การอ้างเหตุผลเพื่อสนับสนุนการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้สร้างหรือผู้ผลิตซอฟต์แวร์นั้น ทำกันหลายทางด้วยกัน ทางหนึ่งก็คือการอ้างจากสิทธิตามธรรมชาติ กล่าวคืออ้างว่า สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิตามธรรมชาติ การอ้างเช่นนี้เป็นที่นิยม เพราะในทางปรัชญาสังคม นักคิดสายเสรีนิยมประชาธิปไตยกลุ่มหนึ่ง อ้างเหตุผลสนับสนุนสิทธิในทรัพย์สินโดยอ้างจากสิทธิตามธรรมชาติ และเป็นการอ้างที่ได้รับความเขื่อถือสูง ในเมื่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในทรัพย์สิน การอ้างจากหลักเดียวกันจึงน่าจะให้ความน่าเชื่อถือสูงเช่นกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาพิจารณากัน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่าสิทธิตามธรรมชาติคืออะไร โดยปกติเมื่อเราพูดถึงสิทธิ เรามักหมายถึงสิทธิที่รัฐบาลให้แก่พลเมืองดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิตามธรรมชาติเป็นสิทธิที่เรามีในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองของรัฐหนึ่ง มนุษย์ทุกคนมีลักษณะบางอย่างที่ก่อให้เกิดสิทธิ
เช่นการที่เรามีเหตุผล สามารถเลือกเส้นทางชีวิตของเราได้ ทำให้เรามีสิทธิตามธรรมชาติที่จะดำรงชีวิตตามวิถีทางของเรา ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น สิทธินี้เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของรัฐใด ส่วนสิทธิที่รัฐให้แก่ประชาชนในแต่ละรัฐนั้น อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรัฐบาล รัฐบาลควรจะเคารพสิทธิที่มนุษย์มีโดยธรรมชาติ เพราะเป็นสิทธิที่เป็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือสิทธิตามธรรมชาติเป็นมาตรวัดว่ารัฐบาลทำในสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่ ปัจจุบันสิทธิตามธรรมชาติรู้จักกันในนามของสิทธิมนุษยชน ประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน คือประเทศที่รัฐบาลถูกกล่าวหาว่า
ไม่เอาสิทธิตามธรรมชาติมาเป็นกฎหมาย
ดังนั้น การอ้างว่าควรมีกฎหมายที่ให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้สร้างหรือผู้ผลิตซอฟต์แวร์เพราะสิทธินี้เป็นสิทธิตามธรรมชาติ จึงเป็นการอ้างไปถึงเกณฑ์พื้นฐานที่ใช้ตัดสินความชอบธรรม การอ้างนี้มีขั้นตอนต่อไปนี้
สิทธิตามธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือสิทธิในชีวิต และถ้าเรามีสิทธินี้เราก็ต้องมีสิทธิในร่างกายของเราด้วย เพราะร่างกายกับการมีชีวิตนั้นแยกกันไม่ออก เนื่องจากแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายของเรา
เราก็ย่อมมีสิทธิในแรงงานด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเราใช้แรงงานสร้างหรือผลิตสิ่งหนึ่งขึ้นมา เราก็ควรจะมีสิทธิในสิ่งนั้น นั่นคือเราควรจะเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ถ้าใครมาพรากสิ่งนั้นไปจากเราโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก็ต้องถือว่ามาละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของเรา การอ้างเหตุผลนี้ใช้กับทรัพย์สินทางปัญญาได้ เพราะถือว่าผลิตจากแรงงานทางสมอง เราต้องออกแรงคิด หรือใช้พลังความคิดเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมา
มาถึงจุดนี้เราอาจถามได้ว่า ทำไมเมื่อคนผู้หนึ่งผลิตสิ่งหนึ่งขี้นมา เขาจึงควรเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ถ้าสิ่งที่ผลิต
คนอื่นก็ใช้ได้ ทำไมไม่ถือว่าสิ่งต่างๆ ที่ใครก็ตามผลิตขึ้นมา ควรเป็นสมบัติของสังคมที่ทุกคนแบ่งกันใช้
คำตอบก็คือ การที่คนผลิตหรือสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาก็เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของตน ถ้าไม่สามารถควบคุมการใช้สิ่งนั้นได้อย่างเต็มที่ ก็ไม่อาจใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนได้อย่างที่คาดหวัง นั่นก็คือจะสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิตของตนอย่างที่วางแผนไว้ การที่จะควบคุมการใช้สิ่งนี้ได้อย่างเต็มที่ก็คือเป็นเจ้าของสิ่งนี้ ผู้อื่นจะใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของไม่ได้
ปัญหาก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ มีลักษณะที่ต่างจากวัตถุทั่วๆไป กล่าวคือ
ถ้าเราคัดลอกซอฟต์แวร์นั้นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้สร้างก็ยังใช้ซอฟต์แวร์นั้นต่อไปได้ ไม่ถูกพรากจากซอฟต์แวร์นั้น และซอฟต์แวร์ก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด
ผู้ที่สนับสนุนการมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอาจค้านได้ว่า สิ่งที่ผู้สร้างสูญเสียก็คือ ผลประโยชน์ที่
ได้จากการขายซอฟต์แวร์ เพราะถ้าคนอื่นคัดลอกไปโดยไม่จ่ายเงิน ผู้สร้างก็จะขายซอฟต์แวร์ไม่ได้
การได้ผลประโยชน์จากการค้าขายก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต
การกล่าวเช่นนี้หมายความว่า สิ่งที่ผู้สนับสนุนเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหมายถึงก็คือ ผู้สร้างหรือผู้ประดิษฐ์ควรมีสิทธิในมูลค่าทางตลาดของสิ่งที่ตนประดิษฐ์ กล่าวคือเมื่อนำสิ่งประดิษฐ์มาขาย
เขามีสิทธิ์ที่จะได้เงินตามราคาขายซึ่งถูกกำหนดโดยกลไกของตลาด แต่การอ้างเช่นนี้อาจค้านได้ว่า
การที่เขาคิดประดิษฐ์สิ่งหนึ่งขึ้นมาได้ เป็นเพราะความคิดของเขาคนเดียวกระนั้นหรือ นักประดิษฐ์ต้องเรียนจากสถานศึกษา การประดิษฐ์อาจได้แรงดลใจมาจากผลงานของคนอื่น สิ่งประดิษฐ์ทางปัญญา
เช่น วรรณคดี ภาพยนต์ ดนตรี มักสืบทอดมาจากธรรมเนียมของสังคม กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ความคิดของนักประดิษฐ์ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต้องสืบทอดหรือได้อิทธิพลมาจากผู้อื่น ถ้ายึดการอ้างตามหลักสิทธิในแรงงานข้างต้น บุคคลอื่นๆ นอกจากนักประดิษฐ์ ก็ต้องมีส่วนแบ่งในสิทธิในมูลค่าทางตลาดของสิ่งประดิษฐ์นั้นด้วย จะให้ยุติธรรมก็ต้องนำรายได้ไปแจกจ่ายให้บุคคลเหล่านี้ด้วย เหตุใดเล่าจึงเจาะจงมอบสิทธิให้แก่ผู้สร้างเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว การอ้างว่าสืบค้นลำบากว่ามีใครบ้างที่มีส่วนสร้างอิทธิพลหรือบุคคลเหล่านั้นหลายคนมิได้มีชีวิตอยู่แล้ว มิได้ทำให้ความอยุติธรรมนี้หายไป
อีกประการหนึ่ง มูลค่าทางตลาดของสิ่งๆหนึ่งมิได้มีแต่แรงงานของผู้สร้างเป็นตัวกำหนด แต่เป็นผลจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่นนโยบายของรัฐบาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกลไกตลาดเพียงใด มีสินค้าประเภทเดียวกันแข่งขันมากเท่าไร ระดับรายได้ของผู้บริโภค เป็นต้น ถ้าจะยึดหลักสิทธิในแรงงาน
ต้องแยกว่ามูลค่าส่วนที่แรงงานกำหนดมีเท่าไรซึ่งไม่น่าจะทำได้ การให้ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิในมูลค่าทั้งหมดจึงไม่ถูกต้อง
สรุปแล้วการอ้างเหตุผลสนับสนุนการให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่อ้างจากสิทธิตามธรรมชาติไม่น่าเชื่อถือ กล่าวคือ ข้ออ้างเรื่องสิทธิตามธรรมชาติไม่อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ผู้ประดิษฐ์มีสิทธิในมูลค่าทางตลาดของสิ่งประดิษฐ์ของตนได้ เราจะสำรวจดูต่อไปว่า มีข้ออ้างอื่นที่นำไปสู่ข้อสรุปนี้ได้หรือไม่