การอ้างเหตุผลประเภทที่ ๓ คืออ้างว่า การให้ผู้สร้างซอฟท์แวร์ครองสิทธิ์นั้น เพื่อให้สามารถเรียกผลตอบแทนเป็นเงินจากผู้ใช้ได้ การทำเช่นนี้จะเป็นแรงจูงใจให้โปรแกรมเมอร์เขียนซอฟท์แวร์ออกมาเพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเงิน ผลก็คือ จะมีซอฟท์แวร์ให้เลือกในตลาดมากมาย และมีการแข่งขันกัน ส่งผลให้ซอฟท์แวร์มีราคาไม่แพง และที่สำคัญคือทำให้มีซอฟท์แวร์ใช้แพร่หลาย นำความก้าวหน้ามาสู่สังคม การอ้างเหตุผลนี้เน้นที่ผลดีของการให้สิทธิ มิได้อ้างถึงหลักศีลธรรม แต่แน่นอนผลที่อ้างว่าจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปปรารถนา การอ้างเช่นนี้น่าจะคุ้นเคยกันดี เพราะเป็นการอ้างที่ใช้สนับสนุนระบบตลาด กล่าวคือใช้ประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงจูงใจให้คนผลิตสิ่งของเข้ามาขายในตลาด ผลที่จะได้คือประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกมากมาย และซื้อหาได้ในราคาไม่แพงเพราะการแข่งขันเป็นกลไกบังคับให้ผู้ขายตัดราคาสู้กัน
การอ้างเช่นนี้คล้ายคลึงกับการอ้างเรื่องการให้สิทธิเป็นรางวัล กล่าวคือเราอาจมองได้ว่าการให้รางวัลเป็นการกระตุ้นให้มีผู้สร้างซอฟท์แวร์ออกมาเพื่อหวังผลตอบแทน และจุดหมายก็เป็นอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้สังคมมีซอฟท์แวร์ที่มีคุณภาพใช้ แต่ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ การให้รางวัลมีหลักการเรื่องความพอเหมาะพอควรบังคับอยู่ แต่การอ้างเรื่องให้สิทธิเป็นแรงจูงใจไม่มีหลักการนี้มาบังคับ ผู้ผลิตจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนเท่าไรเป็นไปตามระบบตลาด และความสามารถเชิงตลาดอาจจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่ได้มากกว่าคุณภาพของสินค้าก็ได้ ข้อค้านที่ใช้กับเรื่องการให้สิทธิเป็นรางวัลจึงใช้ไม่ได้กับการอ้างเรื่องการให้สิทธิเป็นแรงจูงใจ
ถ้าเรายอมรับว่า การมีซอฟท์แวร์ใช้แพร่หลายในสังคมก่อให้เกิดผลดี คำถามที่เราควรถามก็คือ จริงหรือไม่ว่าการให้สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้สร้างซอฟท์แวร์จะนำไปสู่การมีซอฟท์แวร์ใช้แพร่หลาย
ถ้าเราเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่บังคับใช้กฏหมายลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัด เช่น สหรัฐอเมริกา กับประเทศที่ไม่ปราบปรามการลักลอบทำสำเนาซอฟท์แวร์อย่างจริงจัง เช่น ประเทศไทย เราจะเห็นว่าจริง
ในสหรัฐอเมริกามีซอฟท์แวร์ขายในตลาดจำนวนมาก ในประเทศเรามีน้อยมาก ซอฟท์แวร์ใช้งานภาษาไทยที่เราใช้กันทั่วไป เช่น Word, Excel และ Access เป็นของต่างชาติที่จ้างโปรแกรมเมอร์ไทยเพิ่มเติมความสามารถในการใช้ภาษาไทย ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะประเทศเราไม่มีโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถ
แต่เป็นเพราะโปรแกรมเมอร์เห็นว่า ถ้าผลิตโปรแกรมออกมา ก็ขายได้ไม่กี่ชุด ส่วนใหญ่คนจะทำสำเนาไปโดยไม่จ่ายเงินให้ตน ไม่คุ้มที่จะลงทุน
