Hackers: พระเอกหรือผู้ร้าย?

คำว่า Hacker คนทั่วไปเข้าใจกันว่า คือผู้ที่ใช้ความสามารถที่ตนมีในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ลักลอบเข้าไปในคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นผ่านทางเครือข่าย เพื่อไปอ่านข้อมูล คัดลอกข้อมูล หรือเปลี่ยนแปลงระบบหรือข้อมูลในเครื่องนั้น อาจจะเพื่อความสนุกหรือเพื่ออวดความสามารถของตน   Hacker จึงมีความหมายที่ไม่ดี แต่ในวงการโปรแกรมเมอร์ คำว่า Hacker มีความหมายกว้างกว่านี้ แต่เดิมมาคำนี้หมายถึงบุคคลที่มีนิสัยชอบวิเคราะห์และศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นการศึกษาในระดับตัวโค้ด และอาศัยความสามารถในการเขียนโปรแกรมที่มีอยู่แก้ไขโปรแกรมนั้นให้ดีขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงให้ต้องตามวัตถุประสงค์ของตน บุคคลเช่นนี้อาจใช้ความสามารถเช่นนี้ในทางที่มิได้ไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อาจจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเสียอีก ในกรณีที่ hackers บางคนนำความสามารถนี้ไปละเมิดสิทธิหรือทำความเดีอดร้อนแก่ผู้อื่น ก็จะเรียกคนพวกนี้ว่า crackers ซึ่งตรงกับความหมายของ hacker ที่คนส่วนใหญ่เข้าในกัน

แต่เพื่อมิไห้เกิดความสับสน ในบทเรียนนี้จะใช้คำว่า hacker ในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่ขอให้ผู้เรียนตระหนักว่าคำนี้มีความหมายที่กว้างกว่านี้ในวงการของนักเขียนโปรแกรม

ในปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฏหมายลงโทษผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ เพราะถือว่าเป็นอาชญากรประเภทหนึ่ง แต่มี hackers บางคนได้อ้างว่า การลักลอบเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ทำความเสียหายใดๆ ไม่น่าจะมีความผิด แน่นอนอาจมีผู้อ้างว่า ถึงอย่างไรก็เป็นการบุกรุก คนที่เข้าไปในบ้านหรือที่ดินของผู้อื่น ถึงจะไม่ได้ขโมยของหรือทำความเสียหายแก่ทรัพย์สิน กฏหมายก็ถือว่ามีความผิด พวก hackers ค้านว่า เอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ การบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้อื่น ถึงจะไม่ทำความเสียหาย แค่เข้าไปเดินเล่น แต่ก็ย่อมทำความตื่นตระหนกให้เจ้าของ หรือถ้าขณะที่เข้าไปเจ้าของไม่อยู่ แต่มีร่องรอยให้เจ้าของเห็น ก็ย่อมทำให้เจ้าของตกใจได้ แต่การเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการเข้าแบบอิเลคโทรนิค อาจทำ ได้โดยที่เจ้าของไม่รู้และไม่พบร่องรอย ก็ย่อมไม่ก่อความตื่นตระหนกแต่อย่างใด

การอ้างนี้คล้ายคลึงกับการอ้างเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวคือมีผู้อ้างในกรณีของการคัดลอก โปรแกรมโดยไม่ได้รับอนุญาตว่าไม่ใช่การขโมย มีลักษณะเฉพาะบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นอิเลคโทรนิค ที่ทำให้เอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในกรณีนี้ก็มีการอ้างว่า การเข้าไปในเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ใช่ การบุกรุก มีลักษณะเฉพาะบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นอิเลคโทรนิคที่ทำให้เอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เราจะมาดูกันว่าการอ้างนี้มีเหตุผลสนับสนุนหรือไม่

