ส่วนประกอบของกล้องที่สำคัญและหน้าที่
ตัวกล้อง (Body) คือส่วนที่ทำหน้าที่เป็นห้องมืดเก็บฟิล์มไว้ไม่ให้โดนแสง ตัวกล้องมักทาสีดำไม่สะท้อนแสง ตัวกล้องยังทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของกล้องทั้งหมดเป็นโครงของส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มาสัมพันธ์ด้วย เช่น เลนส์, ระบบชัตเตอร์, ช่องเล็งภาพ ฯลฯ
เลนส์ (Lens) และกระบอกเลนส์ (Tube Lens) เลนส์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับแสงส่งผ่านไปยังฟิล์มด้านหลัง เลนส์ของกล้องสมัยใหม่มีแก้วเลนส์หลายชิ้น ประกอบกันอยู่ภายในกระบอกเลนส์ อยู่ด้านหน้าของกล้อง (รายละเอียดเรื่องเลนส์จะกล่าวถึงในบทต่อไป)

แผ่นบังคับรูรับแสง (Diaphram) เป็นแผ่นโลหะบังคับปริมาณแสงอยู่ในกระบอกเลนส์หลังแก้วเลนส์ แผ่นบังคับรูรับแสง เป็นแผ่นโลหะกลีบเป็นชั้น ๆ สานกัน สามารถปรับ ขยาย หรี่รูได้ รูที่เกิดขึ้นเรียกว่า รูรับแสง (Aperture)
รูรับแสงนี้จะมีขนาดตามลำดับที่แน่นอน จึงมีเลขกำกับขนาดเรียงกันไป เรียกว่า F-stop หรือ f/Number ตัวเลข ค่า f/Number มาจาก ค่าความยาวโฟกัสของเลนส์ หารด้วยความยาวของเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์นั้น เลขลำดับจะใช้ เลขเรียงกันไปจาก f 1.2, f 1.4., f 1.8, f 2, f 2.8, f 4, f 5.6 ,f 8, f 11, f 16, f 22, f 32
ความหมายของตัวเลข เลขต่ำสุด 1.2 หรือ 1.4 หมายถึง ขนาดรูรับแสง กว้างที่สุด
และเลขสูงสุดหมายถึงมีขนาดรูรับแสง แคบที่สุด
หนึ่งสตอปที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจะทำให้ปริมาณแสงเพิ่มขึ้นสองเท่าหรือครึ่งหนึ่งของปริมาณแสงที่ได้จากเลขเอฟเดิม
การปรับขนาด f ให้ใหญ่หรือเล็กนี้ทำได้โดยการหมุนวงแหวนปรับขนาดรูรับแสง
(Aperture ring) ที่อยู่รอบนอกกระบอกเลนส์นั้นก็จะได้ขนาดของรูรับแสง (Aperture) ตามต้องการ
ม่านชัตเตอร์ (Shutter) คือม่านบังคับระยะเวลาให้แสงผ่านเข้าไปกระทบฟิล์ม การทำงานเกิดขึ้นเมื่อมีการกดปุ่มชัตเตอร์ (Shutter Knob) กลไกทาง mechanic จะไปบังคับให้กลไกอิเล็กทรอนิกส์ปล่อยกระแสไฟฟ้าตามปริมาณของความเร็วชัตเตอร์ที่ตั้งไว้ จากนั้นม่านชัตเตอร์ ก็จะเคลื่อนที่โดยอาศัยพลังงานจากไฟฟ้า เปิดให้แสงเข้ามาตามช่องแสงที่กำหนดไว้
ม่านชัตเตอร์มีด้วยกัน 3 ประเภทคือ
1. ชัตเตอร์แผ่นเดียว (Single Blade) เป็นโลหะแผ่นเดียวใช้เปิดปิดหน้ากล้องที่เดียวมีใช้ในกล้อง Box ราคาถูกรุ่นเก่า ความเร็วม่านชัตเตอร์พวกนี้ประมาณ 1/35 - 1/50 วินาที

2. ชัตเตอร์หน้า (Front Shutter) เป็นแผ่นโลหะอยู่ในกระบอกเลนส์ มักอยู่หน้าหรือหลังแผ่น ไดอะแฟรม เป็นกลีบซ้อนกัน มีใช้ในกล้องประเภท Range finder กันมาก ความเร็ว ชัตเตอร์สูงสุดไม่เกิน 1/500 วินาที

3. ชัตเตอร์ม่าน (Focal Plane Shutter) ชัตเตอร์ชนิดนี้ทำด้วยโลหะบางหรือผ้าม่านดำขึงอยู่ในตัวกล้อง (body) อยู่หน้าฟิล์มโดยตรง มีทิศทางการเคลื่อนที่ปิดเปิด 2 ทางคือ แนวตั้งและแนวนอน (Vertical and horizontal) สามารถทำความเร็วชัตเตอร์ได้มาก คือ 1/2000 วินาที


ที่ปรับระยะชัด (Focusing Ring) อยู่บนตัวกระบอกเลนส์เป็นวงแหวนปรับหมุนเข้าออกคือ การขยับเคลื่อนที่ของกลุ่มเลนส์นั้นเอง
บนตัววงแหวน มีตัวเลขบอกระยะทางจุดโฟกัสเป็นระยะเมตร และระยะฟุต โดยจะเริ่มตั้งแต่ ระยะใกล้สุดถึงระยะไกลสุด

ปุ่มลั่นไกชัตเตอร์ (Shutter Knob or Shutter release buttom) เป็นปุ่มสำหรับกดไกชัตเตอร์ เพื่อบังคับให้ม่านชัตเตอร์เปิดปิด การกดไกชัตเตอร์แต่ละครั้ง จะทำความเร็วตามความเร็วชัตเตอร์ (Speed Shutter) ที่ตั้งไว้

ที่เลื่อนฟิล์ม (Film Winding) ที่เลื่อนฟิล์มจะทำหน้าที่ดึงฟิล์มให้เคลื่อนไปเก็บในช่องเก็บฟิล์มที่ถ่ายแล้ว และเลื่อนฟิล์มส่วนที่อยู่ใน Roll ที่ยังไม่ถูกถ่ายให้เข้ามาแทน ในการเลื่อนฟิล์มครั้งหนึ่ง ๆ จะมีผลทำให้ปุ่มชัตเตอร์พร้อมที่จะกดเพื่อถ่ายรูปด้วย
กลไกที่เลื่อนฟิล์มในกล้องสมัยใหม่บางรุ่นจะทำไว้ให้สัมพันธ์กับปุ่มไกชัตเตอร์ โดยที่เลื่อนฟิล์มนั้น หลังจากเลื่อนฟิล์มแล้วหากไม่กลับเข้าที่ ปุ่มชัตเตอร์จะไม่สามารถทำงานได้ บางครั้งต้องเลื่อนไกเลื่อนฟิล์ม ระบบไฟฟ้าของกล้องจึงจะทำงาน

ช่องมองภาพ (View finder) ช่องมองภาพอยู่ส่วนบนของกล้องในกล้องมองถ่าย
จากด้านบน หรือด้านหลังของกล้องในกล้องมองระดับตา มีไว้สำหรับมองภาพที่จะใช้ถ่าย แล้วปรับ โฟกัสระยะชัดให้ชัดเจน

ปุ่มหมุนฟิล์มกลับ (Rewinding film Knob) กล้องส่วนใหญ่จะทำปุ่มหมุนฟิล์มกลับไว้ตรงข้างล่างในส่วนฐานของกล้อง เมื่อถ่ายภาพหมดแล้ว ก็จะกดปุ่มนี้ทำให้สามารถเลื่อนฟิล์มกลับเข้ามาในกลักได้

ปุ่มถ่ายภาพซ้ำ (Release shutter knob) ปุ่มนี้มักมีในกล้องสมัยใหม่ที่สร้างและออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยอำนวยความสะดวดในการถ่ายภาพซ้ำ ๆ บนฟิล์มแผ่นเดียวกัน (multi-exposure) โดยทั่วไปมักอยู่ข้าง ๆ ชัตเตอร์ เมื่อกด ปุ่มถ่ายภาพซ้ำ จะทำให้สามารถขึ้นชัตเตอร์ ได้โดยฟิล์มไม่เลื่อนทำให้ถ่ายภาพซ้ำไปบนฟิล์มนั้นได้อีกหลายครั้งตามต้องการ

รูเสียบแฟลช (Built in flash) เป็น รู (hole) สำหรับต่อสายไฟแฟลช จากตัวแฟลช มาพ่วงกับตัวกล้องเพื่อให้ทำงานได้สัมพันธ์กันโดยการกดชัตเตอร์เพียงครั้งเดียว ไฟแฟลชจะสว่าง รูเสียบไฟแฟลชมี รู X , และ FB


รู x หมายความว่าเสียบแฟลช์ ชนิด อิเลคโทรนิค
รู FB หมายความว่าเสียบแฟลช์ ชนิด แฟลช์บัลช์ (Flash bulb)


ที่ตั้งถ่ายอัตโนมัต (Self - Timer Automatic) กลไกนี้ใช้สำหรับถ่ายภาพโดยตัวเอง กลไกของกล้องจะหนห่วงเวลาการกดชัตเตอร์เอาไว้ กลไกการเวลากดชัตเตอร์ในกล้องสมัยเก่าจะเป็นลานเวลาเมื่อหมดเวลาปุ่มชัตเตอร์จะทำงาน ส่วนกล้องสมัยใหม่กลไกหน่วงเวลา จะเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ และจะมีไฟสัญญาณบอกด้วย เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ปุ่มชัตเตอร์ จะทำงาน