เรียบเรียงบางส่วนจาก...The Mind's Eye โดย Robert Sommer ในเรื่อง Visualization Training

การฝึกฝน "จินตนาการ"

เพราะ จินตนาการ เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับจินตภาพ คือการสร้างภาพในสมอง หรือนึกคิดเป็นภาพ จึงเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นทักษะเบื้องต้นของความคิดสร้างสรรค์ก็น่าจะได้

ส่วนมากการฝึกหัดการพัฒนาการจินตนาการ เน้นความคิดสร้างสรรค์ด้วยถ้อยคำ เป็นการคิดที่ผิดแผกไป เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนทิศทางมากกว่ากรรมวิธีคิด หนังสือแบบฝึกหัดจึงเป็นลักษณะถ้อยคำเป็นส่วนมาก หารูปภาพประกอบปรากฏน้อยมาก จนบางทีกลายเป็นการฝึกการแก้ปริศนาและเล่นเกมอิจฉริยะ ทั้งหมดเป็นเรื่องถ้อยคำโวหารทั้งสิ้น ส่วนมากเป็นการให้แสดงการเปรียบเทียบหรือเปรียบเปรยของสิ่งหนึ่งไปกับสิ่งอื่น เช่น ความโง่ดุจดัง….. ความอ่อนนุ่มเหมือน………ความรวดเร็วปาน……..เป็นต้น หรือไม่ก็ขยายคุณสมบัติของสิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์เฉพาะไปสู่ประโยชน์อื่นที่เป็นไปได้ เช่น กำหนดประโยชน์อื่นของหมวก ของเครื่องเหลาดินสอ หรือของอิฐก่อสร้าง เป็นต้น งานค้นคว้าวิจัยจึงสะท้อนเรื่องของสัญญาหมายรู้ (cognition) มากกว่าการรับรู้ (perception) มีส่วนน้อยที่มุ่งเน้นโดยตรงเรื่องการฝึกฝนจินตภาพในความคิด

ข้อมูลการรับรู้รับทราบเชิงประจักษ์เกิดขึ้นจากสิ่งชี้นำ (visual cues) หรือลางสังหรณ์ เหมือนสิ่งเตือนจำในถ้อยคำโวหาร สิ่งเตือนจำหรือบ่งชี้ นำไปสู่ภาพรวมทั้งหมด มักเกิดจากการลดส่วน หรือเป็นส่วนปลีกย่อยที่มีความสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง อันอ้างถึงภาพรวมได้ภายหลัง นักจิตวิทยา Francis Galton อธิบายคุณค่าของสิ่งชี้นำนี้ เปรียบเหมือนสิ่งของภายในบ้านที่คุ้นเคย สามารถนึกภาพหรือรับรู้ได้จากการมองเห็นบ้านจากภายนอกได้ดีกว่าไม่ได้มองเห็นบ้านนั้นเลย นักเล่นหมากรุกเห็นประโยชน์จากการมองกระดานเปล่า เมื่อเขาเล่นเกมนั้นในใจ มันช่วยให้ง่ายในการนึกภาพว่าจะเดินหมากอย่างไร ดีกว่าไม่เห็นกระดานนั้นเสียเลย นักกอล์ฟก็เช่นกันเขามักวาดภาพในใจของผลการตีครั้งต่อไปไว้ล่วงหน้าเสมอก่อนการตีในทุกๆครั้ง บ่อยครั้งที่นักเรียนนำตำราหรือโน๊ตการเรียนเข้าห้องสอบ ไม่ใช่เพราะเพื่อการลอกคำตอบ แต่หากเพื่อการช่วยในการคิดค้นสร้างสรรคำตอบ หรือให้เกิดการระลึกได้ขึ้นมาต่างหาก การได้เห็นสิ่งที่คุ้นเคย เช่นปกหนังสือ หรือสิ่งขีดเขียนในสมุดโน๊ต ช่วยให้มองเห็นภาพถ้อยคำของเนื้อหาในสิ่งนั้นๆได้ในใจ

