สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา



ปัจจุบันเราได้ยินหรือได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาบ่อย การพูดกันในเรื่องนี้จะเกี่ยวกับ ภาพยนตร์ เพลง ข้อเขียน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ กล่าวคือถือกันว่าการก๊อปปี้หนัง เพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ครองสิทธ์ เป็นการขโมย และดังนั้นเป็นสิ่งผิดในแง่ที่เป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เปรียบได้กับการที่เราขโมยรถยนตร์ โทรทัศน์ เป็นต้น  ความแตกต่างอยู่ที่คำว่า "ทางปัญญา"  ทรัพย์สินทางปัญญาต่างจากทรัพย์สินทั่วไป เช่น วิทยุ หรือ รถยนต์ ตรงที่เป็นของที่จับต้องไม่ได้ จริงอยู่เราจับต้องตลับเทปหรือแผ่นดิสเกตได้ แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาคือความคิด ซึ่งเป็นผลผลิตทางปัญญาที่จับต้องไม่ได้ แต่แสดงออกมาในรูปของเสียงเพลงหรืออักขระที่บรรจุอยู่ในเทปหรือหนังสือ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาคือการนำผลผลิตทางปัญญาของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของ หรือไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของ

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือทรรศนคติที่คนมีเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เราจะเห็นว่าการลักขโมยทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น รถยนต์ รองเท้า เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ทำ และคนทั่วไปจะถือว่า ถ้าทำก็ผิดศีลธรรม แต่การซื้อเทปเพลงหรือหนังเถื่อน หรืออัดเทปเพลงหรือหนังจากต้นฉบับของเพื่อน การก๊อปปี้ซอฟท์แวร์จากคนอื่นมาใช้เอง หรือการไปซื้อซอฟท์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนจำนวนมาก (อย่างน้อยในประเทศเรา) ทำกัน ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย ถ้าเราถามคนเหล่านี้ หลายคนคงจะตอบว่าไม่รู้สึกว่าได้ทำอะไรผิดในแง่ศีลธรรม เราจะต้องหาคำอธิบายว่า เหตุใดคนจำนวนมากจึงมีทรรศนคติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ต่างไปจากที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินที่จับต้องได้

ผลผลิตทางปัญญานั้น เราสามารถเอาไปใช้ได้โดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าของ โดยที่เจ้าของเองยังสามารถใช้ผลผลิตของตนต่อไปได้เหมือนเดิม ถ้าเราแอบก๊อปปี้ซอฟท์แวร์จากคนอื่น คนผู้นั้นก็ยังคงใช็ซอฟท์แวร์นั้นทำงานต่อไปได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเราขโมยวิทยุของคนอื่น คนผู้นั้นก็จะไม่มีวิทยุฟัง นี่อาจจะอธิบายว่าทำไมคนจำนวนมากจึงก๊อปปี้ซอฟท์แวร์โดยไม่รู้สึกผิด เป็นเพราะไม่รู้สึกว่าทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ได้ทำให้ใครใช้ซอฟท์แวร์นั้นไม่ได้

กระนั้นก็ดี กฏหมายแทบทุกประเทศปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเจ้าของผลผลิตทางปัญญาก็อ้างว่า การเอาผลผลิตของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการลักขโมย เป็นสิ่งที่ผิดทั้งทางด้านศีลธรรมและกฏหมาย แต่ข้อสังเกตข้างต้นทำให้น่าคิดว่าการอ้างเช่นนี้มีเหตุผลหรือไม่ เป็นไปได้ว่าการอ้างสิทธิในผลผลิตทางปัญญาอาจทำไม่ได้เหมือนกับการอ้างสิทธิในผลผลิตที่จับต้องได้ นี่เป็นตัวอย่างกรณีที่เทคโนโลยี่คอมพิวเตอร์ทำให้เกิดแง่มุมใหม่ในการคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ในผลผลิต

แต่ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนเกี่ยวกับกลไกที่กฏหมายใช้ในการปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กฏหมายมีวิธีปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ๓ วิธีด้วยกันคือ
      ๑. ความลับทางการค้า (Trade secrets) เช่นข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทเกี่ยวกับกรรมวิธีในการผลิต สินค้าใหม่ที่กำลังจะออก ผู้ใดนำไปเปิดเผย หรือมาขโมยไปย่อมถูกลงโทษ ตัวอย่างกรณีพิพาทเรื่องความลับทางการค้า
      ๒. สิทธิบัตร (patents) เมื่อผลผลิตหนึ่งได้รับสิทธิบัตร เจ้าของเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิในการใช้หรือขายความคิดของตน และถ้ามีผู้อื่นคิดอย่างเดียวกันได้ในภายหลัง ถึงจะมิได้ลอกเลียน แต่จะมีสิทธิในความคิดนี้ไม่ได้ สิทธิบัตรมักจะหมดอายุหลังจาก ๑๗ ปี สิ่งที่จะได้สิทธิบัตรต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ จัดอยู่ในประเภทเครื่องจักรหรือกระบวนการในการผลิต และมีประโยชน์
      ๓. ลิขสิทธิ์ (copyrights) เป็นสิทธิในการที่จะตีพิมพ์ หรือแสดงผลงาน หรือแจกจ่ายสำเนาของผลงาน มักจะมีอายุ ๕๐ ปีหลังจากผู้สร้างเสียชีวิตแล้ว ลิขสิทธิ์ใช้ปกป้องงานวรรณกรรม ต่างจาก สิทธิบัตรตรงที่มีข้อยกเว้นให้กับกรณีการใช้บางประเภท เช่นเพื่อการศึกษา และถ้าผู้อื่นมีผลผลิตทางปัญญาอย่างเดียวกันและพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ลอกเลียนมาจากใคร ก็ย่อมได้ลิขสิทธิ์ด้วย

สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ต่างจากความลับทางการค้าตรงที่ ผลผลิตที่ได้รับความคุ้มครองจากกฏหมาย ๒ ประเภทนี้เป็นสิ่งเปิดเผยต่อสาธารณชน เพราะสร้างขึ้นมาเพื่อให้คนทั่วไปใช้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้รับความปกป้องภายใต้กฏหมายลิขสิทธิ์เพราะถูกจัดอยู่ในประเภทเดียวกับวรรณกรรม

ต่อไปเราจะมาดูกันว่า มีเหตุผลหรือไม่ที่จะให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายลิขสิทธิ์ ประเด็นของการโต้เถียงอยู่ที่ว่า ควรหรือไม่ที่กฏหมายจะให้สิทธิในทรัพย์สินแก่ผู้สร้างผลิตผลทางปัญญา ในเมื่อผลิตผลประเภทนี้มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือคนทั้งหลายสามารถใช้ผลิตผลนี้ได้โดยไม่กระทบการใช้ผลิตผลเดียวกันของผู้อื่น สิ่งที่เราจะทำคือ พิจารณาการอ้างเหตุผลที่ใช้สนับสนุนการให้สิทธิในทรัพย์สินแก่ผู้สร้างผลิตผลทางปัญญา เพื่อจะดูว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ การอ้างเหตุผลนี้ มีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกัน

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป