ความคิดสร้างสรรค์ กับ วิธีการพัฒนาของ SYNECTICS

SYNECTICS เป็นคำในภาษากรีก หมายถึง การรวมกันของสิ่งที่แตก ต่างและมีลักษณะที่ ไม่น่าจะเข้ากันได้ ทฤษฎีของ SYNECTICS เป็นทฤษฎีทางวิธีการ มุ่งที่จะรวมบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ทั้งบุคลิกภาพ และความคิด เพื่อร่วมกันกำหนดปัญหาและแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ เป็นทฤษฎีเชิงปฏิบัติการ ที่นำกลไกทางจิตวิทยาที่ซ่อนเร้นทางความคิด (Preconcious thought) มาใช้ในทางความคิดสร้างสรรค์ จุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาความสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความนี้ เป็นการนำเสนอทฤษฎีตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาขบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ ของกลุ่มนักวิชาการที่เรียกว่า กลุ่ม SYNECTICS โดยมีศาสตราจารย์ William J.J. Gordon จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเป็นผู้นำกลุ่ม และได้เสนอรายงานผลการศึกษาวิจัยนี้ ไว้ในหนังสือชื่อ SYNECTICS: The Development of Creative Capacity (1961) มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสรุป และเลือกประเด็นที่สำคัญมาเสนอ ให้พอเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความคิดเชิงเหตุผล

การค้นคว้าวิจัยของกลุ่ม SYNECTICS อาศัยการคาดการณ์ จากความเชื่อในเบื้องต้น คือ

  1. ขบวนการความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ สามารถอธิบายเนื้อหาอย่างชัดเจนได้ และผลจะสามารถ นำไปใช้ในการสอนด้านวิธีการ เพื่อพัฒนาการคิดสร้างสรรค์สำหรับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลได้
  2. ในการประดิษฐ์ หรือคิดค้นทางสร้างสรรค์ ทั้งทางศิลปะและวิทยาศาสตร์ จะมีวิธีการ หรือ ลักษณะของขบวนการคิด อยู่บนพื้นฐานของขบวนการทางจิตใจเช่นเดียวกัน
  3. ขบวนการคิดสร้างสรรค์ ของส่วนบุคคลในการแก้ปัญหาต่างๆ จะไม่เป็นอุปสรรค หรือลดน้อยใดๆ เมื่อร่วมกันแก้ปัญหาด้วยกันเป็นกลุ่มบุคคล

จากการคาดการณ์นี้ ทำให้ SYNECTICS เป็นทฤษฎีเชิงโต้แย้งกับทฤษฎีอื่นๆ ที่เน้นว่า ขบวนการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เป็นเรื่องลึกลับ อธิบายไม่ได้ และความพยายามที่จะวิเคราะห์ ฝึกฝนจินตนาการ หรือเน้นความสามารถ ที่ซ่อนเร้นในจิตใจของผู้เรียนโดยตรง เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์นั้น จะมีผลเสีย และบั่นทอนการคิดสร้างสรรค์ของเขาเหล่านั้นได้ ในทางตรงกันข้าม SYNECTICS กลับเน้นการค้นคว้าขบวนการนี้ให้แจ้ง ซึ่งจะส่งผลให้ได้ข้อเสนอ หรือสมมติฐานต่างๆในเชิงปฏิบัติ เพื่อสามารถนำไปใช้ ในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้บังเกิดผลงานทางสร้างสรรค์ของบุคคลและกลุ่มได้

งานค้นคว้าวิจัยของกลุ่ม SYNECTICS นี้มีจุดประสงค์สำคัญที่จะพยายามอธิบาย และชี้ชัดถึงกลไกของความรู้แจ้งส่วนหนึ่งที่เร้นลับ (Intuitive Insight) ด้วยขบวนการวิพากษ์เชิงเหตุผล โดยการสังเกตการณ์ และการทดลองในสถานการณ์จำลอง การทดลองมีกระทำในหลายลักษณะ ทั้งกลุ่มจิตรกรในสาขาศิลปะ และกลุ่มวิศวกรทางด้านเทคโนโลยี โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อค้นหากลไกทางจิตวิทยา ที่เป็นรากฐานของการคิดและกระทำเชิงสร้างสรรค์ การทดลองที่เรียกว่าโครงการ The Rock Pool Experiment นับว่าน่าสนใจ เพราะลักษณะอาชีพของผู้ทดลอง มีความคล้ายคลึงกับสถาปนิก คือกลุ่มจิตกร ที่นำมาร่วมการฝึกอบรมโดยวิธีการ SYNECTICS กระทำตลอดช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนปี ค.ศ.1948 การสังเกตการณ์กระทำตั้งแต่การเริ่มต้นการอยู่ร่วมกัน การปรับปรุง ซ่อมแซมที่พักอาศัยด้วยกัน สิ่งนี้เป็นการสร้างบรรยากาศความคุ้นเคยของกันและกัน มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของพฤติกรรมแต่ละคน ทัศนะคติและความคิดเห็น ที่ได้จากการ สนทนาระหว่างกัน ตลอดจนการกระทำในรูปการทดลองปฏิบัติการณ์ ข้อมูลที่ได้รับนำไปประมวลเพื่อค้นหา และทำข้อสรุปความเข้าใจของเงื่อนไข ในแง่ต่างๆทางจิตวิทยาและสถานะภาพทางจิต ซึ่งจะชี้นำไป สู่ความเข้าใจของขบวนการคิดสร้างสรรค์ ในแง่การสรุปผลการค้นคว้า สิ่งที่น่าสนใจของวิธีการอบรมของSYNECTICS คือผลสัมฤทธิ์ของผู้ที่ผ่านการอบรมในโครงการ The Rock Pool Experiment นี้ มีผลงาน เมื่อนำส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลที่มีชื่อเสียงต่างๆมากมาย เช่น Tiffany prize สำหรับงานภาพเขียน เป็นต้น การอบรม โดยทฤษฎี SYNECTICS ได้กระทำกับกลุ่มนักแก้ปัญหาต่างๆอีกมาก ซึ่งเขาเหล่านี้ เมื่อกลับไปทำงานในบริษัทของตนเอง ปรากฏว่า มีประสิทธิภาพการทำงาน และประสพความสำเร็จเพิ่มขึ้น ที่สำคัญ คือผลการค้นคว้าของ SYNECTICS ได้นำไปประยุกต์ใช้ทางการศึกษาอย่างได้ผล ในหลายระดับ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงการศึกษาของชาวอเมริกันจนถึงปัจจุบัน

 

ความเป็นมาของทฤษฎี Synectics

จุดมุ่งหมายของการค้นคว้าของกลุ่ม SYNECTICS เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 เพื่อค้นหากลไกทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดเชิงสร้างสรรค์ เนื้อหาของการค้นคว้าเน้นสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ จากกลไกทางจิตวิทยานั้น ด้วยการทดสอบความน่าเชื่อถือ ในการกำหนดปัญหา และการแก้ปัญหา ในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะการร่วมกระทำเป็นกลุ่มบุคคล ซึ่งการค้นคว้าแต่เดิม มักเน้นความคิดสร้างสรรค์ เป็นความ สามารถ เฉพาะตัวและส่วนบุคคล กลุ่ม SYNECTICS กลับเชื่อว่า ถ้านำผู้มีความสามารถ ทางการคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว มาร่วมกันแก้ปัญหา ก็ย่อมที่จะกำหนดปัญหาต่างๆได้รอบคอบยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็สามารถเสนอ ผลการแก้ปัญหาได้ดีเช่นเดียวกันด้วย เพราะการรวมกันจะเป็นการกระตุ้นให้แต่ละคน เสนอความคิดโดยการพูด และแสดงความรู้สึกทางอารมณ์อย่างเปิดเผยต่อปัญหา ที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น และยิ่งการรวมกลุ่มบุคคล มาจากหลายอาชีพ และหลากหลายในประสบการณ์ จึงทำให้มีการกำหนดปัญหาได้อย่างจะแจ้ง และมีการวิเคราะห์ได้อย่างถี่ถ้วน ซึ่งย่อมจะให้ผลการแก้ปัญหา มีคุณภาพดีกว่าการปฏิบัติตามลำพังในแต่ละบุคคล

ในอีกประเด็นของการคิดกันเป็นกลุ่ม จะทำให้เกิดแนวทาง การพิจารณาปัญหาในแนวแปลก และใหม่ต่อปัญหาเดิม เป็นการเพิ่มโอกาสในการหลีกเลี่ยง การกำหนด และแก้ปัญหาตามความเคยชิน และโดยการยึดถือตัวเองเป็นสำคัญ วัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มบุคคล แตกต่างทางบุคลิกภาพ ต่างสาขาวิชาชีพ และต่างประสบการณ์ ย่อมจะสอดคล้องกับปรากฏการณ์ของการแก้ปัญหา ที่ว่า ผลลัพธ์ที่ดีเด่นในการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากใดๆ คือ คำตอบ หรือผลลัพธ์ที่ง่ายๆ แต่มีผลตอบสนองต่อปริมาณและชนิดของตัวแปรที่ซับซ้อนทั้งหมดของปัญหานั้นๆได้ หรือ เขียนเป็นสมการได้ดังนี้คือ


ผลลัพธ์ที่ดีเชิงสร้างสรรค์

=

ปริมาณและชนิดตัวแปรที่ซับซ้อนของปัญหา

ความง่ายของผลลัพธ์ที่ได้มา

กล่าวคือ ความยุ่งยากของปัญหาที่เกิดจากปริมาณและชนิดของตัวแปร ซึ่งสิ่งนี้ย่อมสามารถทดแทนโดยตรงต่อความสามารถในการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน สำหรับการได้มาของผลลัพธ์อย่างง่ายๆในทางปฏิบัติ หรือแนวคิดในการแก้ปัญหา ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติต่อไปนั้น คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากการที่นำแนวคิดของสมาชิกกลุ่ม มาประมวลสรุปสุดท้าย จากทฤษฎี SYNECTICS ที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ที่ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีเด่นนั้น ขึ้นอยู่กับความหลากหลายของ ความชำนาญความรู้ และประสบการณ์ที่น่าสนใจของแต่ละบุคคล ผลทางปฏิบัติ ของความคิดสร้างสรรค์ ย่อมบังเกิดขึ้นบนพื้นฐานและมรรควิธีเดียวกันในทุกสาขาวิชาชีพ เกณฑ์ในการรวมกลุ่มบุคคลนั้น เน้นลักษณะหนหลังทางอารมณ์ เป็นสิ่งสำคัญกว่าทางด้านสติปัญญา เพราะกลไกทางอารมณ์นั้น จะเกิดปฏิกิริยาโดยตรงได้รวดเร็วและง่ายเมื่อเผชิญต่อปัญหาทันทีทันใด

ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ทั้งในด้านการปฏิบัติทางวิชาชีพ และการเรียนวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม การกำหนดแนวความคิดหรือปัญหาในการออกแบบ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะส่งผลให้ผลงานการออกแบบ มีคุณภาพและความแตกต่างกันและกัน การนำเสนอแนวความคิดในการออกแบบ มักเกิดจากการกระทำโดยลำพังบุคคล จึงทำให้การนำเสนอทางปฏิบัติของงานออกแบบ มีผลของการแก้ปัญหาในการออกแบบ ไม่มีความหลากหลายครบถ้วน และแตกต่างจากการกระทำแต่เดิมมา หรือกล่าวโดยสรุปว่า ไม่ก่อให้เกิดผลงานในแง่ความแปลกใหม่ หรือมีผลงานเชิงสร้างสรรค์ในลักษณะผลรวม การปฏิบัติ กระทำเพียงการกำหนด หรือค้นหารูปทรงใหม่แค่ผิวเปลือกภายนอกของอาคารแต่อย่างเดียว คุณค่าอื่นไม่มีผลลัพธ์ที่ดีเด่น เพราะประสบการณ์ และวิธีการปฏิบัติที่มีและกระทำอยู่นั้น ไม่สามารถตอบสนอง ต่อปัญหาที่ซับซ้อน ในการออกแบบของสถานการณ์ปัจจุบันได้พอเพียง จำเป็นต้องมีการพัฒนาวิธีการคิดให้ทันต่อเหตุการณ์

ลองสมมติว่า มีการนำทฤษฎี SYNECTICS มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในขั้นตอน ของการกำหนดแนวความคิด หรือแนวทางการแก้ปัญหาการออกแบบที่เผชิญอยู่ ผลของแนวความคิด ของแต่ละโครงการออกแบบ ที่ได้รับโดยทฤษฎี SYNECTICS นี้ ย่อมจะมีจำนวน และความหลากหลายเกิดขึ้นมากมาย เพราะจากบุคคลหลายคนที่รวมกันเป็นกลุ่ม มีความอิสระทั้งทางอารมณ์และการกระตือรือร้น ต่อปัญหาเดียวกัน

การร่วมกันเสนอแนวความคิดที่ ปลอดจากการวิจารณ์ หรือโต้แย้งในแง่เหตุผล และทางปฏิบัติก่อนล่วงหน้า (ซึ่งการวิจารณ์หรือโต้แย้งผู้อื่นในทันทีนั้น จะทำให้ผู้ร่วมทีมขาดการสนองตอบทางอารมณ์ ความอิสระ และความกระตือรือร้น ต่อปัญหาได้อย่างเต็มที่) และผลที่ได้มาซึ่งแนวความคิดในการออกแบบ หรือการกำหนดปัญหาในการออกแบบ ได้หลากหลายและมากมายนี้

ซึ่งเมื่อนำมาประมวลรวมกันในภายหลัง ย่อมจะมีผลสรุปของแนวความคิดในการออกแบบ ได้ถี่ถ้วน รอบคอบ มากมาย และมีความแปลกแยก เป็นต้น ซึ่งเมื่อนำไปปรับปรุง ไตร่ตรอง ในแง่การปฏิบัติ ย่อมจะบรรลุผลของงานออกแบบในเชิงสร้างสรรค์ ได้ดี และแน่นอนกว่า วิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์ที่กระทำลำพังส่วนบุคคล เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

และตามความเชื่อแต่เดิมตั้งแต่ในศตวรรษที่19 ที่ว่าความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่เกิดต่องานด้านศิลปะ และงานกวีอย่างเดียว เกิดขึ้นโดยลำพังและเฉพาะเป็นพิเศษตามพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล สอนกันไม่ได้ และการอธิบายความคิดดังกล่าวเป็นขบวนการก็เป็นไปไม่ได้ และถ้าพยายามกระทำเพื่อการพัฒนาความคิดนี้แล้ว จะส่งผลทางการบั่นทอนทางความคิดเป็นอุปสรรคอย่างแน่นอน ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นการขัดแย้งอย่างชัดเจนต่อวัตถุประสงค์อันหนึ่ง ในการศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เน้นการสอนและการเรียน หรือคิดค้นวิธีการเพื่อที่จะพัฒนาการผลิตบัณฑิตให้เป็นสถาปนิกที่มีความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

สมมติฐานที่ได้รับจากผลการค้นคว้าของกลุ่ม SYNECTICS พอสรุปได้ดังนี้คือ

  1. ประสิทธิภาพทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ สามารถเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถ้าเขาเหล่านั้นมีความเข้าใจขบวนการทางจิตวิทยาที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น
  2. ในขบวนการคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบความคิดทางอารมณ์มีความสำคัญมากกว่าทางสติปัญญาของความฉลาดเชิงเหตุผล
  3. องค์ประกอบความคิดทางอารมณ์ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลนี้ ซึ่งเมื่อมีการทำ ความเข้าใจอย่างมีระบบแล้ว ย่อมสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ขบวนการแก้ปัญหาที่สร้างผลสำเร็จในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นๆได้

ขบวนการและกลไกทางจิตวิทยาของ ความคิดสร้างสรรค์

ขบวนการแก้ปัญหาใดๆ ก่อนที่จะบรรลุผลในการได้มาซึ่งคำตอบ จำเป็นที่ผู้แก้ปัญหานั้นๆ จะต้องกำหนด ปัญหาให้ชัดเจน หรือทำความเข้าใจปัญหาให้ถ่องแท้เสียก่อน การกำหนดปัญหาและทำความเข้าใจปัญหานั้น ใช้ขบวนการของความคิด ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การวิเคราะห์ปัญหา การวิเคราะห์มีความชัดเจนเท่าใด ก็จะทำให้มีผลในการได้รับคำตอบได้เร็วขึ้นเท่านั้น กลไกทางจิตวิทยาของความคิด เพื่อการกำหนดปัญหา หรือ ทำความเข้าใจปัญหานี้ กลุ่ม SYNECTICS ได้เสนอขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหาเชิงจิตวิทยาไว้ 2 ขั้นตอนคือ

    1. ทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย
    2. ทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก

การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย ก็คือการทำความเข้าใจต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นั่นเอง นี่คือขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญของการวิเคราะห์ปัญหา ปัญหาที่มีความ "แปลก" คือปัญหาที่ผู้แก้ ยังไม่มีความเข้าใจปัญหาหรือทราบจุดมุ่งหมายของการแก้ปัญหา และไม่สามารถคิดหาคำตอบได้ขณะนั้น กลไกทางธรรมชาติของความคิด ก็คือความพยายามของผู้แก้ปัญหา ที่จะทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย โดยการวิเคราะห์ หรือแยกแยะปัญหา เพื่อที่จะเชื่อมโยงปัญหา หรือส่วนของปัญหานั้น ให้มีความสัมพันธ์กับคำตอบ หรือปัญหาที่ผู้แก้ มีประสบการณ์เดิมที่คล้ายคลึงมาในอดีต กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้แก้ปัญหาพยายาม ที่จะกำหนดการเปรียบเทียบขึ้นในความคิด ระหว่างปัญหานั้นๆ กับข้อมูลเดิมที่เคยสะสมมาในอดีต โดยธรรมชาติของความคิด ผู้แก้ปัญหาจะมี "อคติ" ในการแยกแยะ หรือ ตีความหมายของปัญหา เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจต่อปัญหาเสียใหม่ หรือทำให้เกิดความคุ้นเคยนั่นเอง แต่ถ้าขบวนการความคิดในการวิเคราะห์ปัญหา หยุดลงเพียงขั้นตอนนี้ ผลของคำตอบที่ได้รับ ก็เป็นเพียงการเสนอคำตอบจากประสบการณ์เดิมสำหรับปัญหาใหม่ ซึ่งไม่เป็นการคิดสร้างสรรค์แต่อย่างไร และอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม ต่อสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยซ้ำไป

การทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก

เพื่อจะให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ หรือคำตอบเชิงสร้างสรรค์ กลุ่ม SYNECTICS ค้นพบว่าการทำความคุ้นเคยต่อปัญหาอย่างเดียวไม่พอเพียง จำเป็นต้องมองปัญหาในแนวใหม่ด้วย นั่นก็คือ ขั้นตอนความคิดต่อไป ผู้แก้ปัญหาต้องทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก โดยการบ่ายเบี่ยงการมองปัญหาไปจากความเคยชิน หรือมองปัญหาโดยสามัญสำนึกอย่างคนธรรมดาหรือต่างอาชีพกัน เช่น นักปติมากร มองต้นไม้เป็นกลุ่มของช่องว่างที่อากาศผ่านทะลุได้ สถาปนิกมองอาคารที่ตนออกแบบ เหมือนกลุ่มดอกลิลลี่ (แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์) มองหลังคาโบสถ์ เหมือนกระดองปู (เลอร์ คอบูซิเออร์) หรือมองอาคารเหมือนเรือใบ ที่แล่นในมหาสมุทร (จอน อุทซอน) เป็นต้น

การกลับไปมองปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลกนี้ ถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้น ที่ทำให้ได้คำตอบ หรือผลลัพธ์ของความคิดเชิงสร้างสรรค์ การกำหนดความคิดในการแก้ปัญหาเริ่มแรก ให้เป็นไปตามกลไกทางจิตวิทยาโดยธรรมชาติ (ทำปัญหาแปลกให้คุ้นเคย) แล้วเปลี่ยนกลับ การกำหนด ความคิด ให้ผิดธรรมชาติ (ทำปัญหาคุ้นเคยให้แปลก) นี้ กลุ่ม SYNECTICS ได้ใช้เป็นหลักการในการทดลอง การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างได้ผลมาแล้วในการค้นคว้าวิจัย โดยเฉพาะการกำหนดขั้นตอนที่สองนี้ คือทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก จะเป็นการเพิ่ม ความกล้า ความท้าทาย ความเสี่ยง หรือแม้แต่ความฉงนสนเท่ห์ เป็นการมองหรือเผชิญปัญหา และแก้ปัญหาในแนวทางใหม่ แทนความเคยชินแต่เดิม หรือกฎเกณฑ์ ที่เป็นอยู่เช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญส่วนหนึ่งของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์

กลไกทางความคิดที่สำคัญในการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก คือ "การอุปมาอุปไมย" หรือ Analogy กลุ่ม SYNECTICS กำหนดการอุปมาอุปไมยไว้ 4 ลักษณะในการเปรียบเทียบ ซึ่งถือว่าเป็นเนื้อหาการค้นคว้าสำคัญ ของวิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์ คือ

  1. การอุปมาอุปไมยโดยอิงตัวเอง (Personal Analogy)
  2. การอุปมาอุปไมยโดยตรง (Direct Analogy)
  3. การอุปมาอุปไมยโดยอิงบัญญัติ (Symbolic Analogy)
  4. การอุปมาอุปไมยโดยอิงการเพ้อฝัน (Fantasy Analogy)

PERSONAL ANALOGY

การกำหนดตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยนักวิทยาศาสตร์อาจสมมุติตัวเองเป็นส่วนของสสาร หรือองค์ประกอบของพลังงาน สถาปนิกมักสมมุติตัวเองเป็นผู้อยู่อาศัย หรือผู้ชื่นชมอาคารที่ตัวเองกำลังออกแบบอยู่ การเปรียบเทียบ โดยการอิงตัวเองเกี่ยวข้องกับปัญหานั้น จะทำให้ผู้แก้ปัญหา สามารถสร้างความอิสระทางความคิด ในการวิเคราะห์ปัญหา แตกต่างจากที่เคยปฏิบัติมาแล้ว การค้นพบองค์ประกอบ ทางโมเลกุลของน้ำมันเบนซิน ครั้งแรกของ Kikule ก็โดยการที่เขาอุปมาอุปไมยตัวเอง เป็นงูที่กำลังกินปลายหางของตัวเอง ทำให้เกิดความคิดที่ถูกต้องว่า โมเลกุลของเบนซินนั้น มีการรวมกลุ่มของอะตอมคาร์บอน เป็นลักษณะวงแหวน แทนที่จะเป็นในลักษณะการต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ John Keats เปิดเผยงานประพันธ์ Endymion ที่มีชื่อเสียงของเขาว่า เป็นเพราะเขาอุปมาอุปไมยตัวเองแช่อยู่ในทะเล แล้วโผล่คออันยาวขึ้นเหนือน้ำ ทำให้เขาได้ยินเสียงคลื่นกระทบหิน และหาดทรายได้หลากหลาย ดีกว่าการนั่งเขียน สูบไปท์โง่ๆ และฟังเสียง ลมและคลื่น บนริมหาดทรายเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติตามปกติ

งานออกแบบที่มีคุณค่าในเรื่องที่ว่าง สถาปนิกมักกำหนด ตัวเองเสมอว่า กำลังท่องเที่ยวไปในแบบแปลนที่กำลังขีดเขียนอยู่ Louis I. Kahn สถาปนิก และครู ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เคยเสนองานออกแบบปรับปรุง เมืองฟิลาเดลเฟียในสหรัฐอเมริกา จากแรงบันดาลใจที่ อุปมาอุปไมยตัวเองเป็นเด็กผู้ชายตัวน้อยเดินท่องเที่ยวไปในเมืองแล้วเกิดความรู้แจ้งว่าตัวเองจะเป็นอะไรในอนาคต นี่เป็นการสร้างอุปมาอุปไมยโดยการอิงตัวเอง กับปัญหาการออกแบบ เพื่อนำไปสู่การกำหนดความคิดในการออกแบบ ที่ว่าเมืองควรเป็นที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้อยู่อาศัย มีความแปลกแยก ทางเลือก และทรงคุณค่าเอกลักษณ์ในแต่ละสถานที่

กลุ่ม Synectics ได้เน้นกลไกของวิธีการคิดสร้างสรรค์ว่า ไม่ว่าในสาขา วิชาทางศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ ก็ตาม ควรแยกวิธีการวิเคราะห์ หรือสังเกตการณ์ที่กระทำอยู่เดิมไว้ ให้มีช่องว่างสำหรับสอดแทรกหรือทดแทนด้วย วิธีการคิดแก้ปัญหาต่างๆของการอุปมาอุปไมยโดยอิงตัวเองนี้ไว้