พวก hackers อ้างว่า ผู้ที่เข้าไปในเครือข่ายและไม่ได้ไปทำความเสียหายหรือไปก่อกวนใดๆนั้น ที่เข้าไป ก็เพื่อไปเอาข้อมูลที่ต้องการ ที่เครือข่ายนั้นจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะบางคนก็เพื่อหารายได้ (ผู้ต้องการข้อมูลต้องจ่ายเงินก่อน) หรือสงวนข้อมูลไว้ให้ใช้เฉพาะพวกของตน แต่ข้อมูลทั้งหลายควรเป็นของฟรีและเปิดให้ทุกคนได้รับรู้ เหตุผลก็คือข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในการตัดสินใจไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม เราต้องมีข้อมูลประกอบ การตัดสินใจผิดพลาดอาจมีผลเสียหายใหญ่หลวง ถ้าเราเข้าใจว่า ลักษณะแก่นของมนุษย์คือการความสามารถที่จะเลือก นั่นคือสามารถที่จะเลือกเป้าหมายในชีวิตและเลือกทางเดินเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ข้อมูลซึ่งต้องใช้ในการเลือกระหว่างความเป็นไปได้หลายอย่าง ย่อมสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยสี่ การถูกจำกัดข้อมูลอาจไม่ถึงกับทำให้ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ แต่ก็ทำให้ไม่อาจมีชีวิตเยี่ยงมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ อีกประการหนึ่งถ้าเรายึดหลักว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้มาซึ่งสิ่งจำเป้นแก่การดำรงชีวิต การจำกัดการเข้าถึงข้อมูลด้วยวิธีใดก็ตามย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของคนบางคน

เราอาจจะอ้างได้ว่าข้อมูลบางประเภทไม่ควรเป็นของสาธารณะ เช่น ข้อมูลส่วนตัว (เกิดที่ไหน อายุเท่าไร มีรายได้เท่าไร บัตรเครดิตเลขที่เท่าไรฯลฯ) ในเรื่องนี้พวก hackers อาจยอมรับได้ว่าเป็นข้อมูลที่ควรปกปิด เพราะไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสุจริตชน ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งที่อาจอ้างว่าควรปกปิด คือ ข้อมูลที่ถือเป็นความลับของประเทศ แต่กรณีนี้มีข้อคิดได้ว่า รัฐบาลสามารถอ้างเอาข้อมูลบางอย่างที่ไม่อยากให้ประชาชนรู้เพื่อปกปิดสิ่งไม่ดีของตนไปเป็นความลับของประเทศได้ อีกประการหนึ่ง ถ้าทุกประเทศไม่มีความลับ ก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใคร ถึงกระนั้นก็ดี ข้อมูลบางอย่างยังคงต้องถือเป็นความลับ เพื่อมิให้ผู้ก่อการร้ายใช้ในการปฏิบัติการใด้

สรุปแล้ว ถึงแม้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ไม่ใช่ข้อมูลทุกอย่างไปที่สำคัญเช่นนั้น อย่างน้อย มีข้อมูลสองประเภทที่กล่าวข้างต้นที่นอกจากจะไม่สำคัญเช่นนั้นแล้ว ยังต้องปกปิดอีกด้วย ถึงกระนั้นก็ดี หลักการที่ว่าข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการได้รับข้อมูลเป็นหลักการที่ถูกต้อง ปัญหาอยู่ที่ว่า หลักการนี้นำมาสู่ข้อสรุปที่พวก hackers ต้องการหรือไม่