เหตุผลหนึ่งที่ไม่มีตำราเขียนถึงการฝึกฝนการสร้างจินตภาพ เป็นเพราะผู้มีทักษะหรือนักสร้างภาพในใจ ไม่ชอบเขียนหนังสือที่เป็นแบบสากลนิยมกัน ตามรูปแบบที่เป็นอยู่ ไม่ชอบเขียนประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า หรือบทต่อบท เป็นต้น อีกทั้งการเขียนหนังสือเปรียบเหมือนการใช้พลั่วแซะดินจนเป็นร่องหรืออดทนเหยียบย่ำอยู่ในโคลนได้เป็นเดือนเป็นปี คนที่ต้องการทำเช่นนี้ก็ต่อเมื่อเขาหรือเธอฝันตัวเองลอยอยู่สูงกว่าพื้นดินด้วยปีกที่นึกขึ้นเอาเอง นี่ก็อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำไมจึงมีงานเขียนการคิดเชิงประจักษ์ทั้งด้วยการเห็นและการได้ยินมีน้อยมาก อีกทั้งหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับจินตภาพ มักเขียนโดยผู้ที่ไม่มีทักษะทางจินตภาพมากจึงไม่เป็นที่น่าสนใจนัก

หนังสือคู่มือสำหรับการฝึกฝนจินตภาพที่ดีเลิศเล่มหนึ่ง จัดทำโดย Kristina Hooper แห่ง England’s Open University เป็นโครงการจัดการเรียนการสอนทางไปรษณีย์ แพร่หลายทั่วประเทศ ใช้สื่อวิทยุ ทีวี และผู้สอนแบบชั่วคราว คอยให้เกรดข้อเขียนและจัดทำโครงการชื่อ ศิลปะและสภาพแวดล้อม (Art and Environment) เป็นการสอนร่วมกันในหลายสาขาวิชา ในส่วนของโครงการนี้ หน่วยที่ ๕ เป็นเรื่อง จินตภาพและการนึกคิดเป็นภาพ (Imaging and Visual thinking) หนังสือคู่มือนี้มีสาระที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ในเรื่องแบบฝึกหัดและการปรับปรุงจินตภาพที่น่าสนใจยิ่ง เกี่ยวข้องกับการกระตุ้น ฝึกหัด การสร้างภาพ (หลับตามองเห็น) ฝึกฝนการปรับปรุงการรับรู้ที่ชัดแจ้งในทุกความรู้สึกสัมผัสได้ ผ่านการเขียนภาพเคร่าวๆ การถ่ายรูปวัตถุในมุมมองที่แตกต่างกัน การสัมผัสวัตถุ ให้อารมณ์และการรับรู้กับสิ่งที่ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้สึก ฝึกฝนขบวนการสร้างหรือประกอบสิ่งของใหม่ เช่น ฝึกเย็บเสื้อผ้า หรือทำชั้นวางหนังสือ ตลอดจนสุดท้ายสัมภาษณ์คนอื่นเกี่ยวกับจินตภาพของเขา แม้ว่าหนังสือคู่มือนี้เน้นความมีขั้นมีตอนที่สำคัญๆด้วยถ้อยคำโวหาร แต่เพิ่มการหลอมรวมสาระเข้าด้วยกันโดยใช้ภาพถ่าย ภาพเขียน และบันทึกเขียนด้วยมือ ซึ่งมากมายเท่าที่สามารถทำเป็นภาพได้ในทุกบทเรียน

๑. ฝึกฝนความรู้สึกสัมผัส ๒. ฝึกฝนการมองวาดและเปรียบเทียบ ๓. บุคคลแตกต่างทักษะกัน

Grace Petitclerc ได้จัดทำคู่มือการสอนวิธีหนึ่ง คือถามเด็กๆว่ามันคืออะไรด้วยการสัมผัสโดยมองไม่เห็นสิ่งนั้น แต่อาศัยความรู้สึกและนึกภาพของสิ่งนั้น Richard de Mille ใช้เกมของเด็กๆที่เกี่ยวข้องกับการคิดฝัน เช่นเกม “ให้เด็กจินตนาการว่า เด็กคนหนึ่งกำลังยืนอยู่ที่มุมห้องนี้….ให้หมวกอันหนึ่งแก่เขา..แล้วถามว่าสีอะไรที่หมวกนั้นควรเป็น แล้วให้เสื้อคลุมแก่เขาอีก…ถามอีกว่าสีอะไรที่เสื้อนั้นควรเป็น แล้วให้เปลี่ยนสีของหมวก สีอะไรที่เขาเปลี่ยนมัน แล้วให้เปลี่ยนสีอีก เป็นสีอะไรในคราวนี้ “ ผลต้องการให้เด็กเสริมสร้างจินตนาการให้มากขึ้นๆเท่านั้นเอง

หนึ่งในจำนวนเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ดีที่สุด คือ งานเขียนของ Robert McKim ซึ่งสอนวิชาการนึกคิดเป็นภาพอย่างรวดเร็วที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดภาควิชาวิศวกรรม เพื่อพัฒนาการเขียนภาพสามมิติและแก้ปัญหาโดยจินตภาพ การทดลองหลายอย่างแสดงการเพิ่มศักยภาพด้านจินตภาพกับบุคคลที่อ่อนด้วยสิ่งนี้มาก่อน McKim แนะเทคนิคที่เน้นวิธีผ่อนคลายต่างๆ เช่น การฝึกการหายใจ การทำสมาธิ การแนะนำเป็นพิเศษและการสะกดจิตในบางโอกาศ ผู้เขียนอื่นบางคนเสนอแนะเพิ่มไปอีกว่า คนที่ขยันและกระตือรือร้นตลอดเวลามักเป็นผู้มีทักษะทางจินตภาพต่ำ ทำงานเหมือนเครื่องจักร์เลยไม่มีเวลาสำหรับการผ่อนคลายและพักผ่อนจริงจังกับการสร้างจินตภาพให้เกิดขึ้นได้ นี่เป็นบันทึกที่น่าสนใจ แต่มีผลการพิสูจน์ยังน้อย สถาปนิกส่วนมากมักเป็นพวกฟุ้งซ่านมีทักษะทางจินภาพค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฝึกฝนการปฏิบัติโครงการออกแบบเสมอๆ บางครั้งใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน และไม่ได้หมายความว่าพวกสถาปนิกหรือศิลปินจะเป็นพวกที่คบหาได้ง่ายและผ่อนคลายเสมอนัก ทั้งๆที่บันทึกดังกล่าวเน้นการผ่อนคลายเป็นสำคัญต่อการเพิ่มจินตภาพในขณะที่ความเครียดเป็นการกีดกั้น ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับบุคคลิภาพส่วนบุคคลที่มีสภาพแตกต่างกันทางอารมณ์ได้ ยากที่กำหนดได้เด็ดขาดชัดเจนนัก ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่านักออกแบบส่วนมาก สามารถปรับเปลี่ยนความสามารถระหว่างความฟุ้งซ่านกับกิจกรรมที่กระทำอยู่โดยตรงเฉพาะหน้า และเอาใจใส่กับการผ่อนคลายตามสถานการณ์ที่เหมาะสม

วิธีการฝึกฝนการนึกคิดเป็นภาพ McKim เน้นสอนที่ขบวนการสามอย่างที่เกี่ยวข้องกันคือ การดู จินตนาการ และการเขียนวาดภาพ คนส่วนมากมองทุกสิ่งไม่ชัดเจนและแจ่มชัดเสมอไป บางส่วนขาดหายไปหรือเบลอไปด้วย McKim ใช้การแก้ปริศนา (puzzles) และเกมต่างๆในการพัฒนาการจดจำเป็นภาพ เช่น นำเสนอไพ่ห้าสำรับ หนึ่งในห้าเป็นสำรับที่ถูกต้องแต่มี่เหลือผิดจากสำหรับไพ่ปกติที่ใช้กัน คำตอบต้องการการดูที่เพ่งพินิจและสังเกตุเห็นภาพสะท้อนผิดที่กลับกัน เช่นไพ่รูปหัวใจที่กลับหัวกลับหางกัน หรือหมายเลขเบอร์ไพ่ของ ๑๐ ที่เขียนใหม่เป็น ๐๑ หรือบางครั้งให้ผู้เรียนปิดตาบอกชนิดจากเนื้อผ้าหรือชนิดของเครื่งเทศต่างๆ เป้าหมายเพื่อฝึกฝนการเอาใจใส่ในสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงนั้นเอง

ส่วนที่สองในการฝึกฝนทักษะทางจินตภาพของ McKim คือให้นักเรียนปิดตาบอกสีของกล่องไม้จตุรัส โดยแรกมีด้านทาสีแดงหมด แล้วจึงตัดแบ่งออกเป็นกล่องย่อยๆเป็นคู่ขนานจนแบ่งออกเป็นกล่องเล็กๆ ๒๗ กล่อง ผู้เรียนต้องจินตนาการให้ได้ว่ามีกล่องที่สามด้านเป็นสีแดงกี่กล่อง หรือที่มีสีแดงสองด้านกี่กล่อง ที่มีสีแดงด้านเดียวกี่กล่อง และกี่กล่องที่มีด้านไม่มีสีเลย เป็นต้น McKim ยังใช้สิ่งทดสอบที่ออกแบบเป็นสองมิติ แต่สามารถพับเป็นภาพสามมิติได้ (ดูภาพ) ผู้เรียนดูแล้วต้องนึกภาพการพับในใจเพื่อกำหนดรูปสามมิติที่เกิดขึ้นมากรูป เป็นคำตอบว่าเป็นรูปอะไรบ้าง ส่วนที่ยากของการเรียนนี้ คือ การนึกหมุนภาพในใจในหลายรูปแต่ละครั้ง หมุนมากน้อยในทิศทางที่ต่างๆกันอีกด้วย