DIRECT ANALOGY

การอุปมาอุปไมยโดยตรง เป็นกลไกทางความคิดในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ โดยเปรียบเทียบของสองสิ่ง ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันที่สุด เป็นการเปรียบเทียบของผู้แก้ปัญหาแต่ละคน ที่จะมองปัญหาในเงื่อนไข หรือสถานการณ์ใหม่ เมื่อปัญหาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีชีวิต ก็มักจะเปรียบเทียบโดยตรงกับสิ่งที่ไร้ชีวิต ในทางตรงกันข้าม เมื่อเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งที่ไร้ชีวิต ก็จะเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีชีวิต หรือมิฉะนั้นก็เปรียบเทียบ สิ่งที่ไร้ชีวิต หรือ สิ่งที่มีชีวิตเช่นเดียวกัน เช่น Sir March Isumbard คิดแก้ปัญหา การออกแบบโครงสร้างใต้น้ำได้จากการเฝ้าดู หนอนทะเลที่อาศัยตามเรือไม้ หรือเขื่อนไม้ตามฝั่งทะเล ขณะกำลังขุดเจาะไม้ทำรูเป็นทางไปเรื่อยๆนั้น ตัวหนอนจะต้องสร้างปล้องสำหรับตัวเองไปทุกระยะที่มันเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเสมอ ด้วยการอุปมาอุปไมยโดยตรง จากการสังเกตนี้เอง จึงทำให้ระบบการก่อสร้างแบบ Caissons สำหรับโครง สร้างใต้น้ำ หรือใต้ดินเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในวงการก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน และจากการอุปมาอุปไมยโดยตรง กับระบบการสั่นสะเทือนของกระดูกหูต่างๆของมนุษย์ ซึ่งมีการ ควบคุมโดยแผ่นเหยื่อสายใยบางๆที่ห่อหุ้มนี้เอง ทำให้ Alexander Graham Bell สามารถแก้ปัญหาที่คั่งค้าง และประดิษฐ์เครื่องโทรศัพท์ได้สำเร็จในที่สุด

แหล่งที่มาของความคิดอุปมาอุปไมยหรือการเปรียบเทียบโดยตรง ที่สำคัญคือ ความรู้ทางชีววิทยา มีการคิดค้นสิ่งประดิฐษ์หลายๆอย่าง ที่อาศัยการอุปมาอุปไมยโดยตรง โดยการอิงปรากฏการณ์ทางชีววิทยา แม้แต่ระบบการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ก็มีส่วนคล้ายคลึงกับระบบการทำงาน ของ สมองมนุษย์ ในทางศิลปะ ก็เป็นเช่นเดียวกัน งานประพันธ์ของ Goethe มีรากฐานความคิดมาจากดนตรี Schiller นักประพันธ์เพลงก็ใช้ความซาบซึ้งในงานกวี เป็นแนวคิดของการสร้างจังหวะและท่วงทำนองของเพลง ซึ่งล้วนมีแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เป็นต้น

ในการออกแบบสถาปัตยกรรม บ่อยครั้งที่สถาปนิก เสนอแนวความคิดในลักษณะ การอุปมาอุปไมย โดยการเปรียบเทียบระบบของการออกแบบเมือง เหมือนระบบของร่างกายมนุษย์ หรือแม้กระทั่งการเปรียบเทียบแนวคิดการออกแบบบ้าน ควรเหมือนเช่น เครื่องจักรกลที่มีชีวิต (โดยสถาปนิก Le Corbusier)

ในการทดลองของกลุ่ม Synectics เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องวัสดุก่อสร้างอาคาร คือวัสดุหลังคา เพื่อให้สามารถมีผิวดูดซึม ความร้อนในหนาว และสะท้อนความร้อนในหน้าร้อน ผลการทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย คือ การทำผิวหลังคาเป็นสองสี คือดำและขาว สลับเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาล เพราะจากประสบการณ์เดิมที่คุ้นเคยว่า สีขาวสะท้อนความร้อนได้ดีที่สุด ในขณะที่สีดำดูดซึมความร้อนได้ดีที่สุด จากนั้นจึงทำปัญหาที่คุ้นเคยนี้ ให้แปลก คือทำหลังคา ให้มีคุณลักษณะเหมือนปลาฟลาวเดอร์ นี่คือการอุปมาอุปไมยโดยตรง เพราะผิวของตัวปลาฟลาวเดอร์ มีจุดดำที่แผ่กระจายปกคลุมทั่วตัว มีคุณสมบัติของการเปลี่ยนแปลงจำนวน หรือระดับความเข้มของสีผิวได้ ตามสภาพแวดล้อมที่มันอาศัย เช่นในพื้นน้ำที่มีทรายสีขาว ก็จะทำให้มีสีผิวจางขาว และจะมีสีผิวเข้ม เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นน้ำปนโคลน หรือทรายสีเข้ม ทั้งนี้เป็นเพราะจุดดำที่ผิวตัวปลา มีการเพิ่มหรือลดจำนวนตามปฏิกิริยาทางชีวเคมี จากการอุปมาอุปไมยนี้เอง ทำให้กลุ่มที่ร่วมกันแก้ปัญหา ประมวลผลสรุปเป็นแนวความคิดในการออกแบบวัสดุหลังคาดังนี้ คือ ทำชิ้นวัสดุมุง เป็นวัตถุมีผิวสีดำตลอด แต่มีที่สำหรับฝังแทรกลูกบอลพลาสติกเล็กสีขาวไว้ทุกชิ้น ทั้งนี้เพราะเมื่อหลังคาได้รับความร้อนเพิ่มขึ้น ลูกบอลพลาสติกเล็กสีขาวนี้ ก็จะโป่งพองตัวขึ้น ตามกฎของ Boyle ในทุกชิ้นวัสดุมุง ทำให้มีการเพิ่มผิวสีขาวของลูกบอลพลาสติกปกคลุมผิวสีดำเดิมของวัสดุหลังคาทั่วไป และก็จะลดปริมาณลงตามอุณหภูมิที่ลดลงของความ ร้อนหลังคา นี่เป็นผลของแนวความคิด ที่ได้จากการอุปมาอุปไมยโดยตรง ระหว่างวัสดุมุงหลังคา กับปลาฟลาวเดอร์

ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม Synectics จึงยืนยันได้ว่า กลไกที่สำคัญของความคิดอีกอย่างหนึ่ง คือความสามารถในการอุปมาอุปไมย โดยตรง จะเป็นวิธีการคิด ที่ให้ได้มาซึ่งผลของความคิดเชิงสร้างสรรค์ อย่างแน่นอน

