สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะเป็นรางวัล




การอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทำได้อีกทางหนึ่ง คืออ้างว่าผู้ที่สร้างซอฟต์แวร์ควรได้สิทธินี้ เพราะได้ประดิษฐ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ กล่าวคือการให้สิทธินี้เป็นการให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ ตามหลักการที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

เหตุผลเช่นนี้เป็นการอ้างถึงหลักทางจริยธรรมที่เป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใด เป็นหลักที่อยู่เบี้องหลังศีลธรรมของศาสนาต่างๆ   คงไม่มีใครตั้งข้อสงสัยว่าหลักการนี้ถูกต้องหรือไม่ ประเด็นที่ต้องขบคิดกันก็คือ ควรหรือไม่ที่จะให้รางวัลแก่ผู้ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ในรูปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวคือเรายอมรับว่าผู้ประดิษฐ์ควรได้รับรางวัลตอบแทนความดี แต่เราตั้งข้อสงสัยได้เกี่ยวกับประเภทและปริมาณของรางวัล คนที่เก็บเงินที่คนอื่นทำตกไว้ ๑๐๐ บาท ไม่ควรได้รางวัลถึงขั้นประกาศเกียรติคุณไปทั่วโลก มหาเศรษฐีที่ทำงานกุศลช่วยเหลือสังคมไม่ควรได้รับสิ่งตอบแทนที่เป็นเงิน เพราะมีมากแล้ว

ข้อสังเกตนี้ทำให้เราเข้าใจชัดเจนว่า การอ้างเหตุผลนี้ต่างจากการอ้างเรื่องสิทธิตามธรรมชาติอย่างไร การอ้างเรื่องสิทธิตามธรรมชาติเป็นเรื่องของความเป็นเจ้าของ และเสรีภาพที่เจ้าของมีในการจะทำอะไรกับทรัพย์สินของตน ซอฟต์แวร์อย่างหนึ่งอาจจะไม่ได้มีประโยชน์มากเท่ากับซอฟต์แวร์อีกอย่างหนึ่ง แต่ทำเงินให้เจ้าของมากกว่า เป็นเพราะมีปัจจัยเรื่องการแข่งขันในตลาดเข้ามาเกี่ยว เราอาจจะกล่าวว่า ผู้ประดิษฐ์ไม่สมควรได้เงินมากกว่าอีกคนหนึ่ง แต่เราก็ไม่เถียงว่า เป็นสิทธิของเขาที่จะได้เงินจำนวนนั้น การตัดสินที่ต่างกันนี้เป็นเพราะเราใช้เกณฑ์ต่างกัน นี่แสดงให้เห็นว่าการอ้างเรื่องการให้รางวัลเป็นคนละเรื่องกับการอ้างเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ

การอ้างเรื่องการให้รางวัลสามารถหลีกเลี่ยงข้อค้านข้อหนึ่งที่ใช้กับเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ การให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประดิษฐ์ไม่ยุติธรรม เพราะเราอาจสืบสาวที่มาของความคิดไปยังผู้อื่น ตามหลักของสิทธิในแรงงาน ผู้อื่นควรได้ด้วย ผู้อ้างเรื่องการให้สิทธิเป็นรางวัลอาจชี้ให้เห็นว่า การให้รางวัลเป็นเรื่องของการให้เกียรติหรือการรับรู้ในความดีที่ทำ หรือเป็นการแสดงความกตัญญู เราสามารถที่จะให้รางวัลนี้แก่ผู้ที่คิดมาก่อนผู้ประดิษฐ์ หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้ประดิษฐ์ ในรูปของการกล่าวยกย่องหรือประกาศเกียรติคุณ ถึงแม้บางคนจะเสียชีวิตไปแล้ว และการกล่าวยกย่องในภายหลังก็เป็นการให้ความยุติธรรม

ต่อไปนี้เราจะมาพิจารณาถึงประเด็นที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเป็นประเด็นที่ควรถาม คือควรหรือไม่ที่จะให้รางวัลแก่ผู้ประดิษฐ์ซอฟต์แวร์ในรูปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในการให้รางวัลตอบแทนแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ มีหลักการอยู่ว่า เราควรให้สิ่งที่เขาต้องการ ตัวอย่างเรื่องมหาเศรษฐีข้างต้นชี้ให้เห็นว่าเรามีหลักการนี้ในการให้รางวัล ที่ว่าทำดีได้ดีนั้น ผู้ทำจะได้ดีก็คือได้สิ่งที่ตนต้องการ เมื่อมาถึงจุดนี้อาจมีผู้ค้านการอ้างเหตุผลเรื่องการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นรางวัลว่า มีนักประดิษฐ์จำนวนมากที่ไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ต้องการแสดงความสามารถของตนและต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ บุคคลเหล่านี้ย่อมไม่ต้องการสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งมีไว้เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่ต้องการการยกย่องและชื่อเสียง การให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่นักประดิษฐ์ทุกคนจึงผิดหลักการ คนบางคนสมควรได้รางวัล แต่กลับได้รางวัลในรูปแบบที่ตัวเองไม่ต้องการ

ข้อค้านนี้อาจโต้แย้งได้ว่า จริงอยู่ว่านักประดิษฐ์มีสิทธิในสิ่งที่สร้างขึ้น แต่ถ้าไม่ต้องการสิทธินี้เพราะไม่ต้องการเงินตอบแทน ก็สามารถสละสิทธินี้ได้ มีผู้สร้างซอฟต์แวร์จำนวนมากที่ทำเช่นนี้ และประกาศว่าซอฟต์แวร์ของตนให้ฟรี บุคคลเหล่านี้ก็มักได้รับการยกย่องสรรเสริญว่ามีจิตใจดี เพิ่มเติมไปจากได้รับคำชมเชยว่าสร้างซอฟต์แวร์ที่ดี ดังนั้นในระบบการให้สิทธิเป็นรางวัล บุคคลที่ไม่ต้องการสิทธินี้ก็ยังคงได้รับรางวัลที่ต้องการ

อีกประการหนึ่ง การให้สิทธินี้เป็นรางวัลเป็นสิ่งเหมาะสม เพราะผู้ประดิษฐ์ส่วนใหญ่ต้องการสิ่งตอบแทนเป็นเงิน   แต่การกำหนดว่าใครควรได้เงินเท่าไรเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก   การคำนวณว่าซอฟต์แวร์หนึ่งมีประโยชน์เพียงใด และควรได้รับรางวัลเป็นเงินเท่าไร ยากที่จะลงรอยกันได้ แต่การให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะทำให้เจ้าของสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามมูลค่าในตลาดนั้น เป็นวิธีการตัดสินที่ดี   ถ้าซอฟต์แวร์นั้นมีประโยชน์มาก คนก็จะต้องการมาก เจ้าของสิทธิก็จะได้เงินมากไปด้วย   กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ซอฟต์แวร์หนึ่งมีประโยชน์มากเพียงใด เราให้ผู้ใช้ตัดสินเอง และเจ้าของซอฟต์แวร์ควรได้เงินเท่าไร ผู้ใช้เป็นผู้ตัดสินอีกเช่นกัน ถ้าเจ้าของซอฟต์แวร์เรียกราคาสูงเกินกว่าที่ผู้ใช้เห็นว่าคุ้มค่ากับประโยชน์ ผู้ใช้ก็จะไม่ซื้อ เจ้าของก็ต้องลดราคาลงจนผู้ใช้เห็นว่าเหมาะสมจึงจะซื้อ กลไกของระบบตลาดเป็นเกณฑ์ตัดสินที่ดีว่าใครควรได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเท่าไร

แต่จริงหรือไม่ว่า ระบบตลาดเป็นกลไกที่ดีในการแจกรางวัล การแข่งขันในตลาดมักจะมีผู้แพ้ผู้ชนะ ผู้ค้าขายที่แพ้ก็ต้องเลิกกิจการไป ซอฟต์แวร์หนึ่งอาจจะมีประโยชน์อย่างมากกับผู้ใช้ แต่มีซอฟต์แวร์อื่นประเภทเดียวกันมาแข่งขันซึ่งอาจจะมีประโยชน์เท่ากัน แต่อาศัยความสามารถทางการตลาดที่เหนือกว่าและทุนทรัพย์ที่มากกว่า ครองตลาดได้สำเร็จ และทำให้ผู้สร้างซอฟต์แวร์ตัวแรกต้องเลิกกิจการไป นี่หรือคือรางวัลของผู้ทำประโยชน์ต่อสังคม อาจจะมีผู้แย้งว่า ผู้แข่งขันชนะก็ควรได้รางวัล ผู้แพ้ไม่ควรได้ แต่การกล่าวเช่นนี้ผิดประเด็น ผู้ชนะมิได้ชนะเพราะซอฟต์แวร์มีประโยชน์กว่า แต่เพราะความสามารถทางอื่น ประเด็นที่เรากำลังพิจารณากันคือเรื่องของการให้รางวัลแก่ผู้ที่สมควรได้ โดยดูจากประโยชน์ที่ให้แก่สังคม มิใช่ดูจากความสามารถอื่น

ดังนั้น ระบบตลาดจึงไม่ใช่กลไกที่ดีในการตอบแทนผู้ทำดี การอ้างว่าการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์เป็นการให้สิ่งตอบแทนผู้ทำประโยชน์โดยผ่านกลไกของตลาด จึงไม่มีเหตุผลพอเพียง

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป

กลับไปสารบัญบทเรียน