ประเภทของคอมพิวเตอร์

ในอดีต เมื่อมีผู้กล่าวถึงชนิดของคอมพิวเตอร์ เรามักพบคำว่า Mainframe และ Microcomputer เมื่อก่อนนี้มีอีกคำหนึ่งที่เราพบ คือ Minicomputer คอมพิวเตอร์เหล่านี้ต่างกันอย่างไร

คอมพิวเตอร์สมัยแรกๆมีขนาดใหญ่มาก เช่น ENIAC ที่เราเห็นในรูปประกอบไปด้วยตู้จำนวนมาก ตู้เหล่านี้เก็บส่วนต่างๆของคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน คำว่า "frame" หมายถึงตู้เช่นนี้ ตู้ที่ใช้เก็บ วงจรที่ใช้ในการคำนวณซึ่งเป็นตู้หลัก เดิมเรียกกันว่า mainframe ในภายหลังคำว่า mainframe ใช้กันในความหมายรวม ๆ ว่าคือคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ต่อมาคอมพิวเตอร์แบบ mainframe มีขนาด เล็กลง แต่ก็ยังคงเป็นตู้อยู่ ถึงแม้ตู้จะเล็กลงและมีจำนวนน้อยลง คอมพิวเตอร์เช่นนี้มีอยู่ในองค์การ ธนาคาร หรือบริษัทใหญ่ เนื่องจากงานที่ทำใช้ข้อมูลจำนวนมาก มีความซับซ้อน และต้องทำงาน อยู่ตลอดเวลา (เช่น ธนาคารต้องให้บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมง) คอมพิวเตอร์จึงต้องมีสมรรถภาพสูง ภายในคอมพิวเตอร์ ต้องบรรจุหน่วยความจำและดิสก์เก็บข้อมูลจำนวนมาก ขนาดจึงใหญ่ตามไปด้วย คอมพิวเตอร์เช่นนี้ จะเก็บไว้ในห้องๆหนึ่ง และมีสายโยงมายังโต๊ะทำงานของพนักงาน ซึ่งบนโต๊ะจะมีเพียงจอภาพและแป้นพิมพ์ เรียกรวมจอภาพและแป้นพิมพ์นี้ว่า Terminal (เป็นปลายทางของข้อมูล ที่ส่งมาจากคอมพิวเตอร์) นั่นคือ การทำงานของพนักงานทุกคนใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์นี้ต้องมีสมรรถภาพสูงมาก เพราะต้องให้คนจำนวนมากใช้ งานพร้อมกันได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง mainframe เป็นคอมพิวเตอร์ที่คนหลายคนใช้ทำงานพร้อมกันได้ (คอมพิวเตอร์ที่เราเห็นกันอยู่แพร่หลายเช่นที่อยู่ในห้องคอมพิวเตอร์ที่นิสิตใช้อยู่ เป็นคอมพิวเตอร์ที่ ใช้พร้อมกันหลายคนไม่ได้ คนๆเดียวเท่านั้นสามารถใช้ได้ในขณะหนึ่ง) ในปัจจุบัน mainframe บางชนิดมีขนาดเล็กพอที่จะตั้งบนโต๊ะได้ ในปี ๒๕๕๑ บริษัทไอบีเอ็มก็ยังผลิตเมนเฟรมอยู่ รุ่นล่าสุดคือ Z10 นิสิตที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับเมนเฟรมรุ่นนี้อ่านได้ที่นี่

เมื่อคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง และในบางโอกาส ไม่จำเป็นต้องใช้ในบริษัทขนาดใหญ่ อาจจะใช้ใน งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีผู้ใช้จำกัดวงอยู่แค่นักวิจัยไม่กี่คนในหน่วยงานเล็ก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เครื่องสมรรถนะสูงอย่างเช่น mainframe คอมพิวเตอร์ก็สามารถมีขนาดเล็กกว่า mainframe มาก ในสมัยที่ mainframe มีขนาดใหญ่ กินพื้นที่แทบทั้งห้อง มีผู้สร้างคอมพิวเตอร์ให้เล็กลง มีขนาด เท่าตู้เย็นขนาดใหญ่ เรียกกันว่า minicomputer ต่อมาเมื่อสามารถออกแบบคอมพิวเตอร์ให้เล็กลงอีก และราคาถูกลง จนบุคคลธรรมดาก็สามารถซี้อได้ และในเมื่อคนทั่วไปใช้งานธรรมดา เช่น สร้าง เอกสาร หรือทำบัญชี ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสมรรถนะสูงเท่ากับที่นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรใช้ จึงออกแบบให้เล็กกว่า minicomputer ได้ เรียกกันว่า microcomputer คอมพิวเตอร์ที่เราเห็นอยู่ ทั่วไปตามโต๊ะทำงาน ตามบ้าน หรือในห้องคอมพิวเตอร์ที่นิสิตใช้อยู่ ก็คือ microcomputer

คอมพิวเตอร์ทั้ง ๓ ประเภท มีโครงสร้างและอุปกรณ์ประเภทเดียวกัน ต่างกันที่สมรรถนะเท่านั้น เมื่ออุปกรณ์ต่างๆของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะส่วนที่ใช้คำนวณ เล็กลงเรื่อยๆ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กคือ microcomputer ก็สามารถมีสมรรถนะใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในสมัยก่อนได้ คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่อีกต่อไป ความแตกต่างระหว่างขนาดของ คอมพิวเตอร์ทั้ง ๓ ประเภทก็เริ่มน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่าง minicomputer และ microcomputer ในปัจจุบันเราจึงมักไม่ได้ยินคำว่า minicomputer เพราะงานที่เคยใช้ minicomputer ทำ สามารถใช้ microcomputer ทำได้

