หลักเบื้องต้นในกระบวนการถ่ายภาพ

กระบวนการถ่ายภาพมีเรื่องสำคัญอยู่ 4 ประการ ที่ต้องเข้าใจคือ
1. อัตราความไวแสงของฟิล์ม
2. รูรับแสง (Aperture)
3. ความไวชัตเตอร์ (Shutter speed)
4. ความสัมพันธ์ของอัตราความไวแสงของฟิล์ม, รูรับแสง และความไวชัตเตอร์

  1. อัตราความไวแสงของฟิล์ม
อัตราความไวแสงของฟิล์ม คือตัวเลขที่บอกให้รู้ว่าฟิล์มนั้น ๆ รับแสงได้เป็นปริมาณมากน้อยเพียงไรและรับแสงได้ช้าและเร็วเพียงใด
เลขบอกอัตราความไวแสงของฟิล์มมีอยู่หลายระบบ ระบบที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันมี 3 ระบบคือ ISO, ASA และ DIN
เลขบอกแต่ละระบบจะบอกควบคู่ไปกับอักษร เช่น ISO 100/21 ความหมายของเลขบอกความไวแสงของฟิล์มนี้ จะบอกว่า ฟิล์มนั้นไวแสงมากหรือน้อย ถ้าตัวเลขน้อย แสดงว่า ฟิล์มนั้นไวแสงช้าเช่น ISO 100 รับแสงช้ากว่า ISO 200
ดังนั้น ในการถ่ายรูปจึงต้องเลือกซื้อฟิล์มให้เหมาะกับความต้องการและการใช้งานด้วย
2. รูรับแสง (Aperture)
รูรับแสง เกิดจากแผ่นม่านเลนส์ (Diaphragam) ในกระบอกเลนส์เรียงตัวซ้อนกัน ม่านเลนส์นี้ ทำด้วยแผ่นโลหะลักษณะเป็นกลีบบางๆ สีดำซ้อนขัดกันอย่างมีระเบียบ ตรงระหว่างรอยขัดกันจะมีช่องว่างกลมเป็นรูเล็ก ๆ ให้แสงลอดเข้าไปได้ ม่านเลนส์ทั้งชุดสามารถขยายหรือหรี่รูให้เล็กใหญ่ได้ รูดังกล่าวก็คือ รูรับแสง รูรับแสงนี้มีขนาดตามลำดับที่แน่นอนจึงมีเลขกำกับที่แน่นอน เรียกว่า เลขเอฟ หรือ เอฟ นัมเบอร์ (f- numbers) หรือ เอฟสตอป (f stop) เลขเอฟเหล่านี้เขียนกำกับไว้ที่วงแหวนขอบเลนส์ ค่า f/number มาจากค่าความยาวโฟกัสของเลนส์หารด้วยความยาวของ เส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์นั้น เลขลำดับจะใช้เป็นเลขเรียงลำดับ จาก 1, 1.2, 1.4, 2, 2.8, 4,5.6, 8, 11, 16, 22, 32, แต่ละช่วงของเลขเอฟที่ เรียกว่า สตอปนั้น หากมีการปรับ เรียกว่า ลดสตอปหรือเพิ่มสตอป ตัวเลขเอฟน้อย เช่น 1, 1.4 หมายถึงมี รูรับแสงกว้าง ตัวเลขเอฟมาก เช่น 11, 16 หมายถึงมี รูรับแสงแคบ การปรับรูรับแสงที่ตัวเลขเอฟใด จะมีผลให้ค่าการรับแสงเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ช่องรับแสงเอฟที่มีค่าน้อย รูรับแสงกว้าง ความสว่างที่แสงผ่านเลนส์ก็จะมากขึ้น เรียกว่า เพิ่มสตอป ในขณะที่ช่องรับแสงที่มีค่าเอฟมากขึ้น รูรับแสงแคบ ความสว่างที่แสงผ่านเลนส์จะน้อยกว่า เรียกว่า ลดสตอป หนึ่งสตอปที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจะทำให้ปริมาณแสงเพิ่มขึ้นสองเท่าหรือครึ่งหนึ่งของปริมาณแสงที่ได้จากเลขเอฟเดิม
3. ความไวชัตเตอร์ (Shutter speed)
อัตราความไวชัตเตอร์เป็นตัวเลขกำหนดความเร็วมีหน่วยนับเป็นวินาที เวลาผู้ถ่ายจะเลือกความไวชัตเตอร์ใด ก็ให้หมุนปุ่มแสดงความไวชัตเตอร์ ให้ความเร็วที่ต้องการตรงกับดัชนีชี้บอก
อัตราตัวเลข มักจะเริ่มจาก 1 คือ 1 วินาที และ เป็น 2,4,8.15,30,60,125,250,500, 1000,2000,4000 นั่นคือ ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 2 คูณ แต่หมายความว่า อัตราความเร็ว
ชัตเตอร์ นั้นเป็นเศษส่วน เช่น 2 คือ 1/2 วินาที 4 คือ 1/4 วินาที เป็นต้น และโดยทั่วไปอาจพบอักษร B. หมายถึง Brief time มีความหมายว่าเปิดหน้ากล้องได้นาน ตลอดเวลาที่ยังกดชัตเตอร์อยู่
4. ความสัมพันธ์ของอัตราความไวแสงของฟิล์ม, รูรับแสงและความไวชัตเตอร์
กระบวนการถ่ายภาพเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ของ 3 สิ่งนี้ โดยปรกตินักถ่ายรูปสมัครเล่นจะเลือกหน้ากล้องโดยดูจากสภาพแสงสว่าง
โดยเลือกใช้ดังนี้
  ใช้ f.8 ไม่เห็นพระอาทิตย์ ฝนตกปรอย ๆ
  ใช้ f.5.6 คนอยู่ในเงา เฉลียงตึก
  ใช้ f.4 - 2.8 อยู่ภายในอาคาร มืดมาก
แต่นักถ่ายรูปอาชีพจะเลือกหน้ากล้องโดยดูจากจุดประสงค์ของการถ่ายภาพ เนื่องจากว่าผลของการตั้ง f. กล้อง มีผลต่อห้วงความชัดลึกของภาพ (Depth of field)
การตั้งหน้ากล้องแคบ เช่น ตั้งที่ f.22, 16,11, จะได้ระยะความชัดลึกของภาพมาก (Increase & depth of field) การตั้งหน้ากล้องแบบนี้จึงเหมาะในการถ่ายภาพวิว ทิวทัศน์ หรือภาพที่ต้องการให้ชัดลึกโดยตลอด ในขณะเดียวกัน ผลของการตั้งหน้ากล้องจะมีผลโดยตรงกับปริมาณแสงที่ส่องผ่านรูรับแสงเข้ามาเพราะเหตุว่ารูรับแสงที่แคบจะรับแสงได้น้อย แต่รูรับแสงที่ใหญ่จะให้แสงเข้ากล้องได้เป็นปริมาณมาก ๆ เราจึงต้องปรับความไวชัตเตอร์ให้พอเหมาะด้วยเช่นกัน
จากรูป ใช้ความเร็วชัตเตอร์มาตรฐาน 1/125 วินาที แต่เปลี่ยนหน้ากล้องตามสภาพแสงที่เปลี่ยนไป
เมื่อเราเปลี่ยนหน้ากล้องหรือรูรับแสง เพราะเหตุผลในการถ่ายภาพ เราก็ต้องเปลี่ยนความไวชัตเตอร์ให้สัมพันธ์ด้วยจึงจะได้ภาพผลปรกติที่เรียกว่า ฟิล์ม NORMAL
เมื่อเลือกเลขหน้ากล้องกว้าง เช่น f 1.4 ปริมาณแสงส่องผ่านเข้าได้มากและเวลาที่ใช้ในการถ่ายจะน้อยลง Speed shutter จึงควรเป็น 1/500 - 1/1000 วินาที แต่ถ้าหน้ากล้องแคบมาก ๆ เช่น f.16, 11, ปริมาณแสงผ่านเข้าได้น้อยและเวลาที่ใช้ในการถ่ายก็ต้องมากขึ้น Speed shutter อาจต้องเพิ่มเป็น 1/30 หรือ 1/60 วินาที
ในสถานการณ์ถ่ายรูปจริง เราต้องการให้ถ่ายภาพได้ผลดีอย่างน้อย 2 ลักษณะคือ
1. ฟิล์มมีสีตัดกันปรกติคือ Normal exposure
2. ภาพได้รับการโฟกัสอย่างดี ได้ภาพที่มีโฟกัสดี
บางครั้งวัตถุที่จะถ่ายเคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูง เช่น รถ, คนกำลังวิ่ง การเลือกใช้ speed shutter จึงต้องให้พอเหมาะกับความเร็วของวัตถุถ่ายที่เคลื่อนไหวด้วย
การเคลื่อนไหวของวัตถุผ่านหน้ากล้องมี 3 ลักษณะคือ
1. การเคลื่อนไหวเข้าหากล้องหรือออกห่าง ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ ต่ำขนาด 1/60 วินาที
2. การเคลื่อนไหวเฉียงกล้อง 45 องศา ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ ปานกลาง 1/125 - 1/250 วินาที
3. การเคลื่อนไหวตัดผ่านกล้อง 90 องศา ควรใช้ความเร็วชัตเตอต์ สูง 1/500 - 1/1000 วินาที
ปัญหาของกระบวนการถายภาพยังขึ้นอยู่กับสภาพของแสงสว่างซี่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งและทำให้เกิดปัญหาอยู่เนือง ๆ ในสภาพของแสงสว่างมาก ๆ และต้องการถ่ายภาพชนิดชัดตื้น (Selective focus) กรณีเช่นนี้เราต้องเปิดหน้ากล้องกว้าง ๆ ซึ่งอาจเป็น f.2. แต่การเปิดหน้ากล้องกว้างสุด ทำให้ปริมาณแสงเข้ามามากและหากสภาพแสงนั้นสว่างมาก อาจทำให้ภาพดำ เรียกว่า ฟิล์ม over ได้ เราต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นไป อาจถึง 1/1000 วินาที หรือ 1/2000 วินาที แล้วแต่เครื่องวัดแสงของกล้องจะบอกออกมาก
จริงอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้เราอาจถ่ายรูปได้ โดยใช้ speed 1/2000 วินาที แต่ข้อเสียก็คือ Detail หรือรายละเอียดจะหายไปค่อนข้างมาก เพราะฟิล์มนั้นรับแสงเป็นเวลาเพียง 1/2000 วินาทีเท่านั้น
การแก้ไขอีกทางหนึ่งก็คือ ใช้ฟิลเตอร์ลดแสง (Neutral Density) สีเทา เบอร์ 2 หรือ เบอร์ 4 ช่วยลดแสงลงประมาณ 2 - 4 f.stop
สถานการณ์จริงเช่นนี้เราแก้ไขโดยใช้ฟิล์มที่มีความไวแสงช้า เช่น ASA 25, 32, เพราะฟิล์มพวกนี้ต้องการปริมาณแสงมาก เหมาะกับสถานการณ์อยู่แล้ว
โดยกรณีกลับกันการถ่ายภาพในสถานการณ์แสงสว่างน้อยมากก็แก้ไขปัญหาโดยการเลือกฟิล์มตรงกันข้ามคือ ฟิล์มมีความไวแสงมาก ASA 400 หรือ 800 หรืออีกวิธีการหนึ่งคือ ใช้ไฟแฟลชช่วยถ่ายรูปได้