดว่าน่าจะขึ้นเองตามธรรมชาติ

ชาวบ้านบึงสวางส่วนใหญ่เห็นว่า ในสมัยโบราณบริเวณพระธาตุนี้น่าจะเคยเป็นวัด เพราะมีซากใบเสมา ที่เป็นหลักแสดงเขตโบสถ์สำหรับทำสังฆกรรม และจากตำนานโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาว่า คนโบราณร่างกายใหญ่โตสูง 8 ศอก มีความตั้งใจจะไปร่วมสร้างพระธาตุที่นครพนม แต่ในระหว่างการเดินทางกลับทราบข่าวว่า พระธาตุที่นครพนมนั้นสร้างเสร็จแล้ว ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้า จึงสร้างพระธาตุขึ้นในบริเวณที่ไปถึงนั้นแทน ซึ่งก็คือบ้านบึงสวางในปัจจุบัน

จากการสอบถามและพูดคุยกัน "ผู้ใหญ่ประเสริฐ จำปาพรม" ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านบึงสวาง จึงได้ทราบข้อเท็จจริงบางประการว่า บริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านบึงสวางในปัจจุบัน เคยเป็นฐานทัพของทหารสมัยโบราณมาก่อน ทั้งในบริเวณพระแท่นจะสระน้ำ และรูปปั้นสัญลักษณ์ของศิวลึงค์ จึงสันนิษฐานว่า ในบริเวณพระแท่นนี้ไม่น่าจะเป็นวัด นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพบว่า อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างแท่นมีอายุเก่าแก่มาก ประมาณ 1,700 - 1,800 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นอิฐรุ่นเดียวกับที่พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี อีกทั้งยังเป็นอิฐขนาด 4 นิ้ว ซึ่งแตกต่างจากอิฐที่ใช้ในการสร้างพระธาตุอื่น ๆ ที่มักจะใช้อิฐขนาด 6 หรือ 8 นิ้ว อีกทั้งผลจากการสำรวจของนักธรณีวิทยาพบว่า เป็นอิฐที่มีการผสมน้ำยาพิเศษ ทำให้อิฐมีความทนทาน สามารถอยู่ได้หลายพันปี

ผู้ใหญ่ประเสริฐ ได้อ้างถึง "ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ บุญส่ง อินทรวิรัติ" จากบ้านโนนสมบูรณ์ ซึ่งท่านผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์สัปดาห์วิจารณ์ ที่เชื่อว่าบริเวณพระแท่นน่าจะเคยเป็นค่ายทหารมาก่อน เพราะอิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง ไม่ได้มีความสวยงามเพียงพอที่จะนำมาใช้สร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มีการสร้างเทวรูปจำพวกเทวดา (ไม่ใช้พระพุทธรูป) โดยทหาร ดังนั้น บริเวณดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นวัดมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ปี ในวันแรม 7 ค่ำ เดือน 5 ถือเป็นวันสงกรานต์ จะมีพิธีบวงสรวงพระธาตุ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ชาวบ้านใกล้ไกลจะสรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวกันที่บริเวณพระธาตุโนนแท่นนี้ นับว่าพระธาตุโนนแท่นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่หมู่บ้าน และเป็นสิ่งที่เคารพของชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียงเสมอมา

3) ศาลพ่อใหญ่ปู่บ้าน : ศาลเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน

ศาลเจ้าพ่อใหญ่ปู่บ้าน เป็นที่สถิตของพ่อใหญ่ปู่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าที่เจ้าทางผู้ปกปักรักษาหมู่บ้านบึงสวางให้ร่มเย็นเป็นสุข ตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ บริเวณคันนาริมคู บนกำแพงดินที่เป็นแนวเขตระหว่างหมู่บ้านกับพื้นที่นา มีลักษณะเป็นสิ่งที่ก่อสร้างอย่างง่ายมุงหลังคา และโดยรอบด้วยสังกะสี สภาพทรุดโทรมขาดการดูแลรักษา ไม่มีวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พบเพียงพวงมาลัยดอกไม้คล้องอยู่

เมื่อก่อนศาลพ่อใหญ่ปู่บ้านนี้ จะตั้งอยู่ริมบึงหนองผือในหมู่บ้านบึงสวาง ซึ่งชาวบ้านอ้างว่าเป็นบริเวณที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำการย้ายศาล โดย "ตาจ้ำ" (ผู้มีหน้าที่ติดต่อกับพ่อใหญ่ปู่บ้าน) เป็นผู้ประสานงานในการย้ายสถานที่

ผู้ใหญ่ประเสริฐ ได้เล่าถึงตำนานของศาลว่า "เจ้าปู่แสนดาษ" ผู้รักษาแก่งน้ำต้อน มีอำนาจครอบครองพื้นที่ตั้งแต่แก่งน้ำต้อนจนถึงภูมินทร์ เมื่อครั้งที่เดินทางผ่านบริเวณน้ำ ได้ทำการสร้างศาลขึ้น ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้าน โดยจะมีการบวงสรวงพ่อใหญ่ปู่บ้านทุก ๆ เดือน 6 เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บางครั้งก็มีการบนบานพ่อใหญ่ปู่บ้านขอให้ฝนไม่ตกเมื่อจำทำการบุดบ่อ หรือก่อสร้างถนน เป็นต้น นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมมานมัสการพ่อใหญ่ปู่บ้าน เมื่อจำเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ อีกทั้งคนภายนอกที่เข้ามาในหมู่บ้านจะต้องไปไหว้ท่านก่อน

"คุณตาทุ่ม สีนาค" เล่าว่าเวลาที่ชาวบ้านจะเริ่มทำนา ก็จะไปบวงสรวงด้วยเนื้อวัว เนื้อควาย และมีการนำหุ่นจำลองของตัวคน สัตว์ เช่น วัว ควาย ไปถวาย ด้วยชาวบ้านมีความเชื่อว่าท่านจะรักษาสิ่งของ นอกจากนี้ จากการสำรวจพื้นที่ได้ข้อสังเกตว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวางไม่นิยมตั้งศาลพระภูมิไว้ในบ้าน เพราะชาวบ้านนับถือศาลพ่อใหญ่ปู่บ้าน

4) วัดป่าสามัคคีสันติธรรม : วัดนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก

ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เป็นวัดที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีลักษณะเป็นวัดป่า ร่มรื่น มีต้นไม้มากมาย มีสิ่งก่อสร้างที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศิวลี และพระพุทธรูปปางอื่น ๆ อีกมาก

แม้ว่าวัดนี้จะไม่ได้อยู่ในบ้านบึงสวาง แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนในจังหวัดอื่น ๆ มีความศรัทธาต่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดนี้มาก นั่นคือ "หลวงพ่อบุญทัน ปุญญทัตโต" (พิศาลคณาณุจิต) จากการพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวางพบว่า น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักหลวงพ่อบุญทัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ และความเมตตาของท่านที่ช่วยคุ้มครอง และรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีเครื่องรางของขลังของท่าน เช่น ผ้ายันต์ กะตุด รูปถ่าย หรืออักขระที่ท่านเจิมให้ เป็นต้น นอกจากการทำนายโชคชะตาที่แม่นยำของท่านแล้ว ท่านยังมีชื่อเสียงทางด้านเป่าเสก ปัดรังควาน และปราบผีอีกด้วย

5) ต้นยาง : สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่หมู่บ้าน

ต้นยางต้นนี้ขึ้นอยู่บริเวณริมคูน้ำ ที่เป็นเขตของหมู่บ้านบึงสวาง เป็นต้นยางที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 6 คนโอบ ซึ่งใหญ่กว่าต้นอื่น ๆ ในหมู่บ้าน และเป็นต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่มาก จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้าน ทุกคนบอกว่ามีอายุหลายร้อยปี มีตั้งแต่สร้างหมู่บ้านนี้ขึ้น

ชาวบ้านเชื่อว่า ต้นยางต้นนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะทุก ๆ ปีจะเกิดปรากฎการณ์ฟ้าผ่าลงมาที่ต้นยางต้นนี้ และต้นยางก็ไม่เป็นอะไร นอกจากจะมีใบไม้ไหว และร่วงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จากความเหลือเชื่อนี้เอง ทำให้ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการบูชาขูดเลขขอหวย และนำเกล็ดยางที่ได้จากต้นนี้ไปเป็นเครื่องรางประจำตัว

6) ต้นโพธิ์ : สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา

ต้นโพธิ์ที่ขึ้นในบริเวณวัดนาฬิการามมีหลายต้น อายุเก่าแก่เพราะมีขนาดใหญ่มาก ต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จึงถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านนิยมไปขูดเลขขอหวย

บทวิเคราะห์

ถึงแม้ชาวบ้านจะมีความเชื่อ และนับถือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่พอสมควร แต่จากการสำรวจพบว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้นไม้ที่ชาวบ้านนับถือนั้น กลับไม่มีการดูแลที่ดีเพียงพอ ทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นสกปรก และมีสภาพเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา อาทิ บริเวณพระแท่นมีต้นหญ้าขึ้นมาบังตามทางที่จะเดินไปนมัสการ หรือบริเวณต้นยางที่ชาวบ้านนิยมมาขูดเลขขอหวย กลับเป็นที่ทิ้งขยะของชาวบ้าน เกิดเป็นกองขยะรอบ ๆ บริเวณต้นยางนั้น

สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นวิเคราะห์ได้ว่า เป็นเพราะความเชื่อของชาวบ้านที่เกรงว่า หากมีการกระทำใดใดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ๆ แล้วอาจเกิดอาถรรพ์ต่าง ๆ กับหมู่บ้าน จึงไม่มีใครกล้าไปยุ่งหรือดูแลสถานที่ต่าง ๆ นั้น ดังเช่นกรณี การย้ายศาลพ่อใหญ่ปู่บ้านจากริมบึงหนองผือ เพราะสถานที่เดิมนั้นอยู่ในบริเวณที่ต่ำ จำเป็นต้องย้าย ด้วยเกรงว่าถ้าไม่ย้ายไปชาวบ้านอาจต้องพบกับเรื่องร้าย ๆ ในหมู่บ้าน และในการย้ายก็ต้องมี "ตาจ้ำ" เป็นผู้ประสานงาน เพื่อติดต่อกับพ่อใหญ่ปู่ถึงสิ่งที่ควร และไม่ควรทำให้ระหว่างการย้าย มิฉะนั้นชาวบ้านอาจจะไม่สบายเพราะเชื่อว่าพ่อใหญ่จะมากระทำ เป็นต้น

นอกจากนี้ในระหว่างการสำรวจหมู่บ้าน ทางกลุ่มสังเกตว่าแต่ละบ้านในหมู่บ้านนี้ไม่ปรากฎว่ามีศาลพระภูมิตั้งให้เห็น ซึ่งไม่เหมือนกับที่พบเห็นศาลพระภูมิตั้งอยู่หน้าบ้านของชุมชนในภาคกลางทั่วไป หลังจากการเก็บข้อมูลและสอบถามชาวบ้าน จึงสามารถวิเคราะห์ได้ว่า วิถีและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ดังนั้น ความเชื่อที่มาจากศาสนาอื่น เช่น การตั้งศาลพระภูมิที่มีรากฐานมาจากศาสนาพราหมณ์าจึงไม่ค่อยได้รับความสำคัญจากชาวบ้านมากนัก

2.5.2 ความเชื่อเกี่ยวกับการทำนายโชคชะตา

สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้เกิดความตึงเครียดในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง หรือสังคมชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท ปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศ ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีปรากฎบ่อย และมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของผู้คนในชนบทเหล่านี้ ปัญหาทั้งหมดอาจส่งผลให้เกิดความคับแค้นใจ และความวิตกกังวล ซึ่งก็จะต้องการทางออกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือความเดือดร้อนเหล่านั้น บางคนอาจหันเข้าปรึกษาหมอดูเพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาตค เพื่อลดความกระวนกระวายใจ หรือเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจลง ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการทำนาย หรือพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างมาก และยังมีอิทธิพลความเป็นอยู่ของบุคคลทุกยุคทุกสมัยด้วย แม้ในอดีตจะมีโหรประจำราชสำนักซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก แต่โหรนั้นจะแตกต่างจากหมอดู คือ

- โหร หมายถึง ผู้ที่เรียนวิชาโหรศาสตร์ที่กล่าวถึงอำนาจของดาวที่มีอิทธิพลต่อโลกมนุษย์ เป็นผู้รู้กาลเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ดีร้ายแก่สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลฟ้าครอบ รวมทั้งชีวิตมนุษย์อีกด้วย

- หมอดู จะหมายถึงผู้ที่จะบอกโชคดี หรือเคราะห์ร้ายแก่ท่าน วิชาหมอดูที่ใช้กันอยู่ทั่วไปคือ เลข 7 ตัว เลข 12 ตัว กราฟแบบนโปเลียน ไพ่ป๊อก พรหมชาติ และลายมือ

จากการศึกษาเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับการทำนายโชคชะดาโดยใช้กลุ่มศึกษา คือ ชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวางพบว่า มีบางส่วนที่เชื่อในเรื่องนี้ และก็มีบางส่วนที่ไม่เชื่อ ในส่วนที่เชื่อนั้น จะเชื่อและนับถือหมอดูประจำหมู่บ้านโนนเขวา ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นส่วนใหญ่ ในหมู่บ้านเองนั้นไม่มีหมอดูประจำหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีหมอดูตามบ้านซึ่งเป็นคนต่างบ้านเดินทางมารับจ้างดูหมอตามบ้าน โดยจะมีวิธีการทำนายแตกต่างกันไปตามวิธีของแต่ละคน และบุคคลที่ชาวบ้านนับถือมากที่สุดที่มักจะไปหาเมื่อมีเรื่องเดือดร้อนมาก ๆ คือ "หลวงพ่อบุญธรรม์" เจ้าอาวาสวัดป่าสามัคคีสันติธรรม

ในการศึกษาครั้งนี้จะไม่กล่าวถึงหมอดูตามบ้าน เพราะมีเป็นส่วนน้อยแต่จะเน้นหนักในเนื้อหาและรายละเอียดของ "ลุงอ้วย คำพาสี" หมอดูประจำหมู่บ้านโนนเขวา เนื่องจากมีอิทธิพลต่อชาวบ้านบึงสวางมากที่สุด ซึ่งจากการสอบถามตัวลุงอ้วยมานั้นได้ทราบว่า ลุงอ้วยได้เคยบวชกับพระอาจารย์คู้เหล็ก วัดผาเสด็จ อยู่ 7 ปี และได้ศึกษาวิชาด้านนี้จากท่าน พระอาจารย์ได้สอนวิธีการทำนายโดยทำนายจากการคำนวณวันเดือนปีเกิด และเวลาเกิด จะไม่ใช่วิธีการดูลายมือ สำหรับสาเหตุนั้นลุงอ้วยได้กล่าวว่า "ลายมือลุงไม่ดูเพราะเป็นการเดา" การทำนายนั้นลุงอ้วยสามารถทำนายในเรื่องโชคลาภ ดวงชะตา เนื้อคู่ ทำนายโรคภัยไข้เจ็บ ทำนายเคราะห์ ดูฤกษ์ยาม ซึ่งทั้งหมดจะทำนายภายใน 1 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถหาสิ่งของได้ด้วย แต่การหาสิ่งของนั้นจากการสอบถามชาวบ้านได้รับการบอกเล่าว่า ถ้าหากของหายภายในวันนั้นจะไปให้ลุงอ้วยช่วยดู แต่ถ้าหากของหายข้ามวันจะไปให้หลวงพ่อบุญธรรม์ช่วยดู และถ้าหากไปหาลุงอ้วยจะต้องบอกเวลาที่ของหายให้แน่นอนจึงจะหาเจอได้ง่าย จะรู้ว่าของนั้นอยู่ทางทิศใด

ขั้นตอนในการดูดวงนั้น ในขั้นแรกจะต้องเตรียมอุปกรณ์ คือ เทียน ใบทองพันช่าง และเงินตามกำลังศรัทธาใส่ในจาน ดังรูป จากนั้นผู้ที่จะให้ลุงอ้วยทำนายจะจับจานแล้วลุงอ้วยจะว่าคาถา

หลังจากนั้นจึงเริ่มทำนาย โดยใช้วันเดือนปีเกิด เวลาเกิด (ตกฟาก) คำนวณหาเศษเพื่อจะดูความหมายจากเศษที่ตก ซึ่งมีทั้งหมด 7 ตัว แต่ละตัวจะมีความหมายดังนี้

ถ้าหากตกเศษ 0 ไม่ดีมีเคราะห์ร้าย

1 ชนะเหล่าคนพาล และผู้ปองร้าย

2. ทรัพย์สินมาก

3 รับความลำบากตรากตรำ ร้อนใจ

4 มีทรัพย์สินมาก พ้นโทษทุกประการ

5 มีคนยุยงส่งเสริมให้ผิดใจกัน

6 แพ้ปากท้อง ญาติมิตรจะหาเรื่องมาใส่

7 ไม่ดีต้องตาย

ถ้าหากผู้ที่มาดูดวงมีเคราะห์ไม่ดี เช่น ตกเศษ 0 หรือ 7 จะต้องทำพิธีลงยันต์หรือเป่าหัว เพื่อไม่ให้อันตรายเข้ามาใกล้ หรือเจิมหน้าเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ถ้ามีโชคก็ต้องทำการผูกโชคเพื่อไม่ให้โชคหนีโดยใช้ด้าย 7 สีมณี 7 แสงผู้ข้อมือ

จากการค้นคว้าเพิ่มเติมลักษณะการทำนายโดยใช้เลข 7 ตัวที่ลุงอ้วยใช้ ถือเป็นการทำนายลักษณะหนึ่งของโหราศาสตร์ที่ไม่อิงอำนาจของดวงดาว คือ เป็นการอ่านหรือเชื่อมโยงความหมายจากสัญลักษณ์ต่าง ๆ โดยโหราศาสตร์ลักษณะนี้ได้แบ่งเป็น 2 ลักษณะตามวิธีการผูกดวง ได้แก่ ลักษณะแบบแผนที่คงที่ และลักษณะแบบแผนที่ไม่คงที่ ซึ่งการใช้เลข 7 ตัวในการทำนายจัดอยู่ในลักษณะแบบแผนที่คงที่ คือ เป็นการผูกดวงหรือวางกฎเกณฑ์ที่เป็นตัวแทนของเจ้าของดวงชะตาก่อนที่มีการอ่านคำทำนาย โดยการใช้วันเกิด เดือนเกิด และปีเกิด และโหราศาสตร์แขนงนี้ แบ่งเป็น 2 ภาคใหญ่ ๆ คือ

- ภาคคำนวณ เป็นเรื่องของการคำนวณด้วยตัวเลข การนับตัวเลข เช่น กฎเกณฑ์ในการผูกดวง

- ภาคพยากรณ์ เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกฎเกณฑ์โดยการตีความหมาย และเชื่อมโยงความหมายออกมาเป็นลักษณะของคำทำนาย

จะเห็นได้ว่าโหราศาสตร์ดั้งเดิมมีเพียง 2 ภาคเท่านั้น แต่ในสังคมไทยได้เพิ่มภาคพิธีกรรมเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นภาคที่ว่าด้วยพิธีกรรมเพื่อที่จะแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเจ้าชะตา โดยเชื่อว่าการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ จะสามารถทำให้เจ้าของดวงชะตาสามารถที่จะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติ หรือเคราะห์กรรมต่าง ๆ ตามคำพยากรณ์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผสมผสานกลมกลืนระหว่างวิชาโหราศาสตร์กับความเชื่อดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนา และลัทธิความเชื่อต่าง ๆ จนมีการผสมผสานกลมกลืนระหว่างพิธีกรรมตามความเชื่อกับโหราศาสตร์ นอกจากนี้ ความเชื่อดังกล่าวยังถูกผสมผสานเข้ากับภาคพยากรณ์ทางโหราศาสตร์อีกด้วย จนเกิดวิชาโหราศาสตร์แขนงใหม่ที่มีการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับภาคพิธีกรรมไว้แน่นอนตายตัว จนอาจแบ่งแขนงวิชาโหราศาสตร์ตามกฎเกณฑ์ทางความเชื่อออกเป็น 2 แขนง ดังนี้

1. กลุ่มความเชื่อที่ว่า โหราศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ มีภาคพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ โหราศาสตร์ดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลายมือ ดวงอีแป๊ะ ฯลฯ

2. กลุ่มความเชื่อที่มีรากฐานมาจากอำนาจลี้ลับที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติ ซึ่งเชื่อที่ว่า วิชาโหราศาสคร์นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในการพยากรณ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจลี้ลับ และความเชื่อทางศาสนาที่ตนยึดมั่นอยู่ โดยกลุ่มความเชื่อนี้จะมีการระบุภาคพิธีกรรมอยู่ในกระบวนการพยากรณ์อยู่ด้วย เช่น การพยากรณ์เลข 7 ตัว เพราะฉะนั้นแบบของลุงอ้วยจึงจัดอยู่ในกลุ่มนี้

จากการพูดคุยลุงอ้วยได้ให้รายละเอียดว่า ลุงได้รายได้จากการดูดวง ผูกขวัญ สะเดาะเคราะห์ และไม่เพียงแต่คนในหมู่บ้านเท่านั้นที่มาพึ่งลุง คนในหมู่บ้านใกล้เคียง หรือแม้แต่หมู่บ้านที่ไกลออกไปก็ยังมาหาลุง ในวันที่ผู้ศึกษาไปสัมภาษณ์นั้น มีคนจากหมู่บ้านหนองชาดมารับลุงเพื่อไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ที่บ้าน นอกจากนี้ก็ยังมีคนที่มาจากในเมืองขอนแก่น หรือมาจากจังหวัดอื่น เช่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ฯลฯ มาให้ลุงอ้วยช่วยก็มี

นอกจากรายละเอียดของการดูโชคชะตาแล้ว ยังได้รายละเอียดของการดูเนื้อคู่ซึ่งจะดูโดยการนำวันเดือนปีเกิดของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงมาคำนวณหาเศษ ถ้าหากดวงไม่สมพงษ์กันจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องเนื้อคู่ บุพเพสันนิวาสยังคงมีอยู่สังคมไทย ถ้าหากเป็นคู่ที่กำลังจะแต่งงานก็อาจจะแก้โดยทำพิธีผูกดวงโดยการเจิมหน้า เป่าหัวหรือผูกแขน เป็นต้น ในส่วนของการดูฤกษ์แต่งงานก็จะดูจากวันดีของปีในเดือน 2,4,6 ส่วนฤกษ์ยามในการทำพิธีอื่น ๆ ก็จะดูไม่ให้ตรงกับวันกาลกิณี ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละพิธีกรรม นอกจากนี้ยังมีการดูฤกษ์เดินทาง โดยฤกษ์การเดินทางนี้ลุงอ้วยจะดูจากวันข้างขึ้น หรือข้างแรม และจะบอกเวลาดีที่ควรออกเดินทาง ครั้งนี้

ถ้าเป็นวันข้างขึ้น วันอาทิตย์ควรจะออกเดินทางเวลา 7.00 น.

วันจันทร์ควรจะออกเดินทางเวลา 9.00 น.

วันอังคารควรจะออกเดินทางเวลา 12.00 น.

วันพุธควรจะออกเดินทางเวลา 13.00 น.

วันพฤหัสบดีควรจะออกเดินทางเวลา 17.00 น.

วันศุกร์ควรจะออกเดินทางเวลา 7.00 น.

วันเสาร์ควรจะออกเดินทางเวลา 9.00 น.

ถ้าเป็นวันข้างแรม วันอาทิตย์ควรจะออกเดินทางเวลา 17.00 น.

วันจันทร์ควรจะออกเดินทางเวลา 13.00 น.

วันอังคารควรจะออกเดินทางเวลา 12.00 น.

วันพุธควรจะออกเดินทางเวลา 9.00 น.

วันพฤหัสบดีควรจะออกเดินทางเวลา 13.00 น.

วันศุกร์ควรจะออกเดินทางเวลา 17.00 น.

วันเสาร์ควรจะออกเดินทางเวลา 14.00 น.

นอกเหนือจากทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีชาวบ้านที่ไปหาลุงอ้วยเมื่อไม่สบาย โดยให้ลุงดูดวงชะตาให้ถึงสาเหตุที่ไม่สบายนั้น และถ้าหากไม่สบายเพราะผี บางครั้งลุงก็จะรักษาให้ทันที หรือให้ไปรักษาโดยการรำผีทรง หรืออาจให้ไปรักษากับตาจ้ำหากสาเหตุที่ไม่สบายเพราะพ่อปู่มาหยอก นั่นคือ หากเกิดการเจ็บป่วยขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวบ้านก็จะไปให้ลุงอ้วยดูดวงให้ก่อนที่จะไปรักษาโดยวิธีต่าง ๆ

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง ถึงความเชื่อในการทำนายโชคชะตาของแต่ละคนที่มาดูดวงชะดา ได้ข้อมูลดังนี้

* ป้าชุมพร แก้วเหล่า อายุ 60 ปี อาชีพหมอตำแย

ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองเคยไปดูหมอดู เมื่อหมอดูบอกว่ามีเคราะห์ตนก็จะไปสะเดาะเคราะห์ตามที่หมอดูแนะนำ และยังให้ความเห็นว่าคนที่เชื่อในเรื่องนี้ก็มักคิดว่า หมอดูทำนายแม่น ถ้าไม่เชื่อก็มักจะคิดว่าไม่แม่น

* นายสิงขรณ์ อุ่นผาง อายุ 42 ปี อาชีพทำนา

ให้สัมภาษณ์ว่า ชาวบ้านบริเวณนี้ ถ้าหากป่วยไข้ก็จะไปหาหมอดูประจำหมู่บ้านก่อนแล้วหมอดูก็จะบอกให้ไปรักษาโดยไปหาหมอรำ หรือโดยวิธีอื่น ๆ แต่ตัวนายสิงขรณ์เองนั้นไม่เชื่อ โดยกล่าวถึงสาเหตุว่า ถึงจะมีคนไปรำแล้วหาย แต่ก็อาจจะหายเพราะสาเหตุอื่น เนื่องจากบางคนไปหาแพทย์ และกินยาแล้วแต่กลับไม่หายจึงไปรำ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าหายเพราะวิธีรักษาใด นอกจากนี้แล้วนายสิงขรณ์เคยไปดูหมอถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกหมอทำนายว่าจะตายภายในปีนั้นให้ไปสะเดาะเคราะห์ แต่นายสิงขรณ์ก็มิได้ไป ยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ อีกครั้งหนึ่งตอนที่จะไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย หมอดูได้ทำนายว่าจะถูกส่งกลับ หรือถูกโกง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะได้อยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียถึง 3 ปี จากการทำนายที่ไม่ตรงถึง 2 ครั้ง ทำให้ไม่เชื่อการดูหมอ

* นายทินกร อายุ 19 ปี

ให้สัมภาษณ์ว่าเคยบวชเรียน และเคยไปให้หมอดู หมอดูบอกว่าดวงไม่ดี จึงไปสะเดาะเคราะห์ และส่วนตัวมีความสนใจในการดูหมอ และได้ซื้อหนังสือตำราพรหมชาติมาศึกษาด้วยตนเอง

* ป้าเฮียง อายุ 50 ปี อาชีพทอผ้า

กล่าวถึงเรื่องการรำผีทรงว่า ก่อนที่จะไปรักษาก็จะต้องไปดูหมอก่อน แต่ว่าตนไม่เคยเป็นอะไรจึงไม่เคยไปดู และโดยส่วนตัวป้าเฮียงจะนับถือในพระพุทธ พระธรรมมากกว่า จึงชอบที่จะไปวัด

* แม่สุ่ม นามศรี อายุ 50 ปี อาชีพทอผ้า

ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เชื่อในเรื่องการทำนายโชคชะตา เนื่องจากครูใหญ่สอนมาตั้งแต่เด็กว่า ไม่ให้เชื่อเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่เคยดูหมอที่มาดูตามบ้าน ซึ่งบางครั้งก็แม่น ถ้ามีเคราะห์จะให้พ่อใหญ่อ้วยสะเดาะเคราะห์ให้เพื่อความสบายใจ

* พ่อใหญ่เทิ่ง จำปาพรม อายุ 79 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องคาถาอาคมแต่ไม่ได้เป็น หมอดู

ให้สัมภาษณ์ว่า เคยไปดูหมอกับลุงอ้วย ไปดูเพราะว่าอยากไปดูแต่ไม่ได้มีเรื่องเดือดร้อนอะไร ถ้ามีเคราะห์ก็สะเดาะเคราะห์ และยังกล่าวถึงลุงอ้วยว่า ลุงอ้วยใช้วิธีดูหมอตามวันเดือนปีเกิด คำทำนายจะถูกต้องแน่นอน

* ตาทุ่ม สีนาค อายุ 57 ปี อาชีพเลี้ยงไก่

เป็นผู้ที่ชอบศึกษาเรื่องลี้ลับ ให้สัมภาษณ์ว่า ชอบไปดูหมอ และตัวเองก็สามารถดูหมอได้ด้วย แต่ที่ตนไปดูมามีทั้งแม่น และไม่แม่น

* ป้าคมขำ จันเพ็ญ อายุ 54 ปี

ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เชื่อเรื่องหมอดูเลย นับถือแต่พระพุทธเท่านั้น

* ผู้ใหญ่บ้านประเสริฐ จำปาพรม ผู้ใหญ่บ้านบึงสวาง

ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองไม่เชื่อลุงอ้วย สาเหตุเพราะวิชาความรู้ที่ลุงอ้วยมีเป็นวิชาของพราหมณ์ แต่ชาวบ้านคนอื่น ๆ นับถือลุงอ้วยกันมาก แต่ตัวผู้ใหญ่มักจะไปหาหลวงพ่อบุญทัน และนับถือหลวงพ่อมาก ผู้ใหญ่กล่าวอีกด้วยว่า ถ้าใครมีศรัทธาในหลวงพ่อก็สามารถขอความช่วยเหลือได้

* สุขุมาลย์ อายุ 21 ปี และสุมาลี อายุ 20 ปี อาชีพนักศึกษา

ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวนั้นไม่ค่อยเชื่อนัก เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง คือถ้าผลออกมาดีก็จะเชื่อ และทั้งสองยังเล่าให้ฟังอีกว่ามีคนไปหาหมอดูประจำหมู่บ้าน เมื่อกระบือหาย แต่หมอดูได้ทำนายผิด และมีอีกหลาย ๆ ครั้งที่ทำนายไม่ตรงจึงไม่ค่อยเชื่อนัก

* นายวีรศักดิ์ บุตรมา อายุ 32 ปี อาชีพค้าขาย , น้าทอง เมินหาญ อายุ 31 ปี อาชีพทำนา และแม่ประมวล สุดพุด อายุ 46 ปี อาชีพค้าขาย จบการศึกษาชั้น ป.4

ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เคยดูหมอกับหลวงพ่อบุญทัน ที่วัดป่าสามัคคีสันติธรรม และเคยไปสะเดาะเคราาะห์ตามคำทำนาย

* นายสุภาพ แนนเนียม อายุ 42 ปี อาชีพทำนา

ให้สัมภาษณ์ว่า เคยไปดูหมอดู และเชื่อในเรื่องนี้

* นายณรงค์ชัย อายุ 24 ปี

กล่าวว่า ตนเองเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

* นายบุญส่ง อายุ 40 ปี

ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เชื่อ และไม่คิดที่จะดูหมอ แต่เชื่อในเรื่องบนเพราะเคยถูกเกณฑ์ทหารจึงไปบนเพื่อไม่ให้จับได้ใบแดง ในที่สุดการบนก็สัมฤทธิ์ผล

* อุษา อายุ 31 ปี

ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยดูหมอเคยแต่รดน้ำมนต์ และส่วนใหญ่ตนจะเชื่อ และทำตามพ่อแม่ปู่ย่าตายายมากกว่า

บทวิเคราะห์

จากการให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง ที่ได้ถูกสุ่มเลือกให้มีความแตกต่างทางด้านอายุ และอาชีพการงาน เราอาจนำคำให้สัมภาษณ์มาวิเคราะห์ได้ว่า ชาวบ้านมีความคิดเห็น และความเชื่อแตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าอายุไม่ใช่ปัจจัยที่เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า ชาวบ้านในรุ่นเก่าจะต้องมีความเชื่อทั้งหมด หรือชาวบ้านในช่วงวัยรุ่นจะต้องไม่เชื่อ เพราะจากคำให้สัมภาษณ์ของชาวบ้านช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป บางคนอาจไม่เชื่อ หรืออาจเชื่อตามคำบอกเล่า แต่ตนเองไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปดูจึงไม่เคยไปดู เช่น กรณีของป้าเฮียง การที่ไม่เคยไปดูด้วยตนเอง ทำให้เชื่อไม่เต็มที่นัก บางกรณีสิ่งแวดล้อม คนรอบข้าง และการถูกสั่งสอนอบรมก็ทำให้มีความเห็นแตกต่างกันไปจากลุ่มคนช่วงอายุเดียวกัน เช่น กรณีของแม่สุ่มที่ครูใหญ่สอนไม่ให้เชื่อตั้งแต่เด็ก แต่สังเกตได้ว่าพ่อเทิ่ง และปุ้าชุมพร ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนคนรุ่นเก่าที่สุด (อายุ 79 และ 60 ปี ตามลำดับ) ทั้งคู่มีความเชื่ออย่างเต็มที่

ในช่วงวัยกลางคนมีที้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ และในผู้ที่ไม่เชื่อก็มีทั้งผู้ที่ไม่เคยไปดูหมอดู และผู้ที่เคยไปดูแล้ว คำทำนายไม่ตรงจึงทำให้ไม่เชื่อ เช่น กรณีของนายสิงขรณ์ และผู้ที่เชื่อดูแล้วอาจจะมีมากกว่า โดยพิจารณาจากลุ่มตัวอย่างวัยกลางคน 6 คน มีผู้ที่เชื่อ 4 คน และผู้ที่ไม่เชื่อ 2 คน การที่ชาวบ้านเชื่อในหมอดูน่าจะเป็นเพราะเป็นที่พึ่งที่ปรึกษาในด้านอาชีพการงาน

ส่วนคนที่อยู่ในวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเชื่อครึ่ง และไม่เคยไปดูด้วยตนเอง อาจจะเชื่อตามพ่อแม่ แต่โดยส่วนตัวอาจจะไม่ค่อยเชื่อนัก สาเหตุเพราะได้ยินคำบอกกล่าวว่า คำทำนายไม่ตรงบ้าน หรือคิดว่าเป็นเรื่องงมงายบ้างตามคำสอนของผู้ใหญ่ เป็นต้น แต่จะมีบางคนเช่นในกรณีของนายทินกรที่เชื่อมาก ในกรณีนี้ถือเป็นความสนใจ และความชอบส่วนตัว แต่คงจะเป็นส่วนน้อยทีเป็นกรณีอย่างนี้

จะเห็นได้ว่า ผลจากการศึกษาเรื่องความเชื่อในการทำนายโชคชะตาไม่มีแนวโน้ม หรือบทสุรปที่แน่นอน แต่อาจสามารถสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้

ไม่เคยดูแต่เชื่อตาม

คำบอกเล่า

เชื่อในการ

ทำนายโชคชะตา

ดูดวง

ไม่ดูดวง

ไม่เชื่อในการ

ทำนายโชคชะตา

ไม่เชื่อ

ดูดวง

เชื่อเชิงประจักษ์เพราะ

หมอดูทายตรง

2.5.3 ความเชื่อที่เกี่ยวกับพิธีกรรม

พิธีกรรมคือ กิจกรรมบูชา , การปฎิบัติในการทำพิธี อันล้วนแต่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันทั่วไป และอ้างถึงความเชื่อเก่าแก่ของชาวหมู่บ้านในชนบททั้งสิ้น

สำหรับพิธีอื่น ๆ หรือโดยมากแล้ว พระจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อพิธีกรรม ในหมู่บ้านบึงสวางนั้น พุทธศาสนาแรงกว่าพราหมณ์ คือ ไม่เน้นพิธีกรรมนั่นเอง

อย่างไรก็ดีเราแบ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ออกเป็นสองประเภท คือ

1. พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวัน ได้แก่ พิธีแต่งงาน , พิธีขอสมาหรือขอขมา , พิธีบายศรี , ผอก , พิธีศพ , การเลี้ยงผีนา , สะเดาะเคราะห์ หรือพิธีแต่งแก้ เป็นต้น

2. พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา ได้แก่ การทำบุญบ้าน , พิธีที่ปฎิบัติประจำปี หรือพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น

ก) พิธีที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวัน

1. พิธีแต่งงาน

ในภาคอีสานนั้น มีการเกี้ยวพาราสีตาวแตกต่างจากที่อื่น คือ เรียกว่าพิธีลงข่วงเกิดในฤดูหนาว ช่วงกลางคืนพวกผู้หญิงจะก่อไฟผิง และทำงานในตอนกลางคืน เช่น การปั่นฝ้าย ปั่นด้าย กรอไหม ทอเสื้อ พวกหนุ่ม ๆ จะเข้ามาเกี้ยว ซึ่งในหมู่สตรีจะมีผู้หญิงแก่อยู่ด้วยเพื่อคอยกำกับดูแล

เมื่อหญิงชายต่างมีความคิดจะอยู่กินอยู่ครองเรือนกันแล้ว ฝ่ายชายจะส่งคนไปสู่ขอฝ่ายสาวจากพ่อแม่ หรืออาจไปเองด้วยก็ได้ ต่อจากนั้น จะมีการกำหนดฤกษ์ยาม จากพระที่ชาวบ้านนับถือ หรือถือฤกษ์ยามสะดวกก็สุดแล้วแต่ เดือนที่แต่งจะเป็นเดือนคู่ตามคติที่ให้อยู่กันเป็นคู่

ในการแต่งงานเจ้าบ่าว และเจ้าสาวต้องมีการเตรียมการดังนี้

* เตรียมงบประมาณ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันเองว่าฝ่ายใดจะจ่ายมากน้อยเพียงใด

* ขอฤกษ์ยามจากพระ หรือผู้รู้ที่เลื่อมใส

* สถานที่ทำพิธี โดยมากจะเป็นที่บ้านของเจ้าบ่าว และเจ้าสาว

* จัดหาเครื่องใช้ และชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว ชาวบ้านมักใช้เสื้อชุดใหม่สวยงาม แล้วแต่ ฐานะของคู่บ่าวสาว

* การจัดหาโต๊ะหมู่บูชา หรือสถานที่สำหรับพระสงฆ์

* ติดต่อประธานในพิธี มักเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ของทั้งสองฝ่าย

* อาหารจัดเลี้ยงแขก และญาติพี่น้องที่มาร่วมงาน

สิ่งประกอบที่ต้องมีในพิธีซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อเก่าแก่ เช่น พานใส่ธูปเทียนแพ และดอกไม้ 1 พานใหญ่ , ใส่ผ้าไหว้พ่อแม่ (2 สำรับ) 1 พานใหญ่ , ใส่ผ้าไหว้ผี (ผ้าขาว 1 พับ) 1 พานดีด้วย

ส่วนขันหมาก ให้จัดเป็น 2 ขันเรียกว่า 1 คู่ ขันหนึ่งประกอบด้วย

* พลูเรียงกัน 8 ใบ ทั้งหมด 8 เรียง และต้องตัดก้านซ้อนกันให้เสมอทาก้านพลูด้วยชาดแดง วางลงรอบขันหันเอาใบพลูขึ้นปากขัน

* หมากตัดให้ติดกันเป็นคู่ ๆ ทาก้านที่ตัดด้วยชาดแดง

* ยอดต้นรัก ยอดใบเงิน ยอดใบตองพันชั่ง สิ่งละ 3 ยอด

* ข้าวเปลือก , ถั่วเขียว , งาดำ อย่าง 1 ถุง

ส่วนอีกขันหนึ่งประกอบด้วย พลู 9 เรียง หมาก 9 คู่ ตัดให้เสมอ และทาด้วยชาดแดงของอื่น ๆ จะเหมือนกับขันที่หนึ่งทั้งหมด

ปัจจุบันนี้ การจัดงานแต่งงานเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองเงินทองมาก เพราะรายได้ของชาวบ้านไม่เอื้อต่อการจัดงานเลี้ยงสักเท่าใด หลายต่อหลายคู่บ่าวสาวรุ่นใหม่ในหมู่บ้านจึงเพียงจดทะเบียนแล้วเข้าอยู่กินกัน โดยไม่มีการจัดพิธีดังที่กล่าวมา แต่เพื่อเป็นสิริมงคลคู่บ่าวสาวส่วนใหญ่จะร่วมกันตักบาตรทำบุญในตอนเช้า หลังจากนั้นไม่เกี่ยวกับพระ เป็นเรื่องของฆราวาสโดยเฉพาะ

จากคำตอบสัมภาษณ์ของชาวบ้านพบว่า บางครั้งที่พ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมให้ทั้งคู่ได้แต่งงานกัน บ่าวสาวจะหนีตามกันไป แล้วกลับมาทำพิธีขอสมา หรือขอขมาในภายหลัง ต้องใช้อุปกรณ์คือ ดอกรัก 2 และเทียน 2 มากราบขอสมาพ่อแม่ของบ่าวสาว พ่อแม่จะรับของเป็นอันคืนดีกัน

ความเชื่อบางประการที่เกี่ยวกับพิธีแต่งงาน

* ความเชื่อเก่าแก่ที่มีในเรื่องพิธีแต่งงานคือ ก่อนแต่งงานห้ามเจ้าสาวไปไหนมาไหนเพียงลำพังเด็ดขาด จะต้องมีเพื่อนไปด้วยเป็นกลุ่มเสมอ เพราะชื่อว่าจะได้ไม่มีอัตรายจากผีที่จะมาขโมยตัวเจ้าสาวไปก่อนแต่งงาน

* ในพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวจะยืนบนหินลับมีดให้เจ้าสาวล้างเท้าให้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เจ้าบ่าวหนักแน่น และเยือกเย็น

* เมื่อไปประกอบพิธีที่บ้านของบ่าวสาว จะให้ญาติผู้น้อยของคนฝ่ายตรงข้ามล้างเท้าให้ เป็นการต้อนรับ และยอมรับจากครอบครัว

* ไม่มีการรดน้ำสังข์ สายมงคล และไม่มีการเจิม ซึ่งต่างจากประเพณีของภาคกลาง

* ความเชื่อที่เปลี่ยนไป ในปัจจุบันการจัดทำพิธีแต่งงาน ขึ้นอยู่กับฐานะการเงิน ถ้ามีเงินจะจัด แต่ถ้าไม่มีจะเว้นเสีย และไม่มีความายึดถือในพิธีมากนัก

2. พิธีบายศรีสู่ขวัญ

บายศรีสู่ขวัญ ในสมัยโบราณ คือ ภาชนะเครื่องรองอาหาร หรือพาน แต่เมื่อใช้ในงานรวมคนมากมายจึงได้คิดตกแต่งให้งดงามมากกว่าเดิม จึงเอามาวางซ้อนกัน แล้วเอาของตั้งรายตามปากพาน คาดว่าเป็นวัฒนธรรมจากแขก แต่ถ้าจะใช้กระทงเกลี้ยงจะดูไม่งาม ดังนั้น จึงเจิมให้เป็นปากกระทงดูงดงามกว่าเดิม ผู้ซึ่งจะเป็นผู้รับมงคลหรือถูกทำขวัญนั้น จะมานั่งอยู่ที่ประชุม และรับการเลี้ยงอาหาร

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจุดประสงค์เดิมของการทำขวัญคืออะไร แต่เป็นการทำตามกันมาแต่อดีตกาล การถือลัทธิมงคลอัปมงคลแผ่ขยายขึ้นจนกลายมีสิ่งหนึ่งเรียกว่าขวัญ ขวัญนั้นหลบหนีได้ และตกหล่นได้ตามที่ต่าง ๆ ได้ เรียกได้ และเข้าใจภาษา แต่เป็นวิสัยของขวัญที่ชอบคำสุภาพ อ่อนหวาน ไม่ชอบขู่ตวาด เช่นบอกให้คำเรียกขวัญว่า อาหารที่จัดมาเป็นอาหารทิพย์ ถึงแม้ว่าความจริงจะไม่ใช่ บ้านเรือนที่อยู่ที่สะดวกสบายเหมือนกับวิมานของพระอินทร์ หรือเทวดา เพื่อเรียกให้ขวัญกลับมา

ตัวขวัญนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจับต้องได้ และเป็นสิ่งที่มีแต่โสตินทรย์ โสตะ สัมผัสด้วยความรู้สึกอย่างเดียว

3. พิธีทำขวัญวันหรือผอก

ปัจจุบันนี้พิธีที่ทำแก่เด็ก เช่น พิธีทำขวัญวัน ขวัญเดือน โกนผมไฟ โกนจุก เป็นต้น ไม่ค่อยจะได้พบเห็นในสังคมเมือง แต่ในชนบทอันห่างไกลยังพอมีอยู่ ทั้งนี้เพราะวิทยาการทางการแพทย์ และสาธารณสุขเจริญก้าวหน้า ประชาชนได้รับการศึกษาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จำนวนคนอ่านไม่ออกลดน้อยลงทุกที ปัจจัยเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ความคิดเชื่อแบบเก่า ๆ ลดน้อยลงไปทุกที โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่ได้รับการศึกษาพบว่ามีความเชื่อแบบเก่าน้อยมาก จึงไม่นิยมประกอบพิธีกรรมแบบเก่า ซึ่งการทำขวัญทำให้เชื่อว่าทำให้เกิดสิริมงคล ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแก่เด็กได้

การทำพิธีทำขวัญวันเป็นพิธีที่ทำให้เด็กแรกเกิด คือ ลูก และบุตร ซึ่งแปลว่าผู้ที่ให้ผู้กำเนิดชื่นใจ อิ่มใจ และเป็นพยานแห่งความรักของพ่อแม่ พิธีกรรมจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันผี หรืออันตรายให้แก่เด็ก และเพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากเด็กคลอดได้ 3 วัน โบราณเชื่อว่ายังเป็นลูกผีอยู่ไม่แน่ว่าจะตายเพราะผีมาเอาตัวกลับไป ระยะวันที่ 3 และ 4 จึงเป็นระยะอันตรายแก่ชีวิตของเด็กเกิดใหม่ คนโบราณจึงต้องทำพิธีเรียกขวัญเด็ก เพื่อปลุกวิญญาณให้เข้มแข็ง เพื่อต่อต้านอำนาจผีพ่อแม่เก่าของเด็ก

เมื่อถึงวันประกอบพิธี จะนำเด็กใส่กระด้ง ยกขึ้นแกว่ง แล้วถามว่า "3 วันลูกผี 4 วันลูกคน ลูกคนของใครเอามาเอาไปเน้อ" แล้วหญิงแก่ หรือที่เรียกว่าแม่ซื้อ จะนำเบี้ย (เงิน) มารับซื้อเด็กคนนั้นว่า "ฉัน รับ ซื้อ เป็นลูกฉันเอง" ทำกันในหมู่ญาติสนิทของตัวเด็กมีอุปกรณ์ดังนี้คือ

* บายศรี 1 ชาม ใบตองบรรจุข้าวสุกเต็ม คว่ำใส่ชาม ตรงยอดแหลมของชามปักไข่ต้มแล้วหนึ่งฟองด้วยไม้แหลม ที่เหลือปักดอกไม้จนเต็ม ที่ยอดกรวยปักเป็นพุ่ม อาจทำบายศรี 3 ชั้น 3 อันก็ได้ โดยใช้ดอกไม้ปักที่ยอดบายศรีทุกอัน

* เครื่องกระยาบวช มีขนม และผลไม้ แมงดาบนใบตอง 3 ตัว

* เทียน

* ขันน้ำอุ่นและช้อน

เมื่อได้เวลา สมาชิกครอบครัว และญาติใกล้ชิดจะมานั่งล้อมเด็ก มีผู้อุ้มเด็กนั่งอยู่ตรงหน้าผู้อาวุโสในครอบครัว ผู้อาวุโสจุดเทียนอัญเชิญเทวดามาร่วมพิธีมงคล บายศรีจะตั้งอยู่ทางหัวของเด็กผู้อาวุโสหยิบด้ายสายสิญจน์วางพาดบนบายศรี เชื่อว่าจะปัดเคราะห์โศกโรคภัยได้ด้วยการเอาด้ายลูบแขน มือ และเด็กออกไปนอกตัว เผาด้ายด้วยเปลวเทียนที่จุด เอาด้ายใหม่จบขอพรผูกข้อมือ 2 ข้าง ตักน้ำอุ่นให้เด็กดื่ม 3 ช้อน นำเครื่องบายศรี และเครื่องกระยาบวชไปเทเซ่นผีกลางแจ้ง สิ่งของอื่นให้ห่อรวม และเก็บไว้ที่ใต้เบาะเด็ก ครบ 3 วัน แล้วนำไปลอยน้ำเสีย เป็นอันสิ้งสุดพิธีการทำขวัญวัน

4. พิธีศพ

ตามความเชื่อเดิมของชาวบ้าน เรียนรู้จากพ่อแม่แต่โบราณสืบทอดกันมากล่าวว่า การตายนั้น มี 2 รูปแบบ คือ

1. การตายในปรมัติ คือ การตายแบบธรรมดา หรือแก่ตายตามอายุขัย

2. การตายนอกปรมัติ คือ การตายโหง หรือการตายด้วยอุบัติเหตุต่าง ๆ และตายห่า หรือการตายด้วยโรคร้ายอย่างปัจจุบันทันด่วน

การตายทั้งสองอย่างนี้มีการทำพิธีศพที่ต่างกันด้วย คือ เมื่อผู้ใดตายในปรมัติ จะมีการล้างหน้าศดด้วยน้ำมะพร้าว โดยเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่อยู่สูง เป็นของดี จึงนำมาใช้ ไม่นิยมเก็บศพไว้นาน จะเผาโดยเร็ว และมีพิธีเกี่ยวกับการเลือกสถานที่เผาศพ หรือที่ตั้งเชิงตะกอน เนื่องจากที่วัดประจำหมู่บ้านไม่มีเมรุเผาศพ จึงต้องเผากลางแจ้ง การเลือกสถานที่เผาจึงต้องมีพิธีดังนี้

นำเทียน 2 , ดอกไม้ 2 , ข้าว และไข่ ตั้งไว้ที่เหนือหัวคนตายก่อนการเผา และจะถือว่าไข่นั้นเป็นของผู้ตาย เมื่อครบกำหนดเผาแล้ว จะนำไขนั้นไปโยนเสี่ยงทายหาสถานที่ที่คนตายพอใจ หากไข่แตกที่ใด ถือว่าผู้ตายพอใจให้เผาได้ที่นั่น

เมื่อครอบครัวของผู้ตายนั้นยากจนไม้สำหรับเผาอาจไม่มีพอ จึงมีการรับบริจาคไม้เผาศพโดยจะประกาศให้รู้ก่อนวันเผา และเมื่อถึงวันจะมีคนคอยเข็นรถเก็บไม้ที่แต่ละครอบครัวบริจาคให้อันแสดงถึงน้ำใจของชาวบ้านที่มีต่อกัน

เมื่อเผาศพแล้ว 3 วัน จึงจะเก็บกระดูก แล้วนำไปสวดบังสกุล วันสงกรานต์จะทำพิธีสรงน้ำกระดูก ทำบุญให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว

เมื่อผู้ใดเกิดตายนอกปริมัติ ด้วยอุบัติเหตุ ถูกฆ่าตายหรือตายด้วยโรคร้าย จะไม่นิยมเก็บศพไว้นาน ชาวบ้านจะเอาไม้ไผ่มาทำคาน ผูกข้อมือข้อเท้าศพไว้กับไม้ ยกศพไปฝังโดยไม่มีการเผาต้องฝังที่ป่าช้าภายใน 3 วัน และอีก 3 ปีจึงขุดขึ้นมาทำบุญให้

จากการที่ใช้ไม้ไผ่หามศพนั่นเอง ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า คนที่ยังเด็กห้ามปลูกต้นไผ่ เพราะจะเป็นการแช่งตนเองให้ตาย โดยเตรียมไม้ไผ่ของตนเองไว้ก่อนนั่นเอง

5. พิธีสะเดาะเคราะห์ หรือการแต่งแก้

หลังจากที่คนหนึ่งคนใดหายจากการเจ็บป่วย , ออกจากคุก หรือเพิ่มตกอยู่ในช่วงเคราะห์ไม่ดี คนทรงจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ให้ โดยเชื่อว่าทำให้เกิดมงคล เคราะห์ทั้งหลายจะหายไป และจะพ้นจากอันตรายได้

การประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ต้องเตรียมของดังนี้ คือ

* กระทงใหญ่ที่แบ่งเป็นเก้าช่อง

* ในแต่ละช่องมีใบฝรั่ง 9 ใบ ทำเป็นรูปกระทาง , ยาสูบ 9 มวน , หมาก 9 คำ , ห่อเมี่ยงเสียบไม้ 9 ห่อ , ข้าวสาร , ข้าวเหนียวดำ , ข้าวเหนียวแดง , ข้าวเหนียวเหลือง , ข้าวเหนียวขาว , เสา 9 เสาผูกด้วยด้าย 7 สี , แกงส้ม , แกงหวาน , ดอกไม้ , สายสิญจน์

* ช่องตรงกลางประกอบด้วย กาบกล้วยที่ตัดเป็นรูปสมมุติของพระ , เศวตฉัตร , ตาลปัตรจำลอง , รูปสัตว์ปั้น 4 ชนิด , ยอดกล้วย , ยอดอ้อย

* ขันดอกไม้ , เทียน , ข้าวเหนียว , ข้าวสาร และขันน้ำมนต์

ขั้นตอนการสะเดาะเคราะห์มีดังนี้ คือ

1. คนทำผูกสายสิญจน์รอบแล้วแจกดอกไม้ และเทียนให้ผู้ที่จะสะเดาะเคราะห์

2. คนทำจุดเทียนปักที่กระทง ในมือถือสายสิญจน์ แล้วสวดมนต์เป็นภาษาบาลี และอีสานมีความหมายในการไล่ทุกข์ คนทำหยดเทียนบนน้ำมนต์แล้วดับเทียน สวดและโปรยข้าวสารลงบนกระทงใหญ่

3. โปรยข้าวแล้วสวดมนต์ต่อเป็นคำเมื่อกล่าวถึงเทวดาทิศต่าง ๆ ให้มารับเครื่องบูชานี้

4. หลังสวดมนต์จบซึ่งกล่าวเป็นภาษาอีสานอวยพรให้หายเคราะห์ และเกี่ยวกับของที่นำมาแต่งแก้ให้เทวดามารับไป

5. แต่งแก้จะเป็นช่วงหลังของพิธีสะเดาะเคราะห์ กระทำเช่นเดิม คือ สวดมนต์ เกี่ยวกับฝันร้ายให้กลายเป็นดี

6. ใช้ดอกไม้จุ่มลงในขันน้ำมนต์ พรมให้ผู้ทำพิธี คนทำจะตัดด้วยสายสิญจน์ และกำก้อนข้าวเหนียวกวนที่ผู้ทำพิธี เริ่มจากที่แขน ขา และศรีษะ จากนั้นคนทำจะให้ดอกไม้พรมที่ผู้ทำพิธีอีกครั้งพร้อมคำสวดมนต์ที่มีความหมายขู่ฆ่าผี

7. คนทำเป่า และผูกข้อมือด้วยด้าย สีและรับดอกไม้ออกจากมือผู้ทำพิธี ใช้ดอกไม้นั้นลูบที่มือแล้วกล่าวคำอวยพรเป็นภาษาอีสาน

8. นำกระทงใหญ่ตั้งไว้ทิศหรตีของบ้านเป็นอันจบพิธี

ข) พิธีที่เกี่ยวกับศาสนา

1. การทำบุญบ้าน

เป็นพิธีที่แต่ละบ้านจะจัดขึ้นแล้วแต่ความพอใจ และความเหมาะสมของแต่ละบ้านในแต่ละปี เป็นพิธีง่าย ๆ จัดเพื่อให้เข้าบ้าน และผู้อาศัยเกิดความสบายใจ โดยช่วงเช้าจะเชิญพระมาสวดที่กลางบ้านทำบุญเลี้ยงพระ และพระจะพรมน้ำมนต์แก่ผู้ร่วมพิธี ช่วงบ่ายหลังจากพระกลับไปแล้ว เจ้าบ้านจะเลี้ยงอาหารแก่ผู้ร่วมพิธี แจกจ่ายน้ำมนต์สังสรรค์เล็กน้อย เป็นอันจบพิธี

จากคำสัมภาษณ์ของพระสงฆ์ที่วัดในหมู่บ้าน เห็นได้ชัดว่าพิธีกรรมได้ลดขนาด และความสำคัญลงมากแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

2. การบุญข้าวจี่

ระหว่างเดือน 3 และ 4 มีการทำบุญและเทศน์ที่วัด คล้ายกับพิธีเดือน 6 แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่า โดยไม่มีการบวชนาคและรดน้ำพระ ชาวบ้านจะนิมนต์พระจากวัดอื่น และมีจำนวนชาวบ้านไม่มากนักช่วงบ่ายจะเข้าไปผามบุญ กลางคืนสวดพระปริตมงคลและเทศน์ ตอนเช้าจะตักบาตรด้วยข้าวจี่พร้อม ๆ กันทุกบ้าน หลังจากพระฉันเช้าจะมีการเทศน์ที่ศาลาการเปรียญ และพิธีจะจบลงในตอนบ่าย

3. งานบุญเดือน 5

ในเดือน 5 แรม 7 ค่ำของทุกปี หรือที่เรารู้จักกันในวันสงกรานต์ ชาวบ้านบึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียง จะมีการทำบุญใหญ่ที่วัด โดยชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านจะมารวมกันที่พระแท่น หรือโนนแท่น เพื่อประกอบพิธีบุญเดือน 5 อย่างพร้อมเพรียงกัน ในตอนเช้า ทุกคนจะเตรียมข้าวจี่ที่ทำเองมาถวายพระ ส่วนพระจะเชิญพระพุทธรูปออกจากโบสถ์ไปไว้ที่หอสรง หรือสถานที่ที่จัดเตรียมเพื่อสรงน้ำพระที่อื่นจะตั้งไว้ 15 วัน และมีการรร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน

งานบุญนี้เป็นงานที่ชาวบ้านจะรู้จักกันดีที่สุด เพราะเมื่อถามไป ส่วนมากจะเอ่ยชื่องานบุญเดือน 5 ก่อนเสมอ อาจเป็นไปได้ว่างานบุญเดือน 5 นี้เป็นงานที่สามารถรวมคนไว้ได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นวันหยุดยาว หนุ่มสาวที่เดินทางไปทำงานในเมืองได้กลับมาร่วมฉลองงานนี้ที่บ้านเกิดนั่นเอง

บทวิเคราะห์

เนื่องจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่หมู่บ้านบึงสวาง จังหวัดขอนแก่น ทำให้ได้พบพิธีกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวบ้าน และการสืบทอดที่มาจากการจำ ไม่มีการเขียนบอกเป็นลายลักษณ์อักษร พิธีสำคัญ ๆ ที่ปรากฎให้เห็นจึงมีน้อย และโดยมากจะจัดเพราะเป็นสิ่งที่ตกทอดความเชื่อกันมา และความสามารถทางเศรษฐกิจ ซึ่งข้อจำกัดประการหลังนี้เอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายแก่พิธีกรรมจากอดีตต่อปัจจุบัน จากการสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านกลุ่มตัวอย่าง เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่าพิธีบางพิธี เช่น พิธีการแต่งงานได้ลดความสำคัญลง เพราะปัญหาทางการเงินทำให้ไม่สามารถจัดได้ และการศึกษาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านลดความเชื่อเดิมลง และเห็นความสำคัญของการประกอบพิธีนั้นลดน้อยลงไปทุกทีด้วยเช่นกัน

แต่หากคิดในอีกแง่หนึ่ง ชาวบ้านทุกคนยอมรับว่าเป็นพุทธ และไม่เน้นในเรื่องพิธีกรรม ซึ่งตรงกับหัวใจหลักของพระพุทธศาสนามากกว่า การที่จะมีการจัดพิธีมากมายใหญ่โตที่ทำให้เกิดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สำหรับการเลี้ยงดูญาติ และเพื่อนบ้าน ซึ่งผิดศิลข้อห้ามตามหลักของศาสนาพุทธ จึงอาจเป็นการดีกว่าหากเราจะคิดในแง่ของพระธรรม ที่งดการจัดงานเลี้ยงลงเหลือเพียงแค่การทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์

2.5.4 ความเชื่อที่เกี่ยวกับอาถรรพณ์

คำว่า "อาถรรพณ์" หมายถึง อำนาจลึกลับที่อาจดลบันดาลให้เป็นไป (พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525)

จากการสอบถามชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง ทำให้ทราบเกี่ยวกับอาถรรพณ์บางประการของหมู่บ้านนี้ ซึ่งได้แก่

1) อาถรรพณ์ต้นยาง

ชาวบ้านหมู่บ้านบึงสวาง มีความเชื่อกันว่าต้นยางใหญ่บริเวณท้ายหมู่บ้าน มีผีต้นยางสิงอยู่ เมื่อได้เข้าไปสำรวจพบว่าต้นยางดังกล่าวมีขนาดใหญ่ และสูงกว่าต้นไม้บริเวณใกล้เคียง และคาดว่ามีอายุแก่มากแล้ว นอกจากนี้ยังมีร่องรอยถูกบาก หรือขูดเปลือกต้นยาง รวมทั้งพบซากธูปปักอยู่บริเวณโคนต้นยางด้วย

จากคำบอกเล่าของ "พ่อเฒ่าเถิ่ง จำปาพรม" ผู้เฒ่าแก่ของหมู่บ้านบอกว่าเห็นต้นยางต้นนี้มาตั้งแต่เกิดแล้ว คาดว่าต้นนี้น่าจะมีอายุหลายร้อยปี และชื่อว่าต้นยางมีผีสิงอยู่ ในแต่ละปีจะมีฟ้าผ่าต้นยางปีละ 3 - 4 ครั้ง แต่ต้นยางก็ไม่เป็นไร ใบก็ไม่หล่น เมื่อสอบถามพ่อเฒ่าว่ามีใครเคยเห็นผีในต้นยางหรือไม่ พ่อเฒ่าบอกว่ามีคนเคยเห็นว่าเป็นชายตัวโต ผิวดำ สูง 8 ศอก และจะออกมาปรากฎตัวให้เห็นถ้าหากคน ๆ นั้นทำสิ่งไม่ดี มีบางคนอยากลองของเอาปีนมายิงต้นยาง แต่ปืนกลับยิ่งไม่ออก

เกี่ยวกับความเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ของต้นยางนั้น พ่อเฒ่าว่าชาวบ้านมีความเชื่อถือมาก บางคนไปเอาเกล็ดยางพกติดตัวเพราะเชื่อว่าจะยิงไม่เข้า บางคนก็ไปขอหวยกับต้นยาง แม้ขูดต้นยางแล้วเอาแป้งทาจะเห็นเป็นตัวเลขสีแดง ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนจะเห็นไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นกับบุญวาสนาของแต่ละคน

เมื่อสอบถามคนอื่น ๆ ก็ได้รับคำตอบในทำนองเดียวกัน เช่น "คุณลุงพรรณ" อายุ 50 ปี ซึ่งเลี้ยงควายอยู่บริเวณใกล้กับต้นยาง ก็ได้ยืนยันกับเราอีกว่าต้นยางมีผีจริง ๆ และมีคนไปขูดขอหวยด้วย หรือกระทั่ง "ผู้ใหญ่ประเสริฐ" ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านบึงสวาง ก็ได้รับทราบความเชื่อในทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน

2) อาถรรพณ์ศาลพ่อใหญ่ปู่บ้าน

ประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งศาลพ่อใหญ่ปู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านบึงสวางให้ข้อมูลว่า พ่อใหญ่ปู่ หรือเจ้าปู่แสนคาด เป็นเพื่อนกับเจ้าฟ้าเมืองแพน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งจังหวัดขอนแก่นเมื่อสองร้อยปีมาแล้ว เจ้าปู่แสนคาดเป็นผู้รักษาแก่งน้ำต้อนไปจนถึงภูมินทร์ ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตไปทั่วทั้งจังหวัดขอนแก่นเลยทีเดียว

บริเวณที่สร้างศาลพ่อใหญ่ปู่ เดิมทีไม่ได้สร้างอยู่ที่ปัจจุบัน แต่ย้ายไปสร้างใหม่เนื่องจากความเหมาะสมบริเวณที่สร้างศาลขึ้นมาใหม่จะเป็นที่เนินสูงขึ้นไป ศาลจะได้ไม่ถูกน้ำท่วม ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า หากชาวบ้านตั้งศาลไม่ถูกที่ พ่อใหญ่ปู่ก็จะลงโทษชาวบ้านทันที บางคนมีอาการปวดท้องแล้วชักทันทีโดยไม่มีสาเหตุ

ชาวบ้านเชื่อกันว่านอกจากพ่อใหญ่ปู่บ้านจะเป็นผู้ดูแลหนองน้ำแล้ว ยังช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาหมู่บ้าน และชาวบ้านทุกคน เวลาที่หมู่บ้านจะมีการทำอะไรต้องมีการทำพิธีกับศพพ่อใหญ่ปู่เสียก่อน ถ้าไม่ทำจะเกิดลางสังหรณ์ไม่ดีแก่หมู่บ้าน เช่น บูชาเวลาที่จะทำนา ในเดือน 3 หรือเดือน 6 วันพุธ ค่ำไหนก็ได้ หรือมาบนบานพ่อใหญ่ปู่ให้ฝนไม่ตกเวลาจะสร้างบ่อ โดยเอาพวงมาลัยมาถวาย และขัน 5 ซึ่งได้แก่ เทียน 5 คู่ดอกไม้ 5 คู่ นอกจากนี้ของที่จะนำไปเซ่นพ่อใหญ่ปู่ต้องไม่เป็นสีแดง อันเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา

3) อาถรรพณ์พระแท่น

พระแท่นถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านหมู่บ้านบึงสวาง มีลักษณะเป็นบริเวณที่มีหินเก่าแก่วางเรียงกันอยู่หลายด้าน มีเทวรูปตั้งไว้ให้ชาวบ้านเคารพบูชา ถือเป็นหลักบ้านสะพานเมือง ในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี หรือวันแรม 7 ค่ำเดือน 5 ชาวบ้านจะพากันไปทำพิธีบวงสรวงที่พระแท่น และนำข้าวจี่ไปบูชา

จากการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระแท่นกับ "พ่อเฒ่าเถิ่ง" ทำให้ทราบว่าอาจเป็นวัดเก่า มีนำนานเล่าว่าสมัยก่อนเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานใหม่ ๆ ผู้สร้างตั้งใจจะไปสร้างพระธาตุพนม แต่มีข่าวลือมาว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว จึงเปลี่ยนใจมาสร้างเป็นพระแท่นที่นี่แทน และเมื่อได้สอบถามประวัติความเป็นมาของพระแท่นกับผู้ใหญ่บ้าน ได้ความว่า ยังไม่สามารถระบุประวัติความเป็นมาที่แน่ชัดของพระแท่นได้ แต่คาดว่าสร้างเมื่อประมาณ 1,700 - 1,800 ปีมาแล้ว เคยมีนักสำรวจนักวิชาการหลายกลุ่มเข้ามาสำรวจ รวมทั้งกรมธรณีวิทยาด้วย แต่ก็สันนิษฐานแตกต่างกันไป บางคนบอกว่าบริเวณนี้เคยเป็นฐานทัพมาก่อน เพราะมีการสร้างเป็นระยะ ซึ่งคล้ายกับที่อื่น ๆ ในจังหวัด ส่วนเทวรูปก็เอาดินมาปั้นแล้วเผา มีพัทธสีมา สระน้ำ และศิวลึงค์ แต่บางคนก็บอกว่าเป็นบริเวณที่มีการทำอิฐทำหินของคนสมัยก่อน ส่วนหินที่เห็นหลงเหลืออยู่ คือ หินที่ไม่ใช้ พอนานไปคนก็เอาเทวรูปมาวางไว้ และใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไป เป็นที่น่าสังเกตว่า หากเป็นเช่นนั้นวิทยาการด้านการทำหินทำอิฐของคนสมัยนั้นต้องเจริญก้าวหน้ามากถึงทำให้หินคงทนมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องเล่าเกี่ยวกับอาถรรพณ์ของพระแท่นที่ได้ทราบมา คือ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า บริเวณพระแท่นมีผีตาขะขวง เวลามีคนต่างถิ่นมานอนค้างบริเวณพระแท่น มักจะถูกผีอำ ส่วนต้นไม้ หรือป่าละเมาะบริเวณพระแท่นชาวบ้านก็เชื่อว่ามีผีสิงอยู่ จะไม่มีใครกล้าไปตัดไม้ หรือไปล่าสัตว์บริเวณนั้น เนื่องจากกลัวถูกลงโทษ ดังนั้น ต้นไม้ป่าไม้บริเวณพระแท่นจะรกมาก

จากคำบอกเล่าของนางสาวสุมาลี อายุ 20 ปี บอกแก่เราว่า ได้ยินเรื่องเล่ากันมาว่าเคยมีคนไปตัดไม้บริเวณพระแท่นแล้วตาย หรือได้ยินคนเล่าว่าเคยมีคนตาย เพราะเชื่อว่าผีพระแท่นมาทำ เนื่องจากไปยิงกะปอมแถวนั้น และไม่ได้ขอก่อน อยู่ดี ๆ ก็เป็นลมล้มลงไปแล้วเสียชีวิตทันที

4) อาถรรพณ์หนองผือ

"หนองผือ" เป็นหนองน้ำเก่าแก่ที่มีอยู่ภายในหมู่บ้านบึงสวางมานานแล้ว เคยมีหน่วยงานเข้ามาขุดลอกเพื่อเป็นหนองน้ำสาธารณประโยชน์สำหรับประชาชน ได้แก่ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) กระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการก่อสร้างแหล่งน้ำหมู่บ้านตามแผนพัฒนาชนบท ปี พ.ศ. 2522 รพช. บก.2/4036 ก.ค. 2527

ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า มีความเชื่อว่าก่อนจะทำการขุดหนองน้ำ สร้างบ่อน้ำ หรือทำถนนจะต้องมีการทำพิธีบนบานศาลกล่าว เพื่อให้สร้างได้สะดวก โดยใช้ชีวิตคนเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ถ้าสร้างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จะให้ชีวิตคนเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าภายหลังจะต้องมีคนตายเกิดขึ้น

จากการสอบถาม นางทองจัน อนุรักขา อายุ 31 ปี อาชีพค้าขาย ซึ่งมีบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียงหนองน้ำเล่าให้เราฟังว่า ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้เท่าใด แต่เมื่อ 2 - 3 ปีก่อน เคยมีเด็กไปเล่นน้ำแล้วจมน้ำตายไป อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีใครแน่ใจว่าสาเหตุเป็นเพราะจากที่มีการบนบานไว้หรือไม่ เนื่องจากคิดว่าอาจเป็นอุบัติเหตุ เพราะเด็กว่ายน้ำยังไม่แข็ง จึงใช้วิธีการจับแผ่นไม้ไว้เพื่อลอยตัวในน้ำ แล้วเกิดพลาดหลุดมือจึงจมน้ำหายไป

5) อาถรรพณ์ศาลพระภูมิ

จากการสำรวจภายในหมู่บ้านบึงสวาง พบว่าแทบจะไม่มีบ้านใดที่มีศาลพระภูมิอยู่ในบริเวณบ้าน นอกจากบ้านของ "คุณลุงทุ่ม สีนาค" อายุ 57 ปี มีอาชีพเลี้ยงไก่ หน้าบ้านของคุณลุงมีศาลไม้ตั้งอยู่ ซึ่งเดิมทีนั้นคุณลุงไปหาซื้อไม้เพื่อมาสร้างบ้าน และไปได้ไม้เก่าซึ่งเคยสร้างบ้านมาแล้วที่ช่องสามหมอ เขาวงศ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเจ้าของเดิมบอกว่าเสาไม้ตะเคียนมีผีอยู่ พอคุณลุงเอามาทำเป็นเสาบ้านปรากฎว่าเสาหัก จึงทำให้เป็นศาลพระภูมิให้นางตะเคียนอยู่ ต่อมาลูกลาวคุณลุงฝันเห็นนางตะเคียนมาให้หวย พอไปซื้อก็ปรากฎว่าถูกจริง ๆ หลังจากนั้นลูกสาวคุณลุงก็ไปจุดธูปขอหวยแล้วฝัน และถูกหวยอยู่บ่อย ๆ ส่วนของที่เอาไปถวายก็เป็นจำพวกน้ำหวาน ขนมหวาน เป็นต้น แต่ถ้าหากคนอื่นที่ไม่ใช่คนในบ้านมาขอหวยจากนางตะเคียนบ้าง ส่วนมากจะฝันเป็นผู้ชายมาให้หวย ซึ่งเชื่อกันว่านางตะเคียนส่งมา และก็จะถูกบ้างไม่ถูกบ้าง

สำหรับชาวบ้านคนอื่น ๆ ต่างก็มีสาเหตุในการสร้างศาลพระภูมิที่แตกต่างกันออกไป บางคนสร้างศาลพระภูมิเนื่องจากเคยป่วยแล้วไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลก็ไม่หาย จึงไปถามคนทรงเจ้าของที่นาทำให้ป่วย จึงต้องทำศาลพระภูมิให้

6) อาถรรพณ์อื่น ๆ

นอกจากอาถรรพณ์ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวถึงขั้นต้น จากการที่เราได้สำรวจความเชื่อของชาวบ้านแล้ว ยังพบความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์อื่น ๆ ดังนี้

การปลูกต้นไม้

สมัยก่อนจะไม่นิยมปลูกกอไผ่ภายในบ้าน ถ้าเจ้าองบ้านอายุไม่ถึง 50 - 60 ปี มิเช่นนั้นเจ้าของจะเสียชีวิต

ไม่ให้ปลูกต้นมะพร้าวไว้ในบริเวณบ้าน ถ้าอายุไม่ถึง 60 - 70 ปี เพราะจ้าของบ้านจะเสียชีวิตเช่นกัน เนื่องจากน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่ใช้รดหน้าศพ

ไม่ให้ปลูกต้นลั่นทมในบ้าน เพราะเชื่อว่าดอกลั่นทมเป็นดอกไม้ที่ใช้บูชาผี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวบ้านมักหันมานิยมปลูกต้นไม้ หรือไม้ดอกไม้ประดับที่มีชื่อเป็นสิริมงคลแทน เช่น ต้นวาสนา เฟื่องฟ้า ต้นมะขาม ต้นมะยม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการปลูกต้นเศรษฐีจะส่งผลให้ "เงินไหลนองทองไหลมา" ซึ่งจะต้องปลูกวันพฤหัส เวลา 09.00 น. หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ถ้าหากปลูกไม่ถูกเวลา จะส่งผลให้ "เงินไหลหนี หนี้ไหลมา"

การปลูกบ้าน

ไม่ให้ปลูกบ้านขวางตะวัน เวลานอนไม่ให้หันหัวไปทางทิศตะวันตก มิเช่นนั้นจะเจ็บป่วยได้

การเผาศพ

ห้ามทำพิธีเผาศพวันศีล หรือวันพระ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผีเฮี้ยนในหมู่บ้านจะไม่มีเมรุเผาศพ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หมู่บ้านตายมากขึ้น ห้ามเอาฝืนไฟเข้าบ้านที่มีคนตาย เพื่อเชื่อว่ามันจะติดต่อให้คนอื่นตายไปด้วยถ้ามีคนแก่ตาย และหากมีใครไม่สบายต้องขุดกระดูกเอามาเผาแล้วทำทานอุทิศส่วนกุศลให้คนที่ตายไป

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของอาถรรพณ์ต่าง ๆ ที่ได้พบจากความเชื่อของชาวบ้านซึ่งเชื่อว่าน่าจะยังมีความเชื่อถืออื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถรวบรวมได้ หลงเหลืออยู่ในหมู่บ้านชนบทแห่งนี้

บทวิเคราะห์

จากการที่ได้สำรวจ และศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อในส่วนของเรื่องอาถรรพณ์ของชาวบ้านหมู่บ้านบึงสวาง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอฝาง จังหวัดขอนแก่น พบว่าความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์เหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตของชาวบ้านไม่น้อยทีเดียว ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าตัดต้นยาง และไม่กล้าตัดต้นไม้บริเวณพระแท่น หรือไม่ยิงสัตว์บริเวณพระแท่น เพราะกลัวผีพระแท่นจะมาลงโทษ มีชาวบ้านไปขุดขอหวยกับต้นยาง ไปขอหวยกับศาลนางตะเคียนไปบนบานศาลพ่อใหญ่ปู่บ้าน เวลาที่หมู่บ้านจะสร้างอะไรขึ้นมา เช่น ขุดบ่อหรือทำถนน เป็นต้น หรือทำพิธีบวงสรวงศาลพ่อใหญ่ปู่ เมื่อหมู่บ้านจะทำอะไรก็ตาม เพราะเชื่อว่าหากไม่มีการทำพิธีก่อน หมู่บ้านจะเกิดเหตุร้าย และเพื่อให้พ่อใหญ่ปู่บ้านช่วยคุ้มครองหมู่บ้าน และชาวบ้าน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของชาวบ้านที่เป็นผลมาจากความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์ และในทางกลับกันอาถรรพณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็เป็นผลมาจากพฤติกรรมของชาวบ้านเช่นกัน ชาวบ้านหมู่บ้านบึงสวางส่วนใหญ่มีฐานะยากจนมีรายได้ต่ำ ประกอบอาชีพการทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ มีระดับการศึกษาจบแค่ชั้นประถม ประกอบกับสมัยก่อนเทคโนโลยี่ทางด้านการสื่อสารก็ยังไม่เจริญ และยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน ย่อมไม่น่าแปลกใจหากชาวบ้านจะเชื่อในเรื่องอำนาจลึกลับ ดลบันดาลให้ชีวิตความเป็นอยู่มีสภาพที่ดีขึ้น

เมื่อมองในแง่ผลดีที่เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ พบว่าส่งผลที่เป็นประโยชน์หลายประการ ประการแรก เมื่อชาวบ้านว่าตามต้นไม้ใบหญ้าห้วยหนองคลองบึงต่าง ๆ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผีสางนางไม้แฝงอยู่ ย่อมเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ตามธรรมชาติ ชาวบ้านไม่กล้าตัดไม้ทำลายหนองน้ำหรือฆ่าสัตว์ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกลงโทษ

ประการที่สอง เป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำความดี ละเว้นความชั่วชาวบ้านไม่กล้าทำสิ่งไม่ดี และประการสุดท้ายคือ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของชาวบ้านให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์ต่าง ๆ ก็ย่อมมีผลเสียตามมาด้วยเช่นกัน คืออาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชนบทในอนาคต หากการพัฒนานั้นขัดแย้งกับความเชื่อของชาวบ้าน และมีนักพัฒนาเป็นจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าความเชื่อในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องงมงาย เป็นความคิดที่ล้าสมัย โดยมิได้คำนึงถึงความเชื่อที่ยึดถืออย่างเหนียวแน่นของชาวบ้าน และข้อดีของความเชื่อหลายประการตามที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

เมื่อได้ทำการสัมภาษณ์ เพื่อสอบถามทัศนคติต่อความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์เหล่านี้ โดยการแบ่งกลุ่มอายุออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มที่ 2 กลุ่มอายุระหว่าง 25 - 60 ปี และกลุ่มที่ 3 กลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุมีความเชื่ออย่างมากในเรื่องอาถรรพณ์ดังกล่าว โดยยืนยันว่ามีอาถรรพณ์เกิดขึ้นจริง ๆ ส่วนกลุ่มที่สองเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มที่คาบเกี่ยวระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่ กลุ่มนี้จะปฎิเสธว่าไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ แต่ก็ไม่ลบหลู่ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์น้อยสุด แต่ก็ไม่กล้าลบหลู่เช่นกัน

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป และความเจริญก้าวหน้าต่าง ๆ เข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้นแค่ไหนก็ตาม ความเชื่อในเรื่องอาถรรพณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในทุกกลุ่ม ไม่มีใครปฎิเสธได้ว่าไม่มีอาถรรพณ์อยู่จริง ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า สาเหตุที่คนไปตัดต้นไม้ หรือไปยิงสัตว์บริเวณพระแท่น แล้วอยู่ดี ๆ ก็เสียชีวิตโดยไม่มีสาเหตุนั้นเพราะอะไร ทั้งที่ก็ไม่ได้เจ็บป่วย หรือการที่มีคนไปขอหวยศาลนางตะเคียนแล้วถูกแทบทุกงวด ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อความเจริญเข้าสู่หมู่บ้านมากขึ้น อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่การสื่อสาร ช่วยให้ชาวบ้านมีความรู้กว้างไกล เด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงกว่ารุ่นก่อน ๆ ทำให้ชาวบ้านรู้จักใช้ความคิดพิจารณาอย่างมีเหตุผลมาขึ้น รู้จักเลือกแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักของพระพุทธศาสนา มากกว่าการหลงเชื่ออย่างไร้เหตุผลอีกต่อไป

2.5.5 ความเชื่อที่เกี่ยวกับการศึกษา และการสืบทอดวิชาทางด้านไสยศาสตร์

ในปัจจุบันนี้ เมื่อพูดถึงการศึกษา หลายคนอาจตีความหมายว่าต้องประกอบด้วยสถาบันการศึกษา อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และนักเรียน นักศึกษา เท่านั้น ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะหมายถึง การศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่หารู้ไม่ว่านอกจากการศึกษาเป็นทางการแล้ว ยังมีการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีแหล่งความรู้ที่จัดตั้งเป็นสถาบันการศึกษา มีครูอาจารย์ผู้สอนที่ต้องมีความรู้ถึงขั้นปริญญาบัตรเท่านั้น เพราะการศึกษาในความหมายที่แท้จริงนั้น หมายถึงพัฒนาสมรรถภาพด้านต่าง ๆ ของบุคคลให้มีความเจริญงอกงามสูงสุด สำหรับให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และส่วนรวม (สมบูรณ์ บรรณาภพ , "ประวัติ และปรัญาของการศึกษาไทย" 2524 : 2) ดังนั้น ด้วยหลัก และวิธีการของการศึกษาอาจจะมีความหลากหลาย และแตกต่างกัน

การศึกษาวิชาทางด้านไสยศาสตร์มีรูปแบบ และวิธีการศึกษาที่แตกต่างไปจากการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ เพราะไสยศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเชื่อถือ โดยอาศัยความรู้สึกเกรงขาม หรือกลัวในสิ่งที่เข้าใจว่าอยู่เหนือธรรมชาติ หรือในสิ่งลึกลับอันไม่สามารถจะทราบด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และสิ่งนั้นอาจจะทำให้ดีขึ้น หรือให้ร้ายแก่ผู้ที่เชื่อถือก็ได้ เมื่อมีความรู้สึกเช่นนั้น ก็สำแดงความเชื่อความรู้สึกนั้นออกมาเป็นรูปพิธีรีตอง อันเนื่องด้วยคาถา และเวทมนต์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ตน ไสยยศาสตร์ในทางที่ดีได้แก่ การทำให้เกิดเป็นศิริมงคล ป้องกันเหตุร้ายหรืออุบาทว์จัญไรไม่ให้เข้ามาเบียดเบียนตน หรือถ้าเข้ามาก็ขับไล่ให้มันหนีไปเสีย ส่วนไสยศาสตร์ในทางร้ายได้แก่การใช้ อุปเท่ห์ เล่ห์กล ทำด้วยเวทมนต์ คาถาอาคมให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือสามารถทำให้ผู้อื่นหลงรักตน (เบญญรัตน์ อตชาตนานนท์ ฒ "สี่ศาสตร์" 2530 : 3)

จากลักษณะของไสยศาสตร์ ทำให้ทางกลุ่มมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาวิชาทางด้านไสยศาสตร์ให้ลึกลงไปในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น ทางกลุ่มจึงได้ไปสำรวจ และทำการสอบถามเกี่ยวกับวิชาทางด้านไสยศาสตร์จากชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งหลังจากที่ได้ทำการสำรวจ และสอบถามเรียบร้อยแล้ว จึงได้สรุปข้อมูลจากคำบอกเล่าของชาวบ้านหมู่บ้านนี้เป็นหัวข้อดังนี้ คือ

1) มูลเหตุจูงใจที่ทำให้มีผู้สนใจศึกษาทางด้านไสยศาสตร์ - สาเหตุที่ทำให้คนในหมู่บ้านบึงสวางศึกษาวิชาทางด้านไสยศาสตร์เกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 ประการ คือ