SYMBOLIC ANALOGY

การอุปมาอุปไมยเชิงบัญญัติของก้อนอิฐ มีหลากหลาย เช่น สำหรับช่างทำอิฐ คือกรรมวิธี หรือส่วนผสมต่างๆของอิฐ สำหรับสถาปนิก Louis I. Kahn คือ โครงสร้างโค้งของอาคาร สำหรับช่างก่อสร้าง คือ กำแพง และสำหรับอันธพาล คือ อาวุธใช้ขว้างหัวคนอื่น เป็นต้น นักปฏิบัติวิชาชีพแต่ละสาขา มักมี "ภาษา" หรือ บัญญัติเฉพาะในการสื่อความคิด เพื่อแก้ปัญหาต่าง ซึ่งประกอบกันเป็นมโนทัศน์ เก็บสะสมเป็นประสบการณ์ เฉพาะบุคคลตามสาขาอาชีพ ในการทำความคุ้นเคยกับปัญหา นักเคมีจะใช้มโนทัศน์ ในการ เปรียบเทียบเป็นสูตร หรือสมการทางเคมีปฏิบัติ นักคณิตศาสตร์จะใช้บัญญัติของตัวเลขและกฏเกณฑ์ในรูปสมการทางคณิตศาสตร์ สถาปนิกมักคำนึงถึง หลักวิชา หรือกฏเกณฑ์ต่างๆ ของโครงสร้าง การก่อสร้าง การป้องกันแดดและฝน เป็นต้น ซึ่งมี "เค้าโครง" ตอบสนองเฉพาะเรื่อง สะสมไว้ในสมองของสถาปนิกแต่ละคนมากมาย

สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่บันทึกในจิตใจเป็นการสะสม ของมโนทัศน์ต่างๆ ซึ่งในแต่ละสาขาอาชีพ มีรูปแบบหรือเค้าโครงแตกต่าง ตามความรู้ และความเคยชินในการแก้ปัญหา มโนทัศน์ทั้งหลายนี้ เป็นบัญญัติทั้งสิ้น มีรูปสัญลักษณ์ประกอบต่างๆเพื่อการสื่อ หรือทำเข้าใจกันได้ก็เฉพาะสาขาอาชีพเดียวกัน แต่การทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลกนั้น จำเป็นต้องใช้การเปรียบเทียบ โดยอิงบัญญัติ หรือมโนทัศน์อื่นในต่างอาชีพ เช่น นักเคมี อาจใช้การอุปมาอุปไมยเชิงบัญญัติของนักกวี นักคณิตศาสตร์ อาจแทนมโนทัศน์เชิงปริมาณ เป็นเชิงคุณภาพ หรือสถาปนิกซึ่งคุ้นเคยการแก้ปัญหาโดยวิธีเชิงคุณภาพ ก็ควรมองปัญหา หรือเปลี่ยนความเข้าใจ ปัญหาเป็นมโนทัศน์ เชิงปริมาณ ก็น่าจะทำให้ได้คำตอบที่ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์เชิงสร้างสรรค์ได้ เช่นตัวอย่างโจทย์เลขคณิต เกี่ยวกับชายคนหนึ่งปีนเขาในวันอาทิตย์ เริ่มต้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น เขาไปถึงยอดเขา ตอนพระอาทิตย์ตกดินพอดี และค้างคืนบนยอดเขาตลอดคืน ในวันเสาร์ เขาเริ่มเดินลงเขาตอนพระอาทิตย์ขึ้น และลงมาถึงเชิงเขาพอดีพระอาทิตย์ตกดิน คำถามคือว่า เวลาใดในวันเสาร์ ที่ชายคนนี้เดินลงมาถึงที่ซึ่งเป็นเวลา และสถานที่แห่งเดียวกันกับตอนที่เขาเดินขึ้นเขาในวันอาทิตย์ การแก้ปัญหานี้หากใช้บัญญัติของวิชา คณิตศาสตร์ ก็ย่อมทำให้เกิดความยุ่งยากในการแก้ปัญหา มากกว่าการแก้ปัญหาโดยการเปรียบเทียบ อิงมโนทัศน์ ทางด้านกราฟฟิก หรือจะได้คำตอบจากการเขียนรูปแผนภูมิ เป็นบัญญัติ ที่ต่างจากทางวิชาคณิตศาสตร์เดิม กล่าวคือ โดยการกำหนดแกนตั้งและแกนนอน แทนระยะความสูงของภูเขา และ จำนวนเวลา ซึ่งเริ่มเวลา พระอาทิตย์ขึ้นและตก ตามลำดับ แนวเส้นระยะทางขาเดินลง ลากจากจุดบนยอดเขา ของแกนตั้งถึง ปลายเส้นนอนตรงจุดที่พระอาทิตย์ตก จะเป็นเส้นลากลักษณะเดียวกันกับระยะทางขาเดินขึ้น ซึ่งเป็นเส้นลากที่สอง (คือรูปกลับด้านของเส้นลากที่หนึ่ง) ที่เกิดขึ้นระหว่าง จุดที่พระอาทิตย์ขึ้น กับจุดที่แทนยอดเขาบนแกนตั้ง อีกเส้นหนึ่งที่อยู่ในแนวจุดที่พระอาทิตย์ตก จุดตัดที่เกิดขึ้นของเส้นลากทั้งสองนี้คือคำตอบ ที่จะบอกจำนวน เวลาและสถานที่ เป็นผลลัพธ์ของปัญหานี้ หรือ อีกตัวอย่าง ของปัญหาการจัดกลุ่มของสิ่งที่มีคุณสมบัติ เหมือนกัน เช่น -ตึกระฟ้า-วัด-วิหาร-พระ- สถาปนิกอาจจะแยก "พระ" ออกจากกลุ่มทันที เพราะความเคยชินกับมโนทัศน์ของคุณสมบัติความเป็นอาคาร ซึ่งอาจต่างจากชาวพุทธทั่วไป ที่แยก "ตึกระฟ้า" ออกจากกลุ่ม เพราะมีมโนทัศน์ที่คุ้นเคยเรื่องของศาสนา ต่างจากสถาปนิก ดังเช่นการอุปมาอุปไมยเชิงบัญญัติ ของก้อนอิฐ ที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้

จากตัวอย่างทั้งสองที่ยกมา ชี้ให้เห็นถึงการเลือกใช้บัญญัติต่างกัน คือใช้มโนทัศน์ของ "วิธีการ" โดยเปลี่ยนการใช้สมการแทนด้วยการเขียนภาพประกอบทางความคิด และการใช้มโนทัศน์ของ "คุณสมบัติ" ที่มีความหลากหลาย เป็นการแก้ปัญหาในตัวอย่างที่สอง เพราะฉะนั้นการมีความรู้ หรือมีประสบการณ์ ในหลายสาขาอาชีพ ที่แตกต่างกัน ทำให้ ผู้แก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์มีโอกาสได้ใช้