ในปัจจุบันแม้แต่คำว่าmicrocomputerก็แทบไม่มีใครใช้กันแล้ว คำที่นิยมใช้กันก็คือ personal computer (ใครเป็นผู้ริเริ่มใช้คำนี้โปรดอ่านในตอนต่อไป) ที่ใช้คำนี้ก็เพราะในอดีตคอมพิวเตอร์เป็น mainframe และผู้ใช้คอมพิวเตอร์ต้องใช้คอมพิวเตอร์นี้เครื่องเดียวร่วมกันโดยผ่าน terminal เมื่อมี microcomputer ซึ่งเล็กพอที่จะให้แต่ละคนนำไปใช้โดยส่วนตัวได้ จึงเรียก microcomputer ว่า personal computer หรือเรียกย่อว่า PC ต่อมาเมื่อมีคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว จึงมีการแบ่งประเภทย่อยลงไปอีก เรียกคอมพิวเตอร์ที่ตั้งโต๊ะไม่ย้ายไปไหนว่า Desktop PC และเรียกคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้วว่า Laptop หรือ Notebook ที่เรียกว่า Laptop ก็เพราะเล็กจนเวลาใช้สามารถวางบนตักได้ ที่เรียกว่า Notebook ก็เพราะเล็กเท่ากับสมุด

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์อีกประเภทหนึ่งก็คือ server คำว่า server นี้มีความหมายสองอย่าง อย่างแรกหมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ให้บริการแก่คอมพิวเตอร์เครื่องอื่น เช่นให้บริการค้นข้อมูลหรือให้บริการอ่าน web pages อย่างที่สองหมายถึงตัวคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมประเภท server สถิตอยู่ ซึ่งนอกจากจะมีโปรแกรมนี้แล้วก็ยังเก็บข้อมูลหรือเก็บ web pages สำหรับให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่นเข้ามาใช้ข้อมูลหรืออ่าน web pages ได้ ดังนั้น Windows Server 2003 เป็นชื่อของระบบปฏิบัติการที่สร้างโดยบริษัท Microsoft แต่เมื่อเราเข้าไปที่ home page ของบริษั่ทที่ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะแบ่งสินค้าออกเป็น desktop PC Notebook Server ฯลฯ server ในที่นี้หมายถึงตัวเครื่อง เหตุที่ปัจจุบันเราแทบจะไม่ได้ยินคำว่า mainframe ก็เพราะคอมพิวเตอร์ประเภท server นี้ทำหน้าที่อย่างที่เมื่อก่อน mainframe ทำแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก จึงไม่ใช้คำว่า mainframe อีกต่อไป เก็บคำนี้ไว้ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็น server ขนาดยักษ์ใหญ่ในองค์กรขนาดใหญ่ บริษัท IBM ยังคงผลิต mainframe ขายอยู่ แต่บ่อยครั้งจะใช้คำว่า large server แทน

นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่า Thin client บ่อยขึ้น คำว่า client มีความหมายสองอย่างเช่นเดียวกัน อย่างแรกหมายถึงโปรแกรมที่ขอรับบริการจาก server เช่น Internet Explorer และ Firefox เป็นโปรแกรมที่เรียกกันว่า web client กล่าวคือทำหน้าที่ติดต่อกับเครื่อง server เพื่อขอให้ server ส่ง web page มาให้อ่าน ในตัวเครื่อง server จะมีโปรแกรมที่เรียกว่า web server สถิตอยู่ ทำหน้าที่ให้บริการเมื่อโปรแกรม web client ติดต่อมา ความหมายที่สองของ client ก็คือคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมประเภท client บรรจุอยู่ เมื่อเราอ่าน web pages คอมพิวเตอร์ของเราทำหน้าที่เป็น client คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า thin client เป็น PC ที่ไม่มีฮาร์ดดิสก์ ทำหน้าที่อย่างเดียวคือเป็น terminal ของเครื่อง server ต่างจาก terminal สมัยก่อนตรงที่มี flash memery (แบบเดียวกับที่อยู่ใน thumb drive) ซึ่งมีระบบปฏิบัติการขนาดเล็กฝังอยู่และบรรจุโปรแกรมประเภท client เท่าที่จำเป็นจะติดต่อกับเครื่อง server เหตุผลหลักของการมีเครื่องเช่นนี้ก็คือความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์โดยรวม ในเมื่อ thin client ทำงานโดยพึ่ง server เพียงอย่างเดียวและไม่มีฮาร์ดดิสก์ให้ผู้ใช้นำโปรแกรมอื่นมาลงเพื่อทำงานอย่างอิสระได้ โอกาสที่จะเป็นพาหะของโปรแกรมผู้ร้ายที่จะเข้ารังควาญระบบก็ไม่มี อีกประการหนึ่งลักษณะเช่นนี้ของ thin client ทำให้ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก กินไฟน้อยและราคาถูก เหมาะที่จะใช้ในองค์กรหรือบริษัทที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและต้องการให้ระบบข้อมูลของตนปลอดภัย

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป
กลับไปสารบัญบทเรียน