![]() |
ลิลิตดั้น
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)ร่าย ศรีศรีสยามรัฐ ทัดทัดถิ่นสุรฐาน สราญราวสุรราษฎร์ โอภาสเพียงสุรภพ ลาภหลั่งลบสุรโลก ยศโยคเยี่ยงสุริยน เกียรติก่องกลสูรยกานต์ ชัยช่วงปานสูรยฉาย เดชกำจายสุรด้าว คุณอะคร้าวสุรเขต ตระการเนตรเนืองนิตย์ พิศภาคใดดำรู ชูจิตชื่นหื่นหาส พิศปราสาทเทียบสรวง กรุงหลวงเล่ห์ไกลาส พิศทวยราษฎร์รุ่งเรือง พิศหัวเมืองมั่งคั่ง พิศพนัสพรั่งพรูพฤกษ์ พิศดงดึกดื่นสัตว์ พิศชลมัจฉะชุก พิศสวนรุกข์รวยผล พิศภูวดลดาษแร่ พิศนาแผ่ธัญญชาติ พิศไร่กลาดพืชพรรณ เหลือจักจรรจาจบ ต่างเทศคบคั่งคับ รับสราญทั่วหน้า เกียรติเกริกหล้าสากล เดชจุมพลผ่านแผ้า ปกเกล้าสยามยืนยง คงอิสระเรืองคุณ หนุนศาสน์เลิศเชิดธรรม นำศานติสุขไสว สว่างเทศ สยามราษฎร์อะคร้าวครื้น ครึกผล
จักจองพจนประพันธ์ สรรอุทาหรณ์หาญ ขานคุณชาวบ้านบางระจัน ผู้เพ็ญฉันท์ภักดิ์ชาติ ศาสน์กษัตริย์สุจริต กอบกิจช่วยชาติตน สู้ศึกจนวอดวาย ตายด้วยความกล้าหาญ ควรขานคุณสดุดี เป็นพลีโลมโศรตร ปรุงปราโมทย์มวลมิตร สายโลหิตแห่งสยาม งามคู่งามสยามรัฐ ทัดเทียมเครื่องประสาธน์ สวมสอด พาชาติผ่องแผ้วพ้อง พรรคสรวง
ร่าย ปางภูธรสยามรัฐ ฉัตรศรีอยุธยา บรมราชาที่สาม สยามราชร่มเกล้า คือพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงจัดการกวดขัน เพื่อป้องกันพระนคร รวมราษฎรเข้าเวียง ขนเสบียงเข้ากรุง บำรุงพลรบพร้อม ประจำป้อมปราการ ส่งพลราญรุกร้น ปล้นค่ายคอยขัดขวาง วางปืนใหญ่แย้งยุทธ์ ข้าศึกสุดสามารถ ไป่อาจเข้าคลุกคลี ตีกรุงให้แตกพ่าย จึงตั้งค่ายรอบนคร คุมเชิงรอนราญรบ เที่ยวตีตลบลาดตระเวน เกณฑ์กองทัพเที่ยวปล้น ค้นทรัพย์สินเงินทอง จับเจ้าของบังคับ ให้นำจับต่อไป เข้าบ้านใครคร่าทรัพย์ จับลูกสาวหลานสาว ชาวสยามยามนั้น หมดที่กั้นที่กีด หมดจารีตรักษา มักพากันอพยพ หลบกายซุกซ่อนตัว ตามป่า คงอยู่แต่บ้านร้าง เรี่ยราย ร่าย ยังมีชายชาวสยาม นามนายแท่นกับสหาย นายโชตินายเมืองนายอิน อยู่แดนดินสิงห์บุรี ณ บ้านศรีบัวทอง อีกสองชายชาวเขต เมืองวิเศษชัยชาญ นามขนานนายดอก บอกตำบลบ้านกรับ กับนายทองแก้ว, อยู่หมู่บ้านโพธิ์ทะเล หกนายเหหากัน พลันปรึกษาปรองดอง ปองแก้แค้นแทนชาติ ตกประดาษอาดูร ดาลเทวษ เหลือจักนั่งก้มหน้า นิ่งดู โคลง ๔
โคลง ๓