- เกิดจากความต้องการ เช่น ต้องการเงินทองโชคลาภ ต้องการชัยชนะในการแข่งขัน ต้องการความสุข และความปลอดภัยจากอัตรายต่าง ๆ เป็นต้น

- เกิดจากความกลัว เช่น กลัวผี กลัวภัยพิบัติ กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวอุบัติเหตุต่าง ๆ และกลัวปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ เป็นต้น

2) เนื้อหาวิชาทางไสยศาสตร์ - ส่วนใหญ่คนที่ได้เรียน หรือได้รับการศึกษามาทางด้านนี้ อย่างเช่น "ลุงอ้วย คำพาสี" ซึ่งเป็นหมอทำประจำหมู่บ้านโนนเขวา และ "ตาเถิ่ง จำปาพรม" ซึ่งเป็นหมอทำประจำหมู่บ้านบึงสวาง ก็จะได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาทางด้านไสยศาสตร์ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ จะเรียนทางด้านการดูดวง สะเดาะเคราะห์ไล่ผี ปราบผี ฯลฯ จากการสังเกตุจากหมอทำประจำหมู่บ้านทั้งสองจะพบว่า ส่วนใหญ่คนที่เรียนวิชาทางด้านนี้จะมีของขลังประจำตัว เช่น กะตุด ฆ่าทรวง เป็นต้น ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันตัวจากอันตรายต่าง ๆ และตามร่างกายของผู้มีวิชาทางด้านไสยศาสตร์ก็จะพบว่ามีรอยสักเพื่อป้องกันของมีคม กระสุนปืน เขาควาย และสักเพื่อป้องกันผี การที่จะสักเป็นรูปอะไรต้องรู้ด้วยว่าสักเพื่อป้องกันอะไร เช่น สักเป็นรูปยันต์เพื่อป้องกันผี

นอกจากเครื่องรางของขลังประจำตัวแล้ว ในเนื้อหาของการศึกษาไสยศาสตร์ยังมีการสอนคาถารวมไปด้วย อย่างเช่น

คาถามหานิยม

นะเมตตาจะมหานิยม โมกรุณาจะมหานิยม

เอหิมะนะ เอหิมานา บักนั่นเห็นกูอยู่ได้ได้ร้องไห้หากู

เอหิมะนะ เอหิมานา พุทธัง คิว ให้เป็นให้ทัก

ธัมมังคิวให้เห็นให้รัก สังฆัง คิว ให้เห็นให้เรียกมานี่มา

โอม ผีภูตผีพลายทั้งสี่ เสร็จจะเสร็จสม

กูก็จะให้เพชรพญาธร ไปเอาหัวใจบักนั่น

มาใส่หัวใจกู เอาหัวใจกูไปใส่หัวใจบักนั่น

อุ อนิจจาวะตะสังฆรา อุปะถะมา

เสกแป้งทาหน้า นะเมตตา โมกรุณา พุทธปราณี

ทาร้องทักนะไกวมือ นะพุทธโธ ใครเห็นหน้า

ทาร้องทักนะไกวมือ นะเหนะทา ใครเห็นเหน้า

พุทธาร้องทักนะไกวมือ

อะหนุ่ม อะสตรี อมนุษย์ จีวะรัง

ศักตรูปีติศัตรู

คาถาหัวใจพระพุทธเจ้า

อิ กะ วิ ติ

3) แหล่งศึกษาวิชาทางด้านไสยศาสตร์

ผู้ที่ได้เรียนวิชาทางด้านไสยศาสตร์ ส่วนมากจะได้รับการศึกษามาจากวัด ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของคนในสมัยก่อน ส่วนที่ผู้ทำหน้าที่สอนวิชาทางด้านนี้ก็คือ "ครูบา" อาจเป็นเพราะในสมัยนั้นความเจริญทางด้านวิชาการ ยังมาไม่ถึงในหมู่บ้านนี้จึงทำให้ยังไม่มีการศึกษาที่เป็นทางการ และเป็นระบบอย่างในปัจจุบัน คือ มีสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการ วัดในสมัยก่อนจึงเปรียบเสมือนสถาบันการศึกษา และเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน วัดไม่เป็นเพียงแค่สถานศึกษาที่สอนให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ยังได้มีการถ่ายทอดวิชาทางด้านไสยศาสตร์รวมเข้าไปด้วย และที่สำคัญในสมัยก่อนความเจริญทางด้านสาธารณสุขยังมาไม่ถึง ประกอบกับคนในสมัยนั้น มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีสาง และอาถรรพณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก จึงทำให้มีความเชื่อขึ้นว่า คนที่ไม่สบายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยมีสาเหตุมาจากการถูกผีเข้า หรือ โดนผีแกล้ง จึงทำให้มีผู้สนใจที่จะศึกษาร่ำเรียนวิชานี้กันมาก เพื่อนำมาป้องกันตนเอง และสามารถรักษาผู้อื่นได้ วัดจึงเปรียบเสมือนสถานรักษาคนป่วยไข้ได้อีกทางหนึ่ง

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง เนื่องจากวัดเป็นแหล่งความรู้ทางด้านไสยศาสตร์ ที่สำคัญในหมู่บ้านสวางในสมัยก่อน จึงทำให้ผู้ที่มีวิชาทางด้านนี้ส่วนมากเป็นผู้ชาย

4) การสืบทอดวิชาทางด้านไสยศาสตร์

ในปัจจุบันผู้ที่มีวิชาทางด้านไสยศาสตร์ในหมู่บ้านบึงสวางมีเหลืออยู่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีอายุมาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านไม่ได้รับการสืบทอดการเรียนวิชาทางด้านนี้จากบรรพบุรุษของตน และคนรุ่นเก่าที่ได้ศึกษาวิชานี้ก็ได้เสียชีวิตกันไปเกือบหมดแล้ว สาเหตุที่คนใหม่ไม่ได้รับการสอนก็เป็นเพราะว่า คนรุ่นเก่ามีความเชื่อว่าถ้าได้เรียนวิชาไสยศาสตร์ไปแล้ว เมื่อไปประพฤติตนไม่ดี หรือมีความประพฤติที่ทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อนแล้ววิชาจะแตก อันตรายต่าง ๆ ก็จะตกมาถึงผู้สืบทอด หรือตกถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของผู้สืบทอดด้วย แต่ที่คนรุ่นเก่าได้ศึกษาวิชานี้ เพราะในสมัยเรียนได้บวชเป็นพระจึงไม่คิดที่แต่งงาน เมื่อเรียนไปแล้วถึงวิชาจะแตก แต่อันตรายต่าง ๆ ก็จะตกถึงตนคือผู้เรียนแต่เพียงผู้เดียวไม่เดือนร้อนใคร

นอกจากคนรุ่นเก่ากลัววิชาจะแตก และเป็นอันตรายต่อตัวผู้สืบทอดแล้ว คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่ค่อยที่จะสนใจศึกษาวิชานี้มากเท่าใดนัก เพราะความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์มีลดน้อยลง เนื่องมาจากปัจจุบันได้มีระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ ที่สามารถสอนให้เด็กได้เรียนรู้ถึงเหตุ และผลของปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่ในสมัยก่อนยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ และที่สำคัญเมื่อความเชื่อเรื่องผีสางของคนรุ่นใหม่ลดน้อยลงเป็นผลทำให้ ความเชื่อเรื่องการไม่สบายเกิดจากการถูกผีเข้า หรือถูกผีแกล้ง ลดน้อยลงตามไปด้วย ประกอบกับการมีสถานีอนามัยประจำตำบล ซึ่งมีวิธีการรักษาโรคแบบสมัยใหม่ จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่คิดที่จะสืบทอดวิชาทางด้านไสยศาสตร์

5) แนวโน้มของการศึกษาทางด้านไสยศาสตร์

เนื่องจากในปัจจุบันในหมู่บ้านบึงสวางนี้ ได้มีความเจริญทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ทันสมัยต่าง ๆ มีสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน มีสถานีอนามัยประจำตำบล สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และวิถีความคิดของชาวบ้านบึงสวางเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีสื่อความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อทางด้านโทรทัศน์ สื่อทางด้านหนังสือพิมพ์ สื่อทางด้านวิทยุ ที่ทำให้ชาวบ้านมีทัศนคติต่อการศึกษาทางด้านไสยศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อนมาก คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาแบบเป็นทางการจากโรงเรียนประถม และโรงเรียนมัธยมที่มีอยู่ในหมู่บ้าน หรือในละแวกใกล้เคียง จึงทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนมากไม่สนใจที่จะศึกษาวิชาทางด้านไสยศาสตร์มากนัก เพราะมีความเห็นว่าวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องของคนล้าสมัย หัวเก่าโบราณ

แต่ใช่ว่าการศึกษาทางด้านไสยศาสตร์ในหมู่บ้านบึงสวางจะสูญหายไปโดยสิ้นเชิง ตรงกันข้ามกลับได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีอิทธิพลต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพียงแต่การศึกษาด้านไสยศาสตร์อย่างเป็นจริงเป็นจัง อาจไม่มากเหมือนแต่ก่อน เพราะวัดที่เป็นแหล่งศึกษาสำคัญ ในสมัยนี้ก็เป็นเพียงแค่สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนแบบสมัยก่อน

ส่วนสิ่งที่ได้รับการสืบทอดส่วนใหญ่ คือ ความเชื่อเรื่องผี การมีคาถาอาคม และของขลังไว้ป้องกันตัว

บทวิเคราะห์

การศึกษาทางด้านไสยศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มีรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น ภูตผี ปีศาจ วิญญาณ เจ้าที่เข้าทรง เป็นต้น ซึ่งการศึกษาทางด้านนี้พบมากในหมู่คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ในปัจจุบันน่าจะไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะในสังคมปัจจุบันมนุษย์ขาดที่พึ่งทางใจ ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาสูงถึงระดับปริญญาก็ตาม ความรู้เหล่านั้นไม่สามารถจะนำมาเป็นที่พึ่งทางใจได้ จึงหันกลับไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาคิดว่า จะช่วยให้เขาประสบผลสำเร็จในสิ่งที่เขาปราถนาได้ อย่างน้อยที่สุดที่เป็นที่พึ่งทางใจดีกว่าพวกที่ไม่ยึดถืออะไรเสียเลย สุดแล้วแต่สิ่งแวดล้อมของสังคมจะพาไปโดยไม่มีจุดมุ่งหมายเป็นของตนเองตามไปโดยขาดสติ ความรอบคอบ ซึ่งน่าจะเป็นอันตรายมากกว่าพวกที่ศึกษา หรือยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องปลอบใจ

2.5.6 ความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องราวของขลัง

ในสังคมปัจจุบัน แม้ว่าความเจริญจะเข้าถึง และแทรกซึมอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกล เช่น หมู่บ้านบึงสวางนี้ แม้ว่าชาวบ้านจะรับรู้ และยอมรับกับความเจริญที่นับวันจะเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ว่าเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตประจำวัน แต่บางครั้งความเจริญเหล่านี้ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจของชาวบ้านเหล่านี้ ความต้องการการคุ้มครองจากอะไรบางอย่างที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนที่มีความเชื่อ ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้หลาย ๆ คนที่นับถือ บูชา และพกเครื่องรางของขลังไว้กับตัว จากการเก็บข้อมูลในหมู่บ้านบึงสวาง ทำให้ทางกลุ่มได้ทราบถึงเครื่องรางของขลังที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของชาวบ้านบางคน ดังนี้

ตะกรุด

ตะกรุด หรือ กะตุด ในภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียก เป็นเครื่องรางของขลังอย่างหนึ่ง ที่มีความเชื่อว่าดี มีสรรพคุณทางด้านอยู่ยงคงกะพัน แคล้วคลาดปลอดภัย การสร้างตะกรุดนั้นต้องใช้พิธีกรรมมากคือ ต้องหาแผ่นทองแดง แผ่นเงิน และแผ่นตะกั่ว มาทำการลงอักขระเลขยันต์ โดยการใช้เขียนอักขระทีละตัว เขียนหนึ่งตัว ต้องบริกรรมคาถาไปด้วยหนึ่งจบ จนกว่าจะเขียนยันต์เสร็จตามต้องการ จึงทำการม้วนแผ่นโลหะที่ลวอักขระเลขยันต์แล้วด้วยคาถาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นต้องนำไปปลุกเสกจึงจะใช้ได้ ถ้าต้องการความคงทนใช้ได้เป็นเวลานาน ต้องตำตะกรุดใส่ในหลอดพลาสติก แล้วร้อยด้วยเชือกเพื่อคล้องคอหรือคาดเอว และก่อนใช้ตะกรุดต้องใช้คาถากำกับเสมอ เมื่อถอดตะกรุดออกก็ต้องว่าคาถากำกับในการถอดอีกครั้ง จึงจะมีความศักดิ์สิทธิ์ครบถ้วนทุกกระบวนการ

ถ้าเดินทางไปให้ท่องคาถาระลึกถึงครูบาอาจารย์ จึงจะใช้ได้ผลดี ตะกรุดมีหลายชนิด เช่น ตะกรุดโทนจะมีหนึ่งดอก และยังมีแบบสามดอก เจ็ดดอก และเก้าดอก เป็นต้น

น้ำมันพราย

น้ำมันพราย เป็นของขลังด้านไสยศาสตร์อีกชนิดหนึ่ง ใช้ประโยชน์ในด้านของยาเสน่ห์ที่ต้องใช้อาคมกำกับเช่นเดียวกับของพลังชนิดอื่น ๆ แต่มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากประโยชน์ที่นำมาใช้ การทำน้ำมันพรายต้องทำในป่าช้า เพราะส่วนผสมที่สำคัญจะได้จากศพผีตายท้องกลมลนด้วยเทียน เพื่อเอาน้ำเหลืองจากศพ แต่การที่จะได้มานั้นต้องให้คนที่มีวิชาอาคมแกร่งกล้า ไม่เช่นนั้นจะมีอันเป็นไปถึงแก่ความตายได้ เมื่อนำน้ำมันพรายมาแล้วจะต้องทำพิธีขอขมาต่อศพ เพราะเชื่อว่าถ้าไม่ขอขมาจะทำให้ผีเฮี้ยน

จากการพูดคุยกับลุงอ้วย หมอทำประจำหมุ่บ้านโนนเขวา ลุงอ้วยเล่าว่า การทำน้ำมันพรายของลุงอ้วยนั้น มีพิธีกรรมที่แตกต่างจากเดิมที่มีมาแต่โบราณ กล่าวคือ คุณลุงจะใช้กระดูกบดฝุ่นหรือขี้เถ้าจากศพผีตายโหง มาผสมกับน้ำเหลืองของศพ เมื่อผสมกันแล้วสีของน้ำมันพรายที่ได้จะมีสีดำคล้ำ

นอกจากนี้คุณลุงอ้วย ยังมีน้ำมันพรายอีกชนิดที่ได้จากน้ำมันของช้างโขลงตกมัน ผสมกับสีผึ้ง ต้นสาวคอย นกกระจิกเซ้าซี้ ซึ่งเรียกว่า น้ำมันพรายฆ่าทรวง มีคุณสมบัติในด้านรักษาความเจ็บป่วย และเชื่อว่าสามารถทำให้คนรักได้อีกด้วย

ฤาษีดำ

ของขลังอีกชนิดที่ได้รับการบอกเล่าจากลุงอ้วยว่า ฤาษีดำนี้ทำมาจากเขาควายที่ถูกฟ้าผ่าตาย นำมาปลุกเสก กำกับด้วยคาถาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายของคุณลุง ลักษณะของฤาษีดำจะเป็นเขาควายแกะสลักเป็นรูปฤาษี

การให้ฤาษีดำจึงจะต้องมีคาถากำกับด้วยจึงจะได้ผล ใช้พกติดตัวเมื่อจะเดินทาง เชื่อว่าจะช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ นอกจากนี้คุณลุงยังเชื่อว่า สามารถป้องกันผีสาง และอันตรายจากไสยศาสตร์ได้อีกด้วย

เหล็กจารคาถา

อุปกรณ์ที่ใช้จาร หรือเขียนคาถานี้มีหลายชนิด บางชนิดทำด้วยเหล็ก บางชนิดทำจากไม้ลงอักขระภาษาขอม ตรงปลายสุดของเหล็กจารคาถาจะมีเหล็กแหลมฝังอยู่ ใช้สำหรับจารหรือเขียนอักขระลงบนแผ่นหลัง หรือส่วนต่าง ๆ ของร่าง เพื่อความเป็นสิริมงคล กันภูติผีปีศาจมารบกวน วิธีการจารต้องมีน้ำมันที่ทำขึ้นโดยการลงคาถาให้มีความขลัง แล้วจึงใช้เหล็กจารคาถาจุ่มน้ำมัน แล้วจึงเขียนยันต์คาถาลงบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ลุงอ้วยยังมีเหล็กจารอีกชนิดหนึ่งที่ใช้จารลงบนหนังสือ ทำจากไม้ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ลงอักขระเช่นกัน เรียกว่า เหล็กจารหนังสือ มีลักษณะเป็นไม้ยาว ส่วนปลายแหลมคล้ายปลายดินสอ ใช้เขียนหนังสือเพื่อความเป็นสิริมงคล

กุมารทอง

ด้วยความเชื่อโดยทั่วไปว่า กุมารทองเป็นเด็กทารกที่ถูกผ่าออกจากท้องของหญิงที่ตายท้องกลม ซึ่งผู้มีวิชาอาคมเก่งกล้าจะเป็นผู้ทำการผ่าท้องนำเด็กออกมาทำการเรียกวิญญาณ จนวิญญาณของเด็กเกิดมีอิทธิฤทธิ์ขึ้นได้ จากนั้นจึงใช้คาถาอาคมสะกดวิญญาณเด็กคนนี้ ที่เรียกกันว่ากุมารทอง ใช้เชื่อฟัง และปฎิบัติตามคำสั่งของผู้สะกด

จากการบอกเล่าของลุงอ้วย กุมารทองของคุณลุง ทำจากงาช้างปลุกเสกเรียกวิญญาณของเด็กที่ตายแล้วให้มาสิงสู่ที่งาช้างนั้น แล้วลงคาถากำกับไว้อีกครั้ง คุณลุงเชื่อว่า กุมารทองตนนี้เป็นเด็กชายอายุ 8 ปี มีลักษณะภายนอกเป็นงาช้างแกะสลัก ใช้พกติดตัวเวลาเดินทางเพื่อป้องกันภัย หรือในการติดต่อธุระการงานต่าง ๆ ให้บอกกล่าวกับกุมารทอง เชื่อว่าจะช่วยให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และถ้าบุคคลที่เป็นเจ้าของเลี้ยงดูกุมารทองเป็นอย่างดี ก็จะสามารถบันดาลโชคลาภให้แก่ผู้เลี้ยงแต่ถ้าเลี้ยงไม่ดี ไม่เอาใจใส่ ก็อาจจะทำให้เกิดภัยพิบัติแก่ผู้เลี้ยง และครอบครัวได้

ด้าย 7 สี มณี 7 แสง

เครื่องรางชนิดนี้ทำจากฝ้าย 7 สี มัดรวมกันเป็นเส้นเดียว ลักษณะคล้ายสายสิญจน์ ใช้ผูกข้อมือเพื่อป้องกันอันตราย และเพื่อความเป็นสิริมงคล อีกทั้งสามารถป้องกันผี และผูกเรียกขวัญให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยอีกด้วย

ผ้ายันต์

ผ้ายันต์ เป็นเครื่องรางของขลังที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ส่วนใหญ่จะได้จากการเขียนโดยพระอาจารย์ผู้มีวิชา ซึ่งจะเขียนเป็นอักขระเลขยันต์ภาษาขอม ลงบนผ้าแดงหรือสีเหลือง แจกจ่ายให้กับชาวบ้านเพื่อบูชาหรือพกติดตัว ใช้ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นเมตตามหานิยม อยู่ยงคงกะพัน

จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวางหลายคนพกผ้ายันต์ติดตัว ส่วนใหญ่เป็นผ้ายันต์ที่เขียนโดยหลวงพ่อบุญทัน เจ้าอาวาสวัดป่าสามัคคีสันติธรรม ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านโดยทั่วไป

พระเครื่อง

จากหลักฐานระบุว่า พระเครื่องมีปรากฎขึ้นในสมัยหลังพุทธกาล กล่าวคือ หลังจากที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว จึงมีการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าตราบจนปัจจุบันนี้ มีการสร้างพระเครื่องเป็นจำนวนมากแตกต่างกันออกไปหลายรูปลักษณะ บางอาจารย์ก็สร้างออกมาในรูปของเหรียญ รูปเหมือนทำด้วยโลหะ ทองแดงหรือทองเหลือง เป็นต้น บ้างก็ทำด้วยเนื้อผงที่ได้จากการใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยทั่วไปที่เชื่อว่า เป็นสิริมงคล นำมาบดเป็นผงแล้วอัดใส่พิมพ์รูปพระ เช่น ต้นสมุนไพร ว่านทั่ว ๆ ไป หรือเรียกว่า ว่าน 108 แต่ส่วนใหญ่พระเครื่องที่สร้างออกมานั้น มักจะเป็นรูปเหมือนของเกจิอาจารย์ชื่อดัง บ้างก็สร้างเป็นรูปหล่อแบบลอยองค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่นับถือสักการะของคนไทยมาช้านานแล้ว

คนไทยโดยทั่วไปเชื่อว่า การแขวนพระจะทำให้ปลอดภัยแคล้วคลาดจากอันตราย จากการสำรวจในหมู่บ้านพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่จะนับถือ "หลวงพ่อบุญทัน" วัดป่าสามัคคีสันติธรรม และจะมีเหรียญรูปเหมือนของหลวงพ่อบุญทันไว้บูชา คุณลุงท่านหนึ่งในหมู่บ้านได้กล่าวว่า พระองค์หนึ่งของลุงทำจากยางไม้ และอีกองค์หนึ่งทำจากหินแกะสลัก ซึ่งลุงคนนี้มีความเชื่อว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ และถือเป็นของขลังชนิดหนึ่ง มีไว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

รอยสัก

การสักยันต์นั้นมีมาตั้งแต่สุโขทัย ด้วยความเชื่อว่า การสักยันต์จะทำให้แคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน ชายไทยในสมัยนั้นจึงนิยมสักยันต์กันแทบทุกคน เพราะเป็นสมัยที่มีการสู้รบกันอยู่ตลอดเวลา การสักยันต์มีหลายแบบ ทั้งแบบสักเลขยันต์ภาษาของที่เรียกว่า การสักคาถา บางคนก็สักรูปสัตว์ต่าง ๆ ที่ตนเชื่อถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่นำสิริมงคลมาสู่ตน เช่น

ถ้าสักเป็นรูปเสือ ก็เชื่อว่า รอยสักนั้นจะทำให้มีอำนาจดุจพญาเสือ ที่พละกำลังคงทนต่อศาสตราวุธ

ถ้าสักเป็นรูปหนุมาน ก็เชื่อว่า ผู้สักจะมีฤทธิ์ ฟันแทงไม่เข้า มีพลกำลังมหาศาล อยู่ยงคงกะพัน

ถ้าสักเป็นรูปลิงลม ก็เชื่อว่า ผู้ที่มีรอยสักนี้จะมีความว่องไวดุจพญาวานร เป็นต้น แต่ชายไทยส่วนใหญ่มักจะสักยันต์เป็นภาษาขอม และจากการสำรวจหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านโนนเขวา พบว่าผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนก็มีรอยสัก ตัวอย่างเช่น

คุณลุงอ้วย และคุณตาเถิ่ง สักรูปพญานาคพันรอบแขน ซึ่งท่านเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อยู่ยงคงกะพัน

คุณลุงเชน สักอักขระเลขยันต์ภาษาขอม โดยเชื่อว่าจะทำให้แคล้วคลาด ฟันแทงไม่เข้า เป็นต้น

ส่วนชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่มีรอยสัก เล่าว่าเป็นการสักเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังถือเป็นเครื่องรางของขลังประจำตัว

บทวิเคราะห์

จากการสำรวจหมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียง พบว่ามีผู้นับถือ บูชาเครื่องรางของขลังพอสมควร โดยที่คนเฒ่าคนแก่มักจะพกติดตัวไว้ตลอด แต่ถ้าเป็นชาวบ้านวัยกลางคนก็อาจมีติดตัวไว้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เชื่อถือมากนัก ส่วนวัยรุ่นเท่าที่ทางกลุ่มได้พูดคุย ก็จะไม่ค่อยมีความเชื่อด้านนี้ แต่อาจมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นพระเครื่อง หรือตะกรุดต่าง ๆ ติดตัวไว้เนื่องจากพ่อแม่ให้มา เครื่องรางของขลังที่พบมากส่วนใหญ่จะเป็นพวกรอยสัก หรือตะกรุดต่าง ๆ อื่น ๆ ก็พบบ้างแต่ไม่มากนัก สาเหตุที่พกของขลังนั้นก็มีแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่คนเฒ่าคนแก่มักพกไว้เพื่อป้องกันตัว หรือเพื่อความเจริญในชีวิต ส่วนเด็กวัยรุ่นพกไว้เพื่อความสวยงาม หรือเพื่อเป็นการป้องกันเอาไว้ก่อน ส่วนกานับถือของขลังประเภทที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ เช่น น้ำมันพราย กุมารทอง นั้น พบว่ายังพอมีอยู่แต่เหลือน้อยมากแล้ว

หลังจากที่ทางกลุ่มได้ศึกษาถึงรายละเอียดของเครื่องรางแต่ละชนิดแล้วพบว่า บางชนิดก็มีประโยชน์ในแง่ของจิตใจ คือ ช่วยทำให้เกิดขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิต เช่น รอยสัก และผ้ายันต์ต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งบางชนิดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น รอยสัก พระพุทธรูปต่าง ๆ ก็ ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นการเสียหายที่เราจะนับถือ หรือมีไว้ในครอบครอง แต่ของขลังบางอย่างก็อาจให้โทษได้ ถ้าเราไปนับถืออย่างงมงาย เช่น ถ้าวันทั้งวันเอาแต่กราบไหว้นางกวักจนไม่ยอมทำมาหากิน ก็คงจะไม่สามารถสร้างความเจริญให้กับชีวิตได้ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่พบในหมู่บ้านนี้ก็มีนับถือกันโดยทั่วไป แต่จะไม่ค่อยจะงมงายนัก เพราะชาวบ้านเชื่อว่าเครื่องรางของขลังเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นำความเป็นสิริมงคลเข้ามาสู่ชีวิตเท่านั้น

ตามที่เราได้ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังประเภทต่าง ๆ นั้น ก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต และประเพณีต่าง ๆ ของชาวบ้านมากขึ้น เพราะเครื่องรางแต่ละชนิดนั้นล้วนมีครูบาอาจารย์ และมีประวัติความเป็นมายาวนานที่น่าศึกษา เพราะสามารถสื่อให้เข้าใจได้ภูมิปัญญา หรืออุบายของคนในยุคโบราณได้อีกทางหนึ่ง

2.5.7 ความเชื่อที่เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยวิธี "การรำผีทรง"

จากการศึกษา และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการสาธารณสุขภายในหมู่บ้าน บึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียง พบว่ายังมีการรักษาโรคด้วยวิธีแบบโบราณอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมา เช่น ความเชื่อที่ว่าการทำคลอดด้วยหมอตำแยนั้นมีความปลอดภัยเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องไปฝากครรภ์ หรือไปคลอดที่โรงพยาบาล หรือความเชื่อที่ว่าเด็กทารกที่ร้องไห้ไม่สบายในวันศีล (วันพระ) เป็นเพราะว่าผีมาเข้า ให้ไปหาพ่อหมอ (หมอทำ) หรือผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพของหมู่บ้าน เพื่อเป่าศีรษะให้นอนสบาย เนื่องจากเชื่อกันว่าวันพระเป็นวันปล่อยผี หรืออีกความเชื่อหนึ่งเกี่ยวกับยาสมุนไพร ซึ่งที่ใช้กันในหมู่บ้านนี้คือ ยาชุม โดยได้จากการนำ จันทร์นางหอม, ขาว, เหลือง มาฝนเข้าด้วยกันโดยใช้หินเพชร ซึ่งจากการสอบถามจากชาวบ้านก็ทราบว่าได้ผลดีมาก แต่ความเชื่อหนึ่งที่มีชาวบ้านนับถือกันมาก อีกทั้งยังเป็นความเชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน คือ ความเชื่อเรื่องการรักษาโรคโดย "การรำผีทรง" ซึ่งหลายท่านอาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่ถ้าพูดถึง "การรำผี" หลายคนคงจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่ที่หมู่บ้านบึงสวาง และละแวกใกล้เคียงนี้นิยมรักษาด้วยวิธีการรำผีมากกว่า ฉะนั้นจึงมุ่งเสนอโดยเน้นเรื่องการรำผีทรงเท่านั้น

ข้อแตกต่างระหว่าง "การรำผีทรง" และ "การรำผีฟ้า"

การรำผีทรง และการรำผีฟ้า นั้นมีวิธีการหลัก ๆ คล้ายกันคือ จะมีการฟ้อนรำประกอบไปกับเสียงดนตรี แต่การรำผีฟ้าจะมีรายละเอียดต่าง ๆ ยุ่งยากกว่า ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อเรื่องการรักษาโรคด้วย การรำผีฟ้า ไม่เป็นที่นิยมนัก แต่จากการสำรวจในหมู่บ้านพบว่า ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งการรักษาทั้งสองแบบนั้น มีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนี้

การรำผีทรง การรำผีฟ้า

ท่ารำ : จะรำธรรมดาทั่วไปเหมือนการรำวง ท่ารำ : จะสวยงามและพิสดารกว่าโดยท่าส่วนใหญ่ จะเน้นการฟ้อนมือขึ้นด้านบน และอยู่เหนือศีรษะ

การแต่งกาย : จะเป็นชุดสุภาพธรรมดา แต่จะมี การแต่งกาย : จะต้องมีชุดสวยงาม และจะมีม้าก้านสไบสีขาวสวมทับอยู่ กล้วยซึ่งที่คอของม้าก้านกล้วยจะนำเปลือกหอย 9 อันมาร้อยเป็นสายสร้อยสวมอยู่

ผ้าที่ใช้ในพิธี : จะใช้ผ้าขาว 1 ผืน และผ้าซิ่น ผ้าที่ใช้ในพิธี : จะใช้ผ้าโสร่งไหมแดง 9 ผืน และ 1 ผืน ผ้าถือ 9 ผืน

สถานที่ : จะใช้ที่บ้านผู้ป่วยหรือบ้านของแม่ สถานที่ : จะใช้ที่บ้านผู้ป่วยหรือบ้านของแม่หมอก็

หมอ (หมอรำ)ก็ได้ โดยไม่ต้องจัดเตรียม ได้ แต่ต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ โดยนำก้านกล้วยสถานที่แต่อย่างใด มาทำเป็นหลัก 4 หลัก และมีรายละเอียดต่าง ๆ มากมาย

ผู้ป่วยอาจลุกมารำร่วมกับหมอ (แม่หมอ)ได้ ผู้ป่วยต้องนอนหรือนั่งเฉย ๆ

ประวัติ "การรำผีทรง"

ความเชื่อเรื่องการรักษาด้วยวิธี "การรำผีทรง" นั้นเท่าที่ได้สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านประมาณได้ว่าน่าจะมีมานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี โดยความสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก อาศัยความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกันเมื่อมีใครไม่สบายไปโรงพยาบาลแล้วก็ไม่หาย หมดหนทางอื่นแล้วจึงแนะนำกันมาให้ลองรักษากันด้วยวิธี "การรำผีทรง" ซึ่งเริ่มแรกนั้นก็จะเริ่มจากการไปหาหมอดูประจำหมู่บ้านเพื่อถามว่าเป็นโรคอะไร ถ้ามีผีมาเข้าท่านก็จะแนะนำว่าให้ไปหาแม่หมอเพื่อทำการรักษาด้วยวิธี "รำผีทรง" ต่อไป บางรายก็หายไปจากโรคได้อย่างน่าอัศจรรย์ ก็จะนับถือ และกลับมาเข้าร่วมพิธีอีก เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนบางรายที่ไม่หายก็รักษาด้วยวิธีการอื่นกันต่อไป แต่บางรายอาจเสียชีวิตไปเลยก็มี จากการสอบถามคุณยายตุ แสนจำสาน อายุ 70 ปี อาศัยอยู่หมู่บ้านแดง ตำบลบ้านฝาง ซึ่งเป็นแม่หมอที่ชาวบ้านบึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ ท่านเล่าว่า ก่อนที่ท่านจะมาเป็นแม่หมอนั้น ตอนแรกท่านก็ไม่เชื่อเรื่องการรักษาโรคด้วยวิธี "การรำผีทรง" เท่าใดนัก ทั้งที่คุณพ่อของท่านคือ "คุณพ่อพัง" ก็เป็นพ่อหมอ (หมอรำผู้ทำพิธีถ้าเป็นผู้ชายเรียกว่าพ่อหมอ) แต่เมื่อตอนคุณยายอายุ 37 คุณยายเกิดล้มป่วยลงไปรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่หาย ต่อเมื่อได้ทำการรักษาด้วย "การรำผีทรง" โดยคุณพ่อหนูพิม ซึ่งเป็นพระอาจารย์าของคุณยาย ครั้นในเวลาต่อมาก็หาย จึงได้เริ่มมีความเชื่อในเรื่องนี้ขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้จริงจังจนถึงกับคิดอยากจะเป็นผู้สืบทอด ส่วนรายละเอียดในเรื่องการมาเป็นแม่หมอของคุณยายนั้น เชิญศึกษาได้จากหัวข้อ "การศึกษา และการสืบทอดความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์" ต่อไป ส่วนค่าธรรมเนียมในการรักษานั้น ก็แล้วแต่ศรัทธาของผู้ป่วยที่จะให้ ซึ่งจากการสอบถามส่วนใหญ่ก็จะตกประมาณ 500 บาทต่อการรักษาหนึ่งครั้ง

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมในพิธี "รำผีทรง"

1. กรวยที่ทำจากใบตอง จำนวน 5 อัน

2. ขัน 5 (ประกอบด้วย ดอกลั่นทม จำนวน 5 คู่ และเทียนเล็ก จำนวน 5 คู่)

3. เทียนใหญ่ จำนวน 2 เล่ม

4. ถาดขนาดใหญ่ (คาย) จำนวน 1 อัน

5. ข้าวสาร

6. ขันทั้ง 3 อัน (ประกอบด้วย ขันสำหรับใส่หมากพลู 1 , ขันสำหรับใส่หัวน้ำหอม 1 , ขันสำหรับทำพิธีเสี่ยงขวัญ 1 อัน)

7. หัวน้ำหอมฝานเป็นชิ้น ทั้งหมด 7 ชิ้น

8. ผ้าขาว 1 วา และผ้าซิ่นที่ยังไม่ได้เย็บเป็นผ้าถุง 1 ผืน

9. กระจก และหวี อย่างละ 1 อัน

10. ไข่ต้มสุก 2 ฟอง

11. ปัจจัย (เงิน) จำนวน 4 บาท

12. น้ำมันหอม , แป้ง และนวด (ผงที่ใช้ทาปากเวลากินหมาก)

13. หมากพลู และบุหรี่

14. หมอรำ (แม่หมอ) จำนวน 1 คน

15. หมอแคน จำนวน 1 คน ซึ่งสมัยก่อนใช้วงมโหรี แต่เนื่องจากยุ่งยาก และเสียค่าใช้จ่ายมากในปัจจุบันจึงใช้หมอแคนเพียงคนเดียวแทน

16. ผู้เข้าร่วมในพิธี (คนไข้ที่เคยมารับการรักษาแล้วหายดี) จำนวนมากไม่จำกัด

17. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเสี่ยงขวัญ (รายละเอียดอยู่ในหัวข้อถัด ๆ ไป)

18. อุปกรณ์ที่ใช้ในการถวายให้ผีที่มาเทียม (เข้า) คนไข้

ขั้นตอนการรักษา (การทำพิธี)

การทำพิธีนั้น อาจทำกันที่บ้านของแม่หมอ หรือบ้านของผู้ป่วยก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะทำกันที่บ้านของผู้ป่วยเพราะจะสะดวกกว่า โดยเริ่มแรกแม่หมอจะแต่งชุดสุภาพแล้วใส่สไบเฉียงสีขาวซึ่งถักเป็นลายลูกไม้ เมื่อเริ่มพิธี แม่หมอจะจุดเทียนใหญ่ 1 คู่ที่อยู่บนกองข้าวในถาด จากนั้นหมอแคน (อาจเป็นวงมโหรี แต่ปัจจุบันไม่นิยมนัก) ก็จะเริ่มบรรเลงเพลง หมอรำก็จะเริ่มร่ายรำ โดยในตอนแรกผู้ป่วยอาจนั่ง หรือนอนอยู่ก่อน ต่อเมื่อแม่หมอสั่งให้ลุกขึ้นมารำก็ต้องทำตามห้ามปฎิเสธ การรำนั้นก็เป็นท่ารำง่าย ๆ คล้ายกับการรำวงทั่ว ๆ ไป ซึ่งในขณะที่รำนั้น แม่หมอก็จะร้องคำร้อยกรองเพื่อเป็นการรักษา และอวยพรผู้ป่วยไปด้วย จะทำพิธีอยู่อย่างนี้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้น ก็จะทำการเสี่ยงขวัญ , เสี่ยงทาย และถวายของให้ผีที่มาเข้า ตามลำดับ เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งจากการสอบถาม "ยายตุ แสนจำปา" ซึ่งเป็นแม่หมอ ท่านเล่าว่า ปีนี้ (นับจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นวันปีใหม่ของไทย) รักษาคนไข้ไปประมาณ 100 รายแล้ว โดยคนไข้ที่มารับการรักษามีตั้งแต่ปวดท้อง ปวดหัว ขาหัก ซึ่งส่วนใหญ่มักไปโรงพยาบาลแล้วแต่ไม่หาย แต่ที่มารักษาในปีนี้มากเป็นพิเศษได้แก่คนไข้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคจิต ซึ่งมีถึง 50-60 คน และส่วนใหญ่จะเป็นชายวัยกลางคน โดยการักษาคนไข้นี้จะมีบทนำเป็นบทร้อยกรองร้องว่า

"เจ็บป่วยไข้หนาวในเป็นบ่ส่วง วินแลง่วงเป็นเจ้าบ่ส่วงเว้ย"

แปล : เมื่อเจ็บป่วยเป็นไข้ไม่หายไม่ดีขึ้น ปวดหัวหรือง่วงนอนไม่มีแรง

ถ้าเป็นคนไข้โรคจิตในการรักษา จะมีบทนำร้องว่า

"จิตบ่มีที่แขวนแนนบ่มีที่ห้อย เป็นแชมาปอยจิตย่อมีที่ยั้ง

เป็นม้าปล่อยแช วินแวง่วงเป็นเจ้าบ่ร้อง"

แปล : จิตไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ไม่มีที่พึ่ง เหมือนม้าที่ถูกปล่อยออกไป

และขณะที่รักษาร้องว่า

"ขอให้เข้าใจดี รับคือฝนแสนห่า ในดีจักน้ำกว้าง ใจสร้างจักน้ำของเจ้าอย่างใจย่ำตื่น จิตก็ให้ใส ใจก็ให้เลี่ยนเทียมพระจันทร์ วันเพ็ญ คืน 15 ค่ำ

แปล : ขอให้รับกับทุกปัญหาได้เหมือนฝนที่ตกลงมาแสนห่า ใจดีเหมือนแม่น้ำกว้าง ใจกว้างเหมือนแม่น้ำโขง อย่าไปกลัวกับปัญหาต่าง ๆ ขอให้จิตใจใสบริสุทธิ์ดังพระจันทร์วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ

ซึ่งบทร้องเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น ในการรักษาจริงแม่หมอรำ และร้องประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งคำร้องจะไม่ซ้ำกันเลย และน้ำเสียงของแม่หมอนั้นจะไพเราะเสนาะหูมาก คนไข้บางรายฟังแล้วถึงกับน้ำตาไหล บางรายก็ลุกขึ้นมาร่วมรำด้วยกัน

การทำพิธีเสี่ยงขวัญ

เมื่อแม่หมอทำการร้องรำเสร็จ ก็จะทำพิธีเสี่ยงขวัญต่อไป โดยจะให้ผู้ป่วย และญาติ ๆ นั่งล้อมวงกัน โดยแต่ละคนจะมีผ้าขาวพาดอยู่ที่บ่า และเอามือรองไว้ มีแม่หมอนั่งอยู่ตรงกลางวง และในมือแม่หมอจะมีขันขวัญอยู่ ซึ่งภายในขันขวัญนี้จะประกอบด้วย สตางค์ 3 อัน , แหวนทองเหลือง 1 วง ซึ่งจะมีสายสิญจน์ผูกอยู่ , หวีซ้อง (หวีสับ) 1 อัน , เทียนเล็ก 1 คู่ และข้าวเหนียว 1 ปั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกมาก คือเมื่อแม่หมอจะถือขันวนไปรอบ ๆ วง เมื่อไปอยู่ต่อหน้าผู้ที่เหมาะสม ขันก็จะหล่นจากมือแม่หมอไปตกลงบนผ้าขาวที่ตัวคนนั้น ถ้าขันขวัญกระเด็นออกนอกวงก็ให้เอามาวางบนมือแม่หมอแล้วทำพิธีเสี่ยงขวัญใหม่จนได้ผู้ที่เหมาะสม และอีกเรื่องที่น่าแปลก คือ ไม่เคยมีปรากฎว่าขันขวัญตกลงที่ตัวผู้ป่วย เมื่อขันขวัญไปตกลงที่ใครผู้นั้นจะต้องนำเอาสายสิญจน์ที่ผูกอยู่กับแหวนทองมาผูกที่ข้อมือผู้ป่วย เพื่อเป็นการรับขวัญเป็นอันเสร็จพิธีเสี่ยงขวัญ

การเสี่ยงทาย

โดยก่อนจะทำพิธี (ร่ายรำ) แม่หมอจะทำการตรวจสอบดูว่ามีผีตนใดมา เทียม (เข้า) ผู้ป่วย และเป็นผีประเภทไหน โดยจะทำการอธิษฐาน จากนั้นก็จะหยิบเมล็ดข้าวสารในถาด (คาย) ขึ้นมากำหนึ่งจากนั้นจะค่อย ๆ ปล่อยลงบนไข่ต้มบนถาดนั้น ถ้ามีข้าวติดอยู่บนเปลือกไข่ 1 เมล็ด แสดงว่ามีผีมาเทียม 1 ตน ถ้ามีข้าวติด 2 เมล็ด แสดงว่ามีผีมาเทียม 2 ตน จากนั้นก็จะมองที่กระจกซึ่งวางอยู่บนผ้าขาวก็จะปรากฎใบหน้าของผีที่มาเทียม (ซึ่งเห็นได้เฉพาะแม่หมอเท่านั้น) เมื่อรู้ว่ามีผีตนใดมาเทียมแล้วก็จะทำการรักษา (ร่ายรำ) ต่อไป และหลังจากเเสร็จพิธีเสี่ยงขวัญ ก็จะทำการเสี่ยงทายซึ่งพิธีนี้สำคัญมาก เนื่องจากจะบอกได้ว่าผู้ป่วยจะหายหรือไม่ หรือจะต้องเสียชีวิต ก็สามารถบอกได้ซึ่งสามารถดูได้หลายวิธี โดยจะทำการปอกเปลือกไข่ต้มทั้งสองฟองออกแล้วผ่าดู ถ้าตรงไข่แดงมีลักษณะเป็นจุดดำหรือเน่า ก็แสดงว่าผู้ป่วยนั้นจะไม่หาย หรืออาจต้องเสียชีวิต ถ้าไข่แดงมีสีแดงสดปนเหลืองสดใส ก็แสดงว่าผู้ป่วยนั้นจะหายดี หรืออาจดูจากดอกไม้ก็ได้ ถ้าดอกไม้ที่เสร็จจากใช้ในการทำพิธีเหี่ยวก็แสดงว่าผู้ป่วยนั้นจะไม่หาย หรือถ้ากองข้าวในถาดเรียงกันเป็นรูปโลงศพก็แปลว่าผู้ป่วยนั้นจะต้องเสียชีวิตแน่นอน หลังจากทราบว่าผู้ป่วยจะหายหรือไม่หายแล้วนั้น ถ้าผู้ป่วยที่ไม่หายก็จะกลับบ้านไปถือเป็นอันเสร็จพิธี ส่วนผู้ป่วยหายก็จะต้องทำพิธีถวายของให้ผีที่มาเทียมตนต่อไป

การถวายของแก่ผีที่มาเทียมตน

เชื่อกันว่าผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาแล้ว ผีที่เคยเทียมเรานั้นก็จะอยู่คอยคุ้มครองเราตลอดไปจนวันตายถือเป็นเทพประจำตัวก็ว่าได้ โดยจะเรียกว่านางเทียม (อาจเป็นผีผู้ชายก็ได้) ตัวอย่างเช่น "ยายจันทร์ คำสนิท" อาศัยอยู่บ้านโนเขวา ก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งเคยรับการรักษาด้วยการรำผีฟ้าแล้วหาย ก็มีชื่อนางเทียมว่า "นางบัวละพัน" ส่วนคุณยายตุ ซึ่งเป็นแม่หมอก็มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "นางเกตุมณี" ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องผีนามาเทียม ก็จะต้องถวายด้วย กล้วย 4 แฉก ยาสูบ 4 กอง หมาก 4 คำ แต่ถ้าเป็นผีปู่ย่ามาเทียม ก็ต้องทำบังสกุลไปให้

หลังจากเสร็จสิ้นพิธี ก็จะนำข้าวที่ใช้ในการประกอบพิธีไปหุงไว้สำหรับใส่บาตร ส่วนผ้าซิ่นจะเอาไปให้พ่อ - แม่ของผีที่เทียมเรา ส่วนผ้าขาวก็จะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านแม่หมอ พอครบปีหนึ่งก็นำมาเย็บรวมกันเป็นผืนขนาดใหญ่เรียกว่า "ผ้าโอโป" ไว้ใช้สำหรับทำเต็นท์ โดยจะถวายให้กับทางวัด

ความเชื่อ และข้อห้ามสำหรับพิธี "รำผีทรง"

"การรำผีทรง" นั้นปกติจะเริ่มทำกันตอนประมาณ 9 โมงเช้า หรือ ถ้าทำตอนบ่ายก็ ห้ามเกินบ่าย 3 โมงเย็น ถ้าจะเกินจากนี้ต้องขออนุญาตก่อน สำหรับผู้ที่ผ่านการรักษาด้วย "การรำผีทรง" เชื่อกันว่าเมื่อมีพิธีที่ไหนต้องไปเข้าร่วมเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น และที่ขาดไม่ได้คือการไปทำพิธีกราบไหว้ครูอาจารย์ ซึ่งจะทำกันเป็นประจำทุกปีที่บ้านของแม่หมอในวันสงกรานต์ เชื่อกันว่าถ้าผู้ใดไม่ไปร่วมก็จะมีอันต้องล้มป่วยลงอีก และอีกข้อหนึ่งซึ่งต้องถืออย่างเคร่งครัด คือ ห้ามไปรับน้ำมนต์ หรือคาถาจากหลวงพ่อที่ไหน เพราะถือว่าเราได้นับถือผีทรง และมีนางเทียมคอยคุ้มครองเราอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปรับของขลังจากที่ไหน แต่สามารถไปวัดไปวาทำบุญตามปกติได้ โดยจะต้องขออนุญาตนางเทียมก่อน ซึ่งถ้าใครไม่ปฎิบัติตามก็จะมีอันเป็นไป อาจล้มป่วยลงหรือเป็นอัมพาต บางรายก็เสียชีวิตไปเลยก็มี ซึ่งจากการสอบถาม คุณตาคำขาน แสนจำปา 73 สามีของ คุณยายตุ ท่านก็เล่าว่าเคยมีให้เห็นแล้ว หลายคนคงสงสัยว่าแล้วถ้าเกิดคุณยายตุ ล้มป่วยเสียเองใครจะเป็นผู้รักษาได้ ท่านก็ได้ให้ความกระจ่างว่า ถ้าคุณยาย (แม่หมอ) ล้มป่วยเสียเองก็ไม่มีใครสามารถรักษาให้ได้ ก็ต้องปล่อยไปจะตายก็ต้องยอม

ข้อห้ามสำหรับแม่หมอ (พ่อหมอ)

ไม่เรียกร้องอามิสสินจ้าง

ห้ามเกี๊ยวพาราสีลูกตุ้ม (คนไข้)

วันหนึ่งจะรักษาคนไข้ได้รายเดียว

ห้ามทำการรักษาในวันพระ

ห้ามโฆษณาชวนเชื่อ ต้องให้คนไข้มาเองด้วยความศรัทธา

ถ้ามีคนไข้มาให้รักษาห้ามปฎิเสธ

บทวิเคราะห์

จากการที่ได้ไปสำรวจที่หมู่บ้านบึงสวาง และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้ข้อมูลว่ามีคนเชื่อถือกันพอสมควร โดยดูจากผู้ที่มาร่วมพิธีไหว้ครูในวังสงกรานต์แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีที่แล้วมีมากถึง 1,200 คน แต่ถ้าเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปเช่นต่างตำบล บางบ้านแทบไม่รู้จักจากรำผีทรงเลย ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากการที่ห้ามมีการโฆษณา ดังนั้นหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไปก็อาจจะไม่มีผู้ที่ทราบว่ามีการรักษาเช่นนี้อยู่ เมื่อไม่มีตัวอย่างของผู้ที่ไปรับการรักษาแล้วหายดี จึงไม่ค่อยมีคนเชื่อถือ

เริ่มแรกที่ได้ฟังเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยวิธี "การรำผีทรง" นี้ รู้สึกว่าไม่ค่อยจะมีเหตุผลให้เชื่อเท่าใดนัก แต่หลังจากที่ได้ศึกษาลึกลงไปในรายละเอียด ก็รู้สึกว่าเป็นความเชื่อที่อาจจะเป็นไปได้ในแง่ของจิตวิทยา โดยอาศัยความเชื่อทางพระพุทธศาสนาประกอบ สรุปคือ "การรำผีทรง" ก็คือการแผ่เมตตาแก่เจ้ากรรมนายเวรตามหลักพระพุทธศาสนา และได้ให้ผู้ป่วยผ่อนคลายด้วยการร้องรำทำเพลง นับเป็นหลักการรักษาทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง และความเชื่อบางอย่างซึ่งดูไม่ค่อยจะมีเหตุผลนัก ก็ได้สอบถามจากท่านผู้รู้ท่านก็ให้ความกระจ่าง อย่างเช่น ถ้าเรานับถือผีทรงแล้วห้ามไปรับน้ำมนต์ที่ไหนอีก ก็เป็นการแสดงความกตัญญูอย่างหนึ่งต่อผีที่มาทรงเรา และจะได้ปกป้องคุ้มครองเราตลอดไป แต่ว่าเราก็สามารถไปวัดได้ตามปกติ หรือการที่ไม่ทำพิธีในวันพระท่านก็ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเราเป็นพุทธศาสนิกชนในวันพระ ก็ควรจะได้ไปวัดทำบุญตักบาตร และถ้าศึกษาให้ดีจะพบว่าล้วนแล้วแต่มีเหตุผล และตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรม โดยที่ตัวของแม่หมอเองก็ไม่ได้ผลประโยชน์อันใดจากการรักษา ซึ่งค่าธรรมเนียม 500 บาทนั้น ก็ไม่ได้มากมายอะไร ลำพังค่าข้าวของหมอรำ , หมอแคน และผู้ร่วมพิธีอีกจำนวนมาก ก็แทบจะไม่เหลือแล้ว ส่วนข้าวของต่าง ๆ ซึ่งเสร็จจากการใช้ในพิธีนั้น ส่วนใหญ่ก็จะบริจาคเข้าวัดเสียหมด ไม่ได้เก็บเอาไว้ใช้เอง ซึ่งแม่หมอ(คุณยายตุ) ปกติก็มีอาชีพประจำอยู่แล้ว ไม่ได้ยึด "การรำผีทรง" เป็นอาชีพ จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากที่ พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ ได้เขียนไว้ในหนังสือ "ลัทธิโยคี และมายาศาสตร์" ว่า "การรักษาด้วยวิญญาณ เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากการรักษาด้วยอำนาจดวงจิต เป็นกิจที่ผู้มีวิชาลึกลับอย่างสูงสุดจึงจะทำได้ และการรักษาด้วยวิธีนี้จะต้องไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนอย่างไร เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้กันเปล่า ๆ สำหรับผู้ที่ทำได้ในทางนี้แล้ว การรักษาด้วยวิญญาณย่อมประเสริฐยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะได้ผลดีและโรคหายเร็วกว่าอย่างอื่น เกือบจะว่าหายในทันทีทันใด"

ถ้าพิจารณาตามเหตุผลแล้ว ความเชื่อเรื่อง "การรำผีทรง" นั้นก็นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ช่วยขัดเกลาให้คนเราตระหนักถึงความสำคัญของความกตัญญู และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย แต่การที่คนเราจะนับถือผีทรงอย่างงมงายนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะถ้ามัวแต่เชื่อผีทรงไม่ยอมไปโรงพยาบาล เวลาเจ็บป่วยก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ดังนั้นการที่จะสรุปว่าควรสนับสนุนเรื่องความเชื่อเรื่อง "การรำผีทรง" หรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงเหตุผล และความเหมาะสมตามแต่สถานการณ์ ไม่ใช่กระทำอย่างงมงาย เช่นการที่เราเจ็บป่วยก็น่าจะไปโรงพยาบาลก่อน ถ้ารักษาแล้วไม่หายก็อาจจะลองรักษาด้วยพิธี "การรำผีทรง" แต่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างก็ต้องพิจารณาด้วยสติ ว่าเหตุผลเพียงพอที่ควรจะเชื่อหรือไม่ ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านส่วนใหญ่รวมทั้งตัวแม่หมอเองก็มักจะปฎิบัติดังนี้เช่นกัน คือเวลาเจ็บป่วยก็จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลก่อน จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจึงน่าจะเป็นการดี ถ้ามีหน่วยงานของทางราชการเข้าไปให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในเรื่อง "การรำผีทรง" และอาจจัดให้มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการสาธารณสุขแก่บรรดาแม่หมอและลูกศิษย์ ดังเช่นที่เคยจัดอบรมแก่หมอตำแยมาแล้ว ดังนี้ก็จะเป็นการสืบทอดความเชื่อเรื่อง "การรำผีทรง" อย่างถูกต้อง โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียหาย

2.5.8 ความเชื่อที่เกี่ยวกับผี

เรื่องผีเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกันมาก เพราะเป็นเรื่องที่ลึกลับ อยู่เหนือการพิสูจน์ใด ๆ หลายครั้งที่มีการพยายามนำเอาหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฎการณ์ที่เหลือเชื่อต่าง ๆ แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่มีผู้ใดที่สามารถเข้าใจถึงสิ่งเหล่านี้ได้อย่างถ่องแท้ จากการศึกษาความเชื่อเรื่องผีของคนไทยนั้น มีข้อบ่งชี้ว่าคนไทยเชื่อเรื่องผีมาก่อนที่ศาสนาพุทธจะเผยแพร่เข้ามา จนในปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อเหล่านี้อยู่มาก ความเข้าใจเรื่องผีมีอยู่หลายประเภท คือ

1. ผีชั้นปกครอง เป็นผีที่มีอิทธิพลต่อสังคม จัดเป็นจิต (Spirit) หรือวิญญาณของจักรวาล และสังคมเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมความเป็นไปของสรรพสิ่ง ได้แก่ ผีป่า ผีบ้าน ผีฟ้า ผีแถน ฯลฯ

2. ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ผีย่า ผีตาผียาย ในสังคมไทยผู้นำครอบครัว หรือผู้อาวุโสจะมีอิทธิพลมาก เป็นที่นับถือแม้ว่าตายไปแล้ว ก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ ลูกหลานต้องเชื่อฟัง

3. ผีร้าย เป็นสิ่งชั่วร้ายที่คอยทำร้ายมนุษย์ให้เป็นไปต่าง ๆ เช่น ผีปอบ ผีโขมด ผีกองกอย มีกระสือ เป็นต้น

ทั้งนี้ การแบ่งประเภทของผีเป็นการเลียนแบบสภาพของสังคมนั่นเอง เป็นสังคมคนละภพ และสามารถติดต่อกันได้ โดยอาศัยผู้มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ หมอผี คนทรง พ่อมด แม่มด เป็นต้น ความเชื่อแนวนี้เชื่อในอำนาจ และชีวิตหลังความตาย การตายแล้วเกิดข้ามภพกันได้ด้วยวิญญาณ และคำว่าวิญญาณจัดเป็นคำใหม่แต่ก็พอจะนำมาอธิบายได้ และก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า คำว่าวิญญาณไม่ตรงกับคำว่าผีทีเดียวแต่มีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะผีเกิดจากวิญญาณ

และจากการที่กลุ่มมีความสนใจ ที่จะศึกษาถึงความเชื่อเรื่องผีในหมู่บ้านชนบท เพราะคิดว่าแม้ความเจริญจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของคนในชนบท แต่ความเชื่อถือในเรื่องของผีก็ไม่น่าจะเสื่อมสูญหายไปได้ จึงทำการสำรวจโดยสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านถึงผีในหมู่บ้านบึงสวางนี้ ทั้งที่เคยประสบการณ์พบเห็นด้วยตนเอง และเป็นตำนานหรือที่เป็นเรื่องราวเล่าสู่กันฟัง ซึ่งได้เรื่องราวเกี่ยวกับผีดังต่อไปนี้

ผีนา

ในชุมชนเกษตรกรรมชาวบ้านมักจะเชื่อกันว่า ตามที่นาเก่าแก่จะมีผีเฝ้าที่นาอยู่ จากคำบอกเล่าของ "คุณลุงทุ่ม" กล่าวว่า ผีชนิดนี้คือคนที่เคยเป็นเจ้าของที่นาผืนนั้นมาก่อน เมื่อตายไปแล้วยังไม่สามารถตัดกิเลสได้ มีความหวงทรัพย์สมบัติของตน ไม่ยอมไปผุดไปเกิด แต่จะเฝ้ารักษาที่นาผืนนั้น ตามปกติจะไม่ทำอันตรายใคร แต่ถ้ามีคนทำผิดคิดร้าย เช่น ตัดต้นไม้หรือทำลายป่า ผีนาก็จะลงโทษด้วยการมากินคนนั้นให้ถึงแก่ชีวิตได้

จากการสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้านโนนเขวา พบว่ามีที่นาแห่งหนึ่งใกล้โรงเรียนจะมีศาลพระภูมิอยู่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดที่แห่งนี้จึงมีศาลตั้งอยู่ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปในหมู่บ้านไม่นิยมตั้งศาลพระภูมิไว้ในบ้าน หลังจากที่ได้พูดคุยกับ "คุณวีรศักดิ์ บุตรมา" ทราบว่า เจ้าของที่นาเคยป่วยหนัก แล้วไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลก็ไม่หาย จึงถามคนทรงได้ความว่า เจ้าของที่นาคนเก่า หรือผีนามาทำให้ป่วย ดังนั้นจึงต้องสร้างศาลพระภูมิให้

ผีวัด

ผีที่อยู่ตามวัด หรือที่เรียกกันว่า "ผีเปรต" เชื่อกันว่าตอนมีชีวิตอยู่ได้ทำบาป สร้างกรรมไว้มาก เช่น กินของวัด หรือนำของที่มีคนมาถวายให้ทางวัดไปใช้โดยไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ เมื่อตายไปจึงต้องมาใช้กรรมด้วยการอยู่รักษาของในวัด และมักจะมาปรากฎตัวให้คนเห็น เพื่อขอทานส่วนบุญจากคนที่มีบุญมาก

ผีหิน

คนสมัยโบราณมีความเชื่อว่า ในสถานที่โบราณจะมีสิ่งปกปักรักษา เป็นผีในสถานที่โบราณ ซึ่งในสมัยก่อนสถานที่ต่าง ๆ มักจะก่อสร้างด้วยหิน จึงเข้าใจว่าเป็นผีที่มีหน้าที่รักษาหิน คล้ายกับผีนาที่ไม่ทำอันตรายผู้ใด ถ้าคนนั้นไม่ละเมิดข้อห้ามหรือทำผิด เช่น ขโมยทรัพย์สมบัติที่อยู่ในสถานที่นั้น ๆ

ผีเขา

คนรุ่นก่อนเชื่อว่า ตามป่าตามเขาจะมีผู้ดูแลรักษาสภาพป่าให้คงอยู่ การเข้าป่าต้องไหว้ผีป่าผีเขา เพื่อเป็นการขออนุญาตเข้าพื้นที่ คนที่ไม่เคารพ ทำผิดที่ผิดทาง ทำลายป่า เชื่อว่าจะถูกผีเขาลงโทษให้ถึงแก่ความตาย

ผีสโมคหรือผีปอบ

ผีปอบเป็นผีกินอีกชนิดหนึ่ง เข้าสิงสู่คนธรรมดาที่ดวงชะตาขณะนั้นมีเคราะห์ คุณลุงทุ่มเล่าให้ฟังว่า ตัวผีปอบจะมีลักษณะเหมือนสัตว์จำพวกหมา ที่ไม่สูง ตัวเล็ก ๆ ไม่ใหญ่ มีขนาดประมาณหนูพุก ตัวขาว ๆ มีหางยาว เมื่อสิงสู่คนปกติ คน ๆ นั้นจะไม่มีสติ จำตัวเองไม่ได้พูดจาไม่รู้เรื่อง จะตอบคำถามเป็นอีกคนหนึ่ง มีอาการร้องไห้โหยหวน คร่ำครวญ จะกินคนและไก่สด ๆ

คนที่ถูกผีปอบกินอาจถึงตายได้ถ้าไม่รักษา ต้องมีการเชิญหมอทำมาทำพิธีไล่ผีให้เป็นกิจจะลักษณะ จากที่ได้ฟังชาวบ้านหลายคนเล่าถึงการไล่ผีปอบ ทราบว่า หมอทำจะนำหวายมาหวดตัวคนที่ถูกผีปอบสิงสู่ แล้วพูดจาไล่ผีให้ออกจากร่างคนคนนั้น จนกว่าผีปอบจะออกจากร่าง ผลจากการไล่ผีนั้น เป็นสิ่งแน่นอนว่าคนที่ถูกสิงสู่จะเจ็บปวด เนื้อตัวแตก เพราะถูกหวายหวดแต่นอกจากร่างกายที่อ่อนแอนี้แล้ว สภาพจิตใจของคนที่ถูกปอบกินนี้ก็ถูกระทบกระเทือนด้วย เพราะคนที่เคยมีอาการที่เรียกว่าถูกปอบกินนี้ มักจะถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านด้วยเชื่อว่าเป็นปอบ แม้จะไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นปอบ แต่ก็ถูกรังเกียจจากผู้คนรอบข้าง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจอีกทางหนึ่ง

ผีป่าช้า

ในป่าช้า นอกจากาจะเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับคนตาย ไม่ว่าจะฝังหรือเผา ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของผีจำพวกหนึ่งที่ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้ ต้องอยู่ใช้กรรม เป็นผีพวกที่กินคนที่นอนป่วยใกล้ตาย แต่จะไม่ทำอันตรายคนปกติ

ผีต้นยาง

จากความเชื่อที่ว่าต้นยางเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฟ้าผ่าแล้วไม่ตาย ทำลายไม่ได้ เพราะมีผีสิงสถิตอยู่ ซึ่งจากคำบอกเล่าที่ตรงกันของชาวบ้านหลายคน ถึงลักษณะของผีต้นยางนี้ว่า เป็นชายร่างสูงใหญ่ประมาณ 8 ศอก ตัวดำ เคยมีชาวบ้านเห็นท่านเดินอยู่ในละแวดนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าผีต้นยางนี้เป็นผีหลักบ้าน คอยคุ้มครองดูแลชาวบ้าน และไม่ทำอันตรายใคร นอกจากเป็นไม่ดี คิดร้าย หรือลบหลู่ ลองของ ก็จะถูกลงโทษ

นอกจากผีประเภทต่าง ๆ ตามความเชื่อที่ชาวบ้านได้รับฟังจากผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนแล้วยังมีเรื่องเล่าบางเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ที่คุณลุงทุ่มไปพบในหมู่บ้านนี้ ได้แก่

เมื่อสิบกว่าปีก่อน คุณลุงทุ่มไปอยู่ที่ป่าช้า เพราะต้องหามศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาในป่าช้า คืนนั้นคุณลุงป่วยหนัก อาการไม่ดีจึงนอนพัก ช่วงย่ำค่ำรู้สึกตัวว่ามีคนมาห้อมล้อมรอบบริเวณที่นอนอยู่ เมื่อลืมตัวขึ้นมองพบว่า คนที่มาห้อมล้อมนั้นเป็นคนที่ตายไปแล้ว เพราะในจำนวนนั้นมีผีพ่อผีแม่ของคุณลุงรวมอยู่ด้วย ผีแต่ละตนถือมีด และตะกร้าเพื่อมาเตรียมชำแหละเนื้อของคุณลุง เพราะคิดว่าคุณลุงป่วยหนักจวนตาย แต่ผีพ่อแม่ของคุณลุงมาห้ามไว้ จึงไม่มีผีตนใดมาทำอันตรายได้แต่นั่งเฝ้าจนใกล้จะรุ่งเช้า ประมาณตี 3 เมื่อไก่เริ่มขัน ก่อนที่ผีเหล่านั้นจะกลับป่าช้าไป ผีแต่ละตัวก็ทยอยมาจับที่คอคุณลุงทีละตนทีละตน แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร ซึ่งคุณลุงคิดว่าน่าจะเป็นการจับดูชีพจรของคุณลุงมากกว่า คุณลุงป่วยหนักเช่นน้ำหลายวัน จนกระทั่งคืนหนึ่งนอนหลับแล้วฝันไปว่า มีหมอ 3 คนแต่งกายด้วยชุดของโรงพยาบาลนำยามาให้คุณลุงกิน จากนั้นคุณลุงก็หายวันหายคืน สามารถเล่าประสบการณ์เหลือเชื่อได้ในทุกวันนี้

เมื่อสมัยคุณลุงทุ่มยังหนุ่ม ได้ขี่จักรยานไปแก่งน้ำต้อนเพื่อหว่านแหจับปลาที่บึงในละแวกนั้น ประมาณ 2 ทุ่ม ขณะกำลังปั่นจักรยานกลับบ้าน เมื่อถึงบริเวณใกล้โรงเรียนบ้านหว้าคุณลุงพบหญิงสาวคนหนึ่งเดินผ่านหน้ารถจักรยานของคุณลุงไป ด้วยความที่คิดว่าเป็นสาวสวยอยากจะคุยด้วย จึงเอื้อมมือไปคว้าข้อมือของหญิงสาวคนนั้น แต่เธอสะบัดมือไม่ยอมให้จับ จากนั้นสิ่งที่คุณลุงเห็นก็ค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพไป คือตัวค่อย ๆ คล้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนดำ และหัวของเธอก็หายไป ก็รู้ว่าเธอเป็นผีหัวขาด เมื่อคุณลุงตั้งสติได้จึงรีบปั่นจักรยานหนีไป

ในช่วงที่พ่อของคุณลุงป่วยหนักใกล้ตาย คุณลุงไปนอนเฝ้าพ่อ ตกกลางคืนได้ฝันว่ามีคนแก่จากป่าช้ามารับเอาพ่อไป แล้วให้หากลอง และคนมาแห่ เพื่อให้พ่อรู้สึกร่าเริง เมื่อจะตายก็จะไม่รู้สึกตัว เพราะยังสนุกสนานกับขบวนแห่อยู่ พอคุณลุงตื่นก็บอกพ่อถึงเรื่องที่ฝัน และว่าพ่อจะตายวันนี้ แต่เนื่องด้วยคุณลุงมีธุระที่ต้องการรีบไปจัดการ จึงขอร้องพ่อว่าอย่ารีบ ขอให้รอจนคุณลุงกลับมา แต่ในที่สุดคุณลุงก็ไม่สามารถกลับมาดูลมหายใจเฮือกสุดท้ายของพ่อได้

คืนหนึ่งประมาณตี 1 ขณะที่คุณลุงกำลังเคลิ้มหลับ ก็ได้ยินเสียรถยนต์เข้ามาที่บ้านคุณลุงคิดว่าเป็นลูกสาวที่ทำงานที่กรุงเทพฯ กลับมาเยี่ยม จึงไม่ได้สนใจแต่สงสัยว่าทำไมจึงมาดึก สักพัก่คุณลุงก็ได้ยินเสียงเดินขึ้นมาบนบ้านแล้วเปิดประตูห้องที่คุณลุงนอนอยู่ เห็นผู้ชายและผู้หญิงแต่งชุดขาวเข้ามาเปิดมุ้งดูแล้วก็ออกไป จากนั้นก็ได้ยินเสียงเปิดประตูที่ห้องของลูกสาว ไม่นานนักคุณลุงก็ได้ยินเสียงรถยนต์แล่นออกไป จึงลุกขึ้นดูเห็นรถยนต์สีขาวแล่นออกจากบ้าน เลี้ยวเข้าถนนหลักของหมู่บ้าน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าซอยถัดไป คุณลุงถามภรรยาด้วยความสงสัยว่าทำไมลูกสาวมาดึกแต่กลับเร็วนัก แต่ภรรยาก็ตอบกลับมาด้วยความงงว่า คุณลุงพูดถึงเรื่องอะไรอยู่ เธอไม่รู้เรื่อง ไม่นานนักก็มีเสียงร้องโวยวายให้คนช่วยจากบ้านผู้ใหญ่ทองอ่อน บ้านแม่สวย เพราะจู่ ๆ ผู้ใหญ่ทองอ่อนก็คอหักตาย เหตุการณ์ครั้งนี้ มีคุณลุงทุ่มคนเดียวที่เห็นรถสีขาวคันนั้นแล่นเข้าไปในซอยบ้านผู้ใหญ่ ซึ่งคุณลุงคิดว่าน่าจะเป็นยมฑูตที่มารับดวงวิญญาณของคนที่ถึงฆาต

อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ลูกสาวคนโตของคุณลุงกินของผิดสำแดง คือ ไปกินเนื้อควายแล้วป่วยตาย หน้าที่ดูแลหลานชายจึงเป็นของ "คุณป้าฟั่น" ภรรยาของคุณลุง แต่ผีลูกสาวก็ยังมีความอาลัยอาวรณ์ลูกชาย อยากได้ลูกชายไปอยู่ด้วย มักจะมาชิงลูกคืนเมื่อคุณป้าจะพาหลานไปที่นา แขนของคุณป้าจะปรากฎรอยช้ำขึ้นเป็นจ้ำ ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ และในช่วงตี 1 ของทุกคืนผีลูกสาวจะมาหาลูกชาย สังเกตได้จากเด็กจะร้องไห้ ซึ่งคุณลุงก็จะจุดไฟเพื่อชงนม แล้วบอกกับผีลูกสาวว่า ไม่ต้องเป็นห่วงลูกชาย คุณลุงกับคุณป้าจะเลี้ยงให้ แต่เหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้นผีลูกสาวใจร้ายมากถึงขนาดบิดแขนคุณป้าเพื่อแย่งลูกชายคืน คุณลุงจึงนำก้อนหินไปหาหลวงพ่อบุญทัน ให้ท่านเสกคาถาใส่หินให้ แล้วจึงนำมาฝังดินที่บ้านทั้ง 4 ทิศ จากนั้นเป็นต้นมาผีลูกสาวก็ไม่ปรากฎว่ามาเยี่ยมลูกอีก ซึ่งในปัจจุบันเด็กชายคนนั้นก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุได้ 23 ปีแล้ว

"คุณลุงตัน" อายุ 60 ปี เป็นพี่ชายคุณลุงทุ่ม มีนิสัยชอบดื่มเหล้า เมื่อวันแม่ของปี 2539 ที่ผ่านมา ได้กินเหล้าจนเมาแล้วตกลงในบ่อน้ำถึงแก่ความตาย ซึ่งบ่อน้ำนี้เป็นบ่อของลุงทุ่ม และคุณลุงต้องไปนอนเฝ้าไก่ที่เลี้ยงที่บ่อนั้นทุก ๆ คืน หลังจากที่คุณลุงตันจมน้ำตาย ทุกคืนวันพระคุณลุงตันจะมาปรากฎตัวให้คุณลุงเห็น โดยไม่ทำอันตรายมาในลักษณะที่เป็นเสียงคนตกน้ำ หรือหมาหอน และบางครั้งก็จะมากระโดดน้ำให้ดู

บทวิเคราะห์

ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามชาวบ้านในด้านที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีนั้น ทำให้เห็นว่าคนโดยทั่วไปไม่ว่าวัยใด ๆ ยังคงมีความเชื่อในเรื่องของผี หรือวิญญาณอยู่ แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่เคยมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณมาก่อน แต่ก็ไม่ลบหลู่ ต่างปฎิบัติตามที่คนโบราณสั่งสอนมา ซึ่งสาเหตุสำคัญนั้นก็คือ การที่เกรงว่าจะผิดผี ซึ่งชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความอัปมงคล เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเชื่อเรื่องผีนี้ก็ยังคงอยู่ในสังคมไทย แต่อาจจะรางเลือนเจือจางไปบ้านตามกาลเวลา และกระแสการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่เช่นในปัจจุบัน แต่ตราบใดที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญกับความกตัญญู ความเชื่อเรื่องผีนี้ก็ไม่อาจหมดไปจากจิตสำนึกของคนไทยได้

2.6 บทสรุป

2.6.1 สิ่งที่ได้จากการทำงานกลุ่ม

ตลอดช่วงระยะเวลา 6 วัน 5 คืน ที่พวกเราต้องไปศึกษาภาคสนามในหมู่บ้านชนบทที่ห่างไกลจากสิ่งที่คุ้นเคย ทำให้พวกเราได้ฝึกฝนการทำความเข้าใจ และทักษะที่ใช้ในการทำงานกลุ่ม ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับสามารถแจกแจงได้ดังนี้

ฝึกความกล้าในการพูดคุย

การที่พวกเราต้องไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักคุ้นเคยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ที่ต้องนอนมุ้งเดียวกัน เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ต่างคณะในกลุ่ม คุณพ่อคุณแม่ที่ให้เราไปอาศัยอยู่ด้วย ตลอดจนชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือเมื่อเราไปขอสอบถามข้อมูล รวมทั้งอาจารย์หลายท่านที่ให้คำปรึกษาที่มีประโยชน์แก่พวกเรา การเข้ากลุ่มที่ต้องมีการจัดทำกิจกรรมร่วมกัน ปรึกษาหารือช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ช่วยพัฒาทักษะในการพูดคุยของพวกเรามากขึ้น เพราะตลอดการทำงาน พวกเราต้องพบปะพูดคุยกับคนมากหน้าหลายตา ต่างระดับการศึกษา ต่างภาษา ต่างวิถีชีวิตที่หล่อหลอมมา ทำให้ในการสื่อสารหลาย ๆ ครั้งเกิดปัญหา ทั้งในด้านความไม่เข้าใจ และความไม่กล้าในการสอบถามหรือสนทนา แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากข้อสังเกตที่พบที่เห็น และการปรึกษากัน ทำให้เกิดข้อคิดที่นำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการสนทนา ซึ่งสังเกตได้จากการสัมภาษณ์ หรือสอบถามชาวบ้านในช่วงวันหลัง ๆ แล้วพบว่า พวกเราเข้าใจในสิ่งที่ได้รับฟังมากขึ้น และข้อมูลที่ได้ก็มีการเบี่ยงเบนจากความเป็นจริงลดลง

ฝึกความรับผิดชอบ

ในการทำงานร่วมกันต้องมีการแบ่งการทำงาน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่กำหนด เป็นสิ่งที่สำคัญที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรายงานในส่วนที่ตนเองต้องทำ และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกลุ่ม อีกทั้งแต่ละคนต้องรับผิดชอบตนเอง ต้องตรงต่อเวลาเมื่อมีการนัดหมายให้ส่งงานหรือปรึกษาหารือกัน

นอกจากนี้ในการทำงานกลุ่ม ต้องมีการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ทุกคนต้องตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนเหมือน ๆ กัน จึงจะเกิดประสิทธิภาพในการทำงานขึ้น ดังนั้น ในการออกภาคสนามครั้งนี้ จึงเป็นการฝึกฝนความรับผิดชอบจากระดับเล็ก ๆ คือ รับผิดชอบตนเอง ระดับกลุ่มซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝนให้พร้อมที่จะรับผิดชอบในงานระดับที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต

ฝึกความเป็นประชาธิปไตย

ในการทำงานกลุ่มซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากหลายคณะ และจากหลาย ๆ ชั้นปี จึงทำให้บางครั้งในการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ จึงมีความคิดเห็นที่หลากหลาย และแน่นอนย่อมจะต้องมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อความคิดของเราไม่ได้รับการเลือกจากสมาชิกในกลุ่มก็ต้องยอมรับการตัดสินใจเสียงส่วนใหญ่ โดยไม่แสดงความไม่พอใจ หรือมีอคติต่อความคิดนั้นด้วย

ฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตาม

ในการทำงานกลุ่มย่อมจะต้องมีประธานกลุ่ม ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้นำของกลุ่มมีหน้าที่คอยควบคุมดูแลสมาชิกในกลุ่ม และวางแผนการทำงาน ประธานกลุ่มได้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของสมาชิกภายในกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มจะได้ทำตามด้วยความเต็มใจเพราะได้เลือกมา แต่มิใช่ในทุกเรื่อง โดยจะต้องพิจารณาถึงความคิดว่ามีเหตุผลดีมากน้อยเพียงใด น่าทำตามหรือไม่ นับว่าเป็นการฝึกทั้งผู้นำที่ดี และผู้ตามที่ดีเป็นพื้นฐานการทำงานในอนาคต

ฝึกแสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นของตนให้ผู้อื่นได้รับฟัง เป็นการทำให้ได้ฝึกคิด และฝึกวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ เป็นการพัฒนากระบวนการติดต่อ เมื่อเจอปัญหาต่าง ๆ เข้ามาพร้อมกัน ถ้าเรามีกระบวนการคิดที่เป็นระบบ และมีแบบแผน คือ ค่อย ๆ คิดทีละปัญหา ก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคไปได้

ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น

นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะในชีวิตจริงคนเราไม่สามารถทำงานได้เพียงลำพัง และถ้าไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน เมื่อไปร่วมงานกับผู้อื่นก็ไม่สามารถปรับตัวได้ ซึ่งแต่ละบุคคลมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงตัวแตกต่างกันตามลักษณะนิสัย การฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่นก็คือ การฝึกรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนั่นเอง ถ้าเรารับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างเป็นกลาง ไม่เอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ก็จะทำให้สามารถมองปัญหานั้นได้กว้างขึ้น ไม่มองแต่เพียงด้านเดียว สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกความอดทนได้อีกทางหนึ่งด้วย

2.6.2 วิถีชีวิตชาวบ้าน และสิ่งที่ได้จากการอยู่ร่วมกับชาวบ้าน

การใช้ชีวิตของชาวบ้านที่หมู่บ้านบึงสวางนี้ เป็นไปอย่างเรียบง่าย และอยู่ด้วยกันเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ คือ มีการประกอบอาชีพตนเองตามปกติ แต่เมื่อมีสิ่งที่ต้องอาศัยคนจำนวนมาก เช่น งานบุญงานประเพณีต่าง ๆ แต่ละบ้านก็พร้อมใจกันมาช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ นับเป็นสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย สัมผัสได้ถึงความมีน้ำใจที่เอื้อเฟื้อต่อกัน

สิ่งที่ได้จากการอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านนอกเหนือไปจากความรู้สึกที่ดีงามแล้ว ก็คือการเรียนรู้ และศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างวิถีชีวิตในเมือง และชนบท ถึงความเป็นอยู่ ความคิด ที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นสุขด้วยความสมถะ และการไม่เอาเปรียบซึ่งกัน และกัน

จากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า ถ้าคนในสังคมเมืองไม่คิดที่จะเอารัดเอาเปรียบกัน ประเทศชาติของเราก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวชนบทยังขาดอยู่ก็คือ การศึกษา ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น สาเหตุหลักที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาล ค่านิยมที่ผิดในเรื่องการแข่งขันในการศึกษา โดยไม่คำนึงถึงการศึกษาเพื่อนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่นของตน ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเปล่าทางการศึกษา

2.6.3 การเก็บข้อมูล และประมวลผล

เนื่องจากเรื่องที่ต้องการศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ที่เน้นความเชื่อที่เหนือการพิสูจน์ ดังนั้น ในการเก็บข้อมูลจึงจำเป็นต้องใช้การสอบถามถึงความคิดเห็นของชาวบ้าน แล้วนำมาประมวลผลเป็นสถิติในเชิงคุณภาพ

ข้อสังเกตที่ได้จากการสัมภาษณ์ พบว่า ชาวบ้านที่อยู่ในวัยชรา และวัยรุ่น มักจะให้คำตอบที่น่าเชื่อถือได้มากกว่าชาวบ้านวัยกลางคน อาจเป็นเพราะผู้เฒ่ามีความเชื่อเช่นนั้นจริง คำตอบที่ได้เป็นเหมือนการเล่าให้ลูกหลานฟัง ส่วนชาวบ้านที่เป็นวัยรุ่น อาจเกิดจากการที่วัยใกล้เคียงกับผู้สัมภาษณ์จึงเป็นประโยชน์ในการสร้างความเป็นกันเอง การถามตอบจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ที่วัยต่างกัน โดยเฉพาะที่เป็นวัยกลางคน

นอกจากนี้ยังพบว่า จากการสัมภาษณ์ ผู้ตั้งคำถามไม่สามารถเจาะลึกข้อมูลได้เพียงพอ เพราะความเชื่อนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติส่วนบุคคล ไม่สามารถพิสูจน์ได้ มักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ อีกทั้งชาวบ้านในหมู่บ้านบึงสวาง หมู่บ้านโนนเขวา และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้เคยรับนิสิตที่มาฝึกภาคสนามมาก่อน จึงเคยถูกสัมภาษณ์หลายครั้ง ทำให้ทราบแนวทางของคำถาม และระมัดระวังการตอบคำถามมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ชาวบ้านบอกกล่าวมา จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่คิดขึ้นเองทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้การจัดเก็บข้อมูลมีความยากมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ศึกษาจึงได้พยายามตั้งคำถามที่ผู้ตอบสามารถตอบได้อย่างสบายใจ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว และการทำมาหากิน จากนั้น จึงค่อย ๆ โยงเข้าสู่ประเด็นโดยใช้การชวนคุยถึงความเชื่อในเรื่องหนึ่ง ๆ สังเกตความหมายคำตอบที่ได้ และนำมาวิเคราะห์ภายในกลุ่ม ซึ่งพบว่า ข้อมูลที่ได้มามีความเบี่ยงเบนน้อยลง

2.6.4 ทัศนคติเกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านในแต่ละรุ่น

จากการสัมภาษณ์ชาวบ้าน 3 ช่วงอายุ ได้แก่ วัยชรา ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป วัยกลางคน ระหว่างอายุ 24-59 ปี และวัยรุ่น คือ อายุต่ำกว่า 25 ปี พบว่า วัยชรามีความเชื่อเกือบทุกด้าน สาเหตุอาจเป็นเพราะ ในการดำรงชีวิตของคนวัยชรายังไม่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ ประกอบกับการศึกษายังไม่มีครอบคลุมและทั่วถึง จึงจำเป็นต้องยึดถือในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้มาเป็นที่พึ่ง ส่วนในช่วงวัยกลางคน จะมีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันไป แล้วแต่ปัจจัยที่แวดล้อม รวมทั้งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย สำหรับวัยรุ่น โดยมากจะไม่เชื่อ แต่ก็ปฎิบัติตามคำบอกเล่าของผู้ใหญ่

จะเห็นได้ว่า ความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มีมากขึ้น ชาวบ้านได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง และได้รับการพิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ จากสื่อที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ชาวบ้านพิจารณาว่า สิ่งที่เชื่อนั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เพียงใด

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือข้อห้ามต่าง ๆ ที่ปรากฎ นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สอนให้คนรู้จักเคารพในสิ่งต่าง ๆ และเลือกทำแต่สิ่งที่ดีงาม ดังนั้น หากจะดำรงความเชื่อบางอย่างไว้ คงจะไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หากในจิตใจทุกคนยังคงยึดมั่นอยู่กับหลักธรรมในพุทธศาสนา

รายการศึกษาภาคสนามของกลุ่มที่ 3