ย่อมาจาก Personal Computer หมายถึง microcomputer ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่เล็กพอที่จะตั้งบนโต๊ะทำงานได้ ได้แก่คอมพิวเตอร์ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปตามสำนักงานและตามบ้าน รวมทั้งที่ใช้อยู่ในห้องคอมพิวเตอร์คณะอักษรศาสตร์ คำว่า personal computer เป็นคำประเภทเดียวกับคำว่า ซีร็อกซ์ และ พาวเวอร์พอยท์ กล่าวคือเดิมเป็นชื่อยี่ห้อสินค้า แต่เนื่องจากคนใช้สินค้ายี่ห้อนี้แพร่หลายมาก จึงใช้คำนี้เป็นคำทั่วไปแทนสิ่งของประเภทนั้นทั้งหมด เช่น เราพูดถึงเครื่องซีร็อกซ์ หรือพูดว่าไปซีร็อกซ์ แทนที่จะพูดว่าเครื่องถ่ายเอกสาร หรือไปถ่ายเอกสาร ทั้ง ๆ ที่เครื่องถ่ายเอกสารที่เราพูดถึงอาจจะเป็นยี่ห้อมิต้าหรือแคนนอน คำว่า personal computer เดิมเป็นชื่อคอมพิวเตอร์ของบริษัท IBM มีชื่อเต็มว่า IBM Personal Computer หรือเรียกกันโดยย่อว่า IBM-PC เหตุที่บริษัทไอบีเอ็มใช้ชื่อนี้ก็เพราะแต่เดิมมา คอมพิวเตอร์จะเป็นแบบ mainframe ผู้ใช้แต่ละคนจะมีแต่คีย์บอร์ดและจอภาพอยู่ตรงหน้าซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่อยู่อีกห้องหนี่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการใช้คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันร่วมกัน คอมพิวเตอร์นั้นไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ต่อมาเมื่อมีผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์ให้เล็กลงจนสามารถตั้งบนโต๊ะได้ เรียกว่า microcomputer บริษัทไอบีเอ็มจึงออกแบบและผลิตคอมพิวเตอร์เช่นนี้ออกมาบ้าง ที่ให้ชื่อดังกล่าวข้างต้นก็เพราะเมื่อเล็กลงจนตั้งโต็ะได้แล้ว แต่ละคนก็สามารถมีคอมพิวเตอร์ใช้เป็นส่วนตัวได้ เมื่อคนใช้คอมพิวเตอร์นี้แพร่หลาย คำว่า personal computer ก็ถูกใช้ในความหมายทั่วไป หมายถึงไมโครคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
ประเภทของไมโครคอมพิวเตอร์
ไมโครคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีสองประเภท
๑. IBM-PC Compatible เมื่อบริษัทไอบีเอ็มสร้าง IBM-PC ขึ้นมา มิได้สงวนลิขสิทธิ์ของสถาปัตยกรรมฮาร์ดแวร์ของตน บริษัทอื่น ๆ สามารถผลิตคอมพิวเตอร์แบบเดียวกันได้ จึงมีผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ที่มีสถาปัตยกรรมทางด้านฮาร์ดแวร์แบบเดียวกับ IBM-PC จำนวนมากมาย ในวงการเรียกคอมพิวเตอร์เหล่านี้ว่า IBM-PC Compatibles หรือ IBM Clones คำว่า personal computer จึงมีความหมายรวมถึงคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มด้วย ก่อนปี ค.ศ. 2549 ลักษณะเฉพาะตัวของคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ก็คือ ใช้ microprocessor ของบริษัท Intel หรือของบริษัทอื่นที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบเดียวกับของบริษัทนี้ เช่น AMD เนื่องจากระบบปฏิบัติการถูกผูกติดอยู่กับสถาปัตยกรรมของ microprocessor ลักษณะเฉพาะตัวที่ตามมาก็คือระบบปฏิบัติการที่ใช้ คอมพิวเตอร์ประเภทนี้ในอดีตส่วนใหญ่ใช้ระบบปฏิบัติการ DOS ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ Windows ที่เหลือมักใฃ้ OS/2 และ Linux
๒. MacIntosh หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า MAC เป็นคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบและผลิตโดยบริษัท Apple Computer ลักษณะเด่นคือ ในอดีตใช้ microprocessor ของบริษัท Motorola ต่อมาเปลี่ยนมาใช้ microprocessor ที่เรียกกันว่า PowerPC ซึ่งออกแบบร่วมกันโดยบริษัท Apple, IBM และ Motorola ไมโครโปรเซสเซอร์ทั้งสองมีสถาปัตยกรรมต่างจากที่ออกแบบโดย Intel และเนื่องจากระบบปฏิบัติการได้รับการออกแบบให้ผูกติดอยู่กับโปรเซสเซอร์ คอมพิวเตอร์แมคคินทอชจึงแตกต่างจาก IBM-PC Compatibles ทั้งในแรื่องฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ แต่ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2549 บริษัทแอบเปิลเปลี่ยนมาใช้ microprocessorของ Intel ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเครื่องแมคคินทอซกับ IBM-PC Compatibles จึงอยู่ที่ระบบปฏิบัติการ ระบบปฏิบัติการที่เครื่อง Mac ใช้คือ MacOS นิสิตสามารถดูตัวอย่างเครื่องแมคคินทอชและทดลองใช้เองได้ในห้องคอมพิวเตอร์ อยู่แถวหลังสุดด้านซ้ายมือ เครื่องเหล่านี้เป็นรุ่นที่ยังใช้โปรเซสเซอร์แบบ PowerPC อยู่
อาจมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าหากในปัจจุบันเครื่อง IBM-PC และ MacIntosh ต่างกันที่ระบบปฏิบัติการ เพราะใช้ processor อย่างเดียวกันแล้ว แต่ที่แบ่งประเภทข้างต้นใช้ความแตกต่างทางฮาร์ดแวร์เป็นพื้นฐาน การแบ่งข้างต้นยังใช้ได้หรือไม่ คำตอบก็คือตราบใดที่บริษัทไมโครซอฟท์ไม่ยอมให้นำระบบปฏิบัติการ MacOS มาใช้กับเครื่องที่ใช้วินโดวส์ ก็หมายความว่าการแบ่งข้างต้นยังใช้ได้อยู่ กล่าวคือเมื่อเราต้องการซื้อคอมพิวเตอร์ เราต้องถามตัวเองก่อนว่าจะใช้ระบบปฏิบัติการอะไร หากต้องการใช้ MacOS เราจะไปซื้อเครื่องยี่ห้ออย่างเช่น ฮิวเลตแพคการ์ด หรือเอเซอร์ ไม่ได้ หากเราต้องการใช้ระบบปฏิบัติการทั้งสองประเภทเราต้องซื้อเครื่องของบริษัทแอบเปิลเท่านั้น เพราะบริษัทแอบเปิลยอมให้ลงวินโดวส์ในเครื่องของตนได้ แต่จะต้องลงผ่าน MacOS กล่าวคือถ้าซื้อเครื่องแมคคินทอชมาเราจะลงแต่วินโดวส์ไม่ได้ จะต้องมี MacOS อยู่ด้วย ผู้ที่ต้องการใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เพียงอย่างเดียวคงจะเสียสติ (และเสียเงินมากเกินเหตุ) ถ้าไปซื้อเครื่องแมคคินทอชมาเพื่อการนี้
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า PC มีสองความหมายคือ
๑. ไมโครคอมพิวเตอร์
๒. IBM-PC Compatibles
หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป
กลับไปสารบัญบทเรียน