วิธีการแก้ปัญหาโดยการอุปมาอุปไมยเชิงบัญญัติ ได้หลายรูปแบบของมโนทัศน์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ผลลัพธ์ของปัญหาต่างกว่าที่เคยคุ้นเคย หรือทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลกได้มากมายยิ่งขึ้น ดังเช่นตัวอย่างจากการทดลองของกลุ่ม Synectics เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการออกแบบ แม่แรงยกของชนิดพิเศษ ของกลุ่มนักประดิษฐ์ ผลการแก้ปัญหา เกิดจากการใช้การเปรียบเทียบ อิงมโนทัศน์ของคุณสมบัติ เชือกมะนิลาซึ่งปกติ มีความอ่อนตัว แต่ถ้ายึดปลายเชือกข้างหนึ่งให้คงที่ไว้ แล้วบิดตามเกลียวเชือกที่ปลายอีกข้างหนึ่ง จะทำให้เส้นเชือกแข็ง อัดตัวแน่นเข้าจนมีความแข็งเช่นท่อนไม้ตรง จากความเข้าใจในคุณสมบัติต่างๆของเชือก ทำให้เกิดแนวความคิด ซึ่งนำไปสู่การพัฒนา เชิงปฏิบัติ สำหรับกลไกชนิดบิดตัว ภายในเครื่องของแม่แรงยกของ แบบไฮดรอลิกสมัยใหม่ ในที่สุด

FANTASY ANALOGY

มีคำกล่าวว่า งานสร้างสรรค์ เกิดจากการทำความปรารถนาให้เป็นจริง โดยผู้แก้ปัญหา กำหนดปัญหา ด้วยแรงปรารถนาอย่างไรก็ได้ อันปลอดจากเหตุผลหรือกฎเกณฑ์ใด ที่เคยประพฤติปฏิบัติมา ประโยชน์ที่มีผลทางความคิดสร้างสรรค์ที่สุด คือการใช้การอุปมาอุปไมยนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆของการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก กลุ่ม Synectics ยืนยันว่า เป็นสิ่งสำคัญ อย่างมากในการเชื่อมประสานขั้นตอน การกำหนดปัญหา และการแก้ปัญหาเข้าด้วยกัน และยังก่อให้เกิด การใช้การอุปมาอุปไมยแบบอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกด้วย จากผลการทดลองในระยะแรก การอุปมาอุปไมยเชิงเพ้อฝันมักเกิดขึ้นแทรก ขณะที่สมาชิกกลุ่มกำลังใช้การอุปมาอุปไมยแบบอื่น แต่ประโยชน์อาจเร่งส่งผลให้เกิดได้รวดเร็วในการแก้ปัญหา ได้เท่าๆกับความสูญเปล่า ในแสวงหาคำตอบของปัญหานั้นด้วย

เป็นการอยากที่จะปฏิเสธว่า การพัฒนาการของความสำเร็จ ในสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ มีผลสืบเนื่องมาจาก จินตนาการ หรือการอุปมาอุปไมยเชิงเพ้อฝันของศิลปิน โดยเฉพาะ เรื่องที่เกี่ยวข้อง กับโครงการอวกาศและวงการบินที่ปรากฏในปัจจุบัน เพราะในแขนงวิชาทางศิลปะ ศิลปินสามารถที่สร้างความเพ้อฝัน ได้ง่ายดายกว่านักวิทยาศาสตร์ มีความปารถนาที่จะให้โลกเป็นเช่นไรก็ได้ เพราะผลของงานสร้างสรรค์ เป็นเรื่องของบัญญัติของจินตนาการ ไม่ใช่ของจริงที่ต้องเกี่ยวข้อง กับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ และระบบทางสังคม-วัฒนธรรม เช่นทางวิทยา ศาสตร์ แต่จินตนาการหรือความเพ้อฝัน มักเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความเจริญทางวิทยาศาสตร์ และในขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และระบบต่างๆของธรรมชาติ และสังคม- วัฒนธรรม เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในงานสถาปัตยกรรม ผลงานในอดีตที่ทรงคุณค่าต่อการศึกษา ในด้านวิชาการจนถึงปัจจุบัน ก็ล้วนเกิดจากสถาปนิกที่มี ความสามารถในการอุปมาอุปไมยเชิงเพ้อฝันทั้งสิ้น เช่น Boullee & Ledoux เคยฝันที่จะออกแบบโครงสร้างทรงกลมขนาดใหญ่ในศตวรรตที่ 18 ซึ่งอยู่เหนือกฎเกณฑ์ ของวิทยาการ ก่อสร้างในเวลานั้น แต่ต่อมา Buckminster Fuller ก็ทำฝันนั้นให้เป็นจริงในศตวรรษที่ 20 โดยออกแบบโครงสร้าง Geodesic Dome ได้สำเร็จ Gaudi สถาปนิกชาวบราซิลที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 19 คงนอนอิจฉาสถาปนิกไทย ในหลุมศพตัวเอง ที่กำลังออกแบบตึกระฟ้ามากมายในกรุงเทพมหานครขณะนี้ เพราะตัวเองบรรลุความฝันเเพียง แค่ได้ทำสิ่งก่อสร้างสูงเป็นส่วนประกอบของวิหาร เพื่อสักการะต่อพระผู้เป็นเจ้า และเป็นเพียงแค่คอนโดมิเนียมสำหรับนกพิราบในปัจจุบันเท่านั้น เพราะความแตกต่างของกาลเวลา และระบบทางสังคม-วัฒนธรรม ฝันของ Le Corbusier ในศตวรรตที่ 20 ที่จะเห็นการออกแบบเมืองที่ตอบ สนองการเคลื่อนไหวของเครื่องจักรกล (Radiant City) บรรลุเพียงแค่ความต่อเนื่อง ของการฝันต่อของ George Lucas ในสมัยปัจจุบัน ที่แสดงไว้ในภาพยนต์เกี่ยวกับเมืองในยุคอวกาศของอนาคตกาล และจะต้องรอต่อไป ให้ชาวอินเดียมีรถยนต์ใช้กันทุกครัวเรือน เพื่อให้เมืองหลวงใหม่ จันดีกราห์ในแค้วนปัญจาบของอินเดีย บรรลุความฝันที่เป็นจริงของสถาปนิกเอกผู้นี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความเจริญของคอมพิวเตอร์ ที่จะมีต่อๆไปในอนาคต จะแบ่งเบาความคิดเชิงเหตุผล ของนักแก้ปัญหาในสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งจะทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาส ที่จะฝึกฝนความมีอิสระเสรี ในการจินตนาการ หรือสร้างสิ่งเพ้อฝันได้เต็มที่ โดยการเลิกพะวงถึงกฎเกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆในทางปฏิบัติ ไว้ชั่วระยะ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพท์ที่เกิดจากการอุปมาอุปไมยเชิงเพ้อฝันในการแก้ปัญหาต่างๆตามข้อเสนอแนะของทฤษฎี Synectics ก่อนการดำเนินการทางปฏิบัติ เพื่อการบรรลุผลทางความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นไปได้ต่อไป ดังความคาดหมายของงานสร้างสรรค์ คือการทำฝันให้เป็นจริงตามทรรศนะของ Sigmund Freud

บทสรุป

ขั้นตอนของการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญ คือ การกำหนดและทำความเข้าใจในปัญหาเสียก่อน การแก้ปัญหาในขั้นตอนต่อไป คือการเข้าใจปัญหา ในแง่จิตวิทยา คือ การทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างปัญหากับกลไกทางจิตวิทยาการเปรียบเทียบภายใน เป็นการสร้างอคติ ต่อปัญหา หรือแยกแยะ ตีความให้เกิดความคล้อยตามกับข้อมูลสำเร็จรูปหรือเค้าโครง (Schemata) ที่สะสมเป็น ประสบการณ์ในอดีต และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาที่ไม่ธรรมดา จำเป็นที่จะต้องพิจารณาปัญหา เพื่อให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ด้วยเหตุนี้ขั้นตอนทางจิตวิทยาต่อไป คือการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก โดยอาศัยกลไกทางจิตวิทยาของการเปรียบเทียบ ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนา หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำเร็จรูป ที่มีสะสมและบันทึกไว้ในจิตใจของแต่ละบุคคลนั้น ให้เกิดความสัมพันธ์กับปัญหาที่คุ้นเคยใหม่ กลไกทางจิตวิทยา ที่ใช้เพื่อการเปรียบเทียบ ทั้งในสองขั้นตอนนี้ คือ การอุปมาอุปไมยประเภทต่างๆ 4 ประเภท คือ การอิงตัวเอง การอิงโดยตรง การอิงบัญญัติ และ การอุปมาอุปไมยโดยอิงการเพ้อฝัน กลไกทางจิตวิทยา สำหรับการแก้ปัญหาเหล่านี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ขั้นตอนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ คือ การกำหนด และการแก้ปัญหา เป็นขบวนการที่เข้าใจในแง่จิตวิทยาชัดเจนขึ้น โดยเทคนิคทางวิธีการ 2 ขั้นตอนคือ ทำปัญหาที่แปลกให้คุ้นเคย และการทำปัญหาที่คุ้นเคยให้แปลก

กลไกทางจิตวิทยาทั้ง 4 นี้ อาศัยข้อมูลสำเร็จรูป ที่สะสมเป็นประสบการณ์ของแต่ละบุคลทั้งสิ้น จึงไม่ได้เป็นการ จัดเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาใหม่แต่อย่างไร นอกจากการเปิดเผย กลไกที่มีอยู่แล้วให้มีความเข้าใจเด่นชัดขึ้น ซึ่งจะทำให้แต่ละบุคคลปรับใช้กลไกเหล่านี้ ให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้น จากเดิมเท่านั้น ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการคิดสร้างสรรค์ที่เน้นกลไกเหล่านี้ ไม่มีความแตกต่าง เมื่อใช้แก้ปัญหาเป็นส่วนบุคคล หรือเป็นกลุ่ม แต่การกระทำเป็นลักษณะ ของกลุ่มจะเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าส่วนบุคคล ซึ่งในกรณีการร่วมแก้ปัญหาเป็นกลุ่มบุคคล ต้องอาศัยกรรมวิธี ดำเนินการที่เหมาะสม ในการเลือกสมาชิกลุ่มและการฝึกอบรม การดำเนินงานเฉพาะของประธานกลุ่ม เพื่อส่งผลให้สมาชิกกลุ่มทุกๆคน มีโอกาสเสนอความคิด และใช้กลไกทางจิตวิทยาดังกล่าวได้เต็มที่ ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าว เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เมื่อนำทฤษฎี Synectics ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ และคงต้องศึกษาค้นคว้า เพื่อกำหนดเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งของ Synectics ควบคู่กันไปกับเนื้อหาข้างต้นที่กล่าวไว้แล้วในบทความนี้

ในการนำทฤษฎี Synectics มาประยุกต์ใช้ในการเรียน และการสอนสถาปัตยกรรม ประโยชน์เบื้องต้น น่าจะได้แก่การฝึกฝนนิสิตให้เข้าใจกลไกทางจิตวิทยาทั้ง 4 ประเภทที่มีอยู่เดิม และนำมาใช้อย่างมีระบบ เพื่อประกอบความคิดเป็นอีกวิธีหนึ่ง ในการแสวงหาแนวความคิดในการออกแบบ ที่เน้นการสร้างสรรค์ สำหรับโครงการต่างๆของวิชาออกแบบ และการฝึกฝนกลไกแต่ละประเภท เป็นการเฉพาะน่าจะกระทำได้ โดยผ่านวิชาการฝึกหัดการออกแบบร่างสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบในแขนงวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องการเน้นแนวความคิดเชิงจินตนาการ มากกว่าเหตุผล โดยการกำหนดโปรแกรมฝึกหัด ที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการแก้ปัญหา โดยเน้นกลไกทางจิตวิทยาที่กำหนดเฉพาะเพื่อการฝึกฝน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศ และพัฒนาทางการศึกษา ที่นิสิตได้ใช้กลไกทางจิตวิทยาที่มีอยู่แล้วในแต่ละบุคคล อย่างมีระบบและอิสระเสรี อันเป็นความพยายามอีกทางหนึ่ง ที่จะเพิ่มความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ในตัวผู้สอนและผู้เรียนตามเป้าหมายหลักที่สำคัญอันหนึ่ง ของการเรียนการสอนในคณะ สถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งนี้

หนังสืออ้างอิง

  1. Gordon J.J. William, Synectics: The Development of Creative Capacity. London: Collier-Macmillan Ltd., 1968.
  2. Stein I. Morris, Stimulating Creativity: Group Procedures (volume 2). New York: Academic Press, 1975.
  3. Anderson F. Barry, The complete Thinker: A Handbook of Techniques for Creative and Critical Problem Solving. New Jersey: Prentice-Hall, Inc., Englewood Cliffs, 1980.

 

หมายเหตุ... บทความนี้เคยตีพิมพ์แล้วใน...วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๒ ฉบับที่ ๑