ถ้าเรายอมรับว่าข้อมูลบางประเภทต้องปกปิด ก็อาจมีการอ้างว่า การเข้าไปในเครือข่ายที่ไม่ได้เก็บข้อมูลเหล่านี้ไม่ถือว่าผิด แต่นี่เป้นการให้ภาพว่าเราสามารถแยกเก็บข้อมูลที่ควรเป็นความลับออกได้เด็ดขาดจากประเภทที่ควรเป็นสาธารณะ ข้อมูลทางธุรกิจที่อ้างถึงลูกค้า อาจจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าปนอยู่อย่างแยกไม่ได้ อีกประการหนึ่ง ข้อมูลที่จะมาใช้เป็นประโยชน์ได้มักจะต้องผ่านการประมวลผลมาก่อนจากข้อมูลดิบ เช่นถ้าเราอยากรู้ว่าร้านใดบ้างที่บริการนวดเท้า จะต้องมีผู้รวบรวมเอาไว้แล้วหรือไม่ก็ออกแบบวิธีที่จะค้นหาไว้ให้แล้ว หรือแม้แต่ข้อมูลดิบที่ยังไม่ผ่านการประมวลผล ก็อาจจะต้องมีผู้ชี้เบาะแสว่าหาได้ที่ไหน การที่มีผู้ให้บริการข้อมูลและเรียกค่าบริการ ควรถือว่ายุติธรรม การเข้าไปเอาข้อมูลโดยพละการย่อมไม่ถูกต้อง การอ้างว่าข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นไม่ทำให้เกิดสถานะพิเศษ เพราะอาหารก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่เราก็ถือว่าการซื้ออาหารเป็นสิ่งควรทำ เพราะต้องมีผู้เตรียมอาหารให้

พวก hackers อาจอ้างต่อไปว่า การเข้าไปในเครือข่ายที่ไม่ได้เรียกค่าบริการข้อมูลโดยไม่ได้ไปดูข้อมูล ส่วนบุคคลไม่ควรเป็นความผิด แต่ปัญหาก็คือ พวกที่เข้าไปเพื่อทำมิดีมิร้ายมีมิใช่น้อย พวก hackers อาจจะมองว่าก็ควรจะแยกให้ออก เฉพาะผู้ที่เข้าไปแล้วก่อความเสียหายก็ควรถูกลงโทษ การกล่าวเช่นนี้ มีเหตุผลก็ต่อเมื่อเป็นการง่ายที่จะแยกว่าใครก่อความเสียหาย ใครไม่ก่อ การตรวจสอบพฤติกรรมทาง อิเล็คโทรนิคทำไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เราไม่มีทางทราบได้ว่าบุคคลผู้หนึ่งได้เห็นข้อมูลส่วนบุคคลแล้วนำไปใช้ หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลนั้นปนอยู่กับข้อมูลอื่น ทางเลือกสำหรับกฏหมายก็คือห้ามทุกคนเข้าไปโดย ไม่ได้รับอนุญาต เพราะเป็นวิธีป้องกันความเสียหายที่มีประสิทธิภาพที่สุด (การใช้วิธีแยกระหว่างผู้ลัก ลอบเข้ามาสองประเภทที่กล่าวข้างต้น จะทำให้มีคนเสี่ยงเข้ามาทำผิดเพราะรู้ว่าพิสูจน์ยาก)

อีกประการหนึ่ง เหตุผลที่เครือข่ายจำกัดไม่ให้ทุกคนเข้าได้มีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือเกรงว่าผู้ที่เข้าไปใช้และไม่ชินกับเครือข่ายจะทำให้เกิดความเสียหายโดยไม่ตั้งใจ หรือถ้าให้ทุกคนใช้ได้ เครือข่ายจะรับไม่ไหว หรือทำงานช้ามาก คนในองค์กรของตนซึ่งต้องใช้ข้อมูลตลอดเวลาก็จะทำงานไม่สะดวก การห้ามบุคคลภายนอกเข้าเป็นการป้องกันการก่อกวนถึงแม้จะโดยไม่ตั้งใจก็ตาม

สรุปแล้ว ถึงแม้เราจะยอมรับได้ว่า การแสวงหาข้อมูลเป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่ก็ไม่ทำให้สรุปได้ว่า การเข้าไปในเครือข่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการนี้ควรปล่อยให้ทำได้อย่างอิสระ จริงอยู่ว่าผู้ที่เข้าไปในเครือข่ายเพื่อหาข้อมูลโดยมิได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นและมิได้ก่อความเสียหายใดๆ อาจจะมิได้ทำอะไรผิดทางศีลธรรม แต่ในแง่กฏหมายมีเหตุผลเพียงพอที่จะห้าม กระนั้นก็ดีหลักการที่พวก hackers อ้างถึงเป็นหลักการที่ถูกต้อง และสังคมที่ดีควรวางกลไกเพื่อให้บรรลุถึงหลักการนี้ ซึ่งจะทำให้คนบางคนมิต้องใช้วิธีการอันก่อให้เกิดปัญหาทางกฏหมาย