นับว่าการอ้างเหตุผลนี้มีน้ำหนักค่อนข้างสูง แต่ยังมีคำถามอีกข้อหนึ่ง จริงหรือไม่ว่าการให้สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้สร้างซอฟท์แวร์เป็นวิธีดีที่สุดที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ กล่าวคือ มีวิธีอื่นหรือไม่ที่ไม่ให้สิทธิแก่ผู้สร้าง แต่มีแรงจูงใจอย่างอื่นที่จะทำให้โปรแกรมเมอร์ผลิตซอฟท์แวร์ออกมามากพอที่จะทำให้สังคมมีซอฟท์แวร์ใช้แพร่หลาย ดังได้กล่าวมาแล้วในบทก่อนว่า มีซอฟท์แวร์จำนวนมากในตลาดที่แจกฟรี ผู้สร้างไม่ประสงค์จะได้เงินค่าตอบแทน แต่คงจะต้องการแสดงความสามารถให้ผู้อื่นยกย่อง
นี่ก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังสามารถให้แรงจูงใจทางด้านการเงิน เช่นให้ทุนแก่โปรแกรมเมอร์สำหรับพัฒนาโปรแกรม หรือให้รางวัลเป็นเงินบวกกับการประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ที่สร้างซอฟท์แวร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การทำเช่นนี้ไม่ใช่ของแปลก เพราะรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยก็ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัย หรือให้รางวัลแก่ผู้สร้างงานวิจัยที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมอยู่แล้ว ข้อดีที่เหนือกว่าวิธีให้สิทธิก็คือ ทำให้ทุกคนที่ใช้คอมพิวเตอร์มีซอฟท์แวร์ใช้ทั่วหน้ากัน ไม่จำกัดว่าใครมีใครจน ในระบบที่ให้สิทธิ คนจนอาจจะไม่มีเงินซื้อซอฟท์แวร์ทุกชนิดที่จำเป็นต้องใช้ได้
อาจมีผู้ค้านได้ว่า แรงจูงใจเท่านี้ไม่พอเพียงที่จะทำให้มีการสร้างซอฟท์แวร์มากเท่ากับการให้สิทธิ ข้อค้านนี้มีโอกาสสูงที่จะจริง แต่อย่าลืมว่าประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่แค่วิธีใดทำให้มีปริมาณซอฟท์แวร์มากที่สุด
แต่อยู่ที่ว่า ทำให้มีมากพอที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าในระดับที่ต้องการหรือไม่ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากสภาพในปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือ โปรแกรมใช้งานที่สำคัญเช่น Word processor
ปัจจุบันมีที่นิยมใช้กันอยู่เพียง ๓ หรือ ๔ ยี่ห้อเท่านั้น (หมายถึงโปรแกรมที่ใช้กับ PC) แต่เดิมมีมากมาย
แต่การแข่งขันซึ่งต้องมีผู้แพ้ ยังผลให้เหลือเพียง ๓ หรือ ๔ บริษัทที่แข่งขันกัน แต่มีเพียงเท่านี้ก็ยังประโยชน์ให้สังคมมากแล้ว ที่กล่าวมานี้เป็นจริงกับกรณีของโปรแกรมประเภท Spreadsheet และ Database ด้วย ดังนั้นถึงการให้แรงจูงใจประเภทที่ไม่ให้สิทธิจะไม่ทำให้มีการแข่งขันมากเท่าการให้
แต่ก็อาจทำให้มีซอฟท์แวร์มากพอที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่นอาจจะมี Word Processor อยู่แค่
๒ ยี่ห้อ แต่ก็อาจจะมีคุณภาพดีพอที่จะทำให้ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคมอาจจะไม่ต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กระนั้นก็ดี เนื่องจากยังไม่มีประเทศใดใช้ระบบเช่นนี้ จึงยากที่จะตัดสินให้เป็นรูปธรรมว่า การให้แรงจูงใจแบบนี้จะให้ผลที่พึงปรารถนาเช่นเดียวกับการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้
การวิเคราะห์ที่ผ่านมาสรุปได้ว่า เหตุผลที่น่าเชื่อถือที่สุดที่ใช้สนับสนุนการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้สร้างซอฟท์แวร์นั้น คือการอ้างเหตุผลที่อ้างถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แต่ตราบใดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าวิธีให้แรงจูงใจแบบอื่นจะให้ผลดีในระดับที่พึงประสงค์หรือไม่ การโต้เถียงกันในเรื่องนี้ยังไม่อาจยุติลงได้