ร่าย ปรึกษาความตกลง ปลงชีพให้แก่ชาติ เกลี้ยกล่อมราษฎร ซึ่งซอกซอนซัดเซ คะเนได้มากมาย ทำอุบายเข้าหา สวามิภักดิ์พวกไพรี นำวิถีชี้ตำบล คนมีลูกสาวมีทรัพย์ ถึงที่ลับล้อมฆ่า พม่าที่ตามไป บรรลัยหมดยี่สิบคน แล้วคุมพลหนีไป อาศัยบ้านบางระจัน ซึ่งเห็นกันว่าเหมาะ เพราะอยู่ห่างกลางดอน ตอนพรมแดนเมืองสุพรรณ ต่อกันกับสิงห์บุเรศ เมืองวิเศษชัยชาญ เสบียงอาหารพร้อมพรัก ชักชวนกันอาราธนา พระอาจารย์ธัมมโชต ผู้สันโดษเคร่งครัด จากวัดเขานางบวชสุพรรณ อัญเชิญมาวัดโพธิ์เก้าต้น คุ้มครองพ้นอันตราย แล้วเลือกชายเป็นหัวหน้า ห้าคนที่นับถือ คือขุนสรรค์พันเรืองกำนัน นายจันหนวดเขี้ยวแข็งแรง นายทองแสงใหญ่ใจเย็น นายทองเหม็นคนขยัน ช่วยกันตั้งค่ายล้อม โอบอ้อมบ้านบางระจัน ปันออกเป็นสองค่าย จ่ายอาวุธครบครัน สรรผู้ชายเป็นทหาร ได้ประมาณสี่ร้อยคน จัดพลคอยพิทักษ์ รักษาหน้าที่ด่านทาง วางกองสืบสอดแนมนำข่าว, เตรียมตรวจตราพร้อมถ้วน ทุกสถาน
ผองไพรี ณ ค่ายเขต เมืองวิเศษชัยชาญ จึงรายงานแจ้งยุบล ซึ่งฝ่ายตนซวดเซ ต่อเนเมียวสีหบดี จอมโยธีอุตดรภาค อยู่ค่ายปากน้ำพระประสบ ขอพลรบเรืองแรง รณยุทธ์ตี ทัพไทยให้แพ้ พ่ายหนี
หนค่ายบ้านบางระจัน พลันทราบข่าวกองทัพ นับมากกว่าคราก่อน จึงผ่อนปรนปรึกษากัน สรรนายแท่นเป็นนายใหญ่ คุมไพร่เป็นกองกลาง ทางปีกขวานายทองเหม็น พันเรืองเป็นปีกซ้าย แยกย้ายพลเท่ากัน ปันเป็นกองละสองร้อย ต่างคนต่างคล้อยเคลื่อนทัพ รวมสรรพหกร้อยคน ล้วนพลถืออาวุธ ปืนคาบชุดคาบศิลา ชาวบ้านหามาให้ ทั้งแย่งได้จากไพรี นอกนั้นมีอาวุธสั้น ครั้นเดินทัพถึงที่ สะตือสี่ต้นโดยปอง ณ ริมคลองบางระจัน พลันเห็นพม่ามาตั้ง ยั้งอยู่ฟากฝั่งใต้ ให้ตั้งรับฟากเหนือ เนืองแน่น ต่างฝ่ายยิงโต้แย้ง ยุทธ์กัน
ร่าย ฝ่ายม่านซมซานหนี
เหลือตายมีจำนวนน้อย คล้อยกลับมาแจ้งเหตุแก่ แม่ทัพเนเมียวสีหบดี จึงให้ทวีโยธา
แยจออากาเป็นนายทัพ นับเป็นครั้งครบห้า เข้ารบร้าทัพไทย แตกกลับไปดังก่อน
จึงผ่อนผันเพิ่มพล เข้าราญรณคำรบหก ยกให้จิกแกปลัดเมืองทวาย เป็นนายทัพครั้งนี้
ก็แตกปี้ป่นมา จึงปรึกษานายทัพนายกอง ปองปราบปรามบางระจัน สรรพลที่กล้าหาญ
ได้ประมาณพันคนปลาย นายชื่ออาคาปันคะยี มีพลทั้งเหล่าม้าเหล่าราบ ยกไปปราบครั้งที่เจ็ด
สรรพเสร็จจึ่งให้คลา เคลื่อนทัพ ทั้งราบและม้าเมื้อ มุ่งไคล ฝ่ายค่ายไทยบางระจัน เพิ่มพลขันธ์คับคั่ง สั่งสมเสบียงอาวุธ ทราบข่าวรุดเร่งรัด จัดการเตรียมต่อสู้ นายแท่นผู้นายเก่า แผลที่เข่ายังไม่หาย ตั้งนายจันทร์หนวดเขี้ยวขึ้นใหม่ เป็นนายใหญ่บังคับ ยกทัพคนพันเศษ สังเกตทัพไพรี มีเหล่าม้ามากมาย จึงคัดชายชำนาญปืน ให้คอยยืนยิงกองม้า หัวหน้าคัดขุนสรรค์ รวมกันร้อยคนกว่า ต่างดูท่าท่วงที เห็นไพรีเดินพล ลุตำบลบ้านขุนโลก สบเหมาะโชคเชิงรณ เพราะมีพลพอกัน พลันให้เข้าโจมตี ไพรีซึ่งกำลัง ตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว ต่างแกล้วต่างกล้ารณ รุกรบ สองฝ่ายต่อสู้ด้วย อาจหาญ
ร่าย มวลม่านเสริมหวาดเสียว บัดเนเมียวสีหบดี ยิ่งมีความร้อนใจ กลัวไทยจักเจริญมาก กรากเข้าช่วยกรุงรบ สมทบกระหนาบทัพพม่า จักเสียท่าท่วงที จึงกรีฑาทัพใหญ่ เอาใจใส่กวดขัน สรรเอาสุกี้ผู้ชำนาญ ถิ่นฐานไทยทุกแห่ง แต่งตั้งเป็นนายทัพ รับอาสามาปราบ กำราบชาวบางระจัน เดินพลขันธ์ไม่ประมาท ส่งลาดตระเวนล่วงหน้า ตรวจข้าศึกสอดแนม แรมไหนตั้งค่ายมั่น เป็นหลั่นมาโดยลำดับ ถับถึงบ้านบางระจัน ให้กวดขันตั้งค่ายคู ดูให้เกินแรงไทย จักจู่ไปเพิงพัง คอยระวังสืบเหตุ สังเกตไทยยังแข็งแรง แฝงยิงรบอยู่ในค่าย ล่อให้ร่ายออกตี ได้ท่วงทีจึงออกรบ ไม่เหมาะหลบหลอกยิง ประวิงไทยให้ช้า ยิ่งกล้ารบบ่อยๆ ยิ่งร่อยหรอพวกพล ยิ่งทนนานยิ่งหย่อน เสบียงอ่อนอิดโรย, แรงเรี่ยว ยิ่งคิดยิ่งแค้นกลุ้ม กลัดใจ
ครานั้นนายทองเหม็น เห็นยิ่งช้ายิ่งเสียกิจ คิดยอมเสี่ยงชีพตน นำพลทหารกองหนึ่ง จึ่งขี่กระบือนำหน้า เข้ารบร้ารื้อค่าย ฝ่ายพม่าเห็นน้อยคน ยกพลระดมถมทับ ทองเหม็นขับกระบือบุก รุกเข้ากลางชุมนุม ข้าศึกรุมทุบตี สิ้นชีวาตม์ในที่รบ ไพร่พลหลบมลายมา เป็นคราแรกที่ไทย ปราชัยข้าศึก จึงปรึกษากันตกลง ปลงใจแจ้งข้อราชการ ขอประทานปืนใหญ่ ใคร่ยิงประดังพังค่าย ฝ่ายในกรุงเกรงไพรี คอยตีชิงกลางมรรคา จึงพระยารัตนาธิเบศร ไปยังเขตบางระจัน เรี่ยไรกันหล่อปืนทอง-เหลืองขึ้นสองกระบอก แกะออกดูร้าวราน ไม่ได้การทั้งนั้น ต่างอ้นอั้นตันปัญญา ต่อมานายแท่นที่ป่วยอยู่ สิ้นชีพสู่ปรโลก ต่างเศร้าโศกเสียดาย ภายหลังท่านขุนสรรค์ กับนายจันทร์หนวดเขี้ยวคุม ทัพออกรุมรณยุทธ์ ต้องอาวุธตายทั้งคู่ เหลืออยู่แต่พันเรืองกำนัน ช่วยกันกับทองแสงใหญ่ คุมไพร่พลต่อมา ต่างระอาอ่อนเพลีย เสียผู้คนเปลืองไป เหลือวิสัยชาวบ้าน จักต้านทานทัพใหญ่ แข็งใจใฝ่ฝืนรบ รณยุทธ์ ราวเร่งชีพให้สู้ ศึกยม
ร่าย เอมใจจองประพันธ์
สรรเสริญเกียรติศักดิ์ พรรคพวกบางระจัน พลันเสร็จสมปรารถนา โดยมหาสวัสดี
เสนอกวีทวยไทย ตามวิษัยสามารถ แห่งอาตมะผู้หวังดี ขอจุ่งศรีศุภสวัสดิ์
สรรพพิพัฒน์มงคล วิบุลผลโอภาส ลุแก่ชาติชาวสยาม งามคู่จันทราทิตย์ ขอลิขิตแห่งตู
เนาตรูคู่สยามรัฐรุ่งโรจน์ นานคู่กับฟ้าหล้า ตลอดเทอญ
|