ส่วนประกอบของแบบฝึกหัดการสร้างภาพสามมิติของ McKim

ในส่วนทดสอบที่สามเกี่ยวข้องกับการร่างภาพ (sketch) เป็นวิธีการคิดเชิงโครงร่าง (schematic) ซึ่ง McKim เรียกว่า การพูดเชิงกราพฟิค นักเรียนเริ่มโดยการเขียนภาพขยุกขยิกอย่างอิสระ (doodling) แล้วค่อยๆจัดแจงภาพนั้นให้เป็นเรื่องราวขึ้น แล้วทำให้เป็นภาพที่ชัดเจน ในที่สุดเขียนออกมาเป็นภาพจากจินตภาพที่เกิดขึ้นในใจ ต่อมาฝึกเขียนภาพจากสิ่งที่ที่ตนมองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึกเท่านั้น เช่นซ่อนสิ่งที่เขียนไว้ในถุงกระดาษยอมให้มือล้วงไปจับต้องได้ เป็นต้น เพราะ McKim สนใจในเรื่องการนึกคิดเป็นภาพ การฝึกฝนส่วนมากจึงเป็นการเห็นทั้งภายนอกด้วยตาและการเห็นภายในด้วยใจ อย่างไรก็ตามก็จะฝึกฝนได้คล้ายคลึงกันสำหรับในแง่สัมผัสอื่นนอกจากการมองเห็นด้วยตา หลักสำคัญของวิธีการฝึกฝนเหล่านี้ คือการฝึกหัดที่ส่งผลประเมินกลับทันทีเพื่อพัฒนาการปฏิบัติการนั้นๆต่อไป

นักข่าว Ross Parmenter ปรับปรุงวิธีการเพื่อพัฒนาทักษะของการสังเกตุการณ์ เกมการล่าความเหมือนเพื่อการเปรียบเทียบ (เกมปลาในสระ) ของเขา สมควรจัดเป็นวิธีการฝึกฝนจินตภาพอีกวิธีหนึ่ง เขาได้ความคิดจากการเดินทางเที่ยวบินระหว่างเมืองออตตาวาและเมืองนิวยอร์คช่วงเปลี่ยนเวลา เมื่อไรก็ตามที่เขาสอดแนมวัตถุใดเขามักถามตัวเองว่า "มันช่วยให้ย้อนระลึกถึงอะไรบ้าง?"

๑. การสร้างภาพเปรียบเทียบจากการสัมผัส และความรู้สึก

๒. การประมวลความจำด้วยภาษาภาพและภาษาเขียน

๓. การสร้างภาพในใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน

ทำให้ได้คำตอบแตกต่างในเรื่องวัสดุ สายพันธ์ หรือแบบจำลองในแต่ละครั้ง เช่น ถนนคดเคี้ยวช่วยให้นึกถึงที่ปักผมที่ทำด้วยกระ สายน้ำบ่งถึงทางเดินของหนอนในป่า และสะพานใหญ่บ่งชี้ถึงนกกระสาสองตัวพันคอเพื่อจูบกัน ขณะที่เกมดำเนินไป การเปรียบเทียบความเหมือนก็จะยิ่งเร็วขึ้น เขารู้สึกว่าความชำนาญที่เป็นนักเขียนช่วยให้สร้างการเปรียบเทียบความเหมือนในเกมนี้ได้มาก วิธีฝึกนี้เกี่ยวข้องกับการมองอะไรในมุมมองใหม่แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นคำพูด เขาชอบคำพูดที่ทำให้ความทรงจำพลั่งพลูออกมาบนแผ่นกระดาษภาพที่ว่างเปล่า เพื่อเพิ่มอำนาจการสังเกตุการณ์ เขาแนะนำให้เอาใจใส่การการมองสิ่งใดราวกับว่าตนเองเป็นนักข่าวที่กำลังทำข่าว เสนอเรื่องราวบนกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือรายงานพิเศษประจำสัปดาห์ สิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้เห็นสิ่งต่างๆ แจ่มชัด มีชื่อกำกับ และใช้รายละเอียด เพื่อสร้างภาพให้คนอื่นเข้าใจได้

สิ่งที่ขาดหายไปในวิธีการเหล่านี้คือ ข้อมูลว่าเขาทำอย่างไร แม้เป็นเช่นเกมกิฬาในร่มต่างๆ ที่สนุกและไม่มีอันตราย อย่างไรก็ตามก่อนที่จะนำไปใช้ในหลักสูตรการเรียน หรืออบรมปฏิบัติการ ต้องมีความพยายามในการวัดผลที่คาดว่าจะได้รับด้วย

มีการยอมรับกันแม้ไม่เป็นเอกฉันท์ว่า ผู้มีจินตภาพต่ำมักทำงานในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาพเป็นพื้นฐานได้ดี คนจะลดการใช้เหตุผลน้อยลงเมื่อพยายามมองและเปลี่ยนมุมมองของภาพในลักษณะสามมิติ งานที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์การเคลื่อนไหว เช่นการวาดภาพหรือการแสดง ต้องอาศัยประโยชน์ที่ได้จากการสร้างจินตภาพมากกว่าทักษะทางภาษาพูดที่เข้มงวด หลายคนที่เมื่อต้องการสร้างจินตภาพมักอยู่ในสภาวะที่ต้องการการผ่อนคลายสูง นักศึกษาด้านวารสารศาสตร์คนหนึ่งกล่าวว่า ในขณะเขียนนวนิยาย เขาจะนึกภาพไม่ได้เลยถ้าไม่อยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลายจริงๆ ยิ่งตอนวางโครงเรื่องยิ่งต้องการผ่อนคลาย หลับตา และพยายามอยู่ในภวังค์ที่นึกถึงภาพต่างๆเหมือนกำลังฉายภาพสไลด์ในใจ เหล่านี้เป็นความแตกต่างระหว่างการฝึกฝนการนึกคิดเป็นภาพและการย้อนความทรงจำโดยทั่วไป ระบบที่ใช้ในการกระตุ้นความจำโดยใช้ภาพเป็นเครื่องชี้นำต้องการความผ่อนคลายมากและเน้นการตื่นตัวด้านจิตใจสูงมาก

หลายคนที่มีความสามารถในการทำสมาธิสูงๆจะสร้างรายละเอียดของจินตภาพได้มากมาย ความสามารถในขณะการคิดเป็นภาพจะเกี่ยวข้องกับจังหวะการหายใจสม่ำเสมอ จังหวะหายใจผิดปกติจะสัมพันธ์กับคนมีจินตภาพต่ำ ความเพ้อฝันในการสร้างเรื่องราวต่างๆให้เป็นชุดๆต่อเนื่องกันนั้นต้องอาศัยอารมณ์ช่วงที่มีการผ่อนคลายและสบายสุดๆ งานค้นคว้าของ ซิกมันต์ ฟรอยด์ ก็ยืนยันการฝันเป็นภาพนั้นเกิดผลมากในช่วงที่คนๆนั้นอยู่ในสภาวะที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น สภาวะการผ่อนคลายจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการฝึกฝนการสร้างจินตภาพ

เป้าหมายในการฝึกฝนการสร้างจินตภาพ ควรเกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับ และควรพัฒนาให้เกิดทักษะการปิดเปิดสลับความคิดได้ในหลายรูปแบบ สังคมจะได้ประโยชน์กับคนที่มีความคิดหลายรูปแบบ มีความสามารถด้านจิตใจสูง เป็นการดีที่บางคนสามารถพิจารณาในเรื่องบางเรื่องที่ไม่ต้องอาศัยการจินตภาพ และก็ดีสำหรับบางคนที่ไม่สามารถเลิกล้มการนึกคิดอะไรให้เป็นภาพได้เลย ไม่มีการยืนยันในความเชื่อที่ว่านามธรรมล้วนๆจะเป็นรูปแบบสำคัญของการสร้างเหตุผลเสมอไป การขาดความสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์และแยกสิ่งเหล่านั้นออกจากประสบการณ์ไม่ควรเป็นสิ่งที่พึงประสงค์.....

 

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับนักออกแบบ

การนึกคิดเป็นภาพในใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักออกแบบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบ้าน การตกแต่งภายในโรงแรม การจัดโชว์หน้าร้านเพื่อแสดงสินค้า การจัดสวนในโรงเรียน ความสามารถในการมองเห็นผลเป็นภาพในจิตใจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับพวกเขาเหล่านี้ จากการเป็นนักจิตวิทยาที่ทำงานใกล้ชิดกับสถาปนิก ทำให้ทราบว่า จินตภาพช่วยให้สถาปนิกทำงานออกแบบบนภาพสองมิติได้ดีกว่าคนทั่วไปที่มองเห็นและจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่นึกคิดออกมาเป็นภาพสามมิติเหมือนพวกสถาปนิกได้ เพราะฉะนั้นการได้ร่วมทำงานกันกับสถาปนิกทำให้คนทั่วไปได้เพิ่มทักษะการคิดด้วยภาษาภาพในใจ และเห็นความสำคัญในการใช้มันอธิบายสิ่งต่างได้เพิ่มจากภาษาเขียน

ในการเสนองานออกแบบกับคณะ ผู้ที่แนะนำหรือเสนอแนะสิ่งที่เกิดประโยชน์มักเกิดจากคนที่มีทักษะในการนึกคิดด้วยภาพ เพราะสามารถสื่อสารกันได้สะดวก แต่สำหรับผู้มีทักษะด้านนี้น้อยก็จำเป็นต้องใช้สื่อของความคิดที่เป็นรูปธรรมเชิงสามมิติมากๆ เช่นหุ่นจำลองหรือภาพวาดเหมือนจริง เป็นต้น เท็คนิควิธีการสร้างงานกราพฟิคสมัยใหม่ช่วยนักออกแบบให้ง่ายต่อการนำเสนอความคิดที่เหมือนจริงกับลูกค้าทั่วไป เช่นการจำลองภาพของสภาพแวดล้อมในงานภูมิทัศน์ ใช้การรวมประสานเข้าด้วยกันระหว่างสิ่งออกแบบที่เป็นหุ่นจำลองและตั้งอยู่ท่ามกลางของสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง บางกรณีพบว่าการทำหุ่นจำลองอาคารด้วยกระดาษแข็งขนาดมาตราส่วนใหญ่ๆช่วยความเหมือนจริงได้มากขึ้น เข้าใจในรายละเอียดมากกว่าหุ่นจำลองขนาดเล็ก รวมถึงเท็คนิคการจำลองให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นอยู่ภายในอาคารก็ช่วยสร้างความเหมือนจริงได้มากขึ้นตามลำดับ ทั้งหมดเป็นการเสริมการคิดเป็นภาพของผู้คนที่มีทักษะทางจินตภาพต่างกันนั่นเอง

สถาปนิกส่วนมากสามารถนึกคิดเป็นภาพได้ชัดและเกิดขึ้นตลอดเวลา เขาจึงมักใช้หุ่นจำลองเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อความคิดกับลูกค้าหรือต่อสาธารณะชนทั่วไป คนที่มีทักษะทางจินตภาพก็สามารถรับรู้และตอบโต้ความคิดที่มีประโยชน์กลับไปได้ และจะช่วยให้สถาปนิกสามารถปรับปรุงความคิดที่ตอบสนองผู้ใช้อาคารได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทักษะการคิดด้วยจินตภาพนี้ เกิดได้เพราะการฝึกฝน และทุกคนไม่เฉพาะนักออกแบบควรมีทักษะการคิดทำนองนี้ เพราะจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่วิธีคิดแบบหนึ่งไม่เป็นผลก็สามารถสลับใช้อีกวิธีนึกคิดด้วยจินตภาพแทนที่ได้

หลายคนคิดว่าจินตภาพนั้นเกี่ยวข้องกับทัศนศิลป์ ยิ่งจะเกี่ยวข้องส่วนมากกับงานออกแบบโดยฉะเพาะสถาปัตยกรรม แต่สิ่งที่ไกลกว่านั้น คือ มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพของชีวิตทุกคนด้วย จะเป็นการช่วยส่งเสริมประสบการณ์ที่คุ้มค่า สั่งสมความรู้สึกและความทรงจำที่ดี และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นหรือกับธรรมชาติรอบตัว แม้ว่าเท็คนิควิธีการออกแบบในแง่ความทรงจำจะสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธผลด้วยวิทยาการทางคอมพิวเตอร์ แต่การออกแบบด้วยความนึกคิดที่ดีงามและให้เกิดความเพิ่มพูนยิ่งขึ้นนั้นต้องอาศัยความสามารถของมนุษย์เท่านั้น ข้อสันนิษฐานในการนึกคิดโดยอาศัยจินตภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++