พวก hackers ยังมีการอ้างเหตุผลอีก ๒ อย่าง อย่างแรกคือ การลอบเข้าไปในเครือข่ายทำให้เจ้าของเครือข่ายรู้ถึงจุดอ่อนของตนและแก้ไขให้เครือข่ายปลอดภัยกว่าเดิม อีกอย่างคือ พวก hackers เป็นเสมือนผู้คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือองค์กรว่าปิดบังข้อมูลสำคัญที่ประชาชนควรรู้หรือไม่ การเข้าไปในเครือข่ายของรัฐบาลหรือองค์กรอาจทำให้พบข้อมูลเหล่านี้ จะได้นำมาเปิดเผยให้รู้ทั่วกัน การอ้างทั้งสองนี้เหมือนกันในแง่ที่อ้างถึงผลดีที่เกิดจากการกระทำของ hackers ทั้งสองกรณีมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงสนับสนุน สำหรับในกรณีแรก พวก hackers บางคนที่ถูกจับได้ ภายหลังจากที่พ้นโทษแล้ว มีบริษัทจ้างไปดูแลเครือข่าย ในกรณีที่สอง ตอนที่โรงนิวเคลียร์ที่เชอโนบิลเกิดอุบัติเหตุ มี hackers ลอบเข้าไปในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลเยอรมันตะวันตก และนำข้อมูลออกมาเผยแพร่มากกว่าที่รัฐบาลเยอรมันยินดีปล่อยออกมา

hackers จำนวนมากอ้างเหตุผลเช่นนี้ มีผู้ไปสัมภาษณ์ hackers ในเรื่องนี้ จึงขอให้ผู้เรียนฟังความเห็นของ hackers จากปากคำของพวกเขาเอง อ่านได้จากที่นี่

วิธีคิดในเรื่องนี้ก็คือ ประโยชน์ที่อ้างถึงข้างต้นคุ้มหรือไม่กับผลร้ายที่เกิดจากการกระทำของ hackers เมื่อ มองโดยรวม พิจารณาจากที่เป็นมา ความเสียหายที่พวก hackers บางคนก่อให้เกิดมีมากมายจนทำให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะคุ้ม มีวิธีอื่นที่จะก่อให้เกิดผลดีอย่างที่พวก hackers อ้างถึงโดยไม่ต้องปล่อยให้มีการลักลอบเข้าไป เช่น ถ้า hackers คิดว่าพวกตนช่วยปรับปรุงความปลอดภ้ยของเครือข่าย จะมิเป็นการดีกว่าหรือที่จะประกาศว่าจะรับจ้างทดสอบให้ ส่วนการตรวจสอบรัฐบาลน่าจะมีกลไกทางประชาธิปไตยที่ทำได้อยู่แล้ว อาจจะไม่สมบูรณ์ แต่ควรปรับปรุงกลไกเหล่านี้มากกว่าที่จะยอมให้ลักลอบเข้าไปในเครือข่ายของรัฐบาล เพราะผลร้ายที่เกิดขึ้นอาจมีมหาศาลถ้าความลับบางอย่างตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย


เมื่อปีที่แล้ว hackers กลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า Masters of Downloading เข้าไป ขโมยซอฟท์แวร์ของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ซอฟท์แวร์นี้สามารถใช้ควบคุมระบบเครือข่าย ข้อมูลของกระทรวงกลาโหมได้ เอกสารต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ hackers บางคนในกลุ่มนี้ นิสิตควรอ่านเพื่อจะได้เข้าใจแรงจูงใจของ hackers บางคน

สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ความเป็นส่วนตัว

กลับไปสารบัญบทเรียน