ความคิดสร้างสรรค์......กับการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (1)

การเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้อง กับความสามารถในการคิดสร้างสรรค์อยู่มาก โดยเฉพาะ วิชาการออกแบบการ จะปรับปรุงวิชานี้ให้มีประสิทธิภาพสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่คณาจารย์และนิสิต ต้องมีความตระหนัก และเข้าใจร่วมกัน ในความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ ..creativity ถือว่าเป็นความรู้ที่สำคัญอันหนึ่ง ของการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ ในสาขาจิตวิทยา มีการศึกษาค้นคว้า และวิจัยมากมาย แนวทางการศึกษาเกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ เรื่องบุคลิกภาพ ขบวนการ ทางความคิด และอารมณ์ อิทธิพลของสภาพแวดล้อม และผลงานความคิดสร้างสรรค์ ที่ปรากฏ ผลการศึกษาเหล่านี้ เมื่อนำมาประมวลกันแล้ว จึงมีประโยชน์พอเพียง ที่ยอมรับเป็นทฤษฎีประกอบการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาในวงการศึกษาทางสถาปัตยกรรมได้

บทความนี้ นำเสนอผลการศึกษาส่วนหนึ่ง ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในทางสาขาจิตวิทยา ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับ การปรับปรุงการเรียนการสอนทางสถาปัตยกรรมได้ อย่างน้อยจะเป็นการเริ่มต้นให้คณาจารย์และนิสิต ได้รับรู้และตระหนัก ถึงพฤติกรรมมนุษย์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์กันอย่างไร อันจะเป็นแนวทางในการศึกษาประเด็นเฉพาะต่อๆไป หรือเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ความเข้าใจ และมีทัศนะคติ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้จุดประสงค์ ในการเรียนการสอน เชิงพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ ได้บรรลุเป้าหมาย ที่พึงต้องการได้

ความหมาย

ความคิดสร้างสรรค์ เป็นลักษณะของความคิด ที่ประกอบด้วย อารมณ์ ความรู้สึก และการรับรู้เข้าใจเชิงเหตุผล จึงเกี่ยวข้องกัน ทั้งทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ ในเชิงรูปธรรม จะเน้นถึงการรู้การเข้าใจ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ ที่เป็นไป โดยธรรมชาติ ในเชิงนามธรรม จะเน้นตอบสนองความรู้สึก อารมณ์ ความพอใจ ประสบการณ์ หรือความสามารถเฉพาะตัว ของผู้คิด โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง เพื่อการอธิบายเป็นสำคัญ เน้นผลผลิตที่ปรากฏ ในการตอบสนอง ทางอารมณ์ และความ รู้สึกร่วมกัน มากกว่าขบวนการของการสร้างสรรค์นั้น

ความคิดสร้างสรรค์ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา จะต้องเป็นกรณีที่มีการจินตนาการ หรือคาดการณ์ของปัญหา เป็นการล่วงหน้า รวมทั้งการเสนอวิธีการแก้ปัญหา หรือการหาคำตอบ ที่ไม่เป็นลักษณะธรรมดาอย่างปกติที่เคยกระทำมาแล้ว ผู้แก้ปัญหา เชิงสร้างสรรค์ มักกระทำให้เกิดผลงาน ที่มีคุณค่าเกินความต้องการ และประโยชน์ขั้นพื้นฐานของสิ่งกระทำ และคิดเสมอ

ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันก็คือ ลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าทางศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ จำเป็นต้องใช้ความรู้เดิมหรือประสบการณ์เก่าๆ มาใช้ในเหตุการณ์ใหม่หรือปัจจุบัน จนสร้างผลผลิตที่เป็นความรู้ หรือประสบการณ์ใหม่เกิดขึ้น ต่อตนเองและผู้อื่นที่ไม่เคยประสบมาก่อน (Bronowski, 1956)

ในด้านบุคลิกภาพ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ คือผู้ที่มีความคิดคล่องแคล่ว ในการสนองความคิดได้หลายแง่มุม ผลิตคำตอบ และคำถาม ได้หลายๆอย่าง มีความสามารถในการปรับสภาพความคิดได้เสมอๆ เช่น นำประสบการณ์ หรือวิธีการแก้ปัญหา เก่าๆมาดัดแปลง เปลี่ยนแปลง ให้มีผลกับปัญหาใหม่ๆ ไม่ยึดลักษณะความคิดที่เคยชิน และจำเจเป็นนิสัย มองปัญหาและการแก้ไขในแนวใหม่ๆ ผลิตข้อเสนอ หรือคำตอบ ที่สัมพันธ์ต่อกัน แต่ไม่เป็นอย่างธรรมดา ดังเคยกระทำมาก่อนหรือในสภาพการณ์ปัจจุบัน

ในด้านรูปแบบหรือขบวนการของความคิด เป็นความสามารถนอกเหนือจากความฉลาด หรือความคิดเชิงเหตุผล มีระบบความคิด ที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนบุคคล เป็นลักษณะความคิดสะท้อนกลับ หลังจากที่ผ่านการไตร่ตรอง และเมื่อมีสภาพของจิตใจไร้ความกังวล หรือความกดดันใดๆ เป็นลักษณะของความคิด ฉับพลัน ลึกลับที่ยากจะอธิบายให้ชัดเจนและแจ่มชัดได้ (Flecher, 1934)

ขบวนการของความคิด เป็นการยอมรับประสบการณ์ และความรู้เดิมเข้าผสมผสานกัน และแปรเปลี่ยนสภาพไปสู่ ประสบการณ์ และความรู้ใหม่ เช่น การใช้อุปมาอุปมัยในประสบการณ์ของสิ่งหนึ่ง ไปพ้องกับสิ่งอื่น ดังที่ Newton ค้นพบการอธิบาย เรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก จากปรากฏการณ์การตกหล่นของผลแอปเปิล หรือการกำหนดรูปทรงอาคารของโบสถ์ Ranchamp จากกระดองปูของ Le Corbusier เป็นต้น

ในด้านสภาพแวดล้อมและอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรม

การสร้างสรรค์เป็นขบวนการเปลี่ยนแปลง ของการปรับปรุง วิวัฒนาการในการจัดการคุณภาพ และการดำรงชีพของชีวิตมนุษย์ (Ghiselin, 1952) ทฤษฎีการวิวัฒนาการมนุษย์ของ Darwin เกิดขึ้นโดยแรงกระตุ้น ในการสร้างสรรค์ของมนุษย์โดยแท้ เป็น ลักษณะขบวนการที่เกิดขึ้น เพื่อควบคุมกลไกของชีวิต ให้มีรูปแบบที่เหมาะสม และดำเนินไปในสภาวะที่คงที่สม่ำเสมอ (Dobzhansky, 1957) อำนาจการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ดำเนินคล้อยตามสภาพแวดล้อมเสมอไปเหมือนเช่นสัตว์ ที่ระบบทางชีววิทยาถูกกำหนดโดยธรรมชาติ หากแต่มนุษย์ สามารถสร้าง ระบบ ของกฎเกณฑ์ในการดำรงชีพโดยตนเองได้ด้วย นี่คือลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ ที่มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์

ในกรณีอิทธิพลด้านสังคม-วัฒนธรรม ก็เช่นเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์จะดำเนินไปสู่ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ความพยายามค้นหาจุดบกพร่อง และเปลี่ยนแปลง ความเชื่อดั้งเดิม ความไม่พอใจในค่านิยมเก่า โดยมุ่งหาทัศนคติ ในแนวใหม่ของสังคมและวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็น ลักษณะของความคิด ที่เน้นทางปฏิวัตินิยม มากกว่าการอนุรักษ์นิยมของสังคมปัจจุบัน

ในด้านที่เกี่ยวกับผลงานการสร้างสรรค์ คือการมีคุณค่า ที่เป็นเอกลักษณ์ของความแปลกใหม่เป็นสำคัญ ผู้มีความคิดสร้าง สรรค์ สามารถผลิตผลงาน ที่สะท้อนความคิดของงานศิลปะ หรือรูปแบบของพฤติกรรมที่ใหม่ สำหรับตนเองและคนทั่วไป ความแปลกใหม่ของผลงาน ต้องมีความเหมาะสม สัมพันธ์กับเงื่อนไข และสถาน การณ์ ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการปฏิบัติ ในขณะนั้นด้วย ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งเร้าอารมณ์ และความรู้สึกใหม่ๆ ของผู้สัมผัสเพียงเท่านั้น

บุคลิกภาพกับความคิดสร้างสรรค์

จากการศึกษาโดยนักจิตวิทยา เพื่อค้นหาคำตอบว่า คนชนิดใดเป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูง หรือมีคุณสมบัติเช่นไร ที่ทำให้ผลิตผลงานสร้างสรรค์ที่ดีเด่น ผลสรุปปรากฏว่า ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงนั้น มักมีคุณลักษณะที่เกี่ยวข้อง กับความสามารถ ดังต่อไปนี้ คือ ความฉลาด (Intelligence) ความเอาใจใส่ใฝ่รู้ (Awareness) ความสามารถ ที่ตอบสนองความคิด ได้คล่องแคล่ว (Fluency) ปรับสภาพความคิดได้ง่าย (Flexibility) มีความคิดริเริ่ม (Originality) คุณลักษณะประกอบอื่นๆ เช่น ความรอบคอบพิถีพิถันช่างสังเกต (Elaboration) ความช่างสงสัย (Skepticism) ความดื้อรั้นดันทุรัง (Persistence) การมีอารมณ์ขัน (Humor) สนุกสนานขี้เล่น (Playfulness) ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-confidence) และความไม่ชอบคล้อยตามผู้อื่นโดยง่าย (Non-conformity)

ความฉลาด

จากการศึกษาพบว่า ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีระดับความฉลาดสูงกว่าปกติ (I.Q. Test=120-134) แม้ผลการวิจัย สรุปว่า ความคิดสร้างสรรค์กับความฉลาด มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาด (Getzels & Jackson, 1962) กล่าวคือ ในกลุ่มผู้ถูกทดลองที่มีความฉลาดสูง แต่ก็ไม่ได้มีผลการทดสอบทางความคิดสร้างสรรค์สูงตามไปด้วย กระนั้นก็ตาม ในบางสาขาอาชีพ เช่นทางวิทยาศาสตร์ ระดับความฉลาด มีความจำเป็นต่อความคิดสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่า ตามความเข้าใจ ทั่วๆไป มักแยกความคิดสร้างสรรค์ มีลักษณะตรงกันข้าม กับความฉลาด และแตกต่างกับความคิดในการแก้ปัญหาโดยปกติ ซึ่งเจาะจงเพียง ค้นหาคำตอบอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงการแปรสภาพ หรือเลือกปัญหาที่เหมาะสมด้วย เพราะการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์นั้น จะรวมเอาถึงความสามารถ ในการเลือก และกำหนดปัญหา ตั้งแต่ตอนแรกด้วย ไม่เจาะจงเพียงความฉลาด ในการตอบปัญหาที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ความใฝ่รู้

เป็นลักษณะของความพยายามแสวงหาความรู้ ประสบการณ์และความพอใจใหม่ๆ (Scachtel, 1959, Roger, 1952) เป็นแรงบันดาลใจภายใน ที่กระตุ้นให้มีความอยากรู้อยากเห็น การขาดความคิดสร้างสรรค์ ก็เหมือนการขาดประสบการณ์ใหม่นั่นเอง การแสวงหาประสบการณ์ ใหม่ๆอยู่เสมอนั้น ก็คือ ความสามารถ ที่ตอบสนองความคิดที่แตกต่าง จากที่เคยพบในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ความไม่พอใจกับคำตอบ หรือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใฝ่รู้ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพิ่มขึ้น สถาปนิกที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้น จะมีความสามารถ แยกแยะ การรับรู้ในสภาพแวดล้อม รอบตัวเองได้อย่างละเอียด สังเกตในสิ่งที่ไม่เคยกระทำมาก่อน และมองเห็นปัญหา ในสิ่งที่คนธรรมดา ละเลย หรือไม่สนใจ ทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการ แสวงหาสิ่ง แปลกใหม่ ในการกำหนดแนวความคิด หรือปัญหาสร้างสรรค์ ในการออกแบบ อาคารปัจจุบัน ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มักเอาใจใส่ ในสิ่งบางเรื่อง ที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ ในขณะที่คนอื่นๆ คิดเห็นเรื่องเหล่านั้น เป็นปกติธรรมดา

ความคิดคล่องแคล่ว

หมายถึง ความสามารถที่จะแสดงออก ทางความคิดได้หลากหลาย เสนอข้อคิดเห็นหรือให้คำตอบได้มากว่าคนปกติธรรมดา อาจรวมถึงความรู้สึกในจิตใจ ที่ไม่สามารถพูดออกมาได้ เช่น ศิลปิน มีแนวคิดในการเขียนภาพ หรือ ปั้นรูปได้หลายๆแบบ นักเต้นรำ สามารถแสดงการเคลื่อนไหว ของร่างกายได้หลายท่าทาง สถาปนิกกำหนดปัญหาได้หลายแง่มุม จึงสามารถนำเสนอรูปแบบ ในการออกแบบอาคารได้หลายอย่าง เป็นที่ยอมรับกันในการ ศึกษาวิธีการออกแบบสถาปัตยกรรมว่า ปัญหาในการออกแบบ ไม่ใช่การค้นหาคำตอบ ถูกหรือผิด แต่เป็นการค้นหาคำตอบ ที่สนองความพอใจหรือไม่ และปัญหานั้นๆ ไม่เจาะจง เพียงคำตอบเดียว เหมือนในสาขาวิชาอื่น เช่น ทางคณิตศาสตร์ เป็นต้น ความสามารถของสถาปนิก นอกจากการเสนอคำตอบหลายอย่างแล้ว ยังต้องมีความสามารถ ในการเลือกคำตอบที่เหมาะสมอีกด้วย ความคล่องแคล่วทางความคิด เป็นคุณลักษณะ ที่จำเป็นสำหรับ สถาปนิก ที่ต้องการผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง เพื่อแสวงหาทางเลือกได้มากๆ

การปรับสภาพความคิด

ผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูง จะไม่ยึดถือความคิดที่เป็นความจำเจและเคยชินเป็นนิสัย ในทางตรงกันข้าม จะมีความ สามารถปรับสภาพความคิดให้ทันเหตุการณ์ และปัญหาใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ยึดถือกฎเกณฑ์ทางความคิด ที่แน่นอนตายตัว เข้าใจ ความแตกต่างและเงื่อนไข ในการแก้ปัญหาเฉพาะอย่างได้กว้างขวาง มองประโยชน์ของเครื่องมือ เครื่องใช้ ให้สนองประโยชน์ได้หลายลักษณะ ปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหาเดิม ให้เหมาะสมกับปัญหาใหม่ๆได้เสมอ การปรับสภาพความคิด เป็นความสามารถ ในการแสวงหา ความหลากหลายของแนวคิด หาคำตอบที่ไม่เป็นธรรมดากับปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เพราะมีความกล้า และยอมเสี่ยง โดยไม่กลัวความล้มเหลว หรือผิดพลาด ข้อสังเกตหนึ่ง คือ ความสูงอายุ จะมีความสัมพันธ์อย่างมาก กับการยอมรับกฎเกณฑ์ การคิดที่เคยชิน จำเจ และมักทำอะไรเป็นนิสัย ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อ ทัศนคติ และพฤติกรรมเดิมๆ มักชื่นชอบกับประสบการณ์เดิม มากกว่าการแสวงหา หรือยอมรับประสบการณ์ และความ รู้ใหม่

ความคิดริเริ่ม

ความต้องการในชีวิตมนุษย์ อันหนึ่งก็คือ ความต้องการเป็นผู้มีความสามารถสูงและดีที่สุด (Self-actualization) หากมีการเอื้ออำนวย หรือการกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม มนุษย์จะพยายามสร้างความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้การกระทำบรรลุเป้าหมาย (Maslow, 1959) การมุ่งแสวงหาความคิดสร้างสรรค์ จะแสดงออกทางความคิดริเริ่ม ที่ตนเองไม่เคยเข้าใจมาก่อน ผลิตความคิดที่ไม่ธรรมดา แก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยไม่คำนึงถึงความคิดเห็น ที่คล้อยตามผู้อื่นเสมอไป ความคิดริเริ่ม จึงมีความ สัมพันธ์ โดยตรงกับความแปลกใหม่ (Novelty) เสมอ เป็นความ สามารถในการตอบสนองความคิดและความรู้สึก ที่ไม่เหมือนใคร โดยไม่กลัวว่า ลักษณะของการกระทำนั้น จะแปลกประหลาด หรือไม่เป็นที่ยอมรับต่อสภาพสังคมวัฒนธรรม ในขณะนั้นเพียงไร

ความรอบคอบในการคิดและการกระทำ

ความคิดแปลกใหม่ในทางสร้างสรรค์ จะต้องมีความเหมาะสมด้วย เพราะจะต้องผ่านการไตร่ตรอง อย่างรอบคอบ พิถีพิถันของผู้คิด อันจะนำความคิดนั้น ไปก่อให้เกิดประโยชน์ได้สำเร็จ เพราะความแปลกใหม่เป็นสิ่งยาก ที่จะยอมรับของสังคม หรือผู้อื่นในระยะแรก ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นผู้ที่มีความ อุตสาหะพยายาม อดทน และ ทำงานหนัก การกระทำเพื่อให้ ความคิดประสบความสำเร็จ จึงต้องมีความมั่นใจ ไม่ย่ออท้อ และมีความรอบคอบทางความคิด ทุกแง่มุม เพื่อต่อต้านกับ คำวิจารณ์ต่างๆได้ตลอดเวลา ผู้มีความประณีตและรอบคอบทางความคิด มักแสดงออกทางการกระทำ ที่สัมพันธ์ในทำนองเดียวกันเสมอ

ความช่างสงสัย

ความช่างสงสัย เป็นต้นกำเนิดของความคิด และการนำไปสู่ความแปลกใหม่ จากผลการศึกษาของ Taylor&Holland (1964) พบว่าผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูง มักมีความหวาดระแวง และสงสัยในข้อคิดเห็นของผู้อื่นเสมอ ไม่ยอมรับ หรือเชื่อถือสิ่งใด โดยปราศจากการเข้าใจ (Self-realization) ด้วยตนเองก่อน ผู้มี ความคิดสร้างสรรค์ มักจะเป็นผู้ไม่พึงพอใจอะไร ในสภาพแวดล้อม หากแต่มุ่งแสวงหาแนวทางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น จึงมักจะไม่ค่อยยอมรับ หรือเชื่อถืออะไร ที่เคยเชื่อและปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยไม่ได้ผ่านการไตร่ตรองซ้ำแล้วซ้ำเล่า นักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งหวังการสร้างสรรค์ มักคิดหาทางปฏิเสธสมมติฐานที่เคยอธิบายปรากฏการณ์เดิมเสมอ การวิวัฒนาการทางความคิดวิทยาศาสตร์ คือ ความพยายามที่หาแนวทางปฏิเสธ ทฤษฎีดั้งเดิมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Poper, 1959) ในขณะเดียวกัน มักสร้างจินตนาการที่นำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ๆในอนาคต ซึ่งเกิดจากความสงสัยเบื้องต้น ที่มีต่อสิ่งที่ปรากฏ ในปัจจุบันเช่นกัน

ความดื้อรั้นและดันทุรัง

เมื่อมีความคิดในแนวแปลกใหม่แล้ว ย่อมแน่นอนที่ต้องมีความอดทน โดยไม่ย่นย่อต่อการวิจารณ์ใดๆ หรือการปฏิเสธ ไม่ ยอมรับของผู้อื่นในตอนแรก ด้วยการมีความตั้งใจมั่น ในการทำงานให้สำเร็จ อดทนกระทำในสิ่งที่คนปกติเห็นว่า ไม่น่าจะคุ้มค่านัก นักสร้างสรรค์ เมื่อคิดจะทำอะไรแล้ว มักจะลงมือค้นคว้า หรือกระทำ ด้วยความอุตสาหะและพยายาม เพราะมีแรงบันดาลใจแฝงอยู่ภายใน ที่จะต่อต้านกฎเกณฑ์และทัศนคติเก่าๆ ความดื้อรั้น จึงมักเกี่ยวเนื่องกับการไม่ยอมลงรอย หรือคล้อยตามความคิดของผู้อื่น และสภาพสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง สภาพแวดล้อม และ สังคมวัฒนธรรม เพราะความดื้อรั้นและดันทุรัง ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งมักมีส่วนประกอบของเหตุผลส่วนตัว แฝงอยู่ในรูปแบบของความคิด และพฤติกรรมดังกล่าวนั่นเอง

 

การมีอารมณ์ขันและจิตใจเบิกบาน

จากการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กๆ พบว่าเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีอารมณ์ขัน มากกว่ากลุ่มเด็กที่มีความฉลาดหรือ I.Q. สูง (Getzels & Jackson, 1962) อารมณ์ขันเป็นผลของความคิด ที่พิจารณาในทางกลับกันกับความคิดเป็นปกติธรรมดา และสามารถเป็นแรงกระตุ้น ให้นักสร้างสรรค์แสดงออกทางอารมณ์ร่วมกับความคิดได้เต็มที่โดยไม่เสแสร้ง ซึ่งคนปกติธรรมดา อาจมีความเขินอาย หรือไม่กล้าพอที่จะแสดงออกได้เต็มที่ การมีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน เป็นลักษณะ ของการแสดงสภาพจิตใจ ที่ไร้กังวลและความกดดันต่างๆ ความคิดที่ตอบสนอง จึงเป็นลักษณะที่แสดงออกได้ตามธรรมชาติ ทำให้มีความคล่องแคล่วทางความคิด เพราะมีการผสมผสานกับความขี้เล่นปนเปกับความเคร่งขรึม ในการคิดการทำ ลักษณะความคิดอาจมีการจินตนาการ เหมือนเด็ก แต่พฤติกรรมของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ไม่เป็นเช่นเดียวกับเด็ก การโต้แย้งภายในจิตใจ และการแสดงออกทางความคิดในการเสียดสีประชดประชันโดยอารมณ์ขัน เป็นการขัดแย้งต่อทัศนคติเดิมทางสังคมและวัฒนธรรม โดยไม่ก้าวร้าวนั่นเอง

 

 

 

การไม่คล้อยตามความคิดผู้อื่น

การไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ชอบคล้อยตามความคิดเห็นของผู้อื่นเสมอๆ มักเป็นลักษณะของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต่ำ (Cruthefiel, 1962) การมีอารมณ์อ่อนไหวเช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคในการที่จะมุ่งมั่นดำเนินความคิด ให้เป็นไปจนถึงที่สุด คนปกติธรรมดาๆ มักกลัวและ ไม่กล้าเสี่ยงในการแสดงออก ความคิดที่แปลกของตน จึงมักจะทำการใดๆร่วมเป็นกลุ่ม ไม่ชอบทำอะไรโดยอิสระคนเดียว แม้ว่า ลักษณะดังนี้จะมีผลดีเป็นที่ยอมรับของสังคมและหมู่คณะ เพราะเป็นการประนีประนอม ไม่ชอบโต้แย้ง ในทางความคิดกับใครๆ เป็นการง่ายในการเป็นที่ชอบยอมรับของสังคมหรือหมู่คณะ แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้ หมายความว่า ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ จะยึดถือความคิดตัวเองเป็นสำคัญจน สุดโต่งก็หาไม่ หากแต่เป็นผู้ที่มีความสามารถในการสร้างความสมดุลทางความคิดของกลุ่มและตนเองได้ดี ไม่ยึดถือ "ตนเอง" เสมอไป เป็นที่ยอมรับว่า ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะที่พึ่งตนเองเป็นสำคัญ

ความเชื่อมั่นในตนเอง

เพราะเป็นผู้ไม่คอยคล้อยตามผู้อื่นในด้านความคิดเห็น ผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูง จึงมักมีความเชื่อใน ความสามารถของตนเองสูงตามไปด้วย ศิลปินที่มีความสามารถมักเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์และแนวทาง ของชีวิตที่อุทิศให้กับผลงาน ที่ตนเองมุ่งมั่นปรารถนา โดยไม่พะวงในอุปสรรค และความยากลำบากในทางกายภาพ สุขภาพจิตและรายได้ในการดำรงชีพ เหมือนเช่นที่ผู้อื่นคิดและปฏิบัติกัน เขาอุทิศให้เพียงเพื่อความพึงพอใจ ในผลงานที่เป็นเลิศอย่างเดียว โดยปกติแล้ว ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มักเป็นคนที่มีความคิดอิสระ โดย ธรรมดา จึงปรับตัวเองเข้ากับผู้อื่นเช่นปกติได้ยาก เขาสนใจความคิด และพฤติกรรมที่เป็นเอกเทศ และอิสระมากกว่าความเป็นที่นิยมชมชอบ หรือยอมรับจากกลุ่มเพื่อนและคนอื่นๆทั่วไป

เกี่ยวกับบุคลิกภาพของสถาปนิก ได้มีการศึกษาโดยนักจิตวิทยา (McKinnon, 1962) ในกลุ่ม สถาปนิกจำนวน 124 คน โดยแยก สถาปนิก ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จัดเป็นพวกที่มีความคิดสร้าง สรรค์สูง กลาง และต่ำ ตามคำแนะนำในการแยกกลุ่ม โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ในสาขาอาชีพโดยตรง และการพิจารณาผลงานของสถาปนิกเหล่านี้ โดยใช้เกณฑ์คุณภาพ ของความเหมาะสมที่ตอบสนองทางเทคนิค วิทยาการ สุนทรียภาพ ความเกี่ยวข้องต่อสภาพแวดล้อม พฤติกรรมมนุษย์และสังคม ผลการ ค้นคว้าปรากฏว่า กลุ่มสถาปนิก ที่จัดว่ามีความคิดสร้างสรรค์สูง จะมีลักษณะดังนี้ คือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความ สามารถ ในการปรับสภาพความคิดได้ดี มีสภาพความคิดเห็น ทางสังคมตามแง่คิดของตนเอง มีความก้าวร้าว ยึดมั่นตนเองเป็นสำคัญ มีความอิสระทางความคิดไม่คล้อยตามผู้อื่นเสมอไป ความคิดเห็นตรงไปตรงมา แน่นอนและเฉียบขาด ยอมรับสภาพ ของการขัดแย้งและความฉงนสนเท่ห์ได้ดี มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความอดทนในการทำงานที่ยากและลำบาก ชอบการคิดริเริ่มและช่างประดิษฐ์

ในขณะที่กลุ่มสถาปนิกที่มีความคิดสร้างสรรค์ในระดับต่ำกว่า เป็นผู้มีความแตกต่างในลักษณะที่มี ความรับผิดชอบสูงกว่าจริงใจ น่าเชื่อถือ มีความคิดชัดเจน ไม่คลุมเครือ เพราะยึดหลักเหตุและผล เป็นสำคัญ แต่คล้อยตามผู้อื่นได้ง่ายกว่า เพราะมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ในด้านสังคม เป็นผู้มีคุณลักษณะดีกว่า คือ การแต่งกาย สนทนา และรสนิยมดีเหมาะสมกับสภาพสังคมในขณะนั้นๆ

จากผลการศึกษาเรื่องบุคลิกภาพของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวมาแล้วนั้น จะพบว่ามีลักษณะการผสมผสานอยู่ใน ตัวบุคคลทุกๆคน อาจกล่าวได้ว่า โดยธรรมชาติแล้วทุกๆคน ควรมีความคิดในทางสร้างสรรค์สูงแทบทั้งนั้น หากแต่ว่าผลกระทบทางสภาพแวดล้อมและสังคมวัฒนธรรมในการดำรงชีพเป็นอุปสรรคอันหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพความแตกต่างทางพฤติกรรม และความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา

จากการศึกษาของ Torrance (1962) ปรากฏว่าคุณลักษณะของผู้สร้างสรรค์ดังกล่าวไม่ตรงกับคุณสมบัติของนักเรียนที่กลุ่มครูต้องการ จากการวิจัยพบว่าครูอเมริกันส่วนใหญ่ ต้องการนักเรียนที่มีลักษณะสุภาพอ่อนโยน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีอิสระในทางความคิด ตรงต่อเวลา ขยัน จริงใจ เอาใจใส่ที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และมีอารมณ์ขัน แม้ว่าทัศนคติของครูที่สุ่มตัวอย่างมา จะมีความพอใจคุณลักษณะของผู้มีความคิดสร้างสรรค์เป็นแบบผสมผสาน แต่ก็จะมีส่วนที่ขัดแย้งกันอยู่ด้วย เป็นต้นว่า ความอิสระทางความคิด มีคะแนนนิยมค่อนข้างสูง ในขณะที่ความอิสระในการตัดสินใจ (ไม่คล้อยตามความคิดของผู้อื่น) ความกล้าที่จะแสดงออกมีคะแนนค่อนข้างต่ำ ทั้งๆที่คุณลักษณะดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้มีความคิดสร้างสรรค์สูง ความเห็นอกเห็นใจความคิดเห็นของผู้อื่น มีคะแนนนิยมจากครูค่อนข้างสูง แต่กลับปรากฏว่า เด็กนักเรียนที่มีคะแนนการทดสอบความคิดสร้างสรรค์สูงนั้น มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนฝูงได้น้อยกว่าเด็กนักเรียนทั่วไป และเขาเหล่านั้นพอใจในสภาพที่เป็นอยู่มากกว่าที่จะแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับและนิยมของเพื่อนๆ ไม่สนใจความหรูหราฟุ่มเฟื่อยในการแต่งกายหรือสนใจจะเป็นนักกีฬาดีเด่น มีรถยนต์สวยๆ เพื่อให้เป็นที่พอใจของเพศตรงข้าม ในการสัมภาษณ์กลุ่มครูนั้น Torrance ยังพบอีกว่า ครูทั้งหมดพอใจกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีคะแนนทดสอบความคิดสร้างสรรค์ และความฉลาดสูงทั้งสองกลุ่ม แต่เมื่อให้เลือกแล้ว ครูส่วนมากจะเลือกกลุ่มนักเรียนที่มีระดับความฉลาดสูง เพราะมั่นใจว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินอาชีพต่อไป

จากผลการศึกษาและวิจัยของ Torrance นี้ อาจสร้างอุทาหรณ์ได้ว่า ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นิสิตที่มีลักษณะการสร้างสรรค์สูงอาจถูกแบ่งแยกออกไป จากกลุ่มนิสิตทั่วๆไป รวมทั้งอาจารย์ของเขาด้วย ทัศนคติที่แตกต่างกัน ระหว่างอาจารย์ กับนิสิตที่มีความคิดสร้างสรรค์ จะทำให้มีผลกระทบในทางสภาพแวดล้อมของการเรียน กฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยอาจารย์ อาจเป็นอุปสรรคในการเรียน หรือสร้างความสับสน ให้นิสิตดังกล่าวอย่างมาก การละเลยคำสั่ง ไม่เอาใจใส่ สิ่งที่อาจารย์กำหนด เพราะตนเองไม่ยอมรับและเชื่อถือ หรือชอบโต้แย้ง จนกว่าจะเป็นที่เข้าใจก่อนที่จะลงมือปฏิบัติตามคำสั่ง พฤติกรรมดังกล่าว เป็นที่แน่นอนว่า ยากที่อาจารย์ทั่วไปจะยอมรับ และก็จะมีผลกระทบ ในการประเมินผลของวิชานั้นๆด้วย ในทางตรงกันข้าม หากนิสิตเหล่านี้ ได้รับการยอมรับจากอาจารย์ และมีความเข้าใจ ในเรื่องบุคลิกภาพแล้ว อาจทำให้พฤติกรรมของนิสิตดังกล่าว เปลี่ยนไปในลักษณะ ที่จะมุ่งมั่นในการเรียนอย่างหนัก โดยไม่ท้อถอย แม้ว่าเนื้อหาในการเรียน จะยากหรือซับซ้อน เกินปกติธรรมดาก็ตาม ปัญหาของการศึกษา จึงอาจกล่าวได้ว่า ครู หรืออาจารย์ จะประพฤติและปฏิบัติอย่างไร ที่จะไม่ทำตนให้กลายเป็นอุปสรรคอันหนึ่ง ที่จะกีดกันความสามารถของนักเรียนหรือนิสิต ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในสถานศึกษาต่อไปได้

การพัฒนาและอุปสรรคของความคิดสร้างสรรค์

มีเหตุผลทางชีววิทยา พอจะกล่าวได้ว่า ความคิดในการสร้างสรรค์นั้น เจริญไปพร้อมๆกับความเจริญของร่างกาย และจะเจริญ เต็มที่ เมื่อมีอายุ ๑๘-๑๙ ปี ในขณะนั้น สภาพร่างกายในส่วนสำคัญๆ หยุดการเจริญเติบโตพอดี สมมุติฐานนี้ มิได้หมายความว่า เมื่อบุคคลมีอายุเกินช่วงนี้แล้ว จะไม่มีความคิดสร้างสรรค์อีกต่อไป เพียงแต่ให้ข้อสังเกตว่า บุคคลในช่วงอายุดังกล่าว จะมีแนวโน้ม ทางความคิดสร้างสรรค์ หรือความสามารถทางด้านจินตนาการถูกจำกัดลง ในขณะที่ความฉลาดหรือความคิดเชิงเหตุผล เริ่มพัฒนาการขึ้น เป็นการทดแทนเท่านั้นเอง

ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เจริญอย่างสม่ำเสมอ หากแต่ในวัยเด็ก จะมีการพัฒนาการ (ทางด้านจินตนาการ) ได้เร็วกว่าความฉลาด และค่อยๆจำกัดลง เมื่อมีการรับรู้ข้อกำหนดเพิ่มขึ้น จากสังคมและสภาพแวดล้อม และมีการเรียนรู้ในด้านเหตุผลมากยิ่งขึ้น (Griffiths, 1945)

ความคิดเพ้อฝันที่เคยกำหนดพฤติกรรมส่วนใหญ่ของเด็กจะจำกัดเมื่ออายุได้ 4-5ปี ซึ่งขณะนั้นเด็กจะเริ่มเข้าสู่ วัยเรียนในโรงเรียน ความถดถอยทางความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะนี้ อาจถือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ ความผูกพันของชีวิตทางด้านสังคมวัฒนธรรม

แม้ว่าความคิดสร้างสรรค์จะเจริญถึงขีดสุด เมื่อเด็กเริ่มพ้นจากสภาพวัยรุ่น แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวเด็ดขาด เพราะจำเป็นต้องพิจารณาสิ่งประกอบอื่นๆที่มีส่วนในการส่งเสริม หรืออุปสรรคของความคิดเชิงสร้างสรรค์ด้วย เช่น เมื่ออายุได้ 10 ขวบ Louis Braille ได้เริ่มคิดระบบการเขียน และอ่านหนังสือสำหรับคนตาบอด เขาพัฒนาจนสำเร็จเมื่อเขาอายุได้ ๑๕ ปี และ ยังมีการใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ James Hillier สร้างกล้องจุลทัศน์ได้เมื่อเขายังเป็นเด็ก และในช่วงวัยเด็กเช่นเดียวกัน Issac Newton สร้างนาฬิกาน้ำและหุ่นจำลองของกังหันลมได้สำเร็จ และยังดำเนินการค้นพบกฎเกณฑ์ใหม่ๆทางฟิสิกส์ในช่วงอายุต่อๆมา (Cole, 1956) เป็นต้น

สิ่งที่พอสรุปได้ก็คือว่า ผู้มีความคิดสร้างสรรค์นั้นมักผลิตผลงานที่ดีที่สุดในช่วงอายุแรกๆได้ก่อนบุคคลธรรมดา และอาจกล่าวได้ว่า ผลงานที่ผลิตนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อผู้คิดมีอายุเข้าวัยกลางคนหรือแม้แต่วัย ชราก็ตาม ผลงานต่างๆก็ปรากฏว่าไม่ได้ลดหย่อนในคุณค่าเชิงสร้างสรรค์ไปกว่าสิ่งที่กระทำในช่วงอายุแรกๆนัก เช่น ผลงาน ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของ Beethoven หรือ ภาพเขียนที่วิหาร Sistine ของ Michael Angelo เป็นต้น

อุปสรรคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่สำคัญดูเหมือนจะเป็นในแง่ทางสังคมวัฒนธรรม มากกว่าทางด้านชีววิทยา โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดใน 4 ช่วงของระบบการศึกษา ตั้งแต่วัยอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย

ช่วงอนุบาลเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยเรียน ถือว่าเป็นระยะแรกของความโอนเอียงในข้อบังคับทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กที่เคยอยู่ในวัยของการเล่นสนุกสนาน และการสร้างจินตนาการ เปลี่ยนเข้าสู่การคิดสร้างเหตุผล การคล้อยตาม และเลียนแบบ เป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นในการกำหนดพฤติกรรมของเด็ก ทำให้จินตนาการเริ่มลดบทบาทลง จิตสำนึกทางอารมณ์ที่นำความคิด (Preconsciousness) เริ่มถูกแยกแยะออกจากความมีสติสัมปชัญญะ (Consciousness) โดยเด็ดขาด พ่อแม่และครูอาจารย์มีส่วนรับผิดชอบสำคัญที่จะคงสภาพจินตนาการและความเพ้อฝันให้คงอยู่ในส่วนความนึกคิดของเด็กมากหรือน้อยเพียงไร เพราะจินตนาการและความเพ้อฝันนั้น เป็นบริบทสำคัญในการที่จะพัฒนาไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงชีวิตต่อๆไปของเด็ก (Getzels & Jackson, 1962) โดยธรรมชาติของเด็กเองแล้ว ไม่ต้องการที่จะเลิกล้มการสร้างจินตนาการเสมอไป หากแต่ผู้อื่นเป็นผู้สร้างความกดดันให้เด็กเลิกความสนใจ เพียงเพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการให้เขาเป็นเด็กปกติ ที่มีการคิดและปฏิบัติตามสภาพสังคมวัฒธรรมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

ในระดับการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลและต่อๆไป ครูมีบทบาทจากการให้กฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย และการควบคุมความประพฤติ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งอุปสรรคอื่นๆที่เกิดจากเพื่อนๆในโรงเรียนเดียวกัน โดยการสนับสนุนหรือชี้นำลักษณะ ตัวอย่างที่ควรประพฤติปฏิบัติ ครูจะส่งเสริมด้านบุคลิกภาพในลักษณะภาพรวมมากกว่าการยอมรับบุคลิกภาพ ที่เป็นลักษณะอิสระเฉพาะตัวของนักเรียนแต่ละคน

บทบาททางเพศเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่มักกำหนดว่า ผู้อ่อนแอมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและการเป็นผู้ตามเป็นลักษณะของเพศหญิง ความคิดอิสระ การเป็นผู้นำ และความอดทน เป็นลักษณะของเพศชาย เป็นต้น สิ่งดังกล่าวทำให้เด็กๆรักษาค่านิยมนี้ และแยกตัวเองตามบทบาทที่ให้เป็นโดยสภาพทางสังคมวัฒนธรรมต่อๆไป การสนับสนุนการแยกบทบาททางเพศ เป็นสิ่งที่ บั่นทอนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Torrance, 1964)

ในการศึกษาระดับมัธยมศึกษา สิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบทางความคิดมากขึ้น จนแปลงสภาพความคิดในการศึกษาที่เน้น ความ "ถูกต้อง" จากการกำหนดของครูและผลของคะแนนสอบที่สูงๆมากกว่าความนึกคิดโดยแท้จริงของตัวนักเรียนด้วยกัน กลายเป็นความคิดที่เด็กนักเรียนเองไม่แน่ใจว่าจะกระทำได้หรือไม่ การเลือกแขนงการศึกษาและอาชีพในอนาคต เริ่มถูกแทรกแซงและชี้นำหรือกำหนดโดยความเหมาะสมทางเพศในด้านสังคม และที่สำคัญจะต้องได้รับการยอมรับและพอใจ โดยพ่อแม่ของตนเองด้วย

ในระดับมหาวิทยาลัย ความคิดสร้างสรรค์จะมีอุปสรรคมากขึ้น จากเนื้อหาของการศึกษาหรือความรู้เดิมที่สืบทอดกันมา ทฤษฎีและความรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งยากที่นักศึกษาจะได้ทดลองแสวงหาได้เอง จำเป็นต้องคล้อยตามเอกสารและตำราเรียนเก่าๆ นอกเหนือจากความรู้ดั้งเดิมของอาจารย์ด้วย หลักสูตรการศึกษาต่างๆขาดความกล้าเพียงพอที่จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้ตอบสนองความคิดเชิงสร้างสรรค์ได้ยิ่งขึ้น วิชาการใหม่ๆที่น่าจะเกิดขึ้นหรือกำหนดขึ้นเพื่อความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ก็จะต้องให้เป็นลักษณะสากล หรือมิฉะนั้นก็ต้องรอการคล้อยตามประเทศอื่นๆด้วย ระบบการเรียนเป็น หน่วยกิต แปรสภาพให้เป็นไปเพื่อการศึกษา โดยหวังผลของคะแนนสูงๆ ไม่ใช่เป็นเพื่อเพิ่มความสนใจโดยตรงเฉพาะของนักศึกษา ผลการศึกษากลายเป็นเครื่องบั่นทอนให้นักศึกษาขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง ทัศนคติของนักศึกษา จึงกลายสภาพจากการแสวงหาความรู้ที่ตนเองควรหรือต้องการจะมีความรู้นั้นๆ เปลี่ยนไปเป็นเพื่อผลของการจะได้จำนวนหน่วยกิตให้ครบเพียงพอ ที่จะได้รับปริญญาโดยเร็วๆในสุดท้ายของการศึกษาเท่านั้นเอง

อิทธิพลทางสังคมและสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา

ความสัมพันธ์กับครู เพื่อนร่วมชั้นเรียนและสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา มีผลกระทบสำคัญในการเสริมสร้างปรุงแต่ง ทัศนคติและประสบการณ์ และโดยเฉพาะคุณลักษณะและความสามารถในความคิดเชิงสร้างสรรค์

ครู-อาจารย์

ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญในการสนับสนุนหรือกีดกันการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ตลอดจนบุคลิกภาพ และ พฤติกรรมด้วย ในกรณีที่มีทัศนคติ บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมของนักเรียน ไม่เป็นที่ยอมรับของครูแล้ว ย่อมเป็นการแน่นอน ที่จะต้องมีผลกระทบต่อการให้คุณและโทษ ในการประเมินความประพฤติหรือการวัดผลในการเรียนด้วย ครูส่วนใหญ่มักจูงใจให้เด็กนักเรียนเป็นผู้ที่มีความระมัดระวังรอบคอบ ตรงต่อเวลา เชื่อฟังและคล้อยตามได้ง่าย ยอมรับการตัดสินใจโดยอำนาจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เสียสละเพื่อการเป็นที่นิยมชมชอบของเพื่อนฝูง มากกว่าที่จะยอมรับเด็กนักเรียนที่มีบุคลิกภาพที่ กล้าหาญในการยอมรับผิด คิดโดยบอกเหตุผลไม่ได้ เป็นคนชอบเดา มีอารมณ์ก้าวร้าวกับคนอื่นง่ายๆ มีความคิดเป็นอิสระ หรือดื้อรั้นในบางครั้ง ชอบเพ้อฝันสร้างจินตนาการ มองการณ์ไกล ไม่เชื่อฟังผู้อื่นโดยง่าย (Torrance, 1964) ซึ่งลักษณะของนักเรียนประเภทหลัง มักจะเป็นผู้ที่มีคะแนนการทดสอบความคิดเชิงสร้างสรรค์ได้สูงกว่ากลุ่มนักเรียนที่มีบุคลิกภาพตามที่ครูทั่วไปนิยมชมชอบ

เป็นที่แน่นอนว่าระยะเวลาการศึกษา จะทำให้เด็กนักเรียน มีบุคลิกภาพ พฤติกรรม และลักษณะความคิดกลมกลืนผสมผสานไป ในทำนองเดียวกับที่ครูต้องการในที่สุด เพราะทัศนคติของครูจะเป็นเครื่องชี้นำและกำหนดกฎเกณฑ์ในการประเมินผลการเรียนของนักเรียนอย่างแน่นอน และเป็นสิ่งเพิ่มความกดดันให้นักเรียน ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้คล้อยตามในที่สุด

ทัศนคติและความเข้าใจต่อความสำคัญในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ หากไม่เกิดขึ้นในครูหรือผู้มีอำนาจในการบริหารการศึกษาแล้ว ก็เป็นการยากที่เขาเหล่านั้นจะสนับสนุน ชอบผลของการคิดสร้างสรรค์ และยอมรับบุคลิกภาพที่แตกต่างไปจากปกติ Torrance (1964) ได้ค้นพบว่าแม้ครูบางคนจะเข้าใจและยอมรับความสำคัญของการคิดสร้างสรรค์ แต่เขาก็ไม่กล้าที่จะแสดง ออกโดยชัดแจ้ง หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนครูและผู้บริหาร ในแง่สังคมของการศึกษา ถ้าจะสนับสนุนให้มีการ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอย่างจริงจังแล้ว จำเป็นต้องเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้มีอำนาจสูงสุดของสถาน ศึกษา ผู้บริหารการศึกษาต่อไปจนถึงครูผู้สอนและพ่อแม่ของเด็กนักเรียนเองในที่สุด

เพื่อนร่วมชั้นเรียน

กลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรรค์ของนักเรียนอีกพวกหนึ่ง คือ กลุ่มเพื่อนๆของตัวนักเรียนเอง การเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของนักเรียนอาจเนื่องจากการยอมรับการวิจารณ์ของเพื่อนๆ ด้วยความกลัวที่จะไม่มีเพื่อน ทำให้นักเรียนอาจต้อง ปกปิด หรือหลีกเลี่ยงที่จะแสดงออกของความคิดที่แปลกประหลาดหรือแสดงบุคลิกภาพที่เคยเป็นมา และในท้ายที่สุดก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงนี้จะรวมไปถึงทัศนคติในการศึกษา การเลือกวิชาการหรือแขนงวิชาที่สนใจและ ต้องการแท้จริง

รวมทั้งวิธีการเรียนหรือร่วมศึกษาในกลุ่ม จะดำเนินเปลี่ยนไปในลักษณะการคล้อยตามเหมือนๆกัน การแสดงออกทางความคิดและความสามารถ จึงอาจไม่ได้ส่งผลในการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ตามสภาพแท้จริงที่ตนเองเป็นอยู่เดิม

ผลกระทบของเพื่อนชั้นเรียนก็เป็นเช่นเดียวกับครู ความคิดริเริ่มแปลกใหม่ พิสดารและไม่เหมือนใคร อาจไม่เป็นที่ยอมรับและ เข้าใจสำหรับคนอื่น จนทำให้ผู้คิดต้องล้มเลิกเพื่อต้องการให้เป็นที่ย อมรับในกลุ่มเพื่อนฝูง หรือมิฉะนั้นก็แยกตัวเองโดดเดี่ยว มีลักษณะเป็นพวก "นอกคอก" หรือคนกลุ่มน้อยในสถานศึกษาในที่สุด

Torrance et al (1964) สนใจประเด็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติ พฤติกรรม และความรู้สึกต่อกลุ่มเพื่อนๆนักเรียนของตนอย่างไร ผลการศึกษามีข้อสรุปที่น่าสนใจบางประการดังนี้ ในการทดสอบความสามารถ ในการคิดสร้างสรรค์ในลักษณะ การรวมกลุ่ม ผลปรากฏว่า กลุ่มนักเรียนที่มีบุคลิกภาพคล้ายๆกัน จะมีคะแนนทดสอบความคิดสร้างสรรค์สูงกว่ากลุ่มนักเรียน ที่มีบุคลิกภาพต่างกัน และในกรณีเมื่อนำนักเรียนที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สูงไปรวมกลุ่มกับนักเรียนที่มีความฉลาด หรือมีความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างน้อย จะทำให้เขาเหล่านั้นมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ต่ำลงไปด้วย

ในการสังเกตพฤติกรรมของเด็กนักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง เมื่อนำไปรวมกลุ่มกับเด็กนักเรียนปกติธรรมดา จะพบว่าเขาไม่มีความสนุกหรือกระตือรือร้นในการร่วมทำงานอย่างเต็มที่ และจะมีความรู้สึกตึงเครียดมากกว่าเมื่อร่วมทำงานในกลุ่ม นักเรียนที่มีคุณลักษณะเหมือนๆกัน บางคนแสดงความก้าวร้าวต่อกลุ่ม ไม่พอใจเมื่อจำเป็นต้องทำงานเป็นกลุ่ม และรบเร้าที่จะ แยกตัวเองทำงานโดยลำพัง หรือมิฉะนั้นก็ล้มเลิกในการทำงานนั้นๆไปเลย บางคนจะไม่พอใจอย่างมากขึ้น เมื่อต้องร่วมทำงาน กับกลุ่มนักเรียนที่มีระดับการเรียนต่ำกว่าตน บางคนเสดงอาการเฉยเมยเฉื่อยชา ไม่สนใจหรือยินดียินร้ายในการร่วมงาน บาง คนไม่เป็นตัวของตัวเองแปรเปลี่ยนความคิดเห็นไปเรื่อยๆ ทำงานในลักษณะทำผิดๆถูกๆ เลินเล่อ เพียงเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ขณะนั้นเอง บางคนมักแสดงตนเป็นผู้นำทางความคิดเสมอๆ หากไม่เป็นที่ยอมรับ ก็จะไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานอย่างเต็มที่

โดยสรุปเมื่อพิจารณาสถานภาพทางสังคมในหมู่นักเรียนด้วยกันแล้ว Torrance (1962) ได้ให้ข้อสังเกตว่า เด็กที่มีความคิด สร้างสรรค์สูง มักเป็นคนที่มีนิสัยไม่น่ารักและไม่ยินดีด้วย ไม่เอาใจใส่ในการทำงานเป็นกลุ่ม ไม่มีน้ำใจหรือเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนๆ มีทัศนคติไม่ดีกับผู้อื่นเสมอๆ ไม่ยอมรับผู้นำที่ตนเองรู้สึกว่าด้อยความสามารถกว่าตน และเมื่อเป็นผู้นำกลุ่ม ก็ไม่มีความรับผิดชอบในการงาน ชอบทำงานอิสระคนเดียว เมื่อร่วมทำงานเป็นกลุ่มจะทุ่มเทความสามารถในการทำงานน้อย มักวิจารณ์โจมตีการทำงานของผู้อื่นเสมอๆ พยายามแสดงตนเป็นคนมีเหตุมีผลสูง เอาเปรียบเห็นแก่ตัว ไม่เอื้ออาทรใน ความรู้และความสามารถต่อผู้อื่นเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกประหลาดอย่างใดเลย ที่พฤติกรรมและทัศนคติแบบนี้จะไม่เป็นที่ ยอมรับจากครูและเพื่อนๆ เด็กนักเรียนในลักษณะนี้จึงมักจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในสถานศึกษา บางคนที่ไม่สามารถทนแรงกดดัน ให้ปรับเปลี่ยนสภาพของตนเอง ก็จะกลายเป็นพวก "นอกคอก" ในที่สุด เพราะทัศนคติทั่วๆไปในสถานศึกษา เห็นว่า หากมีการสนับสนุนพฤติกรรมในทำนองนี้แล้ว เขาเหล่านั้นจะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานและอาชีพต่อ ไปในอนาคต

บรรยากาศในสถานศึกษาทั่วไป

ในการศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ในสถานศึกษา ส่วนมากพบว่า ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นอุปสรรคและกีดกันการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน Torrance (1965) พบว่าครูและนักเรียน มีความเข้าใจ ไม่ตรงกันในคุณลักษณะของความสามารถในการสร้างสรรค์ Suchman (1961) ได้ตรวจพบว่า นักเรียนขาดอำนาจในการคิด และตัดสินใจโดยตนเอง เพราะระบบการเผด็จการเบ็ดเสร็จและใช้อำนาจของครู พ่อแม่ และการอาศัยเรียนจากตำราเรียนเก่าๆ เป็นสำคัญ ทั้งหมดนี้มีส่วนมากในการขัดเกลาเปลี่ยนแปลงความคิดดั้งเดิมของนักเรียน ข้อมูลใหม่ๆที่นักเรียนเสนอหรือค้นพบ ไม่เป็นที่ยอมรับและนำไปพิจารณาต่อ มักโดนปฏิเสธเสียแต่ในระยะแรกๆของการนำความคิดเสนอ ไม่ได้รับการสนับสนุน ให้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ครูกำหนดไว้ให้ ความคิดนักเรียนจะจำกัดอยู่ในกรอบปฏิบัติที่กำหนดไว้โดยครูและแผนการสอนแต่แรก มักสนับสนุนความคิดในลักษณะคล้อยตามสภาพสังคมในปัจจุบันมากกว่าการปฏิเสธ หรือเปลี่ยนแปลง ไปจากความเชื่อดั้งเดิม Covington (1968) ก็ค้นพบในลักษณะคล้ายๆกับ Suchman ว่า นักเรียนส่วนใหญ่ ไม่มีการเตรียมการ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ขาดความสามารถในการคิดโดยตนเอง ความสามารถนั้น ประเมินโดยความฉลาด ในการจดจำสิ่งที่กำหนดโดยครูผู้สอน ไม่รู้จักการคิดริเริ่มแปลกใหม่ ไม่สามารถกำหนดวางแผน การเรียนได้ด้วยตนเอง และไม่เคยมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนร่วมกับครูได้เลย

ผลกระทบจากวิธีการและการปฏิบัติการสอนของครู จะมีผลอย่างมากในการพัฒนาหรือกีดกันความคิดสร้างสรรค์ ของเด็กนักเรียน มีสมมุติฐานอยู่สองประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ การสร้างทัศนคติในระยะแรกๆจะมีผลต่อการเรียนและ การคิดของนักเรียนในโอกาสต่อๆไป (Hyman, 1960) และวิธีการประเมินผลหรือวิจารณ์ในรูปแบบต่างๆกัน มีผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน (Torrance, 1965)

ในสาขาจิตวิทยามีการค้นพบมานานแล้วว่า พฤติกรรมมนุษย์มีส่วนในการกำหนดโดยทัศนคติ (Attitude) หรือข้อมูลที่บันทึกแน่นอนในจิตใจ (Set) เพราะฉะนั้นเมื่อคนเราได้รับหรือยอมรับคำสอน คำแนะนำใดก็จะบันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้เสมอ และจะตอบสนองทันทีเมื่อมีโอกาส โดยจะประพฤติในแนวทางที่กำหนดโดยข้อมูลที่บันทึกในจิตใจนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็จะ ไม่สนใจหรือละเลยถึงการตอบสนอง เมื่อข้อมูลใหม่หรือปรากฏการณ์ใหม่ๆที่ได้รับไม่เกี่ยวข้องกับข้อบันทึกเดิมที่เคย กำหนดไว้แน่นอนแล้วในจิตใจ สิ่งบันทึกอันแน่นอนในจิตใจ และทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมกับมนุษย์ตลอดชีวิต ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้โดยง่าย การรับรู้ใดๆในสภาพแวดล้อม หรือความเข้าใจในสิ่งต่างๆรอบตัวต้องอาศัย ทัศนคติและข้อมูลเก่าในจิตใจ หรือที่เรียกว่าประสบการณ์ จะผสมผสานในการทำความเข้าใจ และเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ หากประสบการณ์เก่ามีขีดจำกัดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆแล้ว โอกาสในการยอมรับในสิ่งใหม่หรือเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ เดิมก็เป็นไปได้โดยยาก

การกำหนดขีดจำกัดของความคิดโดยสิ่งนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมทางการศึกษา คำสอนแนะนำตักเตือนของครู เป็นสิ่งสำคัญกำหนดให้นักเรียนได้เรียนรู้ ตอบสนอง และประเมินความรู้ เข้าใจในเรื่องต่างๆในการศึกษาโดยตลอดมา สิ่งเหล่านี้ถูกประมวลไว้ในการสร้างทัศนคติและข้อมูลบันทึกขั้นพื้นฐานในการกำหนดความคิด Torrance (1965) ได้ค้นพบว่า อุปสรรคในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน ส่วนหนึ่งมาจาก ลักษณะการวิจารณ์ หรือประเมินผลของครู ครูส่วนมากเน้นการวิจารณ์นักเรียนในลักษณะการตำหนิ แทนที่จะชมเชยหรือเสนอแนะสิ่งที่ดีตามแนวคิดเดิมของนักเรียน การกระทำของครูกลายเป็นส่วนบันทึกแน่นอนในจิตใจของนักเรียน กลายเป็นการสร้างทัศนคติในทางไม่ดีต่อสิ่งที่พบเห็น Torrance ได้สรุปว่า ถ้าครูให้คำวิจารณ์นักเรียนในแง่การสร้างสรรค์ เช่น โดยการชมเชย แนะนำ สนับสนุน ให้ปรับปรุงความคิดของ นักเรียนเองเป็นสำคัญ แทนการตำหนิติเตียนก่อนการทดสอบความคิดสร้างสรรค์แล้ว ผลปรากฏในการทดสอบต่อมา ปรากฏว่า กลุ่มเด็กที่ได้รับคำแนะนำเชิงสนับสนุน ชมเชย จะมีผลทางความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่ากลุ่มเด็กที่ได้รับการวิจารณ์เชิงติเตียน ก่อนทำการทดสอบ

ผลการทดลองนี้ ย่อมแสดงว่า สิ่งบันทึกแน่นอนในจิตใจของเด็กที่ได้รับในระยะก่อนหน้านั้น จะมีผลต่อความคิดและการเรียนของนักเรียนในระยะต่อมา Hyman (1962) ได้ทำการทดลองในลักษณะเดียวกันกับวิศวกร และนักศึกษาทางวิศวกรรมในการคิดสร้างสรรค์ ผลปรากฏออกมาในลักษณะเดียวกัน ยืนยันว่าทัศนะคติและข้อมูลที่ยอมรับกลายเป็น สิ่งบันทึกในจิตใจของเราแล้ว และจะมีผลกระทบต่อข้อมูลใหม่ในการคิดการทำในระยะต่อมาเสมอ

ในการทดสอบเกี่ยวกับสถาปนิกในทางปฏิบัติ ก็มีการค้นพบทำนองเดียวกันว่า เมื่อสถาปนิกยอมรับข้อมูลในการออกแบบไว้ แน่นอนจนพอใจแล้ว เขาเหล่านั้นจะปฏิเสธหรือยอมรับข้อมูลใหม่ๆได้โดยง่าย ไม่ว่าข้อมูลใหม่นี้จะมีความถูกต้องกว่าข้อมูล เดิมเพียงใดก็ตาม หากข้อมูลใหม่เหล่านั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับข้อมูลเดิมที่ยอมรับมาก่อน (Nanagara, 1983) เป็นที่น่าสังเกตุว่าการยอมรับผลการแก้ปัญหาในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นเรื่องของทัศนคติของความพอใจมาก หรือน้อยเพียงใดเป็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องความถูกหรือผิด เหมือนผลการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เพราะฉะนั้นความพอใจในการ แก้ปัญหาจากผลงานเดิมหรือวิธีการเดิม หรือการเสี้ยมสอนมาจากผลการศึกษาก็ตาม จึงมักจะเป็นสิ่งบันทึกแน่นอน ในจิตใจของสถาปนิก (Preconceptions) และจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการกำหนดผลการแก้ปัญหาและวิธีการออกแบบ ในสถานการณ์ใหม่ๆเสมอ ข้อเสียของสิ่งนี้ คือ จะเป็นอุปสรรคสำคัญอันหนึ่งในการสร้างการริเริ่มความคิดสร้างสรรค์ใน งานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกในโอกาสต่อๆไป

กลุ่มผู้บริหารหรือครูใหญ่ของโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย มีบทบาทสำคัญในการจะช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการเรียนการสอน ในเชิงสร้างสรรค์ สำหรับครูและนักเรียน อำนาจ ตำแหน่งและความมีหน้ามีตาในสังคมจะมีผลกระทบสำคัญในการ ที่จะตัดสินใจว่า ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนสำคัญหรือไม่ ในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน ปัญหาสำคัญ คือผู้บริหาร หรือครูใหญ่ จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนต้องการ และสร้างจิตสำนึกในการทำงานร่วมกันในแนวทางเดียวกับ บรรดาครูได้อย่างไร คุณลักษณะของหัวหน้าบริหารหรือครูใหญ่ของโรงเรียน เสนอแนะโดยผลการศึกษาของ Torrance (1961, 1962) มีดังนี้

เกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอน Torrance et al (1961) ได้ค้นพบว่า จากการฝึกอบรมครูในเรื่องวิธีการสอนโดยเน้นหลัก 5 ประการ ในการสอนเพื่อให้เกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์ คือ

  1. ยอมรับคำถามของนักเรียน และสนองตอบด้วยความเต็มใจ
  2. สนับสนุนการคิดค้นจินตนาการ
  3. แสดงให้นักเรียนประจักษ์ถึงคุณค่าทางความคิดใหม่ๆของเขา
  4. ให้โอกาสนักเรียนนำความคิดไปสู่การปฏิบัติโดยไม่ประเมินผลหรือวิจารณ์แต่ประการใด
  5. ยึดหลักการประเมินผลโดยเหตุ และข้อตกลงในสิ่งที่กระทำกันขึ้นก่อนระหว่างครูและนักเรียน

จากการทดลอง ปรากฏผลว่า กลุ่มนักเรียนที่สอนโดยเน้นวิธีการดังกล่าวเป็นเวลา 4 สัปดาห์ สามารถทำคะแนนทดสอบความ คิดสร้างสรรค์ ได้ดีกว่าเมื่อเขาเหล่านั้นได้รับการอบรมด้วยวิธีการสอนอย่างเดิม โดยการทดสอบก่อนและหลังจากการสอน ด้วยวิธีการใหม่นี้ คะแนนที่พัฒนาอย่างมาก คือความคิดริเริ่ม ความรอบคอบพิถีพิถัน ความคล่องแคล่วทางการคิด และความ สามารถในการปรับสภาพความคิด

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคใหม่ในการสอน หรือฝึกความคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้นว่า Arcturus IV โดยศาสตราจารย์ Arnold แห่งมหาวิทยาลัย M.I.T. ซึ่งเน้นการฝึกหัดในการขจัดขบวนการความคิดเดิมที่กลายเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา ในสถานการณ์ใหม่ กระตุ้นความคิดในลักษณะประสบการณ์ การจัดระบบและวิธีการคิดใหม่ๆ Metaphor เป็นวิธีการสอน ซึ่งพัฒนาจาก Synectics โดยศาสตราจารย์ Gordon ซึ่งใช้การอุปมาอุปมัยในลักษณะต่างๆกัน เป็นการนำปัญหาที่ต้องขบคิด ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แม้จะดูเหมือนว่าเข้ากันไม่ได้ก็ตาม เพื่อให้การมองปัญหาที่ซับซ้อนยุ่งยาก เป็นของง่ายๆ อันทำให้ได้แนวทางความคิดไปสู่การแก้ปัญหาในที่สุด และแนวทางการสอนและเรียนรู้โดยศาสตราจารย์ Skinner โดยการพัฒนาในลักษณะของโปรแกรมการสอน และใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องช่วยการสอน จุดประสงค์การสอน ในทำนองวิธีการเครื่องกลนี้ เพื่อช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และได้เนื้อหาครบถ้วนโดยตลอด ซึ่งโดยวิธีการเดิมแล้ว เป็นลักษณะเชื่องช้าได้เนื้อหาไม่สมบูรณ์ และเสียเวลาและกำลังกายทั้งครูและนักเรียน ทุกวิธีการเหล่านี้ถูกพัฒนาเพื่อเน้นการคิดเชิงสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

บทสรุป

จากเนื้อหาที่ได้รวบรวมมาจากการค้นคว้า โดยนักจิตวิทยาและนักการศึกษาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ในแง่บุคลิกภาพ และอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่ากลุ่มผู้ที่ถูกศึกษาทดลองส่วนใหญ่จะเป็น เด็กนักเรียน และครู ซึ่งอยู่ในระดับการศึกษาต้นๆก็ตาม หากนำมาเป็นอุทาหรณ์ เปรียบเทียบกับสภาพแวดล้อมของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว ก็น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ได้บ้าง ยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจนำไปสู่แนวทางการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เป็นประเด็นเฉพาะของนิสิตและอาจารย์ในคณะนี้ ผลที่ได้รับก็ย่อมจะอธิบายได้ละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้น เรื่องการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากในการศึกษาวิจัย และลำบากต่อการสร้างทฤษฎีที่แน่นอน จำเป็นต้องมีการกระทำต่อเนื่องโดยไม่มีการสิ้นสุด ผลที่ได้จากการศึกษา แม้ว่าจะถือเป็นเกณฑ์ตายตัวไม่ได้เสมอไปก็ตาม แต่ก็ต้องมีประโยชน์ในการรับรู้เพื่อผลการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในการสร้างแนวทางการเรียนการสอนของแต่ละบุคคลให้ได้ดียิ่งขึ้น

การศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เน้นความสำคัญความคิดสร้างสรรค์มาโดยตลอด จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่ตลอดเวลาของการพัฒนาการศึกษาในคณะนี้ เราได้เอาใจใส่และปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนเพื่อผล ดังกล่าวได้อย่างมีระบบและระเบียบแบบแผนเพียงไร เรามีความเข้าใจเรื่องการคิดสร้างสรรค์ตรงกันหรือไม่ หรือแตกต่างกันเช่นไร เทคนิคที่ใช้ในการเรียนการสอนนั้น น่าเชื่อถือเพียงไรว่าจะช่วยในการพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนิสิตให้ดีขึ้น หรือว่าเป็นอุปสรรค ที่จะบั่นทอนความสามารถเดิมของบุคคลให้ลดน้อยลงไปหรือไม่ คำตอบสำหรับ ข้อสงสัยเหล่านี้ ย่อมจะต้องนำไปสู่การรับรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในเรื่องนี้อย่างแน่นอน จะโดยการศึกษาด้วยตนเองหรือเรียนรู้จากการศึกษาของผู้อื่นก็ตาม

บรรณานุกรม

หมายเหตุ... บทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วใน...วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๐ ฉบับที